วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567 [04:56:18]

พ103 แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ

เรารู้จากบทความ พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้นก่อนหน้านี้แล้วว่าพืชต้องการแสงเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกระบวนการในการสร้างแหล่งพลังงานของพืช (ใครยังไม่ได้อ่านก็ไปอ่านก่อนนะครับจะได้เข้าใจได้โดยง่าย เพราะบทความนี้จะเริ่มลงลึกเกี่ยวกับระบบไฟในตู้ไม้น้ำแล้ว)
พืชจะเปลี่ยนแสงให้เป็นพลังงาน เหมือนกับการที่เราหายใจ เราไม่มีข้าวกินได้หลายวัน แต่ถ้าไม่หายใจ สองสามนาทีก็ตายแล้ว [puke03] ดังนั้นระบบแสงสว่างจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำตู้ไม้น้ำ แน่นอนว่าแสงอาทิตย์เป็นแสงที่ดีที่สุดสำหรับพืช เพราะมันวิวัฒนาการมาเพื่อใช้แสงแดดเป็นล้านปีแล้ว แต่แสงอาทิตย์มันมาบ้างไม่มาบ้าง แถมส่วนมากที่ตั้งตู้ก็ไม่ได้อยู่ในที่ๆมีแสงแดดส่องถึงกันด้วย ผู้เลี้ยงส่วนมากจึงใช้แสงประดิษฐ์จากน้ำมือมนุษย์ หรือแสงจากหลอดไฟครับ ยกเว้นตามฟาร์มที่เพาะต้นไม้น้ำขาย ที่เขาใช้แสงธรรมชาติกัน

ไฟสำหรับตู้ไม้น้ำเนี่ยมันมีแบบไหนบ้างล่ะ?

1. ไฟ LED



โคม LED ของ Chihiros A-Series


หลอด LED ของรุ่นนี้หน้าตามันจะแบบนี้ครับ เป็นเม็ดๆติดกันเป็นแผงๆ รุ่นอื่นๆก็อาจจะแตกต่างกันออกไปครับ มีหลายแบบมากๆ ไฟ LED เป็นโคมไฟชนิดที่นิยมกันมากที่สุดตอนนี้ เนื่องจาก

  • ลักษณะของหลอดที่ส่องแสงออกมาด้านเดียวไม่เกิน 180 องศา ทำให้แสงไม่กระจายไปนอกตู้มากนัก ไม่สิ้นเปลืองพลังงานไปเปล่าๆ
  • มีขนาดเล็ก สามารถผลิตโคมออกมาเพื่อใส่ในตู้ได้ทุกขนาด แม้แต่ตู้นาโนขนาด 6 นิ้วก็มีโคม LED ขนาดจิ๋วๆใส่
  • ปล่อยความร้อนน้อยกว่าหลอดชนิดอื่นๆ สูญเสียพลังงานน้อย
  • สิ้นเปลืองพลังงานต่ำ ให้ความสว่างได้มากกว่าหลอดชนิดอื่นในขณะที่ใช้พลังงานน้อยกว่า อย่างเช่นโคม LED สำหรับตู้ 24 นิ้ว จะกินไฟประมาณ 40วัตต์ ในขณะที่ถ้าเป็นโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์จะต้องใช้ประมาณ 70-80w เพื่อให้ได้ความสว่างเพียงพอสำหรับต้นไม้น้ำ

ด้วยข้อดีเหล่านี้ทำให้หลอด LED นั้นเหมาะกับการใช้งานในตู้ไม้น้ำเป็นอย่างมาก แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันคือ

  • ความทนทานในการใช้งานต่ำกว่าหลอดชนิดอื่น (ไม่ใช่อายุการใช้งานนะครับ เป็นความทนทานในสภาวะการใช้งานต่างๆ หรือเรียกว่าไม่ค่อยทนมือทนตีน ว่างั้น [smile01] ) เช่น บางครั้งเวลาทำตก โคม LED ก็อาจจะดับไปเป็นแถบๆได้เลยครับ หรือบางครั้งแค่ตกน้ำก็พังได้ง่ายๆ (โดยเฉพาะตกบ่อยๆ) ในขณะที่โคมหลอดฟลูออเรสเซนต์ส่วนมากเอาขึ้นมาตากให้แห้งก็ใช้ได้
  • เปลี่ยนเฉพาะหลอดยาก (โดยผู้เลี้ยงทั่วไป แต่ถ้าพอบัดกรีเป็นก็ไม่ยากครับ) ถ้าหลอดเสื่อมหรือพังแล้วมักจะต้องเปลี่ยนทั้งโคม อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของโคม LED เลย แต่โดยส่วนมากก็มักจะไม่เสียเร็วนักหรอกครับ (ถ้าไม่ซวยจัด [lol01] ) พอจะเลี้ยงจนเบื่อไปได้สบายๆ 3-5 ปี



โคมไฟ Chihiros WRGBII60


ถึงแม้จะมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่เมื่อเทียบกับหลอดชนิดอื่นๆแล้ว หลอด LED ก็ยังได้เปรียบอยู่มาก ทำให้ตอนนี้เกือบจะเป็นหลอดชนิดเดียวที่มีขายอยู่ในตลาดขณะนี้ และส่วนตัวผมก็แนะนำให้ใช้โคม LED มากกว่า เพราะโคม LED สำหรับไม้น้ำทุกวันนี้มันดีกว่าหลอดชนิดอื่นๆในแทบทุกด้าน ยกเว้นว่าที่บ้านมีโคมชนิดอื่นอยู่แล้วและยังไม่อยากเปลี่ยน ก็ใช้ไปได้ครับ ด้านประสิทธิภาพไม่ต่างกันมากนัก ผลลัพท์ที่ออกมามันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกเยอะ

2. หลอดฟลูออเรสเซนต์

หรือหลอดนีออนที่ชอบเรียกเรียกๆกันนั่นแหละ (แต่ที่จริงมันไม่ใช่หลอดนีออน อันนั้นเขาเลิกใช้กันตามบ้านทั่วไปไปนานแล้ว)

หลอดชนิดฟลูออเรสเซนต์นี่จะแบ่งย่อยได้อีกหลายอันครับ

2.1 หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบท่อตรงธรรมดา
หลอดแบบนี้ก็คือหลอดที่เห็นติดตามเพดานตามบ้านนั่นแหละครับ แบบเดียวกัน มีแยกขนาดความสั้นยาวและความอ้วนผอมอีกหลายขนาด

เส้นผ่านศูนย์กลาง หรือความอ้วนของหลอดจะแบ่งรุ่นเป็นขนาดหุน (1/8 นิ้ว) เช่นหลอด T8 ก็จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลอด 8 หุน T10 ก็ 10 หุน
ความยาวของหลอด จะแตกต่างกันตามจำนวนวัตต์ เช่นหลอด 36w ก็จะยาวกว่าหลอด 24w และ 18w

ดูในรูปด้านล่างครับ สองอันล่างคือหลอดฟลูฯตรงธรรมดา
แต่หลอดอันที่ 2 นับจากข้างล่างขึ้นไป มันเรียวๆกว่าอันล่างใช่ไหม?

มันคือหลอดผอมโคตรๆ ที่เรียกว่า T5 (5 คือ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 หุน) อันล่างสุดคือ T8 (8หุน) มันไม่ต่างกันหรอก แค่ T5 มันก็คือหลอดฟลูฯ ที่เขาทำมาให้มันสว่างได้พอๆกะ T8 ในขณะที่กินไฟน้อยกว่าหน่อย เท่านั้นแหละ เหมือนตอนที่เปลี่ยนจากหลอดอ้วน (T10) มาใช้หลอดผอมประหยัดไฟ (T8) ไง (หลอด T5 สามารถใช้วงจร driver ของหลอด T8 ได้แม้ว่าจำนวนวัตต์จะไม่เท่ากัน แต่ต้องเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่สามารถใช้บัลลาสต์ขดลวด+สตาร์ทเตอร์ได้ ขั้วหลอดจะดำในทันที)


ภาพจาก wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/File:Leuchtstofflampen-chtaube050409.jpg

สองอันบนคือ PL (หลอดฟลูฯพับทบ) สองอันล่างคือฟลูฯธรรมดา ตรงๆ

2.2 หลอด PL หรือ Parallel Fluorescent หรือหลอดฟลูแบบขนาน (Parallel)
มันคือหลอดฟลูฯแบบตรงๆ ที่เอามาพับทบกัน เท่านั้นแหละ อาจจะพับสองทบ สามสี่ทบ ก็เหมือนๆกัน ดูในรูปด้านบน สองอันบนน่ะครับ PL
หลอดแบบนี้จะต้องใช้วงจร Driver หรือบัลลาสต์ โดยใช้ได้ทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์และแบบขดลวด และใช้วงจรชนิดเดียวกับแบบหลอดตรงๆครับ ใช้แทนกันได้เลยถ้าจำนวนวัตต์ตรงกัน

2.3 หลอด Compact Fluorescent Lamp หรือหลอด CFL
พวกนี้คือหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ทำมาเพื่อให้ใช้งานง่าย โดยรวมวงจรที่ใช้ควบคุมหลอดเข้าไปอยู่ในตัวหลอดเลย โดยอาจจะรวมเข้าไปบางส่วน และยังต้องใช้บัลลาสต์ช่วย หรืออาจจะรวมเข้าไปทั้งหมดเลย แค่เอาเสียบไปที่ขั้วก็ใช้งานได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อย่างอื่นอีก รวมถึงทำมาเพื่อให้มีขนาดเล็ก



ตัวอย่างหลอด CFL ที่คุ้นกันดีคือแบบขั้ว E27 หรือขั้ว Edison ขนาด 27mm ใช้ตามบ้านทั่วไปแทนหลอดไส้แบบเก๊าเก่า (เด็กๆสมัยนี้อาจจะไม่รู้จักกันแล้วมั้ง)

หลอดแบบนี้ทุกวันนี้ก็ยังใช้ได้ดีนะครับ โดยเฉพาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มและใช้ตู้ขนาดไม่ใหญ่นัก อย่างเช่นตู้เล็กๆขนาดไม่เกิน 10 นิ้วนี่ก็ใช้หลอด CFL สัก 18-25w ได้เลย จะเสียบกับโคมอ่านหนังสือที่มีอยู่แล้วหรือโคมไฟแบบหนีบก็ได้ครับ ขอให้เอามันส่องลงตู้แล้วไม่หล่นน้ำก็เป็นอันใช้ได้

หลอดฟลูออเรสเซนต์ทั้งแบบตรงและแบบ PL เป็นหลอดที่นิยมใช้กันในช่วงก่อนหน้ายุค LED จะบูม ถึงแม้ตอนนี้ความนิยมจะลดลงไปมาก แต่หลอดฟลูก็มีลักษณะเฉพาะสำคัญที่ทำให้เหมาะกับการใช้งานในบางตู้เหมือนกันนะครับ เพราะว่าหลอดราคาถูกหาซื้อได้ง่าย หลอดฟลู T5 หรือ T8 ขนาด 36W แบบธรรมดาที่ใช้กันตามบ้านทั่วไป 6500K จะมีราคาประมาณ 60-100 บาทต่อหลอดเท่านั้น ทั้งรางเลยก็ 250-350 ถ้าเป็นหลอด CFL ก็ 50-250บ. แล้วแต่จำนวนวัตต์ แถมยังหาซื้อได้ง่ายตามต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ทำให้เหมาะกับหลายๆคนที่ไม่สะดวกในการหาซื้ออุปกรณ์เฉพาะทางในการเลี้ยงไม้น้ำอย่างพวกโคมเฉพาะสำหรับตู้ปลา เพราะสามารถติดตั้งไฟได้เอง ขอแค่มีหัวทางช่างสักเล็กน้อย และไม่ต้องกลัวว่าจะใช้เลี้ยงไม่ได้ครับ เซียนไม้น้ำรุ่นก่อนๆเขาก็ใช้หลอดประเภทนี้เลี้ยงกันได้งามๆ



3. หลอดเมทัล-ฮาไลด์


รูปโคมเมทัล-ฮาไลด์


ภาพจาก wikipedia http://en.wikipedia.org/wiki/File:150_Watt_Metal_Halide.jpg

รูปหลอดเมทัล-ฮาไลด์

หลอดเมทัล-ฮาไลด์ หรือ Metal-Halide (ที่ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่า หลอด MH) มันคือหลอดที่มักจะอยู่ในโคมแบบที่เอาไว้ส่องป้ายโฆษณาตามทางด่วนนั่นแหละ บางคนอาจจะเรียกว่าโคมสปอทไลท์ ก็ได้อยู่นะ เพียงแต่หลอดที่ใช้กับไม้น้ำได้ แสงที่มันออกมามันจะมีสีขาว อุณหภูมิสีอยู่แถวๆ 4200-6500K ไม่ใช่สีส้มๆแบบไฟส่องป้ายส่องถนน

ในการใช้งานจะต้องใช้ร่วมกับวงจร Driver เหมือนกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ คือต้องมีบัลลาสต์ (Ballast) + อิกไนท์เตอร์ (Igniter) หรือเป็นวงจรขับแบบอิเล็กทรอนิกส์
ข้อดีหลักๆของหลอด MH คือเป็นหลอดที่ให้แสงได้ใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีแทบทุกชนิด และยังให้แสงในตู้ได้สวยงาม มีคอนทราสหรือความตัดกันของแสงและเงาชัด โดยเฉพาะเมื่อแสงจากหลอด MH สะท้อนผิวน้ำที่เป็นคลื่น จะเกิดริ้วแสงสะท้อนเป็นลำลงมาในตู้เหมือนแสงแดดในธรรมชาติเด๊ะๆ


ดูแสงเงาที่พื้นกรวดด้านล่าง จะเห็นว่าตัดกันค่อนข้างชัดเจน ซึ่งหลอดชนิดอื่นๆจะทำไม่ได้ดีเท่า MH ยกเว้น LED ชนิดที่เป็นหลอดเดี่ยวแบบโคม Chihiros X-Series


เห็นลำแสงเฮ้ากวงมาเป็นริ้วๆ ซึ่งอีแสงนี่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะชอบนะ บางคนก็ชอบแสงนุ่มๆจากโคม LED แผงๆหรือโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์มากกว่า

แต่โคม MH ก็มีข้อเสียใหญ่หลวงคือมันร้อนมากๆครับ ร้อนแบบเอากล่องข้าวเซเว่นไปวางอุ่นหลังโคมได้เลย ทำให้ไม่เหมาะกับบ้านที่ค่อนข้างปิดทึบหรือห้องแอร์เอามากๆ แล้วก็มักจะมีปัญหากับบ้านที่ไฟตกบ่อยๆ เพราะหลอด MH จะปิดเปิดทันทีไม่ได้เหมือนหลอดอื่นๆครับ จะต้องใช้เวลาอุ่นหลอด ถ้าไปฝืนเปิดปิดเร็วๆจะทำให้หลอดพังได้ครับ ทำให้บัลลาสต์ส่วนมากจะมีการหน่วงเวลาเอาไว้ เวลาที่ไฟดับหลอดก็จะใช้ระยะเวลานึงถึงจะเปิดกลับมาเหมือนเดิม เหมือนแอร์บ้านและตู้แช่ก็จะมีระบบคล้ายๆแบบนี้อยู่เช่นกัน

โคมและหลอด MH ทุกวันนี้ก็ยังหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงไม้น้ำทั่วไปครับ แต่อาจจะเริ่มหายากหน่อยแล้ว



ก็มีอยู่สามแบบหลักๆนี่แหละครับ ชอบแบบไหนก็เลือกเอาละกัน แต่ก่อนจะซื้อขอให้อ่านเยอะๆ ดูรีวิวและผลการใช้งานของคนอื่นให้มากๆ เพราะบอกแล้วว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในตู้ และขอให้เน้นงบประมาณไปที่ไฟให้มากที่สุด เพราะตู้ไม้น้ำนี่ถ้าไฟไม่ได้ซะอย่างนี่ยังไงก็ไปไม่รอด ประหยัดเงินซื้อกรองได้ ลดงบฯซื้ออย่างอื่นได้ แต่ไฟนี่ห้ามครับ ขอให้ใช้ของดีๆหน่อยและผลิตมาสำหรับตู้ไม้น้ำโดยเฉพาะ ไม่ใช่ว่าสักแต่เป็นโคมไฟตู้ปลา หรือโคมที่ "ร้านบอกว่าเลี้ยงไม้น้ำได้" เพราะไม่ใช่ทุกร้านจะซื่อตรงกับลูกค้าหรือมีความรู้มากพอ ก่อนซื้อโคมไฟให้ลองมองดูในร้านก่อนครับว่าเขามีตู้ไม้น้ำมั้ย แล้วสภาพมันเป็นยังไง งามหรือเปล่า ถ้าในร้านไม่มีซักตู้ หรือมีแต่สภาพเหมือนแอ่งน้ำหน้าปั๊มน้ำมันก็ไม่น่าเชื่อถือแล้วครับ



แล้วต้องใช้ไฟเท่าไหร่ กี่หลอด? กี่โคม?


หลอดฟลูฯหรือ MHไฟ LED
ต้องใช้ไฟประมาณ 0.7 วัตต์ต่อน้ำ 1 ลิตร
เช่นตู้มีปริมาตรน้ำ 80 ลิตร 80*0.7 = 56w
ต้องใช้ไฟ 0.5 วัตต์ต่อน้ำ 1 ลิตร
(LED ให้แสงได้มากกว่าหลอดชนิดอื่นที่วัตต์เท่ากัน)
เช่นตู้มีปริมาตรน้ำ 80 ลิตร 80*0.5 = 40w

ก็หาโคมที่มีขนาดวัตต์รวมใกล้เคียงประมาณนี้ครับ หรือเอาสองสามโคมรวมกันแล้วให้ได้จำนวนวัตต์ใกล้เคียงเป็นอันใช้ได้
ทั้งหมดนี้คือค่าประมาณคร่าวๆ อาจจะใช้มากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ การเลี้ยงจริงมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาอีกครับ เช่น ชนิดของต้นไม้ ความสูงของต้นไม้ ความสูงของตู้ ระยะห่างจากโคมถึงผิวน้ำ ฯลฯ

ถ้ายังงงอยู่ก็ไปเดินเล่นที่จตุจักร ถามร้านที่ดูน่าเชื่อถือและที่ตู้ของร้านเขาสวยๆ ที่ขนาดใกล้เคียงกะของเรา ตู้ไหนเราถูกใจ ถามเลย อันนี้ไฟอะไร จัดมาหนึ่ง!!!



จะเอาแล้ว ซื้อที่ไหนดี?

มีให้เลือกเยอะสุดก็จตุจักร (ตลาดซันเดย์, เจเจมอลล์) หรือจตุจักร 2 มีนบุรี, สนามหลวง 2 ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น

ขี้เกียจไปอ่ะ แดดมันร้อน!

กดซื้อกับร้านของเว็บได้เลยครับ --> https://aqua.c1ub.net/shop [perv03]
หรือสอบถามได้ที่ Line:c1ub.net (กดลิ๊งเพื่อแอดไลน์เลยก็ได้ครับ)





พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้น
พ102 วัสดุปลูก
พ103 แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ104 ระบบคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
พ105 ระบบกรองสำหรับตู้ไม้น้ำ
พ106 การเลือกและเตรียมต้นไม้น้ำ
พ107 การเซ็ตตู้ไม้น้ำ ภาคปฎิบัติ
พ108 ปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18/03/2563 [11:07:38] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)