วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 [11:00:35]

พ110 สัตว์ไม่พึงประสงค์ในตู้ไม้น้ำ พื้นฐานความรู้และการควบคุม



บทความนี้เป็นหัวข้อต่อเนื่องมาจากหัวข้อเดิมของคุณ PEATSOIL มารู้จักสัตว์ประหลาดในตู้ไม้น้ำ : Monster in Aquatic Tank ที่โพสไว้ตั้งแต่ปี 55 และก็ใช้เป็นเหมือนหนังสืออ้างอิงกันมาเรื่อยๆ จนตอนนี้ข้อมูลมันก็เริ่มเก่าไปบ้างแล้ว และก็ย้ายมาเว็บใหม่แล้ว ผมเลยเขียนอันนี้ขึ้นมาใหม่แต่คงอยู่ในคอนเซ็ปเดิม  เอามารวมกับบทความพลานาเรียของผมเอง เพื่อให้ครบสมบูรณ์และหาได้ง่ายขึ้นครับ ตัวที่เหลือจะทยอยลงเรื่อยๆตามเวลาที่มีนะครับ



พลานาเรีย (Planaria)



พลานาเรีย เป็นหนอนตัวแบนชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งมีชีวิตในไฟลัมแพลทีเฮลมินทีส (Platyhelminthes มาจากภาษากรีกสองคำคือ platy (แปลว่าแบน) และ helminth (แปลว่าหนอน)) ไฟลัมเดียวกับพวกพยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ลักษณะของสัตว์ในกลุ่มนี้คือ มีร่างกายอ่อนนุ่ม ไม่มีกระดูกสันหลัง มีสมมาตรแบบแบ่งเป็นสอง ลำตัวแบนจากบนลงล่าง (dorso-ventrally) ลักษณะคล้ายริบบิ้น พบประมาณ 25000 ชนิด จัดได้ว่าเป็นสัตว์กลุ่มที่ไม่มีช่องว่างลำตัวที่แท้จริง (Accoelomate)

ปัจจุบันมีการจำแนกสัตว์ในกลุ่มนี้ออกเป็น 4 ชั้น คือ

  • พยาธิใบไม้ (Trematoda) ลักษณะลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง เช่น กลุ่มพยาธิใบไม้ในตับ (Opisothorchis viverini) ในเลือด ในลำไส้ (Fasciolopsis buski) พบในบุคคลที่บริโภคสัตว์น้ำดิบๆ เช่น หอบ ปลา เนื่องจากตัวอ่อนของพยาธิ (cercaria) เหล่านี้จะอาศัยอยู่ในน้ำ
  • พยาธิตัวตืด (Cestoda) ลักษณะลำตัวยาวแบ่งเป็นปล้องต่างๆ โดยแต่ละปล้องสามารถเจริญสืบพันธุ์เป็นตัวใหมได้ อาทิเช่น พยาธิตืดหมู (Taenia holium) พยาธิตืดวัว(Taenai haginata) โดยในระยะตัวอ่อนจะฝังตัวในกล้ามเนื้อของสัตว์ที่ชาวบ้านเรียกว่า เม็ดสาคู
  • พยาธิภายนอก Monogenea
  • พลานาเรีย (Turbellaria) ลักษณะลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง คล้ายพวกพยาธิใบไม้ ส่วนใหญ่อยู่อาศัยอย่างอิสระ (free living)

พลานาเรียอยู่อาศัยอย่างอิสระ (free living) ไม่ใช่ปรสิต ไม่ใช่พยาธิ ไม่ดูดเลือดหรืออาศัยในร่างกายสัตว์อื่น  อาศัยในน้ำจืด



ลักษณะร่างกายมีสมมาตรครึ่งซีก ( bilateral symmetry ) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ไม่มีช่องลำตัว ( acoelom ) ไม่มีระบบหายใจ ระบบหมุนเวียน เเลกเปลี่ยนก๊าซโดยการเเพร่กับสิ่งเเวดล้อมโดยตรง ทางเดินอาหารเเบบไม่สมบูรณ์ มีเเต่ปากไม่มีทวารหนัก เรียกว่า ช่องเเกสโทรวาสคิวสาร์

การกินอาหาร พลานาเรีย ใช้อวัยวะเรียกว่า ฟาริงซ์ ( pharynx ) เป็นเเท่งกล้ามเนื้อยื่นออกมาทางปาก ดูดอาหารติดขึ้นมา เเล้วหดกลับเข้าปากไปในทางเดินอาหาร

ระบบขับถ่ายของพลานาเรียทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำด้วย มีลักษณะเป็นท่อยาวเเตกเเขนงตรงปลายของทุกเเขนงมีเฟลมเซลล์ ( flame cell ) ที่มีซิเลียโบกพัดน้ำให้ไหลออกทางรูที่ผิวหนัง

พลานาเรียมีระบบประสาทเเบบวงเเหวน มีกลุ่มเซลล์ประสาท ( สมอง ) บริเวณหัว มีเส้นประสาท 2 เส้นยาวตลอดลำตัว มีจุดรับเเสง 2 จุดบนหัวทำให้บอกทิศทางได้ มีเซลล์ที่ไวต่อสัมผัสเเละสารเคมีบางชนิดที่ผิวหนัง

สืบพันธุ์โดยการอาศัยเพศ และ เเบบไม่อาศัยเพศ โดยการงอกใหม่ หรือเเบ่งตัวเป็นท่อน


Institute for Water Research Rhodes University - Grahamstown - South Africa


วิธีจัดการกับพลานาเรีย

พลานาเรีย สามารถพบได้บ่อยในตู้ที่มีเศษอาหารตกค้าง พลานาเรียไม่เป็นอันตรายกับปลาและกุ้ง แต่พลานาเรียเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการมีของเสียในชั้นกรวดมากเกินไป มีเศษอาหารตกค้างมากเกินไป ซึ่งไม่ดีกับสัตว์น้ำ ทั้งกุ้งและปลา ฉะนั้น ในการควบคุมและจัดการกับพลานาเรีย จึงควรพยายามแก้ไขที่ต้นเหตุก่อน ซึ่งก็คือเศษอาหารปลาที่เหลือตกค้างภายในตู้

  • จำกัดปริมาณอาหารให้พอดีกับจำนวนปลา ให้ปลากินหมดภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที ถ้านานกว่านั้นแสดงว่าเราให้อาหารมากเกินไปแล้ว ควรปรับลดปริมาณและความถี่ในการให้ลงบ้าง
  • พยายามให้อาหารสดให้น้อยลง สลับให้อาหารแห้งมากขึ้น เพราะอาหารสด เช่น หนอนแดงแช่แข็ง, ไส้เดือนน้ำ, กุ้งฝอย, กุ้งตาย, ไรแดง นอกจากจะเป็นแหล่งที่มาของพลานาเรียแล้ว เศษอาหารสดและอาหารเป็นที่ตายลงในตู้เหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของพลานาเรีย
  • อย่าปล่อยให้มีเศษอาหารตกค้างตามซอกหลืบและช่องว่างในพื้นกรวดที่ปลาเข้าไม่ถึง เพราะเมื่ออาหารปลาลงไปอยู่ในซอกพวกนี้ ก็จะกลายเป็นบุฟเฟ่อิ่มไม่อั้นให้พลานาเรียที่สามารถแทรกตัวเข้าช่องแคบๆได้ดีทันที พยายามเลือกกรวดที่มีขนาดช่องว่างเล็กกว่าอาหารที่เราให้ หรือไม่ต้องมีกรวดเลยถ้าทำได้ จัดพื้นที่ในตู้ให้มีมุมอับน้อยที่สุด หรือลงปลา,กุ้งที่ช่วยเก็บเศษอาหารเล็กๆพวกนี้ก็ช่วยได้อีกแรง

นอกจากการแก้ไขที่สาเหตุแล้ว ถ้ามันไม่ทันการณ์ หรือพยายามแล้วก็ยังไม่สามารถลดจำนวนพลานาเรียลงได้ เราก็จำเป็นต้องใช้วิธีที่รุนแรงกว่าเดิมเสียหน่อย

เอาปลาลงไปกิน

ปลาเล็กๆที่กินเนื้อทุกชนิดมักจะกินพลานาเรีย ถึงบางตัวจะไม่ค่อยชอบนัก แต่ก็มักจะกิน โดยเฉพาะตอนหิว ในการเซ็ตตู้ ไม่ว่าจะเป็นตู้ปลาใหญ่ ปลาเล็ก ปลาโหด ตู้กุ้ง ตู้หอย ตู้ไม้น้ำ ก็ควรพยายามให้ทุกตู้มีปลาเล็กที่คอยเก็บกินพลานาเรีย เช่น ปลาสอด, ปลาหางนกยูง ฯลฯ ปลาพวกนี้จะคอยควบคุมจำนวนพลานาเรียและสัตว์ไม่พึงประสงค์อื่นๆได้ดี บางตัวอย่างปลาสอดยังกินฝ้าผิวน้ำและตะไคร่ได้ด้วย

ดักด้วยกับดัก

พลานาเรียเป็นหนอนตัวแบนที่สามารถแปลงร่าง รีดตัวมันเองให้เป็นรูปร่างได้หลายทรง จึงทำให้มันแทรกเข้าไปในช่องว่างเล็กๆได้ดี แม้แต่ช่องว่างที่มีขนาดไม่ถึง 1mm มันก็ยังเข้าไปได้

เราจึงสามารถอาศัยจุดเด่นในข้อนี้ของมัน มาทำกับดักที่มีแต่เฉพาะพลานาเรียเท่านั้นที่เข้าไปได้ โดยการนำอาหารที่พลานาเรียชอบ เช่น กุ้งตาย, ปลาตาย, ตับไก่, หัวใจไก่, เอาไปล่อมันไว้ในภาชนะที่มีทางเข้าแคบๆขนาดเล็ก เฉพาะให้พลานาเรียสามารถเข้าไปได้ แคบเกินกว่าที่ปลา กุ้ง หอย จะสามารถเข้าไปได้ พอพลานาเรียเข้าไปรุมกันเยอะๆ เราก็ยกกับดักออกมาเอาพลานาเรียไปทิ้ง ซึ่งกับดักพลานาเรียก็มีทั้งแบบที่บริษัทผลิตขายและแบบทำเองง่ายๆไม่ยุ่งยาก


กับดักพลานาเรียที่ทำด้วยแก้ว


การใช้ซากปลาตายเป็นเหยื่อล่อพลานาเรีย


กับดักพลานาเรีย D.I.Y. ทำเองจากหลอดฉีดยา

ดูวิธีทำ กับดักพานาเรีย 2นาที ของคุณ golfie13 ได้ในลิ๊งนี้เลยครับ

หรือจะเป็นแบบวีดิโอ ใน youtube ก็มีคนทำให้ดูเยอะครับ



กำจัดด้วยเกลือแบบ Softcore

  • ทำความสะอาดตู้ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะกรวดรองพื้น ให้ใช้ท่อดูดทำความสะอาดพื้นกรวด (Gravel Washer) เป็นประจำทุกวัน จนกว่าพลานาเรียจะหายไปหมด และนำกรองออกมาล้างวัสดุกรองให้สะอาดหมดจด (นำกรองและวัสดุกรองออกมาล้างด้วยน้ำร้อน หากปัญหาพลานาเรียไม่ดีขึ้นใน 2 อาทิตย์)
  • เปลี่ยนน้ำทุกวัน วันละ 20% อย่าตื่นตกใจ อย่าเปลี่ยนน้ำมากกว่า 20% (รวมน้ำที่ดูดออกไปในข้อ 1. ด้วย) ซึ่งจะทำให้ปลาและสัตว์น้ำในตู้ปรับตัวตามค่าต่างๆในน้ำที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันไม่ทัน
  • ใส่เกลือเม็ด หรือเกลือสำหรับตู้เลี้ยงปลาทะเล 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร และเติมให้ไดเอัตราส่วนเท่าเดิม หลังจากเปลี่ยนน้ำ เช่น คุณถ่ายน้ำออกไป 20 % ไม่ใช่ว่าใส่เกลือลงไป 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร เหมือนเดิม ผิดครับ คุณจะได้ตู้หมักปลาร้าแทน ที่ถูกคือต้องเติมเกลือลงไปเพิ่มอีก 20% นั่นคือ เติมอีก 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 100 ลิตร (วิธีนี้สำหรับตู้ปลาใช้ไม่ได้กับตู้ไม้น้ำ และตู้กุ้งแคระ และการใช้กับเครฟิช ให้ระมัดระวังปริมาณและระยะเวลาการใช้)
  • ใส่ปลาเล็กๆที่กินพลานาเรีย (ปลากินที่เนื้อเกือบทุกชนิด) เช่น ปลาหมอแคระ ปลาตระกูลเตตร้าและบาร์บชนิดต่างๆ ปลาสอด ปลาหางนกยูง

ทำซ้ำข้อ 1-3 จนกว่าจะไม่เห็นหัวพลานาเรียอีก

กำจัดด้วยเกลือแบบ Hardcore (Reset)

  • เอาสัตว์น้ำทั้งหมดออกจากตู้ หาที่พักไว้ที่อื่น
  • เอากรอง วัสดุกรอง กรวดรองพื้น ก้อนหิน ขอนไม้ และอุปกรณ์ตกแต่งตู้ทั้งหมด ออกมาล้างด้วยน้ำเดือดหรือน้ำเกลือเข้มข้น (ประมาณว่า ชิมแล้วต้องถุยทิ้ง) หมั่นคน อาจทำซ้ำ 2-3 ครั้ง หากต้องการเพิ่มรสชาติชีวิต
  • ล้างตู้ด้วยน้ำเกลือเข้มข้น ล้างด้วยน้ำเปล่า แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง (ระวังอย่าให้แดดจัดเกิน เดี๋ยวซิลิโคนเสีย) หรือวางคว่ำในร่มผึ่งลมให้แห้งสนิท ถ้าตู้ใหญ่ ล้างแล้วเช็ดให้แห้ง
  • เซ็ตตู้ เดินกรองใหม่ ทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์ ค่อยนำปลาและกุ้งกลับที่เดิม อย่าลืมปรับอุณหภูมิปลาและกุ้งก่อนปล่อย

ใช้ยากำจัดพลานาเรีย

ยากำจัดพลานาเรียโดยตรง เท่าที่ผมเห็นมีขายก็จะเป็นซองของ Genchem ชื่อ No-planaria และ Benibachi Planaria Zero ซึ่งเป็นยากำจัดพลานาเรียสำหรับตู้กุ้งแคระโดยเฉพาะ ทั้งสองตัวนี้ผมก็ยังไม่เคยใช้เหมือนกัน เลยบอกไม่ได้ว่าผลจะเป็นยังไง เพราะบ้านผมไม่มีพลานาเรียมานานหลายปีมากแล้ว แต่เห็นคนอื่นใช้แล้วก็บอกว่าได้ผลดี มีรีวิวเยอะอยู่ แต่ดูจากการทำงานแล้ว น่าจะเป็นตัวยามีเบนดาโซล (Mebendazole) หรือ เฟนเบนดาโซล (fenbendazole) นี่แหละ




รีวิว No-planaria (ภาษาอังกฤษ)


Benibachi Planaria Zero

ใช้ยามีเบนดาโซล (Mebendazole)



กดลิ๊งไปอ่านเรื่อง การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำ, ไฮดร้าและหอย ได้เลยครับ

ในการกำจัดพลานาเรีย เราสามารถใช้ยากำจัดปรสิตภายนอกสำหรับปลาได้เกือบทุกชนิด เช่น ยาที่รู้จักกันดีอย่าง ดิมีลีน 100 (Diflubenzuron), ไซเตส, Sites (ยากำจัดปรสิตภายนอกของ Whitecrane) เพียงแต่ว่า ตู้ที่มีปัญหาพลานาเรียนั้น ส่วนใหญ่มักจะเป็นตู้กุ้งแคระและเครฟิช เพราะไม่สามารถลงปลาเล็กไปช่วยกำจัดพลานาเรียได้เพราะปลานั้นไปกินลูกกุ้งแคระ หรือโดนเครฟิชจับกินไปเสียก่อน

ซึ่งในตู้ที่มีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทกุ้งและหอยนั้น จะไม่สามารถใช้ยากำจัดปรสิตภายนอกเหล่านั้นได้ เพราะตัวยาเหล่านั้นออกฤทธิ์ฆ่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้โดยตรง ยกเว้น มีเบนดาโซล (Mebendazole) ที่มีการออกฤทธิ์ฆ่าสัตว์จำพวกหนอนโดยเฉพาะ ที่สามารถใช้ในตู้ที่มีกุ้งอยู่ได้


ยากำจัดปรสิตภายนอก Sites ใช้กำจัดพลานาเรียในตู้ปลาได้ แต่ห้ามใช้ในตู้ที่มีกุ้งและหอย!

หรือจะใช้ยารักษาพยาธิภายใน ทั้งของปลาและของคน (ยาถ่ายพยาธิตัวกลม, เส้นด้าย) ก็ใช้ได้ครับ



สองตัวนี้เป็นยากำจัดพยาธิภายในของ Azoo ครับ ใช้กำจัดไส้เดือนน้ำได้ แต่ไม่ควรใช้กับตู้ที่มีกุ้งแคระ เพราะในฉลากส่วนมากจะบอกขนาดการใช้กับตู้ปลา ไม่ได้บอกขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยกับกุ้งแคระมาด้วย ถ้าจะลองก็ลองเริ่มจากครึ่งโดสก่อนแล้วกันนะครับ คอยสังเกตอาการด้วย

สำหรับท่านที่เลี้ยงหอย ยากำจัดพวกพยาธิปลาพวกนี้ส่วนมากใส่แล้วหอยตายนะครับ ตายแหง๋แก๋ ต้องเอาหอยออกก่อน และไม่เอาหอยกลับไปลงจนกว่าจะถ่ายน้ำไปหลายๆครั้ง แล้วลองเอาหอยกากๆ พวกหอยเจดีย์ใส่ไปลองยาก่อน จริงๆแล้วถ้าโดสไม่เกินหอยก็จะไม่ค่อยตายหรอกครับ แต่ยาปลาพวกนี้เค้าไม่ค่อยบอกตัวยาและปริมาณมาให้ ทำให้เวลาใช้ยาพวกนี้คำนวณโดส (ที่ไม่ใช่โดสที่บอกมาที่ฉลาก) ได้ยาก

ถ้าจะใช้ยาเพื่อกำจัดไส้เดือนน้ำ, พลานาเรียและหนอนต่างๆ ในตู้ที่มีหอย ผมแนะนำให้ใช้ยาถ่ายพยาธิคน มีเบนดาโซล (Mebendazole) มากกว่า เพราะบอกปริมาณยามาเรียบร้อย การใช้ยามีเบนดาโซลก็ตามลิ๊งนี้เลยครับ การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำและหอย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18/03/2563 [11:18:53] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)
ดีนะครับยังเขียนเตือนไว้ว่า  ใส่เกลือใช้ได้เฉพาะตู้ปลาไม่ใช่ไม้น้ำหรืออื่นๆ 
นี่เลย ไอ้ตัวนี้เลย
ไปเจอตอนมันอยู่บนตัวกุ้งในท่ารัดแบบบนสังเวียน MMA กันเลยทีเดียว
กุ้งแคระผมนี่นอนตายแหงแก๋ ขี้แตก ใข่ในท้องกระจุยเลย  [shock01]

คือไม่แน่ใจว่ากุ้งตัวนั้นตายมาก่อนแล้วไอ้นี่ไปป้วนเปี้ยนหาซากอะไรกิน
หรือมันเข้าไปซัดกุ้งกันแน่  [hungry01]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2560 [09:44:55] โดย GAMMARAY »
นี่เลย ไอ้ตัวนี้เลย
ไปเจอตอนมันอยู่บนตัวกุ้งในท่ารัดแบบบนสังเวียน MMA กันเลยทีเดียว
กุ้งแคระผมนี่นอนตายแหงแก๋ ขี้แตก ใข่ในท้องกระจุยเลย  [shock01]

คือไม่แน่ใจว่ากุ้งตัวนั้นตายมาก่อนแล้วไอ้นี่ไปป้วนเปี้ยนหาซากอะไรกิน
หรือมันเข้าไปซัดกุ้งกันแน่  [hungry01]

มันเป็นพวกกินซากครับตายแล้วก็จะเข้าไปกิน  ไม่เหมือนพวกญาติผู้ใหญ่ของพลานาเรียที่ชอบอยู่ในตับมนุษย์  กับชอบอยู่ในลำไส้พวกนี้กินเลือดเรา
ออสตราคอด (Seed Shrimp, Ostracods)


OSTRACOD RESEARCH

เจ้าตัวนี้จะหน้าตาเหมือนเมล็ดงาสีขาวๆใสๆ ว่ายไปว่ายมาสลับกับอยู่นิ่งๆ ขนาด 1-2 มม. หากินเศษซากพืชและสัตว์ชิ้นเล็กๆที่อยู่ในตู้
ไม่มีอันตรายอะไรนอกจากเกะกะสายตา โดยเฉพาะถ้ามีเยอะ ในตู้จะเหมือนมีเศษฝุ่นดูน่ารำคาญมาก ถ้ามีออสตราคอดมากแสดงว่าในตู้มีอาหารของมันจำพวกเศษซากพืชเน่าเปื่อย ตะไคร่น้ำเขียว เศษอาหารปลา หรือซากสัตว์ตายในปริมาณมาก ทำให้ออสตราคอดแพร่พันธุ์ได้เยอะ แต่ในตู้ไม้น้ำที่สภาพปกติ ถึงจะมีอยู่ในตู้บ้างก็จะมีไม่มาก โดยเฉพาะถ้ามีปลาด้วยล่ะก็ แทบจะไม่เห็นหัวเจ้าพวกนี้เลยยกเว้นว่าจะไปรื้อหินหรือขอนไม้ออกมา ก็จะเห็นพวกมันว่ายหนีหัวซุกหัวซุนกันบ้าง แต่ก็จะไม่น่ารำคาญมากนัก

ถ้าไม่นับเรื่องความรำคาญทางสายตาแล้ว เจ้าพวกนี้ออกจะมีประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะมันกินเศษอินทรีย์สารเล็กๆเป็นอาหาร เป็นการช่วยย่อยสลายซากพืชซากสัตว์และอาหารปลาในตู้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ตู้มีระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ในธรรมชาติปริมาณและจำนวนชนิดของออสตราคอดก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในบริเวณนั้นได้เป็นอย่างดี

วิธีป้องกันก็แค่มีปลาเล็กๆไว้บ้าง ซึ่งตู้ไม้น้ำแทบทุกตู้ก็ต้องมีปลาไว้อย่างน้อยชนิดหนึ่งอยู่แล้ว ก็จะไม่มีปัญหากับออสตราคอดมากนัก ปลาเกือบทุกชนิดกินไอ้พวกนี้ได้หมดครับ ยกเว้นพวกที่เล็กจัดๆอย่างซิวหนู จะกินออสตราคอดตัวใหญ่ๆไม่ได้

ที่จะมีปัญหากับพวกนี้คือ ตู้กุ้งแคระ มากกว่า เพราะมันเป็นสัตว์ที่คล้ายกับกุ้งแคระมาก เลยกำจัดและควบคุมยาก

ยาอะไรที่ทำให้ออสตราคอดตาย กุ้งแคระก็ตาย [mad02]
ตัวอะไรกินออสตราคอด ก็กินกุ้งแคระ [mad02]
กุ้งแคระกินอะไรได้ ออสตราคอดก็กินได้ [mad02]

ฉะนั้นวิธีกำจัดในตู้กุ้งแคระหรือตู้ไม้น้ำที่ไม่ลงปลานี่ บอกได้คำเดียวครับว่า "รื้อ"
เอากุ้งเอาปลาที่มีออก เอาต้นไม้ออกมาแช่ล้างน้ำ เขย่าออกให้หมด ขอนไม้เอาออกมาตากให้แห้งๆหน่อย ดินนี่ก็ต้องตากให้แห้งหรือทิ้งซื้อใหม่ กรองก็ต้องล้างหมดเช่นกัน


The Latest Shrimp Craze in TOWN!! - Matt


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05/03/2562 [19:19:42] โดย บัง »
ตู้ผมก็เคยระบาดมีจำนวนมากอยู่ช่วงนึงครับ ทั้งไอ้ตัวนี้ ทั้งหนอน  [sleepy01]
ผมก็ใช้สายยางดูดออกบ้างตอนถ่ายน้ำน่ะครับ ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น  [smile04]



ตอนนี้ก็็ยังมีนะ แต่ไม่ได้เยอะออกมาลอยหน้าลอยตาเหมือนเมื่อก่อน  [smile01]
พลานาเรียนี่กินซากพืชซากสัตว์และเศษอาหารเหมือนไอ้ตัวนี้ใช่ไหม  ครับ  ที่มีอันตรายต่อสายตาคือรกลูกตาในตู้เท่านั้นเองใช่ไหมครับ
ไซคลอป (Copepods, Cyclops)


Can someone with (ostra, cope, etc.)'pod' experience please verify?
Zooplankton Week Part 3: The ABCs of copepods

เจ้านี่ก็จะคล้ายๆ ออสตราคอด หรือ Seed shrimp นั่นแหละครับ ออกแนวน่ารำคาญ แต่ไม่มีพิษภัยอะไร เพราะสายพันธุ์ที่มักจะอยู่ในตู้ไม้น้ำจะเป็นพันธุ์ที่กินพืช ส่วนมากก็จะติดมากับไรแดงหรือไรฝุ่นที่เราซื้อมาให้ปลา เพราะเจ้าสองตัวนี้เค้าซี้กัน ซื้อไรแดงมานี่ไม่ค่อยพลาดเจอไซคล็อป และเป็นของแสลงของคนที่จะเพาะไรแดง เพราะถ้ามีไอ้นี่โผล่มาทีไร ไรแดงหายหมด ถึงมันจะไม่ได้กินไรแดง (เท่าที่ผมเห็น) แต่มันน่าจะแย่งอาหารของไรแดงกินจนไรแดงอดตาย

โคพีพอดนี่เป็นอะไรที่ปลาค่อนข้างชอบกินมากกว่าออสตราคอด เลยแทบจะไม่ได้ผุดได้เกิดในตู้ไม้น้ำที่มีปลาเท่าไหร่ คงเพราะมันไม่มีเปลือกแข็งๆ แม้แต่ปลาเล็กๆอย่างซิวหนูหรือซิวเพชรน้อยก็กินได้ เค้าว่าโปรตีนเยอะด้วย แต่ผมก็ไม่เคยมีโคพีพอดให้ปลาได้กินเยอะถึงขนาดจะสังเกตการเติบโตของปลาได้

ในกรณีของตู้ที่ไม่มีปลาหรือตู้ไม้น้ำที่เน้นกุ้งแคระ ก็จะมีปัญหาคล้ายๆกับออสตราคอดอีกเหมือนกัน กำจัดออกยากมาก ถ้าจะเอาให้หมเดจริงๆก็ต้องรื้อตู้และถ้ามีเยอะก็อาจจะรบกวนการกินอาหารของกุ้งบางชนิดได้บ้าง แต่โดยรวมก็ไม่มีอันตรายอะไรมากไปกว่านั้น

การป้องกันก็ไม่ค่อยยาก ถ้าเป็นตู้ที่ไม่เคยให้ไรแดงหรือหนอนแดงเป็นก็มักจะไม่มีตัวนี้อยู่แล้ว ระวังเรื่องน้ำที่ติดมากับกุ้งแคระ เลือกซื้อกุ้งแคระจากแหล่งที่ดูแลความสะอาดของตู้หน่อย ก็มีโอกาสเจอโคพีพอดน้อยมากแล้วครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [10:58:17] โดย บัง »
ผมเจอทุกตู้ครับ ใส่แรม ลงไป มันนะจิกกินเองครับ
ไส้เดือนน้ำ (Sludge worm, Tubifex tubifex, Tubifex worm)




Jan Hamrsky Sludge worms – Tubifex tubifex

ไส้เดือนน้ำนี่จะมาอยู่ในตู้ได้ส่วนมากก็มาจากเราซื้อเป็นอาหารมาให้ปลานั่นแหละครับ แล้วมันหลุดรอดลงไปที่พื้นตู้ได้ มันก็จะไปซ่องสุมขยายพันธุ์กันอยู่ในนั้น วันดีคืนดีมันก็จะพากันโผล่หน้าออกมาเล่นเวฟอยู่บนพื้นตู้เรา บางทีก็ติดมากับพอทหรือรากไม้น้ำที่ซื้อมาลงตู้บ้างเหมือนกัน

การกำจัดก็ไม่ยาก ขอแค่มีปลาอยู่ในตู้ แดกเรียบครับแทบไม่มีเหลือ กินกันอร่อยไป [hungry01]

แต่ถ้าตู้ไม่มีปลาหรือตู้ที่เน้นกุ้งแคระ ก็สามารถใส่ยาที่ฆ่าปรสิตประเภทหนอนได้ครับ เช่นยารักษาพยาธิภายใน ทั้งของปลาและของคน (ยาถ่ายพยาธิตัวกลม, เส้นด้าย) หรือยากำจัดพลานาเรียก็ใช้ได้



สองตัวนี้เป็นยากำจัดพยาธิภายในของ Azoo ครับ ใช้กำจัดไส้เดือนน้ำได้ แต่ไม่ควรใช้กับตู้ที่มีกุ้งแคระ เพราะในฉลากส่วนมากจะบอกขนาดการใช้กับตู้ปลา ไม่ได้บอกขนาดการใช้ยาที่ปลอดภัยกับกุ้งแคระมาด้วย ถ้าจะลองก็ลองเริ่มจากครึ่งโดสก่อนแล้วกันนะครับ คอยสังเกตอาการด้วย

สำหรับท่านที่เลี้ยงหอย ยากำจัดพวกพยาธิปลาพวกนี้ส่วนมากใส่แล้วหอยตายนะครับ ตายแหง๋แก๋ ต้องเอาหอยออกก่อน และไม่เอาหอยกลับไปลงจนกว่าจะถ่ายน้ำไปหลายๆครั้ง แล้วลองเอาหอยกากๆ พวกหอยเจดีย์ใส่ไปลองยาก่อน จริงๆแล้วถ้าโดสไม่เกินหอยก็จะไม่ค่อยตายหรอกครับ แต่ยาปลาพวกนี้เค้าไม่ค่อยบอกตัวยาและปริมาณมาให้ ทำให้เวลาใช้ยาพวกนี้คำนวณโดส (ที่ไม่ใช่โดสที่บอกมาที่ฉลาก) ได้ยาก

ถ้าจะใช้ยาเพื่อกำจัดไส้เดือนน้ำ, พลานาเรียและหนอนต่างๆ ในตู้ที่มีหอย ผมแนะนำให้ใช้ยาถ่ายพยาธิคน มีเบนดาโซล (Mebendazole) มากกว่า เพราะบอกปริมาณยามาเรียบร้อย การใช้ยามีเบนดาโซลก็ตามลิ๊งนี้เลยครับ การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำและหอย



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [12:46:46] โดย บัง »
หอยหมวกเจ๊ก, หอยฝาชี (Freshwater Limpet, Acroloxus lacustris)


Freshwater Limpet - EdenMarel


Freshwater Limpet, Acroloxus lacustris

เป็นหอยฝาเดียวชนิดหนึ่ง จัดเป็นหอยน่ารำคาญใช้ได้ตัวนึงในตู้ไม้น้ำและตู้ปลา ไม่มีอันตรายอะไร แต่ออกลูกค่อนข้างเร็ว ชอบมาเกาะที่กระจกตู้ ดูเกะกะสายตาและรกเรื้อ จะมีเยอะในตู้ที่มีตะไคร่เกาะกระจกตู้มากๆ
กำจัดได้ค่อนข้างง่ายประมาณนึง คือเอากระชอนตักออกหรือเอานิ้วเอาฟอเซ็ปบี้ๆเข้าเยอะๆ มันก็จะหายหน้ากันไปพักนึงเลย แต่ไม่ค่อยจะหมดจดหรอก เดี๋ยวก็มีมาเรื่อยๆ ถ้ามีตะไคร่เกาะกระจกเกาะก้อนหินให้มันกิน

ป้องกันได้ด้วยการไม่ปล่อยให้มีตะไคร่เกาะที่กระจกตู้ ดูแลสภาพน้ำให้ดีไม่ให้มีตะไคร่ หรือขัดกระจกตู้เป็นประจำ จะช่วยไม่ให้หอยพวกนี้เพิ่มจำนวนเยอะๆได้

ถ้าไม่ชอบมันจริงๆก็ใช้ยาได้ครับ แต่พยายามไม่ใช้ยาและดูแลที่สาเหตุ (คือตะไคร่ที่เป็นอาหารของมัน) จะดีกว่า

การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำ, ไฮดร้าและหอย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28/09/2562 [20:52:46] โดย บัง »
ไฮดร้า (Hydra)


Осторожно, аквариумные паразиты (Caution, aquarium parasites)

ไฮดร้าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในน้ำ ตัวประมาณ 1-2 cm ชอบทำตัวเป็นป้ายเป่าลมตามหน้าคอนโดหรือเต๊นท์รถ ปล่อยหนวดสยายแล้วโยกไปโยกมาราวกับขาร็อคในคอนเสิร์ตหินเหล็กไฟ ถ้ามีอะไรเข้าไปใกล้ๆจะหดหนวดหนี ถ้ามีอาหารเพียงพอจะขยายพันธุ์ได้ด้วยการแตกหน่อ แต่ถ้าน้ำเย็นเกินไปหรืออาหารขาดแคลน ไฮดร้าจะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศและออกไข่ได้ แถมมันยังงอกตัวและหนวดของมันได้ถ้าถูกตัดขาดแหว่งไป และไม่ปรากฎว่ามันจะแก่ตายอีกด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจมันมาก

ไฮดร้ามีอันตรายกับลูกปลาเล็กๆ ลูกกุ้งแคระและสัตว์ขนาดเล็กพอที่มันจะเอาหนวดจับไว้ได้ แต่ไม่มีอันตรายอะไรกับปลาและกุ้งที่ขนาดใหญ่กว่าตัวมัน
นอกนั้นก็จะเป็นความน่ารำคาญทางสายตาของเราเสียมากกว่า เพราะมันชอบมาเกาะตามกระจกตู้ ก้อนหิน ใบไม้ ขอนไม้



Гидра в аквариуме (Hydra in aquarium) - Pavel Pecherskiy


รูปข้างบนนี้ กดไปดูวีดิโอไฮดร้าโยกหัวได้นะครับ [gurock01]

การป้องกันนี่ นอกจากคอยดูไม่ให้มันติดมากับต้นไม้ขอนไม้แล้วผมก็นึกวิธีอื่นไม่ออกเหมือนกัน แต่ปกติผมแค่เอาต้นไม้ใหม่มาแช่น้ำประปาไหลผ่านพักเดียวไฮดร้าก็ตายหมดแล้ว หรือถ้าเจอน้อยๆ เอากลูตาราลดีไฮด์ หรือคาร์บอนน้ำของยี่ห้ออะไรก็ได้ ใส่หลอดฉีดยาฉีดไปที่ตัวมันนิดนึงก็ตายแล้วครับ

แต่ถ้ามีเยอะแล้ว ใช้ยามีเบนดาโซล (Mebendazole) ก็ได้ครับ ตามลิ๊งนี้เลย

การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำ, ไฮดร้าและหอย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [10:57:17] โดย บัง »
หนอนนีมาโทด (Nematode)



Nematodes and daphnia in a shrimp tank - May Lin


กดที่รูปไปดูหนอนนีมาโทดขณะกำลังยักย้ายส่ายสะโพกได้ครับ  [awkward01]

เป็นหนอนตัวกลมชนิดหนึ่ง ประเภทเดียวกับพยาธิเส้นด้าย, พยาธิไส้เดือน ที่ชอบไชตูดเรานั่นแหละครับ
แต่อันนี้มันเป็นนีมาโทดที่อาศัยอยู่ในน้ำแบบอิสระ ไม่ได้อยู่ในลำไส้หรือเป็นปรสิต กินเศษซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร ก็ประเภทเดียวกับไส้เดือนน้ำนั่นแหละครับ
ตัวนี้ค่อนข้างจะเป็นของแสลงของคนที่เกลียดอะไรที่คล้ายๆหนอนและพยาธิ เพราะนอกจากหน้าตามันจะไม่ค่อยน่ารักแล้ว ถ้าตู้เราไม่มีปลา มันจะออกมาว่ายน้ำยึกๆยือๆ ดูน่าขนลุกเป็นที่สุด



nematodes in the aquarium - The Fish Closet


นีมาโทดจะเพิ่มจำนวนเยอะในตู้ที่มีอาหารของมัน ซึ่งก็คือซากพืชและสัตว์รวมถึงอาหารปลาอาหารกุ้งเหลือๆในปริมาณมาก การป้องกันก็แค่ดูแลความสะอาดไม่ให้มีการหมักหมมของเศษซากอินทรีย์พวกนี้ ก็จะไม่มีมาโผล่ให้เห็นแล้วครับ ตามปกติมันจะมีนีมาโทดอยู่เสมอในตู้ไม้น้ำ ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ แต่สำหรับตู้ที่มีปลา มันจะมีน้อยมากจนเราหามันไม่เจอ และไม่มีผลเสียอะไร

ถ้าต้องการกำจัดก็ มีเบนดาโซล (Mebendazole) เหมือนเดิมครับ การใช้ยาถ่ายพยาธิ ฟูกาคาร์, เบนด้า 500 กำจัดพลานาเรีย ไส้เดือนน้ำ, ไฮดร้าและหอย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01/09/2561 [10:59:13] โดย บัง »
-ไส้เดือนน้ำนี่  เวลาดูดขี้กุ้งมักจะเจอมันซ่อนอยู่ในขี้กุ้งบ่อยๆ แปลกมาก ทั้งๆที่ก็มีปลาแพะตั้งสามตัว ไม่ช่วยกันกินเลยหรือไงฟะ

-วันก่อนผมถ่ายน้ำ เจอตัวอะไรสักอย่าง เล็กมาก ขนาดประมาณมิลเดียว ใสๆขาวๆ สังเกตว่ามันมีหัวกับหางชัดเจน ตอนแรกผมคิดว่าน่าอาจจะเป็นลูกกุ้งเรดโนส หรือกุ้งไข่เล็กอะไรทำนองนั้น เลยจบมันเทกลับลงไปในอ่าง พอมาอ่านกระทู้นี้ บางทีอาจจะเป็นไซคลอปก็ได้
ถ่ายไว้นานแล้วสัตว์ประหลาดมีเต็มตู้เลย... เคย soft reset ตู้ไปทีนึงแล้ว

ล่าสุดพวกมันก็กลับมาใหม่ แล้วก็เยอะเต็มตู้เหมือนเดิม [smile01]