วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567 [08:51:08]

ประเภทของระบบกรอง ลักษณะและคุณสมบัติ

กรองแขวน Hang-on filter, Hang On Back (HOB) filter

หนึ่งในระบบกรองยอดนิยมสำหรับผู้เริ่มต้นเลี้ยงและตู้เล็ก ใช้การทำงานของปั๊มน้ำดูดน้ำขึ้นไปตามท่อ ผ่านวัสดุกรอง และปล่อยให้ไหลกลับลงในตู้
ได้ชื่อมาจากลักษณะการติดตั้ง ที่เป็นการ "แขวน" หรือเกี่ยวเข้ากับกระจกข้างตู้ วิธีการใช้งานก็ง่ายดาย แค่เอาไปแขวนข้างตู้ เติมน้ำลงในกรองด้วยขันหรือแก้วน้ำให้เต็มแล้วเสียบปลั๊ก บางตัวปั๊มแรงๆหน่อยก็ไม่ต้องใส่น้ำด้วยซ้ำ แค่เสียบปลั๊กก็ดูดน้ำได้เอง


กรองแขวน Jebo 505 ทรงนิยม






กรองแขวนที่ผ่านการดัดแปลงให้สามารถใส่วัสดุกรองได้มากขึ้น


กรองแขวน Dophin A3000




แม้จะเป็นกรองแขวน แต่บางรุ่นก็มีออพชั่นหรูอย่างเช่นถาดใส่วัสดุกรองแบบนี้เหมือนกัน




ข้อดี
  • ราคาไม่แพง
  • ติดตั้งง่าย การทำงานไม่ยุ่งยาก
  • ทำความสะอาดง่าย สามารถยกกรองทั้งชุดไปล้างได้เลย

ข้อเสีย
  • กรองแขวนหลายตัวมีการออกแบบการไหลเวียนน้ำไม่ดี พื้นที่ใส่วัสดุกรองมีมุมอับเยอะ ทำให้กรองทำงานได้ไม่เต็มที่
  • มักมีปัญหาดูดน้ำไม่ขึ้นหลังจากไฟดับ หากระดับน้ำในตู้มีความสูงห่างจากตัวกรองค่อนข้างมาก
  • ถ้าปล่อยให้น้ำในตู้ระเหยจนแห้งไปมากๆ และติดตั้งท่อดูดน้ำไว้สูง อาจจะเกิดอากาศเข้าไปในท่อกรองจนน้ำไม่ไหล และทำให้ปั๊มไหม้ได้
  • ไม่มีกรองแขวนขนาดใหญ่ เพราะกรองแขวนตัวใหญ่จะมีน้ำหนักมากจนเสี่ยงต่อการแตกร้าวของกระจกได้ และตู้ขนาดใหญ่บางครั้งก็จะมีคานกระจก ที่ไม่สามารถติดกรองแขวนได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [16:42:02] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)
กรองนอก Canister filter


กรองนอก Atman 3338 หนึ่งในกรองนอกรุ่นยอดนิยม เพราะคุณภาพดีราคาถูก


การติดตั้งกรองนอกแบบวางไว้ใต้ตู้

ระบบกรองยอดฮิตสำหรับตู้พรรณไม้น้ำ เพราะลักษณะเด่นที่มีการแตกตัวของผิวน้ำน้อย ทำให้ไม่สูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ไปง่ายๆ ซึ่งโดยลักษณะเด่นนี้ ก็ทำให้กรองนอก เป็นกรองที่เหมาะกับสถานที่ตั้งตู้ที่ต้องการความเงียบ เช่น ในห้องนอนหรือห้องทำงาน เพราะไม่มีเสียงน้ำไหลเกิดขึ้นเลย
อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ดี เพราะใช้การปั๊มน้ำผ่านชั้นกรองต่างๆในตัวเครื่องแบบปิดที่ใส่วัสดุกรองเอาไว้ ทำให้มีโอกาสที่น้ำจะไหลอยู่แถบเดียวและเกิดจุดอับออกซิเจนได้น้อยกว่ากรองแขวน


กรองนอก Gex megapower 2045 สำหรับตู้เล็ก ที่ใช้การวางด้านข้างตู้แทนที่จะเป็นใต้ตู้


กรองนอก Gex megapower 6090 กรองซีรี่ย์นี้จะใช้ปั๊มน้ำแบบจุ่มในตู้ แทนที่จะเอาไว้ที่ตัวถังกรอง


กรองนอก Up-Aqua ที่ใช้ตั้งหรือแขวนข้างตู้ก็ได้ เลยไม่รู้จะเรียกว่ากรองนอกหรือกรองแขวนดี

ข้อดี
  • ประสิทธิภาพดี จุวัสดุกรองได้มากเมื่อเทียบกับพื้นที่
  • ใช้พื้นที่ได้ดี แทบไม่เสียพื้นที่ภายในตู้เลย และไม่เกะกะด้านบนตู้เท่ากรองแขวน แต่จะไปใช้พื้นที่ด้านล่างหรือด้านข้างของตู้แทน

ข้อเสีย
  • ราคาสูงกว่ากรองชนิดอื่นพอสมควร
  • การติดตั้งค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับบางคน อุปกรณ์ยอะ ชิ้นส่วนเยอะ ดูวุ่นวาย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของคนทั่วไป โดยเฉพาะคนที่อ่านคู่มือการใช้งาน [smile06]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [15:41:28] โดย บัง »
กรองถัง, กรองบน Drum filter, Top, Upper, Overhead filter

กรองประเภทนี้จริงๆก็เหมือนๆกับกรองล่างและกั้นกรองข้าง เพียงแต่มันไปอยู่ด้านบน ในระดับที่สูงกว่าตู้ ใช้การปั๊มน้ำขึ้นไปหาตัวกรอง ไหลผ่านชั้นวัสดุกรอง และไหลกลับลงมาในตู้ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก จึงไม่ได้ใช้ระบบ Overflow หรือระบบน้ำล้นเหมือนในกรองล่าง แค่ปล่อยให้น้ำไหลจากกรองลงมาเฉยๆ จะพบได้บ่อยในบ่อบัวและอ่างปลาทอง เพราะเป็นระบบกรองีท่มีลักษณะการจัดวางเหมาะกับบ่อกลางแจ้ง สามารถติดตั้งหรือแม้แต่ทำขึ้นมาใช้เองได้ง่ายๆ


ตัวอย่างการติดตั้งระบบกรองบน


ระบบภายในและการใส่วัสดุกรอง


กรองบนอีกแบบหนึ่ง


กรองถังทำเองสำหรับบ่อและอ่างปลา



กรองบน DIY ที่เป็นระบบ Trickle filter


กรองบน DIY จากตู้ลิ้นชักพลาสติก (ภาษาอังกฤษ)


กรองบน DIY Membuat Top Filter DIY

ข้อดี
  • ประสิทธิภาพสูงได้เท่าๆกับกรองล่างและกั้นกรอง ใส่วัสดุกรองได้หลากหลายเหมือนกัน
  • ราคาถูก เมื่อเทียบราคาที่ต้องจ่ายกับพื้นที่ความจุวัสดุกรองแล้วคือว่าคุ้มค่ามาก
  • ได้การเติมอากาศในน้ำฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าไฟเพิ่มถึงสองขั้นตอน (น้ำที่ตกกระทบในกรองและน้ำที่ตกกระทบในตู้,อ่าง)
  • ปรับปรุงแก้ไขระบบกรองและวัสดุกรองได้ง่าย เซ็ตระบบได้หลายรูปแบบ ซ่อมบำรุงง่าย ใช้ปั๊มน้ำแบบจมน้ำทั่วไปที่ราคาไม่แพง
  • ทำความสะอาดง่าย รวดเร็ว

ข้อเสีย
  • ตั้งเด่นเป็นสง่า เกะกะเป็นที่สุด เอาซ่อนๆไว้ก็พอได้ แต่ยากหน่อย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [16:18:52] โดย บัง »
กรองฟองน้ำ, กรองกระปุก, กรองใน, Sponge filter, Internal filter

เป็นระบบกรองที่เรียกว่าเรียบง่ายที่สุด ในบรรดากรองด้วยกัน แค่มีตุ้มฟองน้ำหรือกระปุกกระจาด เอาท่อเสียบ ปั๊มลมใส่ เสร็จแล้ว! ง่ายจุง!
เรื่องประสิทธิภาพก็เรียกได้ว่าพอถูไถ เหมาะสำหรับตู้ที่มีปริมาณของเสียไม่มาก เช่น ตู้กุ้งแคระที่มีปริมาณกุ้งไม่มาก ตู้เพาะพันธุ์ปลาที่ไม่ต้องการให้มีกระแสน้ำแรง และระบบกรองที่ไม่ดูดลูกกุ้งลูกปลาหายเข้าไปปั่นละเอียดในกรอง หรือตู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการจัดการ เช่น ตู้พยาบาล, ตู้พักปลา และตู้ขายปลา บางครั้ง กรองฟองน้ำและกรองกระปุก ก็สามารถติดปั๊มน้ำเข้าไปแทนที่การใช้ปั๊มลมดูดน้ำได้ ทำให้มีการไหลเวียนของน้ำรวดเร็วขึ้น เรียกว่า "กรองใน" หรือ Internal filter ซึ่งมักจะหวังผลในด้านการกรองแบบกล คือกรองสิ่งสกปรกแขวนลอยในน้ำจำพวกฝุ่น, ซากพืช, ขี้ปลา เสียมากกว่าการกรองแบบชีวภาพ แต่ถ้าเซ็ตกรองดีๆก็สามารถทำให้มีการกรองแบบชีวภาพได้ด้วยเหมือนกัน

ข้อดี
  • ราคาถูก ยี่สิบบาทยังมี
  • ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ใช้งานและทำความสะอาดง่ายที่สุดในสามโลก
  • เมื่อใช้คู่กับปั๊มลม สามารถควบคุมการไหลของน้ำได้ด้วยการคุมปริมาณลม สามารถหรี่ให้นุ่มนวลแผ่วเบาและอ่อนโยนได้แบบที่กรองอื่นไม่สามารถทำได้ (ยกเว้นกรองใต้กรวด เพราะมันคล้ายๆกัน) เหมาะกับตู้กุ้งแคระ ตู้เพาะพันธุ์และตู้อนุบาลลูกปลาลูกกุ้ง


กรองฟองน้ำ ชนิดที่ต้องต่อกับปั๊มลม


ตู้เลี้ยงกุ้งแคระ Black Kingkong ที่ใช้กรองฟองน้ำ Re:which is the better sponge filter for shrimp tanks


กรองในยี่ห้อ Resun ชนิดที่ทำงานด้วยปั๊มน้ำ ใช้ฟองน้ำหยาบเป็นวัสดุกรอง จะเรียกว่าเป็นกรองฟองน้ำก็ได้


กรองในตู้ยี่ห้อ Eheim หรูหราและคลาสสิค ไอเท็มในฝันสมัยผมเด็กๆเลย (แต่มันก็กรองฟองน้ำนั่นแหละ [smile01])


กรองมุม ก็จัดเป็นกรองในตู้ชนิดหนึ่ง เพียงแต่หน้าตาออกแบบมาให้วางแอบไว้ตรงมุมตู้ได้ดี รุ่นแบบนี้เก่ามากหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังเห็นมีวางขายอยู่บ้างในตลาดซันเดย์


กรองกระปุก เป็นกรองแบบที่ใช้ปั๊มลมเป็นตัวขับน้ำ ส่วนมากมักจะมีขนาดเล็ก ด้านในพอมีที่ให้ใส่วัสดุกรองได้ไม่มากนัก


กรองกระปุกที่เป็นเซรามิกของ UpAqua Under water filter D-717



ข้อเสีย
  • ส่วนมากมีประสิทธิภาพการบำบัดน้ำต่ำกว่ากรองชนิดอื่นๆ มีพื้นที่ใส่วัสดุกรองน้อย ยกเว้นกรองในบางตัวที่ขนาดใหญ่ยักษ์จนแทบจะเรียกว่ากั้นกรองในตู้ได้เลย
  • เกะกะ เสียพื้นที่ภายในตู้
  • กรองฟองน้ำแบบละเอียดมักจะตันได้ง่าย ต้องล้างบ่อยๆ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [15:02:53] โดย บัง »
กรองใต้กรวด, Undergravel filter, UGF filter

กรองใต้กรวดเป็นระบบกรองที่เป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน สมัยผมยังเด็กๆ เรียกว่าแทบทุกตู้ในสมัยนั้นจะเป็นกรองใต้กรวดแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะไม่มีตัวเลือกระบบกรองเยอะเหมือนเดี๋ยวนี้
ระบบกรองชนิดนี้จะใช้การดึงน้ำด้วยอากาศจากปั๊มลมหรือปั๊มน้ำ เพื่อดูดน้ำลงไปใต้แผ่นกรองที่ทับเอาไว้ด้วยชั้นกรวด เพื่อให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในชั้นกรวดทรายเหล่านี้ช่วยบำบัดน้ำ แทนที่จะใช้วัสดุกรองเพิ่มเติมเข้ามาเหมือนระบบอื่นๆ
แต่แม้ว่าจะไม่มีการใช้วัสดุกรองเหมือนกรองแบบอื่นๆ แต่ประสิทธิภาพของกรองใต้กรวดนั้นก็ไม่ใช่เล่นๆ เพราะใช้พื้นที่ผิวของวัสดุรองพื้นตู้ทั้งหมดมาเป็นวัสดุกรองแทน ถึงจะไม่มีรูพรุนมากเท่าวัสดุกรองแท้ๆ แต่ก็ใช้ปริมาณเข้าข่ม สู้ได้สูสีกับกรองแบบอื่นเลยทีเดียว
โดยเฉพาะเมื่อใช้ปั๊มน้ำเป็นพลังขับ ก็จะทำให้มีการไหลเวียนของน้ำที่ดีกว่ากรองใต้กรวดที่ใช้อากาศจากปั๊มลมมาดูดน้ำด้วยท่อบุ๋งๆแบบโบราณมาก จึงทำให้กรองใต้กรวดเป็นอุปกรณ์ระบบกรองที่ยังคงมีการผลิตขายอย่างแพร่หลาย และมีรุ่นใหม่ๆที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพและรูปแบบออกมาเรื่อยๆ


ภาพอธิบายการทำงานของกรองใต้กรวดจากหนังสือยุคเก่าๆ


แผ่นกรองใต้กรวดรุ่นคลาสสิค ใช้ปั๊มลมดึงน้ำผ่านชั้นกรวดด้วยระบบ Air-lift ที่ปัจจุบันก็ยังมีขายอยู่


แผ่นกรองใต้กรวดของ Nisso ที่สวยงามและราคาเอาเรื่อง (ชุดสำหรับตู้ 60cm ราคาประมาณ 600-700 บาท)

ประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำสูง โดยเฉพาะเมื่อใช้กับปั๊มน้ำ เพราะใช้กรวดทั้งตู้เป็นวัสดุกรอง ซึ่งมีผลพลอยได้คือมีการไหลเวียนของน้ำที่พื้นตู้ดี ทำให้ไม่เกิดชั้นดำซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซไข่เน่าในตู้
มีขนาด รูปแบบและราคาให้เลือกเยอะ ตั้งแต่ขนาดจิ๋วใช้กับตู้ 6 นิ้วไปจนถึง 60 นิ้วก็ยังเห็นมี หรือจะให้ใหญ่กว่านั้นก็ได้ แค่เอาแผ่นกรองหรือท่อกรองใต้กรวดมาต่อกันเท่านั้น และมีทั้งที่ราคาไม่กี่สิบบาทไปจนถึงแบบหรูหราจากญี่ปุ่นชุดละพันกว่าบาท

ทำความสะอาดยาก ต้องรื้อชั้นกรวดและแผ่นกรองทั้งหมดออกมา หรือใช้การเปิดน้ำย้อนกลับ ซึ่งก็ทำความสะอาดได้ไม่ดีเท่าไหร่
ไม่เหมาะกับตู้ไม้น้ำที่มีไม้พื้น เพราะแม้ว่าต้นไม้จะเติบโตได้ดีในตู้กรองใต้กรวดได้ดี แต่รากของต้นไม้หลายชนิดที่มีระบบรากยาว เช่น ไม้ตระกูลคริปและอเมซอนสามารถอุดตันทางน้ำของกรองระบบนี้ได้ และทำให้ต้องรื้อระบบพื้นปลูกใหม่ภายในระยะเวลาไม่นาน แต่สามารถใช้ในตู้ที่มีเฉพาะไม้เกาะขอนที่ไม่มีรากลงดินจำพวกมอสและเฟิร์นได้ หรือตู้ที่ลงต้นไม้รากสั้นๆจำนวนไม่มากก็พอได้อยู่




ตัวอย่างตู้ไม้น้ำที่ใช้ระบบกรองใต้กรวดที่ต่อกับกรองนอกอีกที ต้นไม้ก็สามารถโตได้ดี จนถึงจุดที่รากต้นไม้ไปพันใต้แผ่นกรองจนไม่มีรูให้น้ำไหล และต้องรื้อในที่สุด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [15:28:25] โดย บัง »
กรองล่าง

กรองล่างเป็นระบบกรองที่นิยมกันในตู้ขนาดใหญ่ ใช้วิธีดึงน้ำออกจากตู้ด้วยระบบน้ำล้น หรือ Overflow ให้ลงมาผ่านวัสดุกรองในตู้อีกใบหนึ่งที่มักจะตั้งไว้ด้านล่างของตู้หลัก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกรองล่าง แล้วปั๊มกลับขึ้นตู้ไป
สาเหตุที่เป็นที่นิยมกันในตู้ขนาดใหญ่เสียส่วนมาก ก็เพราะในตู้ขนาดเล็กๆนั้นจะทำกรองล่างได้ยากเพราะพื้นที่จำกัด และในตู้ขนาดใหญ่ เช่นตู้ 60 นิ้วขึ้นไป หากใช้ระบบกรองอื่นๆอย่างกรองนอก จะต้องใช้กรองนอกขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง และอาจจะต้องใช้มากกว่าหนึ่งตัวอีกด้วย


ตู้อโรวาน่าขนาดใหญ่ที่ใช้ระบบกรองล่าง Filter Sump


กรองล่างที่ใช้เพียงแค่ฟองน้ำหยาบเป็นวัสดุกรอง ภาพตัวอย่าง--ตู้ปลาที่มีระบบกรองล่าง - ปิติ99

ข้อดี
  • มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำสูง เพราะใส่วัสดุกรองได้มากเท่าขนาดตู้กรอง จะทำตู้กรองเท่าตู้เลี้ยงหรือใหญ่กว่าก็ยังได้
  • แบคทีเรียได้ออกซิเจนจากการตกกระทบของน้ำล้นโดยไม่ต้องให้อากาศเพิ่ม
  • เป็นระบบกรองที่สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ง่ายที่สุด สามารถเซ็ตระบบกรองให้เป็นระบบกรองแบบจมน้ำหมด หรือ ระบบ Wet & dry (กรองแบบสลับเปียก-แห้ง) ก็ได้ หรือจะใช้ระบบกรองแบบ Trickle ที่มีประสิทธิภาพการบำบัดน้ำสูงกว่าระบบกรองที่จมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดก็ได้ ใส่ต้นไม้เข้าไปให้เป็น Plant filtration กรองไนเตรทด้วยพืชอย่างพลูด่าง,ไผ่กวนอิม หรือพืชโตเร็วอื่นๆก็ได้ หรือจะใช้มันทุกระบบที่ว่ามาในตู้เดียวก็ยังได้ ใส่ฮีทเตอร์ในกรองก็ได้ ใส่ยูวีก็ได้! ใส่โอโซนก็ได้!! ใส่ลูกลอยเติมน้ำก็ได้!!!
  • ล้างวัสดุกรองง่าย แค่หยิบใยกรอง, ยกถุง, กระบะวัสดุกรองออกมาล้าง โดยเฉพาะตู้ที่ทำระบบไว้ดีบางตู้เพียงแค่เปิดก๊อกสองสามอันก็เปิดน้ำย้อนล้างวัสดุกรองได้แล้ว

ข้อเสีย
  • การเซ็ตระบบยุ่งยาก และมักจะเป็นงานตู้สั่งทำเฉพาะ ทำให้มีราคาอุปกรณ์เริ่มต้นสูง
  • ตัวระบบน้ำล้นเข้าใจยาก สร้างความมึนงงให้กับผู้เริ่มเลี้ยงจำนวนมาก แต่ถ้าเข้าใจมันแล้วก็จะรู้ว่ามันไม่ยากอะไรเลย
  • มักมีเสียงดังจากการไหลของน้ำ แต่ถ้าเซ็ตระบบน้ำล้นดีๆ ก็สามารถกำจัดเสียงได้เกือบ 100%


ตู้อโรวาน่าขนาด 84 นิ้วระบบกรองล่าง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [16:15:28] โดย บัง »
ตู้กั้นกรอง, กรองข้าง, กรองมุม, กรองหลัง, Side drop filter, Corner filter

จัดว่าเป็น กรองใน หรือ Internal filtration ชนิดหนึ่ง (เพราะมันอยู่ในตู้) เป็นหนึงในระบบกรองเก่าแก่ที่อยู่คู่ผู้เลี้ยงปลามาช้านาน และไม่ค่อยพบตู้ที่ใช้ระบบกรองลักษณะนี้ในร้านอีกแล้ว จะยังเหลือก็มักจะเป็นร้านรุ่นเก่าๆที่ทำตู้ขอบอะคริลิก
แต่อย่าดูถูกว่ามันเก่า ระบบนี้ถึงจะเก่าแต่โคตรเก๋าเลยนะครับพี่น้อง เพราะประสิทธิภาพนี่น้องๆกรองล่างเลยทีเดียว ใส่วัสดุกรองได้มาก มีการไหลตกกระทบของน้ำได้ออกซิเจนอีก เอาสายอากาศไปเสียบหัวปั๊มก็ได้ออกซิเจนอีก! ทำ Wet & dry ก็ได้ รับโหลดของเสียได้มากเอาการเลย ปลาทงปลาทอง อโรวาน่า ปลากินเนื้อใหญ่ๆนี่ลงได้สบายถ้าเซ็ตระบบไว้ดี แถมยังติดตั้งและดูแลระบบได้ง่าย (เพราะมันติดตั้งมาแล้ว) เพียงแค่เอาวัสดุกรองใส่ลงไป เติมน้ำในตู้ แล้วก็เสียบปลั๊กใช้ได้เลย ล้างใยกรองหรือวัสดุกรองก็ง่าย ราคาก็ไม่แพง เพียงแต่ว่ามันไปกินเนื้อที่ในตู้เท่านั้นเอง เช่น ถ้าเราซื้อตู้ 48 นิ้ว เราจะได้พื้นที่ตู้จริงๆแค่ราวๆ 40 นิ้ว อีก 8 นิ้วกลายเป็นช่องกรองไป ซึ่งการกั้นกรอง ก็มีหลายตำแหน่ง หลายรูปแบบ มีทั้งกั้นด้านข้าง กั้นมุมตู้ กั้นด้านหลัง กั้นตรงกลาง (ด้านหลัง) แล้วแต่จินตนาการของคนทำตู้


ตู้กั้นกรองมุม


การจัดวัสดุกรองของตู้กรองข้าง http://www.ninekaow.com/wbs/?action=view&id=0042467


ตู้เลี้ยงเครฟิชแบบกรองข้าง (ในวีดิโอยังไม่ได้ใส่วัสดุกรอง)

ข้อดี
  • ประสิทธิภาพสูง ใส่วัสดุกรองได้เยอะและหลากหลาย
  • ราคาถูก เมื่อเทียบราคาที่ต้องจ่ายกับพื้นที่ความจุวัสดุกรองแล้วคือว่าคุ้มค่ามาก
  • ได้การเติมอากาศในน้ำฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าไฟเพิ่มถึงสองขั้นตอน (น้ำที่ตกกระทบในกรองกับปั๊มน้ำ)
  • ปรับปรุงแก้ไขระบบกรองและวัสดุกรองได้ง่าย เซ็ตระบบได้หลายรูปแบบ ซ่อมบำรุงง่าย ใช้ปั๊มน้ำแบบจมน้ำทั่วไปที่ราคาไม่แพง
    ทำความสะอาดง่าย รวดเร็ว

ข้อเสีย
  • ใช้พื้นที่ตู้เลี้ยงเป็นช่องกรอง เสียพื้นที่เลี้ยง เกะกะสายตา ดูเป็นตลาดล่าง
  • ระบบกรองแบบนี้ เวลาที่น้ำในตู้ระเหยไป น้ำในช่องกรองจะลดลง แต่ระดับน้ำในช่องที่เลี้ยงปลาจะเท่าเดิม ทำให้เกิดอันตรายจากปั๊มแห้ง เช่น ปั๊มไหม้ ระเบิด และไฟไหม้ได้ (สามารถติดลูกลอยเติมน้ำหรือกลับทิศทางการไหลของกรองเพื่อป้องกันได้)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [16:35:58] โดย บัง »