วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 [06:52:00]

แนวทางการเลี้ยง ปลาเอนเลอร์


   ปลาเอนเลอร์ รุ่นแรกๆ ที่มีการบันทึกว่า ได้มีการนำมาเลี้ยงในหมู่ผู้นิยมปลาสวยงามนั้น   เป็นปลาที่ถูกจับมาโดย Mr. Frankly F.Bond  ในระหว่างปี คริสต์ ศํกราช 1930 ( นานมากๆๆๆๆ )  และ ต่อมาในประมาณ ปี ค.ศ. 1970 , ศาสตราจารย์  John A. Endler ได้ทำการเก็บตัวอย่าง ของปลาชนิดนี้  ( Poecilia sp. ) จากพื้นที่ ตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศ เวเนซุเอล่า ( ดินแดนแห่งสาวงามระดับโลก  และ ก็มีปลาที่สวยงามมากมาย หลายชนิดเช่นกัน  )

   ปลาชนิดนี้นั้น  ได้รับชื่อเรียกสามัญ ในช่วงปี 1980 ภายหลังจากการเก็บรวบรวม โดย ดอกเตอร์ Kallman ที่ได้แนะนำให้มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้ ในอะควาเรี่ยมต่างๆ ในประเทศเยอรมัน  โดยที่มาของการตั้งชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลา Endler เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์  John A. Endler นั่นเองครับ
สำหรับการแบ่งประเภท การเรียก รูปแบบของ เอนเลอร์ นั้น  ถ้าเป็น เอนเลอร์ ที่ถูกจับจากธรรมชาติ และรู้แหล่งที่มา   จะเรียกกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า “ Class N “ และ ถ้าไม่ทราบที่มา แต่ดูรูปร่าง และสีสันแล้ว เป็น เอนเลอร์ ชัวร์ๆ แน่แท้ แน่นอน  เราก็จะเรียกกันว่า “ Class P “ ส่วน ปลา เอนเลอร์  ที่ได้รับการเพาะเลี้ยง และ  ครอสข้ามชนิดกับ ปลาในตระกูลใกล้เคียงกันออกมา หรือ ปลาลูกผสมนั่นเอง  ในวงการจะเรียกเป็น ปลา เอนเลอร์ “ Class K “ ครับ

   เมื่อดูจากรูปร่างภายนอกแล้ว ปลาเอนเลอร์  เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะ ใกล้เคียงกัน ปลาหางนกยูงมาก แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นปลาที่มีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับปลาสอดมากกว่า ปลาหางนกยูง เสียอีกครับ  แต่การนำมาผสมข้ามนั้น ผสมกับพวกปลาหางนกยูง ดูจะง่ายกว่าเป็นไหนๆครับ  เรื่องนี้ ก็นับว่าแปลกอยู่เหมือนกัน ( ฮา )  ด้วยสีสันที่ฉูดฉาด บาดตา บาดใจ และ การเลี้ยงดูที่ง่าย  ปลาเอนเลอร์  ทำให้ปลาเอนเลอร์นั้น ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รับการเลี้ยงปลาสวยงาม ทุกเพศ ทุกวัย ทั่วโลกเลยก็ว่าได้ , ปลาเอนเลอร์ สามารถปรับตัวอาศัยอยู่ได้ในหลากหลาย อุณหภูมิ  แต่ อุณหภูมิประมาณ 27  - 30 องศาเซลเซียส ค่อนข้างเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้มากครับ  โดยถ้าน้ำมีความกระด้าง ซักเล็กน้อย ( pH สูงเกิน 7.0 ) ปลาจะค่อนข้างชอบครับ 

    ด้วยความที่เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่ง ทำให้สะดวกในการนำไปเลี้ยงในที่เลี้ยง ในพื้นที่ๆมีพื้นที่ไม่มาก เช่น  ตู้ปลาขนาดเล็ก ( ตู้นาโน )  ต่างๆ ได้หลายตัว  จึงสามารถนำไปเลี้ยงตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ในออฟฟิศได้ง่ายครับ  อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการจะให้เลี้ยงได้สะดวกขึ้น  สามารถเลี้ยงได้ในขนาดตู้ที่จุน้ำได้ ตั้งแต่ 10 แกลลอนขึ้นไปครับ

     ปลาเอนเลอร์ เป็นปลาที่รักสงบ  และ สามารถเลี้ยงรวมกับปลาเล็กๆ ได้หลากหลายชนิด  โดยไม่มีการทำร้ายกันและกันครับ  ความกระตือรือร้น ของปลาตัวเล็กๆชนิดนี้ มีอยู่สูงมาก  เขาจะว่ายน้ำไปมา ไปทั่วตู้เลี้ยง  สร้างความเพลิดเพลิน สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลาสวยงามได้เป็นอย่างดีครับ  แล้วก็จะมีนิสัยน่ารักๆ ที่พอตอนกลางคืน  ที่แสงสว่างหมดลงไปแล้ว   ปลาชนิดนี้ก็จะมีการแอบลงมานอนที่พื้นของตู้  หรือตามบริเวณต่างๆ ของตู้ครับ  แล้วพอแสงสว่างกลับมาอีกที  ก็จะกลับมาว่ายน้ำอย่างร่าเริงอีกครั้งหนึ่งครับ ในตู้เลี้ยงสามารถปลูกต้นไม้ให้หนาแน่นได้ครับ ปลาจะมีความสุข และ ลดความเครียด เพราะได้มีที่หลบซ่อนในบางเวลาที่เขาต้องการครับ   

      ในส่วนของอาหารการกิน ปลาชนิดนี้ก็เป็นปลาที่กินง่ายอยู่ง่าย  สามารถกินอาหารได้ทั้งอาหารสด เช่น หนอนแดง , ลูกน้ำ , ไรน้ำจืด , ไรทะเล  และ อาหารสำเร็จรูป คุณภาพดี  ได้อย่างไม่มีปัญหาครับ

    การผสมพันธุ์ปลาที่น่ารักชนิดนี้นั้น  ไม่ยากเลย  เราสามารถแยก ปลาตัวผู้ และ ตัวเมียได้อย่างง่ายดายมากๆ เนื่องจาก ปลาตัวเมีย จะตัวอวบอ้วน และ มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก และ ที่สำคัญคือ ปลาตัวเมีย จะแทบไม่มีสีสันอะไรเลย  นอกจากสีเนื้อลำตัวที่ออกสีเงินๆ เท่านั้นเอง  ในการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ สามารถ ใช้การผสมพันธุ์แบบหมู่ได้ครับ 

    ปลาเอนเลอร์ตัวผู้ จะค่อนข้างใช้เวลานาน ในการเกี้ยวพาราสี  ปลาตัวเมีย แต่จะไม่ดุร้าย ละ ก้าวร้าวกับตัวเมีย มากเท่าปลาหางนกยูง ที่เป็นญาติๆของมัน  หลังจากมีการผสมพันธุ์กันเกิดขึ้น  ซึ่งโดยปกติ ปลาเอนเลอร์ จะผสมพันธุ์กัน เป็นช่วงระยะเวลา ราวๆ 23  - 25 วัน ต่อ 1 รอบการผสมพันธุ์  ปลาตัวเมีย จะเป็นเช่นเดียวกับ ปลาที่ออกลูกเป็นตัวชนิดอื่นๆ ที่สามารถเก็บน้ำเชื้อของปลาตัวผู้เอาไว้เป็นระยะเวลายาวนาน ได้เป็นปีๆ สำหรับการนำออกมาผสมพันธุ์  , ปลาตัวเมีย สามารถออกลูกได้ครั้งละ ตั้งแต่ 1 – 30 ตัว โดยขึ้นอยู่กับ อายุของแม่ปลา และ ขนาดด้วย 
ลูกปลา ถึงแม้ว่าจะมีขนาดเล็ก ๆ แต่ก็ยังสามารถเห็นได้ด้วยตา ตั้งแต่แรกเกิด  ผู้เลี้ยงควรจัดหาสุมทุมพุ่มไม้ต่างๆ ให้เป็นที่หลบซ่อนตัวของลูกปลาด้วยครับ และในตู้ไม่ควรมีปลาชนิดอื่น นอกจากพ่อและแม่พันธุ์ปลาเอนเลอร์เท่านั้น  สุมทุมต้นไม้น้ำต่างๆ จะเป็นที่หลบซ่อน อย่างดี ให้กับลูกปลาที่เกิดใหม่  เพราะในบางสภาวะแวดล้อม พ่อ และ แม่ปลา ก็อาจจะจับลูกที่เพิ่งเกิดใหม่ กินเป็นอาหารก็ได้เช่นกันครับ แม้ว่าจะไม่พบกรณีนี้ มากนักก็ตาม

    ลูกปลาเอนเลอร์ที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่นเดียวกับ พ่อและแม่ของมัน  เช่น  อาหารผงสำเร็จรูปสำหรับลูกปลาแรกเกิด , ลูกไรทะเลแรกฟัก หรือ อาหารแผ่นสำเร็จรูปบดละเอียดก็สามารถกินได้อย่างไม่มีปัญหาครับ  ลูกปลาสามารถ แทะกิน ตะไคร่น้ำ และ จุลชีวันขนาดเล็กๆเป็นอาหารได้เช่นกันครับ  , หลังจากผ่านเวลาไปประมาณ 3 – 5 สัปดาห์  ลูกปลา โดยเฉพาะ ปลาตัวผู้ ก็จะเริ่มมีสีสัน สวยงามเหมือนปลาตัวเต็มวัยแล้วครับ และ ปลาตัวเมียก็จะเริ่มเติบโตขึ้น จนเริ่มให้ผลผลิตได้ ประมาณ 2 เดือนขึ้นไปครับ 

    ปลา เอนเลอร์  สามารถที่จะ ครอสบรีด กับปลา guppies ในสปีชียส์อื่นๆ ได้  ( เช่น (Poecilia reticulata, Poecilia obscura guppies) ดังนั้น เพื่อให้ สายพันธุกรรม เกิดความผิดเพี้ยน  ถ้าต้องการรักษาสายพันธุ์แท้  ก็ควรเลี้ยงปลาเอนเลอร์ในชนิดเดียวกันเอาไว้เท่านั้น  เพื่อรักษาสายพันธุ์แท้ เอาไว้ครับ แต่ ถ้าไม่ซีเรียสในจุดนี้  ก็สามารถลองผสม กันเพื่อทดลองลูกผสมใหม่ๆ ได้ครับ ปัจจุบัน ก็มีปลาเอนเลอร์ สีสันใหม่ๆ ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เข้ามาจำหน่ายในท้องตลาด มากมายหลายชื่อเรียกครับ


  ติดตามอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า

https://www.facebook.com/Thailand-Aquatic-Pets-เพจคนรักสัตว์น้ำ-229670613731393/
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)