วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 [05:46:06]

คาร์บอนน้ำ How it works (Rev3.0 12/09/2019)

ข้อความช่วงแรกนี้ผมก๊อบมาจากของคุณ Banx ที่เขียนไว้ในเว็บเก่านะครับ ปุ๋ยคาร์บอนน้ำ How it works แต่ข้อมูลมันเก่าและลิ๊งอ้างอิงก็เสียเกือบหมดแล้ว ผมเลยเอามาเขียนเพิ่มเติมใหม่และแก้ไขบางส่วน



การให้คาร์บอนไดออกไซด์กับตู้ไม้น้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม้น้ำมีการเจริญเติบโตที่ดีสวยงาม แต่ระบบการให้คาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นระบบถังอัดความดันที่มีราคาสูง หรือใช้การผสมยีสต์ที่บางคนอาจจะเห็นว่ายุ่งยาก

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่สามารถชดเชยคาร์บอนให้กับพืชน้ำได้ทดแทนการให้ CO2 แม้ประสิทธิภาพจะไม่เท่าแต่ในแง่ความสะดวกสบายและประหยัด(สำหรับตู้ขนาดเล็ก) ไม่มีอุปกรณ์เกะกะ น่่าจะเป็นทางเลือกที่ดี สารนั้นคือสารละลายของ Glutaraldehyde (C5H8O2) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดเชื้อโดยไม่ใช้ความร้อนสำหรับเครื่องมือแพทย์ ระบบท่อน้ำ และใช้ใน กระบวนการฟอกย้อมหนังและคงสภาพเนื้อเยื่อในการตรวจวินิจฉัย และอื่นๆ

กลูตาราลดีไฮด์ เป็นสารประกอบออร์แกนิกคาร์บอน ที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับพืชน้ำ นำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ โดยถ้าเทียบกับการให้คาร์บอนไดออกไซด์แบบถังอัดตามปกติ ประสิทธิภาพจะอยู่ที่ประมาณ 60-70% (1) และเพิ่ม reductive stage ของระบบ ช่วยเปลี่ยนรูปแร่ธาตุในน้ำให้อยู่ในรูปที่พืชน้ำนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งกลไกการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการย่อยสลายตัวของสารตัวนี้โดยแบคทีเรียในระบบได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

นอกจากนั้นจากประสบการการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ในนักเลี้ยงไม้น้ำพบว่าสามารถใช้ในการควบคุมการเจริญเติบโตของตะใคร่น้ำชนิดต่างๆได้ดี ซึ่งกลไกการควบคุมตะใคร่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน

  • เมื่อพืชดึงคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ได้มากขึ้นก็จะดูดซึมสารอาหารที่อยู่ในน้ำได้มากขึ้นทำให้แย่งการเจริญเติบโตกับตะใคร่ได้ดี
    เช่นเดียวกับการรักษาระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงกว่า 30 PPM ก็สามารถช่วยควบคุมตะใคร่หลายๆชนิดได้
  • สารประกอบ polymerized isomer of glutaraldehyde หรือที่เรียกว่า polycycloglutaracetal จะเป็นแหล่งคาร์บอนสำหรับพืชชั้นสูงเท่านั้นโดยตะใคร่ไม่สามารถดึงไปใช้ได้
  • สารประกอบ Gluteraldehyde เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และตะใคร่น้ำ ในขนาดที่กำหนดจะไม่เป็นอันตรายต่อ
    สัตว์น้ำและพืชน้ำส่วนใหญ่ แต่จะมีผลต่อตะใคร่ (ในปริมาณที่ไม่มากไปกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ของแต่ละยี่ห้อ)





คาร์บอนน้ำของ Seachem Excel

การใช้งานเพื่อทดแทนการให้ก๊าซ CO2 ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนครับ ก็แค่เทลงในตู้ตามปริมาณที่ระบุไว้ของแต่ละยี่ห้อเท่านั้นเอง
เพียงแต่ว่าเวลาเทก็พยายามให้มันลงตรงจุดที่น้ำไหลๆหน่อย เพื่อไม่ให้ตัวสารเข้มข้นเนี่ยไปไหลกองอยู่ก้นตู้บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายกับต้นไม้หรือสัตว์น้ำได้จากความเข้มข้นที่มากเกินไป

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • กลูตาราลดีไฮด์ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นแหล่งชดเชยคาร์บอนให้กับพืชน้ำแทนการให้คาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงควรใช้ร่วมกับการให้ปุ๋ยตามปกติของพืชน้ำด้วยเพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์
  • อาจจะมีผลกับพืชน้ำบางชนิดถ้าให้ในขนาดที่สูง เช่นกลุ่มมอส ลิเวอร์เวริธ และสาหร่ายบางชนิด
    เช่น Egeria densa
  • สารประกอบ gluteraldehyde เป็นสารระเหยที่มีความระคายเคืองต่อดวงตา ระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร
    ควรหลีกเลี่ยงการสูดดม และการสัมผัสโดยตรงถ้าไม่จำเป็น แม้ว่าจะไม่มีพิษสะสมหรือเป็นสารก่อมะเร็งเนื่องจากเป็น
    สารประกอบ Hydrocarbon ที่สลายตัวได้ง่ายแต่อย่างไรก็ตามควรใช้ด้วยความระมัดระวังและเก็บให้พ้นมือเด็ก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12/09/2562 [19:45:41] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)
#1 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 02/10/2560 [20:37:16]
วิธีการใช้คาร์บอนน้ำเพื่อกำจัดตะไคร่

ไอ้คาร์บอนน้ำเนี่ยจะใช้ได้ดีกับพวกตะไคร่ที่มีผิวพรรณอ่อนแอ นิ่มๆ จำพวก ตะไคร่ขนดำ ตะไคร่ขนเขียว ตะใคร่เส้นใย Fuzz algae ตะใคร่เมือกสีเขียวแกมน้ำเงิน ตะใคร่เมือกสีน้ำตาล แต่จะใช้ไม่ค่อยได้ผลกับตะไคร่ที่มีลักษณะแข็งๆแบบ ตะใคร่เส้นผมเขียว ตะไคร่เส้นผมดำ ตะไคร่ Cladophora ที่จริงมันก็ได้ผลอยู่ แต่ปริมาณการใช้จะค่อนข้างสูงจนเสี่ยงอันตรายกับกุ้งปลาต้นไม้อื่นๆที่อยู่ในตู้ได้ครับ ปริมาณการใช้ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณสองเท่าของปริมาณที่ระบุไว้สำหรับเสริมคาร์บอน แต่ยังไงก็ดูที่ฉลากเป็นหลักนะครับ เพราะของแต่ละยี่ห้อจะไม่เท่ากัน





ผลการใช้คาร์บอนน้ำของ Aquamania กำจัดตะไคร่ขนเขียว

โดยวิธีการใช้เราก็สามารถพลิกแพลงได้ครับ อย่างเช่นถ้าเป็นตะไคร่ที่เกาะอยู่บนขอนหรือหินที่อยู่สูงๆหน่อย เราก็สามารถลดน้ำลงให้หินหรือขอนโผล่พ้นน้ำ แล้วเท,ทาหรือสเปรย์คาร์บอนน้ำใส่ตะไคร่ได้โดยตรงเลย ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการละลายใส่ลงในน้ำทั้งตู้

หรือจะใช้วิธีดูดใส่หลอดฉีดยาแล้วไปฉีดลงตรงที่มีตะไคร่ก็ได้ครับ จะเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของตัวสารในส่วนที่มีตะไคร่ ทำให้ได้ผลในการกำจัดดีขึ้น และลดผลกระทบกับต้นไม้อื่นได้

แต่วิธีการใช้ทั้งสองแบบนั้น ต้องดูด้วยนะครับว่าปริมาณที่ใส่ไปไม่ควรเกินกว่าที่ระบุไว้ในฉลาก!

คาร์บอนน้ำนี่เป็นไอเท็มที่ผมแนะนำว่าควรมีติดบ้านไว้เลยครับ มีประโยชน์สำหรับคนเลี้ยงไม้น้ำมากๆ แม้แต่กับคนที่มีถัง CO2 เพราะเวลาเราเอาถังไปเติมเนี่ย ส่วนมากจะเป็นการฝากเติม ต้องรออีกหลายวันกว่าจะได้ถังกลับมา ทีนี้ล่ะครับ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่เคยมีอยู่อย่างคงที่ในตู้ของเรา แล้วจู่ๆวันนึงมันก็หายไป CO2 ไม่คงที่ ทีนี้ตะไคร่มาล่ะครับ ถ้าจะไม่ให้มีปัญหาแบบนี้ ก็ต้องมีสองถังสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเติม หรือใช้คาร์บอนไดออกไซด์แบบยีสต์ ที่บางทีกว่าจะผสมเสร็จ กว่าก๊าซจะออก ล่อไปวันนึง ซึ่งก็อาจจะไม่ทันการณ์ แถมบางทีขวดรั่วอีก กว่าจะซ่อมเสร็จ ถ้ามีคาร์บอนน้ำเราก็กดๆลงไปประทังไว้ก่อน สะดวกดี แถมถ้าตะไคร่มาก็คาร์บอนน้ำนี่อีกแหละ กดฉึกๆๆ ลงตู้ไปฆ่าตะไคร่ได้อีก มีติดบ้านไว้ อุ่นใจฮะ [smile04]

ทำไมใช้แล้วตะไคร่ไม่ตาย?

บางคนใช้แล้วบอกว่าไม่เห็นตะไคร่มันจะตายเลย ยังอยู่ดีก็มีได้หลายสาเหตุด้วยกันครับที่จะทำให้กลูตาราลดีไฮด์ใช้ไม่ได้ผล

  • คำนวณปริมาตรตู้ผิด ทำให้ใส่ยาน้อยเกินไป ตะไคร่ก็ไม่ตายครับ
  • ในน้ำมีสารอินทรีย์อยู่มาก ตัวยาไปทำปฎิกริยากับสารอื่นๆซะก่อน ไม่ได้โดนตะไคร่ เปลี่ยนน้ำ 50% ก่อนแล้วค่อยใส่จะได้ผลดีครับ
  • ตะไคร่ตัวนั้นทนยามากกว่าปกติ ตะไคร่แต่ละชนิดจะมีความทนทานต่อยาไม่เท่ากัน หรือตะไคร่ที่งามๆแข็งแรงก็จะทนต่อยาได้มากกว่าปกติ ถ้าดูสองข้อบนแล้วไม่ใช่สาเหตุ แต่ยังใส่ยาแล้วตะไคร่ไม่ตาย ให้เพิ่มปริมาณที่ใส่ทีละนิดครับ จากปกติสองปั๊มก็เป็นสามปั๊มอะไรแบบนั้น แล้วรอดูผลซักสองสามวัน ถ้ายาได้ผลตะไคร่ควรจะเป็นสีขาวได้แล้ว ถ้ายังไม่ขาว เปลี่ยนน้ำ 50% แล้วใส่ยาเพิ่มอีก 1 ปั๊มจากปกติ เช่น คราวที่แล้วใส่อยู่ 3 ปั๊มแล้วยังไม่ตาย คราวนี้เอา 4 ปั๊มเลยครับ มันต้องตายจนได้แหละ ระหว่างนี้สังเกตอาการสัตว์และต้นไม้ในตู้ด้วยว่าโอเคมั้ย ถ้ามีอาการแปลกๆรีบเปลี่ยนน้ำ 50% ทันทีครับ ควรจะรองน้ำเก็บไว้เลยจะได้เปลี่ยนได้ทันท่วงที

ทำไมใช้แล้ว xxx ตายหมด?

บางคนก็บอกว่าใช้แล้วกุ้งตาย หอยตาย ต้นไม้ตาย ก็มีหลายสาเหตุเหมือนกันครับ

  • คำนวณปริมาตรตู้ผิด ทำให้ใส่ยามากเกินไป เวลาคำนวณควรจะหักความหนาของดินและหินออกด้วยครับ
  • น้ำสะอาดเกินไป บางตู้น้ำสะอาดมาก ยาเลยทำปฎิกริยาได้มากกว่าปกติ ทำให้กุ้ง,หอย,ต้นไม้ที่ไม่ค่อยแข็งแรงตายได้เหมือนกันครับ ถ้ามีไม้ที่ผิวอ่อนแอจำพวกบูเซป ริคาเดีย มอส ควรจะเริ่มใส่ที่ปริมาณครึ่งเดียวของที่ระบุไว้บนฉลากครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12/09/2562 [19:03:44] โดย บัง »
#2 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 30/12/2560 [03:58:30]
ตอนนี้ทำไม Florish Excel ขาดตลาดครับ หาซื้อร้านไหนก็ไม่มีเลย
#3 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 30/12/2560 [16:37:29]
ตอนนี้ทำไม Florish Excel ขาดตลาดครับ หาซื้อร้านไหนก็ไม่มีเลย

ปกติก็จะขาดเป็นช่วงๆอยู่แล้วครับ เดี๋ยวก็มา
#4 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 02/01/2561 [16:35:00]
ครับ รออยู่ครับผม ขอบคุณครับ
#5 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 20/03/2562 [11:02:08]
ผมมีตุ้เลี้ยงปลาที่มีอนูเบียสอยู่นิดหน่อย เลยคิดว่าจะใส่ปุ๋ยกับคาร์บอนน้ำให้มันแต่ก็กลัวใส่แล้วพวกตะไคร่จะหายหมดตู้ทำให้ปลาสายน้ำผึ่งที่เลี้ยงไว้กินตะไคร่ไม่มีไรกิน อยากทราบว่าใส่แล้วจะมีผลให้ปลากินตะไคร่อดอาหารมั้ยครับ ผมอยากให้อนูเบียสผมโตด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20/03/2562 [11:04:04] โดย pijit »
#6 Re: คาร์บอนน้ำ How it works (Rewrite) เมื่อ: 22/03/2562 [21:18:55]
ผมมีตุ้เลี้ยงปลาที่มีอนูเบียสอยู่นิดหน่อย เลยคิดว่าจะใส่ปุ๋ยกับคาร์บอนน้ำให้มันแต่ก็กลัวใส่แล้วพวกตะไคร่จะหายหมดตู้ทำให้ปลาสายน้ำผึ่งที่เลี้ยงไว้กินตะไคร่ไม่มีไรกิน อยากทราบว่าใส่แล้วจะมีผลให้ปลากินตะไคร่อดอาหารมั้ยครับ ผมอยากให้อนูเบียสผมโตด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

มันกินอาหารปลาได้ครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
กำลังศึกษา เรื่อง คาบอน ครับ

ขอถามว่า จริงๆแล้ว คาบอน มีหน้าที่กำจัดคะไคร่เป็นหลัก ต้นไม่โตสวยเป็นรอง  หรือ ต้นไม่โตสวยมีหน้าที่เป็นหลัก กำจัดคะไคร่เป็นรอง หรือ เมื่อพืชดึงคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ได้มากขึ้นก็จะดูดซึมสารอาหารที่อยู่ในน้ำได้มากขึ้นทำให้แย่งการเจริญเติบโตกับตะใคร่ได้ดี

ตัวคาบอน น้ำ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้อมูลข้างขวด เพียงพอหรือไม่ เช่น ตู้12"(น้ำ8ลิตร) ต้นไม่เยอะมาก
 ข้อมูลอ้างอิง
       ข้อกำหนดและข้อควรระวังในการใช้งาน
            1 ควรใช้ตามขนาดที่กำหนด 1 cc ต่อน้ำ 8 ลิตร ในครั้งแรก และ 1 cc ต่อน้ำ 40 ลิตรในวันถัดไป
            ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไม่ใช่ปุ๋ยแต่เป็นแหล่งชดเชยคาร์บอนให้กับพืชน้ำแทนการให้คาร์บอนไดออกไซด์
            ดังนั้นจึงควรใช้ร่วมกับการให้ปุ๋ยตามปกติของพืชน้ำด้วยเพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์
ถ้าคาร์บอนน้ำที่เราใช้กันคือ Glutaraldehyde ผมว่ามันก็น่าจะเป็นความเสี่ยงกับสิ่งมีชีวิตในตู้ไม้น้ำอยู่ไม่น้อยนะครับ ต่อให้ใช้น้อยก็ตาม

มีงานวิจัยหนึ่งกล่าวถึงการก่อมะเร็งจากสาร Glutaraldehyde อยู่ครับ ซึ่งผมว่าค่อนข้างสอดคล้องกับประสบการณ์การเลี้ยงปลาของผมอยู่นะครับ

จากประสบการณ์ ผมใช้คาร์บอนน้ำของเจ้านึง ใช้ติดต่อกันเป็นปีพบว่าปลาผมหลายตัวที่เคยมีสุขภาพดีหลายตัวมีอาการเหมือนเป็นมะเร็ง คือ มีรอยด่างสีดำ ๆ ขึ้นตามเนื้อ และผอมลงเรื่อย ๆ จนตายไปอย่างช้าๆ ทีละตัว ๆ ช่วงหลังมานี้ผมก็เลยหยุดใช้ไปเลยแทบจะไม่แตะอีก ไม่แน่ใจว่าท่านอื่น ๆ เคยเจอไหม

ลิงค์อ้างอิงงานวิจัยมะเร็งจากGlutaraldehyde ตามนี้ครับ
Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR). Toxicological profile for glutaraldehyde [Internet]. 2017 [cited 2018 Oct 1]. Available from: https://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/tp208.pdf.