Aqua.c1ub.net
*
  Wed 24/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พ101 พรรณไม้น้ำเบื้องต้น - บทความสำหรับมือใหม่ทุกคนครับ  (อ่าน 408798 ครั้ง)
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« เมื่อ: 31/10/06, [13:12:06] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ




เริ่มแรก พืช หรือ ต้นไม้ มันคืออะไร?

พืชเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง

ครับ ถูกแล้ว พืช "เป็นสิ่งมีชีวิต" ที่มีอยู่ทั่วโลกราว 350,000 ชนิด พบได้ทั้งบนบกและในน้ำ

ลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นของพืชก็คือ มันสามารถ สังเคราะห์แสง ได้



การสังเคราะห์แสง คือการที่พืชรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ มาใช้ในการเล่นแร่แปรธาตุ
โดยการใช้แสง น้ำ และแร่ธาตุต่างๆ (ปุ๋ย) ที่พืชดูดซึมมาจากพื้นดินและอากาศ ผสมรวมกับ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงาน ในรูปของน้ำตาลกลูโคส และนำมาใช้ในการเจริญเติบโต สร้างลำต้น กิ่ง ใบ และราก

ทีนี้เราก็พอจะรู้เบสิคของพืชแล้วนะครับ ว่ามันต้องการอะไรบ้าง แต่ว่า เราจะปลูกไม้น้ำใช่ไหมครับ ไม่ใช่ต้นตะเคียน ไม่ใช่ผักคะน้า

ถ้าอย่างนั้น ไม้น้ำต้องการอะไรบ้าง? เรามาดูปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการกันก่อน


  • วัสดุปลูกที่เหมาะสม
  • ปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้นไม้ต้องการ ในปริมาณที่เหมาะสม
  • ปริมาณแสงสว่างที่พอเพียง ในระยะเวลาราว 8-12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง
  • สภาพน้ำที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ
  • ปริมาณ Co2 และ O2 ที่เพียงพอ

เห็นมั้ยครับ คล้ายไม้บกมากๆ แค่มันกระแดะไปอยู่ในน้ำแค่นั้นเอง ดังนั้นการปลูกไม้น้ำก็จะไม่ต่างจากไม้บกมากนัก
ก็เตรียมที่ ลงดิน เอาต้นมันมา ฝังลงไป รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย นั่งเกาไข่รอดูมันโต โตมากไปก็ตัดแต่ง เย่!! เสร็จแล้ว

การเลี้ยงไม้น้ำมันก็เหมือนการจัดสวนในตู้ปลาน่ะแหละครับ แต่ไม้น้ำไม่ต้องรดน้ำครับ (แหงล่ะ)
พรวนดินก็ไม่ต้องครับ เพราะเราจะดูมันสวยๆ ไปพรวนดินขึ้นมาเดี๋ยวน้ำขุ่น ไม่ต้องมองกันล่ะ

ทีนี้เรามาดูรายละเอียดกัน ว่าไอ้ปัจจัยที่ไม้น้ำต้องการเนี่ย เราจะจัดให้มันได้ยังไง แบบไหนถึงจะถูกใจมัน





วัสดุปลูกสำหรับตู้ไม้น้ำ มีอยู่สองชนิดหลักๆคือดินและกรวด

1. ดินสำหรับตู้ไม้น้ำ

วัสดุปลูกที่เหมาะกับพืชก็ต้องเป็นดินแหงอยู่แล้ว แต่เราไม่สามารถเอาดินขุยไผ่ หรือดินใบก้ามปูในสวนมามี๊ใส่ลงไปในตู้ปลาได้

เพราะขืนทำแบบนั้น น้ำก็ขุ่นเป็นโคลนกันพอดี

ดินที่เหมาะสมจึงควรจะเป็นดินที่ทำมาสำหรับตู้ไม้น้ำเท่านั้น ซึ่งดินสำหรับตู้ไม้น้ำนี้จะเป็นดินที่ผลิตขึ้นมาด้วยการนำดินผงละเอียดมาเขย่า,ปั้น ด้วยเครื่องจักร ให้รวมตัวกันเป็นเม็ดดินเล็กๆ เหมือนกรวด และนำไปผ่านกรรมวิธีต่างๆ ทำให้ดินนั้นไม่ละลายน้ำเป็นโคลน แตกตัวยาก



ตัวอย่างดิน Black Earth ของ Cal Aqua labs. มีขนาดเม็ดสองขนาด Extra fine ที่เม็ดเล็กหน่อยและแบบ Normal หรือแบบธรรมดา


ตัวอย่างดินรุ่นยอดฮิต New Amazonia ของ ADA มีขนาดเม็ดสองขนาด Powder และแบบธรรมดา

ราคาดินปลูกไม้น้ำอาจจะสูงซักหน่อย ค่าดินสำหรับตู้ 24" จะต้องใช้เงินราวๆ 1000 บาท
แต่มันก็ทำให้การเลี้ยงไม้น้ำง่ายขึ้นเยอะ เพราะมีแร่ธาตุอยู่ในตัว และมีคุณสมบัติเหมาะกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำ

วิธีการใช้ที่นิยมกันคือรองพื้นตู้ด้วยหินพัมมิส หนาประมาณ 0.5-1 นิ้ว แล้วทับหน้าด้วยดินจนได้ความหนาที่ต้องการ
การรองด้วยหินพัมมิสก็เพื่อลดการอัดแน่นที่ชั้นล่างของดิน ช่วยให้น้ำไหลเวียนในชั้นดินได้ดีขึ้น และเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ และทำให้ประหยัดดินไปได้จำนวนหนึ่งด้วย

-ภาพหินพัมมิส-

-ภาพการรองพื้นด้วยหินพัมมิส-

ข้อดีของดิน

  • มีแร่ธาตุและปุ๋ยสำหรับไม้น้ำ ทำให้การเลี้ยงไม้น้ำช่วงเริ่มต้นง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวลกับเรื่องปุ๋ยรองพื้นและปุ๋ยฝังไประยะหนึ่ง
  • เนื้อดินมีความอ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับการไชรากของพืช ไม่ทำให้รากพืชเสียหาย
  • ทำให้ตู้ดูเป็นธรรมชาติ สีเข้มๆของดินทำให้ตู้ดูดิบเป็นธรรมชาติ ตัดสีต้นไม้ให้ดูเข้มขึ้น
  • ปรับ pH ได้ ในดินมีกรดฮิวมิค ที่ช่วยปรับสภาพน้ำให้เป็นกรดอ่อนๆ เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช

ข้อเสียของดิน

  • อายุการใช้งานจำกัด ส่วนมากมีอายุประมาณ 1-2 ปี ก็จะเริ่มป่น เละ หมดปุ๋ย ต้องซื้อใหม่เรื่อยๆ
  • อาจทำให้น้ำเปลี่ยนสี กรดฮิวมิคและสารอินทรีย์ในดิน อาจทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้ โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่ยังมีฮิวมัสอยู่เยอะ
  • ราคาสูง ถุงขนาด 8-9 ลิตร จะราคาราวๆ 800-1200 บาท

2. กรวด,ทราย

ถ้าไม่ใช้ดิน ก็สามารถใช้กรวดแม่น้ำได้ ราคากิโลละ 10-20 บาท ซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป
กรวดที่แนะนำก็คือกรวดแม่น้ำโขง กับ กรวดแก้วครับ เพราะรูปร่างกลมมน สีสันเป็นธรรมชาติ


กรวดแม่น้ำ


กรวดแก้ว

ถ้าหาไม่ได้ก็สามารถใช้กรวดอื่นๆได้ ที่ไม่ได้ย้อมสีแล้วก็มนๆ ไม่มีคมมากนัก ขนาดประมาณ 2-3 มม.

วิธีการใช้ก็ง่ายๆครับ เราก็เอากรวดเนี่ย ใส่รองพื้นไว้ในตู้ปลา ให้หนาสัก 1 นิ้วขึ้นไป แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วครับ

ข้อดีของกรวด

  • อายุการใช้งานเป็นอนันต์ ไม่ป่นเละเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปีเหมือนดิน สามารถล้างนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ
  • มีน้ำหนักที่จะยึดต้นไม้ที่เราปักไว้ไม่ให้มันหลุดได้ดีกว่าดิน ทำให้ง่ายต่อการปักสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการปักต้นไม้เล็กๆ
  • ราคาถูก กิโลละ 10-20 บาท

ข้อเสียของกรวด

  • ไม่มีแร่ธาตุหรือปุ๋ยให้ต้นไม้
  • น้ำหนักมาก (ก็หินนี่นะ) ขนกลับบ้านมาใส่ตู้ลำบาก
  • สกปรก กรวดส่วนมากไม่ได้ล้างมาก่อน และมักจะมีฝุ่นผงปะปนมามาก ต้องนำมาล้างก่อนหลายๆน้ำ สิ้นเปลืองน้ำและเวลา (เมื่อยด้วย)

อ่านเรื่องวัสดุปลูกเพิ่มได้ที่นี่ครับ
พ102 วัสดุปลูก





เหมือนคนต้องกินข้าวครับ ถ้าไม่มีการให้ปุ๋ย ต้นไม้ก็ไม่โต

ปุ๋ยสำหรับตู้ไม้น้ำจะมีอยู่ 3 ชนิด

1. ปุ๋ยรองพื้น ใช้สำหรับรองพื้นก่อนเทวัสดุปลูก นิยมใช้กับตู้ที่รองพื้นด้วยกรวด,ทราย ลักษณะเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ
2. ปุ๋ยฝัง เป็นปุ๋ยเม็ดหน้าตาคล้ายยาเม็ด มีทั้งที่เป็นแคบซูล แบบอัดเม็ด อัดแท่ง และแบบที่หน้าตาเหมือนยาลูกกลอน ใช้ฝังเพื่อให้ปุ๋ยทางราก ใช้เป็นระยะๆ 1-3 เดือนครั้ง
3. ปุ๋ยน้ำ สำหรับใส่ในน้ำ เพื่อให้ปุ๋ยในน้ำ ใช้ทุกวันหรืออาทิตย์ละครั้ง

ถ้ารองพื้นตู้ด้วยดิน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยรองพื้น แต่จะใช้ด้วยก็ได้ และไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ยน้ำและปุ๋ยฝังไปได้ระยะนึง เพราะในดินมีปุ๋ยผสมมาอยู่แล้ว ส่วนมากจะเริ่มให้ปุ๋ยฝังกันเมื่อผ่านไป 1-2 เดือน

ถ้าเรารองพื้นตู้ด้วยกรวด ก็ต้องให้ปุ๋ยตังแต่แรกเลย เพราะในกรวดไม่มีปุ๋ยไม่มีแร่ธาตุอะไร ต้นไม้ก็ไม่รู้จะเอาปุ๋ยจากไหนไปใช้  มีทั้งแบบน้ำ แบบเม็ดฝังดิน แบบรองพื้นก่อนปลูก ที่ต้องใช้ก่อนก็คือแบบรองพื้นครับ เพราะต้องใส่ลงไปพร้อมๆกับกรวด



ตัวอย่างปุ๋ยรองพื้น ใช้โรยที่พื้นตู้ก่อนลงกรวด หรือคลุกกับกรวดครึ่งหนึ่ง แล้วทับหน้าด้วยกรวดเปล่าๆอีกครึ่งที่เหลือ

หรือจะไม่ใช้ปุ๋ยรองพื้น แล้วใช้ปุ๋ยฝังแทนก็ได้ แต่จะราคาแพงกว่า และลักษณะการปล่อยแร่ธาตุก็ไม่เหมาะเท่าแบบรองพื้น

หลังจากที่ลงกรวดลงดิน จัดตู้ปักต้นไม้เรียบร้อยแล้ว
ผ่านไปสัก 3-7 วัน ก็สามารถเริ่มใส่ปุ๋ยน้ำได้
7-30 วัน ก็สามารถเริ่มฝังปุ๋ยได้

อันนี้เป็นเวลาโดยประมาณนะครับ บอกไว้เพื่อเป็นแนวทาง แต่ละตู้อาจต้องปรับเวลาให้แตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่นๆอีก

ปุ๋ยฝังก็จะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบแคบซูล แลลอัดเม็ด และแบบอื่นๆอีก แต่ส่วนมากก็จะเป็นสองแบบแรก





ตัวอย่างปุ๋ยฝังของ Dennerle



ตัวอย่างปุ๋ยน้ำของ Aquamania

ถ้ายังไม่สาแก่ใจ ไปอ่านเรื่องปุ๋ยโดยละเอียดได้อีกครับ [link]





ต่อมาก็แสงครับ ต้นไม้น้ำต้องการแสงสว่างระดับหนึ่งเพื่อใช้ในการสังเคาระห์แสง เปลี่ยนแร่ธาตุ ปุ๋ย และสารอาหารต่างๆให้เป็นพลังงานในการเจริญเติบโต แต่ละชนิดต้องการไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้าง

แล้วจะรู้ได้ไงว่า ต้นไม้ชนิดไหนต้องการปริมาณแสงแค่ไหน ง่ายที่สุดคือเราก็ค้นหาจากอินเตอร์เน็ตเนี่ยแหละครับ

ใน Aquapedia ก็มีข้อมูลของไม้ชนิดที่ขายๆกันเกือบครบ
หรือค้นหาจาก Google เอาก็มีครับ โพสถามจากเพื่อนๆในบอร์ดหรือถามจากคนขายก็ได้
ก่อนซื้อควรจะหาข้อมูลให้ดีก่อนครับ ว่าไม้ที่เราจะเลี้ยงมีความต้องการปัจจัยต่างๆยังไงบ้าง ไม่อย่างนั้นเอามาแล้วเลี้ยงไม่รอดก็จะเสียเงิน เสียของเปล่าๆ

จะดูยังไง วัดยังไงว่า แค่ไหนคือแสงมาก แค่ไหนคือแสงน้อย ถ้าให้ถูกต้องจริงๆต้องวัดด้วยค่า lux แต่เครื่องวัดมันแพง และยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป
เราเลยมักจะใช้ดูที่จำนวนวัตต์รวมของหลอดไฟทั้งหมดที่เราใช้ ต่อปริมาณน้ำหรือพื้นที่ผิวน้ำของตู้ครับ

อัตราส่วนของไฟกับตู้ที่เหมาะสมคือ 30-70 วัตต์ ต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ตารางฟุต

  • 30-40 วัตต์ ต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ตารางฟุต สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงน้อย เช่น มอสชนิดต่างๆ เฟิร์นและตระกูลอนูเบียส
  • 40-50 วัตต์ สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง เช่น หญ้าซาจิ (Sagittaria subulata) และไม้ตระกูลอเมซอน (Echinodorus)
  • 50-60 วัตต์ สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงปานกลาง-มาก เช่นพวก แฮร์กลาสหรือหญ้าหัวไม้ขีด (Eleocharis parvula) กลอสโซ่ (Glossostigma elatinoides)ไม้ตระกูลคริป (Cryptocoryne)
  • 60-70 วัตต์ หรือมากกว่า 70 วัตต์ขึ้นไป สำหรับไม้น้ำที่ต้องการแสงมาก เช่น สาหร่ายคาบอมบ้า (Cabomba caroliniana) ตระกูลสาหร่าย และไม้ข้อ เกือบทุกชนิด จอก แหน

ตัวอย่างวิธีคิด

เช่น เรามีตู้ขนาด ยาว 24 นิ้ว ลึก 12 นิ้ว สูง 12 นิ้ว

เอาแค่ด้านกว้างกับลึกมาคำนวณ

หลายคนอาจจะสับสนเรื่องด้านลึกกับสูง
ตู้ปลาจะใช้ศัพท์เรียกด้านต่างๆเหมือนพวกเฟอร์นิเจอร์ครับ ดูตามภาพนี้จะเข้าใจได้ง่าย



พื้นที่ผิวน้ำของเราคือ 24x12 นิ้ว หรือ 60x30 ซม.

24 นิ้ว/60ซม. = 2 ฟุต
12 นิ้ว/30 ซม. = 1 ฟุต

2x1 = 2

เท่ากับว่าตู้เรามีพื้นที่ผิวน้ำ 2 ตารางฟุต

ฉะนั้นไฟที่เหมาะสมกับตู้เรา ควรจะต้องมีจำนวนวัตต์ 60-140 วัตต์

ซึ่งจะเท่ากับโคมที่มีหลอดฟลูออเรสเซนต์ T5HO 24w จำนวน 3-6 หลอด
หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 18w 4-7 หลอด
หรือหลอดเมทัล-ฮาไลด์ 150w 1 หลอด (เกินไปนิดหน่อย แต่เกินดีกว่าขาด)

การคำนวณแบบนี้ สามารถใช้ได้ทั้งหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แท่งยาวๆ แบบที่เราใช้ตามบ้านหรือหลอด T8 รวมถึงหลอด T5 หลอดหลอดเมทัล-ฮาไลด์ และหลอด LED นะครับ เพราะกำลังแสงที่ต้นไม้สามารถนำไปใช้ได้เทียบกับจำนวนวัตต์แล้ว แต่ละชนิดไม่ต่างกันมากครับ

ถ้าตู้ของคุณสูงมากกว่า 20 นิ้ว (หักความหนากรวดส่วนที่บางที่สุดแล้ว) ควรจะเลือกใช้หลอด T5HO (High Output) หรือหลอดเมทัล-ฮาไลด์ และหลอด LED High Power/ติดเลนส์บังคับแสง เพราะหลอดจะมีพลังในการส่องทะลวงผิวน้ำได้ลึกกว่า และหลีกเลี่ยงหลอด T5 Normal Output กับ LED ธรรมดาครับ

ดูเพิ่มเติมเรื่องแสงในตู้พรรณไม้น้ำได้ที่นี่ครับ
แหล่งกำเนิดแสงสำหรับตู้ไม้น้ำ โดยคุณ banx

ถ้างงว่าชื่อหลอดไฟแต่ละชื่อคืออะไร แบบไหนเรียกอะไร อ่านในนี้เลยครับ
แสงสว่างสำหรับตู้ไม้น้ำ





สำหรับมือใหม่ ยังไม่ต้องสนใจเรื่องน้ำมากก็ได้ เพราะต้นไม้บ้านๆ ทั่วๆไป พอทละ 10-40 บาท ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เรื่องมากอะไรกับค่าต่างๆในน้ำมากนัก ช่วงนี้ก็อย่าเพิ่งไปมองพวกที่เลี้ยงยากๆแล้วกัน ช่วงแรกนี่ห่วงปลาม่องจะดีกว่า คอยดูแลหน่อยในช่วงแรกๆ น้ำที่เปลี่ยนอย่าให้มีคลอรีน ห้ามใช้น้ำบาดาล หรือน้ำกร่อย อุณหภูมิน้ำระหว่าง 20-30 ค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ PH 6.5-7.2 แอมโมเนีย ไนไตร์ท เป็น 0 หรือใกล้เคียง (สามารถวัดได้ด้วยชุดวัดค่าต่างๆเหล่านั้น หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป) ให้ค่ามันใกล้เคียงก็เป็นใช้ได้ เรื่องน้ำ และการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
คุณสมบัติของน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลา / All Fish





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/07/15, [16:31:18] โดย บัง! »
Tags: ไม้น้ำ 
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #1 เมื่อ: 16/11/06, [00:46:08] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ





ภายในตู้เลี้ยงไม้น้ำแบบเต็มระบบ (หมายถึงลงต้นไม้น้ำเต็มๆตู้ เน้นไม้น้ำเป็นหลัก) ถ้าไม่มีการเพิ่ม CO2 ให้ ปริมาณ CO2 ที่ได้จากการหายใจของปลา และพสัตว์น้ำ จะไม่เพียงพอ

เหมือนคนเยอะๆ อัดกันอยู่ในห้องๆนึง แคบๆ มันก็หายใจไม่ออก
ต้นไม้ที่ต้องการใช้ CO2 ถ้ามาอัดกันแน่นๆตู้ มันก็หายใจไม่ทัน

เราจึงต้องเพิ่ม CO2 ให้ต้นไม้ครับ ถ้าไม่มีให้ ส่วนใหญ่ต้นไม้จะโตช้า ตะไคร่ก็มาง่าย (เพราะต้นไม้โตไม่ทันตะไคร่) แล้วต้นไม้ก็จะสวยไม่เต็มที่ตามลักษณะของสายพันธุ์ด้วยครับ

การวัดปริมาณการใส่ CO2 ลงในตู้ ปกติจะนิยมใช้การนับจำนวนฟองต่อวินาที ด้วยตัวนับฟอง ที่มีน้ำอยู่ภายใน ให้ก๊าซไหลผุดขึ้นมาทีละฟองเพื่อนับปริมาณต่อวินาที หรือตัวละลายก๊าซบางชนิดอาจจะมีตรงนี้ให้นับได้อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องใช้ตัวนับฟองก็ได้ ปกติมาตรฐานถ้าปิดตอนกลางคืน จะเปิด 3-4 ฟองต่อวินาที ถ้าเปิด 24 ชั่วโมง จะเปิด 1-2 ฟองต่อวินาที

CO2 ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะมีอยู่ 2 แบบ

1. CO2 แบบถัง

เป็นถังเหล็กหรืออลูมิเนียม ภายในอัดก๊าซ CO2 เอาไว้เวลาหมดต้องเอาไปเติม หรือเอาไปเปลี่ยนถังใหม่มา เหมือนก๊าซหุงต้มที่เราใช้ในครัวตามบ้าน (แต่ถังคนละแบบกันนะครับ ใช้ร่วมกันไม่ได้)

-ภาพถัง CO2-

ถังเหล็กจะราคาถูกกว่า แต่หนักและเป็นสนิมได้ง่าย
ถังอลูมิเนียม ราคาแพงกว่า เบากว่าถังเหล็ก เป็นสนิมได้ยากกว่า

ขนาดก็มีหลากหลายครับ จะเรียกกันเป็นกิโล คือความจุถังว่าสามารถบรรจุก๊าซได้น้ำหนักกี่กิโล ในตลาดที่นิยมใช้กันมีตั้งแต่ 1-12 กิโล ที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นขนาด 3 กิโล เพราะไม่หนักและไม่ใหญ่มากจนเกินไป แต่ก็มีความจุมากพอและไม่ต้องเติมบ่อยเกินไปนัก

นอกจากตัวถังแล้ว ก็จะต้องมีอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้ร่วมกันอีกคือ

1. วาล์วเร็กกูเลเตอร์ (CO2 Regulator) เป็นตัวหลักในการควบคุมปริมาณก๊าซ ติดที่หัวถัง
2. วาล์วปรับละเอียด (Speed Control, Needle Valve) ใช้ต่อกับเร็กกูเลเตอร์ เพื่อปรับปริมาณก๊าซได้ละเอียดยิ่งขึ้น
3. ตัวกระจายหรือตัวปล่อยก๊าซ CO2 (CO2 Diffuser) ใช้เพื่อละลายก๊าซ CO2 ลงในน้ำ
4. วาล์วกันย้อน (Check Valve) ติดไว้เพื่อกันน้ำไหลย้อนเข้ามาในท่อก๊าซและทำความเสียหายให้กับอุปกรณ์ต่างๆ

และอุปกรณ์เสริมที่อาจจะไม่ใช้ก็ได้

1. วาล์วโซลินอยด์ (Solenoid Valve) วาล์วไฟฟ้า ใช้คู่กับสวิทช์ตั้งเวลาเพื่อตั้งเวลาปิด-เปิดการปล่อยก๊าซ CO2 ถ้าไม่ใช้จะต้องติดวาล์วเปิด-ปิดเพิ่มอีกตัวหนึ่ง และคอยเปิด-ปิดก๊าซเอง หรือเปิดก๊าซตลอดเวลา
2. สวิทช์ตั้งเวลาแบบ 24 ชม. ใช้คู่กับโซลินอยด์วาล์ว
3. ตัวนับฟอง (Bubble Counter) ใช้เพื่อตรวจนับปริมาณการปล่อย CO2 ด้วยการนับจำนวนฟองต่อวินาที
4. ตัววัดความเข้มข้นของ CO2 ในน้ำ (Drop Checker) ใช้วัดความเข้มข้นของ CO2 ที่ละลายในน้ำ ด้วยการดูสีของสารละลายที่ใส่ไว้ในตัวอุปกรณ์

CO2 แบบถังจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบยีสต์ เพราะได้ก๊าซ CO2 เต็มที่ เพียวๆ ใช้กับตู้ใหญ่ขนาดไหนก็ได้ แต่ลงทุนซื้อถังครั้งแรกแพง ประมาณ 3000 (ราคานี้มีถังขนาด 3 กิโล หัวเรกกูเลเตอร์ วาล์วปรับละเอียด อาจจะมีให้ตัวละลายด้วย) ก๊าซสามารถเปลี่ยนถังหรือฝากเติมได้ที่ร้านที่เราซื้อมา หรือถ้าแถวบ้านมีร้านขาย/เติมถังออกซิเจน แล้วมาจตุจักรลำบาก อาจจะซื้อถังและเติมที่ร้านแถวบ้านก็ได้ ร้านพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีถัง CO2 ให้ด้วยอยู่แล้ว ถัง 3 kg. เติมครั้งละ 100-150 บาท แล้วแต่ร้าน

ตัวอย่างถัง CO2 พร้อมเรกกูเลเตอร์ และโซลินอยด์วาล์ว อันนี้เป็นถังอลูมิเนียม ราคาแพงกว่าถังเหล็ก แต่เบากว่าและไม่เป็นสนิม


ชุดถูกสุดประมาณ 3000 จะได้ถังเหล็กแบบนี้ (รูปโดยคุณ house)


รายละเอียดของเรกกูเลเตอร์ และโซลินอยด์วาล์ว ชุดนี้จะต่ออยู่ที่หัวถังอีกที เอาไว้ควบคุมปริมาณการไหลของก๊าซ


อ่านเพิ่มเติม

เข้าใจหัวเร็กและสร้างหัวเร็กติดโซลินอยด์ Modified Gas Regulator Homemade T777

มาต่อโซลินอยด์กับหัวเรกฯกันดีกว่า (ในงบฯ 700 บาท)  MaTTieW


2. CO2 แบบยีสต์

เป็นการหมักน้ำตาลกับยีสต์ พอยีสต์กินน้ำตาล ก็จะขี้ออกมาเป็น CO2 เราก็ต่อสายไปลงตู้
ทำครั้งนึงใช้ได้ประมาณ 20-30 วัน ราคาถูกมาก แค่ค่าน้ำตาล 2 ถ้วย ไม่ถึง 10 บาท (น้ำตาลครึ่งโล 10 กว่าบาท) กับยีสต์ อย่างดีๆเลยก็ห่อละ 300 ใช้ไปยันลูกยันหลาน เพราะใช้แค่ครั้งละ 1/2-1ช้อนชา แบบถูกหน่อยขวดเล็กๆไม่ถึง 100 บาท

มีข้อเสียคืออาจจะผลิตปริมาณก๊าซได้ไม่พอกับตู้ใหญ่กว่า 36 นิ้ว จริงๆแล้วก็ใช้ได้ แต่ต้องทำหลายชุด ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแพง (ค่าน้ำตาล) ยกเว้นว่าบ้านคุณเป็นโรงงานน้ำตาล [เอิ๊กๆ]

ยังไงลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันก่อนแล้วกัน

นานาสาระ คาร์บอนยีสต์ (จากเริ่มต้น จนเสร็จสมบูรณ์) Coffman

3. CO2 แบบน้ำ

เป็นสารทดแทน CO2 ที่อยู่ในรูปแบบของน้ำ ประสิทธิภาพอาจจะสู้สองแบบข้างบนไม่ได้ แต่สะดวก ราคาเริ่มต้นไม่แพง และมีผลพลอยได้คือสารชนิดนี้สามารถกำจัดและควบคุมตะไคร่ได้ด้วย แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าแบบอื่นๆหากใช้ในระยะยาว จึงเหมาะกับตู้เล็กๆมากกว่าตู้ใหญ่ เพราะสิ้นเปลืองปริมาณการใช้มากกว่า หรือใช้ชั่วคราวระหว่างรอเติมแบบถัง หรือใช้เพื่อกำจัดตะไคร่



ตัวอย่างคาร์บอนน้ำของ Aqua-mania

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CO2 ได้อีกมากมายใน บทความเกี่ยวกับระบบ CO2



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/07/15, [16:31:56] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #2 เมื่อ: 02/03/07, [23:43:55] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ




จบเรื่องปัจจัยของต้นไม้ไปแล้ว คราวนี้เราจะเขยิบออกมาอีกนิด มาดูเรื่องเกี่ยวกับสัตว์น้ำในตู้ไม้น้ำกันครับ สมัยนี้ มีให้เลือกทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลาเลยเชียวแหละ

เราจะแบ่งประเภทของสัตว์น้ำในตู้ไม้น้ำ ออกตามวัตถุประสงค์ในการใส่ลงไปดังนี้นะครับ

  1. ประเภทอยากใส่ เพื่อความสวยงาม และเพื่อสนอง need เราเอง อันนี้รู้กันอยู่แล้ว ตัวที่ชอบนั่นเอง ระวังอย่าใส่สัตว์น้ำที่จะทะเลาะกันเอง หรือทำร้ายตัวอื่นๆ และไม่ทำลายต้นไม้น้ำก็พอ ประมาณว่า ใส่ไปแล้วไม่ ship หายเป็นใช้ได้

  2. ประเภทจำต้องใส่ เพื่อช่วยกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น ตะไคร่ หอย พลานาเรีย ฝ้าผิวน้ำ ดูตามบทความที่ให้มานี่เลยครับ สัตว์น้ำผู้ช่วยควบคุมตะใคร่น้ำ คุณ banx

สัตว์น้ำพวกนี้ใช้ออกซิเจนในการหายใจ แต่ในตู้ไม้น้ำเราไม่สามารถให้ออกซิเจนได้ เพราะจะทำให้ co2 ที่ต้นไม้ต้องการหายไปจากน้ำหมด สัตว์น้ำเหล่านี้จึงมีสภาพเป็นลูกเมียน้อย ต้องทนใช้ออกซิเจนที่ซึมลงมาทางผิวน้ำอย่างเดียว ดังนั้น เราจึงต้องระวังไม่ใส่สัตว์น้ำในปริมาณมากเกินไป และระวังปริมาณ co2 ไม่ให้มากเกินไป รวมถึงรักษาความสะอาดของน้ำและพักน้ำลดคลอรีน เพื่อให้สัตว์น้ำเหล่านี้ไม่ตายจากเราไปก่อนเวลาอันควรครับ รายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลสัตว์น้ำในตู้ไม้น้ำ ผมรวบรวมไว้ที่นี่แล้วครับ





ในตู้ไม้น้ำเราจำเป็นต้องใช้กรองเพื่อช่วยบำบัดน้ำ ลดปริมาณการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และทำให้น้ำใส ตู้ปลาทุกชนิดต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำครับ ตู้ไม้น้ำปกติก็อาทิตย์ละครั้ง ถ้ามีใครบอกว่า ใช้กรองอันนี้อันนั้นแล้วไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ มันโม้ครับ ด่ามันเลย ไอ้ขี้โม้!!! ดังนั้น เพื่อคุณภาพน้ำที่ดี ไปอ่านกันซะครับ

รู้จักชื่อและลักษณะกรองชนิดต่างๆกันก่อนครับ
ประเภทของระบบกรอง

ตามด้วย วัสดุกรองชีวภาพ ที่เราต้องเอามาใส่ในเครื่องกรอง มันใช้ยังไง มีประโยชน์ยังไง
วัสดุกรองชีวภาพ

แล้วก็ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบกรองชีวภาพโดยละเอียดครับ ในสุดยอดบทความเเรื่องระบบกรองชีวภาพในตำนาน
"นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ" - ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ระบบกรองแบบ Biological ในตู้ปลาสวยงาม





ตู้กระจกใสธรรมดา ไม่ต้องมีกั้นกรอง ขนาดความยาวตั้งแต่ 24-48 นิ้ว จะเหมาะกับมือใหม่ที่สุดครับ เวลาเลือกตู้ให้เลือกขนาดมาตรฐาน จะได้หาอุปกรณ์เสริมได้ง่าย ไม่ต้องดัดแปลงให้ยุ่งยาก พวกเยอะได้เปรียบครับ

ตู้ยาว 24 นิ้วขนาดมาตรฐานจะเป็น ยาว 24 กว้าง 12 สูง 12 นิ้ว
ตู้ยาว 36 นิ้วขนาดมาตรฐานจะเป็น ยาว 36 กว้าง 18 สูง 18 นิ้ว
ตู้ยาว 48 นิ้วขนาดมาตรฐานจะเป็น ยาว 48 กว้าง 20 สูง 20 นิ้ว

ทั้ง 3 ขนาด ส่วนใหญ่จะใช้กระจกหนา 2 หุน เป็นมาตรฐาน ถ้าบางกว่านี้ไม่ควรใช้ครับ อันตรายเกินไป ถ้ามีตัง เลือกหนาๆไว้ก่อนเลย 3-4 หุนได้ยิ่งดี ยิ่งหนายิ่งปลอดภัยครับ

ตู้เล็กกว่า 24 จะดูแลได้ยาก ปริมาณน้ำที่น้อย ทำให้อุณหภูมิ PH แอมโมเนีย ไนไตร์ท ไนเตรท และค่าต่างๆในน้ำเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเกินไป บางตู้เผลอแผล่บเดียว วันสองวันอาจจะมีปลาตาย ตู้ล่มกันได้ง่ายๆ ควรเลือกตู้ใหญ่กว่า 24 ขึ้นไปครับ จะดูแลง่ายกว่ากันพอสมควรเลย

ตู้ใหญ่กว่า 48 ก็ได้ ยิ่งใหญ่ยิ่งดีครับ ระบบจะยิ่งมีเสถียรภาพ มั่นคง แต่การเลี้ยงไม้น้ำในตู้ใหญ่กว่า 48 นิ้วเป็นงานหนักมาก กรวดมากกว่า 4 กระสอบ น้ำ ที่หนักเกือบตัน ปริมาณปุ๋ย co2 จำนวนไฟที่เราต้องใช้ จะทำให้คนเลี้ยงกลายเป็นคนเหล็กคูโบต้าและกระเป๋าบางได้ครับ ข้อดีก็เยี่ยม ข้อเสียก็เยอะ พิจารณาให้ดีก่อนครับ ว่าพร้อมไหม?

อย่าเลือกตู้ที่สูงเกิน 24 นิ้ว เพราะแสงไฟจะลงไม่ถึงก้นตู้ และเราจะเอื้อมไม่ถึงครับ

ขาตู้ เอาขาเหล็กซักอันนึงอ่ะครับ แบบตรงๆธรรมดาๆ หรือถ้ามีตัง และต้องการความสวยงาม จะเลือกขาตู้ที่เป็นขาเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ อย่าลืมรองใต้ตู้ด้วยโฟมก่อนวางตู้ พยายามเลี่ยงขาเหล็กรูปตัว S เพราะความแข็งแรงไม่พอกับตู้ไม้น้ำที่อุปกรณ์เยอะ น้ำหนักมาก แล้วต้องหยิบจับอะไรแถวนั้นบ่อยๆครับ



เฮ...หมดเรื่องเบสิคกันแล้วนะครับ เราไปเลือกไม้น้ำที่จะมาลงตู้กันดีกว่าครับ



ถ้ายังไม่มีตู้ไม้น้ำแบบที่ชอบ ไม่รู้จะเอาแบบไหนดี ให้ลองไปนั่งดูที่นี่ก่อนนะครับ

http://www.pbase.com/plantella

http://www.adana-th.com/gallery.htm

Planted Tank - Google ค้นหารูปภาพ

 ดูไปเรื่อยๆ หาให้เจอว่าเราชอบแนวไหน จะได้เลือกจัดให้ถูกใจตัวเองครับ นั่งดูๆแล้วเลือกไว้ในใจว่าเราจะเอาต้นไหนบ้าง เอาต้นนี้ไว้ตรงไหน ต้นนั้นไว้ตรงไหน จินตนาการไปก่อน วาดรูปวางแผนได้เลยยิ่งดี

รายชื่อไม้น้ำที่เลี้ยงง่าย ตายยาก โตเร็วทันใจ เหมาะสำหรับมือใหม่

รายชื่อไม้น้ำ (และไม่น้ำ) ที่ควรเลี่ยงสำหรับมือใหม่ เช่นพวกไม้ที่ไม่ใช่ไม้น้ำ แต่ถูกนำมาขายเป็นไม้น้ำ หรือไม้น้ำที่ต้องการปัจจัยเฉพาะตัวบางอย่างเป็นพิเศษ และไม้น้ำที่ราคาแพง



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/07/15, [16:33:02] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #3 เมื่อ: 09/06/07, [14:05:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ







อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดตู้ไม้น้ำ

ถึงเวลาขึ้นครูแล้วครับ เราไปดูขั้นตอนคร่าวๆกัน ว่าควรทำยังไงกันดี เผื่อจะนึกไม่ออก

1. ล้างกรวด แบ่งกรวดมาล้างทีละครึ่งถัง จะได้ล้างง่ายๆหน่อย เปิดน้ำใส่แล้วเอาไม้กวนๆ เทน้ำทิ้ง แล้วทำใหม่ จนกว่าน้ำล้างจะใส หรือใสมากที่สุด (ประมาณ 5-10 น้ำ) ระหว่างล้างพยายามเก็บเศษใบไม้ รากไม้ เปลือกหอย ออกให้มากที่สุด

2. ผสมกรวดจำนวน 1/3 ของกรวดทั้งหมดกับปุ๋ยรองพื้นในถังก่อน หรือจะเทกรวดลงในตู้แล้วโรยปุ๋ยรองพื้นให้ทั่วแทนก็ได้ ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ ให้ดูตามฉลากของปุ๋ยนั้น ถ้าจะใส่แบคทีเรียผงหรือน้ำ ก็ใส่ตอนนี้ได้เลยครับ

3. เทกรวดที่เหลือทั้งหมด ทับกรวดในข้อ 2 จัดแต่งความสูงต่ำ เล่นสโลป วางก้อนหิน ขอนไม้ ตามต้องการ

4. เติมน้ำให้ได้ประมาณ 2/3 ของตู้ เพื่อความสะดวกในการจัดแต่ง น้ำจะได้ไม่กระฉอกเฉอะแฉะไงครับ เวลาเติมให้หาจานรอง หรือปูพลาสติกทับกรวดไว้ แล้วค่อยเติมน้ำลงไป น้ำจะได้ขุ่นน้อย

ที่สุดครับ จากนั้นก็จัดแต่างขอนไม้ ก้อนหิน และไม้น้ำตามที่ออกแบบไว้ได้เลยครับ ไม่ต้องพยายามทำให้มันสวยตั้งแต่ตอนนี้นะครับ เพราะยังไงอีกหน่อยต้นไม้โต สภาพ รูปทรงมันจะเปลี่ยนไปจากตอนนี้มาก และแน่นอนว่า มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มจะแทบไม่มีทางคาดเดารูปทรงไม้น้ำเมื่อมันโตเต็มที่ได้เลย ยังไงเดี๋ยวก็ต้องมีรื้อถอน ปักใหม่อีกหลายรอบครับ อย่าซีเรียสมาก เอาพอโอเคก็พอแล้ว

5. เติมน้ำให้เต้มตู้ (เต็มพอดีๆนะครับ เว้นด้านบนประมาณ 1 นิ้วไม่ใช่ล่อซะปริ่มขอบตู้) แล้วเซ็ตระบบกรองที่ซื้อมาได้เลย

6. หลังจากนี้ ทิ้งไว้ 1 วันก็ใส่ปลา/กุ้ง กินตะไคร่ ลงไปได้เลย เพื่อช่วยในการสร้างระบบแบคทีเรียในกรอง แต่อย่าเยอะครับ เดี๋ยวแบคทีเรียเกิดไม่ทันของเสีย ถ้าหลังจากนี้ 1-2 อาทิตย์ ปลา/กุ้งกินตะไคร่มันดูผอมจัด ก็ให้อาหารมันบ้างก็ได้ครับ อย่าเยอะ เอาพอกันตาย 3-4 วันครั้งก็พอ บางตู้แสงน้อย ตะไคร่ไม่ขึ้นก็มีเหมือนกันครับ

7. ช่วงนี้ก็เช็คการปรับ Co2 บ่อยถ้าใช้แบบถัง เพราะบางครั้งมันจะแรงหรือเบาลงได้เองเหมือนกัน ช่วงแรกๆต้องคอยดูให้ดี ควรวัดค่าแอมโมเนีย ไนไตร์ท ทุก 2-3 วัน จนกว่าจะได้ค่าเป็น 0 ทั้งสองตัว จึงค่อยใส่ปลาที่เราต้องการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ไม่ควรลงปลาทีละเยอะๆนะครับ เดี๋ยวกรองทำงานไม่ทัน ทยอยใส่ อาทิตย์ละ 3-4 ตัวก็พอ (ชุดตรวจวัดซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป การใช้งานศึกษาเอาตามฉลาก)

8. หลังจากนี้ก็คอยๆๆๆ จน 1-2 อาทิตย์ผ่านไปนั่นแหละครับ ต้นไม้ในตู้จะเริ่มฟื้น จนพอดูได้แล้ว พ้น 1 เดือนแรกค่อยเริ่มใส่ปุ๋ยฝังและปุ๋ยน้ำครับ

การเซ็ตตู้ใหม่ที่แนะนำไว้เป็นแค่แนวทางหนึ่งนะครับ ไม่จำเป็นจะต้องทำแบบนี้เสมอไป ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ คุณจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ถ้าคุณคิดว่ามันดีกว่า ตู้คุณครับ ไม่ใช่ตู้ผม





ตะไคร่ การกำจัด และสัตว์น้ำช่วยกำจัดตะไคร่

มารู้จักศัตรูตัวเป้งของเราและวิธีการรับมือกันเถอะครับ

ดูที่ มารู้จักชนิดต่างๆของตะใคร่กันดีกว่า / คุณ banx

ดูที่ สัตว์น้ำผู้ช่วยควบคุมตะใคร่น้ำ / คุณ banx







ปัญหา : ลำต้นลีบเล็กลง ใบมีขนาดเล็กลง ใบเหลือง หลุดร่วง ไล่มาจากด้านโคนต้น
สาเหตุ : แสงไม่เพียงพอ
การแก้ไข : ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม้น้ำได้รับแสงสว่างเพียงพอกับความต้องการของไม้ชนิดนั้นๆ เปลี่ยนหลอดไฟ ถ้าหลอดนั้นใช้มานานกว่า 6 เดือน

ปัญหา : ใบมีจุดสีน้ำตาล แล้วค่อยๆขยายใหญ่จนเป็นรู ,ใบเหลืองทั้งต้น ,ใบค่อยๆเหลืองและเน่า เริ่มจากปลายใบ
สาเหตุ : มีปริมาณไนเตรทในน้ำมากเกินไป เกิดจากปริมาณการเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่เพียงพอ หรือเว้นระยะนานเกินไป
การแก้ไข : เปลี่ยนถ่ายน้ำให้มากและบ่อยขึ้น


ปัญหา : ใบมีรูเล็กๆ ขอบหยัก ไม่เป็นระเบียบ มีขอบชัดเจน ในขณะที่ส่วนอื่นยังปกติดี
สาเหตุ : ถูกหอยกัดกิน
การแก้ไข : จับหอยออก

ปัญหา : ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต แล้วตายในเวลาต่อมา
สาเหตุ : คาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ไม่เพียงพอ
การแก้ไข : เพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ลดการกระทบผิวน้ำของน้ำที่ไหลจากกรอง อย่าให้เกิดฟองอากาศ


ปัญหา : พื้นปลูกมีกลิ่นเหม็นเหมือนน้ำเน่า หรือดินเลน เวลาถอนต้นไม้ออกมา ,บริเวณรากบางส่วนมีสีดำ ,มองเห็นชั้นสีดำบริเวณด้านข้างตู้
สาเหตุ : เกิดการหมักหมมของพื้นกรวด แบคทีเรียในพื้นกรวดไม่ทำงาน หรือมีปริมาณน้อยเกินไป ออกซิเจนไม่สามารถกระจายไปยังด้านล่างของพื้นกรวดได้เพียงพอ
การแก้ไข : เสริมแบคทีเรียเข้าไปโดยตรง หากอาการไม่รุนแรง หรือรอให้รากของต้นไม้แผ่ไปถึง ก็จะหายไปเอง ในกรณีของชั้นดำ แต่หากอาการหนัก สามารถดูดน้ำทำความสะอาดกรวด (ควรแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ แล้วทำเป็นบางส่วนก่อน จากนั้นค่อยทำส่วนที่เหลือทีหลัง) หรือรื้อตู้จัดพื้นปลูกใหม่ ให้มีการไหลเวียนของก๊าซออกซิเจนได้ดีกว่าเดิม





เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  • อย่าซื้อตู้ กับปลาในวันเดียวกัน ควรจะซื้อตู้และอุปกรณ์ทุกอย่างกลับไปจัดการให้เรียบร้อยก่อน อีกซักอาทิตย์ค่อยกลับมาซื้อปลาและต้นไม้จะดีกว่า ซื้อของทุกอย่างกลับไปพร้อมกัน มันจะยุ่งยากในการจัดการทุกอย่างให้เสร็จในวันเดียว ถ้าไม่เสร็จ คุณก็ต้องหาที่พักปลาไว้ก่อน และปลาก็อาจจะตายจากสภาพน้ำที่ยังไม่ได้พักให้คลอรีนระเหย ระบบกรองยังไม่เซ็ตตัวดีได้อีกด้วย
  • การซื้อปลาแบบเหมาถุง ตามแหล่งค้าส่ง แม้จะได้ปลาจำนวนมากในราคาถูก แต่ผู้ซื้อก็ต้องเสี่ยงการสูญเสียปลาไปจำนวนหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้รับการพักน้ำก่อนลงตู้อย่างถูกวิธี บางครั้งการซื้อปลากับร้านค้าที่มีการพักปลาให้เราเรียบร้อยแล้ว ในราคาแพงกว่าสักหน่อย อาจจะเป็นการดีกว่า
  • การคายฟองของต้นไม้ ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ต่อไป ตู้นี้จะต้องสวย ต้นไม้โตเร็ว การให้แสง CO2 ปุ๋ย ปริมาณมาก เพื่อให้ต้นไม้คายฟอง เหมือนการขับรถด้วยความเร็วสูง หากไม่มีความชำนาญพอ ตะไคร่อาจะมาเยือนท่านได้โดยง่าย
  • อย่าเชื่อคนขาย หรือผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ไตร่ตรองเสียก่อน หากไม่มีความรู้เรื่องนั้นๆจริงๆ ให้สอบถามผู้เลี้ยงหลายๆท่าน หลายๆร้านประกอบกัน มักจะได้คำตอบที่แม่นยำกว่า
  • หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป มีอายุการใช้งานราวๆ 6 เดือน- 1 ปี ควรเปลี่ยนหลอดเมื่อครบกำหนด หรือเห็นต้นไม้มีอาการแย่ลงเนื่องจากค่าแสงของหลอดไฟที่เปลี่ยนไป





บทความนี้ กำลังอยู่ในช่วงพัฒนานะครับ รายละเอียดจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีการอัพเดทใดๆ จะแจ้งให้ทราบอีกทีแล้วกันนะครับ


เพื่อนๆที่มาตอบมาเม้นไว้ในนี้ ผมขอลบก่อนนะครับ เนื่องจากข้อความแรกของผม พอยาวมากๆแล้วมันชอบเอ๋อ ทำให้ข้อความบางส่วนขาดหายไปเป็นประจำ แล้วมันก็แก้ไขยากด้วยน่ะครับ หน้ามันยาวไป ตอนนี้ผมขอล็อกไว้ก่อนนะครับ สงสัยอะไรถามได้ใน club ครับผม


ใครจะทำลิ๊งไปที่อื่นๆในบอร์ด ใช้โค้ดนี้ได้เลยนะครับ จะมีรูปหัวข้อไปด้วย แบบเน้ >>>

โค๊ด:
[url=http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=1413.0][IMG]http://aqua.c1ub.net/images/articles/p101_icon.gif[/IMG][/url]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/07/15, [16:33:51] โดย บัง! »
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #4 เมื่อ: 27/05/09, [15:03:01] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แก้ลิ๊งที่เสียแล้วนะ
บัง! ออฟไลน์
in Wonderland
« ตอบ #5 เมื่อ: 28/08/09, [12:49:09] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แก้รูปที่เสียแว้ว
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: