Aqua.c1ub.net
*
  Tue 23/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: การ SETUP ตู้พรรณไม้น้ำ  (อ่าน 39668 ครั้ง)
Ferka ออฟไลน์
Moderator
« เมื่อ: 12/09/07, [00:59:20] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

                                               set up ตู้พรรณไม้น้ำ (1)

             การจัด ( set up ) ตู้พรรณไม้น้ำนั้น ในความรู้สึกของคนทั่วๆ ไปแล้วมองว่าเป็นสิ่งที่ยาก  และมักจะ,มีคำถามเสมอๆว่าเริ่มต้นอย่างไรดี , ดูแลยากไหม ฯลฯ
            จริงๆแล้วถ้าจะเปรียบให้เห็นชัดผู้เขียนขอเทียบกับการหัดขี่จักรยาน  ซึ่งแน่นอนว่าตอนคิดจะหัดส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกว่าต้องยากแน่นอน แต่เมื่อตัดสินใจหัดขี่แล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินความตั้งใจ เพียงแต่ว่าเมื่อขี่เป็นแล้วบางคนอาจหยุดการฝึกฝนไว้หลังจากขี่เป็น ส่วนหลายๆคนอาจฝึกฝนเพื่อการขี่ที่ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้มากขึ้น เช่นเดียวกับการเลี้ยงพรรณไม้น้ำซึ่งมีรายละเอียดมากมายเพียงแต่ว่าแต่ละท่านที่สนใจนั้นมีความสนใจในรายละเอียดที่ไม่เท่ากัน
             ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลี้ยงพันธุ์ไม้น้ำ
             ควรเริ่มต้นที่ความเข้าใจที่ว่าต้นไม้น้ำต้องการปัจจัยที่เหมาะสมเพื่อการอยู่รอด และเจริญเติบโต ซึ่งปัจจัยที่สำคัญๆได้แก่


   1.แสงสว่างที่พอเพียง และเหมาะสมสำหรับแต่ละสายพันธุ์
       บางสายพันธุ์ต้องการแสงที่มาก ในขณะที่บางสายพันธุ์ต้องการเพียงแต่น้อย  พรรณไม้น้ำส่วนใหญ่สามารถปรับตัวในการใช้แสงทั้งในด้านของคุณภาพ ( แสงในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ ) และปริมาณ คือความเข้ม หรือความสว่างของแสง ได้ในระดับหนึ่ง  แต่แสงที่เหมาะสมที่สุดจะส่งผลถึงความสมบูรณ์สูงสุด

     2. ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ละลายอยู่ในน้ำที่เพียงพอเพื่อใช้ในขบวนการสังเคราะห์แสง

     3. สารอาหารทั้งที่ละลายอยู่ในน้ำ และที่อยู่ในพื้นหรือวัสดุปลูก ( substrate )
              เมื่อมีครบทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นแล้วต้นไม้น้ำส่วนใหญ่ก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพียงแต่ว่าจะมีความสมบูรณ์เพียงไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับว่า
       ผู้เลี้ยงสามารถตระเตรียมปัจจัยเหล่านี้ให้มีความเหมาะสมเพียงไรโดยเฉพาะเมื่อเรานำพันธุ์ไม้เหล่านี้มาเลี้ยงรวมกันในตู้
            นอกจากปัจจัย 3 ประการข้างต้นแล้วยังมีปัจจัยต่างๆ ที่ปลีกย่อยอีกมาก เช่น ความกระด้างและคุณสมบัติทางเคมีของน้ำ , อุณหภูมิของ
      น้ำหรือแม้แต่สภาพการไหลเวียนของน้ำเป็นต้น   ซึ่งปัจจัยเหล่านี้แม้จะถือเป็นปัจจัยที่ปลีกย่อยสำหรับพันธุ์ไม้โดยทั่วไปแต่สำหรับพันธุ์ไม้
      บางชนิดแล้วถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากและโดยทั่วไปอาจถือว่าพันธุ์ไม้เหล่านี้เป็นพวกที่เลี้ยงยาก ( difficult plants ) เนื่องจากเราต้อง
      สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นพิเศษให้



       ขั้นตอนการเตรียมวัสดุ  และ อุปกรณ์           

  วัสดุที่จำเป็นสำหรับสำหรับการจัดตู้พรรณไม้น้ำประกอบด้วย
      1. กรวดสำหรับปลูก , ควรเป็นกรวดที่ได้จากแหล่งน้ำจืด  และไม่ควรใช้กรวดหรือทรายที่นำมาจากทะเล ทั้งนี้เนื่องจากกรวดทะเลมักมี
      เศษเปลือกหอย และเศษปะการัง
ปะปนมาด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้น้ำมีความกระด้างอยู่ตลอด รวมถึงมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงมาก และมัก
     จะมีเศษผงอันเกิดจากการกร่อนของกรวดหลุดลอยออกมาในน้ำอยู่ตลอดเป็นเวลานาน   
           ขนาดของกรวดเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 1-2 มิลลิเมตร ,ขนาดของกรวดมีความสำคัญใน
      หลายๆด้านซึ่งท้ายสุดแล้วจะส่งผลถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของพรรณไม้น้ำ
      ปริมาณกรวดที่ใช้ควรเตรียมให้มีความสูงของกรวดจากพื้นตู้อย่างน้อย  7-8 เซนติเมตร

    2.วัสดุตกแต่งได้แก่ ขอนไม้ ( drift wood )  หรือ หิน
           ขอนไม้ที่นำมาใช้ควรผ่านการแช่น้ำมาในระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจมน้ำแล้ว และจะไม่มีสีหลุดลอกออกมาอีก ทั้งนี้สีที่หลุด
      ลอกออกมาซึ่งนอกจากไม่สวยงามแล้ว ในหลายกรณียังเป็นสาเหตุให้เกิดตะไคร่น้ำได้ง่าย สำหรับการใช้หินก็เช่นกันควรหลีกเลี่ยงหินปูน
      และหินที่มีเนื้ออ่อน
           การจะใช้หินหรือขอนไม้นั้นขึ้นกับความชอบ และลักษณะ หรือ layout ของตู้ แต่การจัดวางหินให้สวยงามนั้นยากกว่าการวางขอนไม้
     มากในขณะที่ไม่มีปัญหาในเรื่องของสีที่หลุดลอก แต่การใช้ขอนไม้ก็ดูจะจัดวางได้ง่ายกว่าและให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลกว่ารวมถึงดูเป็น
     ธรรมชาติและมีชีวิตมากกว่าแต่การจัดหาและตระเตรียมดูจะยุ่งยากมากกว่า

    3. อุปกรณ์กรอง และ วัสดุกรอง
               กล่าวโดยสรุปแล้วระบบกรองที่เหมาะสมกับตู้พรรณไม้น้ำคือระบบกรองแบบนอกตู้ ( external power filtration system )
    ในกรณีตู้มีขนาดใหญ่ ( ปริมาตรน้ำมากกว่า 150 ลิตร ) ส่วนตู้ที่มีขนาดเล็กกว่านี้สามารถใช้ระบบกรองที่ติดตั้งภายในตู้ ( internal
     power filtration system )   ส่วนระบบกรองที่นิยมเรียกกันติดปากว่ากรองน้ำล้น( over flow )นั้น เป็นระบบกรองที่ไม่ควรใช้กับตู้พรรณไม้น้ำ
     โดยสิ้นเชิง ยกเว้นกรณีที่พันธุ์ไม้ในตู้ทั้งหมดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีระบบรากที่ลอยตัวอยู่ในน้ำเท่านั้น
            ระบบกรองประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือตัวอุปกรณ์ และ วัสดุกรอง ความสำคัญของตัวอุปกรณ์กรองนั้นคือการช่วยให้เกิดการไหล
       เวียนของน้ำเป็นประการที่หนึ่งส่วนอีกประการหนึ่งคือการช่วยนำพาสิ่งที่แขวนลอยอยู่ในน้ำเข้าสู่ระบบกรอง   ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง
      ในระบบกรองของตู้พรรณไม้น้ำคือวัสดุกรอง ( media ) ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่วยในการกรอองสิ่งแขวนลอยในน้ำออกไปประการหนึ่งส่วนอีก
       ประการคือเป็นที่ๆอาศัยของ bacteria จำนวนมหาศาล  การใช้วัสดุกรองในตู้ขนาดใหญ่จึงต้องเลือกใช้วัสดุกรองให้ครอบคลุมวัตถุ
       ประสงค์ดังกล่าวด้วย 
              สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบกรองคือควรได้รับการทำความสะอาดเป็นระยะ ( ประมาณว่าทุก 2 เดือน ) และในการล้าง
       ระบบกรองนั้นสิ่งที่พึงระวังคือห้ามการล้างด้วยน้ำประปา แต่ให้ใช้น้ำจากในตู้ปลาแทน ทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายของแบคทีเรียใน
       ระบบกรองอีกทั้งการล้างก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องสะอาดหมดจดแบบซักผ้า  ความสะอาดเพียง 80% นับว่าสะอาดพอเพียงแล้ว

     4. แสงสว่าง               แสงจากดวงอาทิตย์ถือเป็นแสงสว่างที่ดีที่สุดกับต้นไม้แต่สำหรับการเลี้ยงพรรณไม้น้ำในตู้เลี้ยงแล้ว การควบคุมการใช้ทำได้ยากเกิน
        กว่าที่จะนำมาใช้ได้โดยง่าย  แสงจากหลอดประเภทต่างๆจึงถูกนำมาใช้เพื่อทดแทน   
               หลอดหลักๆ ที่มีการใช้งานแพร่หลายได้แก่หลอดเมทัลฮาไลด์ , หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดต่างๆ รวมถึงหลอดประหยัดไฟ , หลอด
        ฮาโลเจน  แต่ด้วยเหตุผลในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย , ความสะดวกในการหาซื้อ และ ติดตั้ง รวมไปจนถึงผลที่ได้รับ ทำให้หลอด
        ฟลูออเรสเซนค์ เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย
               ประสิทธิภาพจากหลอดชนิดต่างๆเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมากแล้วแต่ประสบการณ์ที่ได้รับ แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องในเรื่องของแสงสว่างที่จะส่ง
         ผลต่อประสิทธิผลได้แก่
                                                                                                                           
       4.1 สเปกตรัม หรือความยาวของคลื่นแสง
               หลอดแต่ละชนิดมิสัดส่วนของความยาวคลื่นในช่วงต่างๆที่แตกต่างกันไป แม้แต่ในหลอดชนิดเดียวกันซึ่งต่างผู้ผลิต เช่นหลอดฟลูออ
        เรสเซนต์ที่ระบุว่าเป็นหลอดเดย์ไลท์ มีความแตกต่างขององค์ประกอบของแสงที่ความยาวคลื่นต่างๆอันได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว
        เหลือง แสด และแดงแตกต่างไปจากหลอดคูลไวท์  หรือแม้แต่หลอดเดย์ไลท์ด้วยกันก็ยังมีความแตกต่างกันได้ในระดับหนึ่ง   ความสำคัญ
        อยู่ที่ว่าความแตกต่างดังกล่าวส่งผลถึงการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกันออกไป และเป็นการยากที่จะบอกว่าหลอดชนิดใดดีกว่า
        กัน   ทั้งนี้เพราะว่าในตู้เลี้ยงที่แตกต่างกันนั้นมีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นชนิดของพันธุ์ไม้ , ขนาดของตู้ , ความ
        เข้มหรือปริมาณแสงรวมไปถึงระยะเวลาของการให้แสง , การให้และใช้สารอาหาร และอื่นๆอีกมาก    แต่โดยประสบการณ์ของผู้เขียน
        แล้วนิยมใช้หลอดคูลไวท์ ร่วมกับหลอดที่ทำมาสำหรับการเลี้ยงพรรณไม้น้ำเช่นหลอด Glo-lux , Aquarelle
        4.2 ความเข้ม ( light intensity ) หรือปริมาณแสงที่ให้   
          ในเรื่องของความเข้ม หรือ แสงสว่างที่ใช้ในตู้พรรณไม้น้ำว่าจะเป็นเท่าไรดีนั้น ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าต้นไม้น้ำก็
        เหมือนๆกับต้นไม้บกในเรื่องของความต้องการปริมาณแสงสว่างคือมีทั้งพรรณไม้ที่ต้องการแสงสว่างปริมาณมากจึงจะเจริญเติบโตได้ดี
      ไปจนถึงพรรณไม้ที่ต้องการปริมาณแสงเพียงน้อยนิดในการเจริญเติบโต และไม่สามารถทนอยู่ได้ถ้าได้รับแสงที่มากเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็น
       เรื่องที่นักนิยมพรรณไม้น้ำจะค่อยๆเรียนรู้จากประสบการณ์แต่มีข้อสังเกตเพื่อการเริ่มต้นดังนี้ กล่าวคือ พรรณไม้ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า
     “ไม้ข้อ ” ( Stem plants )คือพวกที่มีลำต้นเหนือพื้นที่เห็นชัดเจนนั้นโดยส่วนใหญ่ ต้องการปริมาณแสงตั้งแต่ปานกลาง ไปจนถึงเข้ม
        มาก ( light loving plants ) ในขณะที่พรรณไม้ประเภท ที่มีลำต้นสั้นมาก หรือไม้ที่มีหัว หรือเหง้า ( Rosette plants ) นั้นโดย
        ส่วนใหญ่ต้องการแสงตั้งแต่น้อยมาก ( shade loving plants ) จนถึงปานกลางโดยที่มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้น
        ที่ๆมีความเข้มแสงที่สูง อย่างไรก็ตามพันธุ์ไม้ต่างๆมีความสามารถในการปรับตัวในการใช้แสงได้ในระดับหนึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่
        ชนิด
              ในการคำนวณเพื่อการติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์เพื่อให้มีความเข้มแสงที่เพียงพอในเบื้องต้นซึ่งถือว่ามีความเข้มแสงปานกลางนั้น
        กำหนดไว้คร่าวๆ คือ 1 watt ต่อน้ำ 2 ลิตร ดังนั้นถ้าเป็นตู้ขนาด 90 เซนติเมตรโดยทั่วไปที่มีความกว้างและลึกปกติก็จะต้องใช้หลอด
        ขนาด 18 watts จำนวน 4 หลอด หรือถ้าเป็นตู้ขนาด 120 เซนติเมตร ก็จะต้องใช้หลอด 36 watts จำนวน  4 หลอด เป็นต้น
             ในเรื่องของแสงสว่างนั้นเมื่อติดตั้งเสร็จใช้งานไประยะหนึ่งความเข้มของแสงก็จะลดลงไป ดังนั้นเมื่อใช้ไประยะเวลาหนึ่งก็จะต้อง
       เปลี่ยนหลอดใหม่ โดยทั่วๆ ไปนิยมเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป 6-7 เดือน  และการเปลี่ยนควรค่อยๆ เปลี่ยนทีละหลอด เช่น สัปดาห์ละหลอด 
       ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนทีเดียวทั้งหมดนั้น ความเข้มแสงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มากนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบ
       และความเป็นไปของสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบจากปัจจัยหนึ่งไปสู่ปัจจัยหนึ่งและอาจเกิดปัญหาได้ในที่สุด
       เช่นการบูมของตระไครน้ำ  หรือการชงักงันของการเจริญเติบโต

             
          5. อุปกรณ์สำหรับการจ่าย และ ละลายก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์
             เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชโดยทั่วไปไม่ว่าบนบกหรือในน้ำ  สำหรับ
       พืชบกนั้นสามารถดูดซับก๊าซนี้จากอากาศได้โดยตรง ซึ่งต่างจากพืชน้ำซึ่งปริมาณก๊าซชนิดนี้โดยทั่วไปมีในน้ำน้อยกว่าในชั้นบรรยากาศ
       มากดังนั้นการน้ำพืชน้ำเหล่านี้มาเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมจำลองจึงมีความจำเป็นจะต้องหาทางเติมก๊าซนี้ลงไปในน้ำ
            อาจมีคำถามในใจว่าแล้วทำไมตามหนองบึงบางแห่งจึงมีพืชน้ำเช่นสาหร่ายขึ้นเต็มไปหมด , ปัจจัยที่ทำให้เกิดพืชน้ำขึ้นได้ในธรรมชาติ
      นั้นเป็นเพราะว่าในแหล่งน้ำเหล่านั้นมีการสลายตัวของอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อยผุพังทับถมกันเป็นเวลานานทำให้เกิดก๊าซนี้ขึ้นได้ หรือในพื้น
      ที่ใต้ดินบางแห่งก็มีแหล่งก๊าซที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีให้ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์  อีกทั้งพืชน้ำบางชนิดยังมีความสามารถในการใช้
      โมเลกุลทางเคมีที่มีความใกล้เคียงกับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์แทนการใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ได้อีกด้วย ในขณะที่พันธ์ไม้น้ำจำนวนมาก
      ไม่สามารถทำได้

             อุปกรณ์หรือชุดให้ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์นั้นประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

     5.1 ถังบรรจุก๊าซ พร้อม อุปกรณ์ควบคุม           อุปกรณ์ในส่วนนี้ประกอบไปด้วยถังแรงดันสูงสำหรับเก็บกักก๊าซพร้อมหัววาวส์ปิด-เปิด ,  อุปกรณ์ควบคุมแรงดันและมาตรวัด
    ( regulator ) , วาวส์ปรับละเอียด ( speed control )
    5.2 อุปกรณ์ที่ช่วยให้ก๊าซที่ปล่อยออกมาละลายน้ำ
     ที่มีวางขายอยู่ในตลาดเท่าที่เห็นมีด้วยกัน 3 หลักการได้แก่ หนึ่ง การทำให้ฟองก๊าซขนาดใหญ่เปลี่ยนไปเป็นฟองก๊าซขนาดจิ๋วจำนวนมากทั้งนี้โดยหลักการนี้ก็คือเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวที่จะสัมผัสน้ำให้มากขึ้น , สองคือเพิ่มระยะทาง หรือระยะเวลาของการเดินทางของฟองก๊าซให้นานขึ้นเพื่อให้ฟองก๊าซมีเวลาในการละลายนานขึ้นในขณะเคลื่อนที่ และสามคือการใช้หลักการให้น้ำและก๊าซเดินทางสวนกันหลักการนี้ก็เหมือนกับการใช้ช้อนช่วยในการคนน้ำตาลทรายในน้ำเพื่อให้ละลายได้ดี และเร็วมากขึ้น
ส่วนสำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลี้ยงพรรณไม้น้ำดีหรือไม่นั้นการเลือกใช้อุปกรณ์กรณ์ง่ายๆที่ราคาไม่สูงที่ใช้ยีสต์และน้ำตาลในการผลิตก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ก็ดูจะเป็นทางออกที่ดี
   6.สารอาหารสำหรับการจัดตู้               

   การลงเสาเข็มก่อนการปลูกบ้านมีความสำคัญเพียงไร, การจัดเตรียมพื้นตู้ ( substrate ) เพื่อการปลูกพรรณไม้น้ำก็มีความสำคัญใน
       ลักษณะเดียวกัน  ทั้งนี้การเตรียมพื้นตู้ด้วยสารอาหารที่เหมาะสมนอกจากจะเป็นการเอื้อต่อการดำรงอยู่ของตู้ในระยะยาวแล้ว  ยังมีส่วน
      ช่วยให้การฟื้นตัวของพรรณไม้เป็นไปได้ง่าย  เสมือนหนึ่งเชื้อเพลิงที่ดีนั้น นอกจากจะต้องติดไฟได้ในระยะยาวแล้ว  คุณสมบัติที่ดีในเบื้อง
      ต้นคือต้องติดไฟได้ง่ายด้วย  นอกจากนี้การเตรียมพื้นตู้ด้วยสารอาหารที่เหมาะสมยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการเลี้ยงพรรณไม้เลี้ยงยากบาง
      ชนิด ที่ปัจจัยที่ทำให้เลี้ยงยากนั้นเกิดจากความสมบูรณ์และองค์ประกอบของสารอาหารของวัสดุปลูก

    ขั้นตอนการ set up ตู้พรรณไม้น้ำโดยผลิตภัณฑ์ Ferka
        การจัดตั้งตู้พรรณไม้น้ำที่ดีนั้นควรมีการวางแผนหรือวาดภาพการการจัดแต่งไว้ก่อนในใจ  อาทิเช่นการจัดแต่งเนิน และความลาดเอียงในบริเวณต่างๆ ตามความชอบ รวมถึงการจัดวางหิน, ขอนไม้และวัสดุตกแต่งอื่นๆ  และหลังจากติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนแล้ว (โดยเฉพาะการติดตั้งหลอดไฟนั้นจะต้องคำนึงถึงปริมาณแสงในบริเวณต่างๆ ให้มีความพอเพียง และสอดคล้องกับชนิดและพันธุ์ไม้ที่จะนำลงปลูก ) จึงเริ่มต้นตามขั้นตอน ดังนี้


1.  แบ่งกรวดทั้งหมดที่คาดว่าจะต้องใช้เพื่อให้มีความหนาอย่างน้อย  8 เซนติเมตร ออกเป็น 2 ส่วน ประมาณส่วนละ 50 % นำกรวดส่วนแรกมาผสมกับ  Aquabase ให้เข้ากันให้ดีโดยที่กรวดบริเวณที่บางที่สุดควรมีความหนาอย่างน้อย 4 เซนติเมตรโดยประมาณ (  การพรมน้ำให้กรวดชื้นก่อนการผสม Aquabase จะช่วยทำให้ไม่เกิดการฟุ้งกระจาย )
ทำการตบแต่งพื้นผิวกรวด ( land scape ) ตามที่ได้วางผังไว้


2.นำกรวดส่วนที่เหลือมาล้างน้ำให้สะอาดมากที่สุด และปิดทับกรวดส่วนแรกไว้ โดยให้กรวดส่วนนี้มีความหนาอย่างน้อย 4 เซนติเมตรโดยตลอด  ทำการจัดวางวัสดุตกแต่งที่เตรียมไว้ให้เรียบร้อย


3.ค่อยๆเติมน้ำลงในตู้ให้มีความสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของตู้โดยระวังไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของพื้นกรวด เทคนิคประการหนึ่งที่ใช้เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายคือการรองพื้นตู้ไว้ด้วยแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่แล้วจึงปล่อยน้ำลงในแก้วหรือถ้วยที่วางอยู่บนจานรองเตี้ยๆที่วางทับอยู่บนแผ่นพลาสติก


4.ทำการปลูกพรรณไม้ต่างๆ ตามตำแหน่งที่ต้องการ ( ก่อนทำการปลูกควรริดใบที่ไม่สมบูรณ์ออกรวมถึงการตัดรากทิ้งบางส่วนสำหรับไม้พวกที่มีลำต้นสั้นหรือทั้งหมดกรณีที่เป็นไม้ข้อเพื่อให้เกิดการแตกรากใหม่ ) หลังจากนั้นจึงเติมน้ำเพิ่มให้เต็ม

5.ทำการเดินระบบกรอง, ระบบให้ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์

6.สำหรับการเปิดไฟควรทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเนื่องจากพรรณไม้ต่างๆยังไม่สามารถใช้สารอาหารได้อย่างเต็มที่ในขณะที่ภาวะต่างๆ ยังมีความผันผวน  ( fluctuate ) และยังไม่เข้าสู่สมดุลย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การเกิดของแบคทีเรียทั้งในระบบกรองและที่พื้นกรวดรวมถึงในน้ำซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบนิเวศน์  ( Ecology )ของการเลี้ยงพรรณไม้น้ำยังไม่เกิดขึ้นนั้น  โอกาสของการเกิดตะไคร่น้ำจะมีได้มากในช่วงเวลานี้ การควบคุมปริมาณและช่วงเวลาของการใช้แสงซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำจึงควรกระทำดังนี้

   6.1   สัปดาห์แรกใช้ไฟ  60 – 80 % ทั้งในด้านของปริมาณ และ ช่วงระยะเวลา เช่น ในตู้ขนาด 90 เซนติเมตร ที่ใช้หลอดทั้งหมด 4 หลอดให้เปิดเพียง 3 หลอดโดยเปิดวันละ 8 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน
   6.2  สัปดาห์ที่สองเพิ่มระยะเวลาของการเปิดไฟจาก 8 ชั่วโมงเป็น  10 ชั่วโมง
   6.3  หลังจากเข้าสู่สัปดาห์ที่สามจึงเปิดไฟครบทั้ง 4 หลอดเป็นเวลา  10 ชั่วโมงต่อวันและควรใช้อุปกรณ์การควบคุมการเปิด – ปิดแบบอัตโนมัติ  ( Timer )

7.การเปลี่ยนถ่ายน้ำ และ การให้สารอาหาร
   7.1วันที่ 3 ภายหลังการปลูกพันธุ์ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำ  50 %
   7.2เปลี่ยนถ่ายน้ำ  30 % เมื่อครบ 1 และ 2 สัปดาห์
   7.3เริ่มให้  Aquatilizer ในสัปดาห์ที่  4 โดยให้ในปริมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณที่กำหนดไว้โดยให้ภายหลังการเปลี่ยนถ่ายน้ำ  30 %
   7.4เริ่มให้  Stemma หรือ Rosetta ซึ่งเป็นสารอาหารสำหรับให้ทางรากกับพันธุ์ไม้ที่มีรากอยู่ใต้กรวดในสัปดาห์ที่ 5 โดยการใช้ปากคีบช่วยให้การนำ Stemma หรือ Rosetta ลงสู่พื้นกรวดจนถึงก้นตู้
   7.5หลังจากตู้พรรณไม้น้ำมีอายุครบ 6 สัปดาห์แล้วจึงทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 30 % ต่อสัปดาห์พร้อมกับการให้  Aquatilizer และ Balance – K ในขนาดปกติ  ส่วน Stemma หรือ Rosetta ควรให้ทุก  3 – 4 สัปดาห์เพื่อเสริมการเจริญเติบโตและกระตุ้นการแตกกิ่งและต้นใหม่รวมถึงเป็นการเสริมความสมบูรณ์ให้กับพื้นตู้ในระยะยาว
  7.6ตู้พรรณไม้น้ำในแต่ละตู้นั้นมีความแตกต่างกันได้มากทั้งในด้านของชนิดของพรรณไม้ , ปริมาณของพรรณไม้ ดังนั้นขนาดหรือปริมาณการใช้ที่แน่นอนของ  Aquatilizer และ Balance-K ในแต่ละตู้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงควรต้องสังเกตจากการตอบสนองของพรรณไม้ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ โดยเริ่มต้นจากจากปริมาณตามคำแนะนำในเบื้องต้น 
           
       


          การเลี้ยงพรรณไม้น้ำเป็นงานที่ระเอียดอ่อน ในทุกๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้แสงสว่าง , การใช้สารอาหารและดูแลคุณภาพของน้ำ ไปจนถึงการไหลเวียนของน้ำ ในส่วนของสารอาหารนั้น  ทั้ง Aquabase , Aquatilizer , Balance-K , Stemma และ Rosetta เป็นสารอาหารที่ถูกเตรียมขึ้นเพื่อใช้ร่วมกันในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อความสมบูรณ์สูงสุดของพรรณไม้น้ำ ในทุกช่วงเวลาทั้งนี้เนื่องจากพรรณไม้น้ำสามารถดูดซึมสารอาหารต่างชนิดกันผ่านทางรากและใบในปริมาณที่ไม่เท่ากันประการหนึ่ง  อีกทั้งการให้สารอาหารต่างๆลงไปในตู้พรรณไม้น้ำนั้นต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำมากพอๆกับผลที่คาดว่าพืชจะได้รับจากการใช้สารอาหาร    การให้และใช้สารอาหารจึงเป็นสิ่งที่ควรต้องทำด้วยความระมัดระวังเนื่องจากผลที่เกิดขึ้นทุกๆอย่างในตู้พรรณไม้น้ำนั้นจะส่งผลกระทบเป็นไปในลักษณะของลูกโซ่จากปัจจัยหนึ่งไปยังอีกปัจจัยหนึ่งทั้งด้านบวกและด้านลบ และหลายครั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมากเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้   

      การให้ความสนใจในทุกรายละเอียดกับตู้พรรณไม้น้ำนั้นนอกจากผลที่ได้รับคือความสวยงาม ,ความสมบูรณ์ของพรรณไม้และความเพลิดเพลินที่ได้รับแล้วยังจะเป็นหนทางในการเข้าถึงความเข้าใจในธรรมชาติที่มากขึ้น และทุกคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตู้พรรณไม้น้ำนั้นล้วนมีคำตอบทั้งสิ้น  การหาคำตอบจากตู้พรรณไม้น้ำจากการเรียนรู้และเฝ้าสังเกตนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่มีวันจบสิ้น

                                                                                    ferkee
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12/09/07, [01:05:31] โดย Ferka »
crazybomb ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #1 เมื่อ: 07/02/14, [18:08:29] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ความรู้ล้นหลาม ขอบคุณมากครับ
shalotorn ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #2 เมื่อ: 14/06/14, [14:04:02] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

น่าจะมีรูปบ้างนะครับ
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: