Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: บทความดีๆ อาหารปลาสวยงามครับ  (อ่าน 7143 ครั้ง)
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« เมื่อ: 05/02/09, [00:43:50] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

พอดีไปเจอมานะครับเลยเอามาแบ่งเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ

                    อาหารเป็นปัจจัยหลักของสิ่งมีชีวิต    คนและสัตว์ทุกชนิดมีความต้องการอาหารเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน   โดยอาหารที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับชนิดของสัตว์   จะช่วยให้สัตว์นั้นมีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติได้ดี   ปัจจุบันอาหารสัตว์น้ำถือได้ว่ามีการพัฒนาและมีความสำคัญทางด้านธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง   โดยเฉพาะอาหารปลาสวยงามจะมีความหลากหลาย มากกว่าอาหารสัตว์น้ำประเภทอื่น   เพราะลักษณะการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แคบๆ   สภาพแวดล้อมไม่เหมือนธรรมชาติ   โดยเฉพาะในเรื่องของการได้รับแสงแดดค่อนข้างน้อย   การขาดดินและขาดอาหารธรรมชาติ   ทำให้อาหารจำเป็นต้องมีส่วนประกอบต่างๆครบถ้วน   ตั้งแต่สารอาหาร   เกลือแร่   และไวตามิน   อีกทั้งยังต้องมีขนาดที่เหมาะสมที่ปลาจะกินได้   ไม่จมตัวง่าย   ไม่ทำให้คุณภาพของน้ำเปลี่ยนแปลงเร็ว  รวมทั้งปลาสามารถย่อยและใช้ประโยชน์จากอาหารชนิดนั้นได้ดี   นอกจากนั้นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงยังมีความหลากหลาย  ทั้งในเรื่องของนิสัยการกินอาหาร     และขนาดของปลา      จึงทำให้มีรูปแบบของอาหารปลา สวยงามออกมาหลายชนิด   และค่อนข้างมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

                  อาหารสัตว์น้ำโดยทั่วไปแบ่งเป็น  2  ประเภท คือ
                  1.  อาหารสำเร็จรูป
                  2.  อาหารธรรมชาติ
 
                  1 อาหารสำเร็จรูป
                     ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปมีความสำคัญควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาสวยงาม   เพราะเมื่อมีการซื้อปลาสวยงามเมื่อใดก็จำเป็นต้องซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงปลาสวยงามด้วย   และเนื่องจากอาหารปลาสวยงามมีราคาค่อนข้างสูง   จึงทำให้มีการแข่งขันพัฒนาอาหารสำเร็จรูปชนิดต่างๆออกมาหลายชนิด   โดยส่วนใหญ่จะเน้นคุณภาพเกี่ยวกับการเร่งสีของปลา   คือทำให้ปลามีสีสันสดใส   การสร้างวุ้น   และยังมีการเน้นเจาะจงใช้เลี้ยงเฉพาะกลุ่มปลาหรือชนิดปลา   เช่น  เลี้ยงกลุ่มปลา Tetra   และ  Danio   ได้แก่พวกปลานีออน   และปลาซิว   กลุ่มปลา Cichlid ได้แก่ พวกปลาหมอ   ยิ่งระบุมีความเจาะจงและเน้นคุณภาพพิเศษต่างๆมากเท่าใด   ก็จะยิ่งทำให้อาหารชนิดนั้นมีราคาสูงขึ้น   ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงราคาของอาหารปลาสวยงามที่จำหน่ายกันในปัจจุบัน   จะพบว่ามีราคาแพงที่สุดในบรรดาอาหารสัตว์ที่จำหน่ายกันอยู่  เช่น  อาหารปลา Tetra ราคาซองละ  180.00  บาท  มีน้ำหนักเพียง  100  กรัม   คิดเป็นราคากิโลกรัมละ  1,800.00  บาท   อาหารปลาทองชนิดเร่งสีและวุ้น  ราคาซองละ  60.00  บาท   มีน้ำหนัก  100  กรัม   คิดเป็นราคากิโลกรัมละ  600.00  บาท   อาหารปลาสวยงามที่จัดว่ามีราคาถูก   จะราคาซองละ  10.00 - 12.00  บาท   มีน้ำหนัก  100  กรัมเช่นกัน   ซึงเมื่อคิดราคาต่อกิโลกรัมจะมีราคาถึง  100.00 - 120.00  บาท   ก็ยังคงมีราคาแพงกว่าอาหารสัตว์อื่นๆเช่นกัน



                                                              ภาพที่ 1  ลักษณะอาหารปลาสวยงามแบบต่างๆ

                   ชนิดของอาหารสำเร็จรูปของปลาสวยงามที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมีอยู่  3  ประเภท

                   1.1 อาหารเม็ดจมน้ำ  อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับปลาสวยงามที่หากินอาหารตามพื้นก้นตู้เช่นปลาหมู   ปลาปล้องอ้อย   ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้เพราะปลากินไม่ทัน   อาหารจะตกค้างลงในวัสดุกรองมาก   มักมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสีย

                   1.2 อาหารเม็ดลอยน้ำ  อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับปลาทุกประเภท   มักมีคุณสมบัติลอยตัวอยู่ผิวน้ำได้ประมาณ  3 - 5 ชั่วโมง  แล้วแต่ชนิดอาหาร   ทำให้ปลากินอาหารได้ดี   และผู้เลี้ยงสังเกตุได้ว่าให้อาหารพอเพียงหรือไม่   ปัจจุบันจึงมักผลิตเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำ

                   1.3 อาหารผง   อาหารชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้อนุบาลลูกปลา   มีลักษณะเป็นผงละเอียด   อาจให้กระจายตัวที่ผิวน้ำหรือผสมน้ำหมาดๆปั้นเป็นก้อนก็ได้   โดยถ้าเป็นลูกปลากินพืช   เช่น  ลูกปลาตะเพียนทอง   ลูกปลาทอง  และลูกปลาคาร์พ   ควรให้กระจายตัวที่ผิวน้ำ   แต่ถ้าเป็นลูกปลากินเนื้อ  เช่น  ลูกปลาแขยง   และลูกปลาดุก   ควรปั้นก้อนให้   อาหารชนิดนี้จำเป็นสำหรับผู้ เลี้ยงปลาสวยงามที่ผลิตลูกปลาออก จำหน่าย                                                                                                                                 

                    2 อาหารธรรมชาติ

                    เป็นอาหารที่มีชีวิต   ปกติสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ   แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติเหล่านี้   เพราะมีความต้องการในปริมาณค่อนข้างมากและสม่ำเสมอ   จัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามในปัจจุบัน   ถึงแม้ว่าอาหารสำเร็จรูปจะมามีบทบาทมากขึ้นและได้รับความนิยมค่อนข้างมาก   ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก็ตามที   แต่ก็ยังมีผู้เลี้ยงปลาสวยงามอีกเป็นจำนวนมาก   ที่ยังนิยมใช้อาหารมีชีวิตหรืออาหารธรรมชาติเป็นอาหารปลา   เพราะเชื่อว่าปลาจะมีสุขภาพดีและมีสีสันสดใสกว่าการใช้อาหารสมทบ   และน้ำจะมีการสะสมของสิ่งหมักหมมน้อยลง   นอกจากนั้นอาหารมีชีวิตบางชนิดยังมีความจำเป็นในการใช้อนุบาลลูกปลา   ช่วยให้ลูกปลามีอัตรารอดสูงและเจริญเติบโตรวดเร็วมาก   นอกจากนั้นอาหารมีชีวิตบางชนิดยังสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ง่าย   ทั้งเพื่อนำไปใช้เลี้ยงปลาสวยงาม   และเพื่อใช้ผสมเป็นส่วนประกอบของอาหารสำเร็จรูป   นับว่าอาหารธรรมชาติยังมีความจำเป็นในธุรกิจการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

                  อาหารธรรมชาติที่สำคัญได้แก่
                  2.1 ไดอะตอม  และ  ยูกลีนา   เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น   พบได้หนาแน่นตามบ่อเลี้ยงปลาที่มีการให้อาหารอย่างเต็มที่   โดยจะขึ้นเป็นฝ้าสีน้ำตาลแกมเขียว   แต่ถ้าได้รับแสงแดดจัดๆจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง   แล้วถูกลมพัดไปหนาแน่นอยู่ตามริมบ่อทางท้ายลม   มีประโยชน์สำหรับใช้อนุบาลลูกปลาที่ค่อนข้างมีขนาดเล็กมากๆ   เช่นลูกปลาตะเพียนทอง   ลูกปลาม้าลาย   ลูกปลากระดี่แคระ   ลูกปลากัด   และลูกปลาซิวต่างๆ   ซึ่งในช่วงที่ลูกปลาออกจากไข่ใหม่ๆในระยะ  2 - 3 วันแรก   จะยังไม่สามารถกินไข่แดงหรือไรน้ำชนิดต่างๆได้   ควรตักฝ้าน้ำซึ่งจะมีไดอะตอมและยูกลีนาอยู่มากมาให้ลูกปลากิน   โดยเทผ่านกระชอนผ้าขาวบางเพื่อให้มีการกระจายตัว   และป้องกันศัตรูของลูกปลาจะลงไปในบ่อได้   ให้กินอยู่ประมาณ  2 - 3  วัน  ลูกปลาจะเติบโตขึ้นจนสามารถกินไรชนิดอื่นหรืออาหารผงต่อไป   ก็จะทำให้ลูกปลาแข็งแรงและมีอัตราการรอดมาก
          2.2 ไรแดง   เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พอจะสังเกตุเห็นด้วยตาเปล่า   เพราะมีขนาดประมาณ  1.2  มิลลิเมตร   จัดเป็นแพลงตอนสัตว์   ในธรรมชาติมักพบตามแหล่งน้ำที่เริ่มเน่าเสีย   และมีจุลินทรีย์มาก   เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับอนุบาลลูกปลา   และเลี้ยงปลาสวยงามที่มีขนาดเล็ก   เช่นปลาม้าลาย   ปลานีออน   ปลาซิวข้างขวาน   ปลาสอด   และปลาหางนกยูง
         
          2.3 ลูกน้ำ  เป็นตัวอ่อนของยุงซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี   เป็นอาหารธรรมชาติที่ได้รับความนิยมใช้เลี้ยงปลาสวยงามมานาน   จะพบได้มากตามแหล่งน้ำเน่าเสีย   และตามแหล่งน้ำขัง   ปัจจุบันยังมีความจำเป็นใช้เลี้ยงปลาบางชนิด   เช่น  ปลากัด   ปลาปอมปาดัวร์
         
          2.4 หนอนแดง  เป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด   ลักษณะคล้ายลูกน้ำแต่ตัวมีสีแดงสด   และมักสร้างปลอกอยู่ตามพื้นก้นบ่อ   พบได้ทั่วไปตามแหล่งที่มีน้ำขัง   เป็นอาหารที่มีคุณค่า   ที่ได้รับความนิยมใช้เลี้ยงปลาสวยงามทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
         
          2.5 อาร์ทีเมีย   เป็นไรน้ำเค็ม   ปกติพบตามทะเลสาบน้ำเค็มที่มีความเค็มค่อนข้างสูง   จนไม่มีสัตว์น้ำประเภทอื่นอาศัยอยู่ได้   ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ  0.3  มิลลิเมตร  มีความสำคัญสำหรับการใช้อนุบาลลูกปลา   แต่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ  1.2  เซ็นติเมตร  เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามได้ดี   นอกจากนั้นในช่วงฤดูแล้งซึ่งน้ำจะมีความเค็มสูงมาก   อาร์ทีเมียจะปล่อยไข่ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายใน   โดยไข่จะลอยเป็นแพอยู่ตามผิวน้ำ  สามารถรวบรวมไข่ดังกล่าวมาอบแห้งเก็บไว้   เมื่อต้องการใช้ก็นำมาฟักตัวในน้ำทะเลปกติหรือน้ำที่มีความเค็ม 30 ppt  ใช้เวลาประมาณ  24  ชั่วโมงตัวอ่อนจะฟักตัวออกมา   จึงเป็นอาหารธรรมชาติที่สามารถเพาะให้ได้ในปริมาณมากตามที่ต้องการ   และในเวลาที่ต้องการได้ดีที่สุด   ทำให้เป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อธุรกิจการประมงมากที่สุด
                ปัจจุบันมีการศึกษาและวิจัย   จนสามารถดำเนินการเพาะเลี้ยงอาหารธรรมชาติที่สำคัญได้หลายชนิด   จัดได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงปลาสวยงามและเป็นการส่งเสริมอาชีพทางการประมงด้วย

                   3 เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้ไรแดง      
                ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน   และในธุรกิจการเลี้ยงปลาสวยงาม   เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงทำให้ลูกปลาเจริญเติบโตรวดเร็วมาก   และมีอัตราการรอดสูง   มีความสำคัญสำหรับผู้เพาะเลี้ยงปลากัด   ปลาปอมปาดัวร์   ปลาเทวดา   และปลาออสการ์  อย่างมาก   ในอดีตสามารถรวบรวมไรแดงได้จากแหล่งน้ำทิ้งใกล้อาคารบ้านเรือน   โรงฆ่าสัตว์   และตามคูน้ำรอบๆกรุงเทพฯ   ซึ่งพบว่ามีปัญหาที่สำคัญคือมีปริมาณไม่แน่นอน   และมักมีโรคพยาธิโดยเฉพาะพวกหนอนสมอ   และเห็บปลาติดมาด้วย   มีผลทำให้เกิดการระบาดของโรคพยาธิในบ่ออนุบาลได้อย่างรวดเร็ว   นอกจากนั้นปริมาณไรแดงยังมีแนวโน้มลดลง   เนื่องจากน้ำเน่าเสียมากเกินไปจนไรแดงไม่สามารถอยู่ได้   ในขณะที่ความต้องการไรแดงมีมากขึ้นเรื่อยๆ   หน่วยงานของกรมประมงจึงได้ทำการศึกษาวิจัยหาแนวทางการเพาะเลี้ยงไรแดง   จนปัจจุบันประสบผลสำเร็จสามารถแนะนำให้เกษตรกรนำไปดำเนินการได้   เป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่ทำรายได้ค่อนข้างดีมาก

                   3.1 การจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน   ไรแดงจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้ง   หรือที่เรียกรวมว่า  Crustacean    มีชื่อสามัญว่า  Water  flea   เป็นแพลงตอนสัตว์   ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม   ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่มีขนาด  0.22 - 0.35  มิลลิเมตร   เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ  0.8 - 1.5  มิลลิเมตร   ลำตัวมีสีแดงเรื่อๆเนื่องจากมีสารพวกฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)กระจายอยู่ทั่วร่างกาย   โดยสารฮีโมโกลบินจะมีมากเมื่อน้ำมีออกซิเจนอยู่น้อย   และจะมีน้อยเมื่อน้ำมีออกซิเจนมาก   ดังนั้นไรแดงที่ช้อนมาจากแหล่งน้ำเสียจะมีสีแดงเข้มชัดเจน   แต่ถ้านำมาเลี้ยงในน้ำสะอาดจะมีสีน้ำตาลอ่อน    ไรแดงที่พบตามธรรมชาติโดยทั่วไปของประเทศ  และที่นิยมนำมาเพาะเลี้ยงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moina  macrocopa ซึ่งจัดลำดับชั้นได้ดังนี้
                   Phylum                         :  Arthropoda
                       Subphylum               :  Mandibulata
                           Class                    :  Crustacea
                               Subclass           :  Brachiopoda
                                   Order            :  Cladocera
                                      Suborder    :  Calyptomera
                                         Family     :  Daphnidae
                                            Genus   :  Moina 

                   3.2 ลักษณะภายนอก                        
          ลักษณะทั่วไป   ลำตัวค่อนข้างกลมและจะแบนทางด้านข้าง   มีเปลือกปกคลุมตัว 
         
          ส่วนหัว   ค่อนข้างกลม   มีตาแบบตารวม(Compound  Eye)สีดำเด่นชัดซึ่งสามารถขยับไปมาได้   ระยางค์ที่พบที่ส่วนหัว คือ 
Antennule  หรือหนวดคู่แรก   อยู่เหนือช่องปาก   มีลักษณะเป็นแท่งสั้นๆข้อเดียว   ปลายสุดมี Sensory  bristle เป็นขนเล็กๆทำหน้าที่รับความรู้สึก   เพศผู้จะมีหนวดคู่แรกนี้ใหญ่กว่าเพศเมีย
Antenna หรือหนวดคู่ที่ 2   มีขนาดใหญ่ทำหน้าที่ในการว่ายน้ำ   ปลายจะแตกเป็น  2  แขนง (Biramous)   และจะมี Plumose  bristle ซึ่งเป็นขนค่อนข้างยาวแตกแขนงออกไป
Mandible   อยู่เหนือปาก
Maxilla   อยู่ใต้ Mandible

          ส่วนอก   จะมีเปลือก (Carapace) คลุมไว้   เปลือกมีลักษณะเป็นแผ่นบางใส  2  แผ่นยึดติดกันทางด้านหลัง   ส่วนทางด้านท้องจะเปิดให้ระยางค์อกยื่นออกมาได้   ที่ส่วนอกนี้มี  6  ปล้อง   แต่มีระยางค์  5  คู่   โดยคู่ที่  3  และ  4  จะมีขนาดใหญ่และทางด้านข้างมีขนเรียงเป็นแถว  ช่วยกรองอาหาร  จัดเป็น Filter  setae
          ส่วนท้อง   อยู่ค่อนไปทางท้าย   มีลักษณะเป็นแผ่นงอขึ้นข้างบน   ปลายสุดแยกเป็น  2  แฉก  เรียก  Caudal  rami   ส่วนท้ายสุดของด้านท้องจะมีหนามเล็กๆ  เรียก  Postabdominal  spine  หลายอันแล้วแต่ชนิดของไร      ใต้ลงมาจะมี Tactile  setae จำนวน  2  เส้นทำหน้าที่รับสัมผัส
          โดยทั่วไปเมื่อสภาพแวดล้อมปกติ   คือมีอาหารสำหรับไรน้ำอยู่มาก   และมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง   จะพบไรแดงเพศเมียมากกว่าเพศผู้   คือมักมีไรแดงเพศเมียอยู่ถึง  95 %   ส่วนเพศผู้มีอยู่เพียง  5 %

                    3.3 การแพร่พันธุ์ของไรแดง   ไรแดงมีการแพร่พันธุ์ได้  2  แบบ  คือ
                    3.3.1 การแพร่พันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ   จะเกิดในภาวะปกติที่มีอาหารสมบูรณ์   และอุณหภูมิค่อนข้างสูง (ในฤดูร้อน)   โดยไรแดงเพศเมียจะสร้างไข่ขึ้นในช่องเก็บไข่ (Brood  chamber)  ทางด้านหลังของลำตัว   ไข่จะสามารถพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการผสมกับเชื้อของเพศผู้  เรียก  Parthenogenesis   ตัวอ่อนจะฟักตัวออกมาเป็นเพศเมีย   ว่ายน้ำออกจากตัวแม่   ปกติไรแดงจะมีอายุได้  4 - 6  วัน   จะสามารถแพร่พันธุ์ได้  1 - 4  ครั้ง   ให้ลูกครั้งละ  8 - 14  ตัว   ตัวอ่อนที่เกิดใหม่จะเจริญเป็นตัวเต็มวัยภายใน  24  ชั่วโมง
                    3.3.2 การแพร่พันธุ์แบบอาศัยเพศ   ในสภาพปกติจะเกิดน้อย   ได้ตัวอ่อนทั้งเพศผู้และเพศเมีย   แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป   เช่น  อาหารลดลง   อุณหภูมิต่ำลง   หรือความเป็นกรดเป็นด่างเปลี่ยนไป  ไรเพศเมียจะมีการสร้างไข่ที่มีผนังหนาเพียง 1 - 2 ใบแล้วเกิดการผสมกับเชื้อจากตัวผู้  ไข่จะยังไม่ฟักตัว จะหลุดจากตัวแม่เป็น Ephippium  egg หรือ Winter  egg  ตกลงไปอยู่ตามพื้นก้นบ่อ   ส่วนตัวแม่จะตายไป   เมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมไข่ก็จะฟักตัวออกมา

                    3.4 วิธีการเพาะเลี้ยงไรแดง
                    3.4.1 การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์   โดยใช้อาหารผสม   มีขั้นตอนดังนี้
                    ขั้นที่ 1  การเตรียมบ่อผลิต   ใช้ได้ตั้งแต่ขนาด  1 - 50  ตารางเมตร (อาจใช้หน่วยเป็นตัน  :  น้ำปริมาตร  1  ลูกบาศก์เมตร  =  1  ตัน)   ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์สร้างใหม่จะมีความเป็นด่างสูงมากเกินไป   ต้องแช่น้ำทิ้งไว้  2 - 3  สัปดาห์โดยล้างทิ้งและเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์   แต่ถ้าต้องการเร็วให้หมักด้วยเปลือกมะละกอ   หรือเปลือกสับปะรด   ทิ้งไว้  7 - 10  วันโดยล้างทิ้งทุก  3  วัน   ส่วนบ่อเก่าที่เคยใช้แล้วควรล้างทำความสะอาดแล้วตาก  1 - 2  วัน
                     ขั้นที่ 2 การเตรียมน้ำ    ควรใช้น้ำธรรมชาติ   คือ น้ำจากบ่อดิน   หรือหนองน้ำ   สูบใส่บ่อโดยปล่อยผ่านผ้ากรอง   เพื่อป้องกันไรชนิดอื่นหรือศัตรูของไรแดง   จนได้ระดับประมาณ  30  เซนติเมตร ( 1  ฟุต )   ถ้าต่ำไปน้ำจะร้อนมาก   ถ้าสูงมากไปไรแดงจะเสียกำลังงานในการเคลื่อนที่   จากนั้นปรับความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำโดยใช้ปูนขาวปริมาณ  1  กิโลกรัม ต่อน้ำ  5  ตัน     ตัวอย่างเช่น   บ่อขนาด  20  ตารางเมตร   ระดับน้ำ  30  เซนติเมตร

                    จะมีปริมาตรน้ำ           =    20  X  0.30                         ลูกบาศก์เมตร (ตัน)
                                                     =    6                                      ตัน
                     \ ต้องใส่ปูนขาว           =   1  X  6/5            =    1.2         กิโลกรัม
ใช้ปูนขาวจำนวนที่ต้องการแช่น้ำทิ้งไว้  1  คืน   แล้วกวนเอาเฉพาะน้ำไปสาดลงบ่อ   จากนั้นทำให้น้ำเขียวโดยเติมปุ๋ยสูตร  15-15-15  ประมาณ  5  กรัม ต่อ 1 ตารางเมตร   และปุ๋ยยูเรีย (สูตร 45-0-0) ประมาณ  3  กรัม ต่อ  1  ตารางเมตร

                         *

                    ขั้นที่ 3 การเตรียมอาหาร  ใช้อาหารผสม  ได้แก่  รำละเอียด  2  ส่วน   ปลาป่น  1  ส่วน  และกากถั่วเหลือง  1  ส่วน   ในปริมาณ  80  กรัม ต่อตารางเมตร 

               เช่น   บ่อขนาด  20  ตารางเมตร   จะต้องเตรียมอาหารโดยคำนวณดังนี้

          บ่อขนาด   1   ตารางเมตร   จะใช้อาหาร             80             กรัม

          บ่อขนาด  20  ตารางเมตร   จะใช้อาหาร          =  80  X  20    กรัม

                                                                        =  1,600          กรัม ( 1.6  กิโลกรัม )

              จากสูตรอาหารที่กำหนด   รำละเอียด 2 ส่วน +ปลาป่น 1 ส่วน + กากถั่วเหลือง 1 ส่วน

                                  รวม                                      =       4              ส่วน

นั่นคือ   อาหารผสม       4     กรัม   ใช้ลำละเอียด           =       2                                   กรัม

             อาหารผสม   1,600  กรัม   ใช้รำละเอียด           =   2  X  1,600/4 =  800                กรัม

             อาหารผสม        4     กรัม   ใช้ปลาป่น            =       1                                   กรัม

             อาหารผสม   1,600   กรัม   ใช้ปลาป่น             =  1  X  1,600/4   =  400              กรัม

             อาหารผสม    4    กรัม   ใช้กากถั่วเหลือง         =      1                                    กรัม

             อาหารผสม 1,600 กรัม  ใช้กากถั่วเหลือง          =  1  X  1,600/4 =  400               กรัม

                   สรุป    ในบ่อที่จะเพาะไรแดงซึ่งมีขนาด  20  ตารางเมตร   จะต้องใช้อาหารผสม

                   โดยใช้  รำ  800  กรัม   ผสมปลาป่น  400  กรัม   และกากถั่วเหลือง  400  กรัม

                   หมักอาหารผสมดังกล่าวในถุงพลาสติก   โดยใส่น้ำเป็น  2  เท่าของอาหาร   เช่น  อาหารผสมที่จะใช้มีน้ำหนัก  1,600  กรัม   ฉนั้นต้องใช้น้ำเท่ากับ  3,200  กรัม   หรือเท่ากับ  3.2  ลิตร (น้ำ  1  ลิตรหนักเท่ากับ  1,000  กรัม)   หมักไว้นาน  2 - 3  วัน (อย่างน้อยที่สุด  1  วัน)   หมั่นเขย่าถุงทุกวัน   จากนั้นกรองน้ำที่หมักอาหารผสมผ่านผ้าไนล่อน   เอาส่วนกากออก   แล้วนำน้ำไปสาดลงบ่อที่เตรียมไว้

                   ขั้นที่ 4 การเติมพันธุ์ไรแดง   หาไรแดงมาเติมลงบ่อผลิต   โดยใช้ไรแดงน้ำหนักสด(ช้อนไรแดงผ่านกระชอนน้ำพอหมาดๆ)ปริมาณ  10 - 60   กรัม ต่อตารางเมตร   เช่น  บ่อขนาด  20   ตารางเมตร   จะใช้ไรแดงประมาณ  200 - 1,200  กรัม ( 2  ขีด - 1.2  กิโลกรัม )   เมื่อเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตประมาณ  10   เท่า ( 2 - 12  กิโลกรัม )

                          *

                   ขั้นที่ 5 การควบคุมบ่อผลิต   คือการควบคุมให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องทุกวัน   เป็นเวลา  10 - 15  วัน   โดย

�   การเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เก็บเกี่ยววันละประมาณ  1/2 ของผลผลิตที่มี   โดยครั้งแรกจะเก็บเกี่ยวประมาณวันที่ 3 หรือ 5 หลังจากเติมพันธุ์ไรแดง

�   การเติมอาหาร   หลังจากเติมน้ำหมักจากอาหารผสมแล้ว   จะต้องเตรียมอาหารหมักไว้อีกประมาณ 10%ของครั้งแรก เช่นจากบ่อขนาด 20 ตารางเมตร  ครั้งแรกใช้อาหารผสม  1,600  กรัม   ดังนั้นอาหารผสมที่จะต้องหมักไว้ใช้ในวันต่อๆไป   จะใช้วันละ  160  กรัมหมักเตรียมไว้วันละถุง   เมื่อนำไปเติมแล้วก็หมักใหม่เช่นนี้ไปทุกวัน

�   การถ่ายน้ำ   เมื่อทำการเก็บเกี่ยวไรไปแล้ว  4 - 5  วัน   ควรถ่ายน้ำออกระดับ  5 - 10  เซนติเมตร   แล้วเติมน้ำใหม่

                   3.4.2 การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์   โดยใช้น้ำเขียว

          ควรเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่อไปนี้

                   1. บ่อผลิต   ถ้าจะสร้างบ่อใหม่ควรเป็นบ่อกลมหรือรูปไข่   เพื่อความสะดวกในการหมุนเวียนน้ำ   แต่ถ้ามีบ่อเหลี่ยมอยู่แล้วก็ใช้ได้   และควรมีความสูงของบ่อประมาณ  60  เซนติเมตร

                   2. แอร์ปั๊ม   สำหรับช่วยให้เกิดการหมุนเวียนน้ำ   ป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวและช่วยเร่งการขยายพันธุ์   กำลังของเครื่องควรให้เหมาะสมกับขนาดบ่อ   เพื่อให้มีกำลังลมพอเพียงที่จะทำให้น้ำหมุนเวียนได้ทั่วบ่อ

                   3. ผ้ากรอง   น้ำที่จะปล่อยลงบ่อผลิตไรจะต้องมีการกรองโดยผ้ากรองทุกครั้ง   รวมทั้งน้ำเขียวเพื่อป้องกันไรน้ำชนิดอื่นๆและศัตรูของไรแดง

                   4. น้ำเขียว   เป็นแพลงตอนพืชที่จัดว่าเป็นสาหร่ายเซลล์เดียว   ขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า   แต่แพร่พันธุ์ขยายจำนวนได้รวดเร็วมากเมื่อมีอาหารเหมาะสม   เพิ่มจำนวนมากมายจนทำให้น้ำกลายเป็นสีเขียว   ชนิดของสาหร่ายเซลล์เดียวที่พบนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Chlorella  sp.

                   5. ไรแดง  สำหรับเป็นเชื้อให้แพร่พันธุ์ในบ่อผลิต
 
                   6. กากผงชูรส (ซึ่งเรียก อามิ - อามิ )   เป็นกากจากการผลิตผงชูรส   ซึ่งมีแร่ธาตุไนโตรเจน  4.2 %  และฟอสฟอรัส  0.2 %   เวลาใช้จะใช้ทั้งน้ำและตะกอนร่อนรวมกัน

                   7. อาหารสมทบ   ได้แก่รำ   ปลาป่น   และกากถั่วเหลือง

                   8. ปุ๋ยวิทยาศาสตร์  ได้แก่   - ปุ๋ยนา  สูตร  16-20-0

                                        - ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต  สูตร  0-46-0

                                        - ปุ๋ยยูเรีย  สูตร  46-0-0

                   การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่ละครั้งจะต้องละลายน้ำก่อน

                   9. ปูนขาว   ใช้เพื่อปรับความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ   การใช้ควรแช่น้ำทิ้งไว้  1  คืนแล้วกวนเอาเฉพาะน้ำสาดลงบ่อผลิต

          การเพาะไรแดงโดยใช้น้ำเขียว   ยังแบ่งออกเป็น  3  แบบ คือ


                   (1) การเพาะแบบไม่ต่อเนื่อง   เป็นการเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวครั้งเดียว   ควรมีบ่ออย่างน้อย  4  บ่อ   เพื่อหมุนเวียนให้ได้ผลผลิตทุกวัน   การเพาะแบบนี้ให้ปริมาณไรแดงจำนวนมากและแน่นอน   มีสูตรอาหารที่ใช้ได้ผลหลายสูตร   ดังตัวอย่างที่จะใช้ในบ่อขนาด  50  ตารางเมตร

                   สูตรที่ 1   อามิ - อามิ  5  ลิตร   ปุ๋ยนา(16-20-0)  2.0  กิโลกรัม   รำ  5.0  กิโลกรัม   และปูนขาว  3.0  กิโลกรัม   สูตรนี้จะให้ผลผลิตไรแดง  11.0 - 13.0  กิโลกรัมต่อบ่อ

                   สูตรที่ 2   อามิ - อามิ  20  ลิตร   ปุ๋ยนา(16-20-0)  1.5  กิโลกรัม   ยูเรีย(46-0-0)  1.5  กิโลกรัม   ซุปเปอร์ฟอสเฟต(0-46-0)  130  กรัม  และปูนขาว  3.0  กิโลกรัม   สูตรนี้จะให้ผลผลิตไรแดง  12.0 - 13.0  กิโลกรัมต่อบ่อ

                   สูตรที่ 3   ยูเรีย(46-0-0)  3.0  กิโลกรัม   ปุ๋ยนา(16-20-0)  1.5  กิโลกรัม   รำ  5.0  กิโลกรัม   และปูนขาว  3.0  กิโลกรัม   สูตรนี้จะให้ผลผลิตไรแดง  10.0 - 12.0  กิโลกรัมต่อบ่อ

                   วิธีดำเนินการคือ  เตรียมบ่อแล้วเติมน้ำให้ได้ระดับ  20  เซนติเมตร  เติมปุ๋ยสูตรใดสูตรหนึ่งแล้วเติมน้ำเขียวลงไปประมาณ  1 - 2  ตัน   เปิดเครื่องแอร์ปั๊มให้น้ำเกิดการหมุนเวียน   ปล่อยไว้  3  วันน้ำเขียวจะเจริญเต็มที่   จากนั้นเติมเชื้อไรแดงประมาณ  1.5 - 2.0  กิโลกรัม   ปล่อยทิ้งไว้อีก  3  วันไรแดงจะแพร่พันธุ์จนสามารถเก็บเกี่ยวได้

                   (2) การเพาะแบบต่อเนื่อง   เป็นการเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวผลผลิตหลายวันภายในบ่อเดียวกัน   ควรมีบ่ออย่างน้อย  4  บ่อเช่นกัน   การเพาะแบบนี้ต้องระวังเรื่องคุณภาพน้ำ   อาจมีการถ่ายน้ำและเพิ่มน้ำใหม่ลงบ่อผลิต   วิธีดำเนินการเช่นเดียวกับแบบไม่ต่อเนื่อง   แต่การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวไรแดงที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งเดียว   จากนั้นลดระดับน้ำลงประมาณ  10  เซนติเมตร   แล้วเติมน้ำใหม่และน้ำเขียวอย่างละ  5  เซนติเมตร   ทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าสภาวะแวดล้อมในบ่อผลิตจะไม่เหมาะสม   จึงล้างบ่อแล้วเริ่มใหม่   วิธีนี้จะได้ผลผลิตประมาณ  25  กิโลกรัมต่อบ่อ   ในระยะเวลา  12  วัน

                   (3) การเพาะแบบเพิ่มระดับน้ำ    เป็นการเพาะไรแดงโดยแบ่งการใส่ปุ๋ยออกเป็น  2  ช่วง   แต่ละช่วงห่างกัน  3 วัน  และใช้ระดับน้ำสูงเป็น  60  เซนติเมตร  ในบ่อผลิตขนาด  50  ตารางเมตรจะใช้ปุ๋ยในช่วงที่  1  และช่วงที่  2  ดังตารางต่อไปนี้




ที่มา  :  กรมประมง (2535)

                    วิธีดำเนินการคือเตรียมบ่อแล้วเติมน้ำระดับ  60  เซนติเมตร   แล้วเติมน้ำเขียว  1 - 2  ตัน   เปิดเครื่องแอร์ปั๊มให้น้ำหมุนเวียน   เติมปุ๋ยชนิดต่างๆในปริมาณที่ปรากฎในช่วงที่ 1   ทิ้งไว้  3  วันแล้วเติมปุ๋ยชนิดต่างๆในปริมาณที่ปรากฎในช่วงที่  2   ทิ้งไว้อีก  2  วันแล้วเติมเชื้อไรแดง  3 - 5  กิโลกรัม   ปล่อยไว้  3  วันไรแดงจะขยายพันธุ์จนเก็บเกี่ยวได้   ให้ผลผลิตประมาณ  28 - 34  กิโลกรัมต่อบ่อ

                      3.4.3 การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อดิน

                    บ่อดินที่จะใช้เพาะเลี้ยงไรแดงควรมีขนาดประมาณ  200 - 800  ตารางเมตร  มีขั้นตอนคือ 

- ทำความสะอาดบ่อแล้วตากบ่อไว้ประมาณ  1  สัปดาห์

- เติมน้ำโดยปล่อยผ่านผ้ากรองให้ได้ระดับประมาณ  25 - 40  เซนติเมตร 

- เติมน้ำเขียวประมาณ  2  ตัน   แล้วเติมอาหารตามตารางต่อไปนี้

                                                      ตารางที่ 2  ชนิดปุ๋ยและปริมาณที่จะใช้เพาะไรแดงในบ่อดินขนาดต่างๆ



                  ถ้าไม่มีอามิ - อามิให้ใช้มูลไก่แทนตามตัวเลขในวงเล็บ   แล้วใส่น้ำเขียวประมาณ  2  ตัน

          ถ้าไม่มีน้ำเขียว   หมักน้ำทิ้งไว้  3  วัน

          ดัดแปลงจาก  :  กรมประมง (2535)

- เติมเชื้อไรแดงประมาณ  2  กิโลกรัม   แล้วปล่อยทิ้งไว้  3  วัน

- เริ่มเก็บเกี่ยวไรแดงได้ตั้งแต่วันที่  4  หลังจากเติมเชื้อไรแดง   จะเก็บเกี่ยวได้  3 - 4  วันไรแดงจะเริ่มลดจำนวนลง   ควรเติมอาหารลงไปโดยเติมเพียงครึ่งหนึ่งของครั้งแรก   ไรแดงก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกภายใน  2 - 3  วัน   ทำเช่นนี้ไปได้อีก  1 - 2  ครั้งก็ควรจะล้างบ่อแล้วเริ่มต้นใหม่

                    3.5 การนำไรแดงมาใช้   ไรแดงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงจะมีโรคและพยาธิ   ที่จะเป็นอันตรายต่อปลาค่อนข้างน้อยกว่าไรแดงที่ช้อนจากแหล่งน้ำเสีย   แต่ถ้าต้องการความปลอดภัยควรล้างไรแดงด้วยสารละลายด่างทับทิม  อัตรา  0.1  กรัมต่อน้ำ  20  ลิตร   ซึ่งจะได้สารละลายสีชมพูอ่อน   แช่ไรแดงไว้ประมาณ  5 - 10  นาทีโดยให้อากาศด้วย   จากนั้นจึงช้อนไปเลี้ยงลูกปลา   การใช้ไรแดงยังนิยมให้ไรแดงในสภาพสดมากกว่า         

                    3.6 การลำเลียงไรแดง   มี  2  ลักษณะ  คือ   

                    3.6.1 การลำเลียงไรแดงเพื่อนำไปเป็นแม่พันธุ์สำหรับการผลิต   จะต้องทะนุถนอมเพื่อให้ไรแดงมีความแข็งแรงและบอบช้ำน้อย   จะได้มีจำนวนรอดมากทำให้ผลผลิตสูง   ปกติไรแดงที่รอดชีวิตจะให้ผลผลิตเป็น  10  เท่า   ซึ่งวิธีการลำเลียงที่ดีควรใช้ถุงพลาสติกอัดก๊าซออกซิเจน   และใช้ตู้แช่อุณหภูมิต่ำ  ประมาณ  10 - 20  องศาเซลเซียส   อาจใช้ถังโฟมใส่น้ำแข็งแทนได้  เมื่อถึงที่หมายจึงนำถุงพลาสติกออกแช่ในน้ำปกติ   เพื่อค่อยๆทำให้อุณหภูมิน้ำในถุงสูงขึ้นเท่ากับบ่อผลิต   แล้วจึงปล่อยไรลงบ่อ

                    3.6.2 การลำเลียงไรแดงเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์น้ำ   ต้องการเพียงไรแดงสดจึงใช้ได้ทั้งวิธีใส่ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน   และวิธีแช่แข็ง   โดยเฉพาะวิธีแช่แข็งนิยมใช้ส่งไรแดงไปต่างประเทศ   เมื่อต้องการใช้จะนำก้อนไรแดงแช่แข็งใส่ลงในตู้ปลา  ไรแดงจะค่อยๆละลายหลุดออกมาและปลาจะมาตอดกิน

                    3.7 การเก็บรักษาไรแดง  ไรแดงที่ผลิตได้คราวละมากๆนอกจากจะใช้ในสภาพสดแล้ว   ก็ยังสามารถเก็บรักษาไว้นานๆได้   เมื่อใดที่ต้องการใช้ก็นำออกมาใช้ได้ทันที   วิธีที่นิยมใช้เก็บรักษาไรแดง   คือ

                    3.7.1 ใช้วิธีการแช่แข็ง   วิธีนี้สามารถเก็บไว้ได้นานและไรยังสดอยู่   นิยมทำโดยช้อนไรให้แห้งพอหมาดๆ   จากนั้นแบ่งใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องพลาสติก   แล้วนำไปแช่แข็ง   เมื่อต้องการใช้ก็นำไปใส่ลงในน้ำได้ทันที   ไรแดงจะค่อยๆละลายลงไปโดยปลาจะมาคอยกิน

                    3.7.2 ใช้วิธีการเก็บในอุณหภูมิต่ำประมาณ  10  องศาเซลเซียส   โดยเติมน้ำให้ไรประมาณ  50 %  แล้วใส่ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน   จะทำให้สามารถเก็บไรได้มากขึ้น   โดยไรจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ  4  วัน

                   4 เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้หนอนแดง    

                   หนอนแดงเป็นอาหารธรรมชาติ   ที่มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงปลาสวยงามอย่างมาก  เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง   เหมาะสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้มีการพัฒนาของเซลล์สืบพันธุ์ที่ดี   และเป็นอาหารที่ปลาสวยงามส่วนใหญ่ชอบกิน   เป็นอาหารที่นิยมใช้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ   เพราะทำให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว   มีสีสันสดใส   ไม่ทำให้น้ำเน่าเสียหรือมีตะกอนมากเหมือนกับอาหารธรรมชาติบางชนิด   แต่เนื่องจากหายากและมีราคาค่อนข้างแพง   จึงนิยมใช้เลี้ยงเฉพาะปลาที่มีราคาแพงหรือกินอาหารสำเร็จรูปยาก   เช่น  ปลาปอมปาดัวร์และปลาเทวดา   ในอดีตจะรวบรวมหนอนแดงได้จากพื้นก้นแหล่งน้ำ   โดยเฉพาะแหล่งน้ำเสียแต่ปัจจุบันหาได้ยากขึ้น   ในขณะที่ความต้องการหนอนแดงกลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ   จึงทำให้มีการเพาะเลี้ยงหนอนแดงเป็นการค้าขึ้นมาเช่นกัน

                   4.1 การจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน  หนอนแดงจัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทสัตว์หน้าดิน (Benthos)   จะอาศัยอยู่ตามพื้นก้นบ่อหรือแหล่งน้ำทั่วๆไป   หนอนแดงเป็นตัวอ่อนของแมลงที่มีลักษณะคล้ายยุง   เรียกว่า “ริ้น”   มีทั้งชนิดที่เป็นน้ำจืด   น้ำกร่อย   และน้ำเค็ม   ชนิดที่พบมากในน้ำจืดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Chironomous  spp.   มีลักษณะคล้ายยุงแต่มีขายาวกว่า   ไม่ทำอันตรายหรือดูดเลือดมนุษย์   ริ้นเพศเมียไม่ต้องการเลือดเป็นอาหารเหมือนยุงเพศเมีย   ส่วนริ้นเพศผู้มีหัวเล็กและมีหนวดเป็นพู่(Plumose)   ริ้นพวกนี้มักชอบเกาะอยู่ตามที่มืดชายน้ำ   แล้วเพศเมียจะวางไข่ตามผิวน้ำ   ลักษณะไข่จะมีวุ้นหุ้มต่อกันเป็นสาย   เกาะติดอยู่ตามลำต้นหรือใบของพันธุ์ไม้น้ำตามผิวน้ำ   โดยจะวางไข่คราวละ  400 - 500 ฟอง   ใช้เวลาฟักตัวประมาณ  50  ชั่วโมง   ตัวอ่อนที่ออกจากไข่มีความยาวประมาณ  1.0  มิลลิเมตร   และเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ  1.0 - 1.2  เซนติเมตร    หนอนแดงที่พบโดยทั่วไปมีชื่อสามัญว่า  Midge    แต่เนื่องจากลำตัวมักมีสีแดงสด   จึงอาจเรียกว่า  Blood  Worm   จัดลำดับชั้นได้ดังนี้

               Phylum               :  Arthropoda

                      Class                    :  Insecta

                          Order               :  Diptera

                               Family         :  Chironomidae

                                    Genus     :  Chironomus

                   4.2 ลักษณะภายนอก

            หนอนแดงมีลำตัวยาว   ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน   และมีตาเห็นเป็นจุดสีดำ  1  คู่   ส่วนอกขยายใหญ่   มีอวัยวะหายใจยื่นยาวออกมาเป็นท่อเล็กๆ  1  คู่   มีอวัยวะทำหน้าที่คล้ายขา (Pseudopods  หรือ  False  Legs) อยู่  2  คู่   คู่แรกอยู่ที่ปล้องแรกของส่วนอก   คู่ที่  2  อยู่ที่ปล้องสุดท้ายของส่วนท้อง   นอกจากนั้นหนอนแดงยังสามารถว่ายน้ำได้   โดยการบิดตัวไปมา

                   4.3 วงชีวิต



                                                                          ภาพที่ 2  แสดงวงชีวิตของหนอนแดง

                   4.4 การเพาะเลี้ยงหนอนแดง   ส่วนใหญ่นิยมใช้บ่อดินเพราะจะให้ผลผลิตค่อนข้างสูง   มีขั้นตอนดังนี้

   

                    ขั้นที่ 1 การเตรียมบ่อ    ขนาดที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง  1,000 - 1,600  ตารางเมตร   ปรับคันบ่อให้สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ  30  เซนติเมตร   หว่านด้วยปูนขาวประมาณ  10 - 15  กิโลกรัม   ตากบ่อไว้ประมาณ  1  สัปดาห์
   

                   ขั้นที่ 2 หว่านปุ๋ย   ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์   ซึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบันได้แก่มูลไก่แห้ง   ปริมาณ  1,000 - 1,500  กิโลกรัม   หว่านกระจายให้ทั่วบ่อ   แล้วเติมน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับ  30  เซนติเมตร   ริ้นน้ำจืดจะมาวางไข่ติดตามต้นและใบหญ้าบริเวณผิวน้ำที่ขอบบ่อ  หลังจากนั้นประมาณ  2  วัน   ตัวอ่อนของริ้นน้ำจืดจะฟักตัวออกจากไข่    ซึ่งจะพอดีกับที่บ่อจะมีแบคทีเรีย   และ แพลงตอนต่างๆซึ่งเกิดจากการใส่มูลไก่   ตัวอ่อนจะได้รับอาหารเจริญเติบโตและสร้างปลอกอยู่ตามพื้นก้นบ่อ   ในเวลา  7 - 10  วันจะมีขนาดประมาณ  1.0  เซนติเมตร   เหมาะที่จะนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาสวยงาม
   

                   ขั้นที่ 3 การเก็บผลผลิต   จะเริ่มเก็บเกี่ยวหนอนแดงประมาณวันที่  10 - 15  หลังจากเติมน้ำ  ซึ่งจะขึ้นกับฤดูกาล   วิธีการเก็บรวบรวมหนอนแดง   ตอนแรกจะใช้สวิงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  40 - 50  เซนติเมตร   ทำด้วยผ้าไนล่อนสีฟ้าขนาดช่องตาประมาณ  1 - 2 มิลลิเมตร   ช้อนลงไปที่พื้นก้นบ่อให้ลึกลงไปในดินประมาณ  2 - 3  เซนติเมตร   แล้วทำการร่อนโดยเขย่าสวิงไปมาบริเวณผิวน้ำ   จะทำให้ดินและโคลนที่ถูกช้อนขึ้นมากระจายตัวผ่านไนล่อนของสวิงออกไป   ส่วนหนอนแดงถึงแม้ขนาดของลำตัวจะเล็กพอที่จะลอดช่องตาออกไปได้เช่นกัน   แต่เนื่องจากมีความยาวและชอบม้วนตัว   จึงทำให้ไม่สามารถลอดออกไปได้   ดังนั้นในสวิงจะเหลือเศษวัสดุที่มีขนาดใหญ่  เช่น  ใบไม้   ขนไก่  รวมทั้งหนอนแดง  ก็ใช้กระชอนผ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  20  เซนติเมตร   ช้อนทั้งหมดไปใส่ภาชนะไว้แล้วเก็บเศษวัสดุที่ไม่ต้องการออก   ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนทั่วทั้งบ่อ
   

                   ขั้นที่ 4 การปรับสภาพบ่อ เมื่อทำการเก็บเกี่ยวหนอนแดงเสร็จแล้ว   ระบายน้ำในบ่อทิ้งให้ลดระดับลงประมาณ  10  เซนติเมตร   จากนั้นหว่านด้วยมูลไก่แห้งอีก  200 - 300  กิโลกรัมแล้วเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม

                จากนั้นจะสามารถดำเนินการตามขั้นที่ 3 และ 4  อีก   โดยสามารถทำได้ประมาณ  3  ครั้ง   ซึ่งจะได้ผลผลิตหนอนแดงประมาณ  200  กรัม / ตารางเมตร / ครั้ง   ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ  30  วัน   เก็บเกี่ยวหนอนแดงได้  3  ครั้ง

   

                   ขั้นที่ 5 การเตรียมบ่อ จะดำเนินการย้อนกลับไปขั้นที่ 1   โดยควรตากบ่อไว้นานประมาณ  10 - 15  วัน   แล้วดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน

                   4.5 การเก็บรักษาหนอนแดง   กระทำได้  5  วิธี  คือ

                   4.4.1 การเก็บสด   จะเก็บหรือเลี้ยงหนอนแดงในภาชนะ   เช่นกะละมังขนาดใหญ่   ให้อากาศเช่นเดียวกับการเลี้ยงปลา   แล้วใช้อาหารผงที่ใช้สำหรับอนุบาลลูกปลาดุกเป็นอาหารเลี้ยงหนอนแดง จะเลี้ยงหนอนแดงไว้ได้อย่างดี ถึงแม้หนอนแดงบางส่วนจะลอกคราบ กลายเป็นหัวโม่ง   เพื่อจะลอกคราบอีกครั้งแล้วกลายเป็นตัวเต็มวัย   หนอนแดงที่กลายเป็นหัวโม่งสามารถช้อนไปเป็นอาหารปลาได้ดี   เพราะในระยะที่เป็นหัวโม่งหนอนแดงจะชอบอยู่ที่ผิวน้ำ   ทำให้ช้อนได้ง่ายและปลาชอบกินด้วย

                   4.4.2 การเก็บแห้ง   ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำให้ชุ่มแล้วห่อหนอนแดงไว้   จากนั้นเอาใส่ภาชนะเก็บไว้ในตู้เย็นหรือถังโฟม   ให้มีอุณหภูมิประมาณ  10 - 15  องศาเซลเซียส   จะเก็บไว้ได้   3 - 5  วันโดยที่หนอนแดงยังมีชีวิตอยู่

                   4.4.3 การเก็บแช่แข็ง  จะเก็บหนอนแดงโดยการรวบรวมใส่ถุงพลาสติกหรือใส่กล่องพลาสติกแล้วนำไปแช่แข็ง   วิธีนี้หนอนแดงจะตายหมด   แต่ยังสดและมีคุณค่าทางอาหารดีอยู่   เมื่อนำไปเลี้ยงปลาก็ยังชอบกินเช่นเดิม

                   4.4.4 การแช่แข็งแบบพิเศษ   เป็นการเก็บรักษาหนอนแดงเพื่อการส่งออก   โดยการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว   วิธีนี้หนอนแดงจะฟื้นประมาณ  40 %   แต่จะไม่แข็งแรงเพียงแต่มีการเคลื่อนไหวทำให้ปลาชอบกิน

                   4.4.5 การอบแห้ง  เป็นการเก็บหนอนแดงโดยการอบแห้งแล้วบรรจุกระป๋องสุญญากาศ   เป็นวิธีการที่นิยมทำเป็นการค้าในปัจจุบัน   หนอนแดงที่ผ่านการอบแห้งแล้วนี้ปลายังชอบกินเช่นกัน




                                                     ภาพที่ 3  การรวบรวม การบรรจุถุง การแช่แข็งและการนำหนอนแดงไปเลี้ยงปลา

                   5 เทคนิคการเพาะเลี้ยงและการใช้อาร์ทีเมีย  (  Artemia )

                   อาร์ทีเมียจัดว่าเป็นอาหารธรรมชาติที่สำคัญที่สุดต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ   โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่าอาหารธรรมชาติชนิดอื่นๆ  คือ  ตัวอ่อนมีขนาดเล็กมีความยาวประมาณ  0.4 - 0.5  มิลลิเมตร   เหมาะสำหรับใช้อนุบาลลูกสัตว์น้ำแทบทุกชนิด   เมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะค่อนข้างมีขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ  0.8 - 1.2  เซนติเมตร   เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงาม   นอกจากนั้นไรที่สมบูรณ์เพศแล้วยังสามารถแพร่ขยายพันธุ์ทั้งในแบบออกลูกเป็นตัว   คือให้ตัวอ่อนออกมาเลย   หรือแพร่พันธุ์แบบออกลูกเป็นไข่  โดยไข่ที่ปล่อยออกมาจะมีตัวอ่อนอยู่ภายในฟองละ  1  ตัว   เป็นไข่ที่สามารถนำมาเก็บรักษาไว้ได้เป็นระยะเวลานาน   เมื่อใดที่ต้องการตัวอ่อนจึงนำมาดำเนินการฟัก   ก็จะได้ตัวอ่อนตามต้องการและมีความแน่นอน   ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  อาร์ทีเมียยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ในความเค็มระดับต่างๆที่กว้างมาก   มีการเจริญเติบโตรวดเร็วและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค   ทำให้ดำเนินการเพาะเลี้ยงได้ง่าย   ปัจจุบันได้มีการเลี้ยงอาร์ทีเมียกันบ้างแล้วในนาเกลือตามจังหวัดแถบชายทะเล   ซึ่งส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อการรวบรวมอาร์ทีเมียตัวเต็มวัย   สำหรับจำหน่ายในสภาพสดเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์น้ำต่างๆ   โดยเฉพาะอาหารของปลาสวยงาม                               

                   5.1 การจัดลำดับทางอนุกรมวิธาน  อาร์ทีเมียเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้งชนิดหนึ่ง   มีชื่อสามัญว่า  Brine  Shrim   หรือ  Artemia  พบทั่วโลกทุกทวีปรวม  47  ประเทศ   โดยพบเฉพาะแหล่งน้ำเค็มหรือน้ำเค็มจัดจำนวน  244  แห่ง  แต่ที่มีปริมาณมากและพอที่จะรวบรวมส่งออกจำหน่าย   มีเพียงไม่กี่แห่ง   ที่สำคัญได้แก่  San Francisco Bay  และ  Great  Salt  Lake   ประเทศสหรัฐอเมริกา   และที่ Buahal  Bay   ประเทศจีน 

          Ruppert  &  Barnes,  1974  ได้จัดลำดับทางอนุกรมวิธานของอาร์ทีเมียไว้ดังนี้

                           Phylum                             :  Arthropoda

                                Class                          :  Crustacea

                                    Sub-class               :  Branchiopoda

                                        Order                 :  Anostraca

                                             Family          :  Artemiidae

                                                  Genus      :  Artemia

                                                      Specie :  salina

                   5.2 ลักษณะภายนอก

           

                                                               ภาพที่ 4  แสดงลักษณะภายนอกของ  Artemia

                    อาร์ทีเมียมีลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายใบไม้   ลำตัวใสแกมชมพู   ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว (Shelless)   แต่มีเนื้อเยื่อบางๆหุ้มไว้   ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในลักษณะหงายท้อง   ลำตัวแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  คือ

- ส่วนหัว (Head)   แบ่งออกได้เป็น  6  ปล้อง   มีตาเดี่ยวและตารวมที่มีก้านตา  1  คู่  และหนวด  2  คู่ 

- ส่วนอก (Thorax)   แบ่งออกเป็น  11  ปล้อง   แต่ละปล้องมีระยางค์ปล้องละ  1  คู่   ทำหน้าที่ทั้งในการว่ายน้ำ   หายใจ   และช่วยกรองอาหารเข้าปาก 

- ส่วนท้อง (Abdomen)   แบ่งออกเป็น  8  ปล้อง   ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศ   ปล้องที่  2 - 7  ไม่มีระยางค์   และปล้องที่  8  มีแพนหาง  1  คู่ 

                   ความแตกต่างระหว่างเพศ   โดยปกติเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย   และหนวดคู่ที่  2  ของเพศผู้จะมีขนาดใหญ่คล้ายตะขอใช้เกาะเพศเมีย   ทำให้ดูว่ามีส่วนหัวขนาดใหญ่   และเพศเมียจะมีถุงไข่ที่ปล้องแรกของส่วนท้อง

                  5.3 การแพร่พันธุ์   อาร์ทีเมียสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้  2  แบบ   คือในสภาวะปกติที่ความเค็มตั้งแต่  20 - 120  ppt   จะแพร่พันธุ์โดยออกลูกเป็นตัว   ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ในถุงไข่ของตัวแม่แล้วว่ายน้ำออกมา   ไรที่จะแพร่พันธุ์แบบนี้จะสังเกตได้ว่าไข่ที่อยู่ในถุงไข่มีสีขาว   เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป  เช่น ความเค็มสูงขึ้นมากกว่า  130  ppt  หรือมีการแพร่พันธุ์จนมีปริมาณ  ตัวอาร์ทีเมียอยู่อย่างหนาแน่น   หรือปริมาณอาหารลดลง   หรืออุณหภูมิลดต่ำลงมาก   หรือคุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสม   อาร์ทีเมียส่วนใหญ่จะแพร่พันธุ์แบบออกลูกเป็นไข่   โดยจะปล่อยไข่ที่แก่แล้วออกจากถุงไข่   ไข่จะมีเปลือกหนาและจะไม่ฟักตัวจนกว่าสภาพแวดล้อมจะเหมาะสม  ไรที่จะแพร่พันธุ์แบบนี้จะสังเกตได้ว่าไข่ที่อยู่ในถุงไข่มีสีน้ำตาลเข้ม 


                                                                         ภาพที่ 5  แสดงวงชีวิตของ   Artemia

                   การรวบรวมไข่ที่ Great  Salt  Lake   ประเทศสหรัฐอเมริกา   เป็นทะเลสาบที่มีพื้นที่มากถึง  4,000  ตารางกิโลเมตร   น้ำมีความเค็มอยู่ระหว่าง  150 - 200   ppt   ฤดูการเก็บเกี่ยวไข่ไรจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  ถึง  เดือนมกราคม   ซึ่งอากาศหนาวเย็นทำให้อาร์ทีเมียออกลูกเป็นไข่   บริษัทต่างๆประมาณ  10  บริษัท  ที่ได้รับสัมปทานจะส่งเครื่องบินออกสำรวจหากลุ่มไข่ของ    อาร์ทีเมีย  ซึ่งมักจะลอยเป็นกลุ่มๆในทะเลสาบความยาวกลุ่มละประมาณ  2 - 3  กิโลเมตร   เมื่อพบจะปักทุ่นจับจองเป็นเจ้าของ   แล้วแจ้งไปยังเรือให้นำทุ่นลอยลักษณะเดียวกับที่ใช้กันคราบน้ำมัน   กันเอาไข่ไว้แล้วใช้เครื่องปั๊มดูดไข่เข้ามาเก็บในถุงกลางลำเรือ   ล้างสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำเกลือเข้มข้นก่อนเก็บไว้ในห้องเย็นต่ำกว่า  0  องศาเซลเซียส  ประมาณ  2  เดือน   แล้วนำมาตรวจสอบอัตราการฟักเพื่อคัดเกรดคุณภาพ   จากนั้นจึงบรรจุกระป๋องสุญญากาศส่งไปจำหน่ายทั่วโลก

                   5.4 วิธีการฟักไข่อาร์ทีเมีย การใช้อาร์ทีเมียในปัจจุบันมักได้จากการซื้อไข่ไรที่บรรจุอยู่ในกระป๋องสุญญากาศ   เมื่อต้องการตัวอ่อนของอาร์ทีเมียเมื่อใด   ก็นำไข่ไรที่ซื้อไว้มาฟักตัว   ซึ่งควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

                   - เตรียมภาชนะฟักไข่   ส่วนมากจะใช้ภาชนะทรงกลมที่มีขนาดเล็ก  มีความจุประมาณ 5 - 20 ลิตร   ยกเว้นฟาร์มขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องเพาะครั้งละมากๆ   จะใช้ถังไฟเบอร์ขนาด  100 - 200  ลิตร

                   - เตรียมน้ำ   โดยใช้น้ำทะเลปกติ   หรือน้ำจืดผสมด้วยเกลือให้มีความเค็ม  25  ppt (คือ น้ำ  1  ลิตร  จะใช้เกลือ  25  กรัม)
 
                   - ใส่ไข่อาร์ทีเมียที่เตรียมไว้   ในปริมาณประมาณ  1  ช้อนชา ต่อน้ำ  5  ลิตร

                   - ใส่สายลม   เพื่อให้ออกซิเจน   และทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในภาชนะ   ซึ่งจะทำให้ไข่ไรไม่ตกตะกอน   แต่ลอยหมุนเวียนไปมาในน้ำตลอดเวลา

                   - ใช้เวลา  24 - 36  ชั่วโมง   ไรจะฟักตัวออกจากไข่   จะสังเกตได้ว่าน้ำในภาชนะที่ใช้ฟักไข่มีสีส้ม   เนื่องจากตัวอ่อนของอาร์ทีเมียที่ออกจากไข่ใหม่ๆ   ตัวจะมีสีส้มเข้ม   เหมาะที่จะนำไปใช้อนุบาลลูกปลา

                   5.5 การแยกตัวอ่อนของอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่   ตัวอ่อนของไรที่ได้จากการฟักตัวจะมีเปลือกไข่ปะปนอยู่ด้วย   จำเป็นต้องแยกตัวอ่อนออกจากเปลือกไข่   เพราะลูกปลาไม่สามารถย่อยเปลือกไข่ได้   และที่สำคัญคือเปลือกไข่มักมีแบคทีเรียอยู่มาก   จะทำให้ปลาติดเชื้อได้ง่าย   จึงต้องแยกเปลือกไข่ออกทิ้ง   โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

                   - ยกสายลมออก   เพื่อให้น้ำหยุดการหมุนเวียน

                   - ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ  15 - 20  นาที   ตัวอ่อนของไรจะว่ายน้ำลงไปรวมกลุ่มอยู่ตามก้นภาชนะ  ส่วนเปลือกไข่ที่ไรฟักตัวออกไปแล้วจะลอยอยู่ผิวน้ำ   สำหรับไข่ที่ไม่ฟักตัวและตะกอนต่างๆจะตกตะกอนอยู่ก้นภาชนะ

- ใช้สายยางเล็กๆหรือสายลมดูด
เอาตัวอ่อนอาร์ทีเมียโดยวิธีกาลักน้ำที่ก้นภาชนะ   แล้วกรองไว้ด้วยกระชอนผ้าตาถี่

                   - นำตัวอ่อนอาร์ทีเมียที่อยู่ในกระชอนไปแกว่งล้างน้ำจืด  2 - 3  ครั้ง   ก่อนนำไปเลี้ยงลูกปลา

                   5.6 เทคนิคการแยกตัวอ่อนอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่  เนื่องจากมักเกิดปัญหาเรื่องการติดเชื้อเพราะแยกเปลือกไข่ออกไม่หมด   จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะแยกเปลือกไข่ให้ดียิ่งขึ้น   ซึ่งทำได้ดังนี้

                   - เมื่อยกสายลมออกแล้วให้ตะแคงภาชนะไปทางด้านที่มีแสงเข้ามา   เพราะตัวอ่อนอาร์ทีเมียชอบว่ายน้ำเข้าหาแสง   จะทำให้ไรว่ายน้ำลงไปรวมกันในส่วนลึกเกือบหมด   ทำให้สะดวกในการดูดตัวไรออกมาได้ง่ายขึ้น

                   - เมื่อยกสายลมออกแล้วใช้กระดาษทึบแสงปิดรอบภาชนะ   เว้นเฉพาะทางด้านก้นภาชนะไว้ประมาณ  3  เซนติเมตร   จะทำให้ไรส่วนใหญ่ว่ายน้ำลงไปรวมที่ช่องแสงที่ก้นภาชนะ   ทำให้รวบรวมไรได้ง่ายขึ้น

                   

                                                        ภาพที่ 6   แสดงวิธีการแยกตัวอ่อนอาร์ทีเมียออกจากเปลือกไข่

                    5.7 การเลี้ยงอาร์ทีเมียให้เป็นตัวเต็มวัย  การใช้อาร์ทีเมียตัวเต็มวัยเป็นอาหารปลาสวยงามกำลังได้รับความนิยมมาก   เพราะอาร์ทีเมียมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูงและปลาชอบกิน   อีกทั้งปลายังสามารถย่อยได้ดีเหลือกากขับถ่ายออกมาน้อย   ดังนั้นหากผู้เลี้ยงปลาสวยงามต้องการเลี้ยงอาร์ทีเมียไว้เลี้ยงปลาสวยงามด้วยตนเอง   ก็สามารถทำได้ไม่ยุ่งยากมากนัก   ตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

   

                    การเตรียมบ่อเลี้ยง   บ่อที่จะใช้เลี้ยงอาร์ทีเมียอาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่   หรือใช้ถังซีเมนต์กลม(ถังส้วม)ก็ได้   ซึ่งทั้งกะละมังและถังส้วมจะมีรูปทรงเป็นทรงกระบอก   การคำนวณหาปริมาตรน้ำในบ่อเลี้ยงนี้จะใช้สูตร

                    ปริมาตรน้ำ        =      22/7 x r x r x  h

          เมื่อ      r     =   รัศมีของปากบ่อ (ครึ่งหนึ่งของเส้นผ่าศูนย์กลาง)

                     h    =   ความสูงของระดับน้ำที่จะใส่ในบ่อ

ตัวอย่าง   จะเลี้ยงอาร์ทีเมียในถังซีเมนต์กลม   ซึ่งมีความกว้างที่ปากถัง(เส้นผ่าศูนย์กลาง)เท่ากับ  80  เซนติเมตร   โดยจะใส่น้ำระดับสูง  30  เซนติเมตร

          \ถังซีเมนต์จะมีความจุน้ำ      =   22/7 X 40  X 40 X 30

                                                =   150,864                            ลูกบาศก์เซนติเมตร(ซีซี)

          จาก   ปริมาตร  1  ลิตร        =   1,000                                 ลูกบาศก์เซนติเมตร(ซีซี)

          \ถังซีเมนต์จะมีความจุน้ำ      =   150,864 /1,000                 ลิตร

                                                =   150.86                              ลิตร

          นั่นคือ  ถังซีเมนต์จุน้ำได้ประมาณ     150    ลิตร

    *

      การเตรียมน้ำเค็ม   เมื่อแช่ถังซีเมนต์จนหมดฤทธิ์ปูนแล้ว   ใส่น้ำจืดแล้วเติมเกลือแกงหรือเกลือทะเล(หาซื้อได้จากร้านขายอาหารสัตว์)ให้น้ำมีความเค็มในระดับ  60 - 80  ppt   ซึ่งเป็นระดับความเค็มที่อาร์ทีเมียมีการเจริญเติบโตดีและมีอัตราการรอดสูง

          จากตัวอย่างข้างต้น    ถังซีเมนต์มีความจุน้ำ   150  ลิตร   ถ้าต้องการเตรียมน้ำให้มีความ  เค็ม  80  ppt   จะต้องใส่เกลือเท่าใด

          การคิด  ความเค็ม  80  ppt  หมายความว่า  ปริมาตรน้ำ  1  ลิตร  จะต้องใส่เกลือ  80  กรัม

          - ถังซีเมนต์ดังกล่าวจะต้องเติมเกลือ    =   80 X 150              กรัม

                                                             =   12,000                 กรัม

          จาก    ปริมาณเกลือ  1  กิโลกรัม       =   1,000                   กรัม

          \ ถังซีเมนต์ดังกล่าวจะต้องเติมเกลือ    =    12,000 / 1,000     กิโลกรัม

                                                             =     12.0                   กิโลกรัม

                   นั่นคือ   เติมเกลือลงในถังซีเมนต์จำนวน  12  กิโลกรัม   แล้วเติมน้ำให้ได้ระดับ  30  เซนติเมตร   กวนน้ำให้เกลือละลายจนหมด   ก็จะได้น้ำที่มีความเค็ม  80  ppt  ตามต้องการ

   

                   การเตรียมอาหาร   น้ำที่เตรียมเสร็จแล้วนั้นจะไม่มีอาหารธรรมชาติอยู่เลย   จะต้องเตรียมให้มีอาหารธรรมชาติสำหรับเป็นอาหารของอาร์ทีเมีย   โดยใช้อาหารผง(อาหารผงสำหรับอนุบาลลูกปลาดุก   หาซื้อได้จากร้านขายปลาสวยงาม   หรือร้านขายอาหารสัตว์) ใส่ลงไปในน้ำจำนวน  2  ช้อนโต๊ะ   แล้วใส่สายลมเพื่อทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียน   เป็นการช่วยผสมน้ำเกลือที่เตรียมให้เป็นเนื้อเดียวกัน   และช่วยกระจายอาหารให้สลายตัวเกิดอาหารธรรมชาติได้ดี   ปล่อยทิ้งไว้  3 - 4 วัน

        หมายเหตุ   บ่อเลี้ยงอาร์ทีเมียควรตั้งอยู่ภายนอกอาคาร   เพื่อให้ได้รับแสงแดดบ้างพอควร   จะทำให้เกิดแพลงตอนพืชได้ดีซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญของไร

   


                   เติมเชื้อไร   ถ้ามีไข่อาร์ทีเมีย   ให้ใช้ไข่ไรประมาณ  1 / 4  ช้อนชา   นำไปฟักในภาชนะใช้น้ำประมาณ  5  ลิตรและเตรียมให้มีความเค็ม  25  ppt   ใช้เวลาประมาณ  30  ชั่วโมง  ไรจะฟักตัวหมด   ควรแยกตัวอ่อนไรออกจากเปลือกไข่ ( ดูหัวข้อ  5.5.5  และ  5.5.6 )   ตัวอ่อนไรที่ได้นี้อย่าพึ่งปล่อยลงบ่อเลี้ยงทันที   เพราะความเค็มที่ใช้ฟักไข่กับความเค็มที่บ่อเลี้ยงต่างกันมาก   ควรปรับความเค็มก่อน   โดยใช้ถังพลาสติกที่ใช้ตักน้ำโดยทั่วๆไป   ซึ่งจะมีความจุประมาณ  10 - 12  ลิตร   นำตัวอ่อนไรที่แยกออกมาจากเปลือกไข่ โดยใช้สายยางดูดให้ได้น้ำมาด้วยประมาณ 2 ลิตร ใส่ลงในถังพลาสติก   แล้วตักน้ำจากบ่อเลี้ยงที่มีความเค็ม  80  ppt เติมลงในถังครั้งละ  1  ลิตร   โดยเติมชั่วโมงละครั้ง   และใส่ลมให้น้ำเกิดการหมุนเวียนผสมกัน   ทำไปประมาณ  8 - 10 ครั้ง   น้ำในถังก็จะมีความเค็มใกล้เคียงกับในบ่อเลี้ยง   ก็สามารถเทลงบ่อเลี้ยงได้
   

                   ถ้าไม่มีไข่อาร์ทีเมีย  หาซื้ออาร์ทีเมียตัวเต็มวัยที่มีขายสำหรับนำไปใช้เลี้ยงปลา   นำมาปล่อยลงบ่อเลี้ยง   ก่อนปล่อยจะต้องมีการปรับความเค็มน้ำเช่นกัน   เพราะไรที่นำมาขายจะถูกปรับมาอยู่ในความเค็มประมาณ  30  ppt
   

                   การเติมอาหาร   ไรที่ปล่อยเลี้ยงจะต้องมีการให้อาหาร   โดยใช้อาหารผงเช่นเดิม   ซึ่งในบ่อซีเมนต์ตามตัวอย่างควรให้อาหารวันละประมาณ  1 / 2  ถึง  1  ช้อนชา   ขึ้นกับขนาดและปริมาณไร   อาหารผงที่ให้จะเป็นทั้งอาหารไรโดยตรง  และส่วนที่เหลือจะทำให้เกิดอาหารธรรมชาติได้   ต้องระวังเรื่องน้ำเน่าเสีย   หากสังเกตุเห็นว่าอาหารเหลือมากและน้ำมีกลิ่นเหม็นมากควรงดให้อาหารประมาณ  3  วัน   แล้วเริ่มให้ใหม่ทีละน้อย
   

                   การเก็บเกี่ยวไร   การช้อนไรไปใช้นั้นหากปล่อยไรโดยใช้ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่   จะใช้เวลาประมาณ  15 - 20  วัน ไรจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัย   ขึ้นกับปริมาณความหนาแน่นและอาหาร   จากนั้นจะสามารถทยอยช้อนไรไปเป็นอาหารปลาได้เรื่อยๆ   ไรที่เหลือจะแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นมาเอง   ส่วนการปล่อยโดยใช้ไรเต็มวัยก็เช่นเดียวกัน   จะใช้เวลาประมาณ  15 - 20  วันเช่นกัน  ไรที่ปล่อยก็จะแพร่พันธุ์ให้ไรเพิ่มขึ้นจนสามารถเก็บเกี่ยวได้

                   5.8 การเตรียมอาร์ทีเมียก่อนนำไปใช้เป็นอาหารปลา  ก่อนนำอาร์ทีเมียไปใช้เลี้ยงปลาจะต้องปรับน้ำในตัวไรให้มีความเค็มลดลง   เนื่องจากอาร์ทีเมียถูกเลี้ยงในน้ำที่มีความเค็มสูงมาก   หากไม่ทำให้ตัวไรจืดลงปลาจะไม่ชอบกินหรือกินได้น้อย   ถ้าใช้วิธีช้อนไรมาแช่ในน้ำจืดสนิททันทีทันใด   ไรจะเคลื่อนไหวช้าลงแล้วจะตายภายใน  20 - 30  นาที   ความเค็มในตัวไรยังลดลงไม่มากนัก   การลดความเค็มในตัวไรลงทำได้โดยการใช้ภาชนะเล็กๆ   เช่นขันหรือถัง   ตักน้ำจากบ่อเลี้ยงไรมาประมาณ  1 / 10  ของภาชนะที่จะใช้   แล้วเติมน้ำจืดให้เกือบเต็ม   คนให้เข้ากันแล้วใส่สายลม   จะได้น้ำกร่อยที่มีความเค็มประมาณ  5 - 8   ppt   จากนั้นช้อนไรที่จะให้ปลากินมาใส่ไว้   ซึ่งที่ความเค็มระดับนี้ไรจะมีชีวิตอยู่ได้   จะมีการว่ายน้ำไปมาตามปกติ   ช่วยให้ความเค็มในตัวลดลงได้ดี   ควรปล่อยเลี้ยงไว้ประมาณ  2 - 3  ชั่วโมงจึงนำไปเลี้ยงปลา   สำหรับความเค็มในระดับที่เตรียมใหม่นี้ไรจะมีชีวิตอยู่ได้  1 - 3  วัน   ดังนั้นอาจปล่อยไรทิ้งไว้ในตอนเช้าสำหรับใช้เป็นอาหารปลาในตอนเย็น   และแช่ไว้ในตอนเย็นสำหรับใช้เป็นอาหารในตอนเช้า   ก็จะทำให้ปลากินไรได้ดีและปลอดภัย

                   5.9 การเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดิน  ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียภายในประเทศอยู่ประมาณ 20 ฟาร์ม  ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา   ชลบุรี   สมุทรสาคร   สมุทรสงคราม   และเพชรบุรี   สามารถผลิตอาร์ทีเมียได้วันละ  400 - 1,000  กิโลกรัม   การเลี้ยงอาร์ทีเมียในบ่อดินมีการจัดการดังนี้

   

                   การเตรียมบ่อ   มักใช้บ่อขนาด  1 - 6  ไร่  ลึกประมาณ  1  เมตร  โดยมักขุดบ่อให้มีความยาวไปตามทิศทางลม

                   การเตรียมน้ำ   ใช้น้ำที่มีความเค็มอยู่ระหว่าง  80 - 120  ppt   ดังนั้นต้องมีแปลงตากน้ำทะเลเช่นเดียวกับการทำนาเกลือ   เพื่อให้น้ำมีความเค็มสูงขึ้นตามที่ต้องการแล้วจึงปล่อยเข้าบ่อเลี้ยง   ตรวจสอบค่า pH ให้มีค่าอยู่ระหว่าง  8.0 - 9.0
   

                   การปล่อยไรลงบ่อ   ถ้าปล่อยไรเต็มวัย   จะใช้ไรประมาณ  6  กิโลกรัม / ไร่   แต่ถ้าใช้ไข่มาฟักเพื่อปล่อยตัวอ่อน   จะใช้ไข่ไรประมาณ  150 - 200  กรัม / ไร่
   

                   การให้อาหาร   มีวิธีการทำได้  2  แบบ  คือ   
                   วิธีแรก   ให้โดยใส่ลงในบ่อเลี้ยงโดยตรง   จะค่อยๆทยอยใส่ทีละน้อย   ไรจะกินอาหารไปโดยตรงส่วนหนึ่ง  ส่วนที่เหลือจะสลายทำให้เกิดอาหารธรรมชาติ   อาหารที่ใช้ได้แก่มูลไก่  ประมาณ  200  กิโลกรัม / ไร่ / เดือน   ร่วมกับกากผงชูรส  ประมาณ  30 - 90  ลิตร / ไร่ / เดือน   
                    อีกวิธีหนึ่งคือ   มีบ่อหมักอาหารต่างหาก   จะใส่อาหารลงบ่อหมักให้เน่าเกิดแพลงตอน   แล้วจึงทยอยสูบไปลงบ่อเลี้ยง   การให้อาหารทั้ง  2  วิธี   จะให้มากน้อยและบ่อยครั้งเพียงใด   ขึ้นอยู่กับฤดูกาล   และปริมาณอาหารที่มีอยู่ในบ่อ   โดยสังเกตจากสีของน้ำและความโปร่งแสง   นอกจากนั้นจะมีการใช้ไม้คราดอาหารที่พื้นก้นบ่อให้ฟุ้งกระจาย   อย่างน้อยสัปดาห์ละ  1 - 3  ครั้ง   ในปัจจุบันยังนิยมทำคอกไว้มุมบ่อสำหรับหมักหญ้าและเศษพืช   เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติมากขึ้น
   

                   การเก็บเกี่ยวผลผลิต  หลังจากปล่อยเลี้ยงไปประมาณ  15  วัน   ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวไรออกไปจำหน่ายได้   โดยจะได้ผลผลิตประมาณ  50 - 100 กิโลกรัม / ไร่ / เดือน   และในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ  จะสามารถรวบรวมไข่ไรได้ ประมาณ 5 - 10 กิโลกรัม / ไร่ / เดือน (น้ำหนักเปียก)

                   5.10 การลำเลียงอาร์ทีเมีย   วิธีการลำเลียงอาร์ทีเมียที่นิยมกระทำกัน  คือ   การลำเลียงในสภาพสด   โดยบรรจุถุงพลาสติก  ถุงละ  1  กิโลกรัม  แล้วเติมน้ำ  5  ลิตร   ในถุงจะบรรจุถุงน้ำแข็งอยู่  2  ถุง   แล้วจึงอัดออกซิเจนใส่ถุง   จากนั้นนำถุงไปบรรจุลงในลังโฟมซึ่งรองพื้นด้วยน้ำแข็งอีก  6  ถุง   ความเย็นจะทำให้ไรสลบ   ช่วยลดความบอบช้ำ   ทำให้ลำเลียงไปได้ไกลๆ   นิยมใช้กับการลำเลียงระยะทางไกลหรือการส่งออก   แต่ถ้าลำเลียงระยะใกล้ๆจะใช้วิธีการอัดออกซิเจนเพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว

อ้างอิง:  http://home.kku.ac.th/pracha/Food.htm


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06/02/09, [14:03:44] โดย ณ ใชเหมี่ยง »
_Kong_ ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #1 เมื่อ: 05/02/09, [08:20:07] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แน่นปึ้ก
ขอบคุณครับ และ+1สำหรับบทความขยายสมอง
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #2 เมื่อ: 05/02/09, [11:25:25] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แน่นปึ้ก
ขอบคุณครับ และ+1สำหรับบทความขยายสมอง

ขอบคุณนะครับ ถ้ามีอะไรน่าสนใจจะเอามาให้ชมอีกครับผม
[Game]-[On] ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #3 เมื่อ: 05/02/09, [11:41:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

+1ให้คับบทความเยี่ยม
>KOM< ออฟไลน์
Hot Member
« ตอบ #4 เมื่อ: 05/02/09, [11:55:27] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แจ่มมากไปหามาให้อีกนะครับ  lau01
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05/02/09, [14:17:10] โดย kom »
firstyhun ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #5 เมื่อ: 05/02/09, [12:35:18] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

พี่บั่งบั๊ง เอาค่าแปะมาอีกห้าร้อยดิ

ฮ่าๆ

tor_chakkrit ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #6 เมื่อ: 05/02/09, [14:16:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ยาวจังอ่ะครับ
แต่ก็ขอบคุณข้อมูลดีๆครับ
Tiger ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #7 เมื่อ: 05/02/09, [20:44:40] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เยี่ยมมาก ๆ ครับ
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #8 เมื่อ: 06/02/09, [11:20:26] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

พี่บั่งบั๊ง เอาค่าแปะมาอีกห้าร้อยดิ

ฮ่าๆ



แหม่ๆ กระผมมิอาจ เดี๋ยวพี่บังเค้าหมั่นไส้ละจะหนาว
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #9 เมื่อ: 06/02/09, [12:46:28] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เอ้า ให้จริงนะ

จัดหน้าใหม่หน่อยก็ดี เละไปนิด
LUFUBU ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #10 เมื่อ: 06/02/09, [13:06:23] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

บทความดีมากๆเลยครับ... [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #11 เมื่อ: 06/02/09, [13:35:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เอ้า ให้จริงนะ

จัดหน้าใหม่หน่อยก็ดี เละไปนิด
พี่บังใจดีจัง ไม่โหดเหมือนที่คิดไว้ตอนแรก แต่ชอบแบบใจดีมากกว่าบทโหด เดี๋ยวจัดหน้าใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิมครับ จัดให้ตามคำขอ  [เขิลลลล]
Apistoensis ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #12 เมื่อ: 07/02/09, [14:56:04] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ชอบจัง  ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ
sakai ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #13 เมื่อ: 07/02/09, [16:28:21] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุงครับ
sonk ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #14 เมื่อ: 07/02/09, [17:39:45] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

มีประโยชน์มากครับ    ให้ความรู้สร้างงานสร้างรายได้
AoN ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #15 เมื่อ: 08/02/09, [01:11:02] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [งง]
โก๋หลอด ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #16 เมื่อ: 08/02/09, [03:10:42] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ hawaii
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #17 เมื่อ: 01/03/09, [14:56:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

มีประโยชน์มากครับ    ให้ความรู้สร้างงานสร้างรายได้

จะแอบไปเพาะหนอนแดงขายแล้วครับตอนนี้ รายได้คงดี
Geodatis ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #18 เมื่อ: 09/09/09, [21:34:28] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ไม่ทำมะดา  [เขิลลลล]
jiraiyaz ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #19 เมื่อ: 04/11/10, [22:04:48] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เพิ่งเห็นว่ามีวิธีการล้างไรทะเลให้หายเค็ม(แบบจริงจัง)ด้วย


เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆท่านที่ไม่(เคย)กล้าใช้ไรทะเลเพราะกลัวความเค็มครับ
ณ~ใชเหมี่ยง ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #20 เมื่อ: 04/11/10, [22:10:27] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เพิ่งเห็นว่ามีวิธีการล้างไรทะเลให้หายเค็ม(แบบจริงจัง)ด้วย


เผื่อจะเป็นประโยชน์กับหลายๆท่านที่ไม่(เคย)กล้าใช้ไรทะเลเพราะกลัวความเค็มครับ

เค้ามาตอนแรกตกใจใครมาขุดกระทู้ขึ้นมา มันตั้งแต่ปีมะโว้แล้วนะครับเนี่ย ยังหาเจออยู่อีกหรอ  ้hahaha ้hahaha
ไม่รู้ทำไปได้ไงยาวมาก นั่งทำจนตาแทบทะลัก..ไม่ใช่อะไรหรอกครับ..ตัวหนังสือมันลาย

ยังไงก็ขอบคุณครับที่ไปขุดค้นมาจนเจอ  [on_abe]
jiraiyaz ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #21 เมื่อ: 04/11/10, [22:24:56] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แหะๆ พอดี พ่อผมชอบตักลูกน้ำให้ปลากินมากกก

จน ตักทั้งวันนนน แม่ก็บ่นว่าเสียเวลา  กลัวจะบานปลายกลายเป็นปัญหาครอบครัว  [on_008] [เอ๊ะ!!!] 036 n032 (over)

ผมเลยพยายามหาทางออก ให้แกหันมาตัก "ไรทะเล" แทนอ่ะครับ ประหยัดเวลากว่าเยอะ

ทีนี้กลัวจะไปทำปลาแกตาย   ก็เลยต้องหาข้อมูลเนียนๆหน่อย

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: