Aqua.c1ub.net
*
  Fri 04/Jul/2025
หน้า: 1 2  ทั้งหมด   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>  (อ่าน 15759 ครั้ง)
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« เมื่อ: 31/05/11, [21:26:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แปลจาก Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)

ผู้เขียน Dr.David D Sands
David D Sands  เป็นนักวิทยาศาสตร์และเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลา มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้จัดการสมาคม Catfish Association of Great Britain มีงานเขียนต่างๆมากมายเกี่ยวกับ catfish  และยังเป็นผู้ศึกษารวบรวม catfish ในบราซิลและกายอานาในทวิปอเมริกาใต้ และยังเป็นผู้บรรยายในหัวข้อนี้ให้กับกลุ่มนักเลี้ยงปลาแทบทุกกลุ่มใหญ่ๆในอังกฤษ

ผู้แปล GreenEyes
คือกระผมเอง มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านปลาสักเท่าไร ถ้ามีส่วนไหนผิดพลาดไปก็รบกวนช่วยกันแก้ไขด้วยครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26/06/11, [18:32:35] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #1 เมื่อ: 31/05/11, [21:27:31] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

บทนำ

Corydoras หรือปลาแพะ เป็นปลาขนาดเล็ก มีเครา ที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันในหมู่ผู้เลี้ยงปลาในฐานะที่มันมีหน้าตาที่ดูตลกและแข็งแรง ในอเมริกาใต้มีผู้ส่งออกและเพาะเลี้ยงเพื่อการค้ากันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งแฟนๆของพวกมันสามารถเพาะเลี้ยงมันในตู้ได้แล้วกว่าสามสิบชนิด

ปลาแพะชนิดแรกที่ถูกนำมาเลี้ยงกันในตู้คือ ปลาแพะลาย (Peppered Corydoras, Corydoras paleatus) เมื่อปี 1893 ซึ่งตอนนั้นมีคนสนใจปลาแพะอยู่ไม่มาก แต่ในปัจจุบัน (1986) แทบไม่มีใครตั้งตู้ปลาโดยที่ไม่มีปลาแพะอยู่ในนั้น และตอนนี้พวกมันถูกค้นพบแล้วถึง 130 ชนิด

ปลาแพะสองชนิดที่เพาะพันธุ์กันได้อย่างมากมายคือ ปลาแพะเขียว (Bronze catfish, Corydoras aeneus) และ ปลาแพะลาย ซึ่งทำให้มีพวกมันขายกันในร้านขายปลาทุกร้าน ถูกส่งออกไปทั่วโลกเป็นพันๆตัว และมันก็มักเป็นปลาแพะชนิดแรกๆที่ทำให้นักเลี้ยงปลาหันมาสนใจสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า ปลาแพะ

ปลาแพะมักตกเป็นตัวละครเด่นตัวหนึ่งในตู้ปลา พวกมันมักกลอกตาไปมาเพื่อทำความสะอาดตาของมัน มันสามารถขึ้นมาฮุบเอาอากาศจากผิวน้ำได้เมื่อออกซิเจนในน้ำมีน้อย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติเมื่อน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มันอยู่แย่ลงในฤดูแล้ง และนั่นก็เป็นข้อบ่งชี้ข้อหนึ่งที่บอกว่าน้ำในตู้ปลาของคุณมีออกซิเจนน้อยและมีความเป็นกรดสูงเกินไปแล้ว (จะเน่าแล้วเปลี่ยนน้ำเหอะ)

ในธรรมชาติ พวกมันนับได้ว่าประสพความสำเร็จ จากการที่มันสามารถแพร่พันธุ์ไปได้แทบทุกที่ในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่เทือกเขาสูงอย่าง Peruvian Andes ในเปรู ไปจนถึงปากแม่น้ำ River Plate ในอาเจนตินา ในแง่ของการค้า ทุกๆปี จะมีปลาแพะกว่า 500,000 ตัวถูกส่งออกไปยังที่ต่างๆทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่อให้นักเลี้ยงปลาทุกท่านสามารถเลี้ยงดูปลาแพะได้อย่างดี โดยหวังว่าพวกมันที่ถูกจับมาจากลุ่มน้ำอเมซอน จะมีโอกาสได้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
Fibo ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #2 เมื่อ: 31/05/11, [21:28:26] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]  เริ่มแปลแล้ว  ดีมากเลยครับ
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #3 เมื่อ: 31/05/11, [21:29:14] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของปลาแพะ

แม้จะพูดกันว่าปลาแพะนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากแม่น้ำใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่พวกมันมักถูกจับได้ในลำธารเล็กๆ หรือลำน้ำสาขาเล็กๆที่แยกออกมาจากแม่น้ำใหญ่ พวกมันมักอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ที่บางครั้งก็มากถึงพันตัว ในฝูงหนึ่งๆจะประกอบไปด้วยปลาแพะวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยเจริญพันธุ์

การอยู่เป็นฝูงนี้ช่วยปกป้องพวกมันจากนักล่า นักล่ามักเล็งไม่ถูกเมื่อปลาฝูงใหญ่ที่หน้าตาเหมือนๆกันว่ายแตกวงกันออกไป ในแม่น้ำหนึ่งๆนั้นสามารถพบปลาแพะได้หลายชนิด โดยในลำน้ำสาขาหนึ่งๆบางที่พบปลาแพะได้ถึงสามชนิดที่แตกต่างกันอย่างมาก

กลุ่มปลาแพะนั้นแบ่งออกได้ตามลักษณะถิ่นที่อยู่บนท้องน้ำ บางกลุ่มชอบอยู่ตามที่น้ำไม่ไหลแรงบนพื้นทรายที่มีหน้าพื้นบางส่วนเป็นโคลน เป็นใบไม้ ในขณะที่อีกกลุ่มชอบอยู่ตามที่น้ำไหลซึ่งมีพื้นเป็นก้อนหินก้อนกรวด ซึ่งพวกมันก็มักมีรูปร่างและสีสันที่ต่างกันไปตามที่ที่มันอยู่ด้วย

อาหารของปลาแพะมักเป็นเศษอาหารตามท้องน้ำ เศษใบไม้เน่าเปื่อย ตะไคร่ ตัวอ่อนแมลงต่างๆ ลูกกุ้ง ลูกปู และหนอนน้ำต่างๆ มันมักใช้หนวดของมันขุดคุ้ยพื้นท้องน้ำเพื่อหาอาหารกิน ปลาแพะที่หน้าสั้นมักกินอาหารตามพื้นผิว ในขณะที่พวกหน้ายาวจะชอบขุดหาตามพื้นทรายและโคลน

ในฤดูฝน พื้นที่ในแหล่งอาศัยมักถูกน้ำท่วม ทำให้แหล่งน้ำกระจายกว้างออกไป ปลาแพะจะแยกกันไปผสมพันธุ์และวางไข่กันตามพื้นที่น้ำท่วมเหล่านั้น โดยเฉพาะตามบริเวณที่มีต้นหญ้าจมน้ำอยู่เยอะๆ ลูกปลาที่เกิดมาจะมีที่หลบซ่อนและปลอดภัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นจากผู้ล่าที่มักไม่ขึ้นมาแถวนั้น นอกจากนี้ น้ำฝนที่ตกลงมายังบริสุทธิ์ ออกซิเจนสูง และยังพัดพาหน้าดินซึ่งอุดมไปด้วยเศษซากตะกอนและแมลงต่างๆซึ่งก็จะกลายเป็นอาหารให้กับปลามากมายที่มักขยายพันธุ์กันช่วงนี้

ในทางธรณีวิทยา เขตกระจายพันธุ์ของปลาแพะครอบคลุมทวีปอเมริกาใต้ โคลัมเบีย กายอานา เวเนซูเอลา บราซิล เอกัวดอ เปรู ปารากวัย และอาเจนตินา ปลาส่วนมากถูกส่งออกมาจาก โคลัมเบีย บราซิล และเปรู แต่สำหรับปลาแพะเขียวพบว่าถูกส่งออกมาจากหลายประเทศในแถบนั้น

ปลาแพะเขียวเป็นปลาแพะที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด (เดี๋ยวนี้คงเป็นแพะเผือก) และยังติดอันดับปลาเขตร้อนที่เป็นที่นิยมที่สุดด้วย ปลาแพะเขียวอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำหลายแห่งในทวีป ในขณะที่ปลาแพะอย่าง Corydoras adolfoi จะพบที่คลองเล็กๆที่แยกย่อยออกมาจาก River Negro ในป่าอเมซอนเท่านั้น ซึ่งพวกมันถูกพบโดยบังเอิญที่กองทัพของประเทศกำลังตัดถนนผ่านป่าอเมซอน (แล้วตอนนี้บ้านมันยังเหลือไหมนี่)

ลักษณะของน้ำที่มันอาศัยอยู่ค่อนข้างแปรผันไปตามถิ่นที่อยู่และฤดูกาล บางแหล่งน้ำใสไหลเร็ว ในขณะที่บางแห่งน้ำเต็มไปด้วยตะกอนอินทรีย์และไหลช้า  พีเอชของน้ำอยู่ในช่วง 4.8 ถึง 7.5 และมีความกระด้าง (Hardness) น้อยมากถึงศูนย์ อุณหภูมิแปรผันไปตั้งแต่ 75-90 F  (23.8-32.2 C -ผู้แปล)  

อย่างไรก็ตามปลาแพะหลายชนิดปรับตัวจนเหมาะกับสภาพน้ำในถิ่นที่อยู่ของพวกมัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและคุณภาพน้ำตามฤดูกาล ทำให้พวกมันค่อนข้างปรับตัวเก่งและอยู่รอดได้ภายใต้สภาพน้ำที่หลากหลายอย่างในเขตร้อน (แต่ต้องอาศัยเวลาปรับตัวด้วยนะครับ ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างมากในวันสองวัน – ผู้แปล)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/06/11, [13:33:55] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #4 เมื่อ: 31/05/11, [21:32:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตู้ปลาแพะ

เมื่อปลาแพะถูกน้ำมาใส่ในตู้ปลาที่บ้านเรา หลังจากที่ซื้อมันมาจากร้านขายปลา พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำใหม่ได้ค่อนข้างมาก ซึ่งความอึดนี่ก็เป็นหนึ่งข้อที่ทำให้นักเลี้ยงปลาชอบมัน อย่างไรก็ตาม จะดีกว่าถ้าเราสามารถจัดสภาพที่อยู่ให้เหมาะสมกับมันซึ่งจะทำให้มันแข็งแรง เจริญเติบโตได้เต็มที่ และขยายพันธุ์ได้ในตู้ของเรา

ขนาดตู้

ตู้ปลาขนาดเล็กที่สุดที่ควรใช้ควรมีขนาด 18 นิ้ว x 12 นิ้ว x 12 นิ้ว โดยตู้ขนาดนี้ จำนวนปลาแพะที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 6 ตัว เพื่อที่จะให้มันเติบโตและเจริญพันธุ์ได้ โดยมีการดูแลตู้อย่างสม่ำเสมอเช่น การเปลี่ยนน้ำ และการทำความสะอาดพื้น

ตู้ที่ใหญ่ก็ยิ่งดีต่อการเลี้ยงเพราะทำให้มันรู้สึกว่ามีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการเจริญเติบโต และยังมีพื้นที่มากขึ้นเหมือนถิ่นที่อยู่ของมันจริงๆ การจัดตู้ควรให้มีพื้นที่ให้พวกมันหลบแสงสว่างมากสักหน่อย สัดส่วนความกว้างความยาวของตู้นั้นไม่สำคัญนัก แต่สำคัญที่ความลึกเพราะพวกมันชอบน้ำตื้น

น้ำ

โดยทั่วไปแล้ว น้ำประปา (ที่ไม่มีคลอรีนแล้ว-ผู้แปล) สามารถใช้ในการเลี้ยงปลาแพะได้แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเลี้ยงให้ดีก็ควรจะให้ความสนใจเกี่ยวกันคุณภาพน้ำที่เหมาะสมมากขึ้น

พีเอช

พีเอชที่เหมาะสมกับปลาแพะอยู่ที่ 5-7 เต็มที่ก็ 4.5-7.5 สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าน้ำประปาของเรามีลักษณะสมบัติ (พีเอช ความกระด้าง-ผู้แปล) อะไรบ้าง เช่นถ้าน้ำประปามีพีเอชสูงไปก็ควรเติมน้ำยาปรับสภาพให้มีพีเอชเหมาะสม (น้ำประปาบ้านผมพีเอช 7.8-ผู้แปล)  ถ้าเป็นกรดเกินไปก็มักบ่งบอกถึงว่าตู้ปลาของเราจำเป็นต้องทำความสะอาดแล้ว เช่น การทำความสะอาดพื้นตู้ (แบคทีเรียย่อยสารอินทรีย์จำนวนมาก ทำให้เกิดกรดมากเกินไป-ผู้แปล) และเปลี่ยนน้ำ (อาจต้องเปลี่ยนถึง 50%)
ประเด็นที่เป็นประโยชน์ (ที่ควรรู้)

•   พืชน้ำทำให้น้ำเป็นกรดลดลง ในขณะสังเคราะห์แสง
•   ปลาทำให้น้ำเป็นกรดมากขึ้นโดยกระบวนการหายใจ
•   ท่อนไม้ ใบไม้ ทำให้น้ำเป็นสีน้ำตาลจากกรดแทนนิค ซึ่งอาจรบกวนการอ่านค่าพีเอชด้วยระบบที่มีการดูสีได้
•   หินปูน เปลือกหอย ทำให้น้ำเป็นด่าง
•   น้ำที่เป็นกรดจุออกซิเจนได้น้อยกว่าน้ำที่เป็นกลาง และยังเป็นอันตรายต่อปลาถ้าต้องอยู่ในน้ำที่เป็นกรดมากเกินไปนั้นนานๆ
•   แอมโมเนียเป็นพิษมากขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำที่เป็นด่าง
•   ตรวจวัดพีเอชของน้ำประปาที่น้ำมาใช้และน้ำในตู้ปลาอย่างสม่ำเสมอ

ความกระด้าง

การวัดความกระด้างนั้นคือการวัดเกลือทั้งหมดในน้ำ (ผมว่าไม่ใช่นะ ความกระด้างจะไม่รวมพวกประจุ +1 -ผู้แปล) โดยสำหรับปลาแพะ ความกระด้างของน้ำควรเป็นศูนย์ตามถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งนั่นนับว่ายากสักหน่อย เราสามารถใช้น้ำฝนได้ โดยการกักน้ำฝนไว้ในถังเก็บน้ำ (water butt) และไม่ควรใช้น้ำฝนเพียวๆเพราะพีเอชมันต่ำเกินไปแต่ควรผสมน้ำประปาด้วยเพื่อให้ได้พีเอชที่เหมาะสม

(ผมเห็นในหนังสืออีกเล่มหนึ่งแสดงภาพ water butt ว่า เป็นถังไม้ ใส่ดินรองพื้น และปลูกพืชน้ำครบกลุ่ม *กลุ่มที่รากอยู่ในดินใบอยู่บนบก-รากในน้ำใบบนบก-รากในดินใบในน้ำ ซึ่งในน้ำจะมีลูกน้ำ ไรแดง มาอาศัยอยู่ดามธรรมชาติด้วย -ผู้แปล)

(น้ำฝนล้วนนั้น ถ้าตกมานานแล้วจะบริสุทธิ์มาก ไม่มีความสามารถในการสะเทินกรดด่าง เพราะไม่มีสารใดมาเจือปน แต่จะมีก๊าซต่างๆในอากาศเข้ามาผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่สมดุลกับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว จะมีพีเอชเป็นกรด –ผู้แปล)

แอมโมเนียและไนไตร

ทั้งแอมโมเนียและไนไตรล้วนเป็นพิษกับปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลาต้องสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนสารสองตัวนี้ในเวลานานๆ ตู้ปลาที่ตั้งใหม่อายุไม่เกิน 6 สัปดาห์ หลังจากใส่ปลา (นับหลังใส่ปลาเพราะ ปลาและอาหารปลาจะปล่อยแอมโมเนียออกมา แบคทีเรียที่กินแอมโมเนียพวกนี้จึงจะเริ่มโต ก่อนหน้านี้ยังไม่มีแอมโมเนียให้กิน –ผู้แปล) มักมีความเสี่ยงที่เกิดปัญหานี้ได้เพราะแบคทีเรียกลุ่มที่เปลี่ยนแอมโมเนียมเป็นไนเตรทยังไม่มากพอ

เราสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ โดยการนำแบคทีเรียพวกนี้มาใส่ไว้พร้อมๆกับปลา เช่น แบ่งเอาวัสดุปูพื้นจากตู้ปลาเก่าที่เรามีอยู่มาใส่ เอาน้ำจากตู้ปลาอีกตู้ปลาเก่ามาใส่ หรือแบ่งเอาวัสดุกรองจากเครื่องกรองตัวเก่าที่มีอยู่มาใส่ในเครื่องใหม่

การเลี้ยงแบคทีเรียกลุ่มที่กินแอมโมเนียมนี้ไม่ยาก ถ้าปฏิบัติตามกฎพื้นฐานดังนี้

1.   ล้างวัสดุกรองด้วยน้ำในตู้ อย่าใช้น้ำประปา เพราะคลอรีนในน้ำประปาจะทำให้แบคทีเรียต่างๆตายไปอย่างมาก
2.   ระวังอย่าให้อาการมากเกินไปบ่อยนัก
3.   อย่าเปลี่ยนน้ำใหม่เกิน 50% โดยใช้น้ำประปาใหม่ๆ เว้นแต่จะจำเป็นต้องทำเท่านั้น (บางทีเห็นปลาไม่ตาย แต่แบคทีเรียร่วงนะเออ -ผู้แปล)
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #5 เมื่อ: 31/05/11, [21:33:20] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การให้ความร้อน

ปลาแพะสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่าช่วงที่เหมาะสมได้ แต่การที่มันต้องทนหนาวไปนานๆก็ทำให้สุขภาพมันแย่ลงและนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้เช่นกัน

อุณหภูมิในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมันอยู่ที่ 65-90 F (18.3-32.2 C, ก่อนหน้านี้บอก 23.8-32.2 C –ผู้แปล) ปลาแพะดูจะเจริญอาหารกว่าที่อุณหภูมิสูง นอกจากนี้แบคทีเรียในตู้ปลาก็เช่นกัน ยารักษาโรคหลายอย่างก็ออกฤทธิ์ดีกว่าที่น้ำที่ไม่เย็นเกินไป ข้อเสียอย่างเดียวของน้ำที่อุณหภูมิสูงก็คือ มีออกซิเจนน้อยกว่าน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น อุณหภูมิที่เหมาะสมกับตู้ปลาแพะอยู่ที่ 79-82 F (26.1-27.8 C -ผู้แปล)

แสงสว่าง

ตามธรรมชาติปลาแพะนั้นหากินกลางคืนและมักหลบเลี่ยงแสงสว่าง (ปลาแพะที่เพาะเลี้ยงตามร้านผมมักเห็นว่ามันก็กินทั้งวัน แต่ผมมีตัวหนึ่งที่ปล่อยไว้ในบ่อ มันมีนิสัยหากินกลางคืนจริงๆ กลางวันจะหลบ ไม่เคยเห็นตัว –ผู้แปล) ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาเพราะพืชน้ำนั้นต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโต

การเลี้ยงปลาแพะในตู้ให้มันใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ควรใช้ไฟที่ไม่สว่างนัก หรือจัดตู้ให้มีร่มเงาพอสมควร หรือ ถ้าใช้สปอตไลท์ก็ควรหันให้มันส่องสว่างไปที่มุมๆเดียว และอย่าลืมใส่ท่อนไม้หรืออะไรให้มันมีที่หลบด้วย (ถ้ามันอยากหลบแล้วหาที่หลบไม่ได้ มันจะเครียด –ผู้แปล)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/06/11, [14:46:20] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #6 เมื่อ: 31/05/11, [21:34:34] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ระบบกรองในตู้ปลา

ปลาแพะที่สุขภาพดีเจริญอาหาร กินเยอะ ก็จะขับถ่ายเยอะตามไปด้วย ตามธรรมชาติของเสียที่ขับถ่ายออกมาจะถูกเจือจางไปตามน้ำด้วยเหตุที่มีปริมาตรน้ำเยอะมากๆ กระแสน้ำและกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ เป็นระบบบำบัดของเสียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่สำหรับในตู้ ปริมาตรน้ำต่อปลา นั้นไม่ได้มากมายขนาดนั้น ระบบกรองน้ำและให้อากาศจึงมีความสำคัญ ดังนั้นก่อนที่จะทุ่มเงินไปกับการแต่งตู้ด้วยท่อนไม้หรือไม้น้ำราคาแพง สิ่งแรกที่ควรทุ่มงบลงไปคือระบบเหล่านี้ที่จะทำให้ปลาของเรามีชิวิตอยู่ได้

ระบบกรองน้ำที่เหมาะสม มักเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักเลี้ยงปลา ซึ่งจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ การจัดตู้แบบต่างๆด้วย สิ่งที่เราควรเก็บมาจากคำแนะนำพวกนั้นคือ ข้อเท็จจริง

ถ้าระบบกรองไม่ดีพอ และวัสดุปูพื้นหมักหมมไปด้วยของเสียที่มากเกินไป ปลาแพะที่อาศัยอยู่บนนั้นจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก อาการติดเชื้อที่บริเวณปาก และหนวดเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหานี้ ซึ่งผู้เลี้ยงมักนึกว่าเกิดจากการที่ทรายมันคมเกินไป หรือให้อาหารไม่พอ

ระบบกรองที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาแพะที่สุด คือการผสมผสานระบบกรองพื้น กับระบบกรองนอก (หรือกรองใน หรือกรองแขวนก็ได้ -ผู้แปล) ระบบกรองพื้นจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของออกซิเจนผ่านวัสดุปูพื้น ทำให้โอกาสเกิดการหมักหมมลดลงไปได้มาก (จากตำรา Ecology of Planted Aquarium การหมักหมมที่พอเหมาะนั้นก็จำเป็นต่อพืชน้ำนะครับ -ผู้แปล) ในขณะที่ระบบกรองนอก ก็ช่วยลดตะกอนแขวนลอยทั้งหลายไม่ให้ไปหมักหมมอยู่ที่พื้นด้วย ที่สำคัญเมื่อเรามีระบบกรองสองระบบ ก็เหมือนมีการกระจายความเสี่ยงที่กรองตัวไหนทำงานได้ไม่สมบูรณ์อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณปลาแพะที่เหมาะสมที่แนะนำไว้ในหนังสือก็เป็นปริมาณที่ค่อนข้างปลอดภัยที่สุดต่อความเสถียรของตู้ สำหรับตู้ที่มีปริมาณปลาน้อยอย่างเช่นตู้สำหรับผสมพันธุ์ สามารถใช้ตัวกรองแบบฟองน้ำก็เพียงพอ

ระบบกรองพื้นมีสองแบบคือ แบบที่ใช้อากาศช่วยดันน้ำ กับแบบที่ใช้ปั้มน้ำ ระบบที่ใช้น้ำมีข้อดีคือช่วยเติมอากาศไปในตัวแต่ข้อเสียคือเสียงดัง ในขณะที่แบบใช้ปั้มน้ำนั้นมักมีปัญหาเรื่องปริมาณออกซิเจนเมื่อเป็นตู้ที่มีความลึกแต่มีข้อดีที่ไม่มีเสียงดัง น้ำที่อุดมไปด้วยออกซิเจนจะถูกดึงผ่านชั้นวัสดุปูพื้นทำให้ไม่เกินภาวะไร้อากาศ ซึ่งนั่นทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นพวกที่กินแอมโมเนียมเพิ่มขึ้นอีกด้วย (พวกนี้หายใจด้วยออกซิเจน –ผู้แปล) ส่วนระบบกรองพื้นจะทำงานได้ดีได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ระบบกรองนอกสามารถดูตะกอนแขวนลอยที่จะกลายเป็นตะกอนบนพื้นออกไปได้มากแค่ไหนนั่นเอง (ล้างกรองนอก ง่ายกว่าล้างกรองพื้น –ผู้แปล)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/06/11, [13:34:25] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #7 เมื่อ: 31/05/11, [21:35:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

วัสดุรองพื้น

ปลาแพะนั้นชอบพื้นทราย แต่การใช้ทรายมักทำให้เกิดสภาพไร้อากาศใต้วัสดุปูพื้นได้ง่าย ถ้าต้องการใช้ทรายควรใช้ทรายแม่น้ำโดยปูใยกรองไว้บนตะแกรงของตัวกรองพื้นก่อนชั้นหนึ่ง แล้วค่อยทับด้วยทรายหนาไม่เกิน 2 นิ้ว หรือไม่งั้นวัสดุปูพื้นที่เหมาะสมกับระบบกรองพื้นก็เป็นกรวดแม่น้ำมนๆ ขนาด 3/16 นิ้ว ปูหนาสัก 4 นิ้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบกรองพื้นแล้วก็ควรทำความสะอาดพื้นตู้อย่างสม่ำเสมอ

การเปลี่ยนน้ำ

สำหรับตู้ที่พึ่งตั้งใหม่ๆ ไม่ควรเปลี่ยนน้ำหลังจากลงปลาไปแล้วราวๆ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบค่อยๆเซ็ตตัว การเปลี่ยนน้ำโดยปกติควรทำทุก 4 วัน โดยเปลี่ยนครั้งละ 15-25% การน้ำออกจากตู้ควรทำไปพร้อมๆกับการทำความสะอาดวัสดุรองพื้น สำหรับตู้พักปลา แยกปลาป่วย หรือตู้ผสมพันธุ์ปลา ที่มักมีปลาอยู่น้อยกว่าจำนวนที่แนะนำไว้ สามารถเปลี่ยนน้ำแค่เดือนละครั้งก็ได้

การปลูกพืชน้ำ

ตู้ที่ใช้ระบบกรองพื้นจะปลูกพืชได้ไม่ดีนัก (พืชน้ำก็ต้องการการหมักหมมบ้างไรบ้าง -ผู้แปล) ผู้เลี้ยงปลาแพะมากมายค่อนข้างประสพปัญหากับการทำให้ตู้เป็นสีเขียว เนื่องจากแสงที่ไม่เพียงพอ น้ำไม่เย็น สภาพน้ำไม่เหมาะสม โดนขุดอีกตะหาก (จากหนังสือ Ecology of Planted Aquarium พืชน้ำส่วนมากชอบแสงมาก น้ำเย็นสักหน่อย มีความกระด้าง รองพื้นด้วยดิน .... ตรงข้ามกับตู้ปลาแพะเกือบหมด -ผู้แปล)

การปลูกพืชในตู้ที่ใช้ระบบกรองพื้นทำได้โดย การปลูกในถ้วยต่างหากที่บรรจุวัสดุปลูกที่เหมาะสมไว้ อุณหภูมิที่เหมาะกับตู้ปลาแพะในช่วงกลางๆก็มีพืชน้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ได้  พืชที่เหมาะสมกับตู้ปลาแพะได้แก่ พวก คริป อเมซอน และจาวามอส จาวามอสเหมาะมากสำหรับให้ลูกปลาแพะหลบซ่อน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/06/11, [14:46:55] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #8 เมื่อ: 31/05/11, [21:37:01] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

จำนวนปลาแพะที่เหมาะกับตู้

จำนวนที่เหมาะสมนี้อิงจากตู้ที่มีระบบกรอง มีการเปลี่ยนน้ำและล้างวัสดุปูพื้นอย่างสม่ำเสมอ และหักพื้นที่ของก้อนหิน ท่อนไม้ พืชน้ำ เครื่องกรอง เรียบร้อยแล้ว

ถ้าคำนึงถึงการที่จะให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์กัน ให้ลดจำนวนลงสักครึ่งหนึ่ง และถ้ามีปลาอื่นอาศัยอยู่ด้วย ก็ควรลดจำนวนลงเช่นกัน

สำหรับปลาแพะที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น C. hastatus C. pygmaeus C. habrosus C. napoensis และ C. elegans จำนวนปลาสามารถเพิ่มได้อีกครึ่งหนึ่งของค่าที่แนะนำ

ตู้ขนาด 24 นิ้ว (50 ลิตร) 9 ตัว
ตู้ขนาด 30 นิ้ว (70 ลิตร) 12 ตัว
ตู้ขนาด 36 นิ้ว (90 ลิตร) 14 ตัว
ตู้ขนาด 48 นิ้ว (130 ลิตร) 20 ตัว

(จำนวนตัวดูน้อยมาก น่าจะเพื่อสุขภาพปลา  มีที่ว่ายได้พอควร ในพื้นที่จริงในธรรมชาติ จำนวนปลาต่อพื้นที่(ปริมาตร)น้ำน้อยกว่านี้มาก -ผู้แปล)

การเลือกซื้อปลาแพะ

ปลาแพะที่หาซื้อได้ง่ายที่สุดตามร้านค้าหนีไม่พ้น ปลาแพะเขียว/เผือก และ ปลาแพะลาย ปลาแพะเป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นฝูง ดังนั้นจึงแนะนำให้เลี้ยงปลาแพะไว้เป็นกลุ่ม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชนิดเดียวกัน กลุ่มละ 3 ถึง 6 ตัว ถ้าปลาแพะถูกเลี้ยงไว้ตัวเดียว มันจะซ่อนตัวซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่รู้จะไปอยู่กับใคร

เมื่อเลือกชนิดของปลาแพะที่จะเลี้ยงแล้ว ควรเลือกซื้อสักสามตัว และควรพักปลาก่อน 2 ถึง 3 สัปดาห์เพื่อป้องกันโรคติดต่อ ในกรณีที่ไม่มีตู้พักปลา ให้ใส่ยาป้องกันโรคทั่วไปตามลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เลือกซื้อปลาป่ามา ให้กักโรคอย่างเข้มงวด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/06/11, [14:47:38] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #9 เมื่อ: 31/05/11, [21:38:25] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การดูแลสุขภาพปลา

บทนี้รวบรวมมาจากสองเล่ม อีกเล่มคือ South American Catfishes ผู้เขียนคนเดียวกันครับ


โรคที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดกับปลาใหม่ที่มักมีสาเหตุจากการดูแลที่ไม่เหมาะสมระหว่างการขนส่งซื้อขาย เช่น มีปลาอยู่กันหนาแน่นเกินไป คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และ อาหารไม่ดี ส่วนโรคที่เกิดปลาเก่าในตู้ของเรามักมีสาเหตุมาจากการที่มีปลาอยู่กันหนาแน่นเกินไป น้ำมีคุณภาพแย่ลง พีเอชไม่เหมาะ อุณหภูมิไม่เหมาะ อาหารไม่ดี ปลาอายุมาก และการติดเชื้อโรคจากปลาใหม่

ปลาแพะนั้นจะคล้ายๆกับปลาหนังทั่วไปที่ค่อนข้างจะแข็งแรง ปรับตัวต่อสภาพแย่ๆได้ดี แต่ถ้าเกิดมันติดโรคขึ้นมา แสดงว่าหนักหนาพอสมควร และการรักษาก็มักจะทำได้ยาก

ขณะที่ปลาแพะอยู่ในภาชนะปิดระหว่างการขนส่ง หรือแม้แต่ถุงที่ใช้ใส่ปลามา ความเครียดก็สามารถทำให้มันปล่อยสารพิษชนิดหนึ่งออกมาได้ ซึ่งพิษนั่นทำให้มันถึงตายได้ด้วย และเมื่อมีปลาตัวหนึ่งตาย ปฏิกิริยาก็มักจะเกิดเป็นลูกโซ่ เนื่องจากทั้งพิษและมลพิษที่เกิดจากปลาที่ตาย และก็มักทำให้ปลาติดเชื้อไวรัสได้ด้วย

การสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น

1. อาการ – ปลาแสดงอาการคัน ถูตัวกับหิน หายใจถี่
สาเหตุ – มีได้หลายสาเหตุ คือ 1.มีปรสิตเกาะอยู่ 2.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ) 3.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 4.โรคจุดขาว (Ichthyophthirius multifiliis) 5.โรค Freshwater velvet (Oodinium pillularis ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) 6. Gill Flukes (ปรสิตกลุ่มหนึ่งที่เกาะที่เหงือก)

2. อาการ – ปลาลอยตัวอยู่กลางน้ำในท่าที่เป็นแนวตั้งฉากกับพื้น เอาหัวขึ้นบน
สาเหตุ – 1.มีปรสิตเกาะอยู่ 2.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ) 3.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 4.โรคจุดขาว (Ichthyophthirius multifiliis) 5.โรค Freshwater velvet (Oodinium pillularis ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) 6.น้ำปนเปื้อนสารพิษ

3. อาการ – ครีบมีรอยด่าง มีจุด มีอะไรติดๆ
สาเหตุ – ปรสิต

4. อาการ – ครีบเป็นแผล หรือเปื่อย
สาเหตุ – ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการเลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป

5. อาการ - ปลาแพะพุ่งขึ้นไปฮุบอากาศบ่อยๆ
สาเหตุ – มีหลายสาเหตุ คือ 1.ออกซิเจนต่ำ 2.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 3.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ)

6. อาการ – ตัวพอง
สาเหตุ – มีสองสาเหตุคือ 1.กินมากไป ท้องอืด 2.ติดเชื้อ TB (Mycobacterium)

7. อาการ – ตาขุ่น
สาเหตุ – จากการติดเชื้อแบคทีเรีย

8. อาการ – โรค Red Blotches (ตัวเป็นแต้มสีแดง) เหงือกแดงเหมือนเลือด
สาเหตุ – Gill Flukes (ปรสิตกลุ่มหนึ่งที่เกาะที่เหงือก)

การรักษา

ปกติแล้วปลาแพะเป็นปลาที่แข็งแรง การติดเชื้อแบคทีเรียมักมีสาเหตุมาจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมกับมันทำให้มันอ่อนแอลง หรือความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยๆก็ทำให้ปลาอ่อนแอลง ควรเริ่มจากการแก้ไขโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียให้แก้ที่คุณภาพน้ำก่อน (ความสกปรก พีเอช ความกระด้าง อุณหภูมิ ฯลฯ) แล้วรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทั่วไป และจัดตู้หรือหาที่วางตู้ที่เหมาะสมเพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้น (ปลาแพะไวต่อเสียงและความสั่นสะเทือนมาก และเมื่อมันตกใจ มันต้องการที่ซ่อนตัว -ผู้แปล)

แอมโมเนียมและไนไตรเกินมีสาเหตุจากการที่แบคทีเรียในระบบทำงานไม่สมบูรณ์ แก้ปัญหาเหมือนการแก้ปัญหาแอมโมเนียมทั่วไป (ระบบกรองชีวภาพ ต้นไม้น้ำ หินพัมมิส -ผู้แปล)

ปรสิตทั่วไป โรค Red Blotches และ Gill Flukes รักษาด้วยยากำจัดปรสิตและไม่ต้องกังวลเรื่องการใส่ยาซ้ำ โดยให้ยาซ้ำได้หลัง 48 ชั่วโมง ขณะใส่ยาอย่าใส่กรองที่มี activated carbon (Red Blotches บางตำราบอกว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย -ผู้แปล)

โรคจุดขาว โรค Freshwater velvet (ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) โรค TB ต้องใช้ยาเฉพาะทาง

ถ้าพบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษ ให้แก้ไขโดยการเปลี่ยนน้ำใหม่ 100%
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05/06/11, [10:56:03] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #10 เมื่อ: 31/05/11, [21:39:02] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การผสมพันธุ์ปลาแพะ

ปลาแพะบางชนิดผสมพันธุ์วางไข่ในตู้รวมได้ไม่ยากบางครั้งผู้เลี้ยงปลาแพะก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบลูกปลาแพะว่ายปะปนอยู่กับฝูงปลาแพะที่มีอยู่ ไข่ของปลาแพะจะดูใสๆ ติดอยู่ตามวัสดุต่างรอบบริเวณ ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวและผุพังไปในเวลาไม่นาน

ปลาแพะที่จะเลือกมาผสมควรเลี้ยงรวมฝูงอยู่ในตู้ตามปกติ มีขนาดโตเต็มที่ และสามารถแยกเพศได้แล้ว ให้แยกปลาแพะตัวผู้และตัวเมียออกมาคู่หนึ่งไปไว้ในตู้ผสมพันธุ์

ตู้ที่ใช้ผสมพันธุ์ควรมีขนาด 40-60 ลิตร เป็นตู้ที่ยาวหน่อยและไม่ลึก วางไว้ในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดธรรมชาติบ้าง ให้ความสว่างเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเปิดไฟให้มัน อุณหภูมิน้ำควรจะเท่าๆกับตู้เดิมของมัน ปูพื้นด้วยทรายละเอียด มีหินสักก้อนสองก้อน และต้นไม้น้ำนิดหน่อย ให้ใช้น้ำใหม่ 50%

คู่ของปลาแพะที่ใส่ลงไปจะใช้เวลาปรับตัวกับสถานที่วันสองวัน ซึ่งช่วงนี้ให้ระวังอย่าไปรบกวนมัน ตู้ผสมพันธุ์ควรตั้งในที่ที่ไม่ถูกรบกวน ไม่มีคนเดินผ่าน เพราะปลาแพะไวต่อความสั่นสะเทือนและเสียงมากๆ ช่วงนี้ควรให้อาหารที่มีคุณภาพสูงๆ เช่น อาหารแช่แข็ง และไรทะเล

ถ้าแยกคู่ไว้แล้วหลายวันยังไม่เกิดการผสมพันธุ์กัน ให้เปลี่ยนน้ำ 50% โดยใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสัก 18.3 C ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการจำลองสภาพฝนตกตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าผ่านไปแล้วยังไม่สำเร็จก็ให้น้ำคู่นี้กลับตู้รวมเหมือนเดิม

ถ้ามีการผสมพันธุ์เกิดขึ้นจะสังเกตได้ไม่ยาก เพราะใช้ระยะเวลานาน บางครั้งก็กินเวลาทั้งวัน จุดสังเกตอยู่ที่ตัวเมียจะดันตัวผู้ขึ้นไปอยู่ในรูปตัว T น้ำเชื้อจะถูกถ่ายมาที่ตัวเมีย และตัวเมียจะนำไปผสมกับไข่ และปล่อยไข่มาไว้ที่ครีบอกและเริ่มการวางไข่ จากนั้นก็เริ่มไปผสมพันธุ์กันอีกจนกว่าไข่จะถูกวางจนหมด

หลังจากนั้นให้แยกคู่นั่นกลับสู่ฝูง และเก็บไข่ไว้ในถุงเพาะพันธุ์ (breeding net) ซึ่งมีข้อดีตรงที่ถุงนี้จะอยู่ในตู้ที่ใช้ผสมพันธุ์นั่นเอง หลังจากนั้นหลายวัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว ระหว่างนี้ควรแยกไข่ที่ฝ่อแล้วออกไปด้วย ลูกปลาที่พึ่งฟักจะมีถุงไข่แดงติดมา ซึ่งเป็นอาหารของมัน ช่วงนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร

หลังจากนั้นให้อาหารโดยใช้ liquid egglayer food วันละหลายมื้อ สักหนึ่งสัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นสามารถใช้พวกอาหารสำเร็จแบบผงสำหรับลูกปลาโดยให้แช่น้ำให้นุ่มก่อน และเมื่อโตพอ การให้อาหารสดอย่างพวกไร หรือหนอนจิ๋ว (microworm) จะช่วยให้โตเร็วขึ้นได้ (แต่ไม่จำเป็น)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12/06/11, [21:02:41] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #11 เมื่อ: 31/05/11, [21:39:59] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

อาหาร

ในธรรมชาติ ปลาแพะกินได้หลากหลายมาก เช่นพวก พืช ตะไคร่ แมลงน้ำ หนอน ฯลฯ ส่วนในตู้เลี้ยง เราสามารถเลี้ยงได้ง่ายโดยใช้อาหารเม็ดประเภทจม (หรือทำให้มันจม) สลับกับหนอนแช่แข็งและกุ้ง แบ่งเป็นสองมื้อเช้าเย็น ซึ่งก็จะทำให้ปลาแพะได้สารอาหารครบถ้วนกว่าในธรรมชาติเสียอีก

ปลาแพะมักออกหาอาหารกันอย่างจริงจังตอนที่เริ่มมืด หรือเมื่อเราปิดไฟ โดยจะคุ้ยเขี่ยไปตามพื้นตู้ตลอดแนว ปลาแพะไม่ได้ใช้ตาในการหาอาหารแต่จะใช้หนวดของมันดมกลิ่นหา

การให้อาหารสดอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปรสิตและติดเชื้อโรคได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยใช้อาหารแช่แข็งแทนได้ครับ


อายุขัย

อายุขัยของปลาแพะนั้นไม่ค่อยเป็นที่แน่ชัดนัก ส่วนตัวผู้เขียนเองมีปลาแพะลายอยู่หนึ่งตัวที่เลี้ยงมาเกือบ 7 ปีแล้ว อายุของปลาแพะทั่วๆไปอยู่ระหว่าง 5 ถึง 8 ปี  ปกติแล้วมันจะมีอายุยืนมากกว่าในธรรมชาติเพราะในตู้เลี้ยงนั้นไม่มีผู้ล่าและอาหารก็อุดมสมบูรณ์กว่ามาก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26/06/11, [18:31:30] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #12 เมื่อ: 31/05/11, [21:41:04] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ปลาร่วมตู้

โดยทั่วไป ปลาฝูงจากเขตร้อน ขนาดเล็กๆทั้งหลายสามารถอยู่ร่วมกับปลาแพะได้ ยกเว้น เสือสุมาตรา ปลาหมูคอก ปลาหมูหางแดง เซอร์เปเตตร้า ซึ่งมักพบว่ามีการแทะครีบปลาแพะอยู่บ้าง

ปลากระดี่ ปลาสอด ปลาหางนกยูง กลุ่มเตตร้าขนาดเล็กๆอย่างคาดินัลหรือนีออน ปลาหมอแคระ และปลาในกลุ่มCatfishes นั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี

ปลากัด และ ปลากาแดง นั้นอาจมีการป้องกันอาณาเขตบ้าง แต่ไม่พบว่ามีอันตรายกับปลาแพะ (ผู้แปล – ขอเถียง ปลาแพะผมโดนปลากัดงับครีบหลังแหว่ง)

ปลาเทวดา เป็นอีกชนิดที่น่าสนใจเพราะขนาดตัวที่ใหญ่ของปลาเทวดา ทำให้ปลาแพะเกรงและเข้าฝูงโดยอัตโนมัติ

ปลาซิว สามารถเลี้ยงเป็นฝูงกับปลาแพะได้โดยอาศัยอยู่ในน้ำลักษณะเดียวกันพอดี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26/06/11, [18:32:05] โดย GreenEyes »
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #13 เมื่อ: 31/05/11, [21:41:33] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ช่องนี้ การจัดกลุ่มปลาแพะของนักวิจัย
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #14 เมื่อ: 31/05/11, [21:42:07] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ช่องสุดท้าย TOP TIP for ผู้เลี้ยงปลาแพะ
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #15 เมื่อ: 31/05/11, [21:44:32] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สำหรับผู้ที่ได้อ่านบทแปลนี้ อย่าลืมว่า เป็นเนื้อหาตั้งแต่เมื่อปี 1986 นู่น
ดังนั้น ปัจจุบัน องค์ความรู้เก่าๆอาจผิดพลาดและมีองค์ความรู้ใหม่ๆมาแทนที่แล้วก็ได้ครับ

หวังว่าจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้าครับผม  [on_012]
AEKKiE ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #16 เมื่อ: 31/05/11, [22:05:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณมากครับ สุดยอดเลย  [เจ๋ง]
Cory Lover ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #17 เมื่อ: 31/05/11, [23:27:33] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

Thanks mak mak kub
chapy ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #18 เมื่อ: 31/05/11, [23:50:57] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณมากๆ [on_066]
joepsm ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #19 เมื่อ: 01/06/11, [08:59:10] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

+1  [เจ๋ง]
plaraberd ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #20 เมื่อ: 01/06/11, [14:16:11] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เจ๋งโคตรๆ เลยครับ

เขียนหนังสือได้สบายๆ เลย

+ ให้เลยครับผม แต่... แม๋ น่ามีรูปประกอบสักหน่อยนะครับ คงสนุกขึ้นหลายเท่าตัว
GreenEyes ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #21 เมื่อ: 01/06/11, [14:50:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ


+ ให้เลยครับผม แต่... แม๋ น่ามีรูปประกอบสักหน่อยนะครับ คงสนุกขึ้นหลายเท่าตัว


อยากจะไปถ่ายรูปปลาแพะและอะไรอื่นๆประกอบบทความเหมือนกันครับ แต่ไม่รู้จะไปถ่ายจากไหนได้
Sir Oas ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #22 เมื่อ: 01/06/11, [16:02:10] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณมากเลยครับ ความรู้เพียบรอตอนต่อไปครับ [เจ๋ง]
bakapuchino ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #23 เมื่อ: 01/06/11, [16:03:09] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ  [เจ๋ง]

เรื่องภาพอาจจะหาจากกุเกิ้ล (ใช้ภาพที่เข้ากับเนื้อหานั้นๆ) แล้วใส่เครดิตกับที่มาไว้ก็ไม่น่าเสียหายนะครับ
MannyMonomania ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #24 เมื่อ: 01/06/11, [18:48:08] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เยี่ยมไปเลยครับ [เจ๋ง]
D-Zoic ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #25 เมื่อ: 01/06/11, [19:01:17] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เเจ่มเลยคับ [เจ๋ง]
+ ให้เลย ชอบคับ
ĴŨbiLiŐ™ ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #26 เมื่อ: 04/06/11, [21:50:40] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ ใจดีมากๆ
H.G.N Lobster ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #27 เมื่อ: 06/06/11, [15:19:23] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สุดยอดครับชอบมาก จริงๆ [on_066]

ป.ล.ไม่มีใครสนใจเอา ความรู้คาดินัลมาลงบางหรอ
aikhunwee ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #28 เมื่อ: 06/06/11, [19:36:38] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันกันนะครับ  [เจ๋ง]
KERK ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #29 เมื่อ: 07/06/11, [05:23:07] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ความรู้อันยอดเยี่ยม ขอบคุณมากครับ
หน้า: 1 2  ทั้งหมด   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: