Peppermint Shrimp กุ้งเป็บเปอร์มินต์
Common name (ชื่อสามัญ) - Peppermint Shrimp , Veined Shrimp, Caribbean Cleaner Shrimp, Candy Cane Shrimp
Scientific name (ชื่อวิทยาศาสตร์) - Lysmata wurdemanni
Phylum Arthropoda
Subphylum Crustacea
Class Malacostraca
Order Decopoda
Family Hippolytidae
Genus - Lysmata
Species - L. wurdemanni
กุ้งเป็บเปอร์มินต์สายพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกา พบได้ที่ฟลอริด้า อ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรแอตแลนติค
กุ้งเป็บมีลักษณะลำตัวที่กึ่งโปร่งแสง มีแถบสีชมพู-แดงคาดตามความยาวลำตัว เป็นสัตว์สังคมมักจะอยู่รวมกันหลายตัว และเป็นมิตรต่อปะการัง กุ้งเป็บนั้นส่วนใหญ่มักจะออกหากินตอนกลางคืน เนื่องจากเป็นกุ้งที่ขี้อายมักจะหลบซ่อนอยู่ตามก้อนหิน หรือปะการังในตอนกลางวัน เราจะรู้จักกันดีว่ากุ้งเป็บนี้มีความสามารถในการกิน Aiptasia ซึ่งแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก แถมยังมีหนวดที่เป็นพิษ สามารถทำอันตรายต่อปะการังที่อยู่ข้างเคียงได้ กุ้งเป็บที่ขายตามท้องตลาดนั้น มีหลากหลาย Species ซึ่งมักจะเป็นกุ้งที่อยู่ใน Gus เดียวกัน รูปร่างคล้ายๆกัน คนส่วนใหญ่จะแยกไม่ค่อยออกเลยเรียกรวมๆไปว่ากุ้งเป็บเปอร์มินต์ อย่างของไทยก็มีสายพันธุ์นึงครับ ที่ทางตลาดปลาสวยงามนำเข้ามาขายเรียกว่ากุ้งเป็บเหมือนกัน แต่เป็นกุ้งเป็บไทยครับ คาดว่าน่าจะเป็น Species - Lysmata vittata ซึ่งสายพันธุ์นี้มีรายงานว่ากิน Aiptasia ได้เหมือนกัน แต่ก็กินปะการังบางชนิดด้วย เช่นกระดุม เยลโล่โพลิป สมอง เป็นต้น ดังนั้นผู้ซื้อจึงควรสอบถาม และซื้อจากร้านที่ไว้ใจได้ เพราะคุณอาจจะโดนหลอกให้ซื้อกุ้งเป็บไทยในราคาของเมืองนอก แถมยังต้องประสบกับปัญหากุ้งกินปะการังในตู้ด้วย
กุ้งเป็บนั้นนอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องการกิน Aiptasia แล้ว ยังขึ้นชื่อในเรื่องการเก็บกินซาก คือสามารถกินได้หลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารในตู้ปลา หรือสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วในตู้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าถ้า Aiptasia ในตู้หมดแล้วกุ้งจะไม่มีอะไรกิน นิสัยอีกอย่างคือความขี้อายและขี้กลัว ถ้าคุณคิดจะเลี้ยงไว้ดูเพื่อความสวยงามคงต้องผิดหวัง เพราะส่วนใหญ่กุ้งเป็บจะแอบอยู่ใต้หินทั้งวัน และออกมาหาอาหารในตอนกลางคืน แถมไปไหนไม่ไกลจากก้อนหินที่ตัวมันอาศัยหลบอยู่ด้วย ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาที่กุ้งกิน Aiptasia ได้ไม่หมดทั้งตู้ ดังนั้นตอนปล่อยกุ้งจึงควรต้องปล่อยกระจายในหลายๆจุดของตู้ ไม่ควรปล่อยที่เดียวกันทั้งหมด ส่วนวิธีดูว่ากุ้งยังมีชีวิตอยู่ในตู้รึเปล่า ให้ใช้ไฟฉายส่องหาดูในตอนกลางคืน หลังจากที่ไฟปิดไปแล้วครับ
ปัญหาที่พบบ่อย
เนื่องจากกุ้งเป็บเป็นสัตว์ที่ขี้อาย และขี้กลัวมาก ดังนั้นในตู้ที่มีปลาใหญ่เยอะๆ อาจจะมีปัญหาเรื่องการใช้งานกุ้งเป็บ เพราะกุ้งนั้นจะไม่กล้าออกไปกิน Aiptasia ที่อยู่ในจุดที่ไกลออกไป ดังนั้นการปล่อยกุ้งให้กระจายในแต่ละจุดก็ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
ตู้ที่ให้อาหารปลาเยอะๆ มักจะทำให้กุ้งเป็บไม่กิน Aiptasia เพราะตามหลักธรรมชาติแล้ว กุ้งจะเลือกกินอาหารที่หากินง่ายที่สุดก่อน เนื่องจากอาหารปลานั้นกุ้งสามารถหยิบกินได้เลย ไม่เหมือนกับ Aiptasia ที่กุ้งต้องจิกและตีที่ตัว Aiptasia ให้หดเล็กลงก่อนถึงจะฉีกและหยิบกินได้ ดังนั้นจึงควรให้อาหารปลาให้พอดี อย่าให้เหลือตกถึงพื้น เพราะกุ้งนั้นจะเสียนิสัย กลายเป็นรอกินแต่อาหารปลาที่ตกตามพื้นและไม่กิน Aiptasia ในที่สุด
วิธีแก้อีกทางก็คือการเลี้ยงกุ้งเป็บไว้ในตู้กรองล่าง แล้วนำก้อนหินหรือปะการังที่มี Aiptasia เกาะอยู่ใส่ลงไปให้กุ้งกิน เมื่อกุ้งกินหมดแล้วค่อยใส่กลับคืนลงไปในตู้หลัก ในช่วงที่ไม่มี Aiptasia ให้กุ้งกินก็ให้อาหารปลากินแทน แต่ในช่วงที่มี Aiptasia ให้กำจัด ก็งดให้อาหารปลา แล้วใส่หินก้อนที่มีปัญหาลงไป
ขนาดของกุ้งและขนาดของ Aiptasia นั้นก็มีผลครับ ถ้ากุ้งตัวเล็กกว่า Aiptasia มากๆ มันก็ไม่กล้ากินครับ แต่ถ้ากุ้งตัวโตเต็มที่นั้นก็กินได้หมดครับ ไม่ว่า Aiptasia จะตัวขนาดไหน
ศัตรูของกุ้งเป็บเปอร์มินต์ นั้นได้แก่ปลาตระกูล Wrasse ครับ เพราะปลาตระกูลนี้มักจะกินกุ้งเป็บเป็นอาหารเลยล่ะครับ จากประสบการณ์ที่เคยเจอในตู้ของตัวเองก็คือ Mystery wrasse นี่ละครับ ใส่ลงไปปุ๊บ กุ้งเป็บหายเกลี้ยง
กุ้งเป็บนั้นเป็นกุ้งที่รักสงบครับดังนั้นจึงอยู่ร่วมกับปลาและกุ้งชนิดอื่นๆได้โดยไม่มีปัญหาครับ จะมีปัญหาก็คือกุ้งหรือปลาสายพันธุ์อื่นที่ก้าวร้าวจะทำอันตรายกับกุ้งเป็บมากกว่า

ข้อแตกต่างระหว่างกุ้งเป็บไทย และกุ้งเป็บนอก
1. กุ้งเป็บไทยขนาดโตเต็มวัยจะตัวเล็กกว่ากุ้งเป็บนอก ถ้าเห็นกุ้งตัวเล็กๆแล้วมีไข่เต็มท้องนี่สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นกุ้งเป็บไทยครับ
2. กุ้งเป็บไทยมีสีน้ำตาลกึ่งใสโปร่งแสง ส่วนกุ้งเป็บนอกมีสีน้ำตาล-แดง จนถึงสีแดงใสโปร่งแสง
3. กุ้งเป็บไทยมีลายค่อนข้างชัด โดยเฉพาะลายขวางตรงช่วงหลัง ส่วนกุ้งเป็บนอกไม่มีลายขวางพาดช่วงหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นลายริ้วๆสีแดงเล็กๆพาดไปตามความยาวลำตัว

Credit story&picture : k.dolphin http://www.siamreefclub.com/forums/index.php?/topic/52739-%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%97%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b9%84%e0%b8%9b%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b9%80/page__gopid__684730#entry684730