Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบกรอง...ล้วนๆ  (อ่าน 14475 ครั้ง)
bill2517 ออฟไลน์
Club Champion
« เมื่อ: 08/05/14, [16:01:11] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

รู้สึกว่า สมช.ใหม่ๆ เหมือนยังไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ เกี่ยวกับระบบกรอง สำหรับเรื่องของทะเลทั้งที่มีลิงค์ที่่มีประโยชน์มากมายทั้งที่ปักหมุดไว้ และไม่ได้ปักหมุด(ซึ่งก็มีประโยชน์เหมือนกัน)
เผื่อได้เข้าใจกันมากขึื้น จะไปเติมใน FAQ อันเดิมบางที ถ้ามันยาวไป ก็ไม่น่าอ่าน ความรู้สึกมัน.....ยาวจังไว้อ่านวันหลัง  n032    จึงขอรวบรวมและเรียบเรียงใหม่ให้เข้าถึงและเข้าใจในระบบกรองที่เราๆท่านๆกำลังใช้อยู่ หรือกำลังจะเลือกใช้ ว่าทำไมต้อง..แบบนั้น  ทำไมต้อง..อันนี้  เพราะอะไรจึงต้อง..แบบนี้เท่านั้น  ทำไมเราไม่ใช้..อันนั้น ........ ลองอ่านดู อาจจะมีคำตอบครับ ว่าทำไม


ระบบกรอง ของ ระบบตู้ทะเล
  ผมของเลือกใช้คำว่าระบบ นะครับ ทั้งคำว่าระบบกรอง และ ระบบตู้ทะเล เพราะมันไม่ใช่เรื่องของอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของหลายๆอย่าง เอามารวมๆกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนศาสตร์และศิลป์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน

ระบบกรอง - ระบบกรองประกอบกันขึ้นจากชิ้นส่วนหลายๆชิ้นเอามารวมกัน ทั้งเรื่องเล็กๆอย่าง เชื้อโรค(แบคทีเรีย) ไปจนถึงชิ้นใหญ่ๆอย่างสกิมเมอร์   ระบบกรองที่ดีทำให้เราและสิ่งมีชีวิตที่เราไปอัญเชิญมาทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ระบบกรองที่ดี ทำให้อะไรๆในการเลี้ยงตู้ทะเลของเราง่ายขึ้น สบายขึ้น เพราะระบบกรองคือหัวใจสำคัญเลยทีเดียว เป็นตัวตัดสินว่าตู้ไหนอยู่ยาว ตู้ไหนไปเร็ว
ระบบกรอง มันมีกี่แบบ ? ....  หลังจากคำถามนี้เกิดขึ้น ผมก็ไปค้นหาและรวมรวมมาให้ โดยมาก็เป็นภาษาไทยนี่แหละและส่วนน้อยเป็นภาษาที่ผมไม่ค่อยลึกซึ้งเท่าไหร่  อ่านไปอ่านมาเริ่มงง สรุปว่า
ระบบกรองแบ่งเป็น
- Mechanical Filteration
    เขาบอกไว้ว่าเป็นการกรองโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อกรองเอาสิ่งต่างๆที่ไม่จำเป็นสำหรับตู้ ทั้งเรื่องอึปลา เศษตะไคร่ เศษอาหาร ตะกอนต่างๆ ฯลฯ เอาไปผ่านการกรองชั้นแรกคือ การกรองหยาบโดยใช้ฟองน้ำ-ใยกรอง จากนั้นจึงนำไปผ่านวัสดุกรองตัวอื่น เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น  ส่วนสำคัญที่สุดคือของการกรองแบบนี้คือ ส่วนในที่เป็นที่อยู่ของอาณาจักรแบคทีเรียไม่ไม่ควรล้างด้วยน้ำประปา
    ปล. เขาว่าไว้ว่าควรต้องทำความสะอาดวัสดุกรองหยาบเป็นระยะ เพื่อลด+นำออกสิ่งสกปรกต่างๆออกจากตู้ของเรา
- Chemical Filteration
    เป็นการกรองโดยใช้เคมีเข้ามาช่วย เพื่อลดสารพิษต่างๆ ที่พบได้โดยมากคือ คาร์บอน-เพื่อดูดซับสารพิษ หรือซีโอไลท์-เพื่อลดแอมโมเนียส่วนเกิน(ผมแปลได้แบบนี้แต่คิดว่าคงไม่เหมาะกับตู้ทะเลเท่าไหร่ แค่ยกเป็นตัวอย่างเฉยๆ)
- Biological Filteration
    เป็นระบบการกรองโดยใช้แบคที่เรีย เพื่อสร้างวงจรไนโตรเจน ในตู้ เป็นการกรองเพื่อให้ลดความเป็นพิษของของเสียในตุ้ ทำให้ความเป็นพิษลดลง เพื่อให้สิ่งมีชีวิตในตู้เราอาศัยอยู่ได้โดยมีผลกระทบน้อย-น้อยที่สุด  สำหรับวงจรไนโตรเจนก็มีหลายๆบทความให้อ่านกันมามากแล้ว จริงๆไม่อยากพูดถึง แต่เอาซักหน่อยสั้นๆ นะ
1.อึปลา+ของเสียปะการัง+เศษอาหาร+คะไคร่ที่ตาย+ปลาตาย+แบคทีเรียตาย+สารโปรตีนต่างๆ  จะถูกวงจรไนโตรเจนทำให้อยู่ในรูปของแอมโมเนีย (NH4/NH3) ตัวนี้เป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตอย่างมาก โดยการใช้แบคทีเรียที่ต้องการอ๊อกซิเจน พบได้ในน้ำ-ผิวนอกของวัสดุกรอง
2. ต่อมาก็ทำให้กลายเป็น ไนไตร์ท(NO2) ซึ่งมีความเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตน้อยกว่าข้อ1  โดยการใช้แบคทีเรียที่ต้องการอ๊อกซิเจนเหมือนกัน
3. ถูกทำให้กลายเป็น ไนเตรท(NO3) ซึ่งมีความเป็นพิษกับสิ่งมีชีิวิต แต่น้อยกว่าข้อ1และ2  พอถึงขั้นไนเตรทแล้วปลาปูกุ้งหอยอยู่ได้แบบสบายตัวกว่า แต่ไนเตรทยังมีความเป็นพิษกับปะการังอยู่ การจะเปลี่ยนรูปของไนเตรทให้กลายเป็นก๊าซไนโตรเจน(N2)แล้วอัญเชิญออกไปจากตู้เราได้ ต้องใช้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่มีอ๊อกซิเจนทำงาน

พอถึงจุดนี้ เราจึงมักพบว่าทำไมต้องรันระบบเป็นเดือน ... การรันน้ำ หรือ จะเรียกอย่างไรก็ตาม เป็นการเตรียมพร้อมส่วนของการกรองแบบชีวภาพ เตรียมพร้อมเรื่องของปริมาณแบคทีเรียในกระบวนการไนโตรเจน ให้เพิ่มจำนวนมากพอพร้อมรับของเสียที่จะกำลังเกิดขึ้นในตู้ วงจรของไนโตรเจนใช้เวลาคร่าวๆก็ประมาณ1เดือนนั่นแหละครับ และปริมาณแบคทีเรียก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจนได้จำนวนที่พอเหมาะกับของเสียในตู้    ดังนั้นการรันน้ำไม่ใช่เตรียมแต่น้ำผสมเกลือเปล่าๆ หรือใช้น้ำทะเลก็สามารถเลี้ยงปลาได้ทันที  เข้าใจกันนะครับ ว่าระบบการกรองไม่ใช่อยู่ที่น้ำ แต่อยู่ที่ส่วนอื่นครับ

ทีนี้เมื่อเรารู้ว่าการกรองโดยใช้อุปกรณ์ เคมี หรือ แบคทีเรียเป็นอย่างไร นักเลี้ยงรุ่นก่อนๆก็เอาทั้ง3มาประยุกต์เพื่อนำมาใช้งานให้เหมาะสมกับตู้ เรามาดูกันว่าไอ้กรองต่างๆทั้งหลาย สรุปว่ามันเป็นการกรองแบบไหนทำงานยังไง

- การกรองใต้กรวด

 หลักการง่ายๆ ถูกๆ คือ มีตะแกรงรองที่พื้นซักทีนึง เอากรวดเอาทรายมาปูทับไว้เพื่อความสวยงาม + ปั๊มเพื่อดึงเศษต่างๆให้ลงมาอยุ่ใต้ตะแกรง ให้แบคทีเรียค่อยๆทำงานย่อยสลาย เป็นการซ่อนที่สมบูรณ์แบบมั่กๆ แต่หากไม่มีการจัดการตะกอนที่ใต้ตะแกรงให้ดีจะเกิดการสะสมจำนวนมากของของเสีย เหมือนกับฝังกับระเบิดเอาไว้ รอเวลาระเบิดครับ แต่วิธีการกรองแบบนี้จะมีข้อเสียอยู่บ้างหากเป็นตู้ที่มีปริมาณสิ่งมีชีวิตไม่มาก ก็น่าจะสามารถรองรับได้ครับ เพียงแต่ต้องมีการดูแลพิเศษเพิ่มเติม เพื่อชดเชยข้อด้อยของการกรองแบบนี้ครับ เช่นมีการถ่ายน้ำเป็นประจำสม่ำเสมอ ลงปลาน้อยๆ ลงปลาที่มีของเสียไม่มาก ฯลฯ
รูปแบบกรองที่ทำงานในลักษณะนี้นอกจากการใช้ตะแกรงแล้ว พวกกรองฟองน้ำ ก็ใช้หลักการเดียวกันคือใช้อากาศ/น้ำเพื่อดึง-ดูดตะกอนต่างๆเข้ามาผ่านวัสดุกรองเก็บเอาไว้ ดีกว่าใต้ทรายนิดนึงเพราะล้างได้ง่ายกว่า  หรือกรองแขวนก็น่าจะออกในแนวๆนี้ คือ ดึงของเสียในตู้มาเก็บไว้รอเอาไปล้าง



ตัวอย่างตู้ที่ใช้การกรองแบบใต้กรวด หากสังเกตุจะพบว่าตู้มีขนาดใหญ่พอควรและจำนวนปลามีไม่มากอีกทั้งตัวเล็กๆและเป็นชนิดปลาที่ไม่ได้ผลิดของเสียออกมามากๆ

http://www.captivereefs.com/forum/basics/hang-under-gravel-filter-and-anemone-27142/#.U2xSXaIst74 รายละเอียดตู้ของเขา แต่รู้สึกว่าจะยังมีปัญหาอยู่เรื่องการทำความสะอาดใต้ตะแกรงและ PO4=8 ส่วน NO2 NO3 NH แกวัดได้0 มีการเปลี่ยนน้ำครั้งละ 5แกลลอน(ประมาณ20ลิตร)ทุกอาทิตย์


- การกรองแบบ Wet/Dry เริ่มมีการใช้วัสดุกรองอื่นๆมาใช้ เช่น ลูกบอลชีวภาพ(ฺBioball), กรวดหินต่างๆ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่แบบถาวรของแบคทีเรียที่อาศัยอ๊อกซิเจนได้จำนวนมากทำให้ สามารถลดของเสียในส่วนที่เป็น แอมโมเนียและไนไตร์ท ลงได้อย่างดีในระดับนึงทีเดียว รูปแบบของการกรองแบบนี้มีลักษณะที่เราๆท่านๆพบเห็นกันบ่อยๆคือ กรองมุม-กรองถัง-กรองนอก   แต่ยังคงพบปัญหาต่อไปคือ การคงอยู่ของไนเตรท และ การลดลงของ pH เนื่องจากปริมาณของแบคทีเรียจำนวนมากก็ต้องใช้อ๊อกซิเจนจำนวนมากเช่นกันและแบคทีเรียเองหายใจออกมาเป็น คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด หากการแลกเปลี่ยนอากาศกับน้ำระหว่างขึ้นตอนWet/Dryทำได้ไม่ดี ค่าpHจะค่อยๆลดลง เนื่องจากความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เหมาะกับตู้ทะเลที่ต้องการความเป็นด่างมากกว่า (pH = 8.0 - 8.4)  
  อย่างไรก็ดี การใช้งานการกรองแบบ Wet/Dry ข้อดีคือสามารถลดแอมโมเนียและไนไตร์ทได้เร็วกว่าแบบกรองใต้กรวด เพียงแต่ต้องมีการจัดการเรื่องของการสะสมตะกอนไว้ที่ตัววัสดุกรองซึ่งส่วนมากใช้กันเป็นเศษปะการังหักแบบถุงๆ เปลี่ยนเป็นหินเป็นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อลดการสะสมตะกอน และมีการเปลี่ยนน้ำอย่างสม่่ำเสมอเพื่อช่วยนำเอาไนเตรทออกจากตู้ได้ การกรองแบบ Wet/Dry ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่มีงบน้อย หรือมีพื้นที่จำกัด เพียงแต่ ต้องจัดการปัญหาด้านบนให้ได้และเลือกลงชนิดและจำนวนของปลาให้เหมาะสมกับการกรองแบบนี้ไม่ให้ทำงานหนักเกินไปจนส่งผลเสียกับระบบตู้เรา

รูปแบบกรองต่างๆที่ทำงานในลักษณะการกรอง Wet/Dry



- การกรองโดยใช้ สกิมเมอร์  เป็นการเอาเครื่องมือเข้ามาช่วยโดยใช้วิธีและหลักการต่างๆ ตามนี้
http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=207758.0 <-- ว่ากันด้วยเรื่องของ Protein Skimmer หรือ Foam Fractionator ของคุณ copcong ครับ
การกรองทั้ง2แบบข้างต้นคือ กรองใต้กรวด และ กรองWet/Dry มีข้อจำกัดในเรื่องของการที่ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากระบบตู้ของเราได้ดีพอ จึงไม่สามารถสนองความต้องการของผู้เลี้ยงตู้ทะเลได้ เพราะอะไรก็สวยงามไปหมด แต่เอามาลงตู้เราไม่ได้เพราะข้อจำกัดของระบบกรองข้างต้น จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมคือตัวสกิมเมอร์นี้เอง ที่เป็นการตัดของเสียออกจากระบบในช่วงต้นๆก่อนที่จะเปลี่ยนรูป อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณของอ๊อกซิเจนเข้าสู่ระบบตู้เราได้ทำให้ลดปัญหาเรื่องของค่า pH ไปได้ในระดับนึงเลยทีเดียว
หากแต่การใช้สกิมเมอร์เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ทุกข้อให้กับผู้เลี้ยงได้ เพราะยังต้องอาศัยหลักการกรองอื่นๆเพิ่มเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการกรองสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้เราลงสิ่งมีชีวิตได้มากขึ้น

รูปแบบต่างๆของสกิมเมอร์



- การกรองโดยใช้ UV และ Ozone แม้จะไม่ได้กรองเอาในส่วนของการกรองหยาบ แต่การกรองสำหรับตู้ทะเลคงต้องรวมถึงการทำน้ำให้สะอาดปราศจากสิ่งที่เป็นอันตราย หลายๆครั้งที่ผู้เลี้ยงพบปัญหาเรื่องสุขภาพของสิ่งมีชีวิตในตู้เป็นโรคต่างๆ(ที่เกิดจากเชื้อโรค + ไม่นับรวมถึงคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมกับการเลี้ยง) หลายๆท่านจึงต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ไม่ดีออกจากตู้ ก็ต้องอาศัยการใช้ UV และ/หรือ Ozone มาใช้ร่วมกับการกรองแบบอื่น เพื่อเสริมประสิทธิภาพการกรองให้เต็มที่   ส่วน UV+Ozone เป็นอย่างไร ทำงานอย่างไร รบกวนไปอ่านต่อที่
http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=198288.0 <-- UV กับ Ozone ที่คุณ mai2610 ตั้งคำถามไว้


- การกรองโดยใช้สาหร่าย หากความหมายของการกรองเพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่ดีขึ้น การใช้สาหร่าย(รวมถึงพืชทุกอย่าง) ก็เป็นทางเลือกนึงสำหรับการกรอง

การกรองโดยใช้สาหร่าย เป็นการใช้งานสาหร่ายหรือพืชในตุ้ให้ช่วยทำงานในเรื่องที่เกี่ยวกับการดึงของเสียออกจากตู้เราในระหว่างที่เรายังไม่ได้เปลี่ยนน้ำ โดยสาหร่ายต้องอาศัยของเสียในตู้เราเพื่อการเจริญเติบโต หลักๆของของเสียที่ถูกสาหร่ายใช้งานก็คือ ไนเตรทและฟอสเฟต  เพียงแต่การใช้งานสาหร่าย นอกจากต้องอาศัยแสงสว่างแล้ว ยังต้องมีการดูแลเพิ่มเติมอีกด้วยเนื่องจากสาหร่ายที่เราเลี้ยงก็ประกอบไปด้วยสารโปรตีนเหมือนกัน ซึ่งเมื่อสาหร่ายบางส่วนตายไป ก็จะกลับเข้าสู่วงจรไนโตรเจนเหมือนเช่นของเสียชนิดอื่นๆที่เกิดขึ้นในตู้  อีกทั้งสาหร่ายบางชนิดเมื่อตายหรือมีการฉีกขาด ก็จะปล่อยของเสียกลับคืนเข้าตุ้อีกเช่นกัน แม้จะมีข้อดีและข้อเสียอยู่ แต่การเลี้ยงสาหร่ายยังมีประโชยน์อีกอย่างกับตู้ทะเลคือเป็นแหล่งอาศัย-เพาะพันธ์ Pods ที่เป็นสัตว์เล็กๆในตู้ ซึ่งทั้งสาหร่ายและ Pods ยังเป็นอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตในตู้เราได้อีกด้วย
ส่วนรายละเอียดการเลี้ยงสาหร่าย ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก รบกวนไปอ่านต่อได้ที่กระทู้
http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=127031.0 <--    
ระบบการเลี้ยงปะการังและสิ่งมีชีวืตจากทะเล เสริมภาค1 ของคุณ Mixer ครับ

นอกจากการเลี้่ยงสาหร่ายในตู้ทั้งตู้หลักหรือในช่องกรอง ยังสามารถใช้ Algae Turf Scrubber (ATSหรือแผ่นล่อตะไคร่) เพื่อกำหนด+สร้างตะไคร่น้ำให้อยู่ในบริเวณที่ต้องการ แต่ต้องมีการดูแลเป็นประจำโดยการลอกตะไคร่ออกจากแผ่นเมื่อปริมาณเริ่มเยอะขึ้น อาจจะยุ่งยากนิดนึง ซึ่งคล้ายกับการเลี้ยงสาหร่ายที่ต้องดึงสาหร่ายที่หนาแน่นเกินไป แต่ก็เป็นวิธีนึงในการใช้พืชเพื่อลดของเสีย



- การกรองโดยใช้หินเป็น ทรายเป็น แม้การจัดหินเป็นรูปทรงต่างๆ หรือการปูพื้นด้วยทราย/กรวดเพื่อให้ตู้ทะเลของเราดูสวยงาม แต่การจัดเหล่านั้น ก็ถือเป็นการกรองเช่นกัน เพราะในตัวหินและทรายเหล่านั้นก็มีระบบการกรองแบบชีวภาพอาศัยอยู่เช่นกันและเป็นระบบกรองที่มีประสิทธิภาพมากเสียด้วยในระบบตู้ทะเล เพราะหากมีการจัดการที่ดี สามารถลดของเสียต่างๆในตู้ได้หลายตัวเลยทีเดียวทั้ง แอมโมเนีย-ไนไตร์ท-ไนเตรท


พอหลังจากเราเลือกใช้งานการกรองต่างๆแล้ว บางครั้งตู้ที่สวยงามของเรา อาจจะเต็มไปด้วยการกรองหลายแบบ อุปกรณ์หลายอย่าง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการนำตู้กรองล่างมาใช้งานร่วมกัน เพื่อให้เป็นที่วางอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอาจจะเป็นพื้นที่เพื่อเลี้ยงสาหร่าย เพื่อให้ตู้หลักของเรา แสดงแต่ส่วนที่น่าดู ส่วนอุปกรณ์เบื้องหลังต่างๆ เราก็เอาซ่อนไว้ที่กรองล่างนั่นเอง

ต่อไปว่ากันที่ Style นะเอาเฉพาะส่วนสำคัญตามความสามารถของผม ว่ามันมีแบบไหนกันมาบ้างสำหรับตู้ทะเล มันเป็นความเป็นมาเป็นไปของการนำเอาการกรองต่างๆมารวมลงในระบบตู้ทะเล
- The Traditional Style มันนานมากแล้วที่มีการเอาอะไรมาเลี้ยงไว้ในตุ้ นักเลี้ยงแรกๆก็มีการนำแบคทีเรียที่อาศัยอ๊อกซิเจนมาใช้ร่วมกับการกรองหยายหรือการกรองใต้ทรายมาใช้ ร่วมกับ ปั๊มน้ำเพื่อหมุนเวียนน้ำและแลกเปลี่ยน-เพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ โดยการใช้หัวทรายบ้าง (โบราณมากกกกก) ต่อมาจึงพบว่าการทำความสะอาดวัสดุกรองเป็นการทำลายแบคที่เรียที่มีประโยชน์ไปพร้อมๆกัน  เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่ทุกครั้งที่ความสะอาดเราดันไปทำให้มันสะอาดเกินไปจนกลายเป็นผลเสีย ต้องเริ่มนับ1นับ2ใหม่ทุกครั้ง หากไม่ทำความสะอาดมันก็หมักหมมอยู่ข้างใต้

- The Dutch-Style เริ่มมีการใช้การกรอง Wet/Dry เข้ามาปรับใช้ทำให้มีประสิทธิภาพในการกรองมากกว่า The Traditional Style มีการแลกเปล่ี่ยนนั่นนู่นนี่กันรู้สึกว่ามันเหมือนจะดีขึ้น แต่พบว่าลดปัญหาของแอมโมเนียลงได้ แต่ดันไปเกิดปัญหาอันใหม่คือ การลดลงของ pH และไนเตรทที่ไม่ยอมจากไป ส่งผลให้การเลี้ยงปลาสามารถอยู่ได้ครับในระดับที่ไนเตรทไม่เข้มข้นจนเกินไป ส่วนปะการัง ยังมีปัญหา

- The Berlin-Style  ในปี 1970 คุณ Peter Wilkens ที่ทำงานอยู่ในเยอรมนี แกได้ออกแบบระบบการเลี้ยงใหม่โดยแกนำเอาหินเป็นมาใช้เพื่อการกรองชีวภาพ และไม่เลือกการกรองใต้ทราย+Wet/Dry มาใช้ แต่ใช้สกิมเมอร์เพื่อเอาสารโปรตีนออกจากระบบ และนำ activated carbon มาใช้ร่วมด้วย   อีกทั้งยังใช้แคลเซียม - น้ำปูนใส(limewater-ไม่รู้แปลถูกรึเปล่า)เพื่อรักษาค่า pH KH และแคลเซียม  และแล้ววิธีนี้ก็ใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบปิด

- The Smithsonian-Style ต่อมา Dr. Walter Adey แห่งสถาบันสมิทธโซเนียน ได้นำเอาการคะไคร่(Algae)มาใช้งาน โดยรู้จักกันทั่วไปในนาม The Algal Turf Scrubber โดยการปลูกตะไครเพื่อใช้ช่วยดึงของเสียออกจากระบบ  ส่วนสิ่งที่แกเลือกใช้กับระบบนี้คือ หินเป็น น้ำทะเล และ แพลงตอน (ท่าจะยากไปหน่อยสำหรับเราๆ)

- The Monaco-Style Dr.Jean Jaubert แห่ง The National Aquarium of Monaco ได้นำเอาการใช้ทรายเป็นปูพื้นเพื่อให้เกิดภาวะอ๊อกซิเจนต่ำ(น่าจะเป็นDSB)เพื่อเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่่งวิธีนี้แกว่าไว้ว่าทำให้มีไนเตรทและฟอสเฟตต่ำ อีกทั้งยังมีระดับแคลเซียมและalkalinityสูง อัตราการเจริญเติมโตของปะการังก็สูง โดยไม่ต้องใช้การเปลี่ยนน้ำหรือเพิ่มแคลเซียมต่างหาก

- The Natural Style เป็นการนำเอาข้อดีของแต่ละรูปแบบ มาใช้ผสมกัน ทำให้นักเลี้ยงในอมริกาเหนือที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีการรายงานถึงความสำเร็จในการเลี้ยงสิ่งต่างๆที่ก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเลี้ยงในระบบปิด  โดยปกติ ระบบการเลี้ยงแบบใหม่นี้จะประกอบไปด้วยการใช้หินเป็น การปูพื้นด้วยทราย aragonite  รวมถึงการใช้โปรตีนสกิมเมอร์ และมีการเติมน้ำปูนใส่เพื่อปรับค่าน้ำ หรือ รวมไปถึงการใช้แคมเซียมรีแอคเตอร์  จากนั้นก็เริ่มมีรายงานถึงการเลี้ยง SPS และสามารถขยายพันธ์ SPS ในระบบปิดได้


******
หลังจากเราพอทราบกันคร่าวๆแล้ว ว่า ระบบการกรอง วิธีการกรอง และการนำเอารวมกันเพื่อประยุกต์ใช้กับตู้ทะเลของเราแล้ว ต่อไป ก็ต้องมาดูเรื่องของวัสดุกรองนะครับ ว่าวัสดุกรองมันมีอะไร ยังไงบ้าง ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร เหมาะไม่เหมาะกับตู้ทะเลของเราหรือไม่ อย่างไร

วัสดุกรองต่างๆ
เมื่อเราทราบเกี่ยวกับระบบกรองต่างๆ วิธีการนำมาใช้ และความเป็นมา ต่อไปเราก็ต้องมาดูเรื่องของวัสดุกรองกันครับ และวัสดุกรองชนิดไหน เหมาะกับการนำมาใช้ในตู้ทะเลของเรา ด้วยเหตุผลอะไร
**อ้างอิงจาก http://www.pantown.com/board.php?id=56629&area=4&name=board48&topic=9&action=view **

-หินพัมมิส หรือ หินภูเขาไฟ

เป็นหินลาวาที่มีการแข็งตัวอย่างรวดเร็วทำให้เกิดรูพรุนมากมายในเนื้อหิน มีความเบา(ลอยน้ำในช่วงแรกแต่พอแช่น้ำไปนานๆจะจมลง) มีพื้นที่สัมผัสสูง เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ประกอบไปด้วย
SiO2 Content 62.53 %
CaO Content 3.88 %
MgO Content 0.43 %
Na2O Content 1.14 %
K2O Content 0.58 %
Fe2O3 Content 3.51 %
Al2O3 Content 24.57 %
MnO2 Content 0.12 %
TiO2 Content Less than 0.05
Loss on Ignition 2.92 %
หินพัมมิสนั้นมีค่าเป็นกลาง จึงไม่เปลี่ยนแปลงค่า pH ของน้ำภายในตู้ครับ ใช้งานง่ายเพียงแค่ใส่ลงในถุงตาข่ายจากนั้นนำไปล้างน้ำ โดยให้น้ำไหลผ่านหลายๆน้ำ ก็สามารถนำมาใช้งานได้แล้วครับ นอกจากนี้ยังมีราคาไม่แพง แต่เมื่อใช้ไปในเวลานานๆอาจจะมีสลายตัวกลายเป็นเศษผงบ้าง

ข้อดี -- มีรูพรุนสูง หน้าสัมผัสเยอะ เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียได้ดี ราคาไม่แพง
ข้อด้อย -- มีธาตุต่างๆมากมาย บางทีอาจจะมากเกินไป อีกทั้งมีความเป็นกลางซึ่งตู้ทะเลต้องการค่า pH ที่ 8.0-8.4 และใช้ไปนานๆ อาจจะมีการสลายตัวเป็นเศษผงได้ เดาว่าคงมีบางส่วนละลายปนไปในน้ำของเราด้วย  [on_007]

-เซรามิกริงแบบรูพรุน

เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ทำขึ้นมาให้มีรูพรุน เพื่อใช้เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียฝ่ายดี มีคุณสมบัติเป็นกลาง ไม่ทำให้ค่า pH เปลี่ยน นอกจากทำหน้าที่เป็นกรองชีวภาพแล้ว ยังมีหน้าที่กระจายน้ำเพื่ออ๊อกซิเจนได้อีกด้วย ราคาไม่แพงครับ
ข้อดี -- มีรูพรุน แบคทีเรียอาศัยได้ดี ทั้งช่วยกระจายน้ำเพิ่มอ๊อกซิเจนได้อีกด้วย(Wet/Dry)
ข้อด้อย -- ตะกอนบางส่วนมันติดที่วัสดุ กลายเป็นหมักหมมไปแทน

-คีรีก้า

ข้อมูลเฉพาะของหินนี้ มีพื้นที่ผิวขนาด 440 ตารางเมตร/ลิตร โดยการหาพื้นที่ผิวใช้วิธี Gas Adsorption ซึ่งเป็นมาตรฐานการหาพิ้นที่ผิวของสารกรอง โดยมีการรับรองผลการหาด้วย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   หินตัวนี้ เป็นหินที่ธรรมชาติย่อยให้กลายเป็นดิน ทำให้เกิดสารประกอบที่มีโยชน์มากมาย สำหรับสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก โดยสารประกอบที่มีอยู่ในหินชนิดนี้ เป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันคือ Calcium Montmorillonite Cllay เป็นสารประกอบที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต และภูมิคุ้มกันตัวปลา ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟ
สุดยอดวัสดุกรอง หินแร่ภูเขาไฟ คีรีก้า ( พัมมิส ทัฟฟ์ )
คุณสมบัติ
-มีพื้นที่ผิวขนาด 440 ตารางเมตร/ลิตร
-ช่วยให้ระกรองเซ็ตตัวได้เร็วมากกก ใช้เวลาเพียง 3-6 วัน
-ไม่เพิ่มค่า pH และไม่เป็น pH Buffer
-เพิ่มสีสันของปลาให้สวยงามขึ้น
-มีความเป็นรูพรุนสูง
-ให้แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำและต้นไม้น้ำ
-ช่วยจับผงฝุ่นที่ลอยอยู่ในน้ำให้ตกตะกอนจนน้ำใส
-เป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ที่ช่วยในการย่อยสลายของเสีย เช่น เศษอาหาร ขี้ปลา
-ช่วยกักเก็บแร่ธาตุ ปุ๋ยน้ำ ได้เป็นอย่างดีและค่อยๆปลดปล่อยให้ต้นไม้นำไปใช้
-มีส่วนช่วยเพิ่มสีสันสวยงามให้กับสัตว์น้ำ
-ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ข้อดี -- มีผิวสัมผัสเยอะ มีรูพรุนเยอะ ให้แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำและไม้น้ำ(ไม่ใช่ทะเล) ฯลฯ
ข้อเสีย -- ไม่เพิ่มค่า pH และไม่เป็น pH Buffer แต่ทะเลต้องการ pHที่สูง และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์กับไม้น้ำแต่คงไม่เหมาะกับตู้ทะเล ที่ต้องการแร่ธาตุที่จำเป็นแค่ข้างๆถุงเกลือ

- อะควาเคลย์

Aquaclay ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติทางตอนใต้ของประเทศเยอรมัน โดยเป็นดินที่มีอายุมากกว่า 150ล้านปี นำมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ และเผาที่ความร้อนสูงถึง 1200 องศาเซลเซียส มีรูพรุนสูงทำให้มีพื้นที่สูงถึง 280 ตารางเมตร ที่ซึ่งแบคทีเรียจะสร้างอาณาจักร และทำการย่อยสลายแอมโมเนีย, ไนไตรท์ และไนเตรท
Aquaclay ถูกผลิตมาเป็นเม็ดกลม ซึ่งการวิจัยได้ชี้ว่าวัสดุกรองทรงกลมจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบำบัด เนื่องจากพื้นผิวเปิดรับกับการไหลของน้ำอย่างไม่จำกัด และง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่ทำให้ค่า pH เปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้น้ำกระด้าง มีคุณสมบัติของดินครบถ้วน ทำให้ปลารับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (เนื่องจากผลิตจากดินและถูกนำมาเผาในอุณหภูมิที่สูง ดังนั้นการใช้บางลักษณะอาจทำให้น้ำในตู้ปลามีอุณหภูมิต่ำลงกว่าที่เคยใช้วัสดุกรองเดิม อันเนื่องมาจากการคายความร้อนและการรักษาความเย็นในตัวเอง) เหมาะสำหรับระบบการบำบัดแบบต่างๆ และมีขนาดให้เลือกตามต้องการ
Aquaclay มีรูพรุนจำนวนมาก ที่จะให้แบคทีเรียอาศัยอยู่ โดยภายในเม็ดกลมของAquaclay จะเป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับ Anaerobic bacteria ที่จะสลาย ไนเตรท แต่ภายนอกประกอบไปด้วยรูพรุนจำวนมากซึ่งจะเป็นที่อยู่ของ Aerobic bacteria จะเปลี่ยนสภาพของ แอมโมเนีย และไนไตร์ทไปเป็นไนเตรท
ไม่ว่าคุณจะมีระบบกรองแบบใด Aquaclay สามารถใช้ีร่วมกับระบบกรองของคุณได้ทุกแบบไม่ว่าจะเป็นระบบ wet dry, wet wet, moving bed และอื่นๆ เพียงแค่เลือกขนาดของ Aquaclay ให้เหมาะสมกับระบบกรองของคุณ สามารถใช้ได้ทั้งกับ ตู้ปลา และบ่อปลาทุกแบบ
ข้อดี -- คล้ายๆกันหมดเลยคือ เป็นที่อยู่ของแบค ฯลฯ
ข้อเสีย -- ค่า pH ไม่ทำให้น้ำกระด้าง แต่ทะเลต้องกระด้าง

-เศษปะการัง

เป็นวัสดุกรองที่มีรูพรุน มีน้ำหนัก การใช้งานควรล้างน้ำมากๆ มีคุณสมบัติเป็น pH buffer ทำให้น้ำกระด้างขึ้น ค่าpH สูงขึ้นได้ครับ ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เลิกใช้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ข้อดี -- เป็น pH Buffer ทำให้น้ำกระด้าง เหมาะกับการใช้งานกับตู้ทะเล รูพรุนเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียทั้งแบบใช้และไม่ใช้อ๊อกซิเจน
ข้อเสีย -- เหมือนจะดี แต่มันเล็กไป มันหมักหมม มันเป็นเหมือนระเบิดเวลา เราเอาเศษปะการังในถุงๆไปล้างก็ไม่ได้เดี๋ยวแบคฯตาย/หายหมด ถ้าไม่เอาไปล้าง ถ้าลองใช้ดูจะรู้ว่าเวลาเราไปยุ่งกับไอ้ถุงเศษปะการังปุ๊บ ตะกอนต่างๆในถุงมันจะออกมาปั๊บเลย  ทีนี้กลายเป็นเอาของเสียออกมาจัดการใหม่ เพิ่มงาน งานเข้าไปซะงั้น....ซวยเบย..

วัสดุกรองที่กล่าวมาทั้งหมด มีประโยชน์และมีข้อเสียรวมๆกัน ถามว่าทำไมผมติทุกอันเลย นั่นน่ะสิ ต้องเข้าใจก่อนว่าวัสดุกรองที่เวลาเราอ่านๆเจอ ส่วนมาก99%เขาเขียนถึงตู้ปลาน้ำจืด หรือไม่ก็ ตู้ไม้น้ำ ครับ มันคนละตู้ครับ

เอาใหม่ วัสดุกรองชนิดไหนเหมาะกับตู้ทะเลที่สุด
หินเป็น และ ทรายเป็นครับ เหมาะกับการนำมาเป็นวัสดุกรองในระบบตู้ทะเลมากที่สุด เพราะ
-มีรูพรุนสูง มีพื้นที่ให้แบคทีเรียทั้งชนิดที่ใช้และไม่ใช้อ๊อกซิเจนอาศัยได้ ทำให้สามารถลดได้ทั้ง แอมโมเนีย-ไนไตร์ท-ไนเตรท
-มีค่า pH ที่เหมาะสมกับตู้ทะเลที่สุด
-ไม่มีการปล่อยแร่ธาตุอื่นๆที่ไม่เหมาะกับตู้ทะเล เช่นพวก โลหะหนักต่างๆ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตในตู้

หินเป็นคือ หินเป็นก้อนๆ ไม่ใช่เศษๆขนาดนิ้วก้อยนะครับ เป็นก้อนๆ ก้อนละหลักสิบ-หลักร้อยนั่นแหละ จะเป็นหรือจะตายเอามาลงตู้เดี๋ยวมันก็เป็นเองครับ   หากเราใช้หินเป็นคุณภาพดีๆ มันก็เป็นวัสดุกรองที่นำมาใช้ได้เลย ทำงานได้เลยทันที   แต่หากได้หินตายมา ก็ล้างให้สะอาดที่สุดตามความสามารถของแต่ละบุคคลครับ ล้างดีก็อาจจะไม่มีผลเสีย ล้างไม่ดีอาจจะมีเน่านิดๆในระยะแรก แต่ไม่นานมันก็จะหายไปเองครับ สุดท้ายทั้งหมดก็จะกลายเป็น หินเป็น เพื่อเป็นวัสดุกรองอย่างดีให้กับตู้ทะเลของเราครับ

ทรายเป็นคือ ทรายที่เอามาปูพื้นครับ ขาวหรือดำ ได้หมด เป็นหรือตาย ก็ได้หมด จะเป็นทรายหรือเป็นเศษปะการังเบอร์ 0 ไปจนเบอร์ 000 ก็ทำงานเหมือนกันกับหินเป็นครับ แต่ข้อดีข้อเสียของการปูพื้นทราย ต้องลองค้นหาเอาครับ จะปูหนา ปูบาง หรือไม่ปูพื้น ล้วนมีข้อดีข้อเสียปนๆกัน เจ้าของตู้ต้องเลือกเอาครับ ว่าชอบแบบไหน หรือ ยอมรับแบบไหนได้
ลองไปอ่านเอาที่
http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=225188.0
ผมเขียนไว้แล้ว และไม่อยากเขียนซ้ำ เดี๋ยวมั่วแล้วไม่เหมือนเดิม... [on_026]



อ้างอิงข้อมูลที่พอจะจำได้คือ
1. http://www.pantown.com/board.php?id=173&area=4&name=board4&topic=152&action=view
2. http://www.pantown.com/board.php?id=56629&area=4&name=board48&topic=9&action=view
3. เวปไทยที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับตู้ทะเลเท่าไหร่ แต่จำไม่ได้แล้วว่าหน้าไหนบ้าง
4. เวปประเทศนอก ลืมไปแล้ว หาอีกทีก็ไม่เจอ เอาเป็นว่า "ขอบคุณครับ" or "Thank you very very much" ขอบคุณสำหรับข้อมูล ขอโทษหากแปลผิด
5. หนังสือ Natural Reef Aquariums  ของ คุณ John H. Tullock -- อันนี้ต้องขอบคุณที่มีข้อมูลให้ และขอโทษหากแปลผิดเหมือนกัน

** จบครับ **
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09/05/14, [13:41:56] โดย bill2517 »
อู๋ @ ขอนแก่น ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #1 เมื่อ: 09/05/14, [16:31:44] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

มาเก็บความรู้ ขอบคุณครับพี่  [เจ๋ง]
แพท ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #2 เมื่อ: 09/05/14, [18:52:31] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ดีมากครับกด like ให้แล้วครับ
mai2610 ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #3 เมื่อ: 09/05/14, [19:32:21] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

+ ครับ  [เจ๋ง]
yakushiko ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #4 เมื่อ: 10/05/14, [15:27:43] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]
slektich ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #5 เมื่อ: 10/05/14, [23:29:38] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

รวบรวมข้อมูลได้เยอะและดีมากเลยครับ +1 [เจ๋ง]
R-yan ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #6 เมื่อ: 15/05/14, [18:26:00] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ความรู้ดีๆ  [เจ๋ง]

เสริมอีกนิดครับ
เราสามารถเร่งระยะเวลา ในการตั้งตู้ใหม่
ด้วยการนำวัสดุกรอง จากตู้ที่เซ็ตอยู่เดิมแล้ว มาทำเชื้อ
เทคนิค การเลือก คือ จุดที่มีการแลกเปลี่ยนน้ำกับอากาศมากที่สุด หรือบริเวณที่น้ำไหลผ่านสะดวก
เนื่องจากบริเวณนั้น จะมีโอกาสพบแบคทีเรียใช้อากาศมากที่สุด รวมถึงไนตริไฟอิ้งค์แบคทีเรีย

การตั้งตู้ใหม่ หากไม่มีการเติมอาหารของแบคทีเรีย แบคทีเรียก็ไม่โต การใส่กุ้ง หรือแบคทีเรีย ทั่วๆไป เป็นการย่อยสลาย เร่งให้เกิดแอมโมเนียขึ้นในระบบ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของไนตริไฟอิ้งค์แบคทีเรีย ที่จะมาจัดการแอมโมเนีย ไปเป็นไนไตรท์ และไนเตรท

การที่เลิกเลี้ยง แล้วรันน้ำไว้เฉยๆ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่มีสัตว์น้ำ ก็ไม่มีของเสีย สุดท้ายแบคทีเรียก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ

ในระบบบางระบบ ใช้กระบวนการทางเคมี โอโซน ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ และโอโซนยังสามารถทำปฏิกิริยา กับไนไตรท์ ให้ไปอยู่ในรูปไนเตรทได้โดยไม่ต้องอาศัยกลุ่มไนตริไฟอิ้งค์
 [on_018]


alpha ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #7 เมื่อ: 15/05/14, [19:46:09] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ [เจ๋ง]
longduza ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #8 เมื่อ: 18/05/14, [03:27:56] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ความรู้อีกแล้วครับ + แล้วก็จดๆ ฮ่าาา
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: