Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พ109 ตะไคร่ การป้องกันและกำจัด  (อ่าน 177933 ครั้ง)
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« เมื่อ: 07/07/06, [22:44:37] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่เมือกสีน้ำตาล (Diatoms, Brown Algae)


http://aquariumalgae.blogspot.com/


http://aquariumalgae.blogspot.com/

ลักษณะ

เป็นแผ่นสีน้ำตาลบางๆเกาะตามกระจก และใบพืชขัดออกได้ง่ายเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มไดอะตอมที่มีซิลิก้าเป็นโครงสร้างภายนอก

สาเหตุ

ระบบกรองไม่สมบูรณ์ มีแอมโมเนียในน้ำสูง มีอินทรีย์สารละลายในน้ำมาก มักพบในตู้ที่ตั้งใหม่ๆ มีแสงน้อย หรือมีซิลิก้าในน้ำมากเกินไป
โดยแหล่งของซิลิก้าโดยมากมักมาจากหินพัมมิสที่รองพื้นตู้และที่ใช้เป็นวัสดุกรอง ในตู้ไม้น้ำที่เพิ่งตั้งใหม่จึงมีโอกาสเกิดตะไคร่ชนิดนี้ได้มาก

การกำจัดและการควบคุม

ขัดออกจากกระจกและใบไม้ด้วยนิ้วมือแล้วดูดเศษตะไคร่ทิ้ง เพราะเป็นตะไคร่ที่อ่อนนุ่ม หลุดได้ง่าย
และเมื่อต้นไม้เริ่มโต ตะไคร่ชนิดนี้มักจะหายไปได้เอง พยายามลงต้นไม้เยอะๆเข้าไว้ จะช่วยป้องกันตะไคร่นี้ได้ดี

สัตว์ช่วยกำจัดตะใคร่

ปลาออตโต้
Otocinclus affinis
ออตโต้จะชอบกินตะไคร่ชนิดนี้มาก
ปลาน้ำผึ้ง
Gyrinocheilus aymonieri
กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี แต่ควรงดให้อาหารอื่น ไม่งั้นจะไม่ค่อยกิน
กุ้งยามาโตะ
กุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ กุ้งยามาโตะ และกุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งเรดโนส กุ้งฝอย
หอยเจดีย์
Melanoides tuberculata
หอยเจดีย์กินตะไคร่ชนิดนี้ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะถ้าหอยมีปริมาณมาก สามารถแพร่พันธุ์ในตู้ได้ง่ายจนแม้อยากจะกำจัดออกก็ทำได้ลำบาก  [lol] ทำให้มันเป็นตัวควบคุมตะไคร่ชนิดนี้และตะไคร่อื่นๆได้ดี หอยเกือบทุกชนิดก็กินตะไคร่ชนิดนี้เช่นกัน
ปลาเล็บมือนาง
Crossocheilus siamensis
ก็ชอบกินตะไคร่นี้ แต่อาจจะกินตะไคร่ตามผิวก้อนหินและขอนไม้ได้ไม่หมดจดนัก เพราะปากและนิสัยการกินเป็นแบบเล็มๆ ไม่ได้เป็นปากดูด
ปลาสอดกินพืช
ปลาสอดที่ไม่ใช่พวกหางดาบ หรือปากแหลมๆ ปลาสอดกินพืชมักจะปากบานๆ หางกลมหรือสองแฉก เช่นปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [12:18:00] โดย บัง! »
Tags: ไม้น้ำ ตะไคร่ 
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #1 เมื่อ: 01/02/10, [08:55:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่เมือกสีเขียวแกมน้ำเงิน
(Blue-Green Algae, Slime Algae)





ลักษณะ

พวกนี้ไม่เชิงเป็นพืชซักทีเดียวครับแต่เป็นในกลุ่มแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Cyanobacteria
ลักษณะของมันจะเป็นแผ่นๆเมือกสีเขียวเข้มอมน้ำเงินถ้าเอาขึ้นมาดมจะมีกลิ่นเหม็น ชอบขึ้นตามขอบกระจกบริเวณใต้พื้นปลูก หรือปกคลุมอยู่ตามพื้นกรวด หินใบไม้หรือถ้าเป็นมากๆก็คลุมทุกสิ่งทุกอย่างในตู้ได้เลย

สาเหตุ

พบบ่อยในตู้ที่มีค่าไนเตรทต่ำ ตู้กรวดและตู้ดินเก่า พื้นปลูกที่สกปรกและการไหลเวียนน้ำในตู้ที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดตะไคร่นี้ได้

การกำจัดและการควบคุม

ถ้าพบเพียงเล็กน้อย แนะนำให้คีบหรือดูด หรือน้ำสิ่งที่มีตะใคร่เกาะอยู่ออกไปจากตู้ แต่ก็มักจะกลับมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วและสง่าผ่าเผย  [น้ำตาร่วง]

การปิดตู้ให้มืด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Blackout เป็นการจัดการตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี
กำจัดตะไคร่ออกจากตู้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดึง ถอน ดูด  แล้วเปลี่ยนน้ำ 30-50%
ใส่หัวทรายเพิ่มออกซิเจน ปิดไฟ ปิด CO2 แล้วหาอะไรมาคลุมตู้ไว้ไม่ให้แสงเข้า ผ้าดำ ลังใส่โทรทัศน์ อะไรก็ได้ที่คลุมตู้ได้มิด หรือปิดประตูหน้าต่างในห้องที่มีตู้อยู่ให้มืดหมด
ทิ้งไว้อย่างนั้น 3-4 วัน ไม่ต้องเปิดแอบดู ไม่ต้องให้อาหารปลา ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น
เปิดผ้า แล้วกำจัดเศษตะไคร่ที่อาจจะยังหลงเหลือ ล้างกรอง เปลี่ยนน้ำ 30-50% อีกครั้ง เอาหัวทรายออกแล้วเปิด CO2

หลังจากนี้ให้ดูแลระดับของไนเตรทให้เหมาะสมเพื่อป้องกันตะไคร่กลับมาอีก ถ้าต่ำไปให้ใส่ปุ๋ยน้ำเพิ่มจากปกติอีกสักหน่อย หรือใส่ปุ๋ยน้ำที่มีไนเตรทมากหน่อยอย่าง ADA Green Brighty Special LIGHTS
หรือใส่ปุ๋ยน้ำไนเตรท เช่นปุ๋ยไนเตรทของ Seachem Flourish Nitrogen และ Ferka Balance-N
หรือใส่ปุ๋ย โพแทสเซี่ยมไนเตรท (Potassium nitrate) 12-0-46 หรือ แคลเซี่ยมไนเตรท (Calcium nitrate) 15-0-0 +cao หาซื้อได้ตามร้านขายปุ๋ยต้นไม้ ร้านจัดสวน ร้านปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ ปริมาณ 1 ช้อนคนกาแฟปาด (ช้อนพลาสติกเล็กจิ๋วๆแบบตาม 7-eleven) ต่อน้ำ 50 ลิตร

แต่ถ้าไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธี Blackout การใช้ยา อีริโทรไมซิน (Erythromycin sulfate) ก็ได้ผลดี มีขายตามร้านขายยา เป็นแบบเม็ด (เวลาซื้ออธิบายกับคนขายให้ดีว่าเอามาใช้กับตู้ปลา เพราะมักใช้รักษาซิฟิลิสและหนองใน [ยาราไนก๊ะ])
ใส่ยาขนาด 400 มก ต่อน้ำ 100 ลิตรโดยประมาณ

เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะมีผลเสียกับแบคทีเรียในระบบกรองจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

ถ้าต้องใช้ควรนำวัสดุกรองบางส่วนหรือระบบกรองทั้งหมดไปใส่ตู้อื่นไว้ในช่วงใส่ยา และงดให้อาหารปลาในช่วงทำการรักษาตะใคร่เพื่อลดภาระของเสียให้กับระบบ

หลังจากแช่ยา 1-2 วัน จะพบว่าตะใคร่จะเริ่มสลายตัวให้ดูดออกและถ่ายน้ำใหม่ นำวัสดุกรองมาใส่คืน ช่วงนี้ควรเฝ้าระวังภาวะแอมโมเนียสูงเกินไปเพราะแบคทีเรียในระบบกรองถูกทำลายด้วย

สัตว์ช่วยกำจัดตะใคร่

หอยเจดีย์ Melanoides tuberculata
เป็นตัวเลือกที่แนะนำ เพราะไม่ต้องซื้อ ขอตามตู้ชาวบ้านได้ฟรี คนโดนขออาจจะทำหน้างงนิดหน่อย หอยนี้เจ๋งตรงที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถลงไปกินตะไคร่นี้ได้ถึงใต้ชั้นพื้นปลูก แต่มักจะกินไม่ทันเพราะตะไคร่ชนิดนี้มันเพิ่มจำนวนเร็วมาก ให้กำจัดออกด้วยการเก็บหรือ blackout แล้วใช้หอยเจดีย์เป็นตัวควบคุมจะดีกว่า
หอยเขา Clithon corona
และหอยในตระกูล Nerite เช่น หอยม้าลาย หอยแอปเปิ้ล กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี แต่ก็เหมือนหอยเจดีย์ ให้หวังผลเป็นตัวช่วยควบคุมไม่ให้กลับมาอีก
ปลาเล็บมือนาง Crossocheilus siamensis  
เล็บมือนางก็กินตะไคร่นี้ ถ้าอดอาหารจนหิวพอประมาณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [09:48:04] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #2 เมื่อ: 01/02/10, [08:56:11] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่จุดเขียว (Green Spot algae).....





ลักษณะ

เป็นจุดๆสีเขียว แต่ถ้ามีมากจะลามทับกันจนกลายเป็นปื้นสีเขียว แข็ง เอามือลูบดูจะรู้สึกสากๆ ขูดออกยาก เติบโตบนกระจก หิน หรือ ขอนไม้และใบของไม้โตช้า

สาเหตุ

พบได้บ่อยในตู้ที่มีค่าฟอสเฟตต่ำ สภาพน้ำที่ฟอสเฟตต่ำจะทำให้ตะไคร่ชนิดนี้เจริญเติบโตได้เร็วมากจนขัดกันทุกวันยังแทบไม่ทัน
ปริมาณ CO2 น้อยเกินไป, การไหลเวียนของน้ำไม่ดี, ระยะเวลาเปิดไฟนานเกินไป ก็ทำให้ตะไคร่ชนิดนี้กำเริบเสิบสานได้เช่นกัน


การกำจัดและการควบคุม

ถ้าขึ้นที่ใบไม้ ตัดใบหรือกิ่งนั้นทิ้งไปเลย จะง่ายกว่ากำจัดมันออก เพราะมันเกาะแน่นเหนียวมาก

ถ้าขึ้นบนไม้ที่พันอยู่กับขอนด้านบนๆสูงๆหน่อย หรือสามารถยกออกจากตู้ได้ หรือขึ้นอยู่บนขอน,หินที่ยกออกจากตู้ได้ชั่วคราว
ให้นำขอน,หิน,ต้นไม้ ที่มีตะไคร่จุดเขียวติดออกมาจากตู้ หรือลดระดับน้ำจนโผล่พ้นน้ำ

แล้วใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ใส่ขวดสเปรย์พ่น หรือใช้กลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) เช่น ยากำจัดตะไคร่ของ Aquamania หรือ Seachem Excel ผสมน้ำ 1:3 ฉีดพ่นบริเวณที่มีตะไคร่ ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วนำกลับลงตู้,เติมน้ำให้ได้ระดับเดิม

ไม้โตช้า ใบกว้างแบบพวกอนูเบียส บูเซ็ป เฟิร์น ที่มักจะมีปัญหาจุดเขียวได้ง่าย ก็พยายามหาตำแหน่งลง อย่าให้โดนแสงโดยตรงเข้มเกินไป ให้อยู่ในร่มเงาของไม้ข้อ ขอนไม้หรือไม้โตเร็วอื่นๆ จะเป็นการป้องกันที่ดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง

ถ้าขึ้นที่กระจกน้อยๆ ใช้แปรงแม่เหล็กขัดเยอะๆหน่อยก็ออก หรือใช้ที่ขัดกระจกแบบมีด้ามก็ได้


ที่ขัดตะไคร่แบบทำเอง

แปรงแม่เหล็กขัดตู้

แปรงแม่เหล็กขัดตู้ยี่ห้อ Boyu

ถ้าขึ้นเยอะและหนา ให้ใช้อุปกรณ์ชนิด "ขูด" แบบใบมีดจะดีกว่า ไม่งั้นขัดกันมือหงิกนิ้วล็อคพอดี


มีดขูดตะไคร่ของ Borneo Wild

มีดขูดตะไคร่ยี่ห้อ Azoo - Azoo algae scraper

ใบมีดขูดตะไคร่ของ ETB Razor Pro

มีดโกนขูดตะไคร่ DIY

ที่ขูดตะไคร่จากร้าน ไดโซ 60 บาททุกชิ้น

เครื่องมือในการขูดตะไคร่แต่ละแบบ ก็จะมีลักษณะการออกแบบและข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป บางยี่ห้อใบเป็นพลาสติก บางยี่ห้อใช้ใบมีดโกนหนวดทั่วไปเปลี่ยนได้ บางยี่ห้อต้องเปลี่ยนกับใบมีดของยี่ห้อตัวเองเท่านั้น ก็เลือกเอาตามสะดวก ลองไปจับๆดูตามร้าน เลือกแบบที่เหมาะกับตัวเอง

วิธีการกำจัดที่ได้ผลที่สุดคือการเพิ่มระดับฟอสเฟตในตู้ ทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ย โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (Monopotassium Phosphate) 0-52-34 หาซื้อได้ตามร้านขายปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ทำสวนทั่วไป โดยเริ่มใส่จากปริมาณที่น้อยมากๆก่อน (ติดปลายช้อนกาแฟเซเว่น ใส่นิดเดียวพอ ประมาณ 1/10 ช้อนชา ต่อน้ำ 50 ลิตร) แล้วดูอาการต้นไม้ก่อนเพิ่มปริมาณขึ้นถ้ายังไม่ได้ผล หรือใช้ปุ๋ย Seachem Flourish Phosphorus ที่เป็นปุ๋ยฟอสเฟต+โพแทส สำหรับตู้ไม้น้ำโดยเฉพาะ


สัตว์ช่วยกำจัดตะใคร่

ปลาออตโต้
Otocinclus affinis
ออตโต้และปลาตระกูลซัคเกอร์ที่กินพืช เช่น ซัคเกอร์พานาเม้นท์ Sturisoma panamense จะชอบกินตะไคร่ชนิดนี้มาก ถ้ามีที่กระจกหรือก้อนหินเยอะๆนี่มันเกาะดูดกันทั้งวันเลย
หอยเขา
Clithon corona และหอยตระกูล Nerite เช่นหอยม้าลาย ก็กินตะไคร่นี้ได้ดี
หอยเจดีย์
Melanoides tuberculata
หอยเจดีย์กินตะไคร่ชนิดนี้ได้พอสมควร โดยเฉพาะถ้าหอยมีปริมาณมาก หอยเกือบทุกชนิดก็กินตะไคร่ชนิดนี้เช่นกัน
ปลาน้ำผึ้ง
Gyrinocheilus aymonieri
ก็กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีพอใช้ แต่ควรงดให้อาหารอื่น ไม่งั้นจะไม่ค่อยกิน

ตะไคร่ชนิดนี้ มักจะอยู่ในสภาพน้ำที่ค่อนข้างสะอาด ในระบบบ่อปลาคาร์พและบ่อปูนกลางแจ้งอื่นๆ ตะไคร่พันธุ์นี้จึงเป็นที่ต้องการให้ขึ้นที่ผนังและพื้นบ่อคล้ายๆ Coralline algae (สาหร่ายหินปูนสีม่วง) ในตู้ทะเล เพราะมันจะเป็นตัวย่อยสลายไนเตรทในบ่อได้เป็นอย่างดี และเป็นตัวป้องกันตะไคร่ชนิดอื่นๆที่มีผลเสียมากกว่า โดยการแย่งสารอาหารที่จำเป็นมากินซะก่อน จะเรียกว่าเป็นตะไคร่นิสัยดีก็พอได้ (หน้าตามันดูดีกว่าตะไคร่ตัวอื่น และแทบจะไม่ลามขึ้นต้นไม้) ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ไนโตรเจนไซเคิลสมบูรณ์ขึ้น ทำให้การเกิดตะไคร่อื่นลดลง และเป็นตัวบ่งบอกภาวะไม่สมดุลของสารอาหารพืชในตู้ไม้น้ำได้ดี
ฉะนั้น เวลาขูด หากจะเหลือไว้ทำพันธุ์บ้างก็ไม่มีผลเสียอะไรนัก อาจจะขูดแค่หน้าตู้ เหลือผนังซ้ายขวาและด้านหลังไว้ หรือเหลือด้านหลังไว้ด้านเดียวก็ได้ แค่คอยดูแลอย่าปล่อยให้มันเยอะเกินไปก็แล้วกัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [11:19:19] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #3 เมื่อ: 01/02/10, [08:56:52] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [14:13:55] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #4 เมื่อ: 01/02/10, [08:57:57] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะไคร่เส้นผมดำ Black Hair Algae
ตะไคร่เขากวาง Staghorn Algae

สองตัวนี้ลักษณะและการควบคุมคล้ายกันนะครับ รวมไปเลย



มักพบเป็นกระจุกแคบๆ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว การกำจัดที่ดีที่สุดคือตัดใบไม้ที่ติดอยู่ออก หรือนำวัสดุที่มีตะไคร่ออกมา กุ้งยามาโตะก็กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีพอสมควร (ถ้ากุ้งหิวและมีจำนวนกุ้งมากพอ)



ตะไคร่ชนิดนี้ เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก พบบ่อยในตู้ที่เพิ่งตั้งใหม่ๆ หรือน้ำที่มีสารอินทรีย์เยอะ มักพบขึ้นตามขอบๆใบไม้ กรวด ก้อนหิน และขอนไม้ที่โดนแสงจัด ใบไม้ที่อยู่ติดผิวน้ำ กำจัดออกได้ยาก ดึงออกแล้วก็สามารถขึ้นใหม่ในจุดเดิมได้ในเวลาไม่นาน เพราะยังมีบางส่วนเกาะติดอยู่ ถ้าพบขึ้นที่ใบไม้ใบไหน ควรตัดทิ้งเลย เพื่อเป็นการลดจำนวนตะไคร่ให้มากที่สุด

วิธีกำจัดตะไคร่ชนิดนี้ที่ได้ผลดีคือฉีดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ H2O2
บทความ:รวบรวมรายละเอียด H2O2 กับการกำจัดตะไคร่ (step by step)จนซี้ม่องเท่ง

สัตว์กินตะไคร่้ส่วนใหญ่มักจะแทบไม่กินตะไคร่ชนิดนี้เลย นอกจาก ตะกรับหน้าแดง Scatophagus argus argus จะช่วยได้ดีที่สุด กินเอาๆ ปลาสอดถ้าหิวจัดๆก็กินดุใช้ได้ แต่ต้องตัวใหญ่หน่อย ถึงจะมีแรงกระชาก ตะไคร่นี่รากมันเหนียวแน่นมาก

กุ้งยามาโตะ Caridina japonica หรือจะเป็นกุ้งฝอย หรือกุ้งชนิดอื่นๆก็พอจะกินได้ ถ้าอดให้หิวพอ และมีจำนวนมากพอ ทำให้ใช้งานได้ยากกว่าและคาดหวังผลอะไรไม่ได้เท่าไหร่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/01/11, [22:16:48] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #5 เมื่อ: 01/02/10, [08:58:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่เส้นผมเขียว Spirogyra, Green Hair algae

"Spirogyra, Green Hair algae"

"Spirogyra, Green Hair algae"

"Spirogyra, Green Hair algae"

ลักษณะ

เป็นเส้นใยบางๆสีเขียวยาวๆ ลื่นๆ ไม่มีการแตกแขนง ไม่เกาะติดกับต้นไม้หรือก้อนหิน แต่จะพันอยู่กับต้นไม้หรือรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆตามพื้น ซอกใบไม้ต้นไม้และตามวัสดุต่างๆ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถคีบหรือหยิบออกได้โดยง่าย ด้วยมือหรือแปรงสีฟัน


สาเหตุ

มักพบในบริเวณตู้ที่มีแสงมาก ปริมาณแอมโมเนียสูง และในตู้ที่มีสารอาหารในน้ำมากเกินไป มีการรื้อถอนต้นไม้หรือรบกวนพื้นปลูกจนฝุ่นและผงดินฟุ้งขึ้นมาแล้วไม่ดูดออกหรือเปลี่ยนน้ำ มีเศษอาหารและซากปลาตายตกค้างในตู้


การกำจัดและการควบคุม

การควบคุมทำได้โดยลดจำนวนปลา และลดปริมาณอาหารปลา เปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ กำจัดออกตั้งแต่ยังน้อยๆด้วยการหยิบออกทันทีที่พบ

ลดแสง ลดปริมาณปุ๋ยที่ใส่ เปลี่ยนถ่ายน้ำให้สม่ำเสมอหรือถี่ขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ดูแลระบบกรองให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรืออัพเกรดระบบกรองถ้ามันเล็กเกินไปที่จะรองรับของเสียในตู้

การเพิ่มปริมาณ CO2 ในน้ำก็ได้ผลดี ตะไคร่ชนิดนี้มักจะเกิดได้ง่ายในตู้ที่มีปริมาณ CO2 ที่ละลายในน้ำน้อยและต้นไม้ไม่แข็งแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปิด CO2 น้อยเกินไป หรืออุปกรณ์ละลาย CO2 ทำงานได้ไม่ดีพอ หรือติดตั้งไม่ถูกวิธี

ใช้สารกลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) เช่น ยากำจัดตะไคร่ของ Aquamania หรือ Seachem Excel ก็ได้ผลในการกำจัดที่ดี

หรือใช้การฉีด ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ก็ได้ผลดีเหมือนกัน แต่จะไม่ค่อยหมดนัก เพราะมันทน H2O2 ได้พอสมควร ทำให้ต้องฉีดโดนแบบเต็มๆถึงจะตาย และความยาวของเส้นมันจะซอกซอนไปได้ไกลตามซอกต้นไม้จนเราตามฉีดไม่ค่อยถึง

อ่านรายละเอียดและวิธีการฉีดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ได้ใน

บทความ:รวบรวมรายละเอียด H2O2 กับการกำจัดตะไคร่ (step by step)จนซี้ม่องเท่ง - Coffman

ตะกรับหน้าแดง
Scatophagus argus var. Rubrifrons
กินตะไคร่เส้นผมได้ดีมาก แต่ต้องระวังเมื่อตะไคร่หมด มันจะงาบต้นไม้อ่อนๆในตู้แทนได้
ปลาเล็บมือนาง
Crossocheilus siamensis
กินตะไคร่นี้ได้ดี แต่อาจจะต้องอดอาหารให้หิวซะก่อน และมักจะไม่ค่อยยอมขึ้นไปกินตะไคร่ที่อยู่ใกล้ผิวน้ำ
ปลาสอดกินพืช
ปลาสอดที่ไม่ใช่พวกหางดาบ หรือปากแหลมๆ ปลาสอดกินพืชมักจะปากบานๆ หางกลมหรือสองแฉก เช่นปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [12:16:54] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #6 เมื่อ: 01/02/10, [08:59:50] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่ขนดำ Black Brush Algae,Black Beard Algae
ตะไคร่ขนเขียว Green Brush Algae, Green Beard Algae






ลักษณะ

เป็นกลุ่มกระจุกขนสั้นๆ ยาว 0.5-1 ซ.ม. เกาะติดแน่นอยู่ตามใบไม้ โดยเฉพาะตามขอบใบ,ขอนไม้,ก้อนหิน,ขอบซิลิโคน,ท่อน้ำ และวัตถุแทบทุกอย่างในตู้ยกเว้นที่กระจก
มีส่วนคล้ายรากเหนียว สามารถยึดติดกับผิววัสดุได้ดี ดึงออกยาก ชอบขึ้นตามที่น้ำไหลแรง เช่น ปากท่อกรอง

สาเหตุ

CO2 ไม่เพียงพอ มีการเปลี่ยนแปลงระดับของ CO2 ในตู้มากเกินไป การไหลเวียนของน้ำในตู้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดมุมอับที่มีปริมาณ CO2 น้อย

การกำจัดและการควบคุม

เพิ่มปริมาณ CO2 ให้มากขึ้น จัดที่วางตัวปล่อย CO2 ให้อยู่ในที่ๆกระแสน้ำไหลเวียนดี เพื่อช่วยพัดพา CO2 ไปได้ทั่วตู้ ใช้อุปกรณ์ปล่อย CO2 ที่มีประสิทธิภาพการละลายที่เหมาะสมกับขนาดตู้

การเปิด CO2 ก่อนเวลาเปิดไฟสัก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ปริมาณ CO2 อิ่มตัวคงที่แล้วเมื่อไฟเปิด จะช่วยป้องกันตะไคร่นี้ได้ดี หรือจะใช้การเปิด 24 ชั่วโมงแทนก็ได้

เพิ่มการไหลเวียนของน้ำ เช่น เปลี่ยนกรองเป็นตัวที่ปั๊มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้วัสดุกรองที่ขนาดใหญ่ขึ้นหรือใช้ใยกรองที่หยาบกว่าเดิม (ปั๊มกรองไม่ถูกอั้นและส่งน้ำได้แรงขึ้น) หรือเพิ่มปั๊มเพาเวอร์เฮดช่วยเพิ่มกระแสน้ำภายในตู้

ควรใช้ดรอปเช็คเกอร์เพื่อวัดความเข้มข้นของ CO2 จะทำให้รู้ได้ว่าในตู้เรามี CO2 ละลายอยู่เพียงพอหรือไม่ ให้ปรับแก้ไขจนสีของดรอปเช็คเกอร์เป็นสีเขียว-เขียวอมเหลือง (ช่วงแรกๆหมั่นคอยสังเกตอาการปลาด้วยว่าทนไหวหรือเปล่า)

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ที่ใช้ล้างแผล สามารถใช้กำจัดตะไคร่ประเภทขนอุยทั้งหลายแหล่ได้ดีมาก

1. ดูดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ใส่หลอดฉีดยา ปริมาณ 0.5-0.75cc/ น้ำ 1 ลิตร

2. ปิดกรอง จุ่มหลอดฉีดยาลงไปในน้ำ จ่อไปที่ตะไคร่แล้วฉีดลงไปตรงตะไคร่ ฉีดช้าๆ ให้ใกล้ตะใคร่ที่สุด ต่อจุดประมาณ 1-2 cc สำคัญสุดคือ ปริมาณรวมทั้งหมดที่ฉีดไป อย่าให้เกิน 0.5 cc/ลิตร เพราะหลายท่านฉีดแล้วมันส์ เพลิน จนปลาตาย

3. ใจเย็นๆ มันจะไม่ตายในทันที รอสักพัก จะมีฟองอากาศลอยขึ้นมาจากตะไคร่ตรงที่โดนยา ฟองจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงไหนไม่มีฟองหรือฟองน้อยก็ฉีดซ้ำได้ แต่ดูอย่าให้เกินปริมาณรวมที่บอกไปตอนแรก

4. จากนั้นเปิดไฟตู้ เพื่อช่วยให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวเป็นน้ำกับออกซิเจนเร็วขึ้น

5 หลังจากนั้นซัก 2 วัน ตะไคร่ควรจะฟอกขาว ถ้ามันยังไม่ตายหมดก็ฉีดซ้ำได้อีก

วิธีนี้ Recommend มากๆครับ มันสะใจมากๆ เวลาเห็นตะไคร่ฟองฟอดซีดขาวไปกะตา  [เหอๆ]

ดูเพิ่มเติมที่นี่ ตู้หลังจากสู้กับตะไคร่ขนดำมา 1 เดือน

ใช้ กลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) หรือคาร์บอนน้ำ เช่น ยากำจัดตะไคร่ Aquamania - Algae Clean หรือ Seachem Excel (แบบโอเวอร์โดส) ก็สามารถกำจัดตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี



ผลการใช้ Aquamania - Algae Clean
รีวิวยากำจัดตะไคร่ Aqua-Mania Algae Clean - บัง
AQUA-MANIA Algae clean : 1 ในหลายวิธีในกำจัดตระไคร่ขนดำ - แบงค์ซัง

เกี่ยวกับคาร์บอนด์น้ำ ดูเพิ่มเติมที่
ปุ๋ยคาร์บอนน้ำ How it works - banx


สัตว์น้ำช่วยกำจัดตะไคร่

ปลาเล็บมือนาง
Crossocheilus siamensis
ชอบกินตะไคร่นี้ และกินได้รวดเร็วหมดจด มันจะดึงทึ้งตะไคร่ออกมาเขมือบทั้งกระจุกอย่างป่าเถื่อน แต่อาจจะต้องจับอดอาหารสักหน่อย
ตะกรับหน้าแดง
Scatophagus argus var. Rubrifrons
กินตะไคร่เส้นผมได้ดีมาก แต่ต้องระวังเมื่อตะไคร่หมด มันจะงาบต้นไม้อ่อนๆในตู้แทนได้
กุ้งยามาโตะ
กุ้งยามาโตะและกุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งเรดโนส กุ้งฝอย
ปลาสอดกินพืช
เช่น ปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์ ก็กินตะไคร่นี้ได้ดี แต่อาจจะต้องเลือกใช้บริการตัวเมียที่ตัวใหญ่ๆหน่อย ถึงจะจิกดึงตะไคร่ออกมาได้ดี และอาจจะต้องจับอดอาหารร่วมด้วย แต่ส่วนมากแล้วจะกินโดยไม่ต้องอดอาหาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/12/14, [14:13:00] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #7 เมื่อ: 01/02/10, [09:00:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตะใคร่ขนเขียว Fuzz algae





เป็นขนละเอียดนุ่มไม่ยาวนักติดแน่นเหมือนพรมตามใบไม้ ก้อนหินและวัสดุต่างๆเหมือนกับเป็นเครายาวๆสีเขียว แรกๆจะเป็นขนอ่อนๆ บางๆ ถ้าลุกลามมากๆจะปกคลุมทุกอย่างในตู้ได้ มักเกิดการลุกลามได้ในตู้ที่สภาพแสงจัด

การควบคุมโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำสลับการเปิดปิดไฟ และใช้ปลา กุ้ง กินตะใคร่จะช่วยควบคุมตะใคร่ชนิดนี้ได้ไม่ยากนัก แนะนำให้ใช้กุ้งแคระชนิดต่างๆ เช่น กุ้งยามาโตะ กุ้งคริสตัลเรด กุ้งเชอรี่, กุ้งไทเกอร์ และกุ้งบลู

บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #8 เมื่อ: 01/02/10, [09:01:07] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

น้ำเขียว Green water



เกิดจากสาหร่ายเซลเดียวที่ได้สารอาหารและแสงจากในน้ำทำให้เกิดภาวะ algae bloom ขึ้น

การควบคุม ลดแสงส่วางและธาตุอาหารในน้ำลง เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้น กรณีไม่สามารถควบคุมด้วยมาตรการข้างต้นได้ การใช้ UV clearifier และ Diatom filter หรือ ใช้ยากำจัดตะใคร่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วและได้ผล
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #9 เมื่อ: 01/02/10, [09:01:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ทริกเล็กๆน้อยๆ

การใช้สัตว์กำจัดตะไคร่ชนิดต่างๆ จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรือไม่มีประโยชน์เลย หากไม่มีการงดหรือลดอาหารที่ให้ด้วย เพราะสัตว์เหล่านั้นเมื่อได้อาหารจนอิ่มแล้ว ก็จะไม่กินตะไคร่
การใช้หลอด UV ฆ่าสปอร์ของตะไคร่ที่ลอยอยู่ในน้ำ สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของตะไคร่ได้
การใช้แบคทีเรียสำเร็จรูปชนิดต่างๆ สามารถช่วยให้ปัญหาตะไคร่ดีขึ้นได้ เพราะเมื่อระบบกรองและพื้นปลูกมีระบบแบคทีเรียที่สมบูรณ์ ก็จะช่วยให้สภาพน้ำดี ต้นไม้มีระบบรากแข็งแรง เจริญเติบโตแย่งอาหารกับตะไคร่ได้ดี
ระหว่างกำจัดตะไคร่ ควรงดปุ๋ยน้ำ แต่ไม่ควรงดปุ๋ยฝัง โดยเฉพาะกับไม้ที่หาอาหารทางรากเป็นหลัก เพราะจะทำให้ต้นไม้ไม่แข็งแรง ควรใช้การลดปริมาณให้พอดีๆแทน
บทความดั้งเดิมโดย คุณ banx
http://www.pantown.com/board.php?id=6922&area=1&name=board7&topic=1&action=view
ปรับปรุงเนื้อหาและเพิ่มเติมการจำแนกชนิดของตะไคร่โดย - บัง
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: