วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 [04:03:57]

หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่2 : The Basics of Aquatic Photographer

Disclaimer: บทความ หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่2 : The Basics of Aquatic Photographer นี้เป็นบทความของคุณ ShOwA สมาชิก pantip.com ที่ลงไว้ในห้องจตุจักรเมื่อ 29 ส.ค. 2548 นะครับ ซึ่งเป็นภาคต่อจาก หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ ผมเองก็เคยอ่านบทความนี้มาแล้วสมัยที่เริ่มเลี้ยงไม้น้ำได้ไม่นาน พอดีผมไปเปิดเจอแล้วรู้สึกว่ามันก็ยังเป็นความรู้ที่ดีมากอยู่ แม้ว่าเนื้อหาบางส่วน เช่น รุ่นของกล้องจะเก่าไปหมดแล้ว แต่ความรู้ในเรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพทั่วไปและการถ่ายภาพตู้ปลานั้นยังใช้ได้อยู่ เลยนำมาลงไว้เพื่อป้องกันการสูญหายของบทความดีๆเช่นนี้ครับ ใครยังไม่ได้อ่านภาคแรกก็ไปอ่านซะก่อนก็ดีนะครับ -- บัง

หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ




บทที่2 : The Basics of Aquatic Photographer

เขียนโดย ShOwA [ snowdogstudio@yahoo.com ]

ขอย้ำว่าเป็นเรื่อง basic จริงๆนะครับ อยากจะสอนสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษา สำหรับท่านๆที่รู้อยู่แล้วก็ขออภัยด้วยที่ทำให้เสียเวลา
ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าบทความนี้เป็นบทความที่ยาวมากกกกกก ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นเดินไปทานข้าว ไปเข้าห้องน้ำ เตรียมตัวให้พร้อม แล้วกลับมานั่งอ่านอย่างตั้งใจ ให้สมกับความตั้งใจในการทำบทความนี้ของผม

ขออนุญาตอัพเดทเจ้า 10D ไปด้วยเลยนะครับ ผ่านมาเดือนครึ่ง จาก 5 นิ้ว เป็น 8 นิ้วแล่ะ
ปล. ถ่ายภาพลองหัดทิ้ง space กันดูบ้างนะ


รูปนี้ตั้งชื่อว่า..... “มันมากับความมืด” หุหุ

คนเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ที่ซื้อกล้องดิจิตอลมาสักตัว ก็คาดหวังว่าจะเอามาถ่ายปลาตัวโปรดมาถ่ายให้สวยๆ เหมือนของหลายๆ คนที่เอามาโชว์กันในเว็บ แต่แล้ว...หวามหวังก็พังทลาย เพราะถ่ายยังไงก็ไม่สวย ไม่คม ไม่ชัด เหมือนของคนอื่นเสียที บ้างถึงกับเควี้ยงทิ้งเลิกถ่ายกันไปเลยก็มีเยอะ แต่ผมจะบอกให้สำหรับคนที่ท้อแท้ใจ ว่าการถ่ายรูปปลานั้นมันไม่ยากขนาดนั้นหรอก เพียงแต่คุณยังไม่เข้าใจพื้นฐานของการเริ่มฝึกเท่านั้นเอง  มา...มาอ่านบทความนี้ แล้วก็ไปหยิบกล้องเก่าๆ ที่คุณจอดเก็บมันไว้นานแสนนานมาปัดฝุ่นเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ แล้วคุณจะรู้ว่านอกจากความสุขที่คุณได้การเลี้ยงปลาแล้ว การถ่ายรูปปลาก็เป็นการเติมความสุขชั้นดีของเหล่านักเลี้ยงเช่นกัน

หลังจากที่หลายคนได้อ่าน หยิบกล้องส่องตู้ปลากับนายโชว่า บทที่1 : เลือกกระบี่คู่ใจ ผมก็หวังว่า
จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้ที่กำลังศึกษาเลือกซื้อหากล้องกันอยู่ไม่มากก็น้อยนะครับ

มาบทความนี้ผมก็จะขออธิบายเกี่ยวกับวิธีการใช้งานเจ้ากระบี่ในบทที่ 1 นะครับ อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่ได้พิสดารอะไรมากมายนัก แต่ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ท่านทั้งหลายจะสามารถนำมันไปใช้เป็นพื้นฐานของการเริ่มฝึกปรือเรียนรู้การถ่ายรูปปลากันได้ (ขอย้ำนะครับว่าถ่ายรูปปลา ถ้าจะถ่ายอย่างอื่นก็ย่อมจะต้องปรับตั้งค่าต่างๆ ที่แตกต่างกันไป)

ในบทความบทนี้ผมจะกล่าวถึงพื้นฐานกระบวนการต่างๆ ในการทำงานของกล้อง การปรับตั้งค่าต่างๆของกล้อง เรื่องของแสง ฯลฯ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมขอเริ่มเรื่องเลย ณ บัดนี้ เตร๊ง เตรง เตร่ง เตร้งงง เตรง เตร่ง เตร๊งง เตรง เตร่งงงงงงง


ชื่อภาพ..... “ยามแสงส่อง”….. เกล็ดมันก็สะท้อนดีแฮ่ะ

สิ่งที่ควรคำนึงในการถ่ายภาพปลา มี 15 ข้อ ดังต่อไปนี้ (เท่าที่คิดออกตอนนี้นะ)

  • แสง
  • สปีดชัตเตอร์
  • f-stop
  • ISO
  • White Balance
  • โหมดการทำงานของกล้อง
  • ระบบการวัดแสง
  • การกำหนดจุดโฟกัสภาพ
  • การโฟกัสภาพ
  • ถ่ายแล้วเปิดดูทันที
  • ชนิดของหลอดไฟ
  • การจัดวางไฟ
  • ขนาดตู้
  • มุมกล้อง
  • นิสัยที่ดีของช่างภาพ


.....ไม่รู้จะบรรยายอะไร.....เอาเป็นว่า โดยส่วนตัวชอบรูปนี้ละกัน

1. แสง: สัมพันธภาพอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อสปีดชัตเตอร์และรูรับแสง

แสงนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการถ่ายภาพก็เปรียบเสมือนกับโลกที่ต้องประกอบไปด้วย ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เฉกเช่น...จักรวาลที่ต้องมีดวงอาทิตย์...ฉันใด การถ่ายภาพก็ต้องมีแสง...ฉันนั้น คนทั่วไปมักมองข้ามเรื่องนี้ไป มัวแต่ไปให้ความสำคัญกับเทคนิคสารพัดสารเพในการถ่ายภาพ แต่เขากลับลืมมันไปเสียสนิทว่าแท้จริงแล้ว การถ่ายรูปมันต้องเริ่มจากคำคำนี้ คำว่า “แสง”

ที่ผมอยากจะให้เริ่มจากคำคำนี้เพราะอะไรหน่ะเหรอ  เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแสงยังไงที่เหมาะสมที่เพียงพอ ที่จะทำให้การถ่ายภาพมันเป็นเรื่องง่าย ไหนจะเรื่องของชนิดของหลอดไฟ  เรื่องของตำแหน่งการจัดวางไฟที่เหมาะสม ฯลฯ ที่ล้วนส่งผลโดยตรง ที่จะทำให้ภาพของปลาที่เราถ่ายนั้นมีความสวยเด่นขึ้น

ตู้ปลามันก็เปรียบเหมือนกับสตูดิโอที่ถ่ายภาพคนนั่นแหล่ะ ไว้ถ่าย portrait ถ่ายนางแบบนายแบบ แต่ต่างกันตรงที่นางแบบนายแบบนั้นไม่ใช่คน...แต่เป็นปลา ซึ่งในแต่ละสตูดิโอเค้าโถมติดไฟกันไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ไหนจะเรื่องอุปกรณ์เสริมจิปาถะ การจัดวาง เทคนิคอื่นๆ สารพัด  ไง...ฟังดูมากเรื่องไม่ใช่น้อย แต่การถ่ายภาพปลามันอาจจะไม่ยุ่งยากขนาดนั้นหรอกนะ เพียงแต่อยากจะบอกว่าเรื่องของแสงเป็นเรื่องที่สำคัญ(มาก)แค่นั้นเอง

“ต้องสว่างแค่ไหนถึงจะเพียงพอ?.....”

ในการถ่ายภาพนั้น แสงที่กล้องจะสามารถบันทึกได้ดี ได้ชัดเจน สามารถถ่ายทอดรายละเอียดออกมาได้ดีนั้น ไม่ใช่แสงเพียงแค่ที่ตาเราเห็น แต่จะต้องสว่างกว่ามาก ถึงจะทำให้ภาพมีความสวยงามได้เหมือนกับที่วงการนิตยสาร ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ เค้าต้องใช้ไฟช่วย(แทบจะ)ทุกครั้งไปในการทำงาน เพราะแสงที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่านั้น ที่เราว่าสว่างแล้ว ตาเรามองเห็นได้ชัดเจนแล้ว แต่กับการถ่ายภาพ..มันไม่พอ ออ ออ ออ ออออออ


ไฟและไฟและไฟ ของสำคัญที่ต้องมี

จริงอยู่ว่าแม้ให้มีแสงเพียงรำไร คุณก็สามารถที่จะบันทึกภาพนั้นได้ แต่ได้อย่างไรหน่ะเหรอ ได้แบบที่ค่าสปีดชัตเตอร์ช้าๆ สมมุติว่าสัก 1 วินาทีละกัน 1 วินาทีนี่ก็ต้องถ่ายด้วยขาตั้งกล้องด้วยนะ

เพราะว่ามันนานเกินกว่าความนิ่งที่มือของเราจะถือถ่ายได้

คือถ้าวัตถุที่เราถ่ายมีการขยับเพียงนิดเดียวใน 1 วินาทีนั้น ภาพวัตถุนั้นก็จะเบลอ ไม่ชัดทันที งั้นถ้าจะให้ไม่เบลอไม่ไหวโดยใช้มือถือถ่ายได้หล่ะ สปีดชัตเตอร์ก็คงอยู่ที่ประมาณ 1/15 วินาทีขึ้นไป แล้วไอ้ความเร็ว 1/15 วิเนี่ย ถ้ามาถ่ายปลา ก็ถือว่ายังไม่เหมาะอีก เพราะว่าปลามันได้อยู่กับที่ มันว่ายไปมาตลอดเวลา ไอ้ครั้นจะฝืนทำเป็นเก่ง ว่าข้าแน่ ไฟในตู้ดวงเดียวข้าก็ถ่ายได้

ไอ้ถ่ายได้มั้ยมันก็คงได้ แต่ได้แบบที่ไม่ค่อยงามนัก รับรองว่ารูปออกมาเบลอเป็นส่วนใหญ่ ถ่ายไป 100 รูป อาจจะโชคดีฟรุ้คออกมาชัด 5 รูป แล้วคุณจะไปฝืนถ่ายแบบเหนื่อยๆ แบบเบลอๆ อย่างนั้นทำไม เพียงควักเงินอีกสองสามร้อยซื้อไฟมาติดเพิ่มในตู้ ก็แค่เนี่ยเอง ขอร้องเถอะนะ ซื้อมาติดเพิ่มเถอะ ถ้าอยากจะฝึกเรียนรู้การถ่ายภาพกันจริง ปลาตัวเป็นพันเป็นหมื่น กล้องตัวเป็นหมื่นเป็นแสนซื้อกันได้ ซื้อหลอดไฟมาติดเพิ่มอีกไม่กี่ร้อยเนี่ย คงไม่ลำบากเกินไปนะ

“ต้องสว่างแค่ไหนถึงจะเพียงพอ?.....”

ผมคงจะตอบท่านไม่ได้ว่าจะต้องติดไฟเพิ่มกี่ดวงถึงจะเพียงพอ เพียงพอขอแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน คือจะบอกว่ายังไงก็ได้ให้คุณได้ค่าสปีดชัตเตอร์ที่ 1/60 วินาที นั่นแหล่ะคือเพียงพอ 1/60 วิ มันเพียงพออย่างไรหน่ะเหรอ ก็เร็วเพียงพอที่หยุดภาพปลาที่อยู่ในตู้ได้อย่างคมชัดไม่ไหวไม่เบลอไงหล่ะ

ยิ่งถ้าคุณอยากได้ภาพที่หยุดนิ่ง คมชัดกว่านี้ คุณก็ติดไฟเพิ่มเข้าไปอีก เอาให้ได้ค่าสปีดชัตเตอร์เร็วๆ สัก 1/125 วิขึ้นไป รับรองว่าขนาดปลาว่ายกลับตัว ตีลังกาใส่เกลียวสองรอบครึ่ง คุณก็ยังถ่ายได้อย่างชัดเจนเลย เข้าใจบ่ ที่นี่เข้าใจกันบ้างรึยังว่าแสงนั้นสำคัญฉะไหน

อ่อ...พูดมาตั้งนานลืมอธิบายให้ฟังไปว่า แล้วค่าสปีดชัตเตอร์เนี่ยมันคืออะไร โทษทีคับ หุหุ
เพราะเรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โอ้ววว...เพิ่งจะเห็นว่าโม้มาซะยาวเลย งั้นขอขึ้นเป็นข้อ 2 เลยละกัน


อันนี้กำลังจะโชว์ม้วนหน้าเกลียว ก็สามารถหยุดให้นิ่งได้ ด้วยสปีดชัตเตอร์ 1/125

2. สปีดชัตเตอร์

“สปีดชัตเตอร์” คืออะไร คำคำนี้แปลว่าอะไร แล้วมันทำงานอย่างไร หากให้ผมอธิบายเป็นศัพท์วิชาการ คาดว่าคงไม่ต่ำกว่า 1 หน้ากระดาษ แถมไอ้ 1 หน้ากระดาษเนี่ย อ่านจบแล้วยังไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก 555  งั้นผมขออธิบายแบบง่ายๆ ย่อๆ สั้นๆ กันเอง ตามสบาย คิดซะว่าอยู่บ้านตัวเองก็แล้วกัน  เอ๊ย..ไม่เกี่ยวกันละ โทษทีผมชอบนอกเรื่อง คิคิ

“สปีดชัตเตอร์” คือ ความเร็วในการเปิด-ปิดม่านชัตเตอร์ โดยในยามปกติของกล้องนั้นม่านชัตเตอร์จะปิดอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมีการกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อให้กล้องทำการบันทึกภาพ ม่านชัตเตอร์ถึงจะเปิดออกเพื่อรับแสงรับภาพผ่านเข้าไปประมวลผลลงยังตัว CCD

ค่าสปีดชัตเตอร์ ก็คือ การกำหนดค่าความเร็วของการเปิด-ปิดชัตเตอร์ เพื่อให้กล้องได้รับแสงเข้าไปอย่างพอดี ไม่มืดไป ไม่สว่างไป ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป.....เท่านั้นเอง ซึ่งนอกจากสปีดชัตเตอร์ที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำความรู้จักกันแล้ว สิ่งที่ทำงานควบคู่กับมันอย่างขาดไม่ได้เหมือนช้อนที่อยู่คู่กับซ้อม เหมือนดอกฟ้ากับหมาวัด ผีเน่าโลงผุ ฯลฯ นั่นก็คือ รูรับแสง (f-stop) นั่นเอง


อันนี้รอจังหวะตัวปลาแนบกับหน้าตู้ เพื่อเก็บสีเหลือบยามกระทบกับแสงจากนอกตู้

3. f-stop (รูรับแสง)

ก่อนอื่นต้องสอนการอ่านคำนี้ก่อน f-stop คนไทยอ่านว่า เอฟ-สะ-หตอป ไม่ใช่ เอฟ-สะ-ต๊อป นะ ขืนไปอ่านผิดให้ใครฟังหล่ะอายเค้าตายเลย [awkward01] ส่วนฝรั่งจะอ่านยังไงผมไม่รู้ ไว้หาแฟนคนต่อไปเป็นแหม่มได้เมื่อไหร่แล้วจะถามมาให้นะ

แต่ถ้าภาษาพูดเค้าก็จะพูดกันสั้นๆ ว่า “เอฟ” ไม่ต้องเรียกชื่อจริง+นามสกุล+ตำแหน่ง
แค่ f คำเดียวเป็นอันรู้กัน  ค่า f  นั้นหากให้ผมอธิบายเป็นเรื่องเป็นราว อ่านแล้วก็คงชวนงงบวกไม่น่าอ่านอย่างแน่นอน
งั้นเอาแบบง่ายๆ ย่อๆ แบบสปีดชัตเตอร์ให้พอเข้าใจก็พอแล้วกันเนอะ
ไม่หรอก จริงๆแล้วเขียนแบบเป็นเรื่องเป็นราวเป็นผู้เป็นคนกับเค้าไม่เป็น [lol01]

ค่า f-stop คือ ค่าที่กำหนดขนาดความกว้าง-แคบของรูรับแสง
ค่ารูรับแสงที่มีเลข f ยิ่งน้อยก็เท่ากับรูยิ่งกว้าง เลข f ยิ่งมากก็เท่ากับรูยิ่งแคบ


เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงกับสปีดชัตเตอร์ ผมขอเปรียบเทียบให้แสงเป็นน้ำในกะลาละกันนะครับ  ไง งงมั๊ยหล่ะ น้ำในกะลา [lol01] คิดเองยังงงเองเลย [smile02] สมัยนี้อาจจะหากะลายากเสียหน่อยในเมืองศิวิลัยอย่างบางกอกนี้ อะ...งั้นผมให้ยืมของผมมาเป็นแบบสาธิตละกัน แต่มีข้อแม้ว่าอันนี้ยืมไปต้องคืนนะ เพราะผมต้องอยู่ในนั้นทุกวัน..................... [rage04] บ้าไปแล้ว คนอะไรด่าตัวเองก็เป็น

ต่อ ต่อ เอากะลาที่ว่าเนี่ยมาเจาะรูที่ก้น ให้รูใหญ่ประมาณ 1 ซม. แล้วให้คิดเสียว่าไอ้ขนาดของรูที่ก้นกะลาเนี่ยเป็นขนาดของรูรับแสงที่เลนส์ จากนั้นก็เอานิ้วโป้งมาอุดที่รูกะลา ให้นิ้วโป้งทำหน้าที่เป็นม่านชัตเตอร์ สุดท้ายเอาถ้วยน้ำชามารองน้ำจากกะลาโดยให้คิดซะว่าถ้วยน้ำชามันคือ CCD เอาหล่ะตอนนี้ได้ตัวละครครบแล้ว เริ่มเล่นกันเลยดีกว่า 5...4...3...2...1...Action

กำหนดว่าเมื่อใดก็ตามที่เราได้ปริมาณน้ำเต็มพอดีถ้วยน้ำชา เมื่อนั้นแปลว่าเราได้ปริมาณแสงที่พอดีของภาพ หากน้ำล้นถ้วยน้ำชาก็แปลว่าภาพนั้นโอเวอร์(สว่างไป) หรือถ้าน้ำไม่เต็มถ้วยก็แปลว่าภาพนั้นอันเดอร์(มืดไป) เข้าใจบ่ และเมื่อเรากดชัตเตอร์ก็เหมือนกับการที่เราเอานิ้วโป้งที่อุดรูไว้ออก โดยปล่อยให้น้ำไหลผ่านรูจนเต็มถ้วยแล้วจึงขยับนิ้วโป้งกลับมาปิดเหมือนเดิม
ไอ้ระยะเวลาตรงเนี่ยที่ทำให้น้ำเต็มถ้วย มันคือค่าสปีดชัตเตอร์

อะ...เอาใหม่อีกที คราวนี้เอานิ้วออกเพียงนิดเดียว ให้เหลือรูน้ำผ่านได้เพียงนิดเดียว (รูเล็กก็คือ f แคบ / รูใหญ่ก็คือ f กว้าง) คราวนี้ถ้ารูมันเล็ก น้ำมันก็จะไหลเอื่อยๆลงถ้วยน้ำชา กว่าน้ำจะเต็มถ้วยก็ย่อมต้องใช้เวลานานกว่ารูกว้างๆจริงมั้ย (สปีดชัตเตอร์นาน ถ่ายยังไงก็ถ่ายไม่ทันการว่ายของปลา) หวังว่าคงจะเริ่มพอเข้าใจกันบ้างนะ

ดังนั้นเวลาถ่ายภาพปลาเราก็ควรจะเปิดรูรับแสงให้กว้างสุด ให้ได้ค่าสปีดชัตเตอร์ที่เร็วที่สุด (เอานิ้วโป้งเปิด-ปิดให้เร็วที่สุด) เพื่อบันทึกแสงในเศษเสี้ยววินาทีนั้นๆ


นี่ก็เป็นหนึ่งในเศษเสี้ยววินาทีก่อนกลับตัว

เทคนิคที่ควรรู้ไว้อีกอย่างก็คือเมื่อเราตั้งค่ารูรับแสงที่กล้องไว้กว้างสุดแล้ว (f เลขน้อยที่สุด) ขอจงอย่าปรับซูมเลนส์เด็ดขาด ให้ปรับช่วงซูมของเลนส์ไว้ที่จุดที่กว้างที่สุดไวด์ที่สุด

เนื่องจากกล้องโดยทั่วไปจะมีค่า f ที่ไม่คงที่ สมมติว่าเรามีกล้องอยู่ตัวหนึ่งมีช่วงซูมอยู่ที่ 35-105 mm มีค่า f  เขียนอยู่ที่หน้าเลนส์ว่า 2.8-4.9 นั้นหมายความว่า ที่ระยะมุมกว้างที่สุดที่ 35 mm จะได้ค่ารูรับแสงที่ 2.8 แต่พอเราปรับซูม (อารมณ์แบบว่าอยากจะถ่ายซูมเฉพาะใบหน้าปลา) เช่นที่ 50 mm ค่า f  จะเปลี่ยนให้แคบลงโดยอัตโนมัติ ยิ่งถ้าเราปรับซูมจนสุดที่ 105 mm ค่า f ก็จะเปลี่ยนไปเป็น 4.9 โดยทันที ทำให้จากรูรับแสงกว้างๆที่ 2.8 ที่ช่วงซูมกว้างสุดกลายรูรับแสงที่แคบลงแคบลง ทำให้เราต้องเสียแสงไปเยอะทีเดียว ทำให้เราได้ค่าสปีดชัตเตอร์ที่ช้าลงช้าลง ก็เปรียบเหมือนกับเราต้องเปิดนิ้วโป้งไว้นานขึ้นเพื่อให้น้ำผ่านรูแคบๆที่ก้นกะลาไงพอเข้าใจมั้ย ถ้ายังไม่เข้าใจก็อ่านอีกสัก 10 รอบ ถ้าไม่ดีขึ้นก็อ่านซ้ำไปอีก 20 รอบ เอาให้เก็บไปนอนฝันเลยนะ

อ่อ...ลืมบอกไป เดี๋ยวหลายคนจะสงสัย ว่าถ้าถ่ายที่ช่วงซูมที่กว้างที่สุดตลอดเวลา แบบนี้ก็จะได้แต่รูปปลาแบบเต็มตัวหน่ะสิ  อันนี้ไม่จริ๊งงงไม่จริง
คุณก็แค่ก้าวขา/ยื่นมือเข้าออกแทนการปรับซูม แค่เนี่ยเอง จะถ่ายเฉพาะรู ตอ-อู-ดอ ปลา ก็ยังได้เลย ขออภัยที่ใช้คำไม่สุภาพ คิคิ



เขียนไปเขียนมาเหนื่อยเหมือนกันวุ้ย นี้แค่ข้อที่ 3 เอง ว่าจะเขียนสัก 15 ข้อ สงสัยคงไม่ต้องนอนสัก 3 วันหล่ะมั้ง งั้นอีก 12 ข้อที่เหลือขอแบบสั้นๆกระชับได้ใจความ ไม่โม้ไม่นอกเรื่องแล้วนะ หุหุ [mock01]

4. ค่า ISO

ค่า ISO คือค่ามาตรฐานการทำงานขององค์กร เช่น ISO 9002  เอ๊ย...ม่ายยช่ายยยย ว่าจะไม่นอกเรื่องแล้วนะ ขอโทษท่านผู้อ่านด้วย ขอหน่อยละกัน หุหุ มันอดไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่ใช่ ShOwA ของแท้  พอ พอ เอาจริงละ ISO อ่านว่า ไอ-เอส-โอ นะ ไม่ใช่ ไอ-โซ่ คำคำนี้มันแปลเป็นไทยแล้วมีความหมายสั้นๆว่า ค่าความไวแสงในการบันทึกภาพ

การตั้งค่า ISO ให้มีความไวแสงสูงขึ้นนั้นก็เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพในสภาพที่มีแสงน้อยได้ กล่าวคือเมื่อ ISO สูงขึ้น เราก็สามารถปรับตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ได้เร็วขึ้น แค่เนี่ยแหล่ะประโยชน์ของมัน ซึ่งกล้องทั่วๆไปส่วนใหญ่จะมีค่า ISO ที่ 100-400 เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่ง ISO 400 นั้นก็ถือว่าเพียงพอต่อการถ่ายรูปปลาในระดับหนึ่ง ยิ่งถ้าให้ดีได้ถึง 800 หรือ 1600 ก็จะไฮโซมากๆ แต่ทางที่ดีเราก็ควรจะไม่ push ค่า ISO จนสูงเกินไปนัก เพราะยิ่งค่า ISO สูงๆ ก็จะมีเม็ด noise เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ถึงแม้ถ่ายออกมาจะได้ภาพที่ไม่ไหวไม่เบลอจริง แต่ภาพเป็นเม็ด noise เยอะๆนี่ก็ไม่หวายยยเหมือนกัลน้าาาา



5. white balance (WB)

บ่อยครั้งที่เราประสบปัญหาสีของภาพปลาที่เราถ่ายมานั้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งโดยทั่วไปผู้ถ่ายก็มักจะโทษกล้องไว้ก่อนเสมอ ห่วยบ้าง ปัญญาอ่อนบ้าง ซื้อมาถูกบ้าง ฯลฯ

จริงๆแล้วมันไม่แย่ขนาดนั้นหรอกครับ คุณแค่ปรับเปลี่ยนระบบ WB เป็นแบบ custom คือเลือกเอง ไม่ต้องให้กล้องมันคำนวณให้  เปลี่ยนจาก Auto WB เป็น A_Light เอ๊ยไม่ใช่ เป็น Day Light ครับ (ที่สัญลักษณ์เป็นรูปดวงอาทิตย์อะคับ)  แต่ในการถ่ายปลาโทนสีทองบางตัว (ยิ่งโดยเฉพาะที่อยู่ในตู้ขาว) บางครั้งใช้ Auto WB อาจจะทำได้ดีกว่า อันนี้ต้องลองเอาเอง ชอบสีแบบไหนก็เลือกแบบนั้น มันไม่ตายตัวเสมอไป

ลองไปถ่ายแล้วดูเอาเองนะค้าบบบ คนเราชอบไม่เหมือนกัน



6. โหมดการทำงานของกล้อง

ในกล้องทั่วไปนอกจากจะมีโหมด Auto สีเขียวๆที่คนทั่วไปใช้กันอยู่เป็นประจำแล้ว กระป๋องสีเขียวๆนี้ก็ใช้ดีเหมือนกันนะ ใครไม่เคยลองใช้โหมดนี้ ไปลองซะรับรองจะติดใจ คิคิ

นอกจาก 2 โหมดนี้ที่ท่านทั้งหลายถนัดนักถนัดหนา มันก็ยังมีอีกหลายโหมดให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น TV, AV, P ฯลฯ แต่โหมดที่ผมจะแนะนำให้ท่านใช้และมันง่ายต่อการถ่ายภาพปลาที่สุดก็คือโหมด M (Manual)

ประโยชน์ของโหมด M ก็คือทำให้คุณสามารถตั้งค่าสปีดชัตเตอร์กับค่า f stop ได้เอง ทำให้คุณสามารถสร้างผลงานภาพได้อย่างที่คุณคิด(เอง) อย่างที่คุณตั้งใจ(เอง)อย่างละเอียด แล้วมันก็จะทำให้ภาพทั้งชุดที่คุณถ่ายในวันนั้น มีความเหมือน/ใกล้เคียงกันทุกภาพ คุณจะสามารถควบคุมความมืด-สว่าง ชัด-เบลอ ได้อย่างละเอียด ไม่ใช่แบบ Auto ที่มืดบ้าง สว่างบ้าง พอดีบ้าง ชัดบ้างเบลอบ้าง ไม่ค่อยจะเหมือนกันสักกะรูป

นอกจากนั้นโหมด M มันจะทำให้คุณได้เรียนรู้ทักษะการถ่ายรูป การทำงานของกล้องได้อย่างรวดเร็ว ได้รู้จักการเรียนรู้ การพัฒนา นำค่าของภาพในแต่ละชุดมาพิจารณาหาข้อผิดพลาดหาจุดบกพร่อง ตั้งค่าแบบนี้แบบนั้นแล้วทำให้ภาพแตกต่างกันอย่างไร มืดไป สว่างไปอย่างไร เรานำข้อสังเกตตรงนี้มาพัฒนาปรับปรุงทักษะ เพื่อให้การถ่ายในแต่ละครั้งของเราเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

โหมด Auto (สำหรับการถ่ายรูปปลา) ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้เลยนะครับ คุณแม่ขอร้องงง ลองฝึกโหมด M ดูนะครับ ของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ ตัวผมเองสมัยฝึกถ่ายภาพใหม่ๆ ใครมาแนะนำให้ลองใช้โหมด M เท่าไหร่ก็ไม่เชื่อ เป็นพวกหัวรั้น คิดว่าข้าแน่ ที่ถ่ายอยู่ก็ดีอยู่แล้ว  แต่มาลองฝืนใจใช้อยู่พักนึง เท่านั้นแหล่ะครับ รู้เลยพระเจ้ามีจริงงงงงง คิคิ มีจริงอย่างไรนะเหรอ จริงตรงที่นิ้วเราเป็นคนควบคุมสั่งงานทุกอย่าง ควบคุมรายละเอียดต่างๆได้หมด ทำให้ได้ภาพอย่างที่จินตนาการไว้ ทุกวันนี้ก็เลยถ่ายเป็นแบบโหมด M เน้นๆ ตลอด (แต่ถ้าท่านไปถ่ายภาพครอบครัวไปถ่ายภาพท่องเที่ยว ใช้ Auto ไปก็ได้ครับ อันนี้ไม่ว่ากัน)



7 .ระบบการวัดแสง

ในกล้องทุกวันนี้ 99.99% จะมีระบบวัดแสงติดมาให้ โดยแบ่งเป็น 3 ระบบ ได้แก่ ระบบวัดแสงแบบทั้งภาพ แบบเฉลี่ยหนักกลาง และแบบเฉพาะจุด เพื่อใช้สำหรับการคำนวณเพื่อปรับตั้งค่าสปีดชัตเตอร์กับค่ารูรับแสง เพื่อให้เหมาะสมในการที่จะให้ได้ภาพถ่ายมีความพอดีของแสง ไม่มืดไป ไม่สว่างไป โดยทำการวัดจากแสงสีเทากลาง ทั่วไปในตัวกล้องจะมีแถบวัดเป็นขีดแสดงอยู่ ฝั่งหนึ่งมีเครื่องหมายลบ ฝั่งหนึ่งมีเครื่องหมายบวก ถ้าเข็มชี้ที่ด้านบวกก็แสดงว่าโอเวอร์ หากชี้ทางด้านลบก็แปลว่าอันเดอร์ หากชี้ที่ตรงกลางก็แปลว่าพอดี

แต่...ระบบการวัดแสงก็คำนวณได้ไม่แม่นยำเสมอไป ยิ่งในกรณีที่ต้องถ่ายวัตถุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสีดำมากๆ เฉกเช่นในตู้ปลาของเรา (หรือขาวมากๆ) ในกรณีเช่นนี้กล้องจะถูกหลอกจากสีของฉากดำตู้ปลาซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภาพ ทำให้กล้องคิดว่าตอนนี้กำลังถ่ายภาพอยู่ในที่มืด ที่ที่มีแสงน้อย หากเราถ่ายตามมาตรวัดแสงที่บอก ภาพก็จะออกมาจะโอเวอร์ทันที

ดังนั้นเพื่อความแม่นยำเราควรเลือกระบบวัดแสงเป็นแบบเฉพาะจุด คือวัดแสงที่ตัวปลาเลย ก็จะได้ค่าที่ใกล้เคียงกว่าการเลือกระบบวัดแสงแบบอื่นๆ

ท่านทั้งหลายอาจจะงงๆว่าแล้วไอ้แต่ละค่าที่ผมกล่าวมาตอนต้น(หรือที่จะกล่าวต่อๆไป)นั้นมันปรับตั้งกันยังไง งานนี้ผมขอบอกว่าท่านคงจะต้องไปตรวจสอบกล้องของท่านกันเองนะครับ ว่าแต่ละเมนูในการปรับแต่งค่าต่างๆทั้งหลายทั้งแหล่มันปรับกันอย่างไร งานนี้ตัวใครตัวมันค้าบบบบบ (คู่มือจะช่วยท่านได้ แต่อาจจะต้องทนอ่านเป็นภาษาปะกิตนะคับ คิคิ)



8. การกำหนดจุดโฟกัสภาพ

ในกล้อง compact ทั่วไปจะมีจุดโฟกัสแบบ 4 จุดและแบบ 1 จุด ส่วนในกล้อง D-SLR จะมีแบบ 9 จุดบ้าง 7 จุดบ้าง 4 จุดบ้าง จะมาบอกว่าหากกล้องของท่านตั้งระบบการโฟกัสภาพไว้แบบหลายๆจุดอยู่หล่ะก็ ขอให้เปลี่ยนเป็นแบบจุดเดียว จุดตรงกลาง เนื่องจากจุดตรงกลางจะเป็นจุดที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว และง่ายที่สุดในการถ่ายภาพปลา



9. การโฟกัสภาพ

ขอบอกว่าข้อนี้ สำ-มะ-คัน มากมากกก เพราะหากคุณตั้งค่ากล้องทุกอย่างอย่างถูกต้อง เข้าใจหลักการทุกอย่างเป็นอย่างดี  แต่ท่านดันไม่เข้าใจวิธีการโฟกัสภาพหล่ะก็ งานนี้เน่าแน่ครับ การโฟกัสภาพนี่แหล่ะยากที่สุด  มันยากที่จะมาบรรยายสอนกันได้ด้วยคำพูดด้วยตัวหนังสือ มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าให้สอนกันแบบตัวต่อตัว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มันอาจจะง่ายกว่า

เอาหน่าาาา...ยังไงผมก็จะลองบอกพื้นฐานของการโฟกัสภาพก่อนละกันนะครับ ส่วนจะได้ผลแค่ไหน งานนี้คงต้องไปทดลองฝึกปรือกันดู ยิ่งถ่ายเยอะถ่ายบ่อยก็ยิ่งได้เปรียบ ข้อนี้มันขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินอย่างเดียวเลยครับ

เมื่อปลาเราว่ายมาอยู่ในตำแหน่งอยู่ในท่วงท่าอยู่ในจังหวะที่ต้องการจะถ่ายแล้ว ใช่ว่าเราจะกดชัตเตอร์ลงไปเฉยๆแล้วจะได้ภาพในเศษเสี้ยววินาทีนั้นมานะครับ ต่อให้เป็น D-SLR รุ่นท็อป ก็ยังทำไม่ได้เลยครับ กล่าวคือเราจะต้องกดชัตเตอร์ลงไปครึ่งนึง(เลียชัตเตอร์)ในขณะที่ปลาเราเกือบอยู่ในตำแหน่งที่เราจะถ่ายก่อนเพื่อให้กล้องทำการล็อคโฟกัส แล้วท่านก็จะยังต้องกดชัตเตอร์ค้างไว้ครึ่งนึงอย่างนั้นตลอดห้ามปล่อย จนถึงจุดที่เราต้องการถ่าย เราจึงจะกดชัตเตอร์ลงไปสุดเพื่อทำการบันทึกภาพ ซึ่งในกระบวนการตรงนี้มันเป็นระยะเวลาที่สั้นมากๆ เพราะหากท่านเลียชัตเตอร์ค้างไว้นานเกินไป ทำให้ปลาว่ายขยับออกจากระนาบที่โฟกัสไว้ แม้เพียง 0.5 ซม. ก็ทำให้ภาพที่ท่านต้องการกลายเป็นภาพที่ท่านไม่ต้องการเมื่อมาเปิดดูภายหลังว่ามันไม่โฟกัส

ฟังดู 0.5 ซม. อาจจะไม่ใช่ระยะอะไรที่มากมายนัก แต่ถ้าเป็นระยะที่หลุดโฟกัสจากระยะโฟกัสแล้วนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ระยะเพียงเท่านี้ภาพที่คุณถ่ายออกมามันก็ไม่คมไม่ชัดเหมือนรูปสวยๆที่คุณเคยเห็นคนอื่นเค้าโพสกันแล้วหล่ะ



ซึ่งส่วนใหญ่คนทั่วไปมักไม่รู้หรอกว่าภาพที่เค้าถ่ายมานั้นมันไม่ชัด มันหลุดโฟกัส เพราะว่าเมื่อเวลาที่คุณถ่ายคุณก็จะกด review ดูภาพจาก LCD เล็กๆของกล้อง ซึ่งมันก็เล็กซะจนไม่สามารถดูออกได้หรอกว่าที่ถ่ายมานั้นมันชัดแค่ไหน แค่ถ่ายมาแบบเกือบชัด
แต่พอเปิดดูกับกล้อง ยังไงก็สวยยังไงก็ชัด ก็จะไม่ชัดได้ไงหล่ะ ก็ไอ้หน้าจอ LCD มันขนาดเล็กกะจิ๊ดเดียวเอง ดูแล้วมันไม่ช่วยอะไรได้หรอก นอกจากว่าดูเรื่องความพอดีของแสง

อ่อ...เกือบลืมบอกไป การถ่ายภาพปลานั้น จุดสำคัญก็คือ “ตา”
 
ไม่ว่าจะเป็นปลาอะไรก็ตามแต่ ขอให้โฟกัสที่ตาเอาไว้ก่อน ตาดีได้ตาร้ายเสียยยค้าบบบบ แล้วก็จะแนะให้อีกนิดสำหรับทั่นทั่นที่ถ่ายรูปโดยการมองจากการแสดงผลของหน้าจอ LCD นั้น จะมาบอกว่าถ้าสำหรับการถ่ายภาพปลามันไม่ work เท่าการเล็งผ่าน viewfinder หรอก ถ้าเป็นไปได้ลองหัดถ่ายโดยการปิดการทำงานของ LCD แล้วใช้ตาเล็งผ่าน viewfinder รับรอง...มันจะคล่องตัวกว่าเยอะเลย เราสามารถเคลื่อนไหวจับจังหวะต่างๆเคลื่อนที่ตามปลาได้อย่างสะดวกและเนียนกว่าด้วย ประกอบยังเป็นการช่วยประหยัดไฟของกล้องด้วย ทำให้ถ่ายได้นานกว่าอย่างน้อยถึง 2 เท่าเลยหล่ะ


ลองฝึกกันดูนะ แรกๆอาจะยังไม่ค่อยชิน พักเดียวเดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง

10. เปิดดูทันที

ดังนั้นหากเป็นไปได้ ผมอยากจะแนะนำให้ท่านทั้งหลายที่กำลังฝึกฝนถ่ายภาพกันอยู่นั้นได้นำภาพที่ท่านถ่ายในวันนั้นขณะนั้น รีบโหลดลงคอมฯ แล้วเปิดดูผลงานของท่านในทันใด การที่เรารีบเปิดดูภาพที่ถ่ายในวันนั้นเลย จะทำให้ท่านสามารถเห็นจุดบกพร่องข้อผิดพลาดต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ กล่าวคือ ท่านจะยังจดจำได้อยู่ว่าแต่ละภาพที่ท่านได้ถ่ายในวันนั้นท่านถ่ายด้วยค่าอะไร ล็อคโฟกัสแบบไหน ฯลฯ รายละเอียดต่างๆทั้งหลายทั้งปวงในวันนั้นจะทำให้ท่านเกิดความเข้าใจในการถ่ายภาพมากขึ้น

ขอโปรดจงดูภาพที่ท่านถ่ายในวันนั้นอย่างตั้งใจ วิเคราะห์เจาะลึกแบบสรยุทธ์ในรายการถึงลูกถึงคน เพื่อหาข้อดีข้อเสียต่างๆเพื่อหาทางพัฒนาต่อไป เพราะหากท่านไม่รีบโหลดรูปลงคอมฯแล้วเปิดดูในวันนั้นเลย มัวแต่มาดองรูปไว้ในกล้อง ท่านก็จะไม่มีวันเรียนรู้ข้อผิดพลาดจุดบกพร่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ท่านจดจำเอาไว้ในขณะถ่ายในวันนั้นได้ ขอจงทำตามอย่างที่ผมว่า แล้วฝีมือการถ่ายรูปของท่านจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว(แบบวันต่อวัน) รับรองไม่เกินสองอาทิตย์(หากท่านตั้งใจจริง)ท่านบรรลุแน่ หุหุ (แต่บรรลุแค่ไหนผมก็ไม่รู้นะ เอาเป็นว่าเห็นผลดีขึ้นละกัน)

ดูกับหน้าจอคอมฯที่มีความใหญ่กว่า 10 เท่า มันเห็นรายละะเอียดต่างกันเย้ออออะะะ


โต๊ะทำงานผมเองหล่ะ อ๊ะ อ๊ะ ห้ามวิจารณ์ แต่ใครผ่านมาต้องบอกทุกทีว่าจัดได้เรียบร้อยและมีสไตล์มาก 55555

เขียนไปเขียนมาชักเหนื่อยเหมือนกันแฮ่ะ ตอนนี้ก็ตีสี่ครึ่งแล่ะ เมายังไม่ส่างงงงเลย คงต้องขอตัวไปรีบนอนก่อน เดี๋ยวจะต้องรีบไปนอนฝันถึงสาวๆที่คืนนี้ไปเจอมา [smile02] งั้นอีก 5 ข้อที่เหลือขอแปะโป้งไว้ก่อนนะคร้าบทั่นผู้ชม [awkward01] บทความหน้าพบกับ 5 ข้อที่เหลือ พร้อมข้อแนะนำสำหรับกล้องที่ปรับตั้งค่าอะไรไม่เลย สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน อ่านจบแล้วถ้ารักผมชอบผมก็โหวตให้ผมด้วยนะครับ
ผมโชว่า V13 พิมพ์ V วรรค 13 แล้วส่งมาที่เบอร์ 1900 1900 191......55555555555


โปรดอ่าน...สารจากใจของนายโชว่า

บทความ...ทุกบท...ทุกตัวอักษร...ทุกคำ...ทุกประโยค...ที่ผมได้เขียนไปแล้ว หรือกำลังเขียนอยู่หรือกำลังจะเขียนต่อไปในภายภาคหน้าทั้งหลายทั้งปวงนั้น ผมไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านที่อ่านจบไปแล้วจะต้องเก่งจะต้องโปรจะต้องถ่ายภาพออกมาสวยเพอร์เฟค แต่เป้าหมายของการเขียนบทความของผมก็คือ การสร้างความสุขให้กับการถ่ายรูปในสิ่งที่ท่านรักมากกว่า หากท่านอ่านจบแล้วนำไปปฎิบัติตาม ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย ผลงานภาพของท่านจะต้องดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจขึ้น แค่เนี่ยแหล่ะที่ผมต้องการ..... ผมต้องการให้ท่านมีความสุขกับการถ่ายรูปมากกว่า อย่าเอาประเด็นนี้มาจริงจังกับชีวิต ชีวิตของพวกคุณ ตัวตนของพวกคุณคือ “นักเลี้ยง” ไม่ใช่ “นักถ่ายภาพ”

ผมขอแสดงจุดยืนอย่างแน่วแน่ของผมว่า ผมทำบทความต่างๆทั้งหลายทั้งหลายปวงนี้ ก็เพื่อเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆนานาของผม เพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลายอย่างจริงใจและเต็มใจ มิได้เรียกร้องผลประโยชน์หรือได้รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้น ผมจะสอนให้ท่านทุกอย่างเท่าที่ความรู้ผมจะมี เท่าที่ผมจะมีเรี่ยวแรงมาสอน และผมก็ไม่ต้องการเป็นฮีโร่ ไม่ต้องการเป็นคนเด่นคนดัง ขอให้บทความของผมอยู่ในใจของท่านเพียงสักนิด...ก็พอ แค่นี้แหล่ะที่ผมต้องการ แต่อย่าลืมตัว อย่าหลงประเด็น เพราะมีหลายคนในช่วงหลังนี้ บอกว่าดูผลงานภาพผมแล้วรู้สึกเป็นแรงกระตุ้น (ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจที่มีคนชื่นชมผลงานเรา) แต่แล้วเขาเหล่านั้นก็ไปซื้อกล้องใหม่เอย เลนส์ใหม่เอย ต้องมาเสียเงินอีกเป็นหมื่นเป็นแสน พูดตามตรง ผมรู้สึกไม่สบายใจ  ทำให้พักหลังนี้ผมรู้สึกแย่ในบางครั้ง ไม่อยากจะโพสรูปปลาเลย เหมือนเรากำลังทำให้พวกเค้าต้องเดือดร้อนรึเปล่า มาให้เค้าบ้าในสิ่งที่เค้ารักจริงจริงรึเปล่า? ผมไม่อยากให้สังคมนี้มันเห่ออะไรไปตามกระแส มันไม่ดีหรอกนะ...จะบอกให้ แค่นี้แหล่ะ ขอบ่นหน่อยนะ ไม่เคยบ่นมาก่อน รู้สึกว่าบ่นแล้วสบายใจ ไปละ...บายยยย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/08/2561 [14:47:21] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)