ดูรูปประกอบบทความได้ที่ http://myaqualove.blogspot.com/2010/06/triops-c1ub.html
****************************************************************
ผมได้เห็นเจ้าสิ่งที่เรียกว่า Triops ครั้งแรกนี้ จากในเว็ปไซต์ C1ub.aqua.net ( ตัว แอล แทนที่ด้วยเลข 1 จริงๆนะครับ คนตรวจปรู๊ฟ ไม่ต้องแก้ไขให้นะครับ )ทำให้ผมรู้สึกเกิดความประทับใจขึ้นมาในทันที ราวกับได้พบเจออิสตรี ที่ช่างฝัน และรู้สึกว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ จะต้องมีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติแน่ๆ เพราะมันเท่ห์ได้ใจมาก ( เว่อร์ไปไหมเนี่ย ) เอาเป็นว่าที่จริงแล้วรู้สึกถูกใจ ในลีลา การว่ายน้ำ อันแสน จะกระตือรือล้น กับ พฤติกรรมในการขุดทราย แบบตั้งหน้าตั้งตาขุด ราวกับมีบรรพบุรุษทำอาชีพขุดท่อ ในประเทศสารขัณฑ์ ( แถมยังขุดไม่กลบ เหมือนกันซะด้วยซิ ) ซึ่งลีลาเหล่านี้ ช่างดูแล้วเพลินตา เพลินใจ หายเครียด คลายโรคเบื่อ ที่เบื่อม็อบ เบื่อการเมือง เบื่อตังค์หมด เบื่อฝนตก และอีกสารพัดเบื่อไปได้เป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในขณะนั้นยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเจ้าตัวนี้เลยแม้แต่น้อย จึงต้องรีบใช้บริการ " พี่ Goo " หรือ " Google" ที่เป็นSearch Engine ยอดนิยมอีกที่หนึ่ง แล้วก็ได้ข้อมูลเข้ามาประดับความรู้มากมาย ดังจะพอสรุปได้ดังนี้ อันตัว Triops หรือ Tadpole Shrimp เป็นครัสเตเชียลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ของตระกูล Branchiopod ซึ่งเป็นเครือญาติที่ใกล้เคียงกับ ปู , กุ้งลอบสเตอร์ และ กุ้งเครฟิช โดยจากรูปพรรณสัณฐานภายนอกแล้ว Triops จะมีรูปทรงคล้ายๆกับเกือกม้า หรือถ้าเทียบเป็นสัตว์ด้วยกัน ก็จะใกล้เคียงกับแมงดาทะเลมาก แต่มีขนาดที่เล็กกว่า มีเกาะบางๆ ที่เอาไว้หุ้มส่วนลำตัว และ มีครีบที่ใช้ในการว่ายน้ำ และหาง ซึ่งในบางชนิด เราสามารถที่จะดูเพศของ Triops ได้ จากความยาวของส่วนหางนี่เอง , ในธรรมชาติทั่วโลก ปัจจุบัน สามารถพบ Triops ได้ถึง 15 ชนิด โดยมีการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ในทางตอนใต้ ของทวีปอเมริกาเหนือ , บางส่วนของแอฟริกา , ออสเตรเลีย , ญี่ปุ่น และ รัสเซีย เรียกได้ว่ามีการกระจายพันธุ์กันอยู่ได้ทั้งในพื้นที่ๆร้อน และ หนาวเย็นมากๆ เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ที่ อเมริกาใต้ , ฮาวาย , นิว คาลีโดเนีย ไปจนกระทั่งถึง หมู่เกาะ กาลาปากอส ดินแดงแห่งเต่ายักษ์ ผู้ใหญ่ยิ่ง และ ยิ่งใหญ่ ก็สามารถพบเจอตัว Triops ได้ และในทวีปเอเซียของเรา ก็ยังมี ดินแดนแห่งเครื่องเทศ อินเดีย อีกประเทศหนึ่ง ที่มีเจ้า Triops นี้ อยู่กับเขาเช่นเดียวกัน ส่วนในประเทศไทย ไม่มีสายพันธุ์ของ Triops อยู่ครับ
ในส่วนของสีสรร ของเจ้าตัว Triops นั้น โดยทั่วไปในสายพันธุ์ต่างๆที่พบกัน ส่วนใหญ่ก็จะมีสีสรร ออกเขียวๆ , น้ำตาล , น้ำตาลแดง หรือ สีที่ใกล้เคียงกับสีดำ แต่ก็ไม่ถึงกับดำสนิท มีบางพันธุ์ที่อาจจะมีสีตัวเป็นสีฟ้าเข้มๆบ้าง แต่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่พบ เช่น Triops cancriformis simplex , โดย Triops ชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ จะมีขนาดประมาณ 1 - 3 นิ้ว แต่สำหรับบางพันธุ์ในทวีปแอฟริกา และในทวีปยุโรป จะมีขนาดใหญ่ได้ถึงประมาณ 4 นิ้วขึ้นไปเลยทีเดียว โดย Triops ได้รับการนิยามชนิดพันธุ์ และเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1732 ในตอนนั้น ได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Apus ต่อมา ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ได้เปลี่ยนเป็น Triop ที่มีความหมายว่า " เทพสามตา " เอ๊ย " เหมือนมีสามตา " เฉยๆ ในปี 1958 แต่จริงๆแล้วในส่วนที่เราคิดว่าเป็นตาที่สามนั้น จะเป็นอวัยวะที่เรียกว่า Dorsal organ มากกว่า , ลำตัวของ Triops มีลักษณะเป็นแท่งยาว แบ่งเป็นปล้อง และบริเวณส่วนหัวที่เป็น carapace มีลักษณะแบนที่ปกคลุม 2 ใน 3 ส่วนของช่องอก (thorax) และมีระยางค์เป็นปลาย 2 เส้นยื่นออกมาในส่วนของช่องท้อง (abdomen) Triops มีอวัยวะที่เป็นครีบที่ใช้ในการว่ายน้ำอยู่ประมาณ 35 - 70 คู่ และมีฟันที่เป็นเหมือนซี่ฟันอันใหญ่ๆ ประกบกัน สามารถกัดแหน หรือ ไส้เดือนน้ำ ขาด แล้วส่งเข้าลำไส้ และย่อยเป็นอาหารต่อไปได้อย่างง่ายดาย แม้จะดูน่ากลัว แต่สรุปแล้วก็คือ มันไม่สามารถที่จะทำอันตรายมนุษย์เราได้แน่นอนครับ ถึงแม้ว่าเขาจะชอบมาว่ายป้วนเปี้ยนๆ ที่นิ้ว หรือ มือของเรา ก็ไม่ต้องกลัวถูกเขากัดนะครับ
ในส่วนของอาหารการกิน นั้น Triops สามารถกินได้หลายอย่าง ตั้งแต่ แหนเป็ด , ตะไคร่น้ำ , แบคทีเรีย , สัตว์เชลล์เดียว โปรโตซัวต่าง ๆ ( สุโค่ยมากๆ ) รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆที่มันจับได้ และ มีขนาดไม่ใหญ่กว่าตัวมันมากนัก ในธรรมชาติ พวกมันนับเป็นศัตรูอันร้ายกาจของ Fairy Shrimp ( หรือไรนางฟ้า ) , ลูกน้ำ และ ไรน้ำ ต่างๆ ล้วนต้องหลบหลีกๆ ลี้ หนีหน้า Triops ไปตามๆกัน ถ้าไม่อยากถูกกิน ( ฟังดูน่าเกรงขามจริงๆ ) แต่ " ชัวะ !!!! จึ๊กๆๆๆ พั่บๆๆๆ ปั่บๆๆๆๆ อ๊บบบๆๆ อ๊บบบบบบบบบบบ อ๊างงงงงงงงงงงง " แพล่บเดียว บรรดานกต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งบรรดากบต่างๆ ( ตัวหลังส่งเสียงดังหน่อย เพราะพอดีตอนกิน Triops ปุ๊บ ตัวผู้โดดมาทับพอดีครับ ) พอเห็นเจ้า Triops ออกมาเริงร่า ก็โดดลงมา กินโต๊ะจีน " Triops " ไปตามๆกัน โอ้ว นี่แหล่ะหนา โฟนอิน เอ๊ย ไม่ใช่ นี่แหล่ะหนา วัฏจักรธรรมชาติ สัตว์เล็กกินสัตว์ใหญ่ ( ที่ตายแล้ว ) หรือไม่ก็สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก โลกของเราก็หมุนเวียนเช่นนี้มานานหลายล้านปีแล้ว และก็คงต้องดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม บทบาทในการช่วยจัดการกับบรรดา สัตว์น้ำขนาดเล็ก และ วัชพืช ต่างๆ ทำให้ในหลายๆพื้นที่ในโลก เช่นที่ญี่ปุ่น มีการนำ Triops มาใช้ในการกำจัดวัชพืชในนาข้าวครับ รวมทั้ง การมีอยู่ของ Triops ก็จะเป็นเครื่องการันตีว่า ยังมีสัตว์ขนาดเล็กอีกหลายๆชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ได้....อย่างเช่น เจ้ากบน้อยที่โดนทับเมื่อตะกี้ยังไงครับ : ) เพราะว่าสัตว์เล็กๆเหล่านี้ ได้ Triops เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สามารถหาได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Triops จะถูกกินโดยสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิด แต่ ก็มีโอกาศแพร่พันธุ์ไปยังแหล่งน้ำต่างๆ ได้ โดยสิ่งมีชีวิตหลายๆชนิดเช่นกัน เช่น ไข่ของ Triops อาจจะติดไปกับโคลน ที่ติดอยู่ที่ขานก ที่ลงมาหากินตัวเต็มวัย และพอนก ย้ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำไข่ของ Triops ก็อาจจะหลุดลงไปในแหล่งน้ำต่างๆ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของ Triops ไปยังอีกที่หนึ่งได้
ไข่ของ Triops ที่ภายในบรรจุตัวอ่อน จะถูกเรียกกันว่า Cryst ซึ่งเจ้า Cryst นี้ จะมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมอย่างเหลือเชื่อ เหนือยิ่งกว่าร่างกายมนุษย์เราเสียอีก คือ Cryst สามารถทนความร้อนจากการอบแห้งได้ถึง 98 องศา !!! หรือเรียกได้ว่า ระดับเดียวกับน้ำที่ใกล้เดือด และหลังจากอบแห้งด้วยความร้อนระดับนี้แล้ว พอปล่อยลงน้ำ ก็สามารถที่จะ " เป็นตัว " ออกมาได้.... โอ้ว ไม่น่าเชื่อ แต่นี่ก็เป็นเรื่องจริง นอกจากนี้ Cryst ยังสามารถทนต่อความหนาวเย็นได้เป็นอย่างดี และยังสามารถเก็บรักษาเอาไว้ฟักอีกครั้งได้นานถึง 15 ปี !!! ( บางตำราก็ว่า 20 ปี ) ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไม Triops ถึงมีชีวิตอยู่มาได้นาน ตั้งแต่สมัย Triassic เป็นต้นมา โดยไม่สูญพันธุ์ไปตามไดโนเสาร์ ทั้งๆที่แทบไม่มีการวิวัฒนาการเลย นักวิทยาศาสตร์ จึงตั้งให้สมญานามกับ Triops ว่า เป็นเสมือน " ฟอสซิล " ที่ยังมีชีวิตนั่นเอง....
อย่างไร ก็ตามในการเพาะ Triops นั้น จริงๆแล้วไม่ต้องนำไข่ไปอบแห้ง หรือ ตากแดด ก็ได้ แต่ไข่ที่เปียกชื้น จะฟักออกมาเป็นตัวช้ากว่า หลายครั้งหลายหน ที่ผมพบว่า หลังจากผ่านไปหลายวัน ก็จะพบตัวอ่อนของ Triops ออกมาจากที่เลี้ยงที่เคยตั้งฟักไข่ เอาไว้ แต่มีตัวอ่อนออกมาน้อย หรือ ไม่มีเลยในบางครั้ง แต่พอวันเวลาผ่านไป กลับพบว่ามีตัวอ่อน “ ฟักตัว “ ออกมาเสียแบบนั้น ทำให้บางครั้งรู้สึกประหลาดใจเหมือนกันครับ
ตัว อ่อนที่ฟักออกมา ภาษาอังกฤษ จะเรียกว่า Nauplus Larva ซึ่งในตอนแรกนี้ จะมีลักษณะที่แตกต่างจากตัวเต็มวัย คือไม่มีในส่วนเปลือก ที่ปกคลุมด้านลำตัว หรือที่เรียกกันว่า Calapace โดยที่ซักพัก มันจะหยิบเปลือกของตัวเองขึ้นมา แล้วตะโกนอย่างดัง Setup !!! Setup !!! Setupppp !!!! เอ๊ย ไม่ใช่ นั่นมันไอ้มดเอ็กซ์แล้ว ที่จริงๆแล้ว มันต้องร้อง “ อิไต อิไต “ เอ๊ย นั่นก็ไม่ใช่ นั่นมันสตรีญี่ปุ่น ยามโดนเหยียบเท้า ใครๆ ก็ต้องร้องว่าเจ็บๆ กันทุกคนแหล่ะหนอ....แฮ่ะๆ นอกเรื่องอีกแล้ว....อันที่จริงแล้ว ตัว Nauplus Larva จะต้องทำการลอกคราบตัวเอง ถึง 12 ครั้ง ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ มีหน้าอกเป็นของตัวเอง ในที่สุด เอ๊ย มีเปลือกปกคลุมลำตัวของตนเองในที่สุด Triops นั้น ในตอนที่เป็นตัวอ่อนนั้น จะมีการตอบสนองต่อแสงไฟ เป็นอย่างมาก ถ้าผู้เพาะนำแสงไฟไปส่องตามข้างๆอ่าง ก็จะเห็นตัวอ่อนเข้ามาวนเวียน เล่นแสงไฟ ( พฤติกรรมในส่วนนี้ ดูจะคล้ายๆ กับญาติในตระกูลเดียวกัน อย่างจำพวก ไรน้ำนางฟ้า นะครับ ซึ่งจะมีปฏิกริยาต่อแสงสว่าง และ แสงสว่างจะเป็นตัวกระตุ้นในการทานอาหารของไรนางฟ้าด้วย ) และ Triop ก็จะค่อยๆเจริญเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหางก็จะยาวขึ้นๆ จนกลายเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์ในที่สุด พร้อมสืบทอดเชื้อสายเผ่าพงศ์พันธุ์ของตนเองที่มีมากว่า 248 ล้านปีต่อไป ( เลขสวยจริงๆ นะขอรับ ) อย่างไรก็ตาม Triops แต่ละพันธุ์ถือกำเนิดในช่วงเวลาที่ไม่เท่ากัน แต่จากการตรวจสอบของนักวิทยาศาสตร์พบว่า Triops สายพันธุ์ทางยุโรป คือ Triops cancriformis. จัดได้ว่าเป็นชนิดของTriops และสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีอายุยาวนานที่สุด ที่สืบทอดเผ่าพันธุ์มาถึงในปัจจุบันครับ และว่ากันว่า ถ้ามนุษย์ชาติไม่ก่อความผิดพลาด จนเกิดหายนะแก่โลกแล้วล่ะก็ วงศ์วานของเหล่า Triops จะสืบเชื้อสายต่อจากนี้ไปได้อีกถึง 500 ล้านปีเลยทีเดียว
ในส่วนของประสบการณ์การเลี้ยงเจ้า Triops ชนิดสายพันธุ์ Longicaudatus ซึ่งเป็นสายพันธุ์ ที่เป็นนิยมในการเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง ไปทั่วสหรัฐอเมริกา และทั่วโลก ด้วยความที่เป็นสายพันธุ์ของ Triops ที่เพาะพันธุ์ได้ไม่ยากนัก ถ้าเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้ได้รับความนิยมในวงกว้าง และหลังจากที่ได้อ่านคู่มือจนจบเรียบร้อยแล้วด้วยทักษะภาษาอังกฤษ ระดับเกรด 3 สมัย ม.2 ( สถิติสูงสุด หลังจากนั้นก็เป็นไปตามสัจธรรมของโลก ที่ว่ากันว่ามีขึ้น มีลง มีสูง มีต่ำ มีร่ำ มีรวย มียาก มีจน ถึงยากจนบ่มองคนหยามเหยียด บ่รังแก รังเกลียด คิดเบียดเบียนใจใคร มีจน วัดใจคนไม่ได้ จนแต่รวยน้ำใจ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจน....ไปตามเรื่องตามราว ) ซึ่งก่อนที่จะทำการเพาะ กระผมก็ได้มานั่งพินิจพิจารณาดูที่ซองผลิตภัณฑ์ไข่ Triops แห้ง ซึ่งเขาว่ากันว่า เดินทางมาไกลจากประเทศสหรัฐ อเมริกา ราคาในตอนนั้นประมาณซองละ 500 บาท ส่วนแหล่งที่ซื้อหามา ก็เป็นร้านขายสัตว์เลี้ยงแนว Erotic เอ๊ย Exotic แห่งหนึ่ง ในตลาดจตุจักร อภิมหาตลาด แห่งการช็อปปิ้งของถูก ( แต่บางอย่างก็แพง เหมือนกันนะ ) ของบ้านเรานั่นเอง ไข่ที่มาในซอง จะเป็นเม็ดสีน้ำตาลสว่างๆ บ้าง สีเทาแก่ๆ บ้าง อยู่ในกล่องพลาสติกเล็กๆ พร้อมถุงปรับสภาพน้ำ ตามตำรา เขาว่าให้แช่ไว้ก่อนอย่างต่ำ 6 หรือ 8 ชั่วโมง ถ้าไม่รีบก็ 1 – 2 วัน ไปเลย เพื่อปรับสภาพน้ำ ในช่วงแรกๆ ก็ยังงงๆ ว่า จะต้องปรับสภาพน้ำไปทำไม แต่ภายหลัง จึงเข้าใจว่า ถุงปรับสภาพน้ำ นอกจากจะช่วยในเรื่องของค่า PH ให้ใกล้เคียงกับในธรรมชาติแล้ว ถุงปรับสภาพน้ำ ที่ทำมาจากเศษซากพืช ซากสัตว์เน่าเปื่อยจากแหล่งกำเนิดของเขานั่นเอง จะเป็นแหล่งอาหารแรกเกิดของตัวอ่อนTriops อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าตัวอ่อน สามารถพัฒนาตัวเอง ออกจากไข่ได้ ในน้ำบริสุทธิ์ ธรรมดา แต่จะไม่รอด และตายหมด ในเวลาไม่นาน ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมในส่วนนี้เอาไว้ เพราะว่าจะไม่มีอาหารที่ตัวอ่อนในวันแรกๆจะรับประทานได้นั่นเอง ส่วนในเรื่องของน้ำนั้น ควรเป็นน้ำที่เรียกว่า “ น้ำเก่า “ ที่สะอาด ปราศจากคลอรีน หรือ น้ำฝน ที่สะอาด ปราศจากสารเคมีเช่นกัน และ ไม่ควรใช้น้ำแร่ในการเพาะครับ , จากการทดลองเพาะเลี้ยงดู พบว่าเป็นเรื่องแปลก ที่ตัวอ่อน จะค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงมาก โดยเฉพาะในช่วงก่อน 8 วันแรก บางครั้งการหวังดีเติมน้ำใหม่ๆ เมื่อเห็นว่าน้ำค่อนข้างระเหยแห้งไป , มีความต้องการชะล้างไข่ที่ยังไม่เป็นตัว ที่ติดตามขอบบ่อลงในภาชนะฟักอีกครั้ง หรือ การที่น้ำเริ่มเสีย กลับกลายเป็นการฆ่าตัวอ่อน ไปในทางอ้อมก็มี จึงไม่ควรเติมน้ำให้มากเกินไป ต้องกะให้พอประมาณจริงๆครับ ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่พบบ่อย และในการเพาะนั้น ไม่ควรให้อ็อกซิเจนเลย เนื่องจากไข่อาจจะไปแห้งติดผนังของภาชนะที่ใช้ฟักได้ ตรงนี้ดูจะแตกต่างจากการเพาะไข่ไรนางฟ้าของบ้านเรา ที่นิยมให้อ็อกซิเจนอยู่พอควรครับ แต่ของผมเคยทดลองเพาะไรนางฟ้า โดยไม่ให้อ็อกซิเจน ก็ได้ตัวอ่อนออกมาพอสมควรเหมือนกันนะครับ อันนี้ก็คงเหมือนสูตรใครก็สูตรใคร เช่นถ้าผมจะทำไข่เจียว ก็ไม่ชอบใส่หัวหอม เน้นหมูสับ เน้นกุ้ง เน้นปลา หรือ ปลาหมึก หรือ หอยนางรมใส่ไปหนักๆ สับพริกใส่ไปซะหน่อย ตีไข่ให้แรง ทอดในน้ำมันเดือดๆ พอฟูนิ่มๆ รีบยกสะเด็ดน้ำมัน พุ้ยข้าวเข้า เตรียมซอสมะเขือเทศซักหน่อย โห.... ข้าวหมดหม้อ ไม่รู้ตัวขอรับ ตกลงนี่จะหนังสือสัตว์เลี้ยง หรือ หนังสือทำอาหารเนี่ย ดังนั้นถ้าจะให้ดี ทำน้ำซุปอร่อยๆ ซักถ้วย ตอนกินไข่ ก็จะยิ่งคล่องคอครับ เอ๊ย ไม่ใช่ พอๆๆ ต่อเรื่อง Triops ต่อดีกว่า จากข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว แต่นอกเรื่องไปใกล เลยขอเกริ่นใหม่นะครับ .... การที่เราใช้เครื่องทำอ็อกซิเจน ในตอนเพาะ ทำให้ไข่ไม่กลายสภาพเป็นตัวอ่อน เพราะลอยไปติดที่ขอบภาชนะดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือตัวอ่อนที่เป็นตัวแล้วอาจจะปลิวไปกับน้ำ จนกลับชาติไปเกิดใหม่ได้อย่างง่ายดาย และปริมาณน้ำที่ใช้ในการฟัก ก็ไม่ควรเกิน 1 – 2 ลิตรครับ ซึ่งปริมาณน้ำที่มากเกินไป จะเป็นสภาพที่ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของตัวอ่อนในช่วงวันแรกๆครับ ซึ่งทำให้เราต้องระวังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงน้ำอย่างมากครับ เพราะในปริมาณน้ำที่ไม่มากอย่างในช่วงแรกๆ ถ้าเราให้อาหารตัวอ่อนมากเกินไป แล้ว คุณภาพน้ำแย่ลง ถึงขั้นเน่าเสีย ก็จะกลายเป็นการจบชีวิตของตัวอ่อนไปอย่างง่ายดาย โดยปกติแล้วเราจะให้อาหารตัวอ่อนที่ออกมาใหม่ๆ อย่างเร็ว ในวนที่ 2 หรือวันที่ 3 – 4 ครับ ขึ้นอยู่กับปริมาณตัวอ่อนที่เราเพาะได้ในล็อตๆหนึ่ง และเมื่อผ่านอุปสรรคในช่วงนี้ไปได้แล้ว และหลังจากตัวอ่อนมีอายุเกิน 8 วัน เราจึงค่อยทำการย้ายไปอยู่ในภาชนะใหม่ ที่มีน้ำมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ Triops ตัวเต็มวัย จะต้องการพื้นที่และปริมาณน้ำที่มากขึ้นในการดำรงชีวิตแล้วครับ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ Triops ต้องการคืออุณหภูมิ ถ้าเป็นในประเทศเขตหนาว หรือ ทางสหรัฐอเมริกา การเพาะ Triops บางครั้งจำเป็นต้องมี อุปกรณ์ทำความร้อน อย่าง ฮีตเตอร์ หรือการให้แสงสว่างโดยการใช้หลอดไฟ หรือ โคมไฟ ที่ความแรงของแสงประมาณ 60 – 100 วัตต์ มาช่วยในการเพาะฟักด้วย โดยการวางให้ห่างจากพื้นผิวของภาชนะที่ใช้ในการเพาะฟัก ประมาณ 4 – 10 นิ้ว เพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ตัวอ่อนดำรงชีวิตอยู่ได้คือ ไม่ต่ำกว่า 73 ฟาเรนไฮต์ และอาจจะต้องมีการใช้แผ่น อลูมิเนียม ฟอยด์ ปิดมุมด้านใดด้านหนึ่งเอาไว้ เพื่อให้ตัวอ่อนได้พักผ่อน ในมุมมืดบ้าง เป็นมุมเล็กๆ ส่วนการเปิดไฟก็เปิดไว้ 24 ชั่วโมงต่อวันได้เลยครับ ส่วนในบ้านเรานั้น ค่อนข้างโชคดี ที่อุณหภูมิ ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ของสยามประเทศ นั้น ร้อน ร่อนร้อน ร้อนมากๆ และ ร้อนที่สุดดดดดดด.... จนถึงมันจะร้อนไปใหนเนี่ย...... ดังนั้นขั้นตอนการให้ความอบอุ่นกับตัวอ่อนนี้ ก็ไม่ต้องเคร่งครัดมากก็ได้ครับ แต่ที่ต้องระวังคืออย่าให้โดนแดดจัดเกินไป เพราะถึงแม้ไข่จะกลายเป็นตัวอ่อนได้ แต่ตัวอ่อนก็จะตายครับ เพราะตัวอ่อนในสภาพที่แปลงจาก Cryst แล้ว ไม่ได้ทนต่อความร้อน เหมือนกับอยู่ในสภาพ Cryst ครับ เจอแดดเต็มๆของบ้านเรา แป๊บเดียว ก็ไปเกิดใหม่ อย่างง่ายดายครับ และ ตัวอ่อนจะตายอีกเช่นกัน ถ้าอุณหภูมิ ต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียสครับ ( บ้านเรา ในบางพื้นที่ และ บางฤดูกาล อาจจะหนาวเย็น จนน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่า 21 องศาได้เช่นกันครับ ) และผู้เลี้ยงควรระวังน้ำฝน เนื่องจากน้ำฝนปัจจุบัน อาจจะมีสารเคมี หรือ น้ำฝนที่ตกมากๆ อาจจะชะล้าง ตัวอ่อน และ ไข่ ออกจากภาชนะ หรือทำให้ค่าน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน จนตัวอ่อนตายได้อีกเหมือนกันครับ เพราะว่าตัว Triops ทั้งตัวเล็ก และ ตัวใหญ่ อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงค่า PH ครับ
อ้อ....อีกอย่างหนึ่งครับ สำหรับการเพาะ Triops นั้น ตัว Cryst นั้นสามารถนำมาทดลองเพาะฟักได้หลายๆครั้งนะครับ ครั้งนี้ไม่ออก ครั้งหน้า อาจจะเป็นตัวก็ได้ครับ ( ลักษณะนี้ก็คล้ายๆกับญาติของมันก็คือ ไรน้ำ นางฟ้าเช่นเดียวกันครับ
ในการเพาะ Triops ครั้งแรกๆ ของกระผม ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าใหร่ อาจจะด้วยในตอนนั้นยังศึกษาได้ไม่ละเอียดพอ รวมถึงในการเพาะจริงๆ มีปัจจัยหลายประการ เช่นฟ้าฝน สายลม แสงแดด และได้รับประสบการณ์อีกมากมายหลากหลายเรื่อง ที่คู่มือเพาะเล่มเล็กๆ ไม่ได้ระบุเอาไว้ละเอียดนัก บางอย่างก็ไม่ได้มีการเตือน หรือ สะกิดใจเอาไว้อย่างแน่นอน เช่น พอ Triops ตัวใหญ่ๆ ได้ซักพัก ปล่อยเขาว่ายไปเพลินๆ ระวังนกแว่บเข้ามากินนะ ( โดนมาแล้วขอรับ ยิ่งแถวบ้านของกระผมนี่ เต็มไปด้วยสวนมากมาย ดังนั้นจึงมีนกน้อย นกใหญ่ นกเล็กๆ นกเด็กๆ นกอนุบาล อยู่มากมาย ซึ่งพร้อมจะโฉบเฉี่ยวมากินตัว Triops ที่เลี้ยงเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย ) สรุปแล้ว ปัญหามีก็ต้องแก้ไขกันไป และจนถึงบัดนี้กระผมต้องศึกษาเพิ่มเติม จากอีกหลายแหล่ง และค้นหาทำเลที่เหมาะสมบริเวณ ในการตั้งภาชนะในการเลี้ยง ที่จะได้อุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับเจ้า Triops กว่าจะหาเจอ ก็วนเอารอบบ้านเหมือนกันครับ กับสถานที่สุดวิเศษ สำหรับการเพาะเจ้า Triops ที่แดดไม่แรงเกินไป ฝนไม่สาด ลมพัดมาบ้างนิดหน่อยกำลังดี พอดีผมไม่สะดวกในการมานั่งส่องไฟให้กับเขาน่ะครับ ดังนั้นจึงต้องหาทำเล ที่จะทำให้ภารกิจในการเพาะ Triops ของเราบรรลุเป้าหมายได้ประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ตามหลักพิชัยยุทธทมิฬ ว่า “ กาละฟ้า ชัยภูมิดิน ประชากรหนุน “ ทำกิจอันใดย่อมต้องสำเร็จแน่นอน ( คำนิยามกลยุทธ จากการ์ตูน “ หงสา จอมราชันย์ “ ของ คุณเฉินเหมา ชาวฮ่องกง แกว่าเอาไว้ ) อันจักขยายความตามเหตุการณ์ เผื่อให้ท่านที่ยังงงงวยและสับสนว่าหมายความว่าอย่างไร ได้เข้าใจว่า กาละฟ้า คือสภาพอากาศเป็นใจไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป ฝนตกแรงแค่ใหนไม่สาดโดน พายุ ลม โหมกระหน่ำพัดเพียงใด น้ำในที่เลี้ยงแค่กระฉอกยังไม่มี ส่วนชัยภูมิดิน หมายถึงที่ๆ สะดวก สามารถวางของ และ อุปกรณ์เครื่องมือการเพาะได้มาก และสุดท้าย ประชากรหนุน คือไม่มีปัญหากับทางบ้าน เพราะความไม่เข้าใจว่า เราทำอะไร แล้วมันจะสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าไหม ไปส่องไฟมันทั้งวันแบบนั้นนั่น เมื่อเราจัดการตามหลักนี้ได้แล้ว ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นครับ อย่างไรก็ตามปัญหาใหม่ๆ ก็จะมีเกิดขึ้นมาได้เสมอ เช่นเหตุการณ์ปัญหาล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ วันที่ 9 เดือน 9 ศกนี้ ก็คือน้องหมาที่บ้านครับ เข้ามาเลียกินน้ำ ที่ตัวอ่อนกำลังฟักตัวอย่างสุขี ในที่เพาะทำเลที่เราว่าเนียนๆ แล้วนั่นแล ทำให้เกิดความงงปนเซ็งว่า ทั้งบ้าน มีภาชนะใส่น้ำ รอให้กินอยู่มากมายหลายสถานที่ ใยถึงต้องมากินที่อ่างเพาะตัวอ่อน เจ้าตัว Triops ด้วยล่ะเนี่ย ไม่รู้ตัวอ่อนจะลงท้องไปกี่ตัวล่ะเนี่ย และมีสิ่งใดดลใจให้น้องหมา ทำเช่นนั้นหรือหนอ ไม่เข้าใจน้องหมาจริงๆ เฮ้อ หรือเพราะเราไม่ใช่หมา จึงไม่เข้าใจหมา แล้วถ้าเราเข้าใจหมา หมาจะเข้าใจเราหรือไม่ แล้วคนทั่วไปเขาจะเข้าใจเราหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจหมา เหมือนที่หมาเข้าใจเรา เอ่อ คิดไปก็ชักเวียนหัว พอดีกว่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า และหลังจากที่ผ่านช่วงอันตรายไปได้แล้ว การเลี้ยงเจ้าตัว Triops นั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเลี้ยงกุ้งแคระ หรือ กุ้งเครฟิช ทั่วไป ตัวเต็มวัยของ Triops สามารถ กินอาหารจมน้ำ และ อาหารหลากหลายต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมาในช่วงต้น ซึ่งถือว่าสะดวก และ ง่ายต่อการเลี้ยงดูเป็นอย่างมากครับ อย่างไรก็ตาม Triops เป็นสัตว์ที่กินอาหารเก่ง และกินได้เรียกว่า เกือบจะตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรให้อาหารอย่างทั่วถึง ไม่งั้น เขาอาจจะกินกันเองได้ครับ และ หลังจากผ่านไปประมาณ 8 วัน ตัว Triops สายพันธุ์นี้ ก็จะเริ่มผลิต และ หาที่วางไข่ครับ ซึ่งเราสามารถจะทำรังให้เขาเข้ามาไข่ได้อย่างง่ายดาย โดยการใช้ภาชนะเล็กๆ ใส่ทราย ปนหินกรวดเล็กๆบ้าง แล้วเจ้า Triops ก็จะเข้ามาไข่เอาไว้ แล้วเราก็สามารถจะกำหนดได้ว่าจะนำไปฟักเลย หรือ แยกเก็บเอาไว้ฟักในภายหลังครับ โดยการนำภาชนะที่เราเตรียมเอาไว้ให้เจ้า Triops ไข่นี้ ขึ้นมาจากน้ำ แล้วใช้เครื่องมือใกล้ๆตัวเราช่วยในการเก็บไข่ เช่น โคมไฟ แรงเทียนกำลังดี สำหรับส่องให้เห็นไข่ชัดเจนขึ้น ถ้าเก็บในเวลากลางคืน , เครื่องมือคีบหนีบสำลีเช็ดแผล เพื่อนำมาคีบวัสดุต่างๆที่เรานำมาใช้สำหรับ ให้เจ้า Triops มาวางไข่เกาะเอาไว้ ก็คือพวกทราย หรือ กรวดเล็กๆ ต่างๆนั้นเองครับ หรือบางท่านอาจจะเก็บไข่ โดยการนำภาชนะที่เป็นที่วางไข่ไปตากให้แห้งเป็นเวลาซักพัก แล้วนำไปใส่น้ำ ซึ่งไข่ของ Triops จะลอยขึ้นมาจำนวนมากมาย ก็อาจจะใช้ช้อนเล็กๆ ตักเอาก็มาเก็บไว้ก็ได้ครับ อนึ่งถ้าตู้เราปูวัสดุรองพื้นไว้ทั้งตู้ เราก็จะพบไข่ Triops กระจายเป็นหย่อมๆ ตามวัสดุรองพื้น ที่เรารองเอาไว้ หรือ ลอยติดอยู่ตามข้างกระจก หรือ วัสดุต่างๆภายในตู้ครับ ซึ่งเราผู้เลี้ยงก็สามารถที่จะสังเกตและแยกเก็บได้ แต่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนพอสมควรครับ แต่ถ้าเราไม่ได้ทำพื้นที่ในการให้ Triops
กระเถิบความทรงจำย้อนกลับไป นึกถึงครั้งแรกๆ จำได้ว่า กระผมเพาะออกมาได้จากซอง ครั้งละ 1 – 2 ตัวเองครับ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าใจร้อนมากเกินไปด้วย จริงๆแล้ว มีการรายงานว่า บางครั้ง หลังจากผ่านการนำไข่แช่น้ำไปแล้ว 6 – 10 วัน ถึงจะเพิ่งเห็นตัวอ่อนก็มี ซึ่งในตอนนั้นก็รู้สึกหนักใจพอสมควรครับ เพราะว่าก็ลงทุนไปมากอยู่ ( พอดีผมเป็นคนมีงบประมาณจำกัดพอสมควรครับ ) ก็เลยอาศัยการนำตัวพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นตัวที่พร้อมให้ผลิตผลแล้ว จาก นาย K ( นามสมมุติ ) เพื่อนรัก ผู้เป็นเจ้าของร้านขายปลาขายกุ้ง และขายไม้น้ำ ชื่อดังร้านหนึ่ง ที่สนิทกัน และเป็นผู้ชื่นชอบความขาว และ หมวยของอิสตรี แห่งสยามประเทศ เป็นหนักหนา ( ฮา ) และได้นำตัวพ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาจากเพื่อน มารวมกับของที่มีอยู่ ช่วยเพิ่มพูนผลผลิตในการเลี้ยง รวมทั้งได้รับคำชี้แนะในส่วนของการจัดเตรียมสภาพน้ำที่เหมาะสม รวมทั้งได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ดังรายละเอียดที่กล่าวมาด้านบนข้างต้น ทำให้ทุกวันนี้ ก็สามารถเพาะเลี้ยงเจ้า Triops สายพันธุ์ Longicaudatus นี่ได้ ในปริมาณ ที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแล้วล่ะครับ และก็จะพัฒนาการเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลิตผลดีๆ ยิ่งขึ้นไปในอนาคตครับ และหวังว่าพี่ๆน้องๆที่สนใจในการเลี้ยงเจ้า Triops นี้ จะได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์ ในการเพาะเลี้ยงไป ไม่มากก็น้อยนะครับ และหวังใจว่า ในอนาคต จะมีผู้นำเข้าเจ้า Triops สายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาในเมืองไทยบ้าง เพื่อความสุขสำหรับผู้ชื่นชอบ เจ้า Triops สัตว์เลี้ยงดึกดำบรรพ์ ที่แสนน่ารัก และน่าประหลาดใจตัวนี้ครับ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ
ภาคผนวก : รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ทั้ง 15 ชนิดของ Triops สามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงค์ด้านล่างนะครับ
http://mytriops.com/articles/triops_species2.stm#taustraliensis
เอกสารอ้างอิง : http://www.triops.com/
http://www.mytriops.com/
http://en.wikipedia.org/wiki/Notostraca
http://en.wikipedia.org/wiki/Triops_longicaudat
รายชื่อผู้เขียน : กษิดิศ วรรณุรักษ์
ความสนใจ : มีความสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ในตระกูลครัสเตเชียล หลากหลายชนิด เช่น กุ้งเครฟิช , กุ้งแคระ
ปูและหอย และรวมทั้งตัว Triops นี้ด้วย
รายละเอียดที่ติดต่อได้ E-Mail : Meogui@yahoo.com
ดูเนื้อหาเพื่มเติม เกี่ยวกับกุ้งสวยงามต่างๆ ได้ที่นี่ครับ
http://myaqualove.blogspot.com/search/label/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86%20%28%20Thai%20Language%20%29
บทความนี้ห้ามนำไปพิมพ์เพื่อจำหน่าย เนื่องจากมีลิขสิทธิ์ อยู่กับทางนิตยสาร Fish Max นะครับ
|