c1ub.net

Talks => ร้านกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: บัง ที่ 31/08/2561 [13:53:05]

หัวข้อ: หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ
เริ่มหัวข้อโดย: บัง ที่ 31/08/2561 [13:53:05]
Disclaimer: บทความ หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ (http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/J3647943/J3647943.html) นี้เป็นบทความของคุณ ShOwA สมาชิก pantip.com ที่ลงไว้ในห้องจตุจักรเมื่อ 4 ส.ค. 2548 นะครับ ซึ่งผมเองก็เคยอ่านบทความนี้มาแล้วสมัยที่เริ่มเลี้ยงไม้น้ำได้ไม่นาน พอดีผมไปเปิดเจอแล้วรู้สึกว่ามันก็ยังเป็นความรู้ที่ดีมากอยู่ แม้ว่าเนื้อหาบางส่วน เช่น รุ่นของกล้องจะเก่าไปหมดแล้ว (มี D30 ที่ตอนนี้น่าจะถือว่าเป็นวัตถุโบราณได้ละ [lol01]) แต่ความรู้ในเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพทั่วไปและการถ่ายภาพตู้ปลานั้นยังใช้ได้อยู่ เลยนำมาลงไว้เพื่อป้องกันการสูญหายของบทความดีๆเช่นนี้ครับ -- บัง



หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนเลยว่านี่เป็นการเขียนบทความที่สองของผม
ซึ่งก็อาจมีบางท่านที่อาจจะเคยอ่านบทความแรกที่ผมแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพปลาไปแล้วบางส่วน
ในกระทู้ การถ่ายภาพปลาอะโรวาน่า : คิดก่อนถ่าย ภาค 1 (http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/J3509976/J3509976.html)

ซึ่งผมเชื่อว่ากระทู้นั้นน่าจะมีประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในระดับกลางถึงระดับสูงมากกว่าผู้ที่อยู่ในระดับขั้นต้น
มาคราวนี้ผมเลยขออาสามาเขียนเริ่มกันตั้งแต่มือใหม่หัดถ่ายกันเลยละกันนะครับ จะได้ปูพื้นให้แน่นๆกันไปเลย

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697258_u1_8SlpfrUh.jpg)

แต่ในที่นี้ผมจะขออธิบายเฉพาะการถ่ายภาพปลาเท่านั้นนะครับ
ไม่ขอเอ่ยถึงพื้นฐานการถ่ายภาพโดยทั่วๆไป
ซึ่งคาดว่าผู้อ่านคงจะได้เคยอ่าน เคยศึกษากันมาบ้างแล้วนะครับ
(หากท่านยังไม่เคยอ่าน กรุณาไปอ่านไปศึกษามาก่อนโดยด่วน
จากนั้นจึงค่อยมาอ่านบทความนี้ มันจึงจะสำริดผล)
เพราะหากจะให้ผมอธิบายถึงเรื่องพื้นฐานต่างๆ คงจะยาวเยิ่นเย้อผิดวัตถุประสงค์ของบทความไป
พร่ำเพ้อมาซะนานเป็นการเสียเวลา ขออนุญาตเริ่มเรื่องกันเลยนะครับ
วันนี้ขอเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อกล้องเลยนะครับ

เลือกกระบี่คู่ใจ

มีคำถามจากผู้เลี้ยงปลาหลายคนถามผมว่า.....“จะซื้อกล้องมาถ่ายรูปปลาสักอัน ซื้ออะไรดี?”
เป็นคำถามยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมาของผมเลย
คำตอบของผมก็คงจะไม่พ้นการถามกลับไปว่าจุดประสงค์ของคุณคืออะไร
คุณต้องตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อน ว่าคุณจะซื้อกล้องสักตัวเนี่ยมันก็เป็นเงินไม่น้อย...

“คุณจะเอามันไปทำอะไร?”

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697281_u1_LUC22Ann.jpg)

บางคนบอกว่าจะเอามาถ่ายปลาอย่างเดียว จะเอาให้ได้ภาพสวยๆแบบหยาดเยิ้ม
บ้างก็บอกว่าจะเอาแบบที่บอดี้มันสวยๆเท่ห์ๆ แบบที่หยิบขึ้นมาแล้วคนที่เห็นต้องมองว่า
อู้หู! คนนี่โปรแน่ บางคนก็บอกว่าเอามาถ่ายรูปครอบครัว
ถ่ายรูปบุตรท่านหลานเธอที่กำลังอยู่ในวัยแสนซน และก็จะได้เอามาถ่ายปลาด้วย
บางคนก็บอกว่าเอาแค่ถ่ายลงเว็ปได้ก็พอ ไม่ต้องเอาแบบแพงมาก
บางคนก็สนใจกับขนาดและน้ำหนัก บอกว่าเอาตัวเล็กๆ เบาๆ เอาเท่าบัตรเครดิต พกสะดวกดี
และต้องมีรูปร่างหน้าตาดีๆด้วย ฯลฯ ต่างคนก็ต่างจิตใจ
ทั้งเรื่องของการใช้งานและเรื่องของงบประมาณก็เป็นตัวตัดสินใจเลือกรุ่นของกล้อง
ที่คุณจะซื้อมันแล้วหล่ะ  อย่าให้ผมเป็นคนตัดสินใจแทนคุณเลย 
และก็อย่าเห็นว่าคนไหนที่ถ่ายรูปสวยๆ เขาใช้กล้องรุ่นอะไร ก็จะซื้อแบบเขามาใช้บ้าง
นี้ก็เป็นคนอีกพวกหนึ่งที่มีเยอะขึ้นทุกวัน  ผมไม่ได้ว่ารุ่นที่คุณซื้อมามันไม่ดีนะ
แต่อยากให้ทุกท่านได้พิจารณาให้เหมาะสมกับตัวท่านมากกว่า

ใช้ทำอะไร / งบประมาณเท่าไหร่ / ขนาด-น้ำหนักแค่ไหน / รูปร่างหน้าตาอย่างไร

“ซื้อกล้องถูกใจ สบายใจไปหลายปี”

เชื่อผมสิ เพราะหากคุณมัวมาไล่ล่าตามเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิตอล
นอกจากกระเป๋าคุณจะฉีกแล้ว มันยังเสียเวลาอีกด้วย
(แต่ถ้าคุณมีเงินเหลือผมก็ไม่ว่าอะไรคุณหรอกนะ แต่ผมไม่อยากให้ใช้เงินกันอย่างฟุ้มเฟือย
ยุคนี้ด้วย ยุคน้ำแพง เราควรจะประหยัดกันสักหน่อย
หากคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้กล้องหลายตัว หรือใช้มันสร้างรายได้
ซื้อตัวเดียวใช้ไปได้นานทีเดียวเชียวหล่ะ) ที่ว่าเสียเวลา มันเสียยังไงนะเหรอ
เพราะมันจะทำให้คุณไม่มีเวลามาตั้งใจศึกษาการถ่ายภาพอย่างจริงจังสักที
เดี๋ยวก็จะอ้างว่าอุปกรณ์ไม่ดี ตกรุ่น สารพัดจะอ้าง ฯลฯ
อุปกรณ์ต่างๆ จะมาทำให้คุณเขวกับเป้าหมายที่แท้จริงของการถ่ายรูป

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697374_u1_YBzbkhrE.jpg)
Canon D30 ที่แสนจะสุดไฮเทค (แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้วนะ 555)

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เมื่อ 6 ปีก่อน ผมซื้อกล้อง D-SLR ตัวแรกของ Canon เป็นรุ่น D30
ตอนนั้นราคาแสนกว่าบาท กับภาพความละเอียด 3 ล้านพิกเซลที่สุดจะเท่ห์นำสมัยมากๆสมัยนั้น
จะหาชมตัวเป็นๆนี่ไม่ได้หาชมง่ายๆแบบสมัยนี้นะครับ ถ้าจะดูต้องไปขอลูบคลำตามสตูดิโอ
คนใช้ทั่วไปไม่มีใครบ้าซื้อมาถ่ายหมู-หมา-กา-ไก่(ปลา)เล่นๆแบบผมหรอก.....แล้วไง...
มาตอนนี้เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก D30 ตอนนี้ขายทิ้งกันไม่ถึงหมื่นห้า
แถมยังไม่มีใครซื้อด้วย พวกบอกเพิ่มอีก 5 พันดีกว่า ได้ 300D
แต่ผมจะบอกให้ ให้ผมเอา D30 มาถ่ายแข่งกับ 20D หรือกล้องอื่น ผมว่าผมก็ทำได้
เพียงแต่คุณต้องเค้นความสามารถมันออกมา
ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้จะบอกว่ากล้องรุ่นชั้นดีอย่าง 20D
จะถ่ายออกมาสวยเท่ากับกล้องรุ่นเก่าอย่าง D30 นะครับ
แต่จะบอกให้ในฐานะที่ผมโดนมาเยอะแล้ว ทั้ง 30D, 60D, 10D, 300D, 20D ฯลฯ
ผมจะบอกให้ว่ามันไม่ต่างเลยยยยย ----> หากคุณใช้งานในระดับทั่วไป

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697441_u1_KtRc8fiQ.jpg)
อย่าไปยึดติดกับอุปกรณ์เป็นหลัก มันไม่ใช่แก่นแท้ (รูปนี้ถ่ายจากมือถือ)

ส่วนใหญ่คนที่ชอบถ่ายภาพมัวแต่มาสนใจตัวกล้องเรื่องอุปกรณ์เป็นหลัก ลืมนึกถึงแก่นแท้ ซึ่งก็คือ “การถ่ายรูป”
ผมจะบอกให้ กล้องทุกตัวมันมีค่า อย่าดูถูกกล้องราคาถูก
หลายคนชอบเรียกมันว่ากล้องปัญญาอ่อน ผมขอนะครับกลับคำพูดเถอะครับ
มันไม่ปัญญาอ่อนหรอก มันมีดีมากกว่าที่คุณคิดไว้เยอะเลย
คุณนั้นแหล่ะที่ไม่มีความสามารถพอที่จะถ่ายทอดประสิทธิภาพของมันออกมาได้ต่างหากหล่ะ
คุณนั้นแหล่ะที่ผิด กล้องมันไม่ผิดอะไรสักหน่อย ไม่รู้ทำไมชอบไปว่ามันกันจัง  ฮือๆ น่าฉงฉาน

กล้องอะไรก็ถ่ายได้ครับ ขอเพียงคุณจะต้องเรียนรู้มัน

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697469_u1_tH22Qm53.jpg)

เอางี้..เอาว่า...ถ้าตอนนี้ใครที่มีกล้องดิจิตอลอยู่แล้วไม่ว่าจะเก่าจะโบราณแค่ไหน...
มา...เดี๋ยวผมจะสอนคุณถ่ายแบบงามๆเอง  ยัง...ยังไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออันใหม่
ส่วนสำหรับผู้ที่ยังไม่มีก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อยนะครับ

ย้อนกลับมาว่า เมื่อเรารู้คำตอบแล้วว่าเราจะเอากล้องมาทำอะไร งบเท่าไหร่
คราวนี้สิ่งที่คุณควรจะรู้ต่อไปก็คือ พื้นฐานของกล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายรูปปลานั้นมีอะไรบ้าง
หลักๆก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ 6 อย่างด้วยกัน คือ noise, f stop, time rag, Manual Mode, วัสดุ, สี, ยี่ห้อ
(อันสุดท้ายนี้แถมให้)  หากหาไม่ได้ครบทั้ง 6 ข้อ ก็ไม่ต้องน้อยใจ
เอาเป็นว่าให้รับรู้เอาไว้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจละกันนะครับ

1. Noise

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียวเชียว นั้นก็เพราะว่าในการภาพปลาในตู้นั้น
โดยปกติสภาพแสงในตู้ปลามักจะน้อย ไม่เพียงพอต่อการบันทึกภาพ
ทำให้เราต้องเปิดแฟรชทุกครั้งไป แล้วซื้อกล้องมาทั้งที มาเปิดแฟรชทุกภาพมันจะดีเหรอ จริงมั้ย?

แล้วพอไม่เปิดแฟรช ถ่ายออกมาก็มืดตึ้ดตื๋อ หรือถ้าไม่มืด ภาพก็ไหวเบลอ หรือถ้าไม่มืดไม่เบลอ
ก็มีจะมีไอ้เจ้าเม็ด noise นี่แหล่ะขึ้นมาบานเลย ลักษณะเป็นเม็ดสีแดง/เขียว/น้ำเงิน
ขึ้นมาระยิบระยับไปทั้งภาพ ดูแล้วรำคาญลูกกะตาดำมากทีเดียว

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697491_u1_4hFVipEY.jpg)
ต่อให้ถ่ายมาสวยแค่ไหน แต่มี Noise เยอะๆ นี่ก็ไม่ไหวนะ จริงมั้ย?

ซึ่งนอกจากการใช้แฟรชแล้วก็ยังมีวิธีอื่นที่เราจะสามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้คือ

1.1 การ push ค่า ISO ให้สูงขึ้น

การตั้งค่า ISO ให้มีความไวแสงสูงขึ้นนั้นก็เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพในสภาพที่มีแสงน้อยได้
ซึ่งกล้องในท้องตลาดปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะมีค่า ISO ที่ 100-400 เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ซึ่ง ISO 400 นั้นก็ถือว่าเพียงพอต่อการถ่ายรูปปลาในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าให้ดีได้ถึง 800 หรือ 1600
ก็จะไฮโซมากๆ  แต่ไอ้ ISO ที่ว่าเนี่ยมันก็มีเหมือนๆกันทุกอันนั้นแหล่ะ
แต่ไอ้ที่จะต่างกันก็คือ อันไหนจะให้ภาพออกมามี noise น้อยที่สุด  พูดมาตั้งนานสรุปสั้นๆได้ว่า

“กล้องที่ดีที่เหมาะสมในการถ่ายภาพปลานั้นควรจะเป็นกล้องที่มี noise น้อย แม้ในค่า ISO ที่สูงก็ตาม”

1.2 เพิ่มความสว่างให้กับตู้ปลา

หากกล้องของคุณถ่ายที่ ISO 800 หรือ 400 แล้ว noise เยอะมาก
แต่ที่ ISO 200 กลับมีน้อยหรือแทบไม่มี
อีกวิธีที่แนะนำก็คือการติดหลอดไฟเพิ่มให้กับตู้ปลาของคุณ
เอาให้จ้าไปเลย แล้วก็ถ่ายที่ ISO 200 นั้นแหล่ะ

2. เลนส์กับค่ารูรับแสง (f-stop)

ชื่อก็บอกอยู่แล้ว “รูรับแสง” ดังนั้น ยิ่งเลนส์ตัวไหนมีรูรับแสงกว้าง
ก็จะสามารถรับแสงได้มากแม้ในสภาพแสงที่น้อยเฉกเช่นในตู้ปลา
รูรับแสงที่กว้าง = ค่าตัวเลข f-stop ต่ำ  เลขยิ่งต่ำก็ยิ่งดี(ยิ่งแพง)
โดยทั่วไปค่า f-stop (ที่กว้างที่สุด)ของกล้องตามท้องตลาดจะอยู่ที่ 2.8
แต่หากคุณเลือกกล้องที่มีเลนส์ที่มี f กว้างๆ สัก 2.0 หรือ 1.8 ได้ก็จะดีมากๆ ครับ

ถ้าได้เลนส์ที่มี f ต่ำๆ แบบนี้ก็จะดีไม่ใช่น้อย

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697654_u1_KMZeUVor.jpg)

3. Shutter Lag Time

(ของเดิมผู้เขียนใช้คำว่า Time rag ที่ผมดูแล้วน่าจะผิดนะครับ จึงแก้ไขไว้ให้เพื่อป้องกันความสับสน -- บัง)

Shutter Lag Time ก็คือ ค่าเวลาที่กล้องจะสูญเสียไปเมื่อเวลาที่ท่านกด shutter 
ซึ่งกล้องรุ่นเก่าๆมักจะมี Shutter Lag ค่อนข้างมาก
คือ เมื่อเวลาที่ปลาของคุณอยู่ในตำแหน่งและจังหวะที่คุณต้องการ แล้วคุณกด shutter
แต่ปรากฏว่ากว่าที่กล้องจะทำการบันทึกภาพ ปลาก็ว่ายไปอยู่อีกทิศอีกทางซะแล้ว
แต่ในปัจจุบันนี้กล้อง Compact รุ่นใหม่ๆได้ทำการแก้ไขจุดบกพร่องจุดนี้ไปแล้ว
อาจจะไม่เร็วเหมือน D-SLR ที่กดปุ๊ปติดปั๊ป แต่ผมบอกไว้เลยว่า
หากคุณใช้กล้องของคุณจนคุ้นมือแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ คือเราจะกะคำนวณเวลาได้เอง
อาจจะต้องกด shutter ล่วงหน้าก่อนสักเสี้ยววิ เพื่อจะให้ได้ภาพในจุดที่ต้องการ
(แต่หากคุณเป็นคนที่มีประสาทค่อนข้างช้า กดเท่าไหร่ก็ไม่เคยจะทัน ไม่เคยจะได้จังหวะสักที
ผมขอแนะนำกล้อง compact ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คือว่าเป็นกล้องที่มีค่า Shutter Lag น้อยที่สุดในโลก
นั้นก็คือ Ricoh ซึ่งเรื่องนี้เขาขึ้นชื่อมาสักพักแล้ว)

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697841_u1_xIRqdVDf.jpg)
เขาว่ามันกดปุ๊ปติดปั๊ปเลยหล่ะไอ้ตัวเนี่ย

4. Manual Mode

เมื่อกล้องของคุณมีโหมด Manual มันก็จะทำให้การถ่ายภาพปลาของคุณง่ายยิ่งขึ้น
เนื่องจากว่าโดยปกติประโยชน์ของโหมด Manual ก็คือการควบคุมการทำงานของกล้อง
ให้เป็นไปในลักษณะที่เราต้องการ คือจะควบคุมค่าความไวชัตเตอร์ ค่ารูรับแสง ค่า white balance ฯลฯ
เพื่อทำให้ภาพปลาที่คุณถ่ายในแต่ละครั้งมีความสวยงามตามที่คุณต้องการจะให้เป็น
ทั้งความมืดความสว่าง โทนสี ท่วงท่าของปลา ฯลฯ มิใช่ให้กล้องคำนวณให้แบบที่มันอยากจะให้เป็น
(รายละเอียดการตั้งค่าต่างๆ ผมขอเก็บไว้อธิบายในบทที่ 2 ทีเดียวเลยนะครับ
สำหรับคนที่มีกล้องอยู่แล้วแต่ไม่มีโหมด Manual ก็ไม่ต้องน้อยใจนะครับ
เดี๋ยวผมก็จะสอนให้เหมือนกันครับ)

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697881_u1_secoSrIT.jpg)
ยิ่งถ้าได้รูรับแสงกว้างๆ f 1.8 แบบนี้หล่ะก็ยิ่งถ่ายปลาง่ายใหญ่เลยหล่ะ

5. วัสดุที่ใช้ทำกล้อง

เหตุผลก็คือว่ามีบ่อยครั้งที่ผู้ถ่ายใช้กล้องที่เป็นวัสดุผิวมันวาว
ทำให้เกิดภาพของกล้องที่ใช้ถ่ายสะท้อนติดลงไปในภาพที่ถ่ายด้วย
ดังนั้นวัสดุของกล้องควรเป็นวัสดุที่ไม่มีความมันวาว ควรเป็นวัสดุที่ไม่สะท้อนแสง
คงไม่ต้องมาสาธยายให้ฟังนะครับว่าต้องวัสดุนู้นวัสดุนี้ บอกไปก็ปวดหัวจำไม่ได้ซะเปล่า
เอาเป็นว่าถ้าคุณไปลองจับที่ร้านแล้วแล้วคุณก็จะรู้เอง
และอีกอย่างที่อยากจะเสริมให้ก็คือ ความแข็งแรงทนทานของตัวกล้องของวัสดุที่ใช้ทำกล้องด้วย
เมื่อคุณลองจับแล้วก็ลองพิจารณาด้วยเลยนะครับว่ากล้องตัวไหนดูทนทาน หรือดูก๊องแก๊ง
(เรื่องวัสดุนี้ผมยกนิ้วให้ Nikon กับ Olympus เลยครับ ต้องยอมจริงๆ)

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697917_u1_fXgkNt16.jpg)
วัสดุอย่างตัวนี้ก็น่าจะใช้ทนนะผมว่า

6. สีของตัวกล้อง

สีของตัวกล้องก็มีผลครับ บางครั้งกล้องที่มีสีในโทนสว่าง จำพวก บรอนท์ ทอง ฯ
ก็จะทำให้เกิดภาพของกล้องสะท้อนติดลงไปในภาพที่ถ่ายเช่นกัน  ดูแล้วไม่งามตาครับ
แต่ถ้าเราระวังดีๆ ก็อาจะไม่สะท้อนเหมือนกัน แต่บางครั้งมันก็ทำไม่ได้
สภาพแวดล้อมมันบังคับ ฉะนั้นถ้าเลือกได้ก็เลือกสีดำละกันนะครับ
นอกจากจะมีประโยชน์อย่างที่ว่าแล้ว ความเห็นส่วนตัวผมว่ามันดูดีกว่าสีบรอนท์สีทองนะ
ผมว่ามันจะดูเหมือนกล้องระดับ Pro ดีครับ

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697945_u1_EzaKJYzm.jpg)
ตัวนี้ก็น่าสนใจครับ ราคาค่าตัวถือว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

7. ยี่ห้อของกล้อง

ยี่ห้อนั้นสำมะคัญฉะไหน สำคัญมากเหมือนกัน กล่าวคือ
เปรียบกับคุณใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia ที่ซ่อมง่ายขายคล่อง อุปกรณ์เสริมถูกถู๊กถูก
ต่อให้ไปแบตหมดแล้วลืมเอาสายชาร์ตไป รับรองคุณขอใครๆก็มีให้คุณยืมชาร์ตได้ทั่วประเทศ
กับคุณใช้มือถือยี่ห้อแปลกๆ มันก็ย่อมต่างกันจริงมั้ย?
กล้องก็เหมือนกัน ดังนั้นถ้าให้พูดแบบกว้างๆ ยี่ห้อกล้องดิจิตอลที่ผมแนะนำก็มีดังนี้
Canon Nikon Olympus Fuji Kodak เอาเป็นว่าขอเป็นยี่ห้อชั้นนำ
แถวหน้าๆด้านการถ่ายภาพละกันนะ เขามีระบบมีความเป็นมาตรฐานสากล
ส่วนจะเอารุ่นไหนก็คงต้องดูให้ลึกกันอีกที่ มันไม่มียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นพระเจ้าหรอก
ต้องเทียบกันเป็นตัวๆไป

Note : หากคุณเป็นคนที่ไม่ระมัดระวัง ใช้ของหนักมือ เป็นคนไม่ถนอมของ
หรือถนอมแล้วแต่ยังมีเหตุให้ของรักของหวงของท่านมีอันเป็นไปทุกครั้งไป
ก็ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า ถ้ามันเสียหล่ะ ศูนย์ซ่อมอยู่ไหน บริการอย่างไร
ของผมสาวกหนอน (Canon) บริการทุกระดับประทับใจรวดเร็วทันใจอีกต่างหาก
ค่ายนิกร (Nikon) ที่มีนิกไทยก็อาจจะช้ามากหน่อยเป็นอันรู้กัน
(ที่พูดเช่นนี้ขอบอกก่อนว่าไม่ได้รับเงินใครมาเขียน เขียนตามที่เห็นและเป็นอยู่ครับผม
จึงอยากจะมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟังกัน เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ในการตัดสินใจ)

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535697996_u1_4xNwBNQe.jpg)
จำเป็นถึงขนาดต้องใช้ D-SLR เลยมั้ย?

สำหรับบทความในครั้งนี้ผมขอจบลงเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้วไว้พบกันคราวหน้า บทที่2 : The Basics of Aquatic Photographer (https://aqua.c1ub.net/home/index.php?topic=5592.0) ว่าด้วยพื้นฐานการถ่ายรูปปลา การตั้งค่ากล้องต่างๆ ฯลฯ
และสำหรับท่านที่มีข้อสงสัยหรือต้องการจะปรึกษา ผมยินดีนะครับ
เมลล์มาได้เลยครับ snowdogstudio@yahoo.com

(ภาพบางภาพมาจาก dpreview.com)

สุดท้ายถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็แสดงว่าอ่านกันจบแล้ว
ผมอยากจะรบกวนขอ comment กันด้วยนะค้าบบบ
อยากจะทราบ feed back เพื่อน้อมรับนำกลับไปปรับปรุงงานเขียนในภายภาคหน้าอะครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ

(https://aqua.c1ub.net/home/upload/files/1535698007_u1_ZGtCPAIO.jpg)