เริ่มแรก พืช หรือ ต้นไม้ มันคืออะไร?
พืชเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง
ครับ ถูกแล้ว พืช "เป็นสิ่งมีชีวิต" ที่มีอยู่ทั่วโลกราว 350,000 ชนิด พบได้ทั้งบนบกและในน้ำ
ลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นของพืชก็คือ มันสามารถ สังเคราะห์แสง ได้
การสังเคราะห์แสง คือการที่พืชรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ มาใช้ในการเล่นแร่แปรธาตุ
โดยการใช้แสง น้ำ และแร่ธาตุต่างๆ (ปุ๋ย) ที่พืชดูดซึมมาจากพื้นดินและอากาศ ผสมรวมกับ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงาน ในรูปของน้ำตาลกลูโคส และนำมาใช้ในการเจริญเติบโต สร้างลำต้น กิ่ง ใบ และราก
ทีนี้เราก็พอจะรู้เบสิคของพืชแล้วนะครับ ว่ามันต้องการอะไรบ้าง แต่ว่า เราจะปลูกไม้น้ำใช่ไหมครับ ไม่ใช่ต้นตะเคียน ไม่ใช่ผักคะน้า
ถ้าอย่างนั้น ไม้น้ำต้องการอะไรบ้าง? เรามาดูปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการกันก่อน
- วัสดุปลูกที่เหมาะสม
- ปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการ ในปริมาณที่เหมาะสม
- ปริมาณแสงสว่างที่พอเพียง ในระยะเวลาราว 8-12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง
- สภาพน้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ
- ปริมาณ Co2 และ O2 ที่เพียงพอ
เห็นมั้ยครับ คล้ายไม้บกมากๆ แค่มันกระแดะไปอยู่ในน้ำแค่นั้นเอง ดังนั้นการปลูกไม้น้ำก็จะไม่ต่างจากไม้บกมากนัก
ก็เตรียมที่ ลงดิน เอาต้นมันมา ฝังลงไป รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย นั่งเกาไข่รอดูมันโต โตมากไปก็ตัดแต่ง เย่!! เสร็จแล้ว
การเลี้ยงไม้น้ำมันก็เหมือนการจัดสวนในตู้ปลาน่ะแหละครับ แต่ไม้น้ำไม่ต้องรดน้ำครับ (แหงล่ะ)
พรวนดินก็ไม่ต้องครับ เพราะเราจะดูมันสวยๆ ไปพรวนดินขึ้นมาเดี๋ยวน้ำขุ่น ไม่ต้องมองกันล่ะ
ทีนี้เรามาดูรายละเอียดกัน ว่าไอ้ปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการเนี่ย เราจะจัดให้มันได้ยังไง แบบไหนถึงจะถูกใจมัน
วัสดุปลูกสำหรับตู้ไม้น้ำ มีอยู่สองชนิดหลักๆคือดินและกรวด
1. ดินสำหรับตู้ไม้น้ำ
วัสดุปลูกที่เหมาะกับพืชก็ต้องเป็นดินแหงอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถเอาดินขุยไผ่ หรือดินใบก้ามปูในสวนมามี๊ใส่ลงไปในตู้ปลาได้
เพราะขืนทำแบบนั้น น้ำก็ขุ่นเป็นโคลนกันพอดี
ดินที่เหมาะสมจึงควรจะเป็นดินที่ทำมาสำหรับตู้ไม้น้ำเท่านั้น ซึ่งดินสำหรับตู้ไม้น้ำนี้จะเป็นดินที่ผลิตขึ้นมาด้วยการนำดินผงละเอียดมาเขย่า,ปั้น ด้วยเครื่องจักร ให้รวมตัวกันเป็นเม็ดดินเล็กๆ เหมือนกรวด และนำไปผ่านกรรมวิธีต่างๆ ทำให้ดินนั้นไม่ละลายน้ำเป็นโคลน แตกตัวยาก
ตัวอย่างดิน Black Earth ของ Cal Aqua labs. มีขนาดเม็ดสองขนาด Extra fine ที่เม็ดเล็กหน่อยและแบบ Normal หรือแบบธรรมดา
ตัวอย่างดินรุ่นยอดฮิต New Amazonia ของ ADA มีขนาดเม็ดสองขนาด Powder และแบบธรรมดา
ราคาดินปลูกไม้น้ำอาจจะสูงซักหน่อย ค่าดินสำหรับตู้ 24" จะต้องใช้เงินราวๆ 1000 บาท
แต่มันก็ทำให้การเลี้ยงไม้น้ำง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีแร่ธาตุอยู่ในตัว และมีคุณสมบัติเหมาะกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ
วิธีการใช้ที่นิยมกันคือรองพื้นตู้ด้วยหินพัมมิส หนาประมาณ 0.5-1 นิ้ว แล้วทับหน้าด้วยดินจนได้ความหนาที่ต้องการ
การรองด้วยหินพัมมิสก็เพื่อลดการอัดแน่นที่ชั้นล่างของดิน ช่วยให้น้ำไหลเวียนในชั้นดินได้ดีขึ้น และเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ และทำให้ประหยัดดินไปได้จำนวนหนึ่งด้วย
-ภาพหินพัมมิส-
-ภาพการรองพื้นด้วยหินพัมมิส-
ข้อดีของดิน
- มีแร่ธาตุและปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ ทำให้การเลี้ยงไม้น้ำช่วงเริ่มต้นง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวลกับเรื่องปุ๋ยรองพื้นและปุ๋ยฝังไประยะหนึ่ง
- เนื้อดินมีความอ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับการไชรากของพืช ไม่ทำให้รากพืชเสียหาย
- ทำให้ตู้ดูเป็นธรรมชาติ สีเข้มๆของดินทำให้ตู้ดูดิบเป็นธรรมชาติ ตัดสีต้นไม้ให้ดูเข้มขึ้น
- ปรับ pH ได้ ในดินมีกรดฮิวมิค ที่ช่วยปรับสภาพน้ำให้เป็นกรดอ่อนๆ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช
ข้อเสียของดิน
- อายุการใช้งานจำกัด ส่วนมากมีอายุประมาณ 1-2 ปี ก็จะเริ่มป่น เละ หมดปุ๋ย ต้องซื้อใหม่เรื่อยๆ
- อาจทำให้น้ำเปลี่ยนสี กรดฮิวมิคและสารอินทรีย์ในดิน อาจทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่ยังมีฮิวมัสอยู่เยอะ
- ราคาสูง ถุงขนาด 8-9 ลิตร จะราคาราวๆ 800-1200 บาท
2. กรวด,ทราย
ถ้าไม่ใช้ดิน ก็สามารถใช้กรวดแม่น้ำได้ ราคากิโลละ 10-20 บาท ซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป
กรวดที่แนะนำก็คือกรวดแม่น้ำโขง กับ กรวดแก้วครับ เพราะรูปร่างกลมมน สีสันเป็นธรรมชาติ
กรวดแม่น้ำ
กรวดแก้ว
ถ้าหาไม่ได้ก็สามารถใช้กรวดอื่นๆได้ ที่ไม่ได้ย้อมสีแล้วก็มนๆ ไม่มีคมมากนัก ขนาดประมาณ 2-3 มม.
วิธีการใช้ก็ง่ายๆครับ เราก็เอากรวดเนี่ย ใส่รองพื้นไว้ในตู้ปลา ให้หนาสัก 1 นิ้วขึ้นไป แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วครับ
ข้อดีของกรวด
- อายุการใช้งานเป็นอนันต์ ไม่ป่นเละเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปีเหมือนดิน สามารถล้างนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ
- มีน้ำหนักที่จะยึดต้นไม้ที่เราปักไว้ไม่ให้มันหลุดได้ดีกว่าดิน ทำให้ง่ายต่อการปักสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการปักต้นไม้เล็กๆ
- ราคาถูก กิโลละ 10-20 บาท
ข้อเสียของกรวด
- ไม่มีแร่ธาตุหรือปุ๋ยให้ต้นไม้
- น้ำหนักมาก (ก็หินนี่นะ) ขนกลับบ้านมาใส่ตู้ลำบาก
- สกปรก กรวดส่วนมากไม่ได้ล้างมาก่อน และมักจะมีฝุ่นผงปะปนมามาก ต้องนำมาล้างก่อนหลายๆน้ำ สิ้นเปลืองน้ำและเวลา (เมื่อยด้วย)
อ่านเรื่องวัสดุปลูกเพิ่มได้ที่นี่ครับ
พ102 วัสดุปลูก
เหมือนคนต้องกินข้าวครับ ถ้าไม่มีการให้ปุ๋ย ต้นไม้ก็ไม่โต
ปุ๋ยสำหรับตู้ไม้น้ำจะมีอยู่ 3 ชนิด
1. ปุ๋ยรองพื้น ใช้สำหรับรองพื้นก่อนเทวัสดุปลูก นิยมใช้กับตู้ที่รองพื้นด้วยกรวด,ทราย ลักษณะเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ
2. ปุ๋ยฝัง เป็นปุ๋ยเม็ดหน้าตาคล้ายยาเม็ด มีทั้งที่เป็นแคบซูล แบบอัดเม็ด อัดแท่ง และแบบที่หน้าตาเหมือนยาลูกกลอน ใช้ฝังเพื่อให้ปุ๋ยทางราก ใช้เป็นระยะๆ 1-3 เดือนครั้ง
3. ปุ๋ยน้ำ สำหรับใส่ในน้ำ เพื่อให้ปุ๋ยในน้ำ ใช้ทุกวันหรืออาทิตย์ละครั้ง
ถ้ารองพื้นตู้ด้วยดิน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น แต่จะใช้ด้วยก็ได้ และไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยฝังไปได้ระยะนึง เพราะในดินมีปุ๋ยผสมมาอยู่แล้ว ส่วนมากจะเริ่มให้ปุ๋ยฝังกันเมื่อผ่านไป 1-2 เดือน
ถ้าเรารองพื้นตู้ด้วยกรวด ก็ต้องให้ปุ๋ยตังแต่แรกเลย เพราะในกรวดไม่มีปุ๋ยไม่มีแร่ธาตุอะไร ต้นไม้ก็ไม่รู้จะเอาปุ๋ยจากไหนไปใช้ มีทั้งแบบน้ำ แบบเม็ดฝังดิน แบบรองพื้นก่อนปลูก ที่ต้องใช้ก่อนก็คือแบบรองพื้นครับ เพราะต้องใส่ลงไปพร้อมๆกับกรวด
ตัวอย่างปุ๋ยรองพื้น ใช้โรยที่พื้นตู้ก่อนลงกรวด หรือคลุกกับกรวดครึ่งหนึ่ง แล้วทับหน้าด้วยกรวดเปล่าๆอีกครึ่งที่เหลือ
หรือจะไม่ใช้ปุ๋ยรองพื้น แล้วใช้ปุ๋ยฝังแทนก็ได้ แต่จะราคาแพงกว่า และลักษณะการปล่อยแร่ธาตุก็ไม่เหมาะเท่าแบบรองพื้น
หลังจากที่ลงกรวดลงดิน จัดตู้ปักต้นไม้เรียบร้อยแล้ว
ผ่านไปสัก 3-7 วัน ก็สามารถเริ่มใส่ปุ๋ยน้ำได้
7-30 วัน ก็สามารถเริ่มฝังปุ๋ยได้
อันนี้เป็นเวลาโดยประมาณนะครับ บอกไว้เพื่อเป็นแนวทาง แต่ละตู้อาจต้องปรับเวลาให้แตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆอีก
ปุ๋ยฝังก็จะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบแคบซูล แลลอัดเม็ด และแบบอื่นๆอีก แต่ส่วนมากก็จะเป็นสองแบบแรก
ตัวอย่างปุ๋ยฝังของ Dennerle
ตัวอย่างปุ๋ยน้ำของ Aquamania
ถ้ายังไม่สาแก่ใจ ไปอ่านเรื่องปุ๋ยโดยละเอียดได้อีกครับ [link]
ต่อมาก็แสงครับ ต้นไม้น้ำต้องการแสงสว่างระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการสังเคาระห์แสง เปลี่ยนแร่ธาตุ ปุ๋ย และสารอาหารต่างๆให้เป็นพลังงานในการเจริญเติบโต แต่ละชนิดต้องการไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง
แล้วจะรู้ได้ไงว่า ต้นไม้ชนิดไหนต้องการปริมาณแสงแค่ไหน ง่ายที่สุดคือเราก็ค้นหาจากอินเตอร์เน็ตเนี่ยแหละครับ
ใน Aquapedia ก็มีข้อมูลของไม้ชนิดที่ขายๆกันเกือบครบ
หรือค้นหาจาก Google เอาก็มีครับ โพสถามจากเพื่อนๆในบอร์ดหรือถามจากคนขายก็ได้
ก่อนซื้อควรจะหาข้อมูลให้ดีก่อนครับ ว่าไม้ที่เราจะเลี้ยงมีความต้องการปัจจัยต่างๆยังไงบ้าง ไม่อย่างนั้นเอามาแล้วเลี้ยงไม่รอดก็จะเสียเงิน เสียของเปล่าๆ
จะดูยังไง วัดยังไงว่า แค่ไหนคือแสงมาก แค่ไหนคือแสงน้อย ถ้าให้ถูกต้องจริงๆต้องวัดด้วยค่า lux แต่เครื่องวัดมันแพง และยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป
เราเลยมักจะใช้ดูที่จำนวนวัตต์รวมของหลอดไฟทั้งหมดที่เราใช้ ต่อปริมาณน้ำหรือพื้นที่ผิวน้ำของตู้ครับ
อัตราส่วนของไฟกับตู้ที่เหมาะสมคือ 30-70 วัตต์ ต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ตารางฟุต
- 30-40 วัตต์ ต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ตารางฟุต สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงน้อย เช่น มอสชนิดต่างๆ เฟิร์นและตระกูลอนูเบียส
- 40-50 วัตต์ สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง เช่น หญ้าซาจิ (Sagittaria subulata) และไม้ตระกูลอเมซอน (Echinodorus)
- 50-60 วัตต์ สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง-มาก เช่นพวก แฮร์กลาสหรือหญ้าหัวไม้ขีด (Eleocharis parvula) กลอสโซ่ (Glossostigma elatinoides)ไม้ตระกูลคริป (Cryptocoryne)
- 60-70 วัตต์ หรือมากกว่า 70 วัตต์ขึ้นไป สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงมาก เช่น สาหร่ายคาบอมบ้า (Cabomba caroliniana) ตระกูลสาหร่าย และไม้ข้อ เกือบทุกชนิด จอก แหน
ตัวอย่างวิธีคิด
เช่น เรามีตู้ขนาด ยาว 24 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว สูง 12 นิ้ว
เอาแค่ด้านกว้างกับลึกมาคำนวณ
หลายคนอาจจะสับสนเรื่องด้านลึกกับสูง
ตู้ปลาจะใช้ศัพท์เรียกด้านต่างๆเหมือนพวกเฟอร์นิเจอร์ครับ ดูตามภาพนี้จะเข้าใจได้ง่าย
พื้นที่ผิวน้ำของเราคือ 24x12 นิ้ว หรือ 60x30 ซม.
24 นิ้ว/60ซม. = 2 ฟุต
12 นิ้ว/30 ซม. = 1 ฟุต
2x1 = 2
เท่ากับว่าตู้เรามีพื้นที่ผิวน้ำ 2 ตารางฟุต
ฉะนั้นไฟที่เหมาะสมกับตู้เรา ควรจะต้องมีจำนวนวัตต์ 60-140 วัตต์
ซึ่งจะเท่ากับโคมที่มีหลอดฟลูออเรสเซนต์ T5HO 24w จำนวน 3-6 หลอด
หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 18w 4-7 หลอด
หรือหลอดเมทัล-ฮาไลด์ 150w 1 หลอด (เกินไปนิดหน่อย แต่เกินดีกว่าขาด)
การคำนวณแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แท่งยาวๆ แบบที่เราใช้ตามบ้านหรือหลอด T8 รวมถึงหลอด T5 หลอดหลอดเมทัล-ฮาไลด์ และหลอด LED นะครับ เพราะกำลังแสงที่ต้นไม้สามารถนำไปใช้ได้เทียบกับจำนวนวัตต์แล้ว แต่ละชนิดไม่ต่างกันมากครับ
ถ้าตู้ของคุณสูงมากกว่า 20 นิ้ว (หักความหนากรวดส่วนที่บางที่สุดแล้ว) ควรจะเลือกใช้หลอด T5HO (High Output) หรือหลอดเมทัล-ฮาไลด์ และหลอด LED High Power/ติดเลนส์บังคับแสง เพราะหลอดจะมีพลังในการส่องทะลวงผิวน้ำได้ลึกกว่า และหลีกเลี่ยงหลอด T5 Normal Output กับ LED ธรรมดาครับ
ดูเพิ่มเติมเรื่องแสงในตู้พรรณไม้น้ำได้ที่นี่ครับ
แหล่งกำเนิดแสงสำหรับตู้ไม้น้ำ โดยคุณ banx
ถ้างงว่าชื่อหลอดไฟแต่ละชื่อคืออะไร แบบไหนเรียกอะไร อ่านในนี้เลยครับ
แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ
สำหรับมือใหม่ ยังไม่ต้องสนใจเรื่องน้ำมากก็ได้ เพราะต้นไม้บ้านๆ ทั่วๆไป พอทละ 10-40 บาท ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เรื่องมากอะไรกับค่าต่างๆในน้ำมากนัก ช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งไปมองพวกที่เลี้ยงยากๆแล้วกัน ช่วงแรกนี่ห่วงปลาม่องจะดีกว่า คอยดูแลหน่อยในช่วงแรกๆ น้ำที่เปลี่ยนอย่าให้มีคลอรีน ห้ามใช้น้ำบาดาล หรือน้ำกร่อย อุณหภูมิน้ำระหว่าง 20-30 ค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ PH 6.5-7.2 แอมโมเนีย ไนไตร์ท เป็น 0 หรือใกล้เคียง (สามารถวัดได้ด้วยชุดวัดค่าต่างๆเหล่านั้น หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป) ให้ค่ามันใกล้เคียงก็เป็นใช้ได้ เรื่องน้ำ และการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
คุณสมบัติของน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลา / All Fish