Aqua.c1ub.net
*
  Sat 20/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องปูเสฉวน  (อ่าน 30313 ครั้ง)
สแตมป์ ออฟไลน์
Club Brother
« เมื่อ: 06/10/13, [00:50:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เป็นกระทู้บทความที่ผมยืมของแต่ละที่มารวมไว้ในที่เดียวนะครับ

ปูเสฉวน เกี่ยวอะไรกับมณฑลเสฉวน ทำไมต้องเรียกแบบนี้ล่ะ?


หากพูดถึงมณฑลเสฉวนของประเทศจีน หลายคนคงนึกถึงปูเสฉวน แต่ใครที่ได้ลองไปเที่ยวที่นั่นดูจะพบว่าที่นั่นไม่มีปูเสฉวนอยู่เลย มีแต่หมีแพนด้า

ชื่อมณฑลเสฉวนที่คนไทยเรียกกันนั้นเรียกให้ถูกตามสำเนียงจีนกลางว่า ซื่อชวาน (四川) มีความหมายว่าแม่น้ำสี่สาย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ใครที่ศึกษาข้อมูลมาคงจะพอรู้ว่ามณฑลนี้อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน ดังแผนที่ที่เห็น ตำแหน่งสีแดง



แต่ว่าปูเสฉวนเป็นปูที่อาศัยอยู่ตามชายหาด ดังนั้นเราไม่มีทางพบปูเสฉวนได้ที่เสฉวนแน่นอน ดังนั้นชื่อปูเสฉวนไม่น่าจะมาจากชื่อมณฑลนี้และปูเสฉวน

ภาษาจีนก็เรียกว่า จี้จวีเซี่ย (寄居蟹) ซึ่งแปลตรงๆว่าปูที่อาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เป็นชื่อที่ตรงตัวมากทีเดียว ส่วน

ภาษาญี่ปุ่นก็เรียกว่ายาโดการิ (宿借、ヤドカリ) แปลว่าพวกที่เช่ายืมบ้านคนอื่นอยู่ ก็ตรงตัวเหมือนกัน

งั้นชื่อปูเสฉวนที่คนไทยเรียกกันนี้มาจากไหนล่ะ?


คำตอบของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อสมัยราชวงศ์หมิง (明朝) ของจีนเลย เทียบแล้วก็คือสมัยกรุงศรีอยุธยาของไทยช่วงนั้นกองทัพเรือจีนยิ่งใหญ่มาก มีการส่งกองเรือขนาดใหญ่ซึ่งนำโดยเจิ้งเหอ (郑和) ขันทีชาวมุสลิมคนหนึ่งซึ่งได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาทอย่างมากในกองทัพเรือ

เจิ้งเหอได้ออกเรือ ๗ ครั้งในช่วงปี 1405 ถึง 1433 ได้ล่องเรือไปตามที่ต่างๆมากมายตั้งแต่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ไปจนไกลสุดถึงชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก เขาได้พายีราฟจากแอฟริกากลับมาให้คนจีนทำให้คนจีนได้รู้จักยีราฟเป็นครั้งแรกด้วย กองเรือของเจิ้งเหอในยุคนั้นถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้วก็ว่าได้

กองเรือของเจิ้งเหอได้มีการแวะมาถึงอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน ในครั้งที่ ๒ ของการออกเรือ ซึ่งตรงกับช่วงยุคสมัยของสมเด็จพระรามราชาธิราช


ในบรรดากองเรือของเจิ้งเหอมีลำหนึ่งที่มีชื่อว่า เสอฉวาน (蛇船) คำว่าเสอแปลว่างู ฉวานแปลว่าเรือ เนื่องจากเรือลำนี้มีหัวเรือที่ประดับเป็นรูปงูสวยงาม

ตอนที่เรือลำนี้ขึ้นฝั่งบนดินแดนสยาม ก็พบว่ามีปูเสฉวนติดมาด้วย คนไทยเห็นก็ประหลาดใจว่าไม่เคยเห็นปูประหลาดที่ซ่อนตัวอยู่ในเปลือกหอย ก็เลยเรียกตามชื่อเรือลำนี้ว่าปูเสอฉวาน ต่อมาเวลาผ่านไปก็เรียกเพี้ยนกลายเป็นปูเสฉวน

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกปูเสฉวน
credit : http://ikamiso.exteen.com

___________________________________________________________________________________



credit : http://ikamiso.exteen.com

ปูเสฉวน ( Hermit crab) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในไฟลัมอาร์โธรพอด ในไฟลัมย่อยครัสเตเชียน ในอันดับฐานปูปลอม (Anomura) ในวงศ์ใหญ่ Paguroidea ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นวงศ์ต่าง ๆ ได้อีก 7 วงศ์ (ดูในตาราง)

โดยรวมแล้ว ปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 1-6 เซนติเมตร มีขาทั้งหมด 10 ขา ไม่มีเปลือกแข็งแบบปูหรือกุ้ง จึงต้องอาศัยในเปลือกหอยเปล่า โผล่เฉพาะหัวและขา 2 คู่ออกจากเปลือก ส่วนขาอีก 2 คู่ใช้ยึดกับเปลือกหอย กินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหาร มักอาศัยอยู่ตามหาดทรายชายทะเล บางชนิดอาจอาศัยอยู่ในน้ำลึก มีประมาณ 1,100 ชนิด บางสกุลอาศัยอยู่แต่เฉพาะบนบก ได้แก่ Coenobita

ปูเสฉวนมีพฤติกรรมการขยายพันธุ์ ด้วยการที่ตัวผู้จะต่อสู้กันด้วยก้ามเพื่อแย่งชิงตัวเมีย เหมือนกุ้ง หรือปูทั่วไป เมื่อตัวผู้ที่ชนะแล้วจะจับตัวเมียไว้ เมื่อตัวเมียลอกคราบ ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมบริเวณขาว่ายส่วนท้อง เกิดเมื่อการปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียจะปล่อยไข่ไปในทะเลเพื่อปล่อยไข่ให้ล่องลอยไปในทะเล ซึ่งลูกขนาดเล็กจะยังมีลักษณะไม่เหมือนตัวเต็มวัย จะต้องลอกคราบและมีพัฒนาการต่อไปเรื่อย ๆ ในปูเสฉวนบกก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน แต่กระทำกันบกบก และตัวเมียจะลงไปปล่อยในทะเล ก่อนที่ลูกเมื่อแรกเกิดจะกลับมาเติบโตและใช้ชีวิตอยู่บนบก
credit : http://th.wikipedia.org

_______________________________________________________________________________________


ปูเสฉวนบก ( Land hermit crab) เป็นปูเสฉวนในสกุล Coenobita มีทั้งหมด 15 ชนิด ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 นิ้ว มีรูปร่างหน้าตาคล้ายปูเสฉวนทั่วไป และอาศัยอยู่ในเปลือกหอย แต่ไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ในน้ำได้ เนื่องจากระบบการหายใจถูกพัฒนาให้รับออกซิเจนโดยตรง ถ้าลงไปในน้ำจะสำลักน้ำตายได้เหมือนปูมะพร้าว (Birgus latro) แต่จะลงไปกินน้ำทะเลเพื่อต้องการเกลือแร่ อีกทั้งยังต้องการน้ำจืดอีกด้วย
ปูเสฉวนบกมีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกาเหนือ, ทะเลแคริบเบียน, หมู่เกาะเบอร์มิวดา, ออสเตรเลียและอินโดนีเซีย จะอาศัยอยู่บนบกหรือในป่าริมชายทะเล กินอาหารจำพวกซากพืช ซากสัตว์เหมือนปูเสฉวนทั่วไป

ปัจจุบันปูเสฉวนบกกำลังได้รับความนิยมในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เลี้ยงนิยมใช้สีทาบนเปลือกหอยให้เป็นสีสันและลวดลายต่าง ๆ แต่เป็นปูที่ค่อนข้างมีความยุ่งยากในการเลี้ยง เนื่องจากถึงแม้ว่าจะอาศัยอยู่บนบกก็ตาม แต่ในสถานที่เลี้ยงต้องใช้ความชุ่มชื้นด้วย และปูพื้นด้วยกรวดทรายและขอนไม้ หรือมะพร้าวผุ และมีความจำเป็นต้องใช้แคลเซี่ยมเพื่อเป็นแร่ธาตุด้วย ไม่เช่นนั้นอาจตายได้
สายพันธ์ ของปูเสฉวนบก
    C. brevimanus
    พบได้ในประเทศไทย
    C. cavipes
    พบได้ในประเทศไทย

    C. carnescens
    C. clypeatus
    C. compressus
    C. olivieri
    C. perlatus
    C. pseudorugosus
    C. purpureus
    C. rubescens
   C. rugosus
    พบได้ในประเทศไทย
(ปูเสฉวนบกก้ามแถวฟัน( Tawny hermit crab))
    C. scaevola
    C. spinosus
    C. variabilis
    C. violascens
credit : http://th.wikipedia.org
_______________________________________________________________________________________
การเปลี่ยนเปลือก

<a href="http://www.youtube.com/v/0jZe_VGLRYI" target="_blank">http://www.youtube.com/v/0jZe_VGLRYI</a>
credit : youtube ( Kindergarten4TheArts)
_______________________________________________________________________________________
วิธีล้างหรืออาบน้ำปู

<a href="http://www.youtube.com/v/dHhNEKzgK78" target="_blank">http://www.youtube.com/v/dHhNEKzgK78</a>
credit : youtube (expertvillage)
ปล. เปลือกหอยของปูตัวนี้สวยมากกก
_______________________________________________________________________________________
อันนี้อยากได้มั้งเลยเอามาให้ดูเฉยๆ
<a href="http://www.youtube.com/v/DaU5etPejZA" target="_blank">http://www.youtube.com/v/DaU5etPejZA</a>
credit : youtube (Robert DuGrenier)
_______________________________________________________________________________________
สายพันธ์อื่นยังหาไม่เจอ

ปูเสฉวนบกก้ามแถวฟัน(Tawny hermit crab; ชื่อวิทยาศาสตร์: Coenobita rugosus) เป็นปูเสฉวนชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปูเสฉวนบก (Coenobitidae)

มีขาเดิน 4 ขา มีก้านปากขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ก้านตามีขนาดใหญ่และยาวมีแถบสีน้ำตาลหรือส้ม ก้ามมีขนาดใหญ่ มีขนที่ขาเดินคู่ที่อยู่ถัดจากก้าม และสามารถส่งเสียงได้เมื่อถูกรบกวนเพื่อข่มขู่ผู้รุกรานด้วยการใช้ก้านปากขนาดใหญ่ขูดกับเปลือกหอยที่อาศัยอยู่ ทำให้เกิดเสียง มีสีสันที่แตกต่างหลากหลายออกไปตามแต่สภาพแวดล้อมที่อยู่และอาหารที่กิน เช่น สีเขียว, สีน้ำตาลและสีเทา, สีดำ, สีขาว, สีชมพู, สีฟ้า เป็นต้น

มีความยาวเต็มที่ได้ 15 มิลลิเมตร (0.59 นิ้ว) กระจายอยู่ทั่วไปตามหาดทรายของชายฝั่งทะเลอินโด-แปซิฟิก กินอาหารจำพวกอินทรียสาร, ซากปลา และผลไม้ทั่วไป ในประเทศไทยพบชุกชุมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์[3] หากินในเวลากลางคืน โดยที่กลางวันและซ่อนตัวอยู่ใต้ใบไม้
credit : http://th.wikipedia.org

_______________________________________________________________________________________


credit : http://www.komchadluek.net
ปูมะพร้าว ( Coconut crab; ชื่อวิทยาศาสตร์: Birgus latro) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมอาร์โธรพอด เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน และเป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน กิตติศัพท์ที่ว่าปูมะพร้าวสามารถเจาะลูกมะพร้าวด้วยก้ามอันทรงพลังนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ในบางครั้งปูมะพร้าวถูกเรียกว่า ปูปล้น หรือ ปาล์มขโมย (เยอรมัน: Palmendieb) ทั้งนี้เนื่องจากปูมะพร้าวมักจะขโมยข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ส่องประกาย อย่างเช่น หม้อ หรือถ้วยสแตนเลส บางคนเรียกปูมะพร้าวว่า ปูเสฉวนบก แต่อันที่จริงนอกจากปูมะพร้าวแล้ว ยังมีปูชนิดอื่นอีกที่จัดได้ว่าเป็นปูเสฉวนบกเช่นกัน นอกจากนี้ ปูมะพร้าวอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปอีกในแต่ละที่ เช่น ที่เกาะกวม เรียกปูมะพร้าวว่า อายูยู

ลักษณะทางกายภาพ

ขนาดตัวของปูมะพร้าวนั้นหลากหลาย ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถเจริญเติบโตจนมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม และความยาวของลำตัว 40 เซนติเมตร แต่ถ้านับรวมช่วงขาแล้วจะยาวถึง 1 เมตรได้ทีเดียว โดยทั่วไปตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร ซึ่งเป็นที่เชื่อว่านี่คือขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของสัตว์ขาปล้องที่อยู่บนบก ปูมะพร้าวมีอายุประมาณ 30-60 ปี

ลำตัวของปูมะพร้าวก็เหมือนกับสัตว์ทศบาททั่วไป คือประกอบด้วยส่วนหัวอก (เซฟาโลโทแรกซ์) และส่วนท้อง ที่มี 10 ขา ขาคู่หน้าสุดของปูมะพร้าวเป็นก้ามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเจาะลูกมะพร้าว และสามารถยกน้ำหนักได้ถึง 29 กิโลกรัม ขาอีกสามคู่ถัดมามีลักษณะคล้ายแหนบ ใช้สำหรับเดินและปีนป่าย (ปูมะพร้าวสามารถใช้ขาทั้งสามคู่นี้ไต่ต้นมะพร้าวได้สูงถึง 6 เมตร) ส่วนขาคู่สุดท้ายนั้นเล็กมาก ใช้สำหรับทำความสะอาดอวัยวะหายใจ ขาคู่นี้มักจะอยู่ในกระดองตรงช่องที่บรรจุอวัยวะหายใจ

แม้ปูมะพร้าวจะวิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน แต่มีเพียงตัวอ่อนของปูมะพร้าวเท่านั้นที่ต้องการเปลือกหอยมาปกป้องส่วนท้อง ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถสร้างส่วนท้องที่แข็งแรงขึ้นได้ด้วยไคติน และชอล์ค เปลือกแข็งที่ส่วนท้องนี้ช่วยป้องกันอันตรายและลดการเสียน้ำบนพื้นดิน ปูมะพร้าวจะลอกคราบเปลือกแข็งนี้ทุกๆ ช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1 ปี) การลอกคราบครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน โดยช่วงที่ลอกคราบเสร็จใหม่ๆ ส่วนท้องของปูมะพร้าวจะอ่อนแอ และต้องการการป้องกัน

ปูมะพร้าวมีอวัยวะพิเศษสำหรับหายใจ เรียกว่า branchiostegal lung อวัยวะนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นครึ่งเหงือกครึ่งปอด ตั้งอยู่ด้านหลังของส่วนหัวอก มีเนื้อเยื่อคล้ายเหงือก แต่เนื้อเยื่อนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากในอากาศ ไม่ใช่ในน้ำ ปูมะพร้าวมีเหงือกอยู่เหมือนกัน แต่เหงือกนี้ก็ไม่สามารถรับออกซิเจนได้มากนัก จึงไม่มีประโยชน์อะไร เหงือกนี้น่าจะเป็นสิ่งหลงเหลือจากวิวัฒนาการมากกว่า ปูมะพร้าวจึงว่ายน้ำไม่เป็น และอาจจะจมน้ำตายได้ถ้าอยู่ในน้ำนานๆ

อาหารการกิน

อาหารหลักของปูมะพร้าวคือผลไม้ โดยเฉพาะมะพร้าว อย่างไรก็ดี อะไรอย่างอื่นที่เป็นชีวภาพ ปูมะพร้าวสามารถกินได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ใบไม้ ผลไม้เน่า ไข่เต่า ซากสัตว์ และเปลือกของสัตว์อื่นๆ ปูมะพร้าวอาจกินสัตว์อื่นเป็นๆ ที่เคลื่อนไหวช้า เช่น เต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่ เป็นต้น บ่อยครั้ง ปูมะพร้าวชอบที่จะขโมยอาหารจากปูมะพร้าวตัวอื่น และเอาอาหารลงไปกินในรูของมัน

ปูมะพร้าวชอบปีนต้นไม้เพื่อหาอาหาร นอกจากนั้นยังเพื่อหลบร้อนและหลีกภัย บางคนเชื่อว่าปูมะพร้าวตัดลูกมะพร้าวจากต้นแล้วลงมากินที่พื้น แต่นักชีววิทยาชาวเยอรมัน โฮลเกอร์ รัมพ์ฟ บอกว่าปูมะพร้าวไม่ได้ฉลาดพอที่จะคิดแผนการได้ถึงขนาดนั้น มันเพียงบังเอิญทำลูกมะพร้าวหล่นตอนที่จะกินลูกมะพร้าวบนต้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่นับมนุษย์แล้ว ถือว่าปูมะพร้าวเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในอาณาจักรสัตว์ที่สามารถเจาะลูกมะพร้าวและกินเนื้อมะพร้าวข้างในได้

การกระจายตัว

ปูมะพร้าวสามารถพบได้ที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะคริสต์มาสต์ในมหาสมุทรอินเดียนับได้ว่าเป็นแหล่งอาศัยของปูมะพร้าวที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด หมู่เกาะคุกในมหาสมุทรแปซิฟิกก็นับว่ามีปูมะพร้าวจำนวนมากไม่แพ้กัน นอกจากนี้ปูมะพร้าวยังพบได้ที่อื่นอีก เช่น ในเซเชลส์ เป็นต้น การกระจายตัวของปูมะพร้าวสามารถแสดงคร่าวๆ ได้ดังรูปด้านขวามือ

ลักษณะสีของปูมะพร้าวจะต่างกันไปตามแต่ละเกาะ ตั้งแต่สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาล เนื่องจากปูมะพร้าวว่ายน้ำได้เฉพาะช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น และช่วงที่ตัวอ่อนของปูมะพร้าวมีระยะเวลาเพียง 28 วัน จึงสันนิษฐานว่าการกระจายของปูมะพร้าวจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่งที่อยู่ไกลๆ น่าจะเป็นด้วยวิธีเกาะขอนไม้ หรือสิ่งอื่นที่ลอยได้ มากกว่าจะว่ายน้ำไป

การกระจายตัวในรูปพบว่ามีช่องว่างที่ช่วงเกาะบอร์เนียว และปาปัวนิวกินี คาดว่าที่ไม่มีปูมะพร้าวอยู่บนเกาะเหล่านี้เป็นเพราะปูมะพร้าวถูกมนุษย์จับกินหมดแล้วนั่นเอง

ปูมะพร้าวในประเทศไทย

จนถึงปี พ.ศ. 2542 มีหลักฐานการพบปูมะพร้าวในประเทศไทยเพียง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อชาวประมงจับปูมะพร้าวได้ที่บริเวณเกาะสี่ ในหมู่เกาะสิมิลัน และได้ส่งปูตัวนั้นให้เรือจุฬาภรณ์มอบต่อให้สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันปูตัวนี้แสดงอยู่ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต (อะควอเรี่ยมแหลมพันวา) ส่วนหลักฐานอีกชิ้นเป็นซากสตัฟฟ์อยู่ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นปูมะพร้าวที่ค่ายมวยจังหวัดระนองเลี้ยงไว้ โดยให้กินมันหมูเป็นอาหาร ปรากฏว่าปูชอบมากอยู่มาได้หลายปี เมื่อตายจึงส่งตัวอย่างให้ภาควิชา

จนเมื่อ พ.ศ. 2540 ขณะที่ทหารเรือจากกองเรือภาคที่ 3 เฝ้าไข่เต่าตนุอยู่ที่เกาะหนึ่ง ในหมู่เกาะสิมิลัน พบปูมะพร้าวน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ออกมาหากินที่ชายหาดแถวนั้นเป็นประจำ โดยมีภาพถ่ายจากนาวาเอกวินัย กล่อมอินทร์ เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ส่งทีมงานเข้าไปสำรวจหาปูมะพร้าวที่เกาะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2542 ก็ไม่พบปูมะพร้าวแม้แต่ตัวเดียว กล่าวได้ว่าปูมะพร้าวเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยากมากในเมืองไทย เช่นเดียวกับ หอยมือเสือยักษ์ หรือนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เลยทีเดียว

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปี พ.ศ. 2542 เรือสำรวจแหล่งปลาทูน่าในทะเลสากลของกรมประมง เมื่อเดินทางไปสำรวจมหาสมุทรอินเดียแล้ว ได้นำปูมะพร้าวจำนวน 23 ตัว จากเกาะแอสซัมชัน ประเทศเซเชลส์ กลับมาประเทศไทยด้วย โดยเป็นตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 19 ตัว ซึ่งตอนนี้เลี้ยงไว้ที่สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต คาดว่าปูมะพร้าวที่นำมานี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาวิจัยเรื่องปูมะพร้าวในประเทศไทยต่อไป
credit : http://th.wikipedia.org

_______________________________________________________________________________________

วิธีการดูแลปูเสฉวนบก


****************************************************
ปูเสฉวนบกเป็นสัตว์เลี้ยงแสนวิเศษ มันเป็นมิตร, ฉลาด, ปราศจากกลิ่นและสะอาดมาก. เป็นปูที่วิวัฒนาการมาอาศัยบนบกและใช้เปลือกหอยเหมือนบ้านเคลื่อนที่ มันเป็นที่ป้องกันอันตรายได้เป็นอย่างดี โปรดจำไว้ว่า มันเป็นสัตว์บกห้ามเลี้ยงในน้ำโดยเด็ดขาด
ที่อยู่อาศัย
ใช้ตู้ปลาในการเลี้ยงโดยความชื้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมัน ส่วนพื้นตู้ควรแห้งเสมอและปูด้วยเปลือกหอยบด,ทรายเลี้ยงปลาหรือในฤดูหนาวใช้ทรายหยาบก็ช่วยเก็บความอบอุ่นได้ดีถ้ามีชิ้นไม้แห้งหรือรากโกงกางก็จะเป็นสถานที่เล่นที่ดี ปูเสฉวนบกชอบการปีนป่ายมาก
ความร้อน
ปูเสฉวนบกเป็นสัตว์เขตร้อนควรเลี้ยงที่อุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส.ระวังอย่าให้อุณหภูมิ ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส . ทางที่ดีควรมีอุปกรณ์ให้ความร้อนที่มีวัตต์ต่ำ ๆ แขวนไว้ด้านบนของ     ตู้ ถ้าจะให้ดีควรมีเทอร์โมมิเตอร์เพื่อวัดอุณหภูมิให้แน่นอนจะเป็นการดี
 น้ำ
ควรเตรียมชามใส่น้ำไว้ 2 ใบ โดยใบแรกให้ใส่น้ำจืดเพื่อการดื่มส่วนอีกใบใส่น้ำทะเลสำหรับลงไปแช่ (หากใช้เกลือวิทยาศาสตร์เพื่อทำน้ำทะเล ให้ใช้อัตราส่วนเกลือยี่ห้อ Aquasonic 1 ช้อนชา(5 ซีซี)ต่อน้ำจืด 100 มิลลิลิตร) ให้แน่ใจว่าชามใส่น้ำจะไม่หกเพราะพื้นต้องให้แห้งเสมอ และเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เพื่อความสะอาด
อาหาร
อาหารสามารถให้ได้หลากหลาย เช่น อาหารปลาเม็ด ซีเรียล ขนมปัง แอปเปิ้ล และผลไม้หลากหลายชนิด  ควรให้อาหารครั้งละน้อย ๆ เพื่ออาหารจะได้สดเสมอ
 เปลือกสำหรับเปลี่ยน
ปูเสฉวนจะปีนออกมาจากเปลือกเก่าเข้าไปอยู่ในเปลือกใหม่ ดังนั้นควรมีเปลือกจำนวนหนึ่งสำรอง  ไว้ในตู้ปลาและควรมีขนาดใหญ่กว่าเปลือกเดิม เพราะปูจะโตขึ้นเรื่อย ๆ หลังลอกคราบ
การลอกคราบ
ก็เหมือนปูอื่นทั่วไป ปูเสฉวนบกก็ต้องการการลอกออกจากเปลือกเดิมเช่นกัน ปกติมักลอกคราบปีละ 2 ครั้งหลังจากลอกคราบแล้วมันต้องการอยู่ตัวเดียวเงียบ ๆ ทั้งอาทิตย์จนกว่าเปลือกใหม่จะแข็งขึ้นดังเดิม  
ลักษณะนิสัย
ปูเสฉวนบกตามธรรมชาติเป็นสัตว์หากินกลางคืนและหลับในตอนกลางวัน ถ้าอุณหภูมิต่ำและความชื้นต่ำจะส่งผ่านเปลือกหอย การทำให้มันตื่นก็ควรทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและความร้อนจากมือคณก็ทำให้มันตื่นได้เช่นกัน
หากคุณดูแลมันอย่างดี มันสามารถอยู่ได้เป็นสิบปีเลยทีเดียว ระหว่างที่คุณเลี้ยงมันอยู่ควรทำให้มันเป็นเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวของคุณ

อ้างอิง : http://www.siamreptile.com/webboard/webboard_show.php?id=33461
เอามาจากพี่ : ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊กกับลูกสาวมุจิ๊จอมแก่น อีกที

_______________________________________________________________________________________

เห็นช่วงนี้เริ่ม นิยมเลี้ยงปูเสฉวนกัน
แชร์กันนะคับ ปูเสฉวนสามารถลอกคราบและงอกขา,หนวดและก้ามแทนได้ครับ
ควรจะมีทรายหนาๆให้เค้าขุดลงไปทั้งตัวเพื่อลอกคราบ จะเสริมทราย+ขุยมะพร้าวในตู้
หรือแยกตู้เล็กๆให้ลอกคราบก็ได้ครับ ลงไปลอกประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์ ตีเป็นห้องใต้ทราย
และกินคราบเพื่อเสริมแคลเซียม ในตู้ไม่ควรแห้งนะครับ พอให้มีความชื้นบ้าง 70-80%
ผมมีกระบอกน้ำไว้ฉีดเพิ่มความชื้นวันละครั้งสองครั้ง น้ำรดทรายให้สัปดาห์ละครั้ง
เพราะถึงจะเป็นเสฉวนบกก็ไม่สามารถอยู่ในอากาศแห้งๆได้นานๆ
ล้างเปลือกและอาบน้ำทะเลให้สัปดาห์ละครั้งก็ได้ครับ เพื่อฆ่าเชื้อโรค
แสงไม่รู้ครับแต่ผมเลี้ยงนอกบ้านใต้หลังคาไม่มีแสง กลางวันจะนิ่งๆหลบแสงเดินเวลากลางคืน
เลี้ยงในกรุงเทพไม่มีปัญหาแต่ถ้าต่างจังหวัดหนาวก็ควรมีฮีทเตอร์ใต้ทรายด้วยครับ
เป็นปูที่มีอายุยืนครับ ถ้าเลี้ยงดีๆเป็นหลักสิบปีครับ แต่เพาะพันธุ์ได้ยากมากครับ
ตัวเมียจะมีจุดต้นขาคู่ที่สาม ตัวผู้ไม่มีครับ

   
        
บทความเลี้ยงปูเสฉวน ตามสไตล์
-ตู้เลี้ยงควรเป็นทรงสูงเพื่อไม่ให้อากาศแห้งเร็วเกินไป ชามอาหารและชามน้ำใช้ถ้วยเซรามิค พลาสติก ฯลฯได้หมด
 บ้านใช้ดินเผา พลาสติก กะลา ฯลฯ ได้หมดเพื่อให้หลบกลางวัน วัสดุตกแต่งกิ่งไม้ ต้นไม้เพื่อให้ปืนออกกำลัง ปีนเก่งมาก
 ตู้ปลาเหมาะสุด แต่ต้องกรีดเอาซิลิโคนที่ยื่นออกมาให้หมดกันปีนหนีออกมา


-อุณภูมิไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไปครับ อย่าโดนแดดแจ้งตรงๆและถ้าหนาวมากๆก็ควรมีหลอดไฟให้ความอบอุ่นด้วย

-ความชื้นก็สำคัญครับ ไม่ควรปล่อยตู้แห้งนานหลายวัน ความชื้นไม่ควรต่ำกว่า 70% แต่ผมเอาง่ายๆฉีดฝอยวันละครั้งสองครั้ง และรดทรายสัปดาห์ละครั้งครับ หรือจะใส่ฟองน้ำธรรมชาติในชามน้ำด้วยก็ได้


-วัสดูรองพื้นควรใช้ทรายทะเลหากหาไม่ได้ก็ใช้ทรายร่อนละเอียดล้างน้ำก็ได้ + ขุยมะพร้าวละเอียดแช่น้ำก่อนใช้ก็ดีครับ
 + เศษใบไม้ล้างน้ำ + ปะการังเบอร์0 ผสมรวมกัน ให้หนาพอที่ปูจะขุดลงไปได้ทั้งตัว หรือตู้หลักปูบางๆและตู้เสริมไว้
 ลอกคราบปูทรายหนาๆก็ได้


-ปูเสฉวนเป็นสัตว์สังคมควรเลี้ยงมากกว่าหนึ่งตัวครับจะได้ไม่เหงา แต่ก็ไม่ควรแน่นเกินไปเช่นกัน เพราะถ้าปูขุดลงไปเจอตัวอื่นที่ลอกคราบอยู่อันตรายมาก ปูจะใช้เสาอากาศคู่กลางสื่อสารกัน และการกระดิกเสาอาอาศยังแสดงถึงสุขภาพปูด้วย ว่าปรกติหรือไม่

-น้ำดื่มควรเป็นน้ำสะอาดที่ปราศจากคลอรีน และน้ำทะเลไว้อาบสามารถลงไปแช่ได้ทั้งตัว แต่ถ้ามีตู้ทะเลก็แทนได้เลยครับ  อาบน้ำให้อาทิตย์ละครั้ง พลิกคว่ำหงายช่วยกันราและแมลงและดื่ม และอาบให้ปูลอกคราบใหม่เพื่อกำจัดกลิ่นลอกคราบและปูมาใหม่ เปลือกหอยที่อยู่ในตู้ก็ควรล้างด้วยน้ำทะเลด้วย


-การลอกคราบ ก่อนลอกปูจะกินและดื่มเยอะเพื่อสะสมสารอาหาร หลังจากนั้นเสาอากาศจะช้าลง เคลื่อนไหวน้อยลง (ต้องคอยสังเกตและแยกปูหากมีตู้แยก) ปูจะขุดทรายลงไป ตีเป็นห้องใต้ทราย ลอกประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์กินคราบตัวเอง
 ปูเสฉวนจะเหมือนกับปูกุ้งคือสามารถสร้างหนวด ก้ามและขาทดแทนได้ ตัวเล็กๆอาจลอกคราบถี่2-3ครั้งต่อปี
 ตัวใหญ่ก็อาจปีละครั้ง อย่างเจ้าจิ๋วนี่(coenobita violascens)ก้ามใหญ่ที่ขาดไปก็สามารถงอกแทนได้แต่จะให้ขนาดเท่าเดิมต้องลอกครั้งถัดๆไปครับ


-อาหารกินได้หลากหลายครับ ทั้งอาหารเม็ด แผ่น อาหารปลา ข้าวสวย ผัก อาหารสด ผลไม้ ฯลฯ


 ผลไม้ที่มีแคโรทีนช่วยไม่ให้สีซีดลงหลังลอกคราบ เช่นมะละกอ ฟักทอง ฯลฯ
 
 หลังจากนั้นก็เริ่มให้ผลไม้สีเพิ่มมา จนล่าสุดปูเพิ่งลอกคราบใหม่เห็นความแตกต่าง  เป็นปูสตอเบอรี่(coenobita perlatus) สีออกมาเหมือนตอนซื้อมาเป๊ะ


 ต้องรอดูว่าพันธุ์อื่นจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังลอหหรือไม่ต่อไปครับ
 และก็ควรเสริมแคลเซียม ด้วยลิ้นทะเล เปลือกไข่ กัลปังหา ฯลฯ ให้ในตู้และในอาหาร เพราะลำพังแคลเซียมจากการลอกคราบ จากน้ำทะเล ไม่พอ ส่วนลิ้นทะเลซื้อจากร้านอาหารนกก็ได้ขายเป็นขีดถูกดีครับ


-เพศดูที่ขาคู่ที่สาม ดังรูปเป็นตัวเมียครับ ส่วนตัวผู้ไม่มีจุดครับ


-การเพาะพันธุ์ในธรรมชาติเมื่อตัวเมียวัยเจริญพันธุ์ไข่ได้รับการผสมแล้ว จะเดินทางไปปล่อยตัวอ่อนลงในทะเล แล้วตัวอ่อนจะกลับมาอาศัยตามชายหาดและขึ้นมาอาศัยบนบกอีกที
 แต่ในตู้เลี้ยงสภาวะอาจไม่เหมาะสม เคยแต่เห็นรูปไข่ปูเสฉวนในเน็ทและปล่อยตัวอ่อนในถ้วยน้ำดื่มแต่ไม่รอด ถ้าจะให้รอดก็ต้องเตรียมตู้ไว้อนุบาลสัตว์ทะเลกันเลยทีเดียว

ขอบคุณทุกท่านที่ทนๆอ่านมาจนจบครับ ก๊ากกก วิธีเลี้ยงอันนี้เป็นเพียงวิธีนึงเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นวัสดุและวิธีการสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามพื้นที่นั้นๆอีกทีครับ
credit : raidenII
_______________________________________________________________________________________

อุปกรณ์การเลี้ยง
1.ตู้ปลา
2.ทรายละเอียด
3.กิ่งไม้,ใบไม้แห้ง
4.ที่ฉีดน้ำ
5.ถ้วยน้ำตื้นๆ2ใบ

วิธีการเลี้ยง(คร่าวๆ)
พรมน้ำที่ทรายให้ชื้นไว้อย่าให้แห้งอย่าพรมเยอะมาก
ควรล้างปูอาทิตย์ละครั้งด้วยน้ำทะเล
อาหารที่กินไม่หมดควรเก็บทิ้ง
ไม่ควรให้ที่เลี้ยงมีกลิ่นเหม็น

อาหาร
อาหารหมา,แมว,ปลา,กุ้ง
ผัก,ผลไม้
ควรให้ผักผลไม้บ้าง
เปลี่ยนอาหารให้หลากหลายยิ่งดีครับ [on_026]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13/10/13, [12:53:02] โดย ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊กกับลูกสาวมุจิ๊จอมแก่น »
Tags: สัตว์น้ำอื่นๆ 
โอ' โย๊ะโย๋ ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #1 เมื่อ: 07/10/13, [09:12:30] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง] สุดยอดมากครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีดีนะครับ
สแตมป์ ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #2 เมื่อ: 12/10/13, [17:56:23] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เพิ่มเนื้อหานิดนึงครับ
fourthbettafish ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #3 เมื่อ: 09/04/14, [19:49:03] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครัช [เจ๋ง]
noimeeyad ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #4 เมื่อ: 23/06/14, [12:01:03] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สรุปว่าปูเสฉวนมีที่มาอย่างนี้นี่เอง อายุการมีอยู่ของมันยาวนานเหมือนกันเนอะ ต้องศึกษาไว้ๆ
malabasp ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #5 เมื่อ: 04/08/14, [15:52:13] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เกิดมายังไม่เคยเห็นเลยครับ
nram ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #6 เมื่อ: 12/01/15, [08:41:30] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สุดยอดเลยครับ [เจ๋ง]
taravit ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #7 เมื่อ: 22/01/15, [21:51:05] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ [เจ๋ง]
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: