วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567 [05:54:23]

พ109 ตะไคร่ การป้องกันและกำจัด

ที่ใดที่มีน้ำ แสง และสารอาหาร ที่นั่นจะมีตะไคร่ - ขงเบ้งไม่ได้กล่าวไว้  [perv03]

ตะไคร่! ปัญหาโลกแตกของผู้เลี้ยงไม้น้ำทั่วทุกหัวระแหง อุปสรรคสำคัญของความสวยงาม ถึงขนาดทำให้ตู้ล่มได้ง่ายๆ

ตะไคร่สามารถอพยพลักลอบข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายเข้าสู่ตู้แสนสวยของเราได้หลายทาง ตั้งแต่มากับน้ำประปาที่เราเติมในตู้ ติดมากับต้นไม้ ก้อนหิน ขอนไม้ เป็นสปอร์หรือชิ้นส่วนลอยปะปนมาในน้ำที่ใส่ในถุงปลา แม้แต่ติดมาในลำไส้ของปลามันก็มาได้!

ผลเสียหลักๆของตะไคร่ก็คือ "ความสวยงาม" เพราะตะไคร่ 99.99% "หน้าตาจัญไร" ดูไม่สวยงาม
นอกจากนั้นมันยังชอบไปเกาะกับต้นไม้ แย่งพื้นที่ทำให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงไม่ได้ หรือทำได้ลำบาก
ในบทความนี้ เราจะมาดูกันตั้งแต่การแยกประเภทตะไคร่ สาเหตุ การกำจัด และการควบคุม รวมถึงวิธีการใช้ยาและสัตว์ช่วยเหลือต่างๆกันครับ

แต่ต้องขอชี้แจงไว้ก่อนว่า

การจำแนกชนิดของตะไคร่ค่อนข้างทำได้ยาก ด้วยขนาดของตัวตะไคร่ที่ค่อนข้างเล็ก และหลายชนิดมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ทำให้จำแนกประเภทได้ยาก แต่ก็จะมีวิธีควบคุมและกำจัดคล้ายๆกัน

สาเหตุของตะไคร่ บางครั้งก็ไม่แน่นอน ปัญหาตะไคร่บางครั้งมันก็มีปัจจัยอะไรที่ลึกล้ำไปมากกว่าที่มนุษย์ได้ศึกษาเอาไว้ สาเหตุของตะไคร่ที่อยู่ในบทความนี้ เป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากแหล่งต่างๆที่พิจารณาแล้วว่าพอเชื่อถือได้ รวมกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน จึงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป แต่ก็สามารถใช้เป็นแนวทางพิจารณาหาสาเหตุที่แท้จริงได้ ผู้เขียนจึงต้องขอขออภัยล่วงหน้าหากมีข้อผิดพลาดใดๆเกิดขึ้น

สาเหตุของตะไคร่


ไม่มีจุลชีพที่มีประโยชน์มากพอในระบบ

สิ่งที่จะจุดชนวนทำให้ตะไคร่มา หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "Trigger" นั้น คือสารอินทรีย์ต่างๆที่ละลายในน้ำในปริมาณที่มากเกินไป
สารอินทรีย์ที่ว่านั้นคือสารแบบ "แอมโมเนีย" และ "ไนไตรท์" ที่ยังไม่ถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียให้กลายเป็น "ไนเตรท" ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อระบบกรองยังไม่เข้าที่ ยังไม่มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์มากพอจะบำบัดน้ำ ทำให้มักจะมีระดับแอมโมเนียและไนไตรท์สูง และเป็นตัวกระตุ้นให้ตะไคร่เจริญเติบโตได้ดี ซึ่งตะไคร่จะอยู่ในสภาพน้ำแบบนี้ได้ดีกว่าพืชชั้นสูงอย่างไม้น้ำชนิดต่างๆ และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ในตู้ตั้งใหม่ที่ระบบกรองยังไม่เซ็ตตัว

ส่วนไนเตรท (NO3) ที่เหลือจากระบบกรองที่สมบูรณ์นั้น เป็นสารที่ทั้งพืชและตะไคร่ต้องการก็จริง แต่พืชชั้นสูงจะใช้ไนเตรทได้เร็วกว่าตะไคร่มาก และเจริญเติบโดได้อย่างรวดเร็วในสภาวะที่มีไนเตรทมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการให้ CO2 อย่างเพียงพอ การเลือกติดตั้งและดูแลระบบกรองจึงสำคัญอย่างมากกับการควบคุมตะไคร่ในตู้ไม้น้ำ


น้ำมีระดับออกซิเจนต่ำเกินไป

การมีระดับออกซิเจนที่ต่ำเกินไปทำให้แบคทีเรียที่ดีในระบบกรองไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หรือจะเรียกง่ายๆว่ามันขาดอากาศหายใจก็ได้ ซึ่งบางครั้งถ้าออกซิเจนในน้ำมีน้อยมากๆ ก็ทำให้แบคทีเรียตายมากจนระบบกรองล่มได้เลย เมื่อแบคทีเรียทำงานได้ไม่ดี หรือตายห่านไปเสียแล้ว แอมโมเนียกับไนไตรท์ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และเกิดอาการแบบเดียวกับสาเหตุอันแรก

ภาวะออกซิเจนต่ำเกิดขึ้นได้บ่อยในตู้ที่มีการไหลเวียนของผิวน้ำต่ำ (น้ำที่ผิวน้ำด้านบนนิ่งเกินไป) โดยเฉพาะในตอนกลางคืนและเวลาที่อากาศเย็นที่ออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อย บางครั้งจะเห็นปลาและกุ้งขึ้นไปออกันอยู่บริเวณผิวน้ำ ซึ่งเป็นสัญญาณของการขาดออกซิเจน

การเพิ่มการไหลเวียนที่ผิวน้ำทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนของก๊าซระหว่างน้ำกับอากาศมากขึ้น สามารถทำได้ง่ายๆด้วยการจัดท่อน้ำออกจากกรองให้อยู่ใกล้หรือสูงกว่าระดับผิวน้ำในตู้เล็กน้อย จะทำให้ผิวน้ำมีการเคลื่อนไหว แตกกระเซ็น และเพิ่มระดับออกซิเจนในน้ำได้ แต่เมื่อเพิ่มระดับการแลกเปลี่ยนก๊าซแล้ว คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เราใส่ลงไปในตู้ก็จะหายไปกับอากาศได้เร็วขึ้นด้วย จึงควรปรับการไหลเวียนของผิวน้ำให้พอเหมาะ

การใช้ปั๊มลมเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็ต้องระวังเรื่องการสูญเสีย CO2 เช่นกัน จึงควรใช้ต่อเมื่อตู้มีอาการขาดออกซิเจนให้เห็นชัดเจน หรือใช้เฉพาะตอนกลางคืนหลังปิดไฟที่ต้นไม้ไม่ได้สังเคราะห์แสงและไม่ได้ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว

ในช่วงหน้าร้อนหรือในตู้ที่น้ำมีอุณหภูมิสูง แบคทีเรียในระบบจะมีการทำงานมากกว่าปกติ ทำให้มีความต้องการใช้ออกซิเจนมากกว่า จึงควรจะเพิ่มระดับการไหลเวียนที่ผิวน้ำให้มากกว่าปกติด้วย


ตู้มีการไหลเวียนของน้ำไม่มากพอ

ตู้ที่มีระดับการไหลเวียนของน้ำไม่มากพอ จะไม่สามารถพา CO2 และสารอาหารต่างๆไปให้ต้นไม้ได้เพียงพอ และทำให้แบคทีเรียในระบบกรองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยทั่วไปจะแนะนำให้เลือกใช้ปั๊มของระบบกรองที่มีอัตราการไหลเวียน (Flow rate) ใน 1 ชั่วโมงที่ 2-4 เท่าของปริมาตรน้ำในตู้ เช่น ตู้คุณมีปริมาตรน้ำ 80 ลิตร ก็ต้องใช้กรองนอกที่อัตราการไหลเวียนของน้ำ 160-320 ลิตรต่อชั่วโมง

ความไม่สมดุลระหว่างแสงสว่าง คาร์บอนไดออกไซด์ และสารอาหาร

พืชต้องใช้ปัจจัยทั้งสามตัวนี้ในการสังเคราะห์แสงอย่างสัมพันธ์กัน หากมีแสงสว่างมาก พืชก็จะต้องการ CO2 และสารอาหาร (ปุ๋ย) มากขึ้นไปด้วย หากปัจจัยทั้งสามนี้ไม่สมดุลกัน พืชก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่และอ่อนแอ เปิดช่องว่างให้ตะไคร่เข้ายึดพื้นที่ทำกินได้โดยง่าย

ที่จะเจอกันบ่อยๆก็คือ ไฟแรงเกินไป คือแสงมีความเข้มข้นเกินไป ปริมาณมากเกินไป ไม่สมดุลกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ตู้ที่ไฟแรง แต่ไม่มี CO2 หรือเปิดน้อยเกินไป หรือ CO2 ละลายได้ไม่ดี ก็ต้องแก้ไขโดยการปรับปัจจัยเหล่านี้ให้ได้สมดุลกัน อ่านเพิ่มเติมได้ใน พ103 แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ

สำหรับ CO2 นั้น เราสามารถวัดปริมาณที่ละลายในน้ำได้ง่ายๆด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Drop Checker

แต่การวัดระดับสารอาหารนี่สิที่ยาก โดยเฉพาะกับผู้เลี้ยงทั่วๆไปที่ไม่มีความพยายามมากพอในการใช้ชุดตรวจวัดไนเตรท ฟอสเฟตอันยุ่งยากและราคาแพงพอสมควร
ทำให้ผู้เลี้ยงส่วนมากจะใช้วิธีเซ็ตแสงและ CO2 ให้ได้ตามต้องการ แล้วใส่ปุ๋ยน้ำตามฉลากโดยไม่ได้วัดปริมาณแร่ธาตุแต่ละตัว แต่ส่วนมากแล้วไม้น้ำมักจะไม่ได้เรื่องมากบ้าเป๊ะอะไรนัก ขอแค่ระดับปัจจัยทั้งสามพอที่จะกล้อมแกล้มไปได้ มันก็เจริญเติบโตได้เหมือนกัน และเมื่อไม้น้ำของเราเติบโตได้ดีเมื่อไหร่ ตะไคร่ก็มักจะหายไปเอง

ไม้น้ำอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง

ปริมาณของตะไคร่ในตู้ไม้น้ำจะสัมพันธ์กับปริมาณของพืช คือถ้าตะไคร่เยอะไม้น้ำจะตาย หรือลดจำนวนลงไป ถ้าไม้น้ำเยอะ ตะไคร่จะลดปริมาณลง
ที่เป็นแบบนี้เพราะทั้งตะไคร่และพืชน้ำต่างก็ต้องการปัจจัยในการดำรงชีพที่เหมือนๆกันคือสารอาหาร เช่น NPK ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และแสงสว่าง
ทั้งสองฝั่งจึงแย่งปัจจัยเหล่านี้กันอยู่ตลอดเวลา ฝั่งไหนกำลังเล่นดี ฟอร์มสดกว่า ก็ได้เปรียบไป

ปริมาณธาตุอาหารหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม หรือที่เรียกว่า Macro Nutrients และสารอาหารรอง Micro Nutrients อื่นๆจึงสำคัญมากในการเจริญเติบโตของพืช และสำคัญมากพอๆกันในการรับมือกับตะไคร่ เพราะถ้าต้นไม้โตได้ดี ตะไคร่ก็จะหายไปเอง ตามกลไกทางธรรมชาติ

ในทางกลับกัน เมื่อไม้น้ำอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง ตะไคร่ก็จะเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ตู้ของหลายๆท่านเต็มไปด้วยตะไคร่
และพอมีตะไคร่ ผู้เลี้ยงหลายท่านก็มักจะไม่กล้าใส่ปุ๋ย เพราะติดความเชื่อเก่าๆที่คิดว่าใส่ปุ๋ยเยอะแล้วตะไคร่ขึ้น ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่ที่ทำให้ตะไคร่ขึ้นนั้นไม่ใช่ปริมาณแร่ธาตุที่มากเกินไป แต่เป็นปริมาณแร่ธาตุ "บางตัว" ที่มากเกินไปจนเสียสมดุลต่างหาก ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะเป็นไนเตรทกับฟอสเฟต ที่มาจากการย่อยสลายของอาหารปลาและซากใบไม้ภายในตู้ ทำให้ปริมาณไม่สมดุลกับแร่ธาตุอื่นๆ และทำให้พืชเติบโตได้ไม่ดี เปิดโอกาสให้ตะไคร่เข้ามาแทนที่

แล้วเราจะทำยังไงให้ปริมาณแร่ธาตุมันกลับมาได้สมดุลอีกครั้ง? ก็ง่ายๆคือ การเปลี่ยนน้ำนั่นเองครับ การเปลี่ยนน้ำจะคล้ายๆการรีเซ็ตระบบ โดยการนำแร่ธาตุส่วนหนึ่งออกไปพร้อมๆกับน้ำ ทำให้ปริมาณแร่ธาตุในตู้เจือจางลง หลังจากนั้นเราก็ใส่ปุ๋ยน้ำกลับเข้าไปอีก เพื่อให้สัดส่วนของแร่ธาตุในน้ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะผู้ผลิตปุ๋ยน้ำแต่ละยี่ห้อก็จะมีการคำนวณสัดส่วนของแร่ธาตุต่างๆมาแล้ว ทำให้เราไม่ต้องไปกังวลกับมันมาก แค่เอาน้ำเปล่าๆไปแทนที่น้ำเสียของเดิมแล้วใส่ปุ๋ยน้ำปริมาณตามบนฉลากเท่านั้น ก็ปรับปริมาณแร่ธาตุให้กลับมาได้สมดุลเหมือนเดิมได้แล้ว หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกว่าเดิม อาจจะต้องทำซ้ำอีกสักสองสามครั้ง

มีสัตว์ช่วยควบคุมตะไคร่ไม่เพียงพอ

สัตว์น้ำที่กินตะไคร่เป็นอาหารนั้นคือศัตรูทางธรรมชาติของตะไคร่โดยกำเนิด เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะทำให้ตู้ไม้น้ำปราศจากตะไคร่ (หรือมีน้อยมากๆ) เพราะสัตว์น้ำเหล่านี้จะคอยกินตะไคร่อยู่ตลอดทั้งวัน ทำให้ปริมาณของตะไคร่ถูกลดจำนวนลงตลอดเวลา เป็นหนึ่งในวิธีการควบคุมปริมาณตะไคร่ที่ง่ายมากๆ แถมยังไม่เหนื่อยเราอีกต่างหาก ผมจึงแนะนำให้แต่ละตู้มีสัตว์กินตะไคร่อย่างเพียงพอและครอบคลุมชนิดของตะไคร่ ลงไปก่อนที่ตะไคร่จะมา ลงไปตั้งแต่เริ่มตั้งตู้เลยยิ่งดี เพราะจะควบคุมปริมาณตะไคร่ได้ดีกว่าเอาลงไปตอนที่ตะไคร่เยอะแล้ว



รายชื่อตะไคร่




มาตรการควบคุมตะไคร่


สัตว์กินตะไคร่

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีทางหนึ่ง ที่นิยมใช้กันก็จะเป็น กุ้งยามาโตะ ปลาตะกรับหน้าแดง หอย Nerite ชนิดต่างๆ (หอยเขา หอยม้าลาย หอยฟักทอง หอยหมวกทหาร) ไม่ต้องไปใช้ตัวอะไรเลิศหรู ปลาสอดกากๆ กุ้งแคระทุกชนิด ทุกสี กินตะไคร่หมดครับ แม้แต่เชอรี่ก็กินตะไคร่ได้ดีครับ เชอรี่สีจืดๆตัวละบาทก็ได้

แต่หลายตู้แม้จะมีสัตว์กินตะไคร่เก่งๆอย่าง กุ้งยามาโตะ และ ปลาตะกรับหน้าแดง แต่ทำไมก็ยังมีตะไคร่อยู่ดี?

เพราะตะไคร่มันมากเกินไปไงครับ [lol01] สัตว์น้ำเหล่านี้ถึงจะกินเก่งยังไงก็สู้พลังการขยายพันธุ์ของตะไคร่ในสภาวะเหมาะๆไม่ได้ กินไม่ทันอยู่ดี เพราะแต่ละตัวก็ตัวเล็กนิดเดียว จะไปกินได้มากมายขนาดไหนกัน เอาลงไปเยอะๆ แทนที่จะกินตะไคร่ได้เยอะกว่าเดิม กลับกลายเป็นลงไปช่วยกันขี้ ทำให้น้ำเสียไปมากกว่าเดิมเสียอีก

ดังนั้นการใช้สัตว์กินตะไคร่ จึงต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมและกำจัดตะไคร่อื่นๆไปพร้อมๆกัน จึงจะได้ผลดี

Black Out

โดยการปิดไฟตู้ และเอาถุงดำหรือวัสดุทึบแสงอื่นๆคลุมตู้เอาไว้เป็นเวลา 3-7 วัน โดยไม่ให้ภายในตู้มีแสงสว่างเลย ซึ่งจะทำให้ตะไคร่ที่สะสมอาหารไว้ได้น้อยกว่าพืชชั้นสูงนั้นตายไปก่อนที่พืชอื่นๆจะตาย เป็นวิธีการกำจัดตะไคร่วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีกับตะไคร่ฝอยๆเนื้ออ่อนๆและตะไคร่น้ำเขียว ระหว่างที่คลุมตู้ให้แอบแง้มดูทุก 1-2 วันเพื่อดูว่าตะไคร่ตายหมดแล้วหรือลดจำนวนลงจนเป็นที่น่าพอใจแล้วหรือยัง ถ้าตะไคร่หมดแล้วให้เปลี่ยนน้ำ 50% แล้วเปิดไฟตู้ตามปกติ หากสังเกตว่าต้นไม้มีอาการโทรมลงมากให้เปิดตู้ออกก่อน ให้ต้นไม้ได้ฟื้นตัวสัก 1-2 อาทิตย์แล้วค่อยทำใหม่อีกครั้งหนึ่ง หรือใช้วิธีอื่นซ้ำต่อไป

วิธีนี้จะได้ผลดีถ้าในตู้มีสัตว์กินตะไคร่อยู่มากพอ ระหว่างที่ปิดตู้และตะไคร่หยุดการเจริญเติบโตนั้น สัตว์กินตะไคร่ก็จะกินตะไคร่ให้ลดจำนวนลงไปอีกทาง ทำให้ได้ผลดีกว่าใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง

สารกำจัดตะไคร่

เป็นการใช้สารที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ของตะไคร่มาใช้เพื่อกำจัดตะไคร่ในตู้ไม้น้ำ เช่น

ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ที่สามารถใช้ฉีดกำจัดตะไคร่เฉพาะจุดได้ดี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ การใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในการกำจัดตะไคร่)

หรือใช้สารกำจัดตะไคร่ที่ผลิตมาเพื่อกำจัดตะไคร่ในตู้ไม้น้ำโดยเฉพาะ

กดที่ลิ๊งไปซื้อในร้าน AquaProShop ได้เลยนะครับ [smile01]

กำจัดด้วยมือ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กำจัดตะไคร่ประเภทที่มีการยึดเกาะไม่แน่นหนานักอย่างตะไคร่เส้นผม ตะไคร่เส้นใย และตะไคร่เมือกเขียวแกมน้ำเงิน อาจจะใช้มือหยิบเอาดื้อๆหรือใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ฟอร์เซป แปรงสีฟัน หรือเอาสายยางดูดเอาก็ได้ครับ ซึ่งจะเหมาะกับตะไคร่เมือกเขียวแกมน้ำเงินมาก เพราะมันจะยึดเกาะไม่แน่นมากแต่ตัวตะไคร่มีความเหนียว ทำให้ดูดแล้วหลุดออกมาเป็นแผ่นๆเลย ทำให้กำจัดตะไคร่ชนิดนี้ได้ง่ายและเร็วกว่าวิธีอื่นๆมาก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27/09/2562 [20:11:24] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)
ตะใคร่เมือกสีน้ำตาล (Diatoms, Brown Algae)




ลักษณะ

เป็นแผ่นสีน้ำตาลบางๆเกาะตามกระจกและใบพืช ขัดออกได้ง่าย เป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มไดอะตอมที่มีซิลิก้าเป็นโครงสร้างภายนอก



สาเหตุ

ระบบกรองไม่สมบูรณ์ มีแอมโมเนียในน้ำสูง มีอินทรีย์สารละลายในน้ำมาก มักพบในตู้ที่ตั้งใหม่ๆ มีแสงน้อย หรือมีซิลิก้าในน้ำมากเกินไป
โดยแหล่งของซิลิก้าโดยมากมักมาจากหินพัมมิสที่รองพื้นตู้และที่ใช้เป็นวัสดุกรอง ในตู้ไม้น้ำที่เพิ่งตั้งใหม่จึงมีโอกาสเกิดตะไคร่ชนิดนี้ได้มาก



การกำจัดและการควบคุม

ขัดออกจากกระจกและใบไม้ด้วยนิ้วมือแล้วดูดเศษตะไคร่ทิ้ง เพราะเป็นตะไคร่ที่อ่อนนุ่ม หลุดได้ง่าย
และเมื่อต้นไม้เริ่มโต ตะไคร่ชนิดนี้มักจะหายไปได้เอง พยายามลงต้นไม้เยอะๆเข้าไว้ จะช่วยป้องกันตะไคร่นี้ได้ดี



สัตว์ช่วยควบคุมตะใคร่

ปลาออตโต้ [star] [star] [star] [star] [star]
Otocinclus affinis
ออตโต้จะชอบกินตะไคร่ชนิดนี้มาก
ปลาน้ำผึ้ง [star] [star] [star]
Gyrinocheilus aymonieri
กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี แต่ควรงดให้อาหารอื่น ไม่งั้นจะไม่ค่อยกิน
กุ้งยามาโตะ [star] [star] [star] [star] [star] กุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ กุ้งยามาโตะ และกุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งเรดโนส กุ้งฝอย แต่กุ้งฝอยอาจจะกินไม่หมดจดนัก เพราะก้ามกุ้งฝอยใหญ่กว่ากุ้งแคระอื่นๆ
หอยทุกชนิด [star] [star] [star] [star] [star]
หอยในกลุ่ม Nerite เช่นหอยเขา กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีมาก และไม่แพร่พันธุ์ในตู้เหมือนหอยเจดีย์ Melanoides tuberculata
แม้ว่าหอยเจดีย์กินจะตะไคร่ชนิดนี้ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะถ้าหอยมีปริมาณมาก แต่ก็สามารถแพร่พันธุ์ในตู้ได้ง่ายจนแม้อยากจะกำจัดออกก็ทำได้ลำบาก [lol01] ทำให้มันเป็นตัวควบคุมตะไคร่ชนิดนี้และตะไคร่อื่นๆได้ดี แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเห็นหอยเจดีย์เต็มตู้ได้เหมือนกัน
ปลาเล็บมือนาง [star] [star] [star]
Crossocheilus siamensis
ก็ชอบกินตะไคร่นี้ แต่อาจจะกินตะไคร่ตามผิวก้อนหินและขอนไม้ได้ไม่หมดจดนัก เพราะปากและนิสัยการกินเป็นแบบเล็มๆ ไม่ได้เป็นปากดูด
ปลาสอดกินพืช [star] [star] [star] [star]
ปลาสอดที่ไม่ใช่พวกหางดาบ หรือปากแหลมๆ ปลาสอดกินพืชมักจะปากบานๆ หางกลมหรือสองแฉก เช่นปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11/09/2562 [08:01:15] โดย บัง »
ตะไคร่เมือกสีเขียวแกมน้ำเงิน
(Blue-Green Algae, Slime Algae)




ลักษณะ

พวกนี้ไม่ใช่พืชครับแต่เป็นแบคทีเรียในกลุ่มที่มีชื่อว่า Cyanobacteria
ลักษณะของมันจะเป็นแผ่นๆเมือกสีเขียวเข้มอมน้ำเงินถ้าเอาขึ้นมาดมจะมีกลิ่นเหม็น ชอบขึ้นตามขอบกระจกบริเวณใต้พื้นปลูก หรือปกคลุมอยู่ตามพื้นกรวด หินใบไม้หรือถ้าเป็นมากๆก็คลุมทุกสิ่งทุกอย่างในตู้ได้เลย

สาเหตุ

พบบ่อยในตู้ที่มีค่าไนเตรทต่ำเพราะสามารถตรึงไนโตรเจนได้ ตู้กรวดและตู้ดินเก่า พื้นปลูกที่สกปรกและการไหลเวียนน้ำในตู้ที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดตะไคร่นี้ได้



การกำจัดและการควบคุม

ถ้าพบเพียงเล็กน้อย แนะนำให้คีบหรือดูด หรือน้ำสิ่งที่มีตะใคร่เกาะอยู่ออกไปจากตู้ แต่ก็มักจะกลับมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วและสง่าผ่าเผย  [น้ำตาร่วง]

การปิดตู้ให้มืด หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Blackout เป็นการจัดการตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี มีวิธีการตามนี้ครับ

  • กำจัดตะไคร่ออกจากตู้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดึง ถอน ดูด  แล้วเปลี่ยนน้ำ 30-50%
  • ใส่หัวทรายเพิ่มออกซิเจน ปิดไฟ ปิด CO2 แล้วหาอะไรมาคลุมตู้ไว้ไม่ให้แสงเข้า ผ้าดำ ลังใส่โทรทัศน์ อะไรก็ได้ที่คลุมตู้ได้มิด หรือปิดประตูหน้าต่างในห้องที่มีตู้อยู่ให้มืดหมด
  • ทิ้งไว้อย่างนั้น 3-4 วัน ไม่ต้องเปิดแอบดู ไม่ต้องให้อาหารปลา ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น
  • เปิดผ้า แล้วกำจัดเศษตะไคร่ที่อาจจะยังหลงเหลือ ล้างกรอง เปลี่ยนน้ำ 30-50% อีกครั้ง เอาหัวทรายออกแล้วเปิด CO2 เปิดไฟตามปกติ
หลังจากนี้ให้ดูแลระดับของไนเตรทให้เหมาะสมเพื่อป้องกันตะไคร่กลับมาอีก ถ้าต่ำไปให้ใส่ปุ๋ยน้ำเพิ่มจากปกติอีกสักหน่อย หรือใส่ปุ๋ยน้ำที่มีไนเตรทมากหน่อยอย่าง ADA Green Brighty Special LIGHTS
หรือใส่ปุ๋ยน้ำไนเตรท เช่นปุ๋ยไนเตรทของ Seachem Flourish Nitrogen และ Ferka Balance-N
หรือใส่ปุ๋ย โพแทสเซี่ยมไนเตรท (Potassium nitrate) 12-0-46 หรือ แคลเซี่ยมไนเตรท (Calcium nitrate) 15-0-0 +cao หาซื้อได้ตามร้านขายปุ๋ยต้นไม้ ร้านจัดสวน ร้านปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ ปริมาณ 1 ช้อนคนกาแฟปาด (ช้อนพลาสติกเล็กจิ๋วๆแบบตาม 7-eleven) ต่อน้ำ 50 ลิตรทุก 7 วัน

แต่ถ้าไม่สามารถกำจัดได้ด้วยวิธี Blackout การใช้ยา อีริโทรไมซิน (Erythromycin sulfate) ก็ได้ผลดี มีขายตามร้านขายยา เป็นแบบเม็ด (เวลาซื้ออธิบายกับคนขายให้ดีว่าเอามาใช้กับตู้ปลา เพราะยาชนิดนี้นิยมใช้รักษาซิฟิลิสและหนองใน [ยาราไนก๊ะ])
ใส่ยาขนาด 400 มก ต่อน้ำ 100 ลิตรโดยประมาณ

  • เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะมีผลเสียกับแบคทีเรียในระบบกรองจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
  • ถ้าต้องใช้ควรนำวัสดุกรองบางส่วนหรือระบบกรองทั้งหมดไปใส่ตู้อื่นไว้ในช่วงใส่ยา และงดให้อาหารปลาในช่วงทำการรักษาตะใคร่เพื่อลดภาระของ
เสียให้กับระบบ
  • หลังจากแช่ยา 1-2 วัน จะพบว่าตะใคร่จะเริ่มสลายตัวให้ดูดออกและถ่ายน้ำใหม่ นำวัสดุกรองมาใส่คืน ช่วงนี้ควรเฝ้าระวังภาวะแอมโมเนียสูงเกินไปเพราะแบคทีเรียในระบบกรองถูกทำลายด้วย
สัตว์ช่วยกำจัดตะใคร่

หอยเจดีย์ Melanoides tuberculata [star] [star] [star] [star] [star]
แนะนำสำหรับคนงบฯน้อย เพราะไม่ต้องซื้อ ขอตามตู้ชาวบ้านได้ฟรี คนโดนขออาจจะทำหน้างงนิดหน่อย หอยนี้เจ๋งตรงที่สามารถลงไปกินตะไคร่นี้ได้ถึงใต้ชั้นพื้นปลูก แต่มักจะกินไม่ทันถ้าไม่มีจำนวนเยอะจริงๆ เพราะตะไคร่ชนิดนี้มันเพิ่มจำนวนเร็วมาก ให้กำจัดออกด้วยการเก็บหรือ blackout แล้วใช้หอยเจดีย์เป็นตัวควบคุมจะดีกว่า
หอยเขา Clithon corona [star] [star] [star] [star] [star]
และหอยในตระกูล Nerite เช่น หอยม้าลาย หอยแอปเปิ้ล เป็นตัวเลือกที่แนะนำเพราะกินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี มุดลงไปกินได้ถึงในดิน แม้จะไม่ค่อยลงลึกเท่าหอยเจดีย์ แต่ก็ดีที่ไม่แพร่พันธุ์ ใช้เพียง 1-2 ตัวในตู้ขนาด 24 นิ้วก็สามารถใช้เป็นตัวช่วยควบคุมไม่ให้ตะไคร่นี้กลับมาอีกได้แล้ว
ปลาเล็บมือนาง Crossocheilus siamensis [star] [star] [star]
เล็บมือนางก็กินตะไคร่นี้ ถ้าอดอาหารจนหิวพอประมาณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/06/2561 [09:56:35] โดย บัง »
ตะใคร่จุดเขียว (Green Spot algae).....



ลักษณะ

เป็นจุดๆสีเขียว แต่ถ้ามีมากจะลามทับกันจนกลายเป็นปื้นสีเขียว แข็ง เอามือลูบดูจะรู้สึกสากๆ ขูดออกยาก เติบโตบนกระจก หิน หรือ ขอนไม้และใบของไม้โตช้า

สาเหตุ

พบได้บ่อยในตู้ที่มีค่าฟอสเฟตต่ำ สภาพน้ำที่ฟอสเฟตต่ำจะทำให้ตะไคร่ชนิดนี้เจริญเติบโตได้เร็วมากจนขัดกันทุกวันยังแทบไม่ทัน
ปริมาณ CO2 น้อยเกินไป, การไหลเวียนของน้ำไม่ดี, ระยะเวลาเปิดไฟนานเกินไป ก็ทำให้ตะไคร่ชนิดนี้กำเริบเสิบสานได้เช่นกัน



การกำจัดและการควบคุม

ถ้าขึ้นที่ใบไม้ ตัดใบหรือกิ่งนั้นทิ้งไปเลย จะง่ายกว่ากำจัดมันออก เพราะมันเกาะแน่นเหนียวมาก

ถ้าขึ้นบนไม้ที่พันอยู่กับขอนด้านบนๆสูงๆหน่อย หรือสามารถยกออกจากตู้ได้ หรือขึ้นอยู่บนขอน,หินที่ยกออกจากตู้ได้ชั่วคราว
ให้นำขอน,หิน,ต้นไม้ ที่มีตะไคร่จุดเขียวติดออกมาจากตู้ หรือลดระดับน้ำจนโผล่พ้นน้ำ

แล้วใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ใส่ขวดสเปรย์พ่น หรือใช้กลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) เช่น ยากำจัดตะไคร่ของ Aquamania หรือ Seachem Excel ผสมน้ำ 1:3 ฉีดพ่นบริเวณที่มีตะไคร่ ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วนำกลับลงตู้,เติมน้ำให้ได้ระดับเดิม

ไม้โตช้า ใบกว้างแบบพวกอนูเบียส บูเซ็ป เฟิร์น ที่มักจะมีปัญหาจุดเขียวได้ง่าย ก็พยายามหาตำแหน่งลง อย่าให้โดนแสงโดยตรงเข้มเกินไป ให้อยู่ในร่มเงาของไม้ข้อ ขอนไม้หรือไม้โตเร็วอื่นๆ จะเป็นการป้องกันที่ดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง

ถ้าขึ้นที่กระจกน้อยๆ ใช้แปรงแม่เหล็กขัดเยอะๆหน่อยก็ออก หรือใช้ที่ขัดกระจกแบบมีด้ามก็ได้


ที่ขัดตะไคร่แบบทำเอง

แปรงแม่เหล็กขัดตู้

แปรงแม่เหล็กขัดตู้ยี่ห้อ Boyu

ถ้าขึ้นเยอะและหนา ให้ใช้อุปกรณ์ชนิด "ขูด" แบบใบมีดจะดีกว่า ไม่งั้นขัดกันมือหงิกนิ้วล็อคพอดี


มีดขูดตะไคร่แบบสแตนเลสของ Borneo Wild

มีดขูดตะไคร่ยี่ห้อ Azoo - Azoo algae scraper

ใบมีดขูดตะไคร่ลายคาร์บอนไฟเบอร์ถักของ ETB Razor Pro

มีดโกนขูดตะไคร่ DIY

ที่ขูดตะไคร่ (เกรียงขูดพลาสติก) จากร้าน ไดโซะ 60 บาททุกชิ้น

เครื่องมือในการขูดตะไคร่แต่ละแบบ ก็จะมีลักษณะการออกแบบและข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป บางยี่ห้อใบเป็นพลาสติก บางยี่ห้อใช้ใบมีดโกนหนวดทั่วไปเปลี่ยนได้ บางยี่ห้อต้องเปลี่ยนกับใบมีดของยี่ห้อตัวเองเท่านั้น ก็เลือกเอาตามสะดวก ลองไปจับๆดูตามร้าน เลือกแบบที่เหมาะกับตัวเอง

วิธีการกำจัดที่ได้ผลที่สุดคือการเพิ่มระดับฟอสเฟตในตู้ ทำได้ด้วยการใส่ปุ๋ย โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (Monopotassium Phosphate) 0-52-34 หาซื้อได้ตามร้านขายปุ๋ยสำหรับปลูกต้นไม้ทำสวนทั่วไป โดยเริ่มใส่จากปริมาณที่น้อยมากๆก่อน (ติดปลายช้อนกาแฟเซเว่น ใส่นิดเดียวพอ ประมาณ 1/10 ช้อนชา ต่อน้ำ 50 ลิตร) แล้วดูอาการต้นไม้ก่อนเพิ่มปริมาณขึ้นถ้ายังไม่ได้ผล หรือใช้ปุ๋ย Seachem Flourish Phosphorus ที่เป็นปุ๋ยฟอสเฟต+โพแทส สำหรับตู้ไม้น้ำโดยเฉพาะ


สัตว์ช่วยกำจัดตะใคร่

ปลาออตโต้ [star] [star] [star] [star]
Otocinclus affinis
ออตโต้และปลาตระกูลซัคเกอร์ที่กินพืช เช่น ซัคเกอร์พานาเม้นท์ Sturisoma panamense จะชอบกินตะไคร่ชนิดนี้มาก ถ้ามีที่กระจกหรือก้อนหินเยอะๆนี่มันเกาะดูดกันทั้งวันเลย
หอยตระกูล Nerite [star] [star] [star] [star] [star]
หอยเขา Clithon corona และหอยม้าลาย ก็กินตะไคร่นี้ได้ดี แม้จะไม่หมดนักในตอนแรก หรือดูเหมือนมันไม่กินไปทางไหนเลย แต่ถ้าอดทนรอ ปล่อยให้มันกินไปเรื่อยๆก็แทบไม่เหลือเหมือนกันนะ บางครั้งมีติดตู้ไว้ไม่กี่ตัวก็ช่วยให้เราแทบไม่ต้องขัดกระจกตู้เลย
หอยเจดีย์ [star] [star] [star]
Melanoides tuberculata
หอยเจดีย์กินตะไคร่ชนิดนี้ได้พอสมควร โดยเฉพาะถ้าหอยมีปริมาณมาก หอยเกือบทุกชนิดก็กินตะไคร่ชนิดนี้เช่นกัน แต่จะกินไม่ค่อยได้เหมือนหอย Nerite ที่มีแรงกินมากกว่า
ปลาน้ำผึ้ง [star] [star] [star]
Gyrinocheilus aymonieri
ก็กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีพอใช้ แต่ควรงดให้อาหารอื่น ไม่งั้นจะไม่ค่อยกิน

ตะไคร่ชนิดนี้ มักจะอยู่ในสภาพน้ำที่ค่อนข้างสะอาด ในระบบบ่อปลาคาร์พและบ่อปูนกลางแจ้งอื่นๆ ตะไคร่พันธุ์นี้จึงเป็นที่ต้องการให้ขึ้นที่ผนังและพื้นบ่อคล้ายๆ Coralline algae (สาหร่ายหินปูนสีม่วง) ในตู้ทะเล เพราะมันจะเป็นตัวย่อยสลายไนเตรทในบ่อได้เป็นอย่างดี และเป็นตัวป้องกันตะไคร่ชนิดอื่นๆที่มีผลเสียมากกว่า โดยการแย่งสารอาหารที่จำเป็นมากินซะก่อน จะเรียกว่าเป็นตะไคร่นิสัยดีก็พอได้ (หน้าตามันดูดีกว่าตะไคร่ตัวอื่น และแทบจะไม่ลามขึ้นต้นไม้) ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ไนโตรเจนไซเคิลสมบูรณ์ขึ้น ทำให้การเกิดตะไคร่อื่นลดลง และเป็นตัวบ่งบอกภาวะไม่สมดุลของสารอาหารพืชในตู้ไม้น้ำได้ดี
ฉะนั้น เวลาขูด หากจะเหลือไว้ทำพันธุ์บ้างก็ไม่มีผลเสียอะไรนัก อาจจะขูดแค่หน้าตู้ เหลือผนังซ้ายขวาและด้านหลังไว้ หรือเหลือด้านหลังไว้ด้านเดียวก็ได้ แค่คอยดูแลอย่าปล่อยให้มันเยอะเกินไปก็แล้วกัน
ตะไคร่เส้นผมดำ Black Hair Algae



ลักษณะเป็นเส้นเกาะติดกับใบไม้ ก้อนหิน ขอนไม้ ยาวประมาณ 5 ซ.ม. สีดำหรือเทา ลักษณะคล้ายกับตะไคร่เส้นใย Fuzz algae และตะไคร่เส้นผมเขียว Green hair algae แต่ตะไคร่เส้นผมดำจะมีลักษณะหยาบกว่า พบระบาดได้บ่อยในตู้ไม้น้ำที่ตั้งใหม่ ชอบขึ้นตามขอบใบไม้ กำจัดออกด้วยมือได้ยาก และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก

การกำจัด

  • ตัดใบไม้ที่มีตะไคร่ชนิดนี้เกาะออกและดึง/ดูดตะไคร่ออกให้มากที่สุด
  • ฉีดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์
  • กลูตาราลดีไฮด์ เช่น Seachem Excel และ Aquamania algae clean ก็ใช้กำจัดตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี
สัตว์ควบคุมตะไคร่

กุ้งยามาโตะเป็นตัวควบคุมตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี กุ้งแคระชนิดอื่นก็กินเหมือนกัน แต่จะกินได้ช้ากว่าและกินไม่ดีเท่ายามาโตะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/05/2560 [16:40:42] โดย บัง »
ตะไคร่เขากวาง Staghorn Algae



มักพบเป็นกระจุกแคบๆ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วพอสมควร การกำจัดที่ดีที่สุดคือตัดใบไม้ที่ติดอยู่ออก หรือนำวัสดุที่มีตะไคร่ออกมา กุ้งยามาโตะก็กินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีพอสมควร (ถ้ากุ้งหิวและมีจำนวนกุ้งมากพอ)

ตะไคร่ชนิดนี้ เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก พบบ่อยในตู้ที่เพิ่งตั้งใหม่ๆ หรือน้ำที่มีสารอินทรีย์เยอะ มักพบขึ้นตามขอบๆใบไม้ กรวด ก้อนหิน และขอนไม้ที่โดนแสงจัด ใบไม้ที่อยู่ติดผิวน้ำ กำจัดออกได้ยาก ดึงออกแล้วก็สามารถขึ้นใหม่ในจุดเดิมได้ในเวลาไม่นาน เพราะยังมีบางส่วนเกาะติดอยู่ ถ้าพบขึ้นที่ใบไม้ใบไหน ควรตัดทิ้งเลย เพื่อเป็นการลดจำนวนตะไคร่ให้มากที่สุด

วิธีกำจัดตะไคร่ชนิดนี้ที่ได้ผลดีคือฉีดด้วย ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2)
บทความ:รวบรวมรายละเอียด H2O2 กับการกำจัดตะไคร่ (step by step)จนซี้ม่องเท่ง

สัตว์กินตะไคร่้ส่วนใหญ่มักจะแทบไม่กินตะไคร่ชนิดนี้เลย นอกจาก ตะกรับหน้าแดง Scatophagus argus argus จะช่วยได้ดีที่สุด กินเอาๆ ปลาสอดถ้าหิวจัดๆก็กินดุใช้ได้ แต่ต้องตัวใหญ่หน่อย ถึงจะมีแรงกระชาก ตะไคร่นี่รากมันเหนียวแน่นมาก

กุ้งยามาโตะ Caridina japonica หรือจะเป็นกุ้งฝอย หรือกุ้งชนิดอื่นๆก็พอจะกินได้ ถ้าอดให้หิวพอ และมีจำนวนมากพอ ทำให้ใช้งานได้ยากกว่าและคาดหวังผลอะไรไม่ได้เท่าไหร่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/05/2560 [16:40:04] โดย บัง »
ตะใคร่เส้นผมเขียว Spirogyra, Green Hair algae



ลักษณะ

เป็นเส้นใยบางๆสีเขียวยาวๆ ลื่นๆ ไม่มีการแตกแขนง ไม่เกาะติดกับต้นไม้หรือก้อนหิน แต่จะพันอยู่กับต้นไม้หรือรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆตามพื้น ซอกใบไม้ต้นไม้และตามวัสดุต่างๆ แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถคีบหรือหยิบออกได้โดยง่าย ด้วยมือหรือแปรงสีฟัน



สาเหตุ

มักพบในบริเวณตู้ที่มีแสงมาก ปริมาณแอมโมเนียสูง และในตู้ที่มีสารอาหารในน้ำมากเกินไป มีการรื้อถอนต้นไม้หรือรบกวนพื้นปลูกจนฝุ่นและผงดินฟุ้งขึ้นมาแล้วไม่ดูดออกหรือเปลี่ยนน้ำ มีเศษอาหารและซากปลาตายตกค้างในตู้



การกำจัดและการควบคุม

การควบคุมทำได้โดยลดจำนวนปลา และลดปริมาณอาหารปลา เปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ กำจัดออกตั้งแต่ยังน้อยๆด้วยการหยิบออกทันทีที่พบ

ลดแสง ลดปริมาณปุ๋ยที่ใส่ เปลี่ยนถ่ายน้ำให้สม่ำเสมอหรือถี่ขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ดูแลระบบกรองให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรืออัพเกรดระบบกรองถ้ามันเล็กเกินไปที่จะรองรับของเสียในตู้

การเพิ่มปริมาณ CO2 ในน้ำก็ได้ผลดี ตะไคร่ชนิดนี้มักจะเกิดได้ง่ายในตู้ที่มีปริมาณ CO2 ที่ละลายในน้ำน้อยและต้นไม้ไม่แข็งแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปิด CO2 น้อยเกินไป หรืออุปกรณ์ละลาย CO2 ทำงานได้ไม่ดีพอ หรือติดตั้งไม่ถูกวิธี

ใช้สารกลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) เช่น ยากำจัดตะไคร่ของ Aquamania หรือ Seachem Excel ก็ได้ผลในการกำจัดที่ดี

หรือใช้การฉีด ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ก็ได้ผลดีเหมือนกัน แต่จะไม่ค่อยหมดนัก เพราะมันทน H2O2 ได้พอสมควร ทำให้ต้องฉีดโดนแบบเต็มๆถึงจะตาย และความยาวของเส้นมันจะซอกซอนไปได้ไกลตามซอกต้นไม้จนเราตามฉีดไม่ค่อยถึง

อ่านรายละเอียดและวิธีการฉีดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ได้ใน

บทความ:รวบรวมรายละเอียด H2O2 กับการกำจัดตะไคร่ (step by step)จนซี้ม่องเท่ง - Coffman



ตะกรับหน้าแดง [star] [star] [star] [star] [star]
Scatophagus argus var. Rubrifrons
กินตะไคร่เส้นผมได้ดีมาก แต่ต้องระวังเมื่อตะไคร่หมด มันจะงาบต้นไม้อ่อนๆในตู้แทนได้
ปลาเล็บมือนาง [star] [star] [star]
Crossocheilus siamensis
กินตะไคร่นี้ได้ดีพอใช้ แต่มักจะต้องอดอาหารให้หิวซะก่อน และมักจะไม่ค่อยยอมขึ้นไปกินตะไคร่ที่อยู่ใกล้ผิวน้ำ
ปลาสอดกินพืช [star] [star] [star]
ปลาสอดที่ไม่ใช่พวกหางดาบ หรือปากแหลมๆ ปลาสอดกินพืชมักจะปากบานๆ หางกลมหรือสองแฉก เช่นปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์
ตะไคร่ขนเขียว Green Brush Algae, Green Beard Algae



ตะไคร่ขนเขียว Green Brush Algae, Green Beard Algae เกาะบนกิ่งไม้

ลักษณะ

เป็นกลุ่มกระจุกขนสั้นๆ ยาว 0.5-1 ซ.ม. เกาะติดแน่นอยู่ตามใบไม้ โดยเฉพาะตามขอบใบ,ขอนไม้,ก้อนหิน,ขอบซิลิโคน,ท่อน้ำ และวัตถุแทบทุกอย่างในตู้ยกเว้นที่กระจก
มีส่วนคล้ายรากเหนียว สามารถยึดติดกับผิววัสดุได้ดี ดึงออกยาก ชอบขึ้นตามที่น้ำไหลแรง เช่น ปากท่อกรอง


ตะไคร่ขนเขียวเกาะอยู่บนใบของบูเซ็บ

สาเหตุ

  • สารอาหารในตู้ไม่สมดุล มีไนเตรทน้อยเกินไป
  • ระยะเวลาการเปิดไฟนานเกินไป
  • CO2 ไม่เพียงพอ มีการเปลี่ยนแปลงระดับของ CO2 ในตู้มากเกินไป การไหลเวียนของน้ำในตู้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดมุมอับที่มีปริมาณ CO2 น้อย

ตู้ที่ถูกตะไคร่ขนเขียวจู่โจมอย่างหนัก

การกำจัดและการควบคุม

เพิ่มปริมาณ CO2 ให้มากขึ้น จัดที่วางตัวปล่อย CO2 ให้อยู่ในที่ๆกระแสน้ำไหลเวียนดี เพื่อช่วยพัดพา CO2 ไปได้ทั่วตู้ ใช้อุปกรณ์ปล่อย CO2 ที่มีประสิทธิภาพการละลายที่เหมาะสมกับขนาดตู้

การเปิด CO2 ก่อนเวลาเปิดไฟสัก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ปริมาณ CO2 อิ่มตัวคงที่แล้วเมื่อไฟเปิด จะช่วยป้องกันตะไคร่นี้ได้ดี หรือจะใช้การเปิด 24 ชั่วโมงแทนก็ได้

เพิ่มการไหลเวียนของน้ำ เช่น เปลี่ยนกรองเป็นตัวที่ปั๊มขนาดใหญ่ขึ้น ใช้วัสดุกรองที่ขนาดใหญ่ขึ้นหรือใช้ใยกรองที่หยาบกว่าเดิม (ปั๊มกรองไม่ถูกอั้นและส่งน้ำได้แรงขึ้น) หรือเพิ่มปั๊มเพาเวอร์เฮดช่วยเพิ่มกระแสน้ำภายในตู้

ควรใช้ดรอปเช็คเกอร์เพื่อวัดความเข้มข้นของ CO2 จะทำให้รู้ได้ว่าในตู้เรามี CO2 ละลายอยู่เพียงพอหรือไม่ ให้ปรับแก้ไขจนสีของดรอปเช็คเกอร์เป็นสีเขียว-เขียวอมเหลือง (ช่วงแรกๆหมั่นคอยสังเกตอาการปลาด้วยว่าทนไหวหรือเปล่า)

ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ H2O2 ที่ใช้ล้างแผล สามารถใช้กำจัดตะไคร่ประเภทขนอุยทั้งหลายแหล่ได้ดีมาก

1. ดูดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ใส่หลอดฉีดยา ปริมาณ 0.5-0.75cc/ น้ำ 1 ลิตร

2. ปิดกรอง จุ่มหลอดฉีดยาลงไปในน้ำ จ่อไปที่ตะไคร่แล้วฉีดลงไปตรงตะไคร่ ฉีดช้าๆ ให้ใกล้ตะใคร่ที่สุด ต่อจุดประมาณ 1-2 cc สำคัญสุดคือ ปริมาณรวมทั้งหมดที่ฉีดไป อย่าให้เกิน 0.5 cc/ลิตร เพราะหลายท่านฉีดแล้วมันส์ เพลิน จนปลาตาย

3. ใจเย็นๆ มันจะไม่ตายในทันที รอสักพัก จะมีฟองอากาศลอยขึ้นมาจากตะไคร่ตรงที่โดนยา ฟองจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงไหนไม่มีฟองหรือฟองน้อยก็ฉีดซ้ำได้ แต่ดูอย่าให้เกินปริมาณรวมที่บอกไปตอนแรก

4. จากนั้นเปิดไฟตู้ เพื่อช่วยให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สลายตัวเป็นน้ำกับออกซิเจนเร็วขึ้น

5 หลังจากนั้นซัก 2 วัน ตะไคร่ควรจะฟอกขาว ถ้ามันยังไม่ตายหมดก็ฉีดซ้ำได้อีก

วิธีนี้ Recommend มากๆครับ มันสะใจมากๆ เวลาเห็นตะไคร่ฟองฟอดซีดขาวไปกะตา  [เหอๆ]

ดูเพิ่มเติมที่นี่ ตู้หลังจากสู้กับตะไคร่ขนดำมา 1 เดือน

ใช้ กลูตาราลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) หรือคาร์บอนน้ำ เช่น ยากำจัดตะไคร่ Aquamania - Algae Clean หรือ Seachem Excel (แบบโอเวอร์โดส) ก็สามารถกำจัดตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี



ผลการใช้ Aquamania - Algae Clean
รีวิวยากำจัดตะไคร่ Aqua-Mania Algae Clean - บัง
AQUA-MANIA Algae clean : 1 ในหลายวิธีในกำจัดตระไคร่ขนดำ - แบงค์ซัง

เกี่ยวกับคาร์บอนด์น้ำ ดูเพิ่มเติมที่
ปุ๋ยคาร์บอนน้ำ How it works - banx


สัตว์น้ำช่วยกำจัดตะไคร่

ปลาเล็บมือนาง [star] [star] [star] [star] [star]
Crossocheilus siamensis
ชอบกินตะไคร่นี้ และกินได้รวดเร็วหมดจด มันจะดึงทึ้งตะไคร่ออกมาเขมือบทั้งกระจุกอย่างป่าเถื่อน แต่อาจจะต้องจับอดอาหารสักหน่อย
ตะกรับหน้าแดง [star] [star] [star] [star] [star]
Scatophagus argus var. Rubrifrons
กินตะไคร่ขนเขียวได้ดีมาก จิกออกมาทีเป็นกระจุกๆ แต่ต้องระวังเมื่อตะไคร่หมด มันจะงาบต้นไม้อ่อนๆในตู้แทนได้
กุ้งยามาโตะ [star] [star] [star] [star]
กุ้งยามาโตะและกุ้งแคระเกือบทุกชนิดกินตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งเรดโนส กุ้งฝอย
ปลาสอดกินพืช [star] [star] [star]
เช่น ปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์ ก็กินตะไคร่นี้ได้ดี แต่อาจจะต้องเลือกใช้บริการตัวเมียที่ตัวใหญ่ๆหน่อย ถึงจะจิกดึงตะไคร่ออกมาได้ดี และอาจจะต้องจับอดอาหารร่วมด้วย แต่ส่วนมากแล้วจะกินโดยไม่ต้องอดอาหารมากนัก
ตะใคร่ขนดำ Black Brush Algae, Red Brush Algae, Black Beard Algae

ลักษณะจะคล้ายตะไคร่ขนเขียวมาก แต่เป็นสีแดง-ดำ หรือเทาเกือบดำ กระจุกตัวแน่น มีรากเกาะกับใบไม้ ก้อนหินและขายไม้ภายในตู้ ชอบขึ้นตามที่ๆมีกระแสน้ำไหลแรง เช่น ปากท่อกรองและปั๊มน้ำ หากอยู่ในน้ำที่กระด้างหรือในตู้ที่ไม่ค่อยได้เปลี่ยนน้ำ จะสามารถสะสมหินปูนมาไว้ในตัว (biogenic decalcification) ทำให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น ยากต่อการกินของกุ้งและปลา

การกำจัดและการควบคุม

ตะไคร่ขนดำมักจะระบาดในตู้ที่มีคุณภาพน้ำไม่ดี ในน้ำมีของเสียมาก ฉะนั้นเราต้องเริ่มดูแลที่สาเหตุ คือ

  • ลดจำนวนของเสียลง ดูแลการให้อาหารปลาและกุ้งไม่ให้มากเกินไป จัดตู้ไม่ให้มีจุดอับที่ขี้ปลาขี้กุ้งไปกองสะสม เก็บใบไม้ที่เน่าเสียออก
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียของระบบกรอง ล้างทำความสะอาดวัสดุกรองบ้างถ้ามีตะกอนสะสมมากเกินไป พิจารณาเพิ่มขนาดพื้นที่กรองหรือเปลี่ยนวัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
  • เพิ่มจำนวนต้นไม้ที่โตเร็วและไม้ที่มีรากในน้ำเพื่อดูดซับของเสียในน้ำ เช่น จอกและแหนต่างๆ
  • ใช้สัตว์กินตะไคร่ กุ้งแคระแทบทุกชนิดจะกินตะไคร่ขนดำได้ดี ปลาตะกรับและสอดดำก็เป็นที่นิยมในการนำมาใช้ควบคุมปริมาณตะไคร่ขนดำ


หอย Nerite หากินอยู่บนกิ่งไม้ที่มีตะไคร่ขนดำ Black Brush Algae, Black Beard Algae แม้หอยชนิดนี้จะกินตะไคร่จุดเขียวได้ดี แต่ก็ทำอะไรตะไคร่ประเภทขนๆไม่ได้มากนักเพราะลักษณะปากที่ไม่เอื้ออำนวย

หากใช้วิธีการควบคุมข้างต้นแล้วไม่ได้ผล เราก็มีวิธีการกำจัดตะไคร่ขนดำแบบค่อนข้างปลอดภัยกับต้นไม้และสิ่งมีชีวิตอื่นๆภายในตู้อีก

  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ฉีด H2O2 ไปที่ตะไคร่โดยตรงด้วยหลอดฉีดยา สามารถกำจัดตะไคร่ขนดำได้ดีและค่อนข้างปลอดภัย H2O2 จะทำปฏิกริยากับตะไคร่ขนดำได้ดีกว่าตะไคร่อื่นๆ แต่ควรระวังไม่ให้ปริมาณการใช้โดยรวมเกินกว่า 30ml. ต่อน้ำ 50 ลิตร
  • คารบอนน้ำ หรือสารกลูตาราลดีไฮด์ ก็ได้ผลในการกำจัดตะไคร่ขนดำได้ดี ปริมาณการใช้ตามที่แต่ละยี่ห้อแนะนำเลยครับ จะเป็น Aquamania, Seachem หรือยี่ห้อไหนก็เลือกเอาเลย

นอกจากวิธีข้างต้นแล้วก็ยังมีสารกำจัดตะไคร่ที่ได้ผลกับตะไคร่ขนดำอีกหลายชนิด เอาจริงๆคือมันเป็นตะไคร่ที่ค่อนข้างกำจัดง่าย อ่อนแอ นู้บๆ
แต่มันเป็นตะไคร่ที่เพิ่มจำนวนได้ค่อนข้างเร็ว และเกาะติดกับใบไม้ขอนไม้และก้อนหินได้ดี อนูเบียสหรือบูเซปใครโดนมันเกาะเข้าไปล่ะเซ็งเลย

จากประสบการณ์ แค่ใช้การดูแลสภาพน้ำให้ดี ใส่กุ้งแคระลงไปซักหน่อย ถ้ามันมีเยอะก็ฉีด H2O2 นำไปซักดอก แค่นั้นมันก็หายไปหมดแล้วครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27/11/2561 [09:34:20] โดย บัง »
น้ำเขียว Green water



เกิดจากสาหร่ายเซลเดียวที่ล่องลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งปกติก็มักจะมีอยู่ในน้ำอยู่แล้ว แต่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อสาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยต่างๆพอเหมาะกับมัน ก็จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น...มากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะ Algae bloom ขึ้น

  • ในระยะยาว ควรควบคุมปริมาณอาหารปลาให้เหมาะสม ลดระยะเวลาในการเปิดไฟลง พยายามอย่าให้มีแสงแดดส่องมาถึงตู้ ลดการใส่ปุ๋ย เปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้น
  • สามารถแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้ด้วยการปิดไฟตู้ไว้สัก 2-3 วัน ระหว่างนั้นให้คลุมตู้ด้วยถุงดำหรือวัสดุทึบแสงเพื่อป้องกันไม่ให้มีแสงลอดเข้าไปได้ น้ำเขียวจะหายไปได้เอง แต่ควรจะหาสาเหตุของน้ำเขียวแล้วแก้ไขด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว
  • การใช้ UV clearifier และ Diatom filter หรือ ใช้สารกำจัดตะใคร่ เช่น กลูตาราลดีไฮด์ Glutaraldehyde (C5H8O2) ก็กำจัดตะไคร่น้ำเขียวได้ดี แต่เป็นการกำจัดชั่วคราวเท่านั้น หากสาเหตุ (เช่น มีปลามากเกินไป
    , ใส่ปุ๋ยมากเกินไป, เปิดไฟนานเกินไป) ยังไม่ถูกแก้ไข น้ำเขียวก็อาจจะกลับมาได้อีก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22/01/2561 [19:28:18] โดย บัง »
ตะใคร่เส้นใย Fuzz algae



ชื่อไทยแปลกๆไปหน่อยเพราะผมตั้งเอง [smile04] คือมันไม่มีชื่อไทย เพราะก่อนนี้คนมักจะเรียกรวมกันไปเป็นตะไคร่เส้นผม หรือตะไคร่ขนเขียว แต่จริงๆมันไม่ใช่ และเป็นคนละตัวกันครับ ถ้าตามศัพท์ฝรั่งมันต้องเรียกว่าตะไคร่ปุกปุย ตะไคร่ฟู อะไรประมาณนั้น แต่ผมว่ามันดูเป็นใยๆ เหมือนใยสังเคราะห์ในหมอนหรือตุ๊กตา มันน่าจะสื่อเข้าใจได้ง่ายกว่า



ลักษณะของตะไคร่ชนิดนี้จะเป็นเส้นใยอ่อนนุ่มเหมือนใยแมงมุม แรกๆจะเป็นขนอ่อนๆ บางๆ ติดตามใบไม้ ก้อนหินและวัสดุต่างๆในตู้ แต่ถ้าลุกลามมากๆจะปกคลุมทุกอย่างในตู้ได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน

ตะไคร่ตัวนี้จะแตกต่างจากตะไคร่เส้นผมหรือ Hair, Thread algae ตรงที่จะสามารถเกาะติดกับใบไม้และวัสดุต่างๆในตู้ได้ดีกว่าตะไคร่เส้นผม ชอบเกาะตามขอบใบไม้ที่โตช้า ในขณะที่ตะไคร่เส้นผมนั้นจะเป็นเส้นยาวๆ สอดตัวอยู่ในระหว่างกิ่งไม้ใบไม้ ไม่เกาะติดกับพื้นผิว สามารถดึงออกมาเป็นเส้นๆได้ง่าย และตัวเส้นมีความเหนียว ลื่นมากกว่า Fuzz algae ครับ

และลักษณะการยึดเกาะ รวมถึงลักษณะของเส้นใยก็จะต่างกับตะไคร่ขนหรือ Brush, Beard algae คือตะไคร่เส้นใยนี้จะเกาะยึดพื้นผิวไม่แน่นเท่าตะไคร่ขน เส้นใยมีความอ่อนนุ่มมากกว่า ลื่นกว่า ยาวกว่าตะไคร่ขน และกระจุกตัวไม่แน่นเท่าตะไคร่ขน


ถ้าปล่อยให้เพิ่มจำนวนเยอะๆ และกระแสน้ำแรงๆหน่อย Fuzz algae จะเกาะตัวเป็นกระจุกมากขึ้น

สาเหตุ
มักเกิดในตู้ที่มีปัจจัยต่างๆไม่สมดุล เช่น ความสมดุลระหว่างปุ๋ย แสงสว่าง และระดับ CO2

การกำจัดและการควบคุม

  • การเปิดไฟ 4 ชั่วโมงสลับกับปิดไฟ 1 ชั่วโมง วันละ 2 รอบ ทำให้ตะไคร่ชนิดนี้ลดจำนวนลงได้ดี
  • ปลาและกุ้งแทบทุกชนิดจะกินตะใคร่ชนิดนี้ เพราะเนื้อตะไคร่ที่มีความอ่อนนุ่ม (มันคงอร่อย หน้าตามันก็ดูน่ากินกว่าตัวอื่น)
  • กลูตาราลดีไฮด์ Glutaraldehyde (C5H8O2) หรือที่ขายกันเป็นคาร์บอนน้ำ ใช้กับตะไคร่ชนิดนี้ได้ดี
  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ Hydrogen peroxide (H2O2) ก็ใช้ฉีดกำจัดตะไคร่ชนิดนี้ได้ดีเช่นกัน



สัตว์น้ำช่วยกำจัดตะไคร่

ปลาเล็บมือนาง [star] [star] [star] [star] [star]
Crossocheilus siamensis
ชอบกินตะไคร่นี้ และกินได้รวดเร็วหมดจดดีครับ
ตะกรับหน้าแดง [star] [star] [star] [star] [star]
Scatophagus argus var. Rubrifrons
ชอบกินตะไคร่นี้มากเหมือนกัน และกินรวดเร็วพอกับเล็บมือนาง
กุ้งยามาโตะ [star] [star] [star]
กุ้งยามาโตะและกุ้งแคระเกือบทุกชนิด เช่น กุ้งเชอรี่ กุ้งเรดโนส กุ้งฝอย ก็กินตะไคร่ชนิดนี้ แต่อาจจะกินไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะเมื่อมันกลายเป็นเส้นยาวๆแล้ว ต้องช่วยมันด้วยการเอาฟอเซ็ปหรือแปรงสีฟันเก่าดึงตะไคร่ออกมาให้มากที่สุดก่อน หรือใช้เป็นทัพเสริมกับสัตว์กินตะไคร่อื่นๆ
ปลาสอดกินพืช [star] [star] [star] [star]
เช่น ปลาสอดดำ,ปลาสอดมิดไนท์ ก็กินตะไคร่นี้ได้ดีเหมือนกัน โดยอาจจะต้องจับอดอาหารร่วมด้วย แต่ส่วนมากแล้วจะกินโดยไม่ต้องอดอาหารมากนัก
ตะไคร่ Cladophora



ตะไคร่ Cladophora บนกิ่งไม้

Cladophora เป็นตะไคร่ที่ลักษณะเป็นกิ่งก้านแตกแขนงค่อนข้างเปราะ สามารถแยกกับตะไคร่ตัวอื่นได้ง่ายด้วยการจับดูเส้นใยของมัน จะรู้สึกหยาบ สากมือกว่าตะไคร่ชนิดอื่นๆ
สาเหตุของตะไคร่ตัวนี้ไม่ปรากฎแน่ชัด เพราะมันใช้ปัจจัยต่างๆใกล้เคียงกับต้นไม้น้ำมาก แต่ถูกนำเข้าสู่ตู้ได้ด้วยการเกาะติดมากับไม้น้ำต่างๆที่มีตะไคร่ชนิดนี้ขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะมาริโมะ เนื่องจากเป็นตะไคร่สายพันธุ์ใกล้เคียงกัน และหลายครั้งที่พบว่าก้อนมาริโมะมีตะไคร่ Cladophora  ตัวอื่นติดมาด้วย
ข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนโดยคุณ NP ซึ่งเขียนไว้ได้ดี ผมจะยกมาไว้ตรงนี้ทั้งดุ้นเลยนะครับ (ขี้เกียจพิมพ์นั่นเอง [mock01] )

อ้างถึง
Cladophora sp.(อ่านว่า แคลด-ดอฟ-ฟอ-ร่า) เป็นฝันร้ายที่สุดตัวหนึ่งสำหรับนักจัดตู้ไม้น้ำ
รูปร่างของมันจะเป็นเส้นเขียวๆ ที่แตกแขนงออกเยอะแยะหยุมหยิม มักจะพันกันดูเป็นกลุ่มๆ
มองดูไกลๆ คล้ายกลุ่มเมฆหมอกสีเขียว และจะมีกลิ่นอับๆ ฉุนๆ เวลาถูกขยี้ กิ่งก้านของมัน
ค่อนข้างเปราะ การขยายพันธ์ุจะอาศัยกิ่งก้านที่หักหลุดออกจากต้นแม่เวลาถูกกระทบกระเทือน
แล้วไปฝังเกาะตามไม้น้ำ (โดยเฉพาะไม้น้ำที่ชอบมีเศษสิ่งต่างๆ ลอยมาติดสะสม เช่นพวกมอส เฟิร์น
หรือพวกที่มีใบคล้ายหญ้า) หลายคนมักสับสนตะไคร่ชนิดนี้กับพวกตะไคร่เส้นผมเขียว แต่ตะไคร
พวกนั้นจะมีลักษณะตามชื่อของมัน ซึ่งก็คือคล้ายเส้นผม โดยแต่ละเส้นจะเป็นเส้นเดี่ยวๆ ไม่มีการ
แตกกิ่งก้านเหมือน Cladophora

Cladophora ไม่เหมือนกับตะไคร่ชนิดอื่นๆ ตรงที่มันมีลักษณะความต้องการคล้ายคลึงกับไม้น้ำมาก
ดังนั้น เวลาไม้น้ำคุณเติบโตดี มันก็จะเติบโตดีด้วย นอกจากนี้มันยังไม่แพร่พันธ์ุผ่านสปอร์ที่ฟุ้งไปใน
อากาศเหมือนพืชชั้นต่ำทั่วไป แต่จะเป็นการแพร่พันธ์ุจากตู้สู่ตู้ โดยส่วนใหญ่จะมีไม้น้ำเป็นพาหะ
หรือไม่ก็จากอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน เส้นกิ่งก้านแต่ละเส้นอาจจะมีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผมเสียอีก)
จนชวนให้เข้าใจผิดบ่อยๆ ว่าเป็นรากฝอยหรือกิ่งก้านของไม้น้ำ มีบางคนอ้างว่า มอสบอลมาริโม ซึ่งก็
เป็น Cladophora ชนิดหนึ่ง สามารถทำให้เกิดตะไคร่ชนิดนี้ได้ แต่ผมไม่ค่อยเชื่อนักว่ามันจะกลายพันธ์ุ
เปลี่ยนรูปร่างไปได้มากขนาดนั้น

วิธีป้องกัน Cladophora ที่ดีที่สุดคือ ทำความสะอาดไม้น้ำ รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างที่น่าสงสัยว่า จะมีตะไคร่
ชนิดนี้ติดมาก่อนนำใส่ลงตู้ การเอาน้ำชะเฉยๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้มันหลุดออกไป เพราะมันชอบ
พันติดอยู่กับราก ใบ หรือกิ่งก้านของไม้น้ำ วิธีที่ดีที่จุดจึงเป็นการจุ่มลงในน้ำยาฟอกขาว การป้องกัน
ไม่ให้ตะไคร่ชนิดนี้เข้าสู่ตู้่คุณได้ จัดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะคุณจะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยแรงเก็บมันทิ้ง
ในภายหลัง กันไว้ดีกว่าแก้เสมอ

แต่ถ้า Cladophora ระบาดหนักในตู้คุณแล้ว คุณจะต้องอาศัยแปรงสีฟัน และโชคช่วย เริ่มโดยเก็บมัน
ออกให้มากและนิ่มนวลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าคุณมือหนัก เศษกิ่งก้านของมันจะหักและกระจาย
ไปทั่วตู้ แล้วต่อด้วยการใช้แปรงสีฟันม้วนตวัดเอากิ่งก้านที่ยังคงติดอยู่ออก การเก็บออกด้วยมือเป็นวิธีที่
ดีที่สุด ให้ทำบ่อยๆ (สองสามวันครั้ง) เพราะจนถึงตอนนี้ ยังไม่พบว่าจะมีสัตว์ชนิดไหนกินตะไคร่ชนิดนี้
เป็นอาหารเลย

ผมพบว่าการลดแสงลงนั้นช่วยได้ อะไรที่ทำให้ไม้น้ำโตช้าลง ก็จะทำให้มันโตช้าลงด้วย และยิ่งมันโตช้า
เท่าไหร่ คุณก็เก็บมันออกได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้วดูเหมือนว่า ในสภาพแสงน้อยๆ ไม้น้ำจะสามารถ
เอาชนะ Cladophora ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีปิดไฟกลับไม่มีผลในการกำจัดเลย สถานการณ์ที่เลวร้าย
สุดๆ ก็คือ เวลาที่ตะไคร่ชนิดนี้มาเกาะที่มอส เพราะคุณจะทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากโยนมอสก้อนนั้น
ทิ้งลงถังขยะ

มีข่าวลือออกมาบ่อยๆ ว่าการใส่ Excel แบบเกินโดสนั้นช่วยได้ แต่ผมพบว่ามันก็แค่ทำให้กิ่งก้านของมัน
เปราะขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น คุณจะลองดูก็ได้ แต่ดูเหมือน Excel จะไม่ใช่ยาวิเศษอะไรสำหรับตะไคร่พันธุ์นี้

บทความต้นฉบับ: Cladophora ตะไคร่สองหน้า แสบสุดแล้วตัวนี้



Cladophora sp. บนก้อนหิน

จากประสบการณ์อันเลวร้ายที่ผมได้พบเจอมากับตะไคร่ตัวนี้ก็ทำนองเดียวกันนั่นแหละครับ แต่ผมก็กำจัดมันออกไปจากตู้ได้สำเร็จ แม้ว่าจะใช้เวลานานหลายอาทิตย์ ด้วยการใช้ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ Hydrogen Peroxide (H2O2) ฉีดไปที่ตะไคร่โดยตรง
และก็เหมือนตะไคร่ตัวอื่นๆ การจะกำจัดนั้นจะต้องฉีด H2O2 "วันละ 1-2 ครั้ง ทุกวัน ไปจนกว่าจะหาตะไคร่ไม่เจอ" จึงจะได้ผล โดยเฉพาะกับ Cladophora ที่มีความสามารถในการแพร่พันธุ์ได้ง่ายด้วยส่วนที่แตกหักหลุดออกไป รวมถึงดูดเศษตะไคร่ที่ตายแล้วออกให้มากที่สุด และมีสัตว์ที่ช่วยกำจัดเศษตะไคร่ที่ยังหลงเหลือทั้งที่ตายแล้วหรือร่อแร่ เช่นกุ้งและปลากินตะไคร่ต่างๆ



Cladophora อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับมาริโมะ

กลูตาราลดีไฮด์ Glutaraldehyde (C5H8O2) สำหรับตะไคร่ชนิดนี้ก็ใช้ได้ผล แต่ต้องใช้โดสค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับปริมาณที่ต้นไม้หลายตัวจะพลีชีพไปด้วยกัน ทำให้ใช้ยาก และเสี่ยงจนผมไม่แนะนำเท่าไหร่ครับ แต่ใช้ได้ดีกับการกำจัดตะไคร่บนขอนอนูเบียส, เฟิร์น และไม้พันขอนที่สามารถยกออกจากตู้ ชนิดที่ทนๆหน่อย หรือขอนเปล่าๆ ด้วยการเอาขอนนั้นออกมาจากตู้แล้วพ่นหรือทาน้ำยากลูตาราลดีไฮด์ ไปที่ตะไคร่โดยตรง (พ่นดีกว่านะ แต่ระวังอย่าให้โดนมือหรือเข้าตา และที่สำคัญ อย่าดม!)

สัตว์กินตะไคร่ตัวนี้แทบไม่ต้องหวังเลยครับ แทบจะไม่ช่วยอะไรเลย ตัวที่ค่อนข้าง "โหด" อย่างเช่นปลาตระกูล Barb หมอโทรเฟียส หรือตะกรับหน้าแดง ก็กินตะไคร่ตัวนี้เหมือนกันนะครับ แต่มันไม่ค่อยจะกิน เรียกว่าต้องอดอาหารจนหิวได้ที่เสียก่อนถึงจะกิน หรือไม่ก็กินแบบนิดๆหน่อยๆ หรือกุ้งฝอยก็กินบ้างเหมือนกัน แต่ต้องใช้ปริมาณเยอะหลายตัว และเสี่ยงต่อการที่มันจะกินต้นไม้อื่น และสัตว์กินตะไคร่ทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็ไม่สามารถหวังผลในการ "ควบคุม" ปริมาณตะไคร่ชนิดนี้ได้เท่าไหร่ เพราะส่วนมากจะไม่สามารถเอาไว้ในตู้ได้ เนื่องจากมีนิสัยกัดกินต้นไม้น้ำ

การป้องกันตะไคร่ชนิดนี้สามารถทำได้โดยการล้างต้นไม้น้ำที่จะเอาลงตู้ให้สะอาดโดยการเปิดฉีดน้ำประปาให้ไหลผ่านสักระยะหนึ่ง หรือแช่ในไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1ml ต่อน้ำ 1 ลิตร ราวๆ 30 วินาที (วิธีนี้ปกติผมมั่วๆอัตราส่วนและระยะเวลาเอาเองนะครับ ไม่ได้ตวงแน่นอน อาจจะต้องกะๆเอาให้เหมาะกับสภาพไม้แต่ละตัว แต่ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย) หรือจุ่มต้นไม้น้ำลงในไฮเตอร์ (Bleach) ผสมน้ำเปล่าในอัตรา 1:20 ทิ้งไว้ 10-20 วินาที แล้วแช่ล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ
ไอ้  Cladophora นี่ ผมเจอติดมากับสาหร่ายครับ ตอนไปเอาสาหร่ายจากอ่างบัวข้างบ้านมาใส่ให้กุ้งแคระที่ตัวเองเลี้ยงไว้ [smile02]  ตอนแรกคิดว่านิดๆหน่อยไม่เป็นไร กุ้งเชอรี่ที่เลี้ยงไว้คงกินได้ ปรากฎว่าตอนนี้พวกเจริญเติบโตเกาะหินแทนมอสผมไปเรียบร้อยแล้วครับ มองแล้วอาร์ต(?) ไปอีกแบบ[/font]

เห็นเขาบอก มาลายัน,ยามาโตะ,เรดโนส ลองโนสก็กินนะครับ แต่ไม่แน่ใจ วันนี้เดินทางหากุ้งมาลายาไม่เจอเลยซื้อกุ้งฝอยมาแทนก่อน

ปล.หลังๆมา เหมือนเชอรี่บ้านผมเริ่มมีไปเกาะตอดกินตะไคร่ตัวนี้แล้วนะครับ (น่าจะเป็นเพราะผมปล่อยให้หากินเองตลอด)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/08/2560 [19:53:03] โดย Dear_jan. »
ปลาเชอรี่ บาร์บ พอจะกินตะไคร่ Cladophora ไหมครับ?
ปลาเชอรี่ บาร์บ พอจะกินตะไคร่ Cladophora ไหมครับ?

ตระกูลบาร์บกินทุกตัวอยู่แล้วครับ เพราะเป็นปลากินพืชทั้งหมด แต่ต้นไม้จะโดนหลายตัว พวกที่ใบอ่อนๆและขนาดเข้าปากมันได้เป็นโดนสอยเรียบ