
____________________________________________________________________
หากสิ้นศรัทธาในการเรียนรู้ หมดแล้วซึ่งความรับผิดชอบ ก็ไม่ต่างอะไรกับเศษดินที่ถูกบ้วนทิ้งเมื่อไร้เศษอาหาร

ห่างหายจากการทำบทความไปหลายเดือนวันนี้ผมกลับมาพร้อมกับข้อมูลการเลี้ยงดูเหล่าปลาหมอสายพันธุ์แท้ จากแดนละตินอเมริกา ที่มีเหล่ามัจฉามากมายกว่า ร้อยสายพันธุ์ แต่ในจำนวนนี้ มีปลากลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงเป็นพิเศษ นั้นคือ ปลาหมอ (Cichlid) โดยปลากลุ่มนี้ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของสายพันธ์มาก
วันนี้ผมขอนำเสนอปลาหมอกลุ่ม Geophagus ด้วยความสวยแปลกกับลวดลายที่ออกแนวสีหวานๆ ชวนมองได้นานเป็นวันๆ และลักษณะการหากินของปลากลุ่มนี้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการหากินด้วยวิธีการจิกหน้าดินเพื่อสูบเอาเหล่าบรรดาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆจำพวกลูกปลา แมลงน้ำและกุ้งกิน จากนั้นจะบ้วนเศษดินทิ้ง

ปลากลุ่มนี้นอกจากลักษณะการกินที่แปลกประหลาดแล้ว พวกมันยังเป็นปลาหมอที่มีความดุร้ายน้อยมากๆ นั้นหมายถึงเราสามารถเลี้ยงดูปลากลุ่มนี้ได้หลายๆตัวในตู้เดียวกันโดยไม่มีการกัดกันถึงตาย(อาจมีข้อยกเว้นบางกรณี) อาจมีกระทบกระทั่งกันบ้างตามประสาปลานักล่าที่มีความหวงถิ่นที่อยู่พอสมควร ปัญหาการกระทบกระทั่งกัน มันเกิดขึ้นได้ทุกๆเวลา ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาเราควรเริ่มตั้งแต่ยังไม่ตั้งตู้ ไม่ใช่ตั้งแล้วค่อยหาทางแก้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสายเกินไป

ครับ วิธีการแก้ไขเรื่องปลากัดกัน นั้นง่ายมากๆ ผมใช้สูตร 3ถึง คือ จำนวนถึง อาหารถึง ที่หลบถึง
หมายเหตุ ซึ่งสามารถปรับใช้กับการเลี้ยงปลาหมอชนิดอื่นๆได้ตามสมควร
1. จำนวนถึงในที่นี้ คือจำนวนปลาต่อตู้เลี้ยง ไม่ใช่มีตู้ 24 นิ้ว 1ใบซื้อลูกปลามา 15 ตัว แน่นอนครับไม่เกิน 3 เดือน มันฟัดกันเกร็ดหลุดเปียกระจาย สุดท้ายมานั้งถามว่าปลาเป็นอะไร เหตุการณ์นี้ มักจะพบเห็นได้บ่อยๆในกลุ่มผู้เลี้ยงปลาเริ่มต้น

สำหรับตู้ที่ผมแนะนำ
1.ตู้เลี้ยงขนาด 24 นิ้ว เหมาะสำหรับปลาฟอร์มเดี่ยว ( ไม่แนะนำเนื่องจากปลากลุ่มนี้จะว่ายตลอดเวลา ทำให้มีโอกาศโดดออกนอกตู้สูง
2.ตู้เลี้ยงขนาดขนาด 30 นิ้ว เหมาะสำหรับเลี้ยง 5-6ตัวครับ ส่วนปลาหมอกลุ่ม geophagus ที่แนะนำบางประเภทเช่น ทาปาโจส ฮอนเด้ ทานิโอพาริอุส ซึ่งปลาพวกนี้มักมีขนาดโตเต็มที่ไม่เกิน 15 Cm หรือ 4ถึง5 นิ้ว โดยเราสามารถเลี้ยงรวมได้ประมาณ 4-6 ตัวในตู้ขนาดนี้ แต่เมื่อปลาโตเต็มที่ก็จะรู้สึกอึดอัดเหมือนกัน
3.ตู้เลี้ยงขนาด 36 นิ้วเป็นตู้ไซด์แนะนำครับสามารถเลี้ยงได้เกิน 5 ตัวขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 10 ตัวครับ สามารถเลี้ยงได้ยาวๆ แนะนำ ทาปาโจส ฮอนเด้ ทานิโอพาริอุส หรือจะมีกลุ่ม Gymnogeophagus Acarichthys ด้วยก็ได้ เนื่องจากขนาดตัวไม่ใหญ่มากจนเกินไป เช่น เกยี่ บาซานี่ เฮคเคลลี่อาย ซึ่งผมจะมารีวิวต่อไปอีกครั้งนึงในโอกาศหน้า
4. ตู้เลี้ยงขนาด 48 นิ้ว ขึ้นไป สามารถอัดปลาได้เต็มสูบ โดยสามารถเริ่มเลี้ยงปลา Geophagus ขนาดใหญ่ จำพวก สุรินั่ม อันติฟรอน พินดาเร่ ไวมิลเลอร์ ไดรโครซอสเตอร์ได้ ประมาณ 4-6 ตัวครับซึ่ง จำนวนประมาณนี้ปลาจะกัดกันน้อยมาก ส่วนใหญ่เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดอยู่ที่ 10-12 นิ้วโดยประมาณ (ที่บ้านผมเลี้ยงมาเกือบ 2 ปีได้ 10 นิ้วครับ) เนื่องจากปลาพวกนี้จะมีขนาดใหญ่มากๆแล้วการเลี้ยงด้วยจำนวนที่เหมาะสมก็จะลดอัตราการกระทบกระทั้งไปบ้าง

ส่วนตู้ 60 นิ้วขึ้นไปก็ลงปลาตามความเหมาะสมครับ จะเลี้ยงแค่ 4-8 หรือจะอัดแน่นๆแบบที่บ้านผม 60*24*24 อัดไป 20 ตัว ก็สามารถทำได้ แต่หากปลาจำนวนเยอะเกิน นั้นหมายถึงระบบกรองก็แบกภาระเรื่องการกำจัดของเสียงมากเป็นเงาตามตัวครับ
2.อาหารถึง ในที่นี้หมายถึงการให้อาหารที่ไม่มากจนปลาท้องอืดตายหรือให้น้อยจนปลาเหลือแต่ก้าง
ตามสูตรที่ผมให้มา คือให้อาหารวันละ มื้อ จัด 3วัน เว้น 1 วัน ตั้งแต่เลี้ยงมาปลาไม่เคยท้องอืดตาย ปลาว่ายมาขอ ก็อย่าใจอ่อนครับ ผมถือคติตามที่ท่านบอยเคยบอกว่า ปลาหิวดีกว่าปลาอิ่ม ถือเป็นคำพูดที่ยังคงสามารถใช้ได้ ไม่เปลี่ยนแปลง

3.ที่ซ่อนถึง บางท่านประสบปัญหาปลาว่ายแอบ ลอยมุมตู้ หรือผิวน้ำ เมื่อปลาลอย ท่านทั้งหลายมักสันนิฐานว่า ปลาป่วยก็จัดยาไป หลายขนาดปรากฎว่า ปลาตาย -*- สรุปง่ายๆครับ ปลาลอยหอบสังเกตุก่อนเลยครับว่ามันโดนไล่จนหอบหรือไม่หลายๆครั้ง ปลาที่ท่านเลี้ยงท่านอาจจะเห่ออยู่แปปๆ จากนั้นไม่สนใจ เจอปลาใหม่ซื้อมาโยนตูมๆ เมื่อปลาเเน่นเกินไป มันไล่กัน ไล่มากๆหอบ เนื่องจากไม่มีที่หลบ เราก็ควรจัดให้มีขอน มีกองหินเพื่อให้ปลาว่ายหนีมีทางหลบหรือพักผ่อนบ้าง

เมื่อเราสามารถจัดการกับปัญหาการกระทบกระทั่งของปลาชนิดนี้แล้วเราก็ควรหันมาใส่ใจเรื่องค่าน้ำที่ปลากลุ่มนี้อาศัยอยู่
ปลาหมอกลุ่มนี้ชอบน้ำแก่ ไม่ใช่น้ำที่มีอายุมากนะ แต่เป็นน้ำที่มีสภาพความเป็นกรดอ่อนๆ เคยมีน้องท่านนึงมาบอกว่า น้ำแก่คือน้ำเก่า พวกเล่นไม่เปลี่ยนน้ำเป็นเดือนๆ ปลาก็หัวเป็นรูซิครับ ซึ่งปลากลุ่มนี้เราจะพบโรคที่เป็นเหมือนโรคประจำตัว คือโรคหัวเป็นรู ซึ่งมีโอกาศเกิดขึ้นได้ ทุกเวลาเมื่อ สภาพน้ำสกปรกเกิดการหมักหมมหรือแม้กระทั่งอากาศที่เปลี่ยนในช่วงวันซึ่งโรคนี้ผมเคยได้พูดถึงไปบ้างแล้ว เอาเป็นว่าน้ำแก่ในที่นี้คือน้ำที่มี Ph 5.5-6.5 ปลากลุ่มนี้จะสามารถขับสีออกมาได้หวานจับใจมากๆ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ 1-2อาทิตย์ครั้ง แล้วแต่สภาพกรอง ว่าสามารถแบกรับภาระของเสียได้มากน้อยแค่ไหนเอาเป็นว่า ใน 1อาทิตย์ควรเปลี่ยนน้ำประมาฯ 20% - 30%และควรเป็นน้ำพักที่ปราศจากน้ำคลอรีน ส่วนตัวน้ำฝนผมไม่แนะนำเนื่องจากมีสารเจือปนเยอะมากๆ ถ้าไม่สะดวกในการพักน้ำกรองคลอรีน 450 บาท สามารถช่วยท่านได้ วิธีปรับค่าน้ำให้มี Ph ต่ำๆ สามารถทำได้โดยวิธีการใส่ใบหูกวางลงไป 3-4ใบต่อน้ำ 200ลิตร และไม่ต้องเปลี่ยนใบหูกวางนะใช้จนมันละลายก็เติมลงไปในปริมาณเท่าเดิม ใบหูกวางควรเป็นใบที่แห้งสนิท ทำความสะอาดเศษดินหรือเศษฝุ่นก่อนนำมาใช้ด้วยการล้างน้ำเปล่า ไม่ต้องถึงขนาดแช่ด่างทับทิม
น้ำแก่หน่อยสีสวยนะเออ

หัวเป็นรูโรคยอดฮิตปลาหมอเซาร์อเมริกา!!
อีกเรื่องที่ค้างไว้คือเรื่องโรคหัวเป็นรู สามารถรักษาได้ด้วยยา เมโทรดินาโซล หากมีการติดเชื้อที่แผล บวมแดงก็ใช้อัมม๊อกซี่ ด้วยก็ได้ครับ ปริมาณ 250 มก ต่อน้ำ 10ลิตร ครับ อัตราการรอด 80% หากรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รูใหญ่ ขยายวงจนกว้างแล้วไปอัดยา ปลาตายครับ ประสบการณ์ตรง!!!
มาถึงเรื่องอาหารการกินซะหน่อย
ปลากลุ่มนี้กินง่ายครับ ฮิคาริเม็ดจม ไฮเกรดลูกกบ ฮิคาริเอ๊กเซล ไรทะเล หนอนแดงพวกฟาดเรียบ
แต่เท่าที่เลี้ยงมาผมเลี้ยงด้วยฮิคาริซากิ และไลออนเฮด ปลาสีสวยครับ เสริมอาหารสดบ้างนานๆครั้งปลาจะคึกเป็นพิเศษ หากมีที่เก็บถนอาหาร สามารถให้พวกกุ้งฝอยหักกรีเสริมได้ หรือจะให้กุ้งฝอยทั้งเป็นลงไปปลาก็กินดุดี แต่ควรดูเรื่องความสะอาดของอาหารสดด้วยครับ จากประสบการณ์ ผมเคยเจออาการติดเชื้อจากอาหารสดอยู่เหมือนกัน ทางที่ดีอาหารเม็ดสำเร็จรูปคุณภาพสูงๆ ก็สามารถทดแทนในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี

เรื่องอุณหภูมิ
สำหรับปลากลุ่มนี้ 26-30องศาไม่ควรเกินนี้ครับ ปลากลุ่มนี้สามารถปรับตัวอยู่กับอากาศแบบบ้านเราได้สบายๆ
หาพัดลมติดให้ช่วงหน้าร้อนหน่อยก็สบายละครับ

วัสดุปูพื้น แนะนำทรายดำหรือกรวดขนาดเล็ก เนื่องจากท่านจะได้อิ่มเอมกัยพฤติกรรมการดูดดินของปลากลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดีหลีกเลี่ยงวัสดุที่มีความคมเช่นหินนิลดำ
เมทปลาหมอกลุ่มนี้ที่ผมไว้วางใจได้แก่พวก เรนโบ คองโกเตตร้า ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าปาก ในที่นี้เคยเห็นมันหม่ำคาปากมาแล้ว ดังนั้นอย่าได้วางใจ
เจ้านี้อยู่มา 2 ปี ตัวเกือบ 4นิ้ว ปลาทรงเครื่อง

L001

หมูจักรพรรดิ์

คองโก

หรือจะเป็นพวกเรนโบว์ต่างๆ เช่น เรนโบว์แดง เรนโบว์สองสี เรนโบว์นีออน ก็สามารถอยู่ร่วมกับปลากลุ่มนี้ได้
ในปลากลุ่ม Geophagus มีอยู่ชนิดนึงที่ผมอยากบอกว่าดุมาก ถึงมากที่สุดคือ
บาซิลี่ เจ้านี้ตั้งแต่ได้รับอุปการะมา ซัด เทนิโอตายไป 1 แถมหลังฟิจเจอร์ริ่งแล้วมันยังพาเมียกลับแดนละติน

ในส่วนของ Geophagus ผมของจบบทความไว้ก่อนเพียงเท่านี้
ส่วนปลากลุ่ม อีก 3 กลุ่มนี้ติดไว้ก่อนครับ ^^
Gymnogeophagus
Acarichthys
satanoperca
ส่วนท้ายนี้เป็นรายชื่อปลากลุ่มนี้เท่าที่ผมจะหามาได้ครับ ลองดูเป็นตัวๆไปเท่าที่ทราบมาตอนนี้ที่เราสามารถจับจองเป็นเจ้าของ มีให้เลี้ยงยังไม่ถึง 10 ชนิดเลยครับ สำหรับปลากลุ่ม Geophagus
สอบถามเพิ่มเติมกรุณา Pm ครับ
หากชอบกด Like ถ้าใช่ก็แชร์ๆกันอ่านนะครับ
ขออภัยหากเนื้อหาบางช่วงบางตอนผิดพลาดประการใดวานบอก
List รายชื่อพันธ์ปลากลุ่ม eartheater เท่าที่ผมเสาะหามาได้มีจำนวนกว่า 25 สายพันธ์
ในจำนวนนี้ผมได้มีโอกาศที่จะเลี้ยงไม่ถึง 6สายพันธ์
Geophagus abalios
Geophagus altifrons
Geophagus argyrostictus
Geophagus brachybranchus
Geophagus brasiliensis
Geophagus brokopondo
Geophagus camopiensis
Geophagus crassilabris
Geophagus dicrozoster
Geophagus gottwaldi
Geophagus grammepareius
Geophagus harreri
Geophagus iporangensis
Geophagus itapicuruensis
Geophagus megasema
Geophagus neambi
Geophagus obscurus
Geophagus parnaibae
Geophagus pellegrini
Geophagus proximus
Geophagus steindachneri
Geophagus surinamensis
Geophagus sveni
Geophagus taeniopareius
Geophagus winemilleri
สวัสดี . . . . .
เนื้อหาในบทความนี้ ได้จากการหาข้อมูลในเวปสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ
www.fishbase.org
www.seriouslyfish.com
www.cichlidae.com
และแรงบันดาลใจ จาก คุณบอยผู้ล่วงลับ