วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567 [07:30:06]

ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech

ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 26/12/2561 [14:58:50]
ตู้ไม้น้ำแบบ "โลว-เทค" หรือ Low-tech ที่ย่อมาจาก Technology คือตู้ที่ใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงไม้น้ำน้อย ไม่ใช้อุปกรณ์ฟุ่มเฟือยมากนัก ซึ่งเรียกว่าเป็นอีก "แนว" หนึ่งของการทำตู้ไม้น้ำ ที่เป็นทางเลือกของผู้ไม่มีอันจะกินซึ่งค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับกระแสการเลี้ยงสไตล์ลุงอามาโน่ที่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคดูอลังการและราคาแพงจำนวนมาก

หลังจากที่เลี้ยงไม้น้ำมาหลายสิบปี ปลูกไม้มาแล้วแทบทุกชนิด ตายบ้างรอดบ้าง แต่ด้วยความที่เป็นคนบ้า "อุปกรณ์" สำหรับการเลี้ยงปลาและไม้น้ำมากกว่าเรื่องเลย์เอาท์ของไม้หรือตัวปลา ต่างจากคนเลี้ยงทั่วไปที่มักจะชอบตัวปลาและไม้น้ำ แต่ผมกลับสนใจเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่จะใช้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม สร้างระบบนิเวศน์ย่อมๆให้อยู่ในบ้านของเราได้ แทบทุกตู้ของผมจึงเต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆมากมายระโยงระยาง มีตั้งแต่ใช้อุปกรณ์ทำเองทั้งหมดแบบยาจกโคตรๆ จนถึงอุปกรณ์ไฮเทคทั้งตู้ที่มีแม้แต่ระบบควบคุม pH และเปลี่ยนน้ำอัตโนมัติ


ตัวอย่างของเล่นของผม ชุดรักษาระดับน้ำในตู้ด้วยลูกลอยชักโครก


แผงไฟตู้ปลาทำเองที่มีเบรกเกอร์กันไฟดูดและมิเตอร์วัดกระแส

โดยที่ตัวตู้ไม้น้ำของผมนั้น ส่วนมากหรือทั้งหมดก็ว่าได้ จะมีการจัดเลย์เอาท์ที่อาจเรียกได้ว่าไม่ได้จัดเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะพยายามจัดเท่าไหร่ สุดท้ายด้วยความขี้เกียจในการดูแลตัดแต่ง และเป็นคนที่ชอบตู้รกๆอยู่แล้ว ทำให้ไม่กี่เดือนต้นไม้ก็จะโตเต็มตู้จนไม่เหลือทรงเดิมที่ตั้งใจจัดไว้แต่แรกอยู่ดี


สุมขอนลงไปยังกับก่อกองไฟ [smile03]

ส่วนมากอุปกรณ์ในตู้ก็จะเป็นแนว DIY หรือ Homemade ที่ค่อนข้างจะ Ghetto เอามากๆ อีรุงตุงนังไปหมด ไม่ค่อยจะได้ทำอะไรเรียบร้อยกับเขาหรอก (แต่อย่าคิดว่าผมไม่เคยโดนของ ADA หรือ Eheim แพงๆกับเขานะ ขอบอกสั้นๆว่ารวมๆกันแล้วสองยี่ห้อนี้ได้เงินผมไปเป็นแสน [cry01])



ไฟ LED กึ่งทำเอง ยำด้วยหลอด LED จากโคมเก่าผสมกับหลอดและ power supply สั่งจากจีน ระบายความร้อนด้วยพัดลม ซิ๊งระบายความร้อนอลูมิเนียมจากรางหลอด T8 ที่พังแล้ว

แต่ระยะหลังๆมานี้ ด้วยความขี้เกียจดูแลและทำความสะอาดอุปกรณ์เหล่านี้ เพราะที่ๆผมตั้งตู้ตอนนี้เป็นพื้นที่ใกล้กับโรงงานกลึงไม้ ทำให้มีฝุ่นเยอะมากๆ อุปกรณ์ที่ผมใช้เลยลดน้อยลงเรื่อยๆ เริ่มจากตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนอย่างชิลเลอร์ เพราะนอกจากจะเปลืองไฟมากกว่าพัดลมมากโขแล้ว ยังทำให้บริเวณโดยรอบตู้ร้อนขึ้นอย่างรู้สึกได้ชัด แม้ว่าจะมีการไหลเวียนอากาศที่ค่อนข้างดี หลังจากนั้นผมก็เริ่มตัดอุปกรณ์ต่างๆออกไปทีละอย่าง รวมถึงเปลี่ยนไฟจาก Metal Halide, T8 มาเป็น LED ที่ประหยัดไฟกว่าเกือบทั้งหมดเพราะพื้นฐานผมเป็นคนไม่ชอบใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว บับว่า...รักษ์โลก [smile06] และบ้านนี้จ่ายค่าไฟแพงกว่าบ้านอยู่อาศัยปกติ เลยต้องประหยัดไฟให้มากหน่อย ซึ่งทำให้ลดอุณภูมิรอบตู้ไปได้มาก และลดค่าไฟฟ้าลงไปกว่า 800 บาทต่อเดือน โดยที่ต้นไม้ในตู้ก็ยังคงอยู่ได้ปกติดีเหมือนเดิม


แน่นเป็นปลากระป๋อง [smile03]



หลังจากนั้นก็รื้อไปหน่อยนึง จัดทรงใหม่ เอาขอนออก เอาหินลงแทน แล้วก็กลายเป็นแบบนี้ ปล่อยจนโคตรเละ เพิ่งมีโอกาสเติมน้ำขัดตู้ก็วันนี้ เดี๋ยวว่างๆจะจัดฉากสร้างภาพให้สวยๆกว่านี้แล้วถ่ายใหม่นะ

ตู้นี้ปรับไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ยังคงมีคาร์บอนอยู่ เพราะผมมีถังอยู่แล้วและก็ไปตลาดซันเดย์แทบทุกอาทิตย์ เลยไม่ได้ลำบากอะไรที่จะใช้ นอกนั้นก็มีแค่พัดลมที่เปิดเฉพาะช่วงอากาศร้อน ก็เป็นชุดอุปกรณ์เบสิคมาตรฐานที่ถือว่าอยู่ตรงกลาง จะเรียกว่าเป็น mid-tech ก็น่าจะได้

จากการปรับปรุงตู้นี้ ทำให้ผมเริ่มคิดว่า จริงๆแล้วมีอุปกรณ์ชิ้นไหนบ้างที่ "จำเป็น" จริงๆในการเลี้ยงไม้น้ำ (ที่ไม่ใช่จำเป็นของพ่อค้าที่อยากขายของ)
ที่ไม่ต้องคุยกันมากก็คงจะเป็นระบบไฟ ยกเว้นว่าจะทำตู้ใช้แดด ซึ่งผมเคยลองแล้วและขอบอกว่า "ไม่หมู" ด้วยปัญหาของตะไคร่และความร้อนจากแดดอันแรงกล้าระดับโอเว่อไนน์เทาซั่นของประเทศไทยที่รักแห่งนี้ ความไม่สม่ำเสมอของแดดที่มาบ้างไม่มาบ้าง และองศาของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนที่ตลอดปี ทำให้ค่อนข้างยากที่จะได้ตู้งามๆระดับพอดูได้

อ่ะ สมมุติว่าทำได้ ไม้งาม เลย์เอาท์สวย แต่แสงสว่างในตู้มีแค่แสงแดด ทำให้เรามีเวลาชื่นชมความสวยงามของตู้ได้แค่ช่วงกลางวัน ซึ่งขัดกับชีวิตของคนส่วนมากที่ต้องออกไปทำงาน ไม่นับว่าแสงแดดที่ค่อนข้างกระจายมาทุกทิศทาง ทำให้มีแสงสะท้อน และทำให้เราไม่สามารถเห็นรายละเอียดในตู้ได้สวยงามเหมือนใช้หลอดไฟ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ผมขอสรุปว่าระบบไฟเป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยก็สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่สายประหยัดพลังงานอย่างแท้จริง

อุปกรณ์อื่นๆนอกจากนี้ สามารถเรียกได้ว่าไม่จำเป็นครับ [smile01] ทั้งพัดลมทั้งคาร์บอน จะไม่ใช้ก็ได้

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเถียงอยู่ในใจแล้วว่า ไม่มีทาง! เราไม่เชื่อนายหรอก! [rage04] แต่เชื่อเถอะครับว่าจริง มันไม่ "จำเป็น" เลย แค่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้นเท่านั้น ลองพักสายตาจากตัวหนังสือยาวๆของผมไปดูตู้ของคนในยูทูบที่ใช้ชื่อแชแนลว่า Foo the Flowerhorn กันครับ



ตู้นี้เป็นตู้ไม้น้ำที่ไม่ได้ใช้ระบบกรองและอุปกรณ์อย่างอื่นเลย ไม่มีคาร์บอน ไม่มีอะไรเลย แถมยังใช้ดินปลูกไม้กระถางผสมปุ๋ยขี้ไส้เดือนและปุ๋ยขี้ไก่แล้วโรยทับด้วยกรวดเป็นวัสดุปลูกซะด้วย เรียกว่า Low-tech มากๆจนเกือบจะ No-tech อยู่แล้ว ถือเป็นตู้ที่มาแนว Walstad method จัดมากๆ

Walstad Method คือแนวการทำตู้ไม้น้ำในลักษณะที่เน้นความสมดุลย์ของระบบ ให้เกื้อกูลกันเองระหว่างสิ่งมีชีวิตและพืช โดยไม่จำเป็นต้องมีระบบกรอง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย และไม่มีตะไคร่ ที่บัญญัติขึ้นโดย Diana Walstad จะเรียกว่าระบบ Very Low Tech ก็คงพอได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ Walstad method

ถ้าสนใจขั้นตอนการเซ็ตตู้นี้ก็ดูตามลิ๊งใน description ได้ครับ เจ้าของตู้ทำไว้ละเอียดมากๆ และมีอีกเวอร์ชั่นนึงของตู้นี้ที่ใช้ "Sweet Potato" หรือ "มันเทศ" และพืชอื่นๆเป็นตัวกรองของเสียในตู้ปลากัดโดยไม่ต้องใช้ระบบกรองที่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือวัสดุกรอง เป็นการใช้พืชบกที่มีขนาดและประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียมากกว่ามาเป็น Plant filtration หรือระบบกรองด้วยพืช น่าสนใจดีครับ



จะเห็นได้ว่า ไม้ในตู้สามารถโตได้ฟอร์มสวยงามระดับนึงเลยทีเดียว แน่นอนว่าไม่งามเหมือนกับตู้ที่ใช้อุปกรณ์เต็มระบบ แต่ก็สวยแบบง่ายๆ ไม่ต้องมีอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก โดยเฉพาะไม่ต้องเสียเงินซื้ออปุกรณ์แพงๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับหลายๆคนที่ไม่ได้มีรายได้มากมายนัก และมักจะถามผมว่าไม่มีไอ้นั่นไอ้นี่เลี้ยงได้มั้ย ตู้นี้คือคำตอบอย่างดีครับ หากเราจัดปัจจัยต่างๆในตู้ให้สมดุลแล้ว ตู้ไม้น้ำของเราก็สามารถเป็นระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ได้โดยที่เราแทบจะไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันมากนัก แต่การที่เราจะตัดอุปกรณ์พวกนี้ออกไป แน่นอนว่าเราจะต้องเจอกับปัญหาที่ปกติอุปกรณ์เหล่านี้มันเคยช่วยเราไว้

พัดลมและชิลเลอร์

ถ้าตู้จะไม่มีพัดลมหรือชิลเลอร์ อย่างแรกเลยต้องดูก่อนว่าที่บ้านอากาศร้อนมั้ย อย่างตรงที่ผมตั้งตู้นี่จะเป็นตึกแถวห้องริมสุด ที่โดนแดดเฉียงๆทั้งเช้าและบ่าย อากาศค่อนข้างร้อนถึงร้อนเหี้ยๆ อุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศา พัดลมและชิลเลอร์จึงค่อนข้างจะจำเป็นสำหรับไม้บางตัวที่ชอบน้ำเย็น เช่น หวีดจิ๋วและหญ้ากระดาษ แต่ผมก็แก้ปัญหาง่ายๆด้วยการ ไม่ต้องเลี้ยงแม่งครับ [mad02]

คือมันมีไม้อีกถมถืดอ่ะ [mad02] อย่างหวีดจิ๋วนี่ก็เอาพวกเพิลกราสแทนได้ ฟีลลิ่งคล้ายๆกันแหละ หญ้ากระดาษก็เอาแฮร์กราสแทน ไม่ค่อยเหมือนแต่ก็พอไหว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปฝืนลงไม้ที่มันเลี้ยงยากๆจริงไหม?

คาร์บอนไดออกไซด์

คาร์บอนนี่เอาจริงๆแล้วมันก็คือปุ๋ยตัวนึง เป็นปุ๋ยที่ให้คาร์บอน C จาก CO2 กับต้นไม้ โดยที่ต้นไม้ก็สามารถดูดซับคาร์บอนได้จากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์และ CO2 ที่มีอยู่ในน้ำเองได้ประมาณนึงอยู่แล้ว แต่เราใส่เพิ่มเข้าไปในน้ำอีกเพื่อให้ต้นไม้มันงามมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย NPK ที่เสี่ยงพาตะไคร่มามากกว่า ทำให้จัดตู้ได้ง่ายกว่ามาก

แต่ถ้าถามว่าไม่มีได้มั้ย? ได้ครับ



ตู้นี้เป็นหนึ่งในตู้ของผมเอง ที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรนอกจากไฟ LED ขั้วเกลียว E27 10w เท่านั้น แถมเป็นของ Eve ที่ลดราคา 59 บาทซะด้วย [lol01] ดินไม้น้ำที่ใช้เป็นของ ADA ที่ใช้เพียงแค่ครึ่งถุงเล็ก มูลค่าไม่น่าเกิน 300 บาท ใช้โรยแค่ด้านบน ด้านล่างเป็นดินขี้ไส้เดือนถุงละ 50 บาท ผสมดินใบก้ามปูห้าถุงร้อย (ใช้ไปแค่สามสี่กำมือ ที่เหลือเอาไปใส่กระถางปลูกต้นไม้ [awkward01]) เรียกว่าถ้าไม่นับตัวตู้แล้ว เป็นต้นทุนค่าอุปกรณ์ตั้งตู้ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมากๆ ต้นไม้ก็โตดีครับ ตะไคร่ก็ไม่มี โดยไม่ต้องใช้ทั้งคาร์บอน พัดลม กรอง

แม้แต่คาร์บอนน้ำผมก็ไม่ได้ใส่ [smile01]

ปุ๋ยก็ไม่เคยใส่ [lol01]

น้ำแห้งไปครึ่งตู้ยังไม่ได้เติมเลย เพิ่งเติมก่อนถ่ายนี่แหละ [smile03]

ตู้นี้อาจจะดูเละเพราะไม่ได้ตัดแต่งอะไร และก็ขี้เกียจจัดฉากให้ดูสวย คือทีแรกลงหินลงอะไร จัดต้นไม้พอสวยกะว่าจะทำตู้โลวเทค แต่พอดีซื้อไรฝุ่นมาให้ปลากิน แล้วมันมีลูกปลาตัวน้อย เท่าลูกน้ำติดมาในถุงด้วย ผมก็ปล่อยให้มันอยู่กับไรฝุ่นในกาละมังต่อไป แต่ปลากดว่ามันกินไรฝุ่นจนโตเอาๆ ผมเลยเอามันมาใส่ไว้ในนี้โดยที่ไม่รู้ด้วยว่ามันเป็นปลาอะไร แต่คิดว่ามันตัวเล็กมาก คงทำอะไรกุ้งแคระกับหอย Nerite ในตู้ไม่ได้ แล้วผมก็ลืมมันไปเลย จนวันนึงสังเกตว่ากุ้งหายไปไหนหมด พอมองๆดูก็เจออดีตปลาน้อยของผมครับ



เลยรู้ว่าที่จริงแล้วพี่เค้าคือปลาหมอไทยครับ [awkward01] ก็เลยยกตู้นี้ให้เป็นบ้านเค้าไป และก็ไม่ได้สนใจจัดแต่งต้นไม้ในตู้เท่าไหร่ น้ำก็ไม่ได้เปลี่ยน ปล่อยไปเรื่อยๆมันก็เป็นอย่างที่เห็นเนี่ยครับ ทั้งเทปแคบ มอสอะไรสักอย่าง น่าจะเป็นสไปกี้ คริปเวนดี้ ทั้งหมดอยู่ในตู้นี้ได้สบายครับ โดยเฉพาะเทปแคบที่ดูจะโตเกินหน้าเกินตาเป็นพิเศษ ถ้าตัดแต่งซะหน่อยมันก็สวยประมาณนึง

ห๊ะ? อะไรนะ? ไม่สวยเหรอ?! อย่าเถียงสิ บอกว่าสวยก็สวยน่า [rage04]



คำแนะนำในการจัดตู้ Low-tech

  • ลงต้นไม้เยอะๆ เน้นไม้ที่โตเร็วเข้าไว้ มันจะช่วยดูดของเสียจากขี้ปลาในน้ำและป้องกันตะไคร่ ไม่ต้องห่วงว่ามันจะโตเร็วไปเพราะพออยู่ในตู้ที่ไม่มีคาร์บอน มันจะกลายเป็นไม้โตไม่เร็วไปเอง [lol01]
  • ลงปลาน้อยๆ ให้อาหารปลาน้อยๆ การที่จะไม่มีระบบกรอง แน่นอนว่าระบบตู้เราจะรับของเสียได้น้อยกว่าอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องเพลาๆเรื่องปลา,กุ้งและอาหารไว้หน่อย ต้องเท่าไหนก็บอกไม่ได้ ไม่มีสูตรตายตัว แต่ตอนแรกพยายามลงปลาทีละน้อยๆไว้ก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณทีหลังจะดีกว่าครับ
  • พยายามลงสัตว์น้ำให้หลากหลาย ให้มีครบๆไว้ทั้งกุ้งแคระและหอย เพื่อให้มันกินซากพืชและตะไคร่ มีปลากินตะไคร่นิดหน่อย หอยกินหอยไว้กินหอยที่แพร่พันธุ์เร็วและซากสัตว์ตายอื่นๆ อะไรทำนองนี้ครับ ยิ่งระบบในตู้เราหลากหลายและครบถ้วนเท่าไหร่ ตู้ก็จะได้สมดุลง่าย และไม่ค่อยมีปัญหาครับ
  • ลงไม้ลอยน้ำไว้ด้วย จำพวกจอก และใช้ไม้บกแบบในวีดิโอที่ใช้มันเทศ ไม้ลอยน้ำจะดูดของเสียจากในน้ำได้ไวกว่าไม้ที่มีรากลงดินและโตเร็ว กำจัดของเสียได้มากกว่า ไม้บกที่มีมวลเยอะกว่าก็กำจัดของเสียได้เยอะกว่าโดยไม่รบกวนพื้นที่ตู้ดีด้วย
  • พยายามใช้วัสดุปลูกที่มีอินทรียสารเยอะๆ เช่น ดินปลูกไม้บก ดินขี้ไส้เดือน เพราะซากพืชซากสัตว์ที่ยังไม่ย่อยสลายในดินพวกนี้ จะมาย่อยสลายในตู้เรา และปลดปล่อยคาร์บอน (C) ที่เป็นแร่ธาตุจำเป็นสำหรับพืช โดยที่เราไม่ต้องให้คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม ซึ่งจะไม่เหมือนกับดินปลูกไม้น้ำที่เกือบจะไม่มีอะไรให้ย่อยสลายแล้ว ยิ่งมีเยอะยิ่งดีครับ


จอกแดง Phyllanthus fluitans เป็นไม้ลอยน้ำชนิดนึงที่ช่วยดูดของเสียในน้ำได้ดี



การใช้ เพิลหวีด Hemianthus micranthemoides ฟอร์มต้นบกเสียบกับฟองน้ำ ลอยไว้เป็นไม้ช่วยดูดของเสียในน้ำ ซึ่งจะสามารถโตได้ดีโดยไม่ต้องให้คาร์บอนเพิ่ม

ปัญหาที่มักเจอในตู้ Low-tech

  • ต้นไม้โตช้า, ไม่งามอันนี้เกือบจะเป็นเรื่องปกติครับ ถ้าไม่มีการเสริมคาร์บอนไดออกไซด์ แม้แต่ไม้ที่โตเร็วๆก็ยังไม่เร็วเท่าไหร่ และมักจะมีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เห็นฟอร์มของไม้บางตัวที่แน่นสวยเสียยิ่งกว่าเมื่อให้คาร์บอนเสริมอีกครับ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบตัดแต่งไม้บ่อยๆ
  • ผิวน้ำมีฝ้า ปัญหาใหญ่อีกเหมือนกันครับ โดยเฉพาะถ้าโลวเทคมากๆแบบไม่มีการใช้กรอง และแก้ไม่ค่อยจะหายด้วย วิธีแก้ก็ลงพวกปลาสอดไว้ครับ พวกนี้จะชอบตอดกินฝ้าเกือบทุกสายพันธุ์ ตู้ 48 นิ้วผมมีสองสามตัวก็กินไม่เหลือแล้วครับ
  • ปลาลอยหัว ถ้าปลาลอยก็มักจะมาจากลงสัตว์เยอะเกินไป หรือลงต้นไม้น้อยเกินไป สัดส่วนของสัตว์และพืชไม่สัมพันธ์กัน หรือผิวน้ำมีฝ้ามากเกินไปจนออกซิเจนละลายลงไปไม่ได้ ก็แก้ไขด้วยการปรับปริมาณปลาและต้นไม้ ลงไม้ที่โตเร็ว (โตเร็ว = สังเคราะห์แสงมาก = ปล่อยออกซิเจนมาก) และจำกัดปริมาณฝ้าผิวน้ำไม่ให้มีมากจนเกินไป
  • น้ำขุ่น น้ำเน่า ส่วนมากก็มาจากสัดส่วนของสัตว์น้ำกับต้นไม้ไม่สมดุลกันเหมือนข้อก่อนนี้นั่นแหละครับ ระยะยาวแก้เหมือนกัน ระยะสั้นก็เปลี่ยนน้ำช่วยไปก่อนครับ บางครั้งก็มาจากให้อาหารปลามากเกินไปแล้วปลากินเหลือ เพราะระบบโลวเทคมักไม่มีกรอง ฉะนั้นปริมาณของเสียที่รับได้จะน้อยกว่าตู้มีกรองพอสมควร ผมถึงได้แนะนำให้มีกุ้ง,หอยไว้ด้วย พวกนี้จะช่วยเก็บกินอาหารปลาที่เหลือได้ดีครับ ขี้กุ้งขี้หอยมันทำน้ำเน่าน้อยกว่าอาหารปลาเน่าเยอะครับ

ขอจบเรื่องตู้โลวเทคเพียงเท่านี้แล้วกันครับ ใครสงสัยอะไรก็โพสถามได้นะครับ ตอนนี้นึกไม่ออกแล้ว อยากให้ลองจัดกันดูซักตู้นะครับ สำหรับตู้แนวนี้ อาจจะติดใจเหมือนผมก็ได้ [smile06]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30/12/2561 [23:32:41] โดย บัง »
ขอความกรุณาปิด Ad-Blocker เวลาเปิดเว็บนี้ด้วยครับ
เว็บไซต์ของเรามีรายได้เพียงทางเดียวคือรายได้จากการโฆษณา และหนึ่งในช่องทางโฆษณาของเราคือ Google adsense หากคุณใช้ โปรแกรมหรือตัวเสริมที่บล็อกโฆษณาประเภท Ad-Blocker กับเว็บของเรา ก็จะทำให้ทางเว็บขาดรายได้ส่วนนี้ไป โฆษณาที่ทางเว็บเลือกก็เป็นแบบที่ไม่รบกวนผู้ใช้งานมากนักอยู่แล้ว ไม่ชอบก็เลื่อนผ่านๆไปได้ครับ ดังนั้นขอความกรุณาใส่ c1ub.net ไว้ใน whitelist ของโปรแกรมหรือปิดการทำงานของโปรแกรมบล็อกโฆษณาด้วยครับ (หากคุณเห็นข้อความนี้โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม Ad-Blocker ใดๆ รบกวนจิ้ม --> ส่ง PM บอกแอดมิน ทีครับ)
#1 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 26/12/2561 [15:50:03]
คุณพระช่วย มินิมอลของแท้  [gurock01] [gurock01] [gurock01] [gurock01]

ผมเห็นด้วยกับข้อความนี้นะครับ
" มันไม่ "จำเป็น" เลย แค่ช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น "  [smile02]
มีtool ช่วยเราหลายๆอย่างมันก็คงช่วยให้เราง่ายขึ้นน่ะครับ


ต้องขอบคุณบทความของคุณบังด้วยครับ [smile03]
ได้ความรู้มาก  เผื่อจิ๊กเอาอันไหนไปใช้มั่งครับ  [smile03]


ตอนนี้ตู้ที่จะตั้งใหม่ ที่จะทำแบบมอส ดราย สตาร์ต
ก็ตั้งใจจะรองพื้นด้วยดินขี้ใส้เดือนเหมือนกันครับ  [perv02]

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26/12/2561 [15:51:42] โดย GAMMARAY »
#2 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 30/12/2561 [22:24:11]
บทความคุณภาพอีกแล้วครับ
#3 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 03/01/2562 [12:54:34]
สุดยอดบทความอีกแล้ว ขอบคุณมากครับ เป็นกำลังใจให้

ขอภามเรื่องอุณหภูมิหน่อยครับพี่พอดีผมมีปัญหาอย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตู้ผมวันไหนอากาศร้อนๆนี่อุณหภูมิทะลุ 30 ตลอดเลยแม้ติดพัดลม
พอจะมีต้นไม้แบบไหนที่ทนพวกนี้ไหมครับ
#4 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 03/01/2562 [18:56:50]
สุดยอดบทความอีกแล้ว ขอบคุณมากครับ เป็นกำลังใจให้

ขอภามเรื่องอุณหภูมิหน่อยครับพี่พอดีผมมีปัญหาอย่างหนัก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตู้ผมวันไหนอากาศร้อนๆนี่อุณหภูมิทะลุ 30 ตลอดเลยแม้ติดพัดลม
พอจะมีต้นไม้แบบไหนที่ทนพวกนี้ไหมครับ

ไม้ส่วนมากจะทนร้อนได้ถึง 31-32 แหละครับ แต่ต้องให้เวลามันปรับตัวนิดนึง ลงแรกๆจะเฉาๆ หงอยๆ ต้องอัดคาร์บอนช่วยเยอะๆ อาจจะตายไปบางส่วน แต่ไม้เกือบทุกตัวผมเคยเลี้ยงที่ 32 ได้สบายครับ ยกเว้นบางตัวที่เอาใจยากหน่อย อย่างหญ้ากระดาษ, หวีดจิ๋ว, แฮร์กราสมินิ, ใบตาข่าย
#5 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 12/01/2562 [22:58:45]
ขอบคุณครับผมว่าจะลองตั้งแบบนี้ซักตู้นึง เผื่อว่าจะเวิร์คบ้าง ฮ่าๆๆ
#6 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 26/01/2562 [20:50:14]

ลองวิชาครับน้าบัง ได้ความรู้มาแล้วต้องส่งการบ้าน

โหลมะม่วงดอง กับไฟ7w ได้เรื่องยังไงจะมารายงานครับ
#7 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 26/01/2562 [21:26:12]
เท่ห์มากเลยครับ  [thumbup] [thumbup] [thumbup]
#8 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 27/01/2562 [10:47:10]
แหม่ หน้าเว็บนี้น่าจะทำให้สั่งปริ้นได้เนาะครับ 55555 บางทีจะเอาไปให้พ่อแม่อ่าน555555
#9 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 31/01/2562 [16:42:57]
ลองวิชาครับน้าบัง ได้ความรู้มาแล้วต้องส่งการบ้าน

โหลมะม่วงดอง กับไฟ7w ได้เรื่องยังไงจะมารายงานครับ

ดูโอเคอยู่ครับ น่าจะรอด หากุ้งแคระกับหอยมาลงหน่อยครับ ปลาเล็กๆนิดนึงไว้กินลูกยุง ปลาสอดกับหางนกยูงก็อึดดี แต่มันออกลูกได้ อาจจะลำบากต้องมาคอยจัดการหน่อย

แหม่ หน้าเว็บนี้น่าจะทำให้สั่งปริ้นได้เนาะครับ 55555 บางทีจะเอาไปให้พ่อแม่อ่าน555555

ได้สิครับ กดปุ่ม "การกระทำ" เขียวๆ แล้วกด "พิมพ์" ครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/01/2562 [16:51:05] โดย บัง »
#10 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 04/03/2563 [11:19:27]
แอดบังครับ ถามเรื่องการปลูกแบบโลเทค ถ้าผมใช้ดินปลูกต้นไม้บก อย่างพวกดินก้ามปู ขี้ไส้เดือนก่อน แล้วทับตามด้วยดินปลูกไม้น้ำเก่า ไม่ต้องเอากรวดทับจะได้ไหมครับ?
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04/03/2563 [11:21:41] โดย Dear_jan. »
#11 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 06/03/2563 [18:16:59]
แอดบังครับ ถามเรื่องการปลูกแบบโลเทค ถ้าผมใช้ดินปลูกต้นไม้บก อย่างพวกดินก้ามปู ขี้ไส้เดือนก่อน แล้วทับตามด้วยดินปลูกไม้น้ำเก่า ไม่ต้องเอากรวดทับจะได้ไหมครับ?

ตอบแทน//ได้ครับ
#12 Re: ตู้ไม้น้ำแบบ Low-tech เมื่อ: 17/03/2563 [22:26:17]
แอดบังครับ ถามเรื่องการปลูกแบบโลเทค ถ้าผมใช้ดินปลูกต้นไม้บก อย่างพวกดินก้ามปู ขี้ไส้เดือนก่อน แล้วทับตามด้วยดินปลูกไม้น้ำเก่า ไม่ต้องเอากรวดทับจะได้ไหมครับ?

ได้เหมือนกันครับ เพราะดินเก่าจะไม่ค่อยเหลือปุ๋ยแล้ว ผมก็ทำอยู่