
หลอดไฟชีวภาพจากนิเวศแบคทีเรีย
เวิลด์วาไรตี้ : หลอดไฟชีวภาพจากนิเวศแบคทีเรีย
ความฉลาดของคนเราทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตจากความเป็นอยู่แบบธรรมดาๆ ราวกับสัตว์ป่า ให้เป็น อารยชน ได้เกือบสมบูรณ์ เพราะคนเรามีความคิด มีตรรกะในการกลั่นกรอง พิจารณาและสั่งสมความรู้มาจากรุ่นสู่รุ่นอารยธรรมของคนเราจึงก้าวหน้าเหนือสัตว์อื่นๆ
จะว่าไปแล้วคนเราก็เอาเปรียบสรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ไม่น้อย รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแบคทีเรีย กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน วิทยาเขตเมดิสัน ก็ยังจับมาใส่ในขวดแก้วและจำลองระบบนิเวศที่ทำให้เชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม หนึ่ง มีชีวิตอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง และให้ประโยชน์แก่มนุษย์ด้วยการเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง โดยไม่ต้องลงทุนใช้พลังงานใดๆ เพิ่มเติมอีก
สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่า หลอดไฟชีวภาพ ที่เป็นการสร้างระบบนิเวศปิดให้แก่กลุ่มเชื้อแบทีเรียที่เกื้อกูลต่อการดำรงชีวิตระหว่างกัน โดยไม่จำเป็นจะต้องใส่อาหาร อากาศ หรือสิ่งใดๆ เข้าไปอีกเลย
นายไมเคิล ไซเกน 1 ใน 3 นักศึกษาที่คิดค้นหลอดไฟชีวภาพขึ้นมาเพื่อเข้าประกวดในโครงการ CrowGrant Challenge ของนิตยสารป๊อปปูล่าร์ ไซแอนซ์ ที่ผู้เข้าประกวดจะมีสิทธิ์นำเสนอผลงานของตนเองต่อสาธารณชนเพื่อชิงโอกาสในการรับเงินสนับสนุนการลงทุนต่อยอดโครงการวิทยาศาสตร์ของพวกเขา โดยนายไซเกนและเพื่อนได้ ปรุง ส่วนผสมหลอดไฟฟ้าชีวภาพจากเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเกีย โคไล หรือ อี-โคไล ที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม
เชื้ออี-โคไล โดยทั่วไปแล้วมักจะพบได้ในร่างกายคนและสัตว์ ซึ่งโดยปกติแล้วเชื้อชนิดนี้จะไม่เรืองแสงหรือเปล่งแสงออกจากตัวเอง แต่ด้วยฝีมือของทีมงานอีก 2 คน นั่นคือ อเลกซานดรา โคห์น และ อะนาอีลีส เบคมาน ได้ตัดแต่งพันธุกรรมของเชื้ออี-โคไลให้มีความสามารถในการเรืองแสงเช่นเดียวกับ แมงกะพรุน หมึก หรือหิ่งห้อย ก่อนที่จะนำเชื้อต้นกำเนิดแสงไปใส่ในระบบนิเวศปิดที่มีที่อยู่อาศัย และแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ที่ใช้แสงเรืองจากแบคทีเรียอี-โคไล ในการสังเคราะห์แสงผลิตอาหารและกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นมาในระบบนิเวศ เป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้ระบบนิเวศนี้ ไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอกอื่นใดอีกเลย และดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเดือนๆ
ทั้งนี้ทีมงานสามารถสร้างเชื้ออี-โคไล ที่เรืองแสงออกมาได้ชั่วคราว และกำลังวิจัยตำแหน่งแห่งที่ในการตัดแต่งพันธุกรรมนำดีเอ็นเอที่กำหนดการเรืองแสงไปใส้ในที่ที่เหมาะสม เพื่อจะทำให้เชื้ออี-โคไล สามารถเรืองแสงได้จากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นหลอดไฟชีวภาพที่เปล่งแสงสีน้ำเงินออกมาได้ชั่วกาลนาน
แม้แสงสว่างที่เกิดขึ้นจากหลอดไฟชนิดนี้ของนักวิทยาศาสตร์ทีมนี้จะไม่สว่างเจิดจ้าเหมือนกับหลอดไฟจากอุตสาหกรรม แต่ในเชิงความคิดแล้วถือว่านักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ มีประกายเจิดจ้านำส่องทางให้คนอื่นได้แจ่มจรัสเลยทีเดียว