การเลือกใช้วัสดุปลูก จะมีด้วยกันหลักๆสองแนวทาง คือใช้วัสดุปลูกหลักเป็นกรวด และแบบที่ใช้ดินสำหรับตู้ไม้น้ำ
การใช้กรวดเป็นวัสดุปลูก
กรวด
กรวดสำหรับเป็นวัสดุปลูกไม้น้ำที่ดี ต้องไม่เพิ่มค่า pH ไม่ทำให้น้ำกระด้าง ขนาด 2-3 มิลลิเมตร และไม่มีคมมากนัก เพราะมันจะบาดต้นไม้เวลาปักได้
กรวดที่เหมาะสมกับตู้ไม้น้ำ
กรวดแม่น้ำโขง | กรวดแก้ว |
![]() | ![]() |
เป็นหนึ่งในกรวดที่แนะนำให้ใช้เป็นวัสดุปลูก กลมดิก ไม่มีเหลี่ยม สีจะเป็นสีโทนคล้ำๆปนๆกันหลายสี จัดตู้แล้วจะออกแนวเข้มๆหน่อย | นี่ก็แนะนำเหมือนกันครับ เนื่องจากมีเหลี่ยมคมที่จะทำอันตรายรากและลำต้นของไม้น้ำน้อย สีสันเป็นธรรมชาติในโทนออกขาวหน่อย หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายกรวดทุกร้านครับ กิโลละ 10-20 บาท ขนาดที่นิยมก็จะเป็นเบอร์ 0 (ใหญ่กว่า 00 หน่อย) กับ 00 (เล็กสุด) |
กรวดลูกรัง | กรวดนิล |
![]() | ![]() |
เป็นกรวดที่ใช้ได้อีกอันนึงครับ มีธาตุเหล็กเยอะ เป็นการเสริมปุ๋ยเหล็กให้กับต้นไม้ได้ดีอีกทางหนึ่ง เพราะจะปล่อยธาตุเหล็กออกมาช้าๆ เสียตรงตัวหินมันละลายป่นออกมาอยู่ตลอด อาจจะทำให้น้ำขุ่นได้ถ้าดูแลไม่ดี และทำให้ใยกรองสกปรกเร็วกว่าปกติ แต่ก็ถือว่าใช้ได้ครับ อารมณ์คล้ายๆดินแดงๆ | อันนี้พอใช้ได้ครับ รูปร่างยังเหลี่ยมอยู่ แต่มักไม่มีคมเท่าไหร่ ที่ไม่แนะนำคือ บ่อยครั้งที่จะเจอแบบที่มีแร่เหล็กผสมอยู่มาก ทำให้มันติดแม่เหล็กขัดตู้ครับ ทีนี้มันติดเป็นเศษเล็กๆ ถ้าขัดตู้ไป จะเป็นยังไงล่ะครับ แต่ถ้าไม่ได้ใช้แม่เหล็กขัดตู้ และชอบความดำของมัน ก็ใช้ได้ครับ อาจจะหาเม็ดเล็กๆยากสักหน่อย |
กรวดที่ควรหลีกเลี่ยง




หินเกล็ดสีต่างๆ เป็นกรวดที่มีเหลี่ยมคมค่อนข้างมาก อันตรายกับรากต้นไม้และมือคุณ ไม่ควรใช้ครับ ยิ่งแบบย้อมสียิ่งไม่ดีใหญ่


ทรายทะเลและเศษปะการัง ได้จากการย่อยสลายตัวของซากปะการังตามธรรมชาติ ใช้แล้วทำให้ pH ขึ้น ใช้ได้ถ้าปริมาณน้อยๆ แต่จะให้ดี หาทรายที่ไม่ใช่ทรายทะเลจะดีกว่า
เศษปะการังนี่ไม่ควรใช้ด้วยประการทั้งปวงครับ pH ขึ้น น้ำกระด้าง และทำลายแนวปะการัง
ทราย
จริงๆมันก็คือกรวดนั่นแหละ แต่เม็ดเล็กละเอียดกว่า สามารถใช้ได้ในการตบแต่งตู้ เช่นโรยด้านหน้าพื้นตู้ แต่ถ้าจะเอามาเป็นวัสดุปลูกเลยจะไม่ค่อยเหมาะ เพราะเม็ดละเอียดเกินไป ทำให้เวลาฝังปุ๋ยแล้วต้นไม้ไม่ค่อยได้ปุ๋ย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับด้านบนก็ไม่ดี เกิดชั้นดำได้ง่าย ถ้าจะใช้เป็นวัสดุปลูกควรจะเป็นทรายหยาบ เม็ดใหญ่กว่า 1mm ขึ้นไปถึงจะใช้ได้ครับ และก็ควรจะเป็นทรายที่ดูดจากแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำจืด ไม่ใช่ทรายทะเล
ทรายก่อสร้างนี่ก็ใช้ได้นะครับ เพราะเป็นทรายดูดจากก้นแม่น้ำซะส่วนมาก หรือไม่ก็ขุดจากที่ๆเป็นดินทราย เอาเบอร์หยาบๆหน่อย ที่สำหรับผสมปูนเท


ตัวอย่างทรายน้ำจืดที่ผลิตมาสำหรับตู้ไม้น้ำ ยี่ห้อนี้จะสีออกส้มๆนิดนึง แปลกตาดีกว่าทรายก่อสร้าง ล้างมาสะอาดแล้วด้วย ไม่ต้องมาล้างอีก
ปุ๋ยรองพื้น
การใช้กรวดต้องมีปุ๋ยรองพื้นด้วย เพราะกรวดส่วนมากไม่มีสารอาหารอะไรให้ต้นไม้ โดยเฉพาะธาตุหลัก N P K
วิธีที่ 1 แบ่งกรวดออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคลุกปุ๋ยรองพื้นตามอัตราส่วนของแต่ละยี่ห้อ เอาเทใส่ตู้ แล้วเอากรวดที่เหลืออีก 2 ส่วนลงทับหน้า วิธีนี้จะทำให้ปุ๋ยรองพื้นกระจายได้สม่ำเสมอและทั่วถึงดี
วิธีที่ 2 โรยปุ๋ยรองพื้นลงบนพื้นตู้ แล้วเอากรวดเทลงทับ ก็ใช้ได้เหมือนกันครับ ง่ายและผลไม่แตกต่างกันมากนัก
แล้วปุ๋ยรองพื้นมีตัวไหนบ้าง? ตอนนี้ในตลาดที่พอหาซื้อได้สะดวกหน่อย น่าจะเหลืออยู่ยี่ห้อเดียว
Ferka AquaBase

ปุ๋ยรองพื้นลักษณะผงละเอียด เหมือนผงโอวัลติน จากประสบการณ์ส่วนตัว ต้นไม้โตได้สมบูรณ์ดีแม้จะยังไม่ได้ฝังปุ๋ยในเดือนแรก ไม่ทำให้เกิดชั้นดำ และผงละเอียด ทำให้คลุกกับวัสดุรองพื้นได้ง่ายและทั่วถึง
ขนาดบรรจุ 250 กรัม
ราคา ประมาณ 300 กว่าบาท
นอกจากนี้ก็จะมีเป็นพวกที่ผสมปุ๋ยรองพื้นมากับพัมมิสเลย โดยมากมักจะใช้ร่วมกับดินมากกว่า แต่จะใช้กับกรวดก็ได้เหมือนกัน
ADA Power Sand, Power Sand Special

ของยี่ห้อนี้จะมาแบบผสมในพัมมิสมาเลย โดย Power Sand ธรรมดาจะมีแค่อินทรียสารผสมกับพัมมิส ส่วน Power Sand Special จะผสมอินทรียสารกับ Bacter 100 และ Clear Super ของเขามาด้วย
ADA Power Sand Special
คุณภาพก็การันตีได้โดยผู้ใช้ทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Power Sand Special สารอินทรีย์และจุลินทรีย์ที่ผสมมา ทำให้พื้นปลูกสมบูรณ์ ให้แร่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการได้ในระยะยาว และทำให้การตั้งตู้สะดวกรวดเร็ว เพราะเราไม่ต้องมาใส่อะไรเพิ่มอีก ฉีกถุงเทใส่ตู้แล้วเทดินทับได้เลย เหมาะสำหรับคนที่ขี้เกียจผสมปุ๋ยรองพื้นเอง
การใช้ดินสำหรับตู้ไม้น้ำเป็นวัสดุปลูก
ดินสำหรับตู้ไม้น้ำ
ข้อดีของดิน
- เนื้อนุ่ม ดินอัดเม็ดหรือที่บางทีเรียกกันว่าดินภูเขาไฟ (แต่มันก็ไม่ได้มาจากภูเขาไฟ) จะมีความอ่อนนุ่มในตัว เหมาะกับการปักและแทงรากของต้นไม้มากกว่ากรวด
- ดินมีแร่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการ ทำให้ต้นไม้มักจะเติบโตได้ดีกว่ากรวด ลดโอกาสที่ต้นไม้จะชะงักการเจริญเติบโตเนื่องจากปุ๋ยขาดช่วงได้ส่วนหนึ่ง (แต่หากมีปุ๋ยรองพื้น ฝังปุ๋ยดีๆ ต้นไม้ที่อยู่ในพื้นกรวดก็งามได้เช่นกัน) ทำให้เราสามารถหลงลืม ผิดพลาดในการฝังปุ๋ยได้บ้าง โดยไม่มีผลกระทบมากนักกับต้นไม้
- ทำให้น้ำอ่อน ดินหลายตัวมีคุณสมบัติช่วยให้น้ำใสขึ้น และในดินมีกรดฮิวมิค ช่วยลด pH ทำให้น้ำอ่อน เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นไม้
- ทำให้ตู้ดูเป็นธรรมชาติ สีเข้มๆของดินทำให้ตู้ดูดิบเป็นธรรมชาติ ตัดสีต้นไม้ให้ดูเข้มขึ้น และสัตว์น้ำต่างๆ มักจะปรับสีของตัวเองตามสีพื้น ให้เข้มขึ้น สดขึ้น
ข้อเสียของดิน
- อายุการใช้งานจำกัด ส่วนมากมีอายุประมาณ 1-2 ปี ก็จะเริ่มป่น เละ หมดปุ๋ย ต้องซื้อใหม่เรื่อยๆ
- อาจทำให้น้ำเปลี่ยนสี กรดฮิวมิคและสารอินทรีย์ในดิน อาจทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่ยังมีฮิวมัสอยู่เยอะ
- ราคาสูง ถุงขนาด 8-9 ลิตร จะราคาราวๆ 800-1200 บาท
แม้จะแพงกว่า อายุการใช้งานสั้นกว่า และมีการดูแลที่ลำบากกว่ากรวด แต่ด้วยข้อดีข้างต้น ก็เลยทำให้ตอนนี้ดินเป็นวัสดุปลูกที่เป็นที่นิยม
แล้วจะใช้ดินอะไรดี? ม่ะ..เดี๋ยวจะแนะนำให้ แต่อย่าเชื่อมากนะ ฟังหูไว้หู คิดเอาเองมั่ง เดี๋ยวสมองฝ่อ
ADA Aqua Soil

ยี่ห้อนี้ผลิตอุปกรณ์สำหรับตู้ไม้น้ำมายาวนานทีเดียว ดินของยี่ห้อนี้ก็มีถึง 3 แบบ 3 รสชาติด้วยกัน โดยแต่ละชนิดจะมีสองขนาด คือ ขนาดปกติ และ Powder เม็ดจิ๋ว
แต่ที่มีขายกันตามร้านจะเป็น Aqua Soil Amazonia เม็ดสีดำ ส่วนอีกสองแบบไม่พบว่ามีขายในตลาดแล้ว ก็ไม่รู้เลิกผลิตหรือไม่เอาเข้ามาขายกัน
Black Earth


ดิน Black Earth ของ Cal Aqua labs. มีขนาดเม็ดสองขนาด Extra fine ที่เม็ดเล็กหน่อยและแบบ Normal หรือแบบธรรมดา
เม็ดดินเนียนละเอียด ไม่มีเศษอินทรียวัตถุที่มองเห็นได้ (ยังกะโฆษณาแชมพูกำจัดรังแค [lol])
เลือกดินได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนการลงดินแล้วครับ
"แล้วมีขั้นตอนยังไงมั่ง ใช้แต่ดินอย่างเดียวพอไหม?"
ใช้แต่ดินเพียวๆได้มั้ย ได้ครับ แต่ไม่ดี เพราะว่าดินมีการแตกตัวได้เมื่อระยะเวลาผ่านไปพื้นด้านล่างจะมีแต่เศษดินป่นๆเต็มไปหมด ออกซิเจนจากน้ำจะลงไปไม่ถึงบริเวณนั้น ทำให้เกิดการเน่าเสีย เกิดชั้นดำ และก๊าซไข่เน่าได้ง่าย ต้นไม้หงอย ตะไคร่ก็จะมา แถมยังเป็นสาเหตุของพลานาเรียบุกตู้ในตู้ที่ไม่มีปลาอีกด้วย
ปกติเราจึงจะรองพื้นชั้นล่างสุดด้วย "หินพัมมิส" (Pumice Stone) เป็นหินภูเขาไฟ เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของลาวา ทำให้มีความพรุนในเนื้อหิน มีน้ำหนักเบา มักจะลอยน้ำในระยะแรก ต้องแช่น้ำสักระยะหนึ่งถึงจะจมหากเอามาเป็นวัสดุกรอง แต่ถ้าจะเอามารองพื้นก็ไม่ต้องแช่ก็ได้ เพราะยังไงมันก็โดนดินทับให้จมอยู่แล้ว

หินพัมมิส ใช้เพื่อให้ชั้นล่างของพื้นปลูก คงความโปร่งไว้ได้นานขึ้น แถมด้วยความที่มันมีรูพรุนในเนื้อมาก ทำให้เป็นแหล่งที่อยู่ชั้นดีของจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่จะคอยย่อยสลายของเสียที่ตกลงไปในพื้นปลูกให้กลายเป็นแร่ธาตุที่ต้นไม้ดึงไปใช้ได้
"แล้วจะใส่ดินเท่าไหร่ พัมมิสเท่าไหร่ หนาเท่าไหร่?"
ตามเบสิคทั่วไปที่นิยมกัน ในตู้ขนาดกลาง-ใหญ่ คือ 24 นิ้วขึ้นไป จะลงวัสดุปลูกให้หนา 4-6 นิ้ว
สมมุติเราจะลงวัสดุปลูกให้หนา 4 นิ้ว ปริมาณที่เหมาะสมของพัมมิสคือหนาประมาณ 1/3 หรือประมาณ1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่ง อีก 2-2.5 นิ้วก็เป็นดิน
ที่แนะนำความหนา 4-6 นิ้ว คือสามารถปลูกไม้ได้เกือบทุกชนิด แต่หากเราปลูกแต่ไม้คลุมพื้น เช่นแฮร์กลาส กลอสโซ่ จะลงวัสดุปลูกหนาสัก 2-3 นิ้วก็ได้ เพราะไม้พวกนี้รากจะลงไม่ลึกนัก แค่ไม่ถึงนิ้วเท่านั้น ดินแค่นิ้วกว่าๆก็เพียงพอ
หรือลงดินด้านหลังปกติ แต่ด้านหน้าบางๆนิ้วเดียวโดยไม่มีพัมมิส สำหรับตู้ที่ต้องการลงไม้พื้นที่ด้านหน้าตู้
ไม่จำเป็นต้องเอาตามนี้เป๊ะๆ ปรับได้ตามปัจจัยและสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบหรือเลย์เอาท์ฺที่เราต้องการ
หากจะใส่ปุ๋ยรองพื้น ก็คลุกไปกับพัมมิสก่อน พอลงพัมมิสแล้วก็เอาดินถมให้หนาตามต้องการได้เลย
ลักษณะการลงพัมมิส ลงดิน ดูตัวอย่างของคุณ PorscH เลยครับ

ในช่องสุดท้าย เส้นๆนั่นคือเทปกาว แกแปะไว้เพื่อประโยชน์ในการกะระยะจัดเลย์เอาท์ครับ
แถมให้อีกอัน เป็นการลงดินโดยมีกรวดละเอียดลงด้านหน้าด้วย จากเว็บ Aquaplant Central

ปิดท้าย
- เรื่องการจัดสโลปของพื้นปลูก ทั้งดินและกรวด เช่นให้ด้านหลังสูงกว่าด้านหน้าสองนิ้ว หรือซ้ายขวาสูงกว่าตรงกลาง อันนี้ก็แล้วแต่ความต้องการของเรา ว่าจะให้ตู้ออกมาแบบไหน แต่อย่างน้อยควรจะให้ด้านหลังสูงกว่าด้านหน้า ไม่ว่าจะจัดสโลปแบบไหน เพราะจะทำให้ตู้มองดูแล้วมีมิติ มีระดับมากกว่าพื้นเท่าๆกันในทุกกรณี อันนี้ถ้าจะศึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้อ่านบทความ พ201 ศิลปะแห่งการจัดตู้ไม้น้ำ
พยายามหาดูงานจัดของคนอื่นมากๆ ทั้งในเว็บนี้และของต่างชาติ จะเข้าใจและได้ไอเดียมากขึ้น - การใช้วัสดุบางอย่าง รองคั่นระหว่างชั้นดินกับพัมมิส โดยมากก็เป็นตะแกรงพลาสติก หรือใช้การเอาพัมมิสใส่ถุงตาข่ายแล้ววางเรียงแทน ที่ทำแบบนี้กันมักจะมีเหตุผลอยู่ 2 อย่าง คือ
1. ป้องกันไม่ให้พัมมิสติดรากต้นไม้ขึ้นมาเวลาที่ถอนต้นไม้ ทำให้ดูไม่สวยงาม
2. ป้องกันการปนกันของดินกับพัมมิสเมื่อรื้อตู้ และต้องการที่จะใช้ดินเก่าในการจัดตู้ใหม่
- ปุ๋ยรองพื้น สามารถใส่ได้ทั้งในตู้กรวดและตู้ดิน โดยในตู้ดินที่มีการรองพื้นด้วยพัมมิสเปล่าๆ จะคลุกปุ๋ยรองพื้นไปกับพัมมิส ไม่นิยมเอาดินมาคลุกด้วย เพราะมันจะเละ
- ตู้กรวดของหลายคน ก็มีการรองพื้นด้วยพัมมิสเช่นกัน โดยหวังผลในเรื่องเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย และความโปร่งของวัสดุปลูก
- แม้จะไม่ได้มีการรองพื้นด้วยปุ๋ยรองพื้นมาก่อน ก็สามารถใส่เพิ่มทีหลังได้ ด้วยการกรอกใส่แคบซูลเปล่า แล้วฝังเหมือนปุ๋ยฝังปกติ แคบซูลเปล่าหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และร้านขายยาแผนโบราณ, ยาสมุนไพร
- การรองพื้นด้วยพัมมิส ควรเว้นที่บริเวณขอบด้านหน้าและด้านข้างไว้นิดหน่อย เพื่อเวลาลงดินทับ จะได้ไม่เห็นชั้นของพัมมิส ทำให้ดูเรียบเนียน สวยงาม ถ้าลงไปแล้ว ไม่ได้เว้นช่อง ไม่อยากให้เห็นพัมมิส ทำไงดี? ใช้ไม้บรรทัดหรือบัตรพลาสติก แงะๆตรงขอบให้มีช่องว่าง แล้วโกยดินยัดลงไปแทน ก็ใช้ได้