วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 [12:39:13]

หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ

Disclaimer: บทความ หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ นี้เป็นบทความของคุณ ShOwA สมาชิก pantip.com ที่ลงไว้ในห้องจตุจักรเมื่อ 4 ส.ค. 2548 นะครับ ซึ่งผมเองก็เคยอ่านบทความนี้มาแล้วสมัยที่เริ่มเลี้ยงไม้น้ำได้ไม่นาน พอดีผมไปเปิดเจอแล้วรู้สึกว่ามันก็ยังเป็นความรู้ที่ดีมากอยู่ แม้ว่าเนื้อหาบางส่วน เช่น รุ่นของกล้องจะเก่าไปหมดแล้ว (มี D30 ที่ตอนนี้น่าจะถือว่าเป็นวัตถุโบราณได้ละ [lol01]) แต่ความรู้ในเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพทั่วไปและการถ่ายภาพตู้ปลานั้นยังใช้ได้อยู่ เลยนำมาลงไว้เพื่อป้องกันการสูญหายของบทความดีๆเช่นนี้ครับ -- บัง



หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนเลยว่านี่เป็นการเขียนบทความที่สองของผม
ซึ่งก็อาจมีบางท่านที่อาจจะเคยอ่านบทความแรกที่ผมแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพปลาไปแล้วบางส่วน
ในกระทู้ การถ่ายภาพปลาอะโรวาน่า : คิดก่อนถ่าย ภาค 1

ซึ่งผมเชื่อว่ากระทู้นั้นน่าจะมีประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในระดับกลางถึงระดับสูงมากกว่าผู้ที่อยู่ในระดับขั้นต้น
มาคราวนี้ผมเลยขออาสามาเขียนเริ่มกันตั้งแต่มือใหม่หัดถ่ายกันเลยละกันนะครับ จะได้ปูพื้นให้แน่นๆกันไปเลย



แต่ในที่นี้ผมจะขออธิบายเฉพาะการถ่ายภาพปลาเท่านั้นนะครับ
ไม่ขอเอ่ยถึงพื้นฐานการถ่ายภาพโดยทั่วๆไป
ซึ่งคาดว่าผู้อ่านคงจะได้เคยอ่าน เคยศึกษากันมาบ้างแล้วนะครับ
(หากท่านยังไม่เคยอ่าน กรุณาไปอ่านไปศึกษามาก่อนโดยด่วน
จากนั้นจึงค่อยมาอ่านบทความนี้ มันจึงจะสำริดผล)
เพราะหากจะให้ผมอธิบายถึงเรื่องพื้นฐานต่างๆ คงจะยาวเยิ่นเย้อผิดวัตถุประสงค์ของบทความไป
พร่ำเพ้อมาซะนานเป็นการเสียเวลา ขออนุญาตเริ่มเรื่องกันเลยนะครับ
วันนี้ขอเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อกล้องเลยนะครับ

เลือกกระบี่คู่ใจ

มีคำถามจากผู้เลี้ยงปลาหลายคนถามผมว่า.....“จะซื้อกล้องมาถ่ายรูปปลาสักอัน ซื้ออะไรดี?”
เป็นคำถามยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมาของผมเลย
คำตอบของผมก็คงจะไม่พ้นการถามกลับไปว่าจุดประสงค์ของคุณคืออะไร
คุณต้องตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อน ว่าคุณจะซื้อกล้องสักตัวเนี่ยมันก็เป็นเงินไม่น้อย...

“คุณจะเอามันไปทำอะไร?”



บางคนบอกว่าจะเอามาถ่ายปลาอย่างเดียว จะเอาให้ได้ภาพสวยๆแบบหยาดเยิ้ม
บ้างก็บอกว่าจะเอาแบบที่บอดี้มันสวยๆเท่ห์ๆ แบบที่หยิบขึ้นมาแล้วคนที่เห็นต้องมองว่า
อู้หู! คนนี่โปรแน่ บางคนก็บอกว่าเอามาถ่ายรูปครอบครัว
ถ่ายรูปบุตรท่านหลานเธอที่กำลังอยู่ในวัยแสนซน และก็จะได้เอามาถ่ายปลาด้วย
บางคนก็บอกว่าเอาแค่ถ่ายลงเว็ปได้ก็พอ ไม่ต้องเอาแบบแพงมาก
บางคนก็สนใจกับขนาดและน้ำหนัก บอกว่าเอาตัวเล็กๆ เบาๆ เอาเท่าบัตรเครดิต พกสะดวกดี
และต้องมีรูปร่างหน้าตาดีๆด้วย ฯลฯ ต่างคนก็ต่างจิตใจ
ทั้งเรื่องของการใช้งานและเรื่องของงบประมาณก็เป็นตัวตัดสินใจเลือกรุ่นของกล้อง
ที่คุณจะซื้อมันแล้วหล่ะ  อย่าให้ผมเป็นคนตัดสินใจแทนคุณเลย 
และก็อย่าเห็นว่าคนไหนที่ถ่ายรูปสวยๆ เขาใช้กล้องรุ่นอะไร ก็จะซื้อแบบเขามาใช้บ้าง
นี้ก็เป็นคนอีกพวกหนึ่งที่มีเยอะขึ้นทุกวัน  ผมไม่ได้ว่ารุ่นที่คุณซื้อมามันไม่ดีนะ
แต่อยากให้ทุกท่านได้พิจารณาให้เหมาะสมกับตัวท่านมากกว่า

ใช้ทำอะไร / งบประมาณเท่าไหร่ / ขนาด-น้ำหนักแค่ไหน / รูปร่างหน้าตาอย่างไร

“ซื้อกล้องถูกใจ สบายใจไปหลายปี”

เชื่อผมสิ เพราะหากคุณมัวมาไล่ล่าตามเทคโนโลยีของโลกยุคดิจิตอล
นอกจากกระเป๋าคุณจะฉีกแล้ว มันยังเสียเวลาอีกด้วย
(แต่ถ้าคุณมีเงินเหลือผมก็ไม่ว่าอะไรคุณหรอกนะ แต่ผมไม่อยากให้ใช้เงินกันอย่างฟุ้มเฟือย
ยุคนี้ด้วย ยุคน้ำแพง เราควรจะประหยัดกันสักหน่อย
หากคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้กล้องหลายตัว หรือใช้มันสร้างรายได้
ซื้อตัวเดียวใช้ไปได้นานทีเดียวเชียวหล่ะ) ที่ว่าเสียเวลา มันเสียยังไงนะเหรอ
เพราะมันจะทำให้คุณไม่มีเวลามาตั้งใจศึกษาการถ่ายภาพอย่างจริงจังสักที
เดี๋ยวก็จะอ้างว่าอุปกรณ์ไม่ดี ตกรุ่น สารพัดจะอ้าง ฯลฯ
อุปกรณ์ต่างๆ จะมาทำให้คุณเขวกับเป้าหมายที่แท้จริงของการถ่ายรูป


Canon D30 ที่แสนจะสุดไฮเทค (แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้วนะ 555)

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง เมื่อ 6 ปีก่อน ผมซื้อกล้อง D-SLR ตัวแรกของ Canon เป็นรุ่น D30
ตอนนั้นราคาแสนกว่าบาท กับภาพความละเอียด 3 ล้านพิกเซลที่สุดจะเท่ห์นำสมัยมากๆสมัยนั้น
จะหาชมตัวเป็นๆนี่ไม่ได้หาชมง่ายๆแบบสมัยนี้นะครับ ถ้าจะดูต้องไปขอลูบคลำตามสตูดิโอ
คนใช้ทั่วไปไม่มีใครบ้าซื้อมาถ่ายหมู-หมา-กา-ไก่(ปลา)เล่นๆแบบผมหรอก.....แล้วไง...
มาตอนนี้เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก D30 ตอนนี้ขายทิ้งกันไม่ถึงหมื่นห้า
แถมยังไม่มีใครซื้อด้วย พวกบอกเพิ่มอีก 5 พันดีกว่า ได้ 300D
แต่ผมจะบอกให้ ให้ผมเอา D30 มาถ่ายแข่งกับ 20D หรือกล้องอื่น ผมว่าผมก็ทำได้
เพียงแต่คุณต้องเค้นความสามารถมันออกมา
ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้จะบอกว่ากล้องรุ่นชั้นดีอย่าง 20D
จะถ่ายออกมาสวยเท่ากับกล้องรุ่นเก่าอย่าง D30 นะครับ
แต่จะบอกให้ในฐานะที่ผมโดนมาเยอะแล้ว ทั้ง 30D, 60D, 10D, 300D, 20D ฯลฯ
ผมจะบอกให้ว่ามันไม่ต่างเลยยยยย ----> หากคุณใช้งานในระดับทั่วไป


อย่าไปยึดติดกับอุปกรณ์เป็นหลัก มันไม่ใช่แก่นแท้ (รูปนี้ถ่ายจากมือถือ)

ส่วนใหญ่คนที่ชอบถ่ายภาพมัวแต่มาสนใจตัวกล้องเรื่องอุปกรณ์เป็นหลัก ลืมนึกถึงแก่นแท้ ซึ่งก็คือ “การถ่ายรูป”
ผมจะบอกให้ กล้องทุกตัวมันมีค่า อย่าดูถูกกล้องราคาถูก
หลายคนชอบเรียกมันว่ากล้องปัญญาอ่อน ผมขอนะครับกลับคำพูดเถอะครับ
มันไม่ปัญญาอ่อนหรอก มันมีดีมากกว่าที่คุณคิดไว้เยอะเลย
คุณนั้นแหล่ะที่ไม่มีความสามารถพอที่จะถ่ายทอดประสิทธิภาพของมันออกมาได้ต่างหากหล่ะ
คุณนั้นแหล่ะที่ผิด กล้องมันไม่ผิดอะไรสักหน่อย ไม่รู้ทำไมชอบไปว่ามันกันจัง  ฮือๆ น่าฉงฉาน

กล้องอะไรก็ถ่ายได้ครับ ขอเพียงคุณจะต้องเรียนรู้มัน



เอางี้..เอาว่า...ถ้าตอนนี้ใครที่มีกล้องดิจิตอลอยู่แล้วไม่ว่าจะเก่าจะโบราณแค่ไหน...
มา...เดี๋ยวผมจะสอนคุณถ่ายแบบงามๆเอง  ยัง...ยังไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออันใหม่
ส่วนสำหรับผู้ที่ยังไม่มีก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อยนะครับ

ย้อนกลับมาว่า เมื่อเรารู้คำตอบแล้วว่าเราจะเอากล้องมาทำอะไร งบเท่าไหร่
คราวนี้สิ่งที่คุณควรจะรู้ต่อไปก็คือ พื้นฐานของกล้องที่เหมาะสมกับการถ่ายรูปปลานั้นมีอะไรบ้าง
หลักๆก็มีสิ่งที่ต้องพิจารณาอยู่ 6 อย่างด้วยกัน คือ noise, f stop, time rag, Manual Mode, วัสดุ, สี, ยี่ห้อ
(อันสุดท้ายนี้แถมให้)  หากหาไม่ได้ครบทั้ง 6 ข้อ ก็ไม่ต้องน้อยใจ
เอาเป็นว่าให้รับรู้เอาไว้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจละกันนะครับ

1. Noise

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียวเชียว นั้นก็เพราะว่าในการภาพปลาในตู้นั้น
โดยปกติสภาพแสงในตู้ปลามักจะน้อย ไม่เพียงพอต่อการบันทึกภาพ
ทำให้เราต้องเปิดแฟรชทุกครั้งไป แล้วซื้อกล้องมาทั้งที มาเปิดแฟรชทุกภาพมันจะดีเหรอ จริงมั้ย?

แล้วพอไม่เปิดแฟรช ถ่ายออกมาก็มืดตึ้ดตื๋อ หรือถ้าไม่มืด ภาพก็ไหวเบลอ หรือถ้าไม่มืดไม่เบลอ
ก็มีจะมีไอ้เจ้าเม็ด noise นี่แหล่ะขึ้นมาบานเลย ลักษณะเป็นเม็ดสีแดง/เขียว/น้ำเงิน
ขึ้นมาระยิบระยับไปทั้งภาพ ดูแล้วรำคาญลูกกะตาดำมากทีเดียว


ต่อให้ถ่ายมาสวยแค่ไหน แต่มี Noise เยอะๆ นี่ก็ไม่ไหวนะ จริงมั้ย?

ซึ่งนอกจากการใช้แฟรชแล้วก็ยังมีวิธีอื่นที่เราจะสามารถทำได้ 2 วิธีดังนี้คือ

1.1 การ push ค่า ISO ให้สูงขึ้น

การตั้งค่า ISO ให้มีความไวแสงสูงขึ้นนั้นก็เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพในสภาพที่มีแสงน้อยได้
ซึ่งกล้องในท้องตลาดปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะมีค่า ISO ที่ 100-400 เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ซึ่ง ISO 400 นั้นก็ถือว่าเพียงพอต่อการถ่ายรูปปลาในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าให้ดีได้ถึง 800 หรือ 1600
ก็จะไฮโซมากๆ  แต่ไอ้ ISO ที่ว่าเนี่ยมันก็มีเหมือนๆกันทุกอันนั้นแหล่ะ
แต่ไอ้ที่จะต่างกันก็คือ อันไหนจะให้ภาพออกมามี noise น้อยที่สุด  พูดมาตั้งนานสรุปสั้นๆได้ว่า

“กล้องที่ดีที่เหมาะสมในการถ่ายภาพปลานั้นควรจะเป็นกล้องที่มี noise น้อย แม้ในค่า ISO ที่สูงก็ตาม”

1.2 เพิ่มความสว่างให้กับตู้ปลา

หากกล้องของคุณถ่ายที่ ISO 800 หรือ 400 แล้ว noise เยอะมาก
แต่ที่ ISO 200 กลับมีน้อยหรือแทบไม่มี
อีกวิธีที่แนะนำก็คือการติดหลอดไฟเพิ่มให้กับตู้ปลาของคุณ
เอาให้จ้าไปเลย แล้วก็ถ่ายที่ ISO 200 นั้นแหล่ะ

2. เลนส์กับค่ารูรับแสง (f-stop)

ชื่อก็บอกอยู่แล้ว “รูรับแสง” ดังนั้น ยิ่งเลนส์ตัวไหนมีรูรับแสงกว้าง
ก็จะสามารถรับแสงได้มากแม้ในสภาพแสงที่น้อยเฉกเช่นในตู้ปลา
รูรับแสงที่กว้าง = ค่าตัวเลข f-stop ต่ำ  เลขยิ่งต่ำก็ยิ่งดี(ยิ่งแพง)
โดยทั่วไปค่า f-stop (ที่กว้างที่สุด)ของกล้องตามท้องตลาดจะอยู่ที่ 2.8
แต่หากคุณเลือกกล้องที่มีเลนส์ที่มี f กว้างๆ สัก 2.0 หรือ 1.8 ได้ก็จะดีมากๆ ครับ

ถ้าได้เลนส์ที่มี f ต่ำๆ แบบนี้ก็จะดีไม่ใช่น้อย



3. Shutter Lag Time

(ของเดิมผู้เขียนใช้คำว่า Time rag ที่ผมดูแล้วน่าจะผิดนะครับ จึงแก้ไขไว้ให้เพื่อป้องกันความสับสน -- บัง)

Shutter Lag Time ก็คือ ค่าเวลาที่กล้องจะสูญเสียไปเมื่อเวลาที่ท่านกด shutter 
ซึ่งกล้องรุ่นเก่าๆมักจะมี Shutter Lag ค่อนข้างมาก
คือ เมื่อเวลาที่ปลาของคุณอยู่ในตำแหน่งและจังหวะที่คุณต้องการ แล้วคุณกด shutter
แต่ปรากฏว่ากว่าที่กล้องจะทำการบันทึกภาพ ปลาก็ว่ายไปอยู่อีกทิศอีกทางซะแล้ว
แต่ในปัจจุบันนี้กล้อง Compact รุ่นใหม่ๆได้ทำการแก้ไขจุดบกพร่องจุดนี้ไปแล้ว
อาจจะไม่เร็วเหมือน D-SLR ที่กดปุ๊ปติดปั๊ป แต่ผมบอกไว้เลยว่า
หากคุณใช้กล้องของคุณจนคุ้นมือแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ คือเราจะกะคำนวณเวลาได้เอง
อาจจะต้องกด shutter ล่วงหน้าก่อนสักเสี้ยววิ เพื่อจะให้ได้ภาพในจุดที่ต้องการ
(แต่หากคุณเป็นคนที่มีประสาทค่อนข้างช้า กดเท่าไหร่ก็ไม่เคยจะทัน ไม่เคยจะได้จังหวะสักที
ผมขอแนะนำกล้อง compact ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คือว่าเป็นกล้องที่มีค่า Shutter Lag น้อยที่สุดในโลก
นั้นก็คือ Ricoh ซึ่งเรื่องนี้เขาขึ้นชื่อมาสักพักแล้ว)


เขาว่ามันกดปุ๊ปติดปั๊ปเลยหล่ะไอ้ตัวเนี่ย

4. Manual Mode

เมื่อกล้องของคุณมีโหมด Manual มันก็จะทำให้การถ่ายภาพปลาของคุณง่ายยิ่งขึ้น
เนื่องจากว่าโดยปกติประโยชน์ของโหมด Manual ก็คือการควบคุมการทำงานของกล้อง
ให้เป็นไปในลักษณะที่เราต้องการ คือจะควบคุมค่าความไวชัตเตอร์ ค่ารูรับแสง ค่า white balance ฯลฯ
เพื่อทำให้ภาพปลาที่คุณถ่ายในแต่ละครั้งมีความสวยงามตามที่คุณต้องการจะให้เป็น
ทั้งความมืดความสว่าง โทนสี ท่วงท่าของปลา ฯลฯ มิใช่ให้กล้องคำนวณให้แบบที่มันอยากจะให้เป็น
(รายละเอียดการตั้งค่าต่างๆ ผมขอเก็บไว้อธิบายในบทที่ 2 ทีเดียวเลยนะครับ
สำหรับคนที่มีกล้องอยู่แล้วแต่ไม่มีโหมด Manual ก็ไม่ต้องน้อยใจนะครับ
เดี๋ยวผมก็จะสอนให้เหมือนกันครับ)


ยิ่งถ้าได้รูรับแสงกว้างๆ f 1.8 แบบนี้หล่ะก็ยิ่งถ่ายปลาง่ายใหญ่เลยหล่ะ

5. วัสดุที่ใช้ทำกล้อง

เหตุผลก็คือว่ามีบ่อยครั้งที่ผู้ถ่ายใช้กล้องที่เป็นวัสดุผิวมันวาว
ทำให้เกิดภาพของกล้องที่ใช้ถ่ายสะท้อนติดลงไปในภาพที่ถ่ายด้วย
ดังนั้นวัสดุของกล้องควรเป็นวัสดุที่ไม่มีความมันวาว ควรเป็นวัสดุที่ไม่สะท้อนแสง
คงไม่ต้องมาสาธยายให้ฟังนะครับว่าต้องวัสดุนู้นวัสดุนี้ บอกไปก็ปวดหัวจำไม่ได้ซะเปล่า
เอาเป็นว่าถ้าคุณไปลองจับที่ร้านแล้วแล้วคุณก็จะรู้เอง
และอีกอย่างที่อยากจะเสริมให้ก็คือ ความแข็งแรงทนทานของตัวกล้องของวัสดุที่ใช้ทำกล้องด้วย
เมื่อคุณลองจับแล้วก็ลองพิจารณาด้วยเลยนะครับว่ากล้องตัวไหนดูทนทาน หรือดูก๊องแก๊ง
(เรื่องวัสดุนี้ผมยกนิ้วให้ Nikon กับ Olympus เลยครับ ต้องยอมจริงๆ)


วัสดุอย่างตัวนี้ก็น่าจะใช้ทนนะผมว่า

6. สีของตัวกล้อง

สีของตัวกล้องก็มีผลครับ บางครั้งกล้องที่มีสีในโทนสว่าง จำพวก บรอนท์ ทอง ฯ
ก็จะทำให้เกิดภาพของกล้องสะท้อนติดลงไปในภาพที่ถ่ายเช่นกัน  ดูแล้วไม่งามตาครับ
แต่ถ้าเราระวังดีๆ ก็อาจะไม่สะท้อนเหมือนกัน แต่บางครั้งมันก็ทำไม่ได้
สภาพแวดล้อมมันบังคับ ฉะนั้นถ้าเลือกได้ก็เลือกสีดำละกันนะครับ
นอกจากจะมีประโยชน์อย่างที่ว่าแล้ว ความเห็นส่วนตัวผมว่ามันดูดีกว่าสีบรอนท์สีทองนะ
ผมว่ามันจะดูเหมือนกล้องระดับ Pro ดีครับ


ตัวนี้ก็น่าสนใจครับ ราคาค่าตัวถือว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

7. ยี่ห้อของกล้อง

ยี่ห้อนั้นสำมะคัญฉะไหน สำคัญมากเหมือนกัน กล่าวคือ
เปรียบกับคุณใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia ที่ซ่อมง่ายขายคล่อง อุปกรณ์เสริมถูกถู๊กถูก
ต่อให้ไปแบตหมดแล้วลืมเอาสายชาร์ตไป รับรองคุณขอใครๆก็มีให้คุณยืมชาร์ตได้ทั่วประเทศ
กับคุณใช้มือถือยี่ห้อแปลกๆ มันก็ย่อมต่างกันจริงมั้ย?
กล้องก็เหมือนกัน ดังนั้นถ้าให้พูดแบบกว้างๆ ยี่ห้อกล้องดิจิตอลที่ผมแนะนำก็มีดังนี้
Canon Nikon Olympus Fuji Kodak เอาเป็นว่าขอเป็นยี่ห้อชั้นนำ
แถวหน้าๆด้านการถ่ายภาพละกันนะ เขามีระบบมีความเป็นมาตรฐานสากล
ส่วนจะเอารุ่นไหนก็คงต้องดูให้ลึกกันอีกที่ มันไม่มียี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นพระเจ้าหรอก
ต้องเทียบกันเป็นตัวๆไป

Note : หากคุณเป็นคนที่ไม่ระมัดระวัง ใช้ของหนักมือ เป็นคนไม่ถนอมของ
หรือถนอมแล้วแต่ยังมีเหตุให้ของรักของหวงของท่านมีอันเป็นไปทุกครั้งไป
ก็ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า ถ้ามันเสียหล่ะ ศูนย์ซ่อมอยู่ไหน บริการอย่างไร
ของผมสาวกหนอน (Canon) บริการทุกระดับประทับใจรวดเร็วทันใจอีกต่างหาก
ค่ายนิกร (Nikon) ที่มีนิกไทยก็อาจจะช้ามากหน่อยเป็นอันรู้กัน
(ที่พูดเช่นนี้ขอบอกก่อนว่าไม่ได้รับเงินใครมาเขียน เขียนตามที่เห็นและเป็นอยู่ครับผม
จึงอยากจะมาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟังกัน เชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์ในการตัดสินใจ)


จำเป็นถึงขนาดต้องใช้ D-SLR เลยมั้ย?

สำหรับบทความในครั้งนี้ผมขอจบลงเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
แล้วไว้พบกันคราวหน้า บทที่2 : The Basics of Aquatic Photographer ว่าด้วยพื้นฐานการถ่ายรูปปลา การตั้งค่ากล้องต่างๆ ฯลฯ
และสำหรับท่านที่มีข้อสงสัยหรือต้องการจะปรึกษา ผมยินดีนะครับ
เมลล์มาได้เลยครับ snowdogstudio@yahoo.com

(ภาพบางภาพมาจาก dpreview.com)

สุดท้ายถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็แสดงว่าอ่านกันจบแล้ว
ผมอยากจะรบกวนขอ comment กันด้วยนะค้าบบบ
อยากจะทราบ feed back เพื่อน้อมรับนำกลับไปปรับปรุงงานเขียนในภายภาคหน้าอะครับ
ขอบคุณล่วงหน้าครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/08/2561 [14:45:17] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)