คนที่เริ่มตั้งตู้ไม้น้ำ เวลาไปเดินเลือกซื้อของคงจะเคยเกิดอาการมึนกันบ้างนะครับ
จะต้องซื้ออะไรบ้าง อันนี้ต้องใช้ไหม อันนี้เอาแบบไหนดี...
ต้นไม้น้ำ ก็เป็นอีกอย่างในรายการของที่ต้องซื้อ ที่ทำให้เรา งง มึน สับสน ได้มากทีเดียว
เพราะส่วนมากตอนที่เริ่มซื้อครั้งแรก เราจะยังไม่ค่อยรู้ว่าต้นไหนเป็นต้นไหน (ผมเลี้ยงมาตั้งนานยังเรียกชื่อต้นไม้ไม่ค่อยถูกเล้ย...[lol])
ต้นนี้โตมาหน้าตาจะเป็นยังไง มันจะโตไปทางไหน แล้วในตลาดก็มีต้นไม้น้ำให้เลือกมากมายซะเหลือเกิน
เดี๋ยวผมจะมาไกด์ให้ดูครับ ว่าเราจะเลือกไม้ชนิดไหนดี และเอากลับบานมาแล้วจะจัดการยังไงกับมัน
จะผัดน้ำมันหอยหรือว่าลวกจิ้มดี...
ขั้นแรกเราจะต้องแบ่งประเภทต้นไม้เสียก่อนครับ
ถ้าจะแบ่งประเภทไม้น้ำตามลักษณะทรงต้น เราจะแบ่งได้เป็น
1. ไม้กอ แตกไหล จะเป็นทรงพุ่มๆ กอๆ เหมือนหญ้าขน อะไรทำนองนั้น พวกที่อยู่ใน
ประเภทนี้ก็เช่น ไม้ตระกูลคริป (Cryptocoryne), อเมซอน (Echinodorus)
2. ไม้ข้อ ลักษณะต้นจะเป็นข้อๆ มีใบติดอยู่ตรงข้อ ข้อละชุดหนึ่ง สองสามใบ เช่น
ตระกูลโรทาล่า (Rotala) ไฮโกรฟิลเลีย (Hygrophila)
3. ไม้หัว เป็นไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน เช่น บัวต่างๆ, หนวดปลาหมึก (Crinum calamistratum),
ไม้ตระกูล Aponogeton
4. เฟิร์น หน้าตาคล้ายๆเฟิร์นบก แต่อยู่ในน้ำ
5. มอส ก็มอสอ่ะนะ เหมือนๆกับมอสบนบก
6. ไม้ลอยน้ำ พวกที่มีชีวิตลอยเท้งเต้งอยู่ที่ผิวน้ำ เช่น จอก แหน
แต่การแบ่งประเภทที่ว่ามาทั้งหมด วันนี้เราจะยังไม่สน
เพราะเราจะเลือกไม้มาลงตู้ใหม่ ฉะนั้นการเลือก เราต้องเลือกไม้ตามตำแหน่งที่เราจะปลูกมัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น
1. ไม้หน้าตู้ คือไม้ที่ทรงต้นเตี้ยๆ เหมาะแก่การเอาไว้ด้านหน้าตู้
2. ไม้กลางตู้ ไม้ทรงสูงปานกลาง เหมาะเอาไว้คั่นจังหวะระหว่างไม้หน้าตู้กับไม้หลังตู้ ปิดรอยต่อหิน, ขอนกับพื้น
3. ไม้หลังตู้ ไม้ทรงสูง เหมาะไว้เป็นพื้นหลัง
4. ไม้เกาะขอน, หิน ไม้จำพวกที่ใช้มัด พัน ติดไว้กับขอนไม้หรือหิน เช่น มอส เฟิร์น อนูเบียส บูเซ็ป
5. ไม้ลอยน้ำ ลอยประดับไว้สำหรับคนที่ชอบ ลอยไว้ดูดปุ๋ยป้องกันตะไคร่ ลอยไว้บังแสงให้ไม้อื่น
ลองดูตู้ด้านบนนี้จะเห็นภาพชัดขึ้นนะครับ ว่าไม้ประเภทไหนอยู่ตรงไหน
ถ้าเราไม่จัดตำแหน่งไม้ให้ดี ก็จะเป็นอย่างในรูปข้างบนนี้ครับ ในวงแดงๆนั่นคือไม้ตระกูลอเมซอน (Echinodorus) พันธุ์หนึ่ง
จากความสูงของมัน เมื่ออยู่ในตู้นี้ที่สูง 14 นิ้ว มันควรจะเป็นไม้ระดับกลางตู้แล้ว แต่ผมก็เอามันปักไว้เสียห่างจากหน้าตู้ไม่ถึง 5 ซม.
พอต้นมันโตขึ้น กอมันก็ขยายมาชิดกระจกหน้าตู้ จนเป็นแบบที่เห็น
คราวนี้เราจะมาดูว่า ไม้แต่ละประเภท มีชนิดไหนบ้าง
1. ไม้หน้าตู้
หญ้าซาจิ Sagittaria subulata | คริปพาวา Cryptocoryne parva | มาซิเลีย Marsilea hirsuta |
2. ไม้กลางตู้
อเมซอนโอพาคัส Echinodorus Santa Maria | ไฮโกรใบมน Staurogyne repens |
3. ไม้หลังตู้
โรทาล่า วอลลิชี่ Rotala Wallichii | โรทาล่ามาครานดา Rotala Macrandra | โรทาล่านานเจนชาน Rotala SP. "Nanjenshan" |
4. ไม้เกาะขอน, หิน
5. ไม้ลอยน้ำ
จอกญี่ปุ่น, จอกอเมซอน Limnobium Laevigatum |
ก็เลือกเอาตามเลย์เอาท์ที่เราคิดไว้นะครับ ว่าอยากให้มีไม้อะไรอยู่ตรงไหนบ้าง
ตรงนี้ผมคัดมาเฉพาะไม้ที่มีความต้องการปัจจัยต่างๆไม่มากนัก เลี้ยงได้ไม่ยากเกินไป เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเลี้ยงไม้น้ำ
ถ้าคิดไม่ออกว่าจะเอาต้นไหนบ้าง ให้หาดูรูปตู้คนอื่นเยอะๆ แล้วเลือกลักษณะเลย์เอาท์ที่เราชอบ ดูไม้ที่เราชอบ ดูว่าเขาใช้ไม้อะไร จัดวางไว้ตรงไหน
การวาดรูปเลย์เอาท์ที่จะจัดก่อนทำตู้จริงก็ช่วยให้เราจัดวางไม้ได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นและเป็นการวางแผนที่ดีซึ่งควรจะทำทุกครั้ง
การเตรียมไม้น้ำก่อนลงปลูก
เราอาจจะได้ไม้น้ำมาในหลายๆรูปแบบ ทั้งอยู่ในกระถางพลาสติก กระถางดินเผา อยู่ในวัสดุประเภทใยหินหรือดิน, กรวด หรือมาเป็นต้นเปล่าๆเลย
ถ้ามาในกระถางก็เอากระถางและวัสดุปลูกออกให้หมด หรือถ้ารากมันงอกพันจนเอาไม่ออก ก็พยายามเอาออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
พอเหลือแต่ต้นเปล่าๆแล้ว เราก็เอามาล้างเอาฝุ่น ดิน หอย ตะไคร่ ออกจากต้นไม้
ก็ใช้น้ำประปาเนี่ยแหละครับ เอามือรองๆดูอย่าให้ร้อนเกินไปก็แล้วกัน เอามาเขย่าๆสะบัดๆเบาๆก็พอนะครับ ไม่ใช่บอกล้างก็ถูซะเป็นล้างผัก
ล้างแค่พอให้น้ำมันผ่านๆชะล้างสิ่งสกปรกออกไปบ้างเท่านั้น
ระหว่างล้างก็เด็ดใบเน่าๆ เก็บหอยและไข่หอยออก รวมถึงตะไคร่ (ถ้ามี)
ใครกลัวหอยระบาดในตู้ก็อาจจะเอาต้นไม้แช่ไว้ในกาละมัง วางเอาไว้นอกบ้านที่มีแดดรำไร หรือเปิดไฟให้มัน
ทิ้งไว้ซัก 1-2 อาทิตย์ ระหว่างนี้ก็คอยเช็ค เก็บหอยออกไปเรื่อยๆ
แต่ขั้นตอนนี้ไม่แนะนำให้ทำเท่าไหร่ เพราะโอกาสป้องกันหอยให้ได้ 100% นั้นมีน้อยมากกกกกกกก
เรียกว่ายังไงก็โดน ซักวัน ช้าหรือเร็วเท่านั้น
มาใช้วิธีควบคุมปริมาณด้วยการจำกัดแหล่งอาหารหรือใช้สัตว์ผู้ล่าที่กินหอยจะง่ายกว่า
พอล้างเสร็จแล้ว เราก็มาตัดแต่งต้นไม้ให้พร้อมกับการเอาไปปลูก
ใครจะปักไปเตรียมไปก็ได้นะครับ แต่มันจะลำบาก ขัดเขิน ตัดที ปักที เตรียมให้เรียบร้อยก่อนเลยค่อยปักทีเดียวดีกว่า
พวกไม้ที่เป็นไหลๆ จำพวกหญ้าแฮร์กลาส ซาจิ มาซิเลีย ก็เริ่มจากตัดแบ่งไหลมันก่อนครับ
ถ้ารากมันยาวไปก็ตัดออกได้ จะได้ปักง่ายๆ เดี๋ยวมันก็งอกใหม่
มาซิเลียก็เหมือนๆกัน
พวกไม้ข้อถ้าได้มาเป็นต้นยาวเกินไปก็ตัดแบ่งได้ตามความยาว ตัดตรงกลางระหว่างข้อได้เลย
รากก็ตัดได้เหมือนกันถ้ายาวเกิน
ไม้ข้อบางชนิดจะมีใบยาว แข็ง ทำให้ปักลำบาก ปักแล้วหลุดลอย
การตัดใบด้านล่างๆตรงโคนออกบ้างแบบนี้จะทำให้ปักได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาใบเน่าและต้นไม้หลุดได้ดีครับ
ไม้ตระกูลคริปและอเมซอน บางครั้งจะได้มาแบบรากยาวย้วยยยยยยยยย
เราก็ตัดมันได้เหมือนกันครับ ถ้าปล่อยยาวๆไว้บางครั้งก็จะทำให้ปักยาก
ใบเก่าๆที่ด้านนอกถ้าดูแล้วมันไม่สวยหรือแก่เกินไป หรือทำท่าจะเน่า ก็เด็ดหรือตัดออกได้เลยนะครับ
เรียบร้อย สวยงาม ทีนี้การปักต้นไม้ของเราก็จะราบรื่น สะดวกรวดเร็วขึ้นอีกเยอะ
การนำไปปักก็หาถาดหรือกาละมังมาใส่ไป ใส่น้ำลงไปด้วยนิดหน่อยก็ได้ เอาพอให้ต้นปริ่มๆน้ำ จะได้ไม่ต้องกังวลว่าต้นไม้จะแห้งระหว่างที่ปัก
หรือจะใช้ขวดสเปรย์คอยพ่นให้แฉะๆไว้ก็ได้เหมือนกัน
เอาทีนี้ก็ไปปักได้แล้ว
พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้น
พ102 วัสดุปลูก
พ103 แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ104 ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
พ105 ระบบกรองสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ106 การเลือกและเตรียมต้นไม้น้ำ
พ107 การเซ็ตตู้ไม้น้ำ ภาคปฎิบัติ
พ108 ปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ