วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 [10:07:40]

พ108 ปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ

พ108 ปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ เมื่อ: 07/04/2562 [15:28:33]
ปุ๋ยคือสารที่พืชดูดซึมจากทางรากและทางใบเพื่อใช้ในการสร้างพลังงานของพืช เหมือนคนต้องกินข้าวครับ ถ้าไม่มีการให้ปุ๋ย พืชก็จะไม่โต เราจึงต้องให้ปุ๋ยเพื่อเป็นอาหารให้กับพืช แม้แต่ในตู้ไม้น้ำที่ใช้ดินเป็นวัสดุปลูก ก็ยังต้องมีการให้ปุ๋ยเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งปุ๋ยที่มีอยู่ในดินนั้นก็จะหมดไป

ปุ๋ยสำหรับตู้ไม้น้ำจะมีอยู่ 3 ชนิด

1. ปุ๋ยน้ำ สำหรับใส่ในน้ำ เพื่อให้ปุ๋ยทางใบ
2. ปุ๋ยฝัง มีทั้งที่อยู่ในแคปซูล อัดเม็ด อัดแท่ง ใช้ฝังเพื่อให้ปุ๋ยทางราก
3. ปุ๋ยรองพื้น ใช้สำหรับรองพื้นก่อนเทวัสดุปลูก นิยมใช้กับตู้ที่รองพื้นด้วยกรวด,ทราย ลักษณะเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ

ซึ่่งทั้งสามแบบ มันก็มีส่วนประกอบคล้ายๆๆกันนั่นแหละครับ คือประกอบด้วยแร่ธาตุที่พืชต้องการ 17 ชนิด[1] เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันและมีสัดส่วนแร่ธาตุแตกต่างกันไป

ธาตุอาหารหลัก (primary macronutrients) ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), และโพแทสเซียม (K)
ธาตุอาหารรอง (secondary macronutrients) ได้แก่ แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg), และซัลเฟอร์(กำมะถัน) (S)
ธาตุรอาหารเสริม (micronutrients) ได้แก่ แมงกานีส (Mn), ทองแดง (Cu), คลอรีน (Cl), เหล็ก (Fe), โบรอน (B), สังกะสี (Zn), โมลิบดินัม (Mo), และนิกเกิ้ล (Ni)

พืชจะใช้แร่ธาตุเหล่านี้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างส่วนประกอบต่างๆ ร่วมกับสารหลักอีกสามตัว[2] คือ คาร์บอน (C), ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ที่พืชก็ได้จากการดูดซึมจากรอบตัวเหมือนกัน แต่เรามีการให้แร่ธาตุเหล่านี้กับพืชด้วยวิธีอื่น จึงขอไม่รวมอยู่ในกลุ่มปุ๋ยครับ

1. ปุ๋ยน้ำ

ปุ๋ยน้ำคือปุ๋ยที่อยู่ในรูปแบบของเหลว เพื่อให้อาหารกับพืชที่สามารถดูดซึมผ่านทางใบและรากในน้ำได้ เช่น เฟิร์น, มอส, พีเลีย, จอก, พืชลอยน้ำและไม้ข้อทุกชนิด ซึ่งปุ๋ยแต่ละยี่ห้อแต่ละสูตรก็จะมีการผสมแร่ธาตุต่างๆไว้ในอัตราส่วนที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น ปุ๋ยที่เน้นการเจริญเติบโตของพืชอย่าง Aquamania Maxima Gold และ Ferka Aquatilizer หรือปุ๋ยที่เน้นการสร้างสีสันของไม้น้ำสีแดงอย่าง Azoo RED Advan และ Aquamania Micro Nutrients และปุ๋ยที่ผสมแร่ธาตุมาเพียงชนิดเดียวเพื่อใช้ในการเพิ่มแร่ธาตุบางตัวเพียงอย่างเดียวหรือแก้ไขอาการขาดธาตุนั้นๆ เช่น ปุ๋ยธาตุเหล็ก Aquamania FE+ และ ปุ๋ยธาตุโพแทสเซียม Ferka Balance-K


ตัวอย่างปุ๋ยน้ำของ Aquamania


ปุ๋ยน้ำ Azoo PLANT PREMIUM

ปุ๋ยน้ำ Azoo RED Advan


ปุ๋ยน้ำ Ferka Aquatilizer


ปุ๋ยน้ำ Ferka Balance-K


* หากใช้วัสดุปลูกเป็นดินก็ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยน้ำในช่วงแรก เพราะดินจะปล่อยปุ๋ยออกมาละลายในน้ำส่วนหนึ่งอยู่แล้ว และปกติก็มักจะปล่อยออกมามากจนเกินไปในช่วงแรกจนทำให้เกิดตะไคร่ได้ง่ายด้วย จึงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยน้ำในช่วง 1-2 เดือนแรกเลย แต่หากเป็นตู้ที่ลงไม้โตเร็วเยอะ ตู้มีอัตราการใช้ปุ๋ยสูง จะเริ่มใส่ปุ๋ยน้ำตั้งแต่แรกเลยก็ได้

2. ปุ๋ยฝัง

ปุ๋ยฝังจะใช้เพื่อให้ปุ๋ยกับพืชที่ดูดซึมทางราก และควรใช้ก็ต่อเมื่อเป็นตู้ที่ใช้วัสดุปลูกเป็นกรวด, ทราย หรือตู้ดินที่มีอายุมากกว่า 2-3 เดือนขึ้นไป (เพื่อไม่ให้มีปุ๋ยละลายอยู่ในน้ำมากเกินไปจนทำให้เกิดตะไคร่) โดยปุ๋ยฝังจะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบแคบซูล แบบผงอัดเม็ด และแบบอื่นๆแล้วแต่ผู้ผลิตจะออกแบบมา ใช้ฝังลงในชั้นของวัสดุปลูกเพื่อให้ละลายออกมาอย่างช้าๆให้รากพืชดูดซึมไปใช้ได้ ซึ่งพืชที่จะได้ประโยชน์จากปุ๋ยชนิดฝัง ก็จะเป็นพืชชนิดที่ดูดซึมปุ๋ยทางรากเป็นหลัก เช่น ไม้กลุ่มคริป, บัว, เทป, หญ้าเทเนลุส, หญ้าซาจิ โดยเฉพาะไม้ที่มีระบบรากเยอะและแข็งแรงอย่างคริปและบัวนั้นปุ๋ยฝังถือว่าจำเป็นอย่างมากเพื่อให้ไม้เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ เพราะไม้พวกนี้จะดูดซึมสารอาหารจากทางรากเป็นหลักและแทบไม่ดูดซึมอาหารทางใบเลย


ปุ๋ยฝังของ RAW



ปุ๋ยฝังชนิดแคบซูล Ferka Stemma



3. ปุ๋ยรองพื้น

ปุ๋ยรองพื้นจะจำเป็นก็ต่อเมื่อเรารองพื้นตู้ด้วยกรวด เพราะในกรวดไม่มีปุ๋ยไม่มีแร่ธาตุอะไรละลายออกมา ต้นไม้ก็ไม่รู้จะเอาปุ๋ยจากไหนไปใช้ แต่ถ้ารองพื้นตู้ด้วยดิน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น (จะใช้ด้วยก็ได้ ถ้าต้องการให้ในชั้นวัสดุปลูกมีสารอาหารมากขึ้นในกรณีที่ต้องการความสมบูรณ์ของไม้อย่างเต็มที่ แต่ไม่แนะนำสำหรับมือใหม่นะครับ คุมไม่ดีตะไคร่บานทุ่ง) โดยในปุ๋ยรองพื้นส่วนมากก็จะมีส่วนผสมประเภทวัตถุชีวภาพ เพื่อให้เกิดการย่อยสลายและปลดปล่อยสารอาหารออกมาอย่างช้าๆ มีปุ๋ยให้พืชได้นานๆ ไม่ใช่ออกมาพรวดเดียวหมดในไม่กี่วัน


ตัวอย่างปุ๋ยรองพื้น Ferka AquaBase ใช้โรยที่พื้นตู้ก่อนลงกรวด หรือคลุกกับกรวดครึ่งหนึ่ง แล้วทับหน้าด้วยกรวดเปล่าๆอีกครึ่งที่เหลือ

หรือจะไม่ใช้ปุ๋ยรองพื้น แล้วใช้ปุ๋ยฝังแทนก็ได้ แต่จะราคาแพงกว่าเมื่อเทียบปริมาณ และลักษณะการปล่อยแร่ธาตุก็จะเร็วกว่าแบบรองพื้น อาจจะทำให้ไม้ได้ปุ๋ยไม่สม่ำเสมอเท่าแบบรองพื้นที่จะค่อยๆย่อยสลายอย่างช้าๆ



อ้างอิง

1. Plant Analysis Handbook – Nutrient Content of Plants - Agricultural and Environmental Services Laboratories (AESL) 2010
2. Nutrients Plants Require for Growth - Robert L. Mahler



บทความสำหรับผู้เริ่มต้นเลี้ยงไม้น้ำ

พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้น
พ102 วัสดุปลูก
พ103 แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ104 ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
พ105 ระบบกรองสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ106 การเลือกและเตรียมต้นไม้น้ำ
พ107 การเซ็ตตู้ไม้น้ำ ภาคปฎิบัติ
พ108 ปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18/03/2563 [11:14:33] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)