ช่วงฝนตกเกือบทุกวันเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติของเหล่าบรรดา มด แมลง สัตว์เลื้อยคลาน ทั้งหลาย จะ “ยกขบวนพาเหรด” ออกมาเดินกัน “ยั้วเยี้ย” โดยเฉพาะ “กิ้งกือ” ที่เห็นแล้วต้อง “โดดโหยง” หรือไม่ก็ใช้ไม้เขี่ยออกไปให้ไกล…
แม้หลายคน รังเกียจ ขยะแขยง แต่มีการรวมตัวจัดตั้ง “ชมรมคนรักกิ้งกือ” และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเอา “ไอ้ยักษ์แสนขา” มาขึ้นห้างโชว์ตัวในงาน “พฤกษาสยาม” ซึ่งจัดขึ้นที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อเร็วๆนี้ ด้วยขนาดรูปร่างทั้งใหญ่ ยาวเกือบฟุต จึงไม่ แปลกที่ได้รับความสนใจจากเด็ก ผู้ใหญ่ที่เดินผ่านไปมา
ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า ทางภาควิชาชีววิทยาฯได้ร่วมกับ ศ.ดร. Henrik Enghoff จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ผู้เชี่ยวชาญอันดับ 1 ของโลกเรื่องกิ้งกือ ออกสำรวจรวบรวมสายพันธุ์ โดยได้ทุนสนับสนุนโครงการจาก The Thai Response to Biodiversity (BRT)
ช่วงหนึ่งของการสำรวจใน จังหวัดนครสวรรค์ นับเป็นความโชคดีของทีมงานที่พบ กิ้งกือมังกรของไทย Desmoxytes purpurosea Enghoff& Panha ขณะกำลังจับคู่ ผสมพันธุ์ โดยสถาบันแห่งหนึ่ง ในประเทศสหรัฐ อเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เป็นการค้นพบ 1 ใน 10 ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งมีอยู่ที่ประเทศไทยเท่านั้น
“กิ้งกือ” (Millipede) เป็นสัตว์มีขามากที่สุดในบรรดาสัตว์บก ไม่มีกระดูกสันหลัง บนโลกใบย่อมลูกนี้มีมากถึง 10,000 ชนิด (สปีชีส์) สำหรับบ้านเราจากการสำรวจพบประมาณ 100 ชนิด มักจะเห็นบ่อยครั้งตามถนนหนทาง ชายป่า สวนครัว ป่าละเมาะ เขาหินปูน เป็นกิ้งกือตัวใหญ่ ทรงกระบอก หรือกิ้งกือหนอน มีลักษณะสีออกแดงๆ หรือสีน้ำตาล
โดยรูปร่าง เป็น ส่วนหัว มีตาอยู่ด้านข้าง (ยกเว้นกิ้งกือถ้ำจะไม่มีตา) และ ลำตัว ลักษณะขาข้อ (arthropods) หนวดสั้น ปาก 2 ส่วน บนล่างเพื่อใช้เคี้ยวและกด ลำตัวยาว มีขาสองคู่ต่อหนึ่งวงปล้อง ผิวมันแข็งทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกัน โตเต็มที่นับปล้องได้ ประมาณ 100-200 ปล้อง ขนาดลำตัวยาว 2 มม. ถึง 30 ซม.
เริ่มผสมพันธุ์ เมื่ออายุ 1 ปี ซึ่งตัวผู้ กับตัวเมียจะม้วนเกี่ยวรัดเป็นเกลียว จากนั้น 1 สัปดาห์ เพศเมียจะหาที่ ฝังไข่ซึ่งเป็นตามมูลซอกดิน ครั้งหนึ่งออกประมาณ 100-200 ฟอง ใช้เวลา 10 วัน ลูกกิ้งกือวัยอ่อนจะเหมือนแมลง มี 6 ขา จะเริ่มทยอย ขึ้นสู่หน้าดิน เพื่อหากินซากใบไม้ป่นเป็นอาหาร ในช่วงยามกลางคืน
พอมันโตจึงเริ่มหันมากินไม้ผุ ขอนไม้ ใบไม้เน่า ซึ่งมีเชื้อรา แบคทีเรีย พร้อมกับ ถ่ายมูลเป็นก้อนคล้ายยาลูกกลอน เต็มไปด้วย จุลินทรีย์ สารอินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มธาตุอาหารในดิน และการช่วยย่อยสลายซากในระดับต้นๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเสมือน “โรงงานธรรมชาติเคลื่อนที่”
หากมีภัยหรือที่หลายๆคนชอบเอาไม้ไปเขี่ย จะม้วนตัวขดเป็นวงกลม ขณะเดียวกันก็ ปล่อยสารเคมีกลุ่ม “ไซยาไนต์” หรือสารที่เรียกว่า “เบนโซควิโนน” ลักษณะสีเหลือง เมื่อถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และเข้มในที่สุด มีกลิ่นเหม็นคล้ายน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำตามโรงพยาบาล
และ…หากมีปริมาณมากๆ ย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ หนทางที่ดีควรอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นการดีที่สุด!…
*********************************************************************
เพ็ญพิชญา เตียว
ที่มา:นสพ.ไทยรัฐ ฉบับที่ 18396
_________________________________________________
อ่านเรื่องราวของปลาสวยงาม สัตว์น่ารักๆ หรือ สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งเรื่องน่าสนใจอื่นๆ
เพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า
http://myaqualove.blogspot.com
|