วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567
[04:23:41]
Trigonostigma heteromorpha
ซิวข้างขวานใหญ่, Harlequinชื่อวิทยาศาสตร์ | Trigonostigma heteromorpha | |||
ชื่อสามัญ (อังกฤษ) | Harlequin | |||
ชื่อสามัญ (ไทย) | ซิวข้างขวานใหญ่ | |||
ขนาดโตเต็มที่ | 3.5-5 ซม. | |||
อุณหภูมิ | 21-28 °C | |||
อัตราการเจริญเติบโต | - | |||
การอยู่ร่วมกัน | อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตได้ทุกชนิด | |||
ความยาก-ง่าย | - | |||
บันทึกเมื่อ: 11/10/2561 โดย tanoy แก้ไขล่าสุด: 11/10/2561 โดย tanoy | ||||
|
รายละเอียดอื่นๆ
ปลาซิวน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีลักษณะลำตัวแบนข้างกว่าปลาซิวทั่วไป หัวและตาโต ปากเล็กและไม่มีหนวด ลำตัวสีส้มแดงเหลือบชมพูหรือ ม่วง ลำตัวช่วงกลางจนถึงโคนหางมีแต้มสีดำรูปสามเหลี่ยม ครีบใสมีแถบสีชมพูเรื่อหรือแต้มสีส้ม ครีบหลังอยู่กึ่งกลางลำตัว ครีบหางเว้าลึก มีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตรถิ่นที่อยู่อาศัย
โดยทั่วไปซิวข้างขวานใหญ่ Trigonostigma heteromorpha จะมีที่อาศัยอยู่ในส่วนของลำธารและคลองสาขาซึ่งมีพืชน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น บางครั้งก็พบอยู่ในน้ำคล้ายป่าพรุหรือน้ำเหลือง เนื่องจากมีแทนนินและสารเคมีอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุจากใบและกิ่งไม้ที่ร่วงหล่นลงในน้ำ พบอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 100 ตัว ในประเทศไทยพบเฉพาะแหล่งน้ำไหลเชี่ยวบริเวณภาคใต้แถบจังหวัดตรัง และที่ป่าพรุโต๊ะแดงจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น
การเลี้ยงดู
ซิวข้างขวานใหญ่เป็นปลาที่รักสงบ ทำให้เลี้ยงรวมกับปลาขนาดเล็กอื่นๆ เช่นปลาในกลุ่มเตตร้าและปลาสอดได้ดี และควรจะเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นฝูงอย่างน้อย 8-10 ตัว เพื่อให้ปลาไม่ตื่นกลัวและมีพฤติกรรมที่ดูเป็นธรรมชาติ จะให้ดีก็ควรจะมีใบไม้กิ่งไม้แห้งใส่ไว้ด้วย เพื่อให้เกิด blackwater และได้สิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เติบโตขึ้นจากการกินใบไม้ที่ย่อยสลายเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารของลูกปลาที่อาจจะเกิดขึ้นภายในตู้อีกทางหนึ่ง
การแยกเพศ
ตัวเมียที่โตเต็มวัยมักจะมีส่วนท้องกลมและขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ที่มักจะมีขนาดเล็กกว่าและมีสีสันมากกว่า โดยเฉพาะเวลาที่ตัวผู้ขับสีเพื่อแย่งตัวเมีย
การขยายพันธุ์
ปลาชนิดนี้ไม่มีการดูแลไข่และลูกอ่อน โดยมันจะไข่ติดกับด้านล่างของใบไม้หรือวัสดุอื่นๆ แทนที่จะไข่กระจัดกระจายไปทั่วเหมือนปลาตะเพียนขนาดเล็กอื่นๆ ยิ่งปลาอยู่ในสภาพดีก็จะยิ่งวางไข่บ่อย ในตู้ที่สภาพดีๆ อาจจะได้เห็นลูกปลาออกมาโดยไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลยก็ได้
อย่างไรก็ตามหากต้องการให้ได้ลูกปลาเยอะขึ้นก็ควรจัดตู้เพื่อการเพาะพันธุ์โดยเฉพาะ โดยเซ็ตตุ้ที่มีแสงเพียงสลัวๆ จะปล่อยพื้นตู้โล่งหรือรองพื้นด้วยตาข่ายที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้ไข่ที่ไม่สามารถยึดติดกับใบไม้สามารถร่วงผ่านได้ แต่มีขนาดเล็กพอที่จะกั้นพ่อแม่ปลาไม่ให้สามารถเข้าถึงได้ หญ้าเทียมพลาสติกก็สามารถใช้ได้ดี
ค่าน้ำควรอยู่ในช่วง pH 5.0-6.0, 1-5°GH ใส่เฟิร์นตระกูลรากดำ (Microsorium) หรือคริป (Cryptocoryne) และพืชที่มีใบกว้างอื่นๆ หรือใช้ต้นไม้เทียม ส่วนระบบกรองไม่มีความจำเป็นแต่จะใช้กรองฟองน้ำขนาดเล็กๆก็ได้
ผู้เพาะพันธุ์ Trigonostigma spp. แนะนำว่าปลาที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการวางไข่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์นี้มักจะบอกว่าผสมพันธุ์ได้ยาก
ควรเตรียมพ่อแม่พันธุ์ด้วยการให้อาหารสดและอาหารแช่แข็งจำนวนน้อยๆ 2 หรือ 3 ครั้งต่อวันสัก 2-3 สัปดาห์ก่อนเริ่มการผสมพันธุ์ จนเมื่อเห็นตัวเมียมีไข่เต็มท้องและตัวผู้ขับสีแข่งกัน ควรเปลี่ยนน้ำเย็น (40-50% ของปริมาตรถัง) และนำพ่อแม่พันธุ์ย้ายไปไว้ในตู้เพาะพันธุ์ตู้ละหนึ่งหรือสองคู่ในอีกสักสองสามชั่วโมงต่อมา และจะให้ดีก็ควรจะเป็นช่วงเวลาเย็น
การวางไข่มักเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดและเกิดขึ้นก่อนที่จะมีกิจกรรมการเกี้ยวพาราสี และบ่อยครั้งที่ตัวผู้จะทำการ "dry runs" เหนือพื้นที่วางไข่ที่มันเลือกไว้ 2-3 ชั่วโมงก่อนวางไข่จริง จากนั้นตัวเมียจะเริ่มวางไข่กลุ่มเล็กๆ ไข่จะถูกปฏิสนธิโดยตัวผู้ก่อนที่จะมีการวางชุดต่อไป ถ้าตัวเมียยังไม่วางไข่ก็สามารถปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ในตู้เพาะพันธุ์ก่อนได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารแก่พ่อแม่พันธุ์ในขณะที่อยู่ในตู้เพาะพันธุ์ แต่หากผ่านไป 3-4 วันแล้วก็ยังไม่วางไข่ ควรจะเปลี่ยนพ่อแม่ปลาชุดอื่น
พ่อแม่ปลาจะกินไข่ ดังนั้นควรจะแยกพ่อแม่ปลาหรือไข่ออกมาโดยเร็วที่สุด การฟักขึ้นอยู่กับอุณหภูมิแต่โดยปกติแล้วจะใช้เวลาระหว่าง 24 ถึง 48 ชั่วโมง และลูกปลาจะสามารถว่ายน้ำอย่างอิสระในเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ อาหารเริ่มต้นควรเป็นพารามีเซียม (Paramecium) หรืออาหารอื่นคล้ายๆกัน ควรจะให้ตัวอ่อนของอาร์ทีเมียหรือหนอนจิ๋วเมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่พอที่จะกินได้
c1ub.net Aquapedia database v0.8b Licensed under
(CC)BY-SA
with attribution required.