Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม  (อ่าน 73973 ครั้ง)
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« เมื่อ: 05/09/06, [18:04:08] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ไปค้นเจอบทความของ ฮีโร่ในการเลี้ยงปลาของผม อาจารย์กร๋วย ครับ มีประโยชน์มากๆ มือใหม่หัดเลี้ยงต้องอ่านทุกคน มือเก่าอ่านดูอีกทีก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นนะครับ

"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 1

ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม


ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าระบบกรองน้ำในตู้ปลาสวยงามนั้น ได้มีหลากหลายระบบให้เราเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกรองแบบ Machanical , Chemical , และสุดท้ายเป็นระบบที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบันคือ แบบ Biological ซึ่งที่มักเรียกกันว่ากรองแบบ ชีวภาพ , กรองWet/Dry ,กรอง Bioball เป็นต้น อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาคุณภาพน้ำในตู้เพาะเลี้ยงระบบปิด ให้มีคุณสมบัติที่ดีเพียงพอกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำที่เราเลี้ยง โดยตัวระบบเองนั้นสามารถจะเอื้อประโยชน์แก่เราได้มากในกรณีของการประหยัดแรง เวลา และน้ำ ในการบำรุงดูแลตู้ปลาไปได้มาก แต่…..ทว่า…ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ ระบบกรองชีวภาพ ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทั้งในด้านการ Maintenance ระบบ หรือแม้กระทั่งข้อจำกัด รวมไปถึง ข้อเสียของระบบ จากการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดของร้านค้า

เหตุบันดาลใจที่ทำให้เกิด "นายกร๋วย บอกเล่าเก่าสิบ" ภาค 1 นี้ นั้น เรื่องมันมีอยู่ว่า ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ไปเดินทอดน่องแถวๆ ซันเดย์พลาซ่ามา หลังจากที่ห่างหายไปนาน 2 อาทิตย์ และก็มีอันระเห็ดไปยืนปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ในร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาร้านหนึ่ง ที่ขายของเกี่ยวกับระบบกรอง"อย่างว่า"ภายในร้าน …
คนขายกำลังพ่นวาจาเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าผู้หญิงสาวที่ดูเหมือนพึ่งจะเริ่มเลี้ยงปลา และยังไม่มีความชำนาญ จึงตกลงปลงใจกับการทุ่มงบประมาณซื้อระบบกรองชีวภาพแบบยกชุด ในราคาที่ฟังแล้วไร้เหตุอันสมควร โดยผู้ขายอธิบายยกเอาข้อดีต่างๆนาๆมาสาธยายเพลงดาบแม่น้ำร้อยสายกันสี่ร้อยกว่ากระบวนท่า
ซึ่งเท่าที่ฟังดูก็มีจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น.. ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า คนขายได้บอกแต่ข้อดีและประโยชน์ของระบบกรองแบบที่ว่าไว้พร้อมมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะเวลานาน คุณภาพน้ำที่ใสสะอาด ไม่ต้องมานั่งล้างตู้ ให้เมื่อยตุ้ม แต่กลับไม่ได้บอกวิธีการดูแล การใช้ การรักษา หรือการปฏิบัติอื่นใดในการที่จะนำมาซึ่งผลดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ซื้อ และแน่นอนว่า หญิงสาวคนนั้นได้เดินจากร้านนั้นไปด้วยหัวใจเบ่งบานในความหวัง แต่แน่นอนว่าเธอจะต้องล้มเหลวในการเลี้ยงปลาครั้งแรกนี้

"พี่ เอายาแก้โรคป้องกันโรคไปด้วยดีกว่า ตัวนี้มาใหม่ ใส่ผสมน้ำในตู้ตาที่เขียนบอกข้างขวด อาทิตย์ละครั้ง เพื่อความชัวร์"

ผู้ขายเสนอยารักษาโรคปลายี่ห้อหนึ่ง ลูกค้าสาวตอบตกลงทันที 2 ขวด ….. จบสิครับ….


จบ… เพราะอะไร.. หลายคนคงสงสัย..ก็เพราะว่า ในขณะที่ผู้ขายได้เสนอขายสินค้าอันได้แก่ระบบกรองแบบ Biological ซึ่งในที่นี้ก็คือ การสร้างระบบกรองขึ้นมาภายใต้การทำงานของแบคทีเรียที่มีชีวิต โดยมีหลักการที่ว่า แบคทีเรียที่ใช้นั้น จะเป็นแบคทีเรียฝ่ายดี ที่จะคอยจัดการกับสิ่งสกปรก( รายละเอียดหลักการทำงานจะอธิบายอีกที ) ให้หมดสิ้นไปจากน้ำ โดยการย่อยสลายของเสีย ซึ่งฟังดูดี และมันก็น่าจะดีตามนั้นถ้าผู้ขายไม่เสนอสินค้าผลิตภัณฑ์ในร้านที่เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ระบบดังกล่าวล่มสลายโดยสิ้นเชิง อันเป็นสินค้าที่ขัดแย้งกันอย่างไร้เหตุผล ผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นก็คือ "ยารักษาโรคปลา และน้ำยาปรับสภาพที่ผสมสารฆ่าเชื้อ" นั่นเอง แน่นอนล่ะ ยาก็คือเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียฝ่ายร้ายที่ก่อให้เกิดโรคปลาต่างๆ โดยอาจจะไปตัดช่องทางทำกินของมัน หรือหยุดการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ของมัน โดยที่เจ้าแบคทีเรียฝ่ายดีที่โดยปกติมันก็จะเกิดขึ้นเองในตู้ปลาระบบปิด แต่มีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าแบคทีเรียฝ่ายร้ายอยู่มาก ก็จะต้องตายตกตามกันไปแล้ว…… Biological จะเหลืออะไร ระบบกรองและอุปกรณ์วัสดุ ที่อุตส่าห์ซื้อมาก็กลายร่างเป็น Machanical Filter ไปโดยปริยาย ที่นี้ หลังจากที่เราผสมยาหรือเคมีภัณฑ์ใดๆลงไปผสมกับน้ำในระบบจนแบคทีเรียเลว-ดีตายเกลี้ยงหายสิ้นไปจากระบบ ปลาที่เลี้ยงก็ยังคงมีการกิน ถ่าย อยู่ตลอดเวลา
ปริมาณของเสียสะสมก็จะมีปริมาณมากขึ้น โดยเจ้าแบคทีเรียฝ่ายร้ายที่จะมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าแบคทีเรียฝ่ายดีหลายเท่าตัว ก็จะทวีจำนวนดาหน้าเข้ายึดฐานที่มั่นบนตัวปลาอย่างผู้มีชัย โดยอาศัยอาหารชั้นเลิศซึ่งก็คือปริมาณของเสียจากขี้ปลาหรืออื่นๆที่มีปริมาณสะสมในระบบมากขึ้นๆ หล่อเลี้ยงขายเผ่าพันธุ์ โดยที่อีกสักชาตินึงแบคทีเรียซุปเปอร์แมนฝ่ายดีเรากว่าจะผุดจะเกิดมาสลายของเสีย ก็เป็นอันว่า ปลาแสนรักของเราแปรสภาพไปซะแล้ว ครั้นจะมาเยียวยาก็เป็นเรื่องเอิกเกริกไป โชคดีหน่อยก็รอด โชคไม่ดีก็ตาย แล้วบางทีพาลจะไปติดต่อตัวอื่นๆอีกให้วุ่นวาย

และนี่คือปัจจัยคร่าวๆ ที่ส่งผลให้การใช้กรองแบบ Biological มักจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร จนผู้เลี้ยงปลาสวยงามหลายต่อหลายคนกลับไปคบหากับกรองใต้ทราย
กรองข้างตู้ ที่เป็น Machanical Filter กันหลายราย


โดย ส่วนตัวแล้วผมขอย้ำด้วยความหนักแน่นว่า…..หากระบบการบำบัดน้ำแบบ Biological ของเรา ไม่มีจุดบกพร่อง ปลาและสัตว์น้ำในตู้จะปลอดภัยจากโรคภัยแทบจะ 100 % ก็ว่าได้
เพราะถ้าน้ำดี ระบบดี การย่อยสลายของเสียเป็นไปตาม Process ของมัน อาหารที่จะหลงเหลือไปเผื่อแผ่เจ้าแบคทีเรียชั่วร้ายมันก็จะไม่มี เมื่อไม่มีมันก็ไม่หน้าด้านอยู่ ก็จะลดจำนวนลงและสูญสิ้นไปจากระบบในที่สุด เท่านี้ คุณก็จะสามารถเอาเวลาที่จะต้องมานั่งประคบประหงม วุ่นวายกับตู้ปลาไปทำมาหาประโยชน์อื่นได้ หรือแม้กระทั่งเรียกคนในบ้านมานั่งดูปลาที่มีสุขภาพดี แข็งแรง ด้วยความสำราญใจ เท่านี้ก็คุ้มสุดคุ้มแล้วกับที่ลงทุนไป แต่ ไม่มีอะไรในโลกนี้ สมบูรณ์แบบไปหมด เจ้าระบบที่ว่านี้ มันก็มีข้อจำกัดเช่นกัน ……………….










« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12/12/07, [16:51:55] โดย หมีบัง »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #1 เมื่อ: 05/09/06, [18:04:25] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 2

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม'

.วันนี้จะขออนุญาตพูดคุยในเรื่องของ การวางพื้นฐานระบบ Biological ที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อการลดภาระการบำรุงดูแลรักษา , การดูแลรักษา , ข้อดี , ข้อเสีย ,ข้อจำกัดในการใช้งาน ของระบบกรองแบบ Biological ตั้งแต่แรกเริ่มSet ตู้ปลากันเลย ทั้งนี้เพื่อผลที่ดีในระยะยาว อย่างที่ว่ากันว่า "เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง"แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาดังกล่าว ขอปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารพิษในน้ำให้สลายไปโดยแบคทีเรีย แด่ผู้ที่ยังไม่ทราบ หรือยังไม่เข้าใจสักเล็กน้อย เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ขึ้นในเนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไปเกี่ยวกับระบบการกรองแบบชีวภาพ ครับพ้มมมมม…

กระบวนการเปลี่ยนแปลงสารพิษในน้ำให้สลายไปโดยแบคทีเรีย ในการเลี้ยงปลาตู้นั้น เราควรจะคำนึงถึงการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารพิษในน้ำให้สลายไปโดยแบคทีเรีย ภายในตู้ปลาเป็นสำคัญ (เพื่อความเป็นสิริมงคลของครอบครัว)….. เพราะจะทำให้ปลาของคุณๆมีสุขภาพที่ดีและคุณภาพน้ำที่อยู่ภายในตู้เลี้ยงปลาของคุณ ก็จะมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปลาหรือสัตว์น้ำอีกด้วย

 (อย่าพึ่งเบือนหน้าหนีนะครับ กับเรื่องราวเนื้อหาที่อาจจะต้องมีศัพท์แสงภาษาปะกิตหรือสัญลักษณ์เคมีมานัวเนีย เพราะนี่ถือเป็นหัวใจของทฤษฎีการเปลี่ยนแปรของเสียในน้ำเลยล่ะครับ ไม่ยากหรอกครับ ค่อยๆคิดตามไป ส่วนผู้ที่ทราบแล้วก็อาจจะข้ามไปเลยก็ได้ครับพ้มมมม…)

เรามาเริ่มเลยดีกว่า….

แอมโมเนีย , ไนไตรท์,ไนเตรท สามสหายที่ควรรู้

แอมโมเนีย (NH3) , ไนไตรท์ (NO2-) และ ไนเตรท (NO3-) สารสามสหายนี้อยู่ในกลุ่มของสารประกอบไนโตรเจนคอมปาวนด์ อันมีที่มาจากการย่อยสลายสารประกอบโปรตีน สารออกานิค เดบริส รวมไปถึงบรรดาของเน่าเสียทั้งหลายแหล่ที่เกิดจาก Metabolism Process หรือที่เรียกกันว่า กระบวนการเผาผลาญภายในของสิ่งมีชีวิต ในน้ำลำธารธรรมชาติทั่วไปจะมีปริมาณสารสามสหายนี้อยู่ในเกณฑ์ 0 mg./L. ซึ่งเป็นค่าระดับที่ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น ๆ สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้สบาย ๆเจ้าแอมโมเนียที่เกิดจากของเสียของเน่านี่
มันร้ายโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว กล่าวคือ แอมโมเนียจะเป็นพิษภัยต่อสัตว์น้ำทุกประเภท โดยเฉพาะในระบบตู้ปลาของเรา แต่โดยตามปกติสารแอมโมเนียนี้จะถูก Oxidize หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เป็นกระบวนการกินแอมโมเนียโดยแบคทีเรียฝ่ายดีชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำพร้อมๆกับอาศัยออกซิเจนในน้ำเป็นตัวช่วยการเผาผลาญ ผลพวงของกระบวนการ Oxidize นี้ก็คือของเสียจากการขับถ่ายของเจ้าแบคทีเรียที่ว่า นั่นก็คือไนไตรท์อิออน ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยกว่าเจ้าแอมโมเนียหลายเท่า แต่กระนั้นมันก็ยังไม่เป็นผลดีต่อสัตว์น้ำเช่นกัน
ซึ่งเจ้าไนไตรท์ที่ว่านี้ ก็จะถูก Oxidize (หรือถูกกิน) โดยแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งเช่น และผลพวงจากกระบวนการนี้ก็คือไนเตรทอิออน แต่กระบวนการนี้ค่อนข้างจะใช้เวลาการ Oxidize
นานกว่ากระบวนการสลายแอมโมเนียมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่อาศัยของแบคทีเรียชนิดนี้ว่ามีพื้นที่มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงปริมาณออกซิเจนในน้ำด้วย คือถ้ามีมากแบคทีเรียก็จะมีจำนวนมากตามไปโดยธรรมชาติซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปรแอมโมเนียเป็นไนไตรท์ ไนไตรท์เป็นไนเตรท โดยอาศัยออกซิเจนเป็นตัวช่วย เค้าเรียกรวมกันว่า กระบวนการ Nitrification โดยอาศัยแบคทีเรียสองชนิดที่เรียกรวมกันว่า Aerobic Bacteria ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนสูง ผลผลิตจากกระบวนการ Nitrification ก็จะได้ออกมาเป็นไนเตรท
ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยโดยตรงกับสัตว์น้ำเสียทีเดียว หากแต่ว่าตัวมันเองนั้น ถ้าเกิดการสะสมมากๆเข้า จะทำให้เกิดกรดไนตริกขึ้นมา ซึ่งจะทำให้คุณสมบัติและสภาพค่าทางเคมีของน้ำในระบบไม่เสถียรรวมไปถึงค่า Ph ที่ขึ้นๆลงจนปลาไม่เป็นสุข ทีนี้โดยธรรมชาติแล้วก็มีทางออกให้ในปัญหานี้ นั่นคือเจ้าไนเตรทนี่ก็จะมีตัวย่อยสลายแปรรูปไปเช่นกัน
โดยกระบวนการที่ว่านี้คือ การที่ไนเตรทบางส่วนจะถูกใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำอันรวมไปถึงตะไคร่เขียวด้วย ส่วนไนเตรทอีกส่วนจะถูกเปลี่ยนแปรโดยแบคทีเรียเป็นไนตรัสออกไซด์(N2O) และไนโตรเจน( N2) แยกออกจากระบบไป โดยเจ้าแบคทีเรียที่รับหน้าที่เข้ามาจัดการในส่วนนี้จะเป็นAnaerobic Bacteria ที่ไม่ใยดีกับออกซิเจนเท่าไรนัก
และกระบวนการเปลี่ยนแปรไนเตรทเป็นไนตรัสออกไซด์(N2O) และไนโตรเจน( N2) นั้นเรียกว่า Denitrification ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ต้องการออกซิเจน ซึ่งพื้นที่ที่จะเกิดกระบวนการนี้ขึ้นได้นั้น จะต้องมีสภาพที่มีพื้นผิวให้แอนแอโรบิคแบคทีเรียเกาะอาศัยมากพอ และมีปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อยมาก หรือไม่มีเลย กระบวนการ Denitrification ก็จะทำงานกำจัดไนเตรทออกจากน้ำให้หมดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ…..ผมพยายามจะให้มันเข้าใจง่ายกว่านี้ ก็เลยสรุปออกมาอีกทีเพื่อให้เข้าใจกระบวนการต่างๆที่กล่าวมามากยิ่งขึ้น ดังนี้

1. ของเสียจากสิ่งมีชีวิต ถูกย่อยสลายกลายสภาพไปเป็น แอมโมเนีย
2. แอมโมเนียถูกใช้โดยแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจนกลายเป็นไนไตรท์ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ ผลผลิตที่ได้จะเป็นคาร์โบรไฮเดรตที่พืชน้ำสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
3. ไนไตรท์ที่เกิดจากกระบวนการในข้อ 2. จะถูกใช้โดยแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งที่ต้องการออกซิเจนเช่นกัน โดยกระบวนการในข้อ 2 และ 3 จะต้องใช้ปริมาณออกซิเจนในน้ำเป็นตัวช่วย ผลผลิตที่ได้จะเป็นไนเตรท ซึ่งพืชน้ำก็สามารถดึงไนเตรทไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
4. ไนเตรทที่เหลือจากการใช้ของพืชน้ำ จะถูกใช้โดยแบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจน แปรเปลี่ยนเป็น ไนตรัสออกไซด์ และไนโตรเจน ออกนอกระบบไป นี่คือกระบวนการคร่าวๆ ของการย่อยสลาย แปรรูปของเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ซึ่งการที่เราจะจำลองสภาพกระบวนการให้เข้ามาอยู่ในระบบตู้ปลาของเรา มันก็ต้องอาศัยวัสดุ อุปกรณ์ และการวางพื้นฐานระบบให้เหมาะสมตั้งแต่ต้น ซึ่งสามารถจะเอื้อให้เกิดระบบนิเวศภายในตู้ปลาได้ง่าย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป แต่ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับระบบนิเวศกันก่อนดีกว่า เพื่อที่จะได้ทราบว่า เราต้องมีอะไรในตู้ปลาบ้าง

วัฏจักรระบบนิเวศในตู้ปลา

การสร้างระบบนิเวศขึ้นมานั้นสามารถทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเท่าใดนัก เพียงแต่ต้องเข้าใจกระบวนการของมันก่อน กล่าวคือ ดังที่พล่ามมาแล้วข้างต้นว่า ในตู้ปลาของเราๆนี่
ตามปกติจะมีแอมโมเนียอันเกิดจากของเสียที่ปลาถ่ายออกมา และเกิดจากเศษอาหารที่ปลากินเหลือแล้วตกค้างอยู่ภายในตู้ สารเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนรูปมาเป็นไนไตรท์ และจากไนไตรท์ก็จะเปลี่ยนรูปมาเป็นไนเตรท กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในชั้นกรวดทรายที่รองพื้นตู้บ้าง อาศัยอยู่ในระบบกรองบ้าง ตามหินประดับในตู้บ้าง หรือแม้กระทั่งตามซอกหลืบที่มีพื้นผิวให้มันอาศัย ปริมาณแบคทีเรียที่ว่านี้นั้นจะเพิ่มขึ้นและลดลงตามปริมาณของเสีย ในกรณีที่มีการสะสมของของเสียไม่เพิ่มเร็วมากจนเกินไปแบคทีเรียจะสามารถเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนไตรท์และไนเตรทได้ทันท่วงทีก่อนที่น้ำจะเสีย ซึ่งไนเตรทนั้น พืชน้ำ ตะไคร่ สาหร่ายต่างๆ จะสามารถที่จะนำไปเป็นอาหารได้ต่อไป โดย พืชน้ำ ตะไคร่ และสาหร่ายเหล่านี้ ก็จะผลิตอ๊อกซิเจน มาเป็นประโยชน์แก่ปลาด้วย ( ในขบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ) และนอกจากนี้พืชน้ำเองยังเป็นอาหารของปลาบางชนิดอีกด้วย ทีนี้เมื่อปลากินอาหารเข้าไปก็จะถ่ายออกมาเป็นของเสีย และเปลี่ยนสภาพกลายเป็นแอมโมเนียขึ้นใหม่ ซึ่งก็จะครบวงจรวัฏจักรระบบนิเวศด้วยประการฉะนี้ ซึ่งยิ่งจำนวนแบคทีเรียฝ่ายดีที่แนะนำตัวกันไปแล้วนั้น มีอยู่ในระบบน้ำของเรามากเท่าไหร่กระบวนการสลายของเสียก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่มีของเสียตกค้างสะสม แบคทีเรียฝ่ายร้ายที่ต้องพึ่งพาของเน่าเสียเป็นอาหารมันก็อยู่ไม่ได้ และก็จะลดจำนวนลงในที่สุด
สัตว์น้ำของเราเองก็ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เพราะไม่มีแบคทีเรียตัวร้ายมาคอยกวนใจ สุขภาพเค้าก็จะแข็งแรง เบิกบานสดใส การบำรุงดูแลรักษาระบบน้ำคุณภาพน้ำของเราก็ลดภาระลงไปได้มากเลยทีเดียวครับทีนี้เมื่อเรารู้แล้วล่ะว่าเจ้าแบคทีเรียพระเอกของเรานั้นมันมีประโยชน์ เอาล่ะ.. มาดูกันว่าเราจะชักชวนมาอาศัยในตู้ปลาเราได้อย่างไร
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #2 เมื่อ: 05/09/06, [18:04:48] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 3

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม'

   เมื่อ 2 ภาคที่แล้วผมได้เกริ่นนำในเรื่องของระบบกรองแบบระบบ Biological ในส่วนของพื้นฐานความเข้าใจไปบ้างพอสมควร โดยได้พยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด และก็ยังมีส่วนที่ขอติดค้างไว้ต่อภาคนี้ ในหัวข้อการวางระบบกรองที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล , การดูแลรักษา , ข้อดี , ข้อเสีย ,ข้อจำกัดในการใช้งาน ของระบบกรองแบบ Biological ก็มาละเลงกันต่อเลยดีกว่า ครับพ้มมมม….

   จากตอนที่แล้วที่ผมบอกว่าเราต้องมีวิธีชักชวนเจ้าแบคทีเรียฝ่ายธรรมะ ให้มาอาศัยในตู้ปลาของเรา เพื่อให้หนูแบคฯทั้งหลาย มาช่วยในการสลายของเสียในตู้ปลา เพื่อคุณภาพน้ำที่ดี ทีนี้เราต้องมาพิจารณาแล้วล่ะครับว่าจะทำอย่างไรการวางระบบกรองที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล / พื้นที่อำนวย ก็ร่ำรวย กู๊ด แบคทีเรียลองคิดเปรียบเทียบดูสิครับว่า ถ้าเราไปอยู่ในที่ๆไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต เราก็อยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับแบคทีเรีย ถ้าสภาพแวดล้อมในระบบของเราไม่มีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการแพร่ขยายพันธุ์ ดำรงชีวิตของแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียที่มีหรือไม่มีประโยชน์ ก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกันคำว่า "เหมาะสมต่อการดำรงอยู่" นั้น กล่าวคือ แบคทีเรียฝ่ายชั่วร้ายที่เป็นบ่อเกิดแห่งสารพัดโรค จะไม่สามารถอยู่ได้ในน้ำที่มีคุณภาพดี มีความสะอาด ปริมาณของเสียต่ำ ปริมาณแอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรท ต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย แต่ก็เป็นจำนวนน้อย ซึ่งการที่จะให้น้ำในระบบปิดซึ่งหมุนเวียนอยู่ในตู้ปลาของเรามีคุณสมบัติดีดังกล่าว เราก็ต้องอาศัยพ่อพระเอกแบคทีเรียฝ่ายดีที่เคยกล่าวไปในภาคที่แล้วมาจัดการ โดยที่เราต้องมีบ้านให้แบคทีเรียพระเอกของเรามีที่อยู่อาศัยมากพอสมควรบ้านที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมนั้น ก็ควรเป็นวัสดุที่มีพื้นผิวเป็นรูพรุน ซึ่งจะมีเนื้อที่ให้แบคทีเรียเกาะได้มากมาย อาทิ กรวดปะการัง หรือ มีเดีย ซับเสตรท อื่นๆเช่น หิน ไม้ หรือวัสดุรูพรุนอื่น เป็นต้น โดยเจ้ามีเดีย ซับเสตรทจะไปอยู่ทั้งในระบบกรอง และนอกระบบกรองก็ได้ ยิ่งมีพื้นที่ยึดเกาะมากเท่าใด ประสิทธิภาพในการ Refreshment ยิ่งดียิ่งไวครับพ้มมม….

   ทีนี้ก็ถึงเวลามาพูดคุยถึงสิ่งจำเป็นในการวางพื้นฐานระบบกันแล้วล่ะครับ เริ่มตั้งแต่ปัจจัยหลักๆเลยนั่นก็ได้แก่เครื่องกรองน้ำ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีในการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิด เพื่อใช้จัดการกับของเสียต่างๆที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ ระบบกรองที่ดีต้องสามารถที่จะทำให้น้ำที่หมุนเวียนผ่านในระบบมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับธรรมชาติมากมี่สุด
(แน่นอนว่าจะให้เทียบเท่าธรรมชาติมันเป็นไปไม่ได้) เครื่องกรองน้ำในปัจจุบัน มีมากมายหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แผ่นพลาสติกใต้ทรายก้นตู้อีกต่อไป มีทั้งแบบติดมุมตู้ ข้างตู้ บนตู้ นอกตู้ ล่างตู้ ฯลฯ สารพัดสารเพ แต่แบ่งจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 3 ประเภทด้วยกันคือ เครื่องกรองแบบ Machanical , Chemical , และ Biological ซึ่งที่มักเรียกกันว่ากรองแบบ ชีวภาพ , กรองWet/Dry ,กรอง Bioball หรือตามแต่จะเรียก (เด็กแถวบ้านผมเค้าเรียกว่ากรอง พระยาเงี๊ยบ ซึ่งก็งงในที่มาของชื่อนี้พอสมควร ) ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะกรองบำบัดน้ำแบบ Biological เพราะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่เราจะพูดถึงมากที่สุด โดยอาจแบ่งเป็นประเภทย่อยๆได้อีก แต่ขอไม่กล่าวถึง เพราะมักใช้ในวงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะกล่าวเฉพาะที่เห็นใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราๆท่านๆคุ้นหน้าตากันดี นั่นก็คือ กรองแบบ Wet / Dry ที่จะเห็นเป็นกล่องกระจกเหลี่ยมๆ ใส่ลูกบอลพลาสติกสีฟ้าๆเขียวๆ วางขายทั่วไป หรือไม่บางทีก็ติดตั้งมากับตู้ปลาขนาดใหญ่มาแล้วเรียบร้อย นอกเหนือจากลักษณะรูปร่างนี้ ยังมีอีกหลายรูปร่าง แต่หลักการคล้ายๆกัน เช่น เป็นแบบ Tower , เป็นแบบ Tank , แบบ อ่างไฟเบอร์ , แบบถังพลาสติก 100 ลิตร หรือแบบหรูหน่อยก็จะเป็นแบบกระบอกหรือกล่องพลาสติกเกรดดี เป็นกรองภายนอกตู้ มีมอเตอร์ดูดน้ำเข้าออก ซึ่งก็ใช้ระบบ Wet / Dry คล้ายๆกัน รู้สึกว่าจะเป็นของอิตาลี กับ เยอรมัน เป็นรุ่นที่ระบุเลยว่าเป็น Wet / Dry biologocal ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันในตู้ปลาบ้านเรา ก็คงจะเป็นแบบกล่องกระจกที่วางตามมุม หรือด้านหลัง ด้านข้าง ด้วยเหตุที่ว่าราคาถูก ดูแลรักษาง่าย วัตถุดิบหาได้ง่ายภายในประเทศทีนี้เรามาดูที่หลักการของมันกันดีกว่าครับ

   หลักการของเจ้ากรองที่ว่านี้ก็คือ ในทางน้ำเข้า ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นช่องร่องเล็กๆถี่ๆเพื่อกันอาหารปลาหล่นลงไปในช่องกรอง น้ำที่บริเวณผิวน้ำจะไหลลงช่องกรองตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ในกรณีตู้ปลาน้ำจืด ของเสียมักจะละลายอยู่ในน้ำมากกว่าที่จะลอยอยู่บนผิวน้ำอย่างในตู้ปลาน้ำทะเล แต่ก็ยังถือว่าอนุโลมยอมรับได้ ด้วยเหตุผลของความง่ายในการออกแบบตู้กรอง ซึ่งถ้าจะให้ดีควรจะมีปั๊มน้ำดูดเอาน้ำช่วงใกล้ๆพื้นตู้ ต่อท่อไปลงช่องกรองด้านบนด้วยอีกทอดหนึ่งก็จะดีไม่น้อย (แต่ก็เปลืองตังค์ซื้อปั๊ม เปลืองค่าไฟอีกนิด เกะกะรกตู้อีกหน่อย) น้ำที่ไหลลงไปในหม้อกรองจะค่อยๆแตกสาย ไหลผ่านวัสดุกรองซึ่งก็อาจจะเป็นวัสดุจำพวกใยแก้ว ถ่านคาร์บอน ไบโอบอลล์ เซรามิกส์ริงส์ หรือจะเป็นกรวดปะการังล้วนๆเลยก็มี การไหลผ่านล้นลงไปในลักษณะนี้ จะทำให้น้ำสามารถละลายออกซิเจนไปได้พอสมควรเนื่องจากสภาวะการค่อยๆล้นเข้าไปในช่องกรองของน้ำ ผ่านภายในช่องกรองซึ่งมีวัสดุกรองและช่องว่างระหว่างชิ้นวัสดุ และน้ำจะไหลมารวมกันที่ก้นหม้อกรองโดยคงระดับน้ำที่ท่วมตัวปั๊มและ Media Substarte ซึ่งจะส่งผลให้ภายในหม้อกรองจะมีวัสดุกรองแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่จมน้ำ (Wet Room) กับส่วนที่ไม่จมน้ำ (Dry Room) อันเป็นที่มาของชื่อ Wet / Dry วัสดุกรองส่วนที่ไม่จมน้ำ จะทำหน้าที่ในการ กักตะกอนแขวนลอย แลกเปลี่ยน Gas ละลายออกซิเจน และระบายความร้อนจากโมเลกุลน้ำในระบบบางส่วน ส่วนวัสดุกรองที่จมน้ำ ตามหลักการแล้วเราจะให้เป็นที่อยู่อาศัยของแอโรบิคแบคทีเรีย ซึ่งจะทำลายของเสียที่ปะปนมากับน้ำที่อุดมไปด้วยออกซิเจนจากผลของการที่น้ำไหลผ่านอากาศมาจากส่วนบนของหม้อกรอง กระบวนการย่อยสลายแปรรูป ณ ก้นหม้อกรองที่น้ำท่วมตลอดนี้ ก็คือ Nitrification Process ที่เคยกล่าวมาแล้วในภาคก่อนนั่นเองด้วยหลักการดังกล่าว เราจึงควรที่จะรักษาระดับน้ำที่จะล้นเข้าหม้อกรองให้เหมาะสมพอดิบพอดี เพราะหากระดับน้ำในตู้สูงมากเกินไป น้ำก็จะท่วมเอ่อล้นวัสดุกรองส่วนที่ไม่ควรจมน้ำ ในห้อง Dry Room หรือถ้าระดับน้ำต่ำเกินไปน้ำก็จะไหลลงมาไม่ท่วมปั๊มใน Wet Room ซึ่งอาจจะทำให้ปั๊มไหม้ได้ และนี่คือข้อจำกัดประการหนึ่งของเครื่องกรองแบบนี้

   นอกจากนี้ กำลังของปั๊มน้ำที่ติดตั้งใน Wet Room ก็ต้องสัมพันธ์กับพื้นที่หน้าตัดของหม้อกรองด้วย หากหน้าตัดหม้อกรองกว้างน้ำไหลลงเร็ว ปั๊มจะดูดน้ำออกจาก Wet Room ไม่ทัน น้ำก็จะท่วมไปถึง Dry Room เช่นเดียวกัน หากกำลังปั๊มน้ำมีมากโดยดูดน้ำออกจาก Wet Room เร็วเกิน น้ำก็จะไหลลงมาไม่ทัน ทำให้แกนแม่เหล็กในตัวปั๊มไม่มีน้ำหล่อลื่น ตัวปั๊มอาจจะเกิดความเสียหายได้ แต่โดยทั่วไป อาจจะกล่าวได้ว่าระบบกรองแบบนี้จะเกิด Nitrification Process ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง จากหลักการที่ว่าน้ำที่ไหลผ่านวัสดุกรองใน Dry Room จะสามารถละลาย Oxygen มาผสมในมวลน้ำได้มาก เมื่อน้ำที่อุดมไปด้วย Oxygen ไหลลงมาถึง Wet Room ท่วมวัสดุกรอง ก็เป็นการเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานของแอโรบิคแบคทีเรียได้เต็มประสิทธิภาพ จึงพอที่จะอนุมาน(หรือที่เรียกว่าเดาน่ะแหล่ะครับ)เอาได้ว่า น้ำที่ถูกปั๊มดูดออกจาก Wet Room คืนสู่ระบบ จะมีปริมาณ แอมโมเนีย และไนไตรท์เจือปนอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก แต่เนื่องจากด้วยความที่ระบบกรองทั้งหมดไม่มีส่วนไหนเลยที่ไม่อยู่ในสภาวะอับ Oxygen เพื่อที่จะให้แอนแอโรบิค แบคทีเรียทำหน้าที่ย่อยสลายแปรรูปไนไตรท์ให้กลายเป็นไนโตรเจนและไนตรัสออกไซด์ที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบ อันเป็นกระบวนการที่ผมได้เคยอธิบายหลักการ Denitrification Process ไปในภาคที่แล้ว ซึ่งกระบวนการนี้แหละที่ไม่ต้องการให้ Oxygen มาเอี่ยวด้วย แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่นักเลี้ยงปลาน้ำจืดต้องกังวลให้มากมายนัก เพราะปลาน้ำจืดที่เราๆเลี้ยงกันอยู่สามารถที่จะทนต่อสภาพน้ำที่มีปริมาณไนเตรทสูงได้ แต่ถ้าเป็นในระบบน้ำทะเลก็คงต้องซีเรียสกับกระบวนการ Denitrification Process มากหน่อย เพราะไนเตรทที่เจือปนในน้ำทะเลจะมีผลต่อปลาทะเลมากพอสมควรครับ จึงต้องพยายามหาทางทำให้เกิด Denitrification Process ให้ได้ ซึ่งก็มีหลายวิธีด้วยกัน อาทิ การใช้หินที่มีรูพรุนมากๆ ก้อนใหญ่ๆ เป็นซากทับถมหรือซากปะการังที่ตายแล้ว แต่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆมากมายอาศัยอยู่ตามผิวหน้า ที่เขาเรียกว่า "หินเป็น" ใส่ลงไปในตู้ ทั้งนี้เพราะหินเป็นนั้น จะมีรูพรุนมหาศาล ซึ่งผิวนอกของมันจะเป็นที่อยู่อาศัยของ Aerobic Bacteria ที่ใช้ Oxygen ส่วนในเนื้อแกนกลางลึกลงมาจากผิวหน้า จะเป็นที่อยู่อาศัยของ Anaerobic Bacteria ที่ไม่ต้องการ Oxygen ดังนั้น Denitrification Process ก็จะเกิดขึ้นตรงนี้ได้เหมือนกัน

   หรืออีกวิธีหนึ่งในการบันดาล Denitrification Process ให้เกิดขึ้นภายในตู้ปลาก็คือ การพยายามให้พื้นตู้ของเราเกิดสภาวะอับออกซิเจน โดยวิธีโรยกรวดพื้นตู้ให้มีความหนามากๆ (ประมาณ 4 - 5 นิ้ว) ซึ่งกรวดที่ใช้ก็ต้องมีความละเอียดพอสมควร (แนะนำให้เป็นกรวดปะการังจะดีมาก) เพื่อที่จะได้ป้องกันไม่ให้ออกซิเจนลงไปทำลาย Denitrification Process ที่พื้นล่างได้ เท่านี้ก็ยังพอจะลดปริมาณไนเตรทในตู้ปลาลงได้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะครับพ้มมม…
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05/09/06, [18:07:30] โดย บัง »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #3 เมื่อ: 05/09/06, [18:08:01] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 4

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม'

   ที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงวัสดุกรองไปหลายต่อหลายครั้ง คุณๆ คงจะพอเข้าใจถึง Function ของมันได้บ้าง และคุณสมบัติของเจ้าพวกวัสดุกรองในส่วนที่จมน้ำนี้ ควรจะมีคุณลักษณะที่มีพื้นผิว มีรูพรุนมากเป็นพิเศษ อันได้แก่กรวดปะการัง เซรามิกส์ริงส์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อผลในการสร้างเนื้อที่การเกาะอาศัยของแอโรบิค แบคทีเรียเป็นพิเศษ ส่วนวัสดุกรองในส่วนที่ไม่จมน้ำ ก็ควรเป็นวัสดุที่มีคุณลักษณะ โปร่ง เบา มีร่องมีหลืบ ที่จะทำให้น้ำที่ไหลลงมาแตกตัวเป็นสายเล็กๆ เพื่อให้เกิดการะบวนการซึมซับออกซิเจนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นการแยกตะกอนออกจากน้ำด้วย ซึ่งตะกอนที่ตกค้างในกรองจะถูกย่อยสลายไปเองโดยแบคทีเรียหลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเจ้าแบคทีเรียที่ว่าดีนักหนานี่ มันมาจากไหน ก็ขอบอกได้เลยครับว่า ถ้าคุณไม่รีบร้อน มันก็สามารถที่จะโผล่หน้ามาอยู่ในระบบของคุณได้สลอนเชียวครับ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาในการที่จะให้มันขยายเผ่าพันธ์บ้าง แต่ถ้าคุณใจร้อนอยากเซ็ตให้ระบบตั้งตัวได้เร็วแล้วล่ะก็ สามารถที่จะหาซื้อมาใส่ได้ไม่ผิดประเพณีวัฒนธรรมแต่อย่างใดครับ ราคาไม่แพงเท่าไหร่ครับ เท่าที่ทราบตอนนี้รู้สึกจะมีสั่งเข้ามาขายอยู่สองยี่ห้อแล้ว เจ้านึงมาจากเยอรมันราคาต่อ C.C. จะแพงกว่าอีกเจ้าที่มาจากไต้หวัน อันนี้เฉพาะที่ตีตราคนไทยสั่งเข้ามาทำ Package บรรจุขายเองนะครับ ยังไม่รวมที่สั่งมาจาก Usa. ตีตรานอกจ๋า แต่แพงระยิบ ก็เลือกซื้อหากันตามแต่จิตศรัทธา แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเลยก็คือว่า เมื่อคุณ Load แบคทีเรียลงไปในระบบแล้ว หรือ ระบบคุณเสถียรแล้ว อย่าได้ใส่ยาสารพัดชนิดลงไปเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงว่าคุณได้ล่มระบบชีวภาพลงไปอย่างน่าเสียดาย !!! ซึ่งในช่วงที่ระบบยังไม่สมบูรณ์พร้อม แล้วมีการใส่ปลาลงไปในตู้ และเกิดมีการติดเชื้อขึ้นมา ขอให้ตักปลาที่ป่วยแยกออกมารักษาต่างหากข้างนอก ทีนี้จะใส่หยูกใส่ยาอะไรก็ว่ากันไป รอจนหายแล้วค่อยใส่ลงไปใหม่ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้กระบวนการขยายพันธุ์ของแบคทีเรียฝ่ายดีได้ผุดได้เกิดต่อไป เพื่อรับใช้ตู้ปลาของเราไงครับ ทีนี้พอเราทราบถึงบทบาทหน้าที่และระบบการทำงานของระบบกรองแบบนี้แล้ว เราก็มาดูกันต่อในส่วนของการวางพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงปลาแบบสบายๆ ให้แก่ตู้ปลาของเรา ซึ่งผมจะเน้นในเรื่องของการงดใช้สารเคมีทั้งปวงในการเลี้ยงปลาและการดูแลรักษาตู้ปลาของเรา



"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 5

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม'


เอาล่ะ มาถึงตอนที่เราจะมาดูกันว่า ในตู้ปลาระบบ Biological ของเราควรจะมีอะไรใส่ลงไปบ้าง แล้วมีเจ้าสิ่งนั้นแล้วมันช่วยอะไร มันดียังไง ไม่ดียังไง ข้อจำกัดในการใช้งานมีมากน้อยแค่ไหน ทีนี้เราก็มาดูกันว่าวัสดุและอุปกรณ์ที่เราควรจะ "มี" ในระบบนั้น ได้แก่อะไรบ้าง

1. หม้อกรองระบบ Biological มี 2 แบบ

1.1 แบบติดตั้งในตู้ปลา ก็มีแบบที่ประกอบมาพร้อมกับตู้ปลามาเลย กับแบบประกอบสำเร็จรูปให้ซื้อหาไปวางตั้งกันเอง


      ข้อจำกัด

         ก. อาจจะเกะกะลูกหูลูกตาหน่อย ยิ่งถ้าใช้กระจกใสเป็นห้อง Wet / Dry จะสกปรกดูไม่ได้เลย

         ข. กินเนื้อที่ภายในตู้ไปพอสมควร ระบบนี้จึงมักจะโผล่อยู่ในตู้ปลาขนาด 36 นิ้วขึ้นไปถึงจะงาม

         ค. ด้วยหลักการที่ให้น้ำไหลล้นเข้าห้องกรอง ตะกอนหนักที่อยู่ก้นตู้จึงไม่ค่อยจะลอยบนผิวน้ำและไหลลงห้องกรอง จึงคงค้างอยู่ที่ก้นตู้
การแก้ปัญหาคือ ใช้วัสดุปูก้นตู้ที่มีรูพรุนให้แบคทีเรียเกาะอาศัยเยอะๆ จะได้ช่วยย่อยสลายของเสียให้เร็วขึ้น

         ง. อาหารที่ลอยน้ำ รวมไปถึงพวกไร อาร์ทีเมีย มักจะไหลตกลงไปในห้องกรองพร้อมกับน้ำ และค้างเติ่งอยู่ตาม ใยแก้ว คาร์บอน Bioball หรือ วัสดุกรองอื่นๆ ทำให้เกิดการสูญเสียอาหารไปส่วนหนึ่ง และก็ไม่ค่อยเป็นผลดีเท่าไรนักสำหรับใยแก้วกับคาร์บอน เพราะมันจะทำให้พวกนี้อายุการใช้งานสั้นลง การอก้ปัญหาคือ ปิดปั๊มก่อน ในตอนให้อาหาร (แต่ถ้าไม่ปิดก็ไม่เป็นไรเท่าไหร่นัก บางทีขี้เกียจ)

         จ. หากระบบยังไม่พร้อม คือแบคทีเรียยังมีจำนวนไม่มากพอ แล้วมีการใส่ปลาจำนวนมาก น้ำจะเสีย และอาจทำให้ปลาเครียดจนเกิดโรค

         ฉ. หากปลาเป็นโรค ต้องนำออกมาไว้ในตู้พยาบาลต่างหาก ไม่สามารถใส่ยาลงไปในตู้เลี้ยงได้ เพราะระบบจะล่ม

         ช. ระบบจะเกิดตะไคร่เขียวเกาะตามวัสดุในตู้ปลา หากหลอดไฟที่ใช้เป็นหลอดจำพวก Grolux , Aquastar หรือหลอดแสงอาทิตย์เทียมอื่นๆ ต้องคอยเช็ดกระจกเอา (ไม่แนะนำให้ใส่น้ำยากันตะไคร่ เพราะตะไคร่นี้มีประโยชน์กับระบบมาก ยิ่งเยอะยิ่งดี)

         ซ. ขนาดหม้อกรองต้องให้สัมพันธ์กับปริมาตรน้ำในระบบ และระดับน้ำต้องเหมาะสมกับพื้นที่หน้าตัดของหม้อกรอง รวมไปถึงกำลังปั๊มต้องพอดีกับปริมาณน้ำที่ไหลลงมา ถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด




      ข้อดี   

         ก. เป็นความสำเร็จรูปที่สะดวกสบาย เพราะไม่ต้องคิดอะไรมาก ใส่วัสดุกรองไป และก็วางตั้งไว้ในตู้ น้ำก็ไหลๆๆๆ ปั๊มก็พ่นๆๆๆ ถึงเวลาก็เปลี่ยนใยแก้วกับถ่านคาร์บอน ง่ายดีครับ

         ข. ถ้าวัสดุกรองมีคุณสมบัติที่เอื้อให้เกิดกระบวนการ Nitrification และระบบรวมๆในตู้สมบูรณ์ ประสิทธิภาพในการกรองจะดีมากๆ

         ค. ไม่เกะกะนอกตู้ ไม่ต้องหาที่วาง ไม่ต้องคำนึงว่าเวลาไฟดับ ปั๊มจะดูดน้ำไม่ขึ้น หรือน้ำจะไหลออกนอกตู้

         ง. ถ้าเป็นแบบที่ติดตั้งมาเรียบร้อยตั้งแต่ตอนประกอบตู้ งานก็จะประณีตสวยกว่าแบบที่ซื้อติดตั้งมาเอง และบางที เค้าก็จะออกแบบประกอบเอาช่องกรองไปไว้ด้านหลัง แนวยาวทั้งหมด ทำให้เรามี Panorama View ที่กว้างขึ้น

         จ. ลดภาระ ค่าใช้จ่าย ในการบำรุงดูแลรักษาตู้ปลา มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่น

         ฉ. สบายใจ เพราะไม่ต้องมาคอยกังวลว่าเมื่อไหร่จะต้องเปลี่ยนน้ำ เมื่อไหร่จะต้องล้างตู้ เมื่อไหร่จะต้องล้างใส้กรอง

         ช. ปลามีสุขภาพดี อายุยืนยาว ลดอัตราการสูญเสีย

         ซ. สามารถเลี้ยงปลาได้จำนวนตัวต่อปริมาตรน้ำมากกว่าตู้ที่ใช้เครื่องกรองแบบ machanical

         ฌ. ปลาจะมีสีสันเข้มตามธรรมชาติ มีภูมิคุ้มกัน ยิ่งถ้าเลี้ยงปลาในสภาพตู้ที่มีระบบสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ตัวเล็กๆ ปลาจะมีภูมิคุ้มกัน และแกร่งมาก (ถ้าเป็นปลาส่งนอก ตลาดทางยุโรป อเมริกาจะยอมรับ กว่าปลาที่ต้องเผชิญกับน้ำประปาผสมยาปฏิชีวนะอยู่ทุกวัน)

         ญ. ไม่ต้องเปลืองปั๊มออกซิเจน ไม่ต้องเสียบปลั๊กให้เปลืองไฟและหนวกหู เพราะในห้องกรองได้มีการละลายออกซิเจนไปกับสายน้ำที่ไหลลงอยู่แล้ว

         ฎ. ไม่ต้องเปลืองค่าหยูกค่ายา ไม่ต้องเปลืองน้ำยาสารพัดชนิด (แต่มียาเตรียมไว้บ้างก็ดี ในกรณีฉุกเฉิน แต่เอาไว้ใส่ในตู้พยาบาลนะครับ เพราะบางทีปลาที่คุณซื้อมาอาจจติดโรคมาจากที่อื่น หรืออาจจะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่ลูกปลาได้รับยีนเลวจากพ่อแม่บรรพบุรุษทำให้ต้องเป็นโรค)


1.2 แบบติดตั้งนอกตู้ปลา

   อันนี้จะเป็นแบบที่ติดตั้งนอกตู้ปลา ก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ หม้อกรองสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ที่ระบุว่าเป็น Wet / Dry System ตัวหม้อกรองและท่อทาง สวยงามมีมาตรฐาน แต่ราคาก็แพงระยับ ประสิทธิภาพก็สูงตามราคา เพราะใช้วัสดุกรองนานาชนิดที่มีคุณภาพสุดๆ อีกรูปแบบนึงก็จะเป็นแบบอ่างไฟเบอร์ที่ทำเป็นช่องๆ ให้น้ำไหลผ่านวัสดุกรองในแนวนอน ซึ่งก็จะสามารถหน่วงเวลาที่น้ำจะไหลผ่านตัวกรองได้นานขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของแบคทีเรียก็จะดีขึ้นเพราะทำงานได้นานขึ้นนั่นเอง แต่ลักษณะนี้มักจะใช้กับระบบขนาดใหญ่ คือปริมาตรน้ำ 500 ลิตรขึ้นไป ปัจจุบันก็มีคนเอาหม้อกรองแบบกระจกที่ติดตั้งในตู้มาวางนอกตู้เช่นกัน โดยอาจจะวางไว้ใต้ตู้ บนตู้ ระดับเดียวกับตู้ ตามแต่จะหาที่วาง แต่ถ้าวางใต้ตู้ก็จะมีปัญหาคือต้องหาปั๊มที่มีอัตราการดูดน้ำที่เท่ากับปริมาตรน้ำไหลลงมา ซึ่งยากครับ และก็ไฟฟ้าห้ามดับ ถ้าดับน้ำจากในตู้จะไหลลงมานองพื้นเลยล่ะครับ เพราะหม้อกรองเป็นแบบเปิด น้ำจะหยุดไหลออกจากตู้ก็ต่อเมื่อระดับน้ำในตู้จะอยู่ต่ำกว่าปากท่อดูดน้ำลงตามหลักการกาลักน้ำ มันมีวิธีแก้ครับแต่ต้องอธิบายพร้อมรูปประกอบเลยขอติดไว้ก่อนส่วนแบบที่ไปวางหม้อกรองไว้ในระดับเดียวกับตู้ ก็ต้องหาปั๊มที่มีกำลังเท่าๆกันสองตัว ตัวหนึ่งดูดเข้ากรองอีกตัวดูดจากกรองเข้าตู้ อันนี้ปั๊มตัวใดตัวหนึ่งห้ามเสีย ไม่งั้นงานนี้ไม่น้ำนอง ก็ปั๊มไหม้ครับแบบที่วางไว้เหนือระดับน้ำในตู้ดูจะเข้าท่าที่สุด เพราะใช้ปั๊มตัวเดียวก็ทำงานได้แล้วคือเอาปั๊มจุ่มดูดน้ำในตู้ส่งขึ้นไปลงหม้อกรอง แล้วก็ใช้แรงโน้มถ่วงโลกพาน้ำลงระบบอีกครั้งเป็นอันครบวงจร แต่ก็อาจจะต้องทำหิ้งทำชั้นวางให้เอิกเกริกนิดหน่อย


      ข้อจำกัด   

         ก. หากเป็นเครื่องกรองจากต่างประเทศ จะมีราคาแพง วัสดุกรองราคาแพง อะไหล่แพง บางทีหาซื้อลำบาก ตัวแทนจำหน่ายน้อย

         ข. หากเป็นกรองกระจก ก็อาจจะหาความพอดีได้ลำบากหน่อยถ้าจะวางในตำแหน่งที่นอกเหนือจากระดับสูงกว่าตู้ นอกนั้นก็คล้ายๆกับแบบกรองในตู้ที่กล่าวมาแล้ว

      
      ข้อดี   

         ก. ได้พื้นที่ในตู้ปลาเต็มที่กว่าแบบวางในตู้ (แต่ก็ไปเกะกะข้างนอกอีกแหล่ะ)

         ข. การดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องไปยุ่งในตู้ปลา

         ค. นอกนั้นก็คล้ายๆกับที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหล่ะครับ นึกไม่ออกแล้วครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05/09/06, [18:13:14] โดย บัง »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #4 เมื่อ: 05/09/06, [18:19:53] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 6

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม'


เอาล่ะ.. ขาดตอนไปสองสามวัน เพราะมัวแต่ตอบคำถาม เลยไม่ได้ต่อเนื้อหาเรื่องของอุปกรณ์และวัสดุอื่นๆที่ควรมีในระบบเสียที
วันนี้พอมีเวลา กะว่าคงจะจบเนื้อหาได้ครับเรามาเริ่มกันเลยดีกว่าตอนที่แล้วผมได้กล่าวถึง วัสดุอุปกรณ์อย่างที่ 1 ซึ่งก็คือหม้อกรองไปแล้ว ทีนี้ก็มาดูกันในส่วนอื่นๆครับว่าเราควรจะใส่อะไรลงไปในตู้ระบบ Biological บ้าง แล้วใส่ไปเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร


2. ท่อทางเดินน้ำ

อันนี้ก็แล้วแต่จะเอามาประยุกต์ใช้ ในตู้หรือในระบบหนึ่งๆ จะต้องมีทั้งท่อน้ำเข้า และท่อน้ำออก ท่อน้ำเข้านั้นก็ไม่มีอะไรมาก ต่อลงตู้ลงระบบก็เรียบร้อย แต่ท่อน้ำออกสิครับ เราต้องมาดูกันหน่อยท่อน้ำออกนั้น ตามหลักการแล้วควรที่ปากที่ดูดน้ำซึ่งจะใช้ปั๊มต่อดูดเอา หรือจะใช้แบบกาลักน้ำก็แล้วแต่ ควรที่จะมีซักสองแห่งก็จะดีครับ คือ อยู่ใต้กรวดก้นตู้ 1 แห่ง(จุ่มลงไปในชั้นกรวด) และอยู่แถวๆกลางตู้อีกหนึ่งแห่ง การวางท่อลักษณะนี้เฉพาะตู้น้ำจืดนะครับ ถ้าเป็นน้ำเค็มท่อดูดหรือปั๊มดูดที่อยู่กลางตู้ควรเลื่อนขึ้นมาให้อยู่ผิวน้ำครับ เพราะในตู้ทะเลที่มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำจืด สาร Surfactant มักจะลอยอยู่บนผิวหน้าน้ำครับ

3. กรวดปูก้นตู้

กรวดปูก้นตู้นี้ นอกจากจะสร้างทัศนียภาพสวยงามให้แก่ตู้ปลาของเราแล้ว ถ้าเราเลือกใช้กรวดให้สอดคล้องกับหลักการ ก็จะเป็นผลดีต่อระบบของเราด้วยครับ กรวดที่แนะนำนั้น ผมแนะนำให้ใช้กรวดปะการังขนาดเล็ก โรยพื้นตู้ให้ลาดจากด้านหน้าไล่สูงไปด้านหลัง โดยที่ความสูงของชั้นกรวดด้านหลังตู้ควรสูงไม่ต่ำกว่า 4 นิ้ว เพื่อหวังผลในเรื่องของ Denitrification Process เพราะออกซิเจนจะละลายไม่ถึงพื้นตู้ พวก Anaerobic Bacteria จะได้ทำงานได้ทีนี้หากเราใช้กรวดปะการังซึ่งธรมชาติอยู่ในทะเลแต่เราเอามาใส่ในตู้น้ำจืด มันก็ดูพิลึกสิครับ มันไม่เฟี้ยว…เราก็ไปหากรวดแม่น้ำแบนๆมาโรยปิดหน้าอีกชั้น พวกนี้จะมีน้ำหนักต่อก้อนมากพอที่จะป้องกันการขุดคุ้ยของปลาบางชนิดได้ และก็ดูเป็นธรรมชาติด้วยครับ ทีนี้Nitrification Process และ Denitrification Process ก็จะเกิดขึ้นที่พื้นตู้ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระการทำงานของเครื่องกรองไปได้เยอะครับ อีกทั้งขี้ปลาที่หล่นลงมาสะสมก็จะถูกย่อยสลายโดยง่ายจากการทำงานของ Aerobic Bacteria ที่เกาะอาศัยตามกรวดปะการัง

4. หินประดับ

หินประดับก็มีประโยชน์มากกว่าจะเป็นเครื่องประดับตู้ครับ โดยการใส่หินลงไปในตู้นั้น ควรเป็นหินก้อนใหญ่ๆ เลือกหารูปทรงที่สวยงามแปลกตา ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี แต่ก็ต้องให้ดูสมดุลย์กับองค์ประกอบอื่น เช่นขนาดตู้ ความบางหนาของกระจกตู้ด้วยครับ ที่ผมบอกว่ายิ่งใหญ่ยิ่งดีก็เพราะว่า ในมวลของหิน จะมีคุณสมบัติในการดูดซับถ่ายเทความร้อนแบบค่อยเป็นค่อยไป
ซึ่งจะช่วยในการ Control อุณหภูมิของน้ำในระบบไม่ให้เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันจนปลาอาจจะปรับตัวไม่ทัน ดังในตู้ที่โล้นๆ โล่งๆ เพราะกระจกเองนั้นมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนความเย็นที่เลวมาก

5. วัสดุอุปกรณ์ตกแต่งตู้อื่นๆ

พวกนี้ก็แล้วแต่จะหามาหล่ะครับ แต่ทางที่ดีควรจะเป็นวัสดุตามธรรมชาติจะดีกว่าพวกของเล่นสีสันฉูดฉาด กระดกไปมา หรือหมุนติ้วๆ มักจะรบกวนประสาทปลาครับ และของเล่นพวกนี้บางทีก็มีการใช้สีหรือส่วนผสมที่ไม่มีคุณภาพ เป็นอันตรายต่อปลา เวลาที่แช่น้ำแล้วอาจจะเกิดการละลายออกมาช้าๆเป็นพิษกับปลาได้ บางทีก็มีความแหลมคม ซึ่งเป็นอันตรายกับปลา หากเวลาที่มันตกใจแล้วว่ายพุ่งแบบไม่ดูตาม้าตาเรือไปชนเอา

6. ระบบไฟระบบแสงสว่างในตู้ปลา

หลอดไฟในตู้นั้น โดยทั่วไปจะนิยมชมชอบใช้กันอยู่ 2 ชนิดคือ
      ก. หลอดฟลูออเรสเซนส์ ; ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้มีเสป็กตรัมของสีให้เลือกใช้ได้มากมาย และมีความเข้มของรังสีใกล้เคียงแสงอาทิตย์มากขึ้น
      ข. หลอด เมทัลฮาไลด์ ; หลอดชนิดนี้สามารถส่องแสงช่วงอัลตร้าไวโอเล็ตออกมาพร้อมๆกับแสงที่มีความยาวคลื่นที่ตามนุษย์มองเห็น

เดี๋ยวเรามาดูคุณสมบัติของแต่ละชนิดกัน

แต่อย่างไรก็ตามการใช้ขนาดกำลังไฟควรที่จะให้สัมพันธ์กับขนาดของตู้ ในรายที่ใช้ฝาตู้สำเร็จรูปก็จะมีขั้วหลอดมาให้เสร็จสรรพเรียบร้อย หามาใส่ตามขนาดก็เป็นอันใช้ได้ แต่ส่วนมากมักจะทำมาให้เพียงหลอดเดียว ซึ่งมักจะสว่างไม่พอสำหรับต็ใหญ่ๆ และแสงส่วนมากจะไปส่องอยู่ด้านหลังปลา ทำให้ตัวปลาใส สีสันของปลาไม่สดเท่าที่ควร การจะเพิ่มหลอดนั้น แนะนำให้ใช้ขั้วหลอดแบบยางสวมกันน้ำจะดี เพราะปลอดภัย น้ำไม่ซึมเข้าไปทำให้เกิดการลัดวงจร ปัจจุบันมีขายตามร้านขายเครื่องไฟฟ้าใหญ่ๆ จะมาเป็นชุดเลย มีขั้วสตาร์ทเตอร์แบบกันน้ำให้ด้วย สะดวกดีครับ กล่องกระดาษสีแดงๆของไทยผลิตนี่แหล่ะครับ ชุดหนึ่ง 50 กว่าบาทเท่านั้น ใครขายเกินกว่านี้มากๆ ไม่ต้องไปซื้อมันครับ หาร้านใหม่ ทีนี้เรามาดูชนิดของหลอดไฟที่ควรใช้ในตู้ปลา และขนาดที่เหมาะสมกับปริมาตรตู้ปลากันครับหลอดไฟในปัจจุบันมีมากมายหลายยี้ห้อ แต่หลอดไฟบ้านกับหลอดไฟสำหรับตู้ปลานี่คนละเรื่องเลยครับ เรามาดูรายละเอียดในเรื่องนี้กันเลยดีกว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลครับ

ระบบแสงสว่างที่เหมาะสมสำหรับตู้ปลาการใช้แสงสว่างในตู้ปลาที่เหมาะสมนั้น ควรคำนึงถึงว่าเราจะเลี้ยงต้นไม้น้ำด้วยหรือไม่ ถ้ามีต้นไม้น้ำเราก็ต้องใช้หลอดไฟที่พัฒนาให้มีความเข้มของแสงเหมาะสำหรับการเลี้ยงต้นไม้น้ำและตู้ปลาโดยเฉพาะ อาทิเช่น หลอดอะควาเรียลฟิลลิป หรือหลอดโกรลักซ์อัคควาสตาร์ หรือหลอดซิลวาเนีย เป็นต้น สามารถสอบถามจากผู้ขายได้เวลาซื้อ การพิจารณาจำนวนวัตต์ที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำในตู้โดยทฤษฎีแล้ว กำลังวัตต์ของหลอดไฟควรจะอยู่ในอัตราส่วน 0.7 วัตต์ ต่อ 1 ลิตร ซึ่งถ้าเป็นหลอดฟลูออเรสเซนส์ก็เลือกใช้ขนาดที่มีความยาวไล่เลี่ยกับความยาวตู้ก็พอได้ครับ แต่มีข้อควรระวังตรงที่ บัลลาตที่ใช้กับหลอดฟลูโอเรสเซ้นท์นั้น จะเป็นตัวแผ่รังสีความร้อนสู่ผิวน้ำ ซึ่งหากเป็นไปได้ควรย้ายบัลลาตไว้ข้างนอกฝาปิดตู้ หรืออีกอย่างก็คือ เลือกใช้บัลลาตอิเล็คทรอนิคส์ที่มีพวก IC อยู่ข้างใน แต่ก็มีผลเสียคือหากตู้ปลาตั้งอยู่ในห้องที่มีคอมพิวเตอร์อาจจะทำให้เกิดอาการกวนกันได้ หลอดชนิดนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ หากความลึกของน้ำในตู้เกิน 50 ซ.ม. ใช้หลอดแบบนี้จะไม่เหมาะครับ เพราะน้ำจะสะท้อนรังสีให้ความเข้มของแสงที่เราใช้ส่องไปไม่ถึงในบริเวณที่ลึกกว่า 60 ซ.ม. แต่ก็ดีตรงที่การกระจายของแสงเป็นไปในแนวกว้างครับ ดังนั้นหากน้ำในตู้มีความลึกกว่า 60 ซ.ม. เราก็ควรเลือกใช้หลอดที่มีกำลังส่องสว่างมากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนส์เช่น
หลอดไฟในกลุ่มเมททัลฮาไลน์ ซึ่งจะสามารถส่องทะลุน้ำได้ลึกกว่า และจะทำให้สีสันภายในตู้ปลาดูเข้มขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลอดอีกประเภทหนึ่งที่นักเลี้ยงปลานิยมเอามาดัดแปลงใช้กับตู้ปลาก็คือ หลอดแอคทานิคบลู ที่มักจะใช้กันในวงการถ่ายภาพพิมพ์เขียว และในห้องอบเด็กอ่อนตามโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหลอดที่มีรังสีอุลตร้าไวโอเล็ทสูงมาก มีแสงในช่วงสีฟ้า สีสันในตู้ปลาจะสวยงามมาก

ข้อควรระวัง * หลอดไฟจำพวกเมททัลฮาไลน์ หรือ แอคทานิคบลู พวกนี้ก็ควรจะระวังในเรื่องของรังสีความร้อนที่มีสูง อาจจะมีผลทำให้อุณหภูมิของน้ำในตู้สูงเกินไป เช่นกัน การติดตั้งควรแขวนให้ห่างจากผิวน้ำไม่ต่ำกว่า 30 cm. จะพอแก้ปัญหาได้

แหม…. ว่าจะลุยให้จบ เสียที ละเลงมา 6 ภาคแล้ว กลังยืดเยื้อแล้วเดี๋ยวจะเบื่อกันครับ 555…..แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็จำเป็นต้องติดค้างกันไว้ก่อน


บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #5 เมื่อ: 05/09/06, [18:31:09] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 7

'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม


เอ้า..เอิ๊ก.. มาต่อกันเลยนะครับ…........

จากตอนที่แล้วผมจบตรงที่ระบบแสงสว่างภายในตู้ปลา ที่นี้ก็มาถึงหัวข้อต่อไปครับ ในส่วนนี้ก็จะเป็นอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นกับตู้ปลาระบบ Biological ซึ่งไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ แต่ถ้ามีจะดีมากๆอุปกรณ์พิเศษ…มีไว้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร

7. ที่คีบด้ามยาว

ที่คีบนี้จะมีลักษณะเป็นคีมหนีบต่อด้ามพลาสติกยาวเรียว มีไว้เพื่อจะใช้คีบหรือหนีบเอาเศษขยะเศษใบไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้นตู้ออกไปทิ้งโดยที่คุณไม่ต้องเอาแขนลงไปจุ่มในน้ำให้เปียกเปล่าๆ แถมปลาที่อยู่ภายในตู้ก็จะไม่ตกใจอีกต่างหาก เท่าที่สังเกตยังไม่มีใครในบนเราผลิตเจ้าที่คีบนี้เลย ที่เห็นๆขายอยู่ก็เป็นของต่างประเทศทั้งนั้น จึงมีราคาค่อนข้างสูงเอาการ

8. น้ำยาเทสต์ปริมาณไนไตรท์

มีไว้สำหรับทดสอบค่าปริมาณของเสียที่อยู่ในน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นพอสมควรในตู้ระบบเพราะการที่มีของเสียหมักหมมอยู่ในน้ำนั้นบางทีเราไม่อาจจะสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากน้ำก็จะดูใสปิ๊งสะอาดเป็นปกติดี การมีปริมาณของเสียอยู่ในน้ำมากเกินไปจะทำให้ปลาของเราตายได้ และการที่ปริมาณของเสียในน้ำที่อยู่ในรูปของ แอมโมเนีย ไนไตรท์ และไนเตรท
นั้นไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแน่นอน เราจึงต้องมีการใช้ชุดเทสต์ไนไตรท์ตรวจสอบดูเพื่อให้ทราบว่าน้ำในตู้ปลาของเรามีปริมาณของเสียมากเกินควรหรือยัง จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งชุดเทสต์ไนไตรท์นี้ผู้ทที่นิยมเลี้ยงปลาทะเลบ้านเราเค้าจะใช้กัน แต่หากเราจะนำมาใช้กับการเลี้ยงปลาน้ำจืดก็ไม่เห็นจะแปลก ซ้ำยังดีซะอีก เพราะในต่างประเทศเค้าก็ใช้กันทั้งนั้น ยิ่งการใช้ชุดเทสต์นี้ในระบบ Biological จะมีส่วนช่วยให้คุณภาพน้ำในตู้ปลาอยู่ในสภาพสมดุลย์มากยิ่งขึ้น ชุดน้ำยาเทสต์ที่ว่านี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์เลี้ยงปลาใหญ่ๆ ทั่วไปครับ ส่วนในเรื่องของวิธีใช้นั้นให้สอบถามจากผู้ขายหรืออ่านเอาจากคู่มือการใช้ที่มากับชุดเทสต์นั้นๆ ( ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณแอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรทเพิ่มเติมได้จาก "นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" ภาค 2 'เพิ่มเติม--- หัวข้อ 'ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม' )

หลายคนอาจมีคำถามว่า …. เอ….แล้วเมื่อปริมาณไนไตรท์ในน้ำมีปริมาณมากเกินไปแล้วจะทำยังไงดีล่ะ

ไม่ยากครับ เรามีวิธี……..วิธีแก้ไขเมื่อปริมาณไนไตรท์ในน้ำมากเกินไปวิธีแก้ไข ในเมื่อน้ำในตู้ปลามีปริมาณไนไตรท์มากเกินไปนั้น มีอยู่หลายวิธี เราควรพิจารณาปริมาณไนไตรท์ในระบบเราหลังจากที่เทสท์ว่าอยู่ระดับใด และควรแก้ปัญหาทันที ในกรณีที่น้ำในระบบมีปริมาณไนไตรท์อยู่ระหว่าง 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ยังไม่ต้องตกอกตกใจไป เราเพียงแค่ระวังและควบคุมปริมาณการให้อาหารแก่ปลาให้น้อยลง หรือถ้าจะให้ชัวร์ก็ควรงดให้อาหารปลาไปเลยสักระยะหนึ่งซัก 2 วัน (ไม่ต้องกังวลครับ เราสามารถงดให้อาหารปลาได้ 4-5 วัน โดยที่ปลาไม่ตายและไม่โทรมครับ) หรือจะใช้วิธีใส่แบคทีเรียที่เค้าขายๆกันลงไปก็ช่วยได้ แต่ถ้าทั้งลดอาหารก็แล้ว.. ใส่แบคทีเรียก็แล้ว..ค่าไนไตรท์ยังสูงอยู่ นั่นอาจจะเป็นเพราะปริมาณปลาในตู้ไม่สัมพันธ์กับค่าประสิทธิภาพของระบบ Biological มีสองวิธีใน

การแก้ไข คือ ทางแรก ลดจำนวนปลาลงจนกว่าปริมาณไนไตรท์ลดลงอยู่ในระดับปกติ หรือทางที่สอง เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบ แล้วแต่จะพิจารณาดูเอาครับ ว่าเราสะดวกทางไหนแต่…ถ้าหากปริมาณไนไตรท์ในระบบทะลุเกิน 0.3-0.4 มิลลิกรัม/ลิตร นั่นย่อมหมายถึงว่า ปลาบางตัวไม่ควรจะเสี่ยงอยู่ในตู้นานกว่านั้น ควรรีบย้ายไปอยู่ในภาชนะหรือตู้ปลาที่น้ำใหม่ซึ่งมีสภาพดีและอุณหภูมิเท่ากันกับในตู้เลี้ยง ส่วนน้ำในตู้เลี้ยงเราก็ทำการเปิดเครื่องกรองน้ำในตู้นั้นไว้ตามปกติ อาจเพิ่มอ๊อกซิเจนลงไปก็ดีเพื่อให้ปริมาณไนไตรท์ลดลงได้เร็วขึ้น เมื่อน้ำดีแล้วจึงค่อยนำปลากลับมาใส่ลงในน้ำตามเดิม หรือขณะที่มีปลาอยู่ในตู้ ผู้เลี้ยงไม่ต้องการย้ายปลาออก อาจใช้วิธีเพิ่มก๊าซโอโซนให้น้ำในตู้เลี้ยงปลานั้น ซึ่งการใช้ก๊าซโอโซนนี้ ต้องระวังเพราะมีข้อจำกัดในการใช้มาก และถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายแก่ปลา แทนที่จะทำให้มันดีขึ้น

9. น้ำยาทดสอบค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ( pH )

ในการเลี้ยงปลาน้ำจืดโดยทั่วไปแล้วค่าความเป็นกรดเป็นด่างหรือที่เรียกกันว่าค่า pH นั้นจะอยู่ในระดับ 6.0 - 7.5 เป็นส่วนใหญ่ แต่การที่มีของเสียมักหมมอยู่ภายในตู้เป็นระยะเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดสภาพความเป็นกรดขึ้นได้ภายในตู้ ( ค่า pH ลดลง ) ชุดเทสต์ดังกล่าวนี้จะสามารถทำให้เราทราบว่าน้ำในตู้ปลาของเรานั้นมันมีสภาพค่าpHเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
เพื่อที่จะได้ทำการปรับปรุงคุณสมบัติและคุณภาพของน้ำให้เหมาะสมกับปลาที่เราเลี้ยง น้ำยานี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาใหญ่ๆ ทั่วไปครับ ที่สำคัญ เวลาซื้อให้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ใช้กับ Fresh Water หรือ marine ส่วนวิธีการใช้ให้สอบถามจากผู้ขายหรือไม่ก็ศึกษาจากคู่มือการใช้ที่มีมากับชุดเทสต์ค่า pH เช่นกันครับ

วิธีแก้ไขกรณีค่า pH สูงหรือต่ำเกินไปอย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้นว่า ในการเลี้ยงปลาน้ำจืดนั้น โดยทั่วไปแล้วค่าความเป็นกรดเป็นด่างหรือที่เรียกกันว่าค่า pH นั้นจะอยู่ในระดับ 6.0 - 7.5 เป็นส่วนใหญ่ แต่การที่มีของเสียมักหมมอยู่ภายในตู้เป็นระยะเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดสภาพความเป็นกรดขึ้นได้ภายในตู้ ( แนวโน้มค่า pH ลดลงเรื่อยๆ ) มีจำนวนน้อยที่น้ำในตู้จะมีค่าPh เป็นด่าง ซึ่งนั่นแสดงว่าระบบของเรามีค่า Alkalinity มากเกินไป ใช้น้ำบาดาลเลี้ยงปลาอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหานี้ หรือถ้าใช้น้ำประปาก็ให้ลองตรวจเช็คดูว่า ในระบบ อาจจะมีวัสดุอุปกรณ์อะไรที่เป็นออกไซด์ของวัตถุจำพวกปูน (alkaline earth)อาจจะเป็นหินประดับตู้หรือกรวดโรยพื้นตู้ที่มีสายแร่โลหะที่เป็นคุณสมบัติเป็นด่าง (alkaline metals) เช่น โซเดียมและโปแตสเซียม ถ้ามีก็เอาออกซะ ฮ่า…… แต่ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ หรือมันเรื่องมากนักก็อาจจะใช้ Dilute Solution of Hydrochloric Acid ซึ่งเป็นสารละลายเจือจางกรดไฮไดรคลอริคแบบอ่อนๆ เติมลงในระบบทีละน้อยๆ จนกว่าจะได้ค่าที่ต้องการ ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนแต่ก็

ควรจะระวังมากๆก็คือ ภาวะการเปลี่ยนค่า Ph ในระบบนั้นต้องเป็นไปอย่างช้าที่สุด โดยเราอาจจะค่อยๆเติมสารละลายที่บอกลงไปทีละนิดๆ เพราะเดี๋ยวปลาอาจจะจะปรับสภาพน้ำไม่ทัน ใจเสาะ น้อยใจตายไปเลยก็ได้ จากนั้น พอเราจัดการให้ Ph ของน้ำในระบบอยู่ตามเกณฑ์ที่เหมาะสมกับปลาของเราแล้ว ก็ต้องหาวิธีรักษาค่า Ph ให้อยู่ในระดับคงที่ต่อไปซึ่งในเรื่องของการรักษาค่า Ph ให้อยู่ในระดับคงที่นั้น เราก็สามารถที่จะใช้น้ำยาปรับค่า pH สำหรับการเลี้ยงปลาน้ำจืด ใส่ลงไปในน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนด หรืออาจจะเลือกแบบชนิดเม็ดแข็ง แช่เอาไว้ในตู้ปลาตลอด เพื่อควบคุมค่า pH ก็สะดวกดีครับ เจ้าพวกเคมีภัณฑ์ทั้งหลายที่กล่าวมานี่ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาที่เป็นสโตร์ใหญ่ๆ หรือที่ร้านขายปลาทะเลครับ แถว อตก. มีแน่นอน

10. เทอร์โมมิเตอร์

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจเช็คอุณหภูมิของน้ำภายในตู้ปลา และตรวจสอบการทำงานของฮีทเตอร์ โดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 แบบคือ

แบบหลอดหรือกระเปาะแก้ว อันนี้อมตะคลาสิคสุดครับ ใช้กันมานานและก็คงจะนานอีกต่อไป เพราะทนทานถาวรที่สุดกว่าอีกสองแบบที่เหลือ โดยลักษณะการใช้งานก็คือเราอาจจะหย่อนลงไปในน้ำแล้วปล่อยให้ลอยไปลอยมาบนผิวน้ำตลอดเวลาก็ได้ ( ตัวปรอทจะลอยในแนวตั้งโดยเอาก้นปรอทชี้ลงพื้นเสมอ เพราะมีเม็ดตะกั่วกระจุ๊งกระจิ๊งถ่วงอยู่ ) หรืออาจจะยึดติดกับจุ๊บยางแล้วแปะด้านในของตู้ปลาเลยก็ได้ แต่ก็มีข้อจำกัดตรงที่ว่าเทอร์โมมิเตอร์ชนิดนี้อ่านค่าของอุณหภูมิได้ค่อนข้างยาก เพราะตัวเลขหรือสเกลสำหรับอ่านค่าตัวเล็กกระจิ๊ดริด แต่ก็ดีตรงที่มีความคงทน สามารถใช้งานได้นานจนกว่ามันจะแตก

แบบเป็นสติกเกอร์ติดกระจก แบบนี้ใช้ติดที่กระจกด้านนอกของตู้ปลาครับ เวลาอ่านอุณหภูมิก็จะสามารถสังเกตเห็นได้จากตัวเลขที่มีสีชัดเจนที่สุด
สามารถอ่านค่าของอุณหภูมิได้ง่ายและเห็นได้จากในระยะไกลเพราะตัวเลขมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัด แต่ความคงทนถาวรจะสู้แบบแรกไม่ได้

แบบอีเล็คทรอนิคส์ แบบนี้ Hi technology จ๋าาาา……มาเลยครับ เป็นระบบวัดค่าแล้วแสดงเป็นตัวเลขดิจิตอลบนหน้าปัดจอผลึกเหลว มีปลายสายที่ติดตัวเซนเซอร์จับวัดอุณหภูมิ ไว้สำหรับจุ่มไปในน้ำ แหม.. แพงครับ แพงกว่าเพื่อน แต่ก็อ่านค่าได้ละเอียดตรงตามมาตรฐาน ค่าความผิดเพี้ยนต่ำก็ลองเลือกหาซื้อกันดูครับ ตามแต่ต้องการ


11. ฮีทเตอร์

อุปกรณ์ชิ้นนี้มีลักษณะเป็นกระเปาะแก้วบรรจุขดลวกความร้อนไว้ภายใน โดยมีการซีลกันน้ำเข้าอย่างดี ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ เราจะมีความจำเป็นใช้ก็ต่อเมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้

ก. สภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งตู้ปลา มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอยู่เสมอ ซึ่งก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิน้ำในระบบเปลี่ยนแปลงตาม

ข. สภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งตู้ปลามีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่เหมาะสมสำหรับปลาชนิดนั้นๆ เช่นในห้องแอร์ หรือภูมิอากาศที่เย็นมากๆ

ค. ในระบบ ไม่มีหินประดับก้อนใหญ่ไว้ควบคุมอุณหภูมิ จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินไป

ง. ชนิดของปลาที่เลี้ยง มีความต้องการอุณหภูมิที่คงที่มาก เนื่องจากเป็นปลาที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น ปอมปาดัวร์ เป็นต้นซึ่งฮีทเตอร์นี้ จะเป็นอุปกรณ์ประจำตู้ปลาที่ขาดไม่ได้เลยในต่างประเทศแถบที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น แต่สำหรับในประเทศไทยเราแล้ว ก็ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั่นแหล่ะครับ ถึงจะจำเป็นที่จะต้องเสียสตางค์ซื้อ เพราะราคาก็หลายร้อยอยู่เหมือนกัน ในเวลาที่เราใช้งานอุปกรณ์นี้ ต้องระวังตรวจตราบริเวณซีลยางให้ดีเพราะอาจจะเกิดการชำรุดได้ เดี๋ยววันดีคืนดีไฟดูดชักกระแด่วคาตู้ ทางที่ดีควรถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าทั้งหมดที่จุ่มน้ำอยู่ในตู้ ก่อนที่จะเอามือล้วงลงไปสัมผัสน้ำ หรือลงไปทำอะไรต่อมิอะไรในน้ำ SAFETY FIRST ครับ


หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: