Aqua.c1ub.net
*
  Wed 12/Jun/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ เจอบทความนี้มาครับเอาไว้อ่านเล่นครับ  (อ่าน 2308 ครั้ง)
Bankmantoy ออฟไลน์
Club Veteran
« เมื่อ: 30/01/12, [12:17:21] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ
 
พรรณไม้น้ำหรือพืชน้ำ(Aquatic Plants) หมายถึงพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำโดยอาจจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด หรือ โผล่บางส่วนขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ หรือเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ ชายตลิ่ง นอกจากนี้ก็ยังรวมถึงพืชที่เจริญเติบโตอยู่ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขังหรือที่ขึ้นแฉะอีกด้วย
 
การจัดตู้ปลาปัจจุบันมักจะมีการตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำควบคู่กันไปกับการเลี้ยงปลา จึงจะจัดว่าเป็นตู้ที่ทันสมัยและมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เนื่องจากในสภาพแวดล้อมธรรมชาตินั้น พรรณไม้น้ำและปลาจะอาศัยอยู่ร่วมกัน การปลูกประดับพรรณไม้น้ำในตู้ปลานอกจากจะเพิ่มมีความสวยงาม ความมีชีวิตชีวาให้กับตู้ปลาแล้ว พรรณไม้น้ำและปลายังเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน โดยพรรณไม้น้ำจะช่วยกำจัดของเสียที่ขับถ่ายออกจากตัวปลา ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับการเจริญเติบโต และนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปลาไม่ต้องการ ผลจากการสังเคราะห์แสงของพรรณไม้น้ำในตู้ปลาจะได้ก๊าซอ๊อกซิเจนซึ่งปลานำไปใช้ในการหายใจได้ต่อไป จากจุดเริ่มต้นที่ใช้พรรณไม้น้ำประดับตู้ปลาให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น พัฒนาไปจนกระทั่งเป็นงานศิลปะการจัดสวนใต้น้ำ ซึ่งจัดเป็นงานอดิเรกชนิดใหม่เกิดขึ้น และได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก
พรรณไม้น้ำที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประดับตู้ปลา และจัดสวนพรรณไม้น้ำมีมากกว่า 250 ชนิด พรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยมส่วนใหญ่มักมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศในเขตร้อน เช่นประเทศในทวีปอัฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย เป็นประเทศในเขตร้อนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพรรณไม้น้ำสวยงามที่นิยมกันหลายชนิด อีกทั้งภูมิประเทศของประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการแพร่ขยายพรรณไม้น้ำหลายชนิด เพราะไม่เพียงแต่เฉพาะพรรณไม้น้ำของไทยเท่านั้นที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ พรรณไม้น้ำต่างประเทศอีกหลายชนิดที่นำเข้ามาก็สามารถเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีในประเทศไทย ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของพรรณไม้น้ำตามลักษณะการเกิดของใบดังนี้   

1พรรณไม้กลุ่มที่มีใบแตกออกจากรอบ ๆ โคนต้น ได้แก่สกุล Aponogeton, nubias, Crytocoryne, Crinum, Nymphea, Echinodorus และ Vallisneria เป็นต้น
2.พรรณไม้กลุ่มที่มีใบเกิดตามข้อ ชนิดที่นิยมและปลูกได้ดีในตู้ ได้แก่ สกุล Cabomba, Hygrophila, Alternanthera, Nomaphila, Egeria, Ludwigia, Bacopa, Myriophyllum, Rotala และ Ammannia เป็นต้น
3.กลุ่มอื่น ๆ เช่น พวกลอยน้ำ ได้แก่ กระจับ จอก แหน กลุ่มของเฟิร์นที่นิยมมากคือ รากดำใบยาว และกลุ่มของมอส ที่นิยมมากคือ ชวามอส
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำ และการปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เกิดพรรณไม้น้ำที่มีลักษณะรูปร่าง และมีสีสันแตกต่างกันมากมาย การผลิตพรรณไม้น้ำนั้นมีทั้งแบบดั่งเดิม คือ ปลูกบนดินในที่โล่ง และแบบพัฒนาในโรงเรือนปิด มีการนำเทคโนโลยีการขยายพันธุ์ของพืชบกมาใช้เช่นวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ปัจจุบันสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้นำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำสกุล Cryptocoryne บางชนิด ซึ่งมีการเก็บรวบรวมจากธรรมชาติ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
การเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำ
พรรณไม้น้ำสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คล้ายพืชบกดังนี้
1.การขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการใช้เมล็ด เช่น สันตะวา, ชบา, แอมมาเนีย, อเมซอน และทับทิม
2.การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
2.1การขยายพันธุ์โดยการเกิดสปอร์ เช่นรากดำใบยาว และเฟิร์นน้ำ
2.2ขยายยพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ได้แก่
ลำต้น – โดยการตัดลำต้นระหว่างข้อปักลงดิน หรือ พื้นกรวดขนาดเล็ก เช่น แอมมาเนีย, โรทาล่า หรือทับทิม, ขาไก่, สาหร่ายฉัตร, สาหร่ายเดนซ่า, สาหร่ายหางกระรอก, หลิวน้ำ, น้ำตาเทียน และลานไพลิน เป็นต้น
หน่อ ไหล่ เหง้า – โดยการแยกต้นอ่อนที่เกิดขึ้นจากหน่อ ไหล่ เหง้า ไปปลูกบนพื้นดิน หรือ พื้นกรวด เช่น อะนูเบียส, แซกจิทาเรีย, เทป, โลบิเลีย และบัวชนิดต่าง ๆ
การปลูกพรรณไม้น้ำในแปลงเพาะขยายพันธุ์
1.การปลูกแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยทั่วไปพรรณไม้น้ำส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในที่ชื้นแฉะ พรรณไม้น้ำสวยงามส่วนมากเป็นพืชชายน้ำ การเพาะขยายพันธุ์จะปลูกในแปลงที่มีวัสดุปลูกเป็นดินหรือกรวดขนาดเล็ก มีน้ำท่วมโคนต้น บ่อปลูกอาจเป็นบ่อซีเมนต์เตี้ย หรือ กระบะ มีตาข่ายพรางแสงประมาณ 40 – 60% ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำ มีระบบน้ำหยดสปริงเกอร์ หรือใช้ฝักบัวรดน้ำเป็นระยะ ช่วยให้ความชุ่มชื้น ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์
2.การปลูกพรรณไม้น้ำแบบไร้ดิน ได้แก่การปลูกในกระถางคล้ายตะกร้าพลาสติกขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุปลูกเป็นแร่ใยหิน (Rock wool) ซึ่งมีคุณสมบัติอมน้ำ นุ่มไม่เปื่อยง่าย ไม่เกาะกันเป็นก้อน พรรณไม้น้ำที่ปลูกในกระถางจะแช่ไว้ในบ่อหรือกระบะที่มีน้ำ มีการให้ปุ๋ยโดยเติมลงไปกับน้ำ
3.การปลูกพรรณไม้น้ำแบบใต้น้ำในบ่อดิน วิธีนี้จะใช้ในการเพาะขยายพันธุ์พรรณไม้น้ำจำพวกสาหร่าย เช่น การปลูกสาหร่ายฉัตร สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายเดนซ่า โดยการตัดลำต้นมาปักชำในวัสดุปลูกที่เป็นดิน แล้วจึงเด็ดยอดไปจำหน่าย หรือการปลูกต้นเทป ในบ่อน้ำที่มีกรวดเป็นวัสดุปลูก เทปจะยายออกทางด้านข้างแตกออกเป็นใบเกิดต้นใหม่
การปลูกพรรณไม้น้ำแบบพัฒนา ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงกันในโรงเรือน (Green house) ซึ่งจะควบคุมความชื้น แสงสว่าง และปุ๋ยได้โดยอัตโนมัติ สามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ ระบบการปลูกมักจะใช้วิธีการปลูกแบบไร้ดินในกระถางขนาดเล็กคล้ายตะกร้า ใช้ Rock wool เป็นวัสดุปลูก พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากสะดวกต่อการทำงาน สามารถกำหนดปริมาณได้แน่นอน และมีความสะอาด
การปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อ หรือการชำน้ำ
พรรณไม้น้ำที่ได้จากแปลงเพาะปลูกแบบครึ่งบกครึ่งน้ำ ส่วนใหญ่จะต้องนำมาปักชำในน้ำเพื่อให้ลำต้นและใบมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีสันให้มีความอ่อนช้อยสวยงามยิ่งขึ้น ในการปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อน้ำ หรือที่เรียกว่าการชำน้ำมีขั้นตอนดังนี้
1.การเตรียมบ่อ
1.1ใส่กรวดขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตรที่ล้างสะอาดลงในบ่อที่เก็บกักน้ำได้ ถ้ากรวดไม่สะอาดจะทำให้น้ำขุ่น ตะกอนดินจะจับที่ใบทำให้ไม่สวย และไม่สามารถนำไปจัดในตู้ปลาได้ ใส่กรวดหนาประมาณ 3 – 4 นิ้ว
1.2เติมน้ำระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงจากกรวด และน้ำต้องใสสะอาด
2.การปลูก
1.นำพรรณไม้น้ำที่เด็ดยอดออกมาจากต้นแม่ ขนาดความยาวตามต้องการแต่ต้องมีข้ออย่างน้ำ 2 – 3 ข้อ เช่นตัดมาประมาณ 5 – 6 ข้อ
2.เด็ดใบที่ข้อด้านล่างสุดออกเพื่อให้เกิดรากที่ข้อ ถ้าหากไม่ได้เด็ดใบออก ใบที่ข้ออยู่ใต้กรวดจะเน่าทำให้น้ำเสียหรือเกิดความสกปรก
3.ปลูกพรรณไม้น้ำลงในกรวดให้ห่างกันพอประมาณ เพื่อให้มีเนื้อที่ในการเจริญเติบโตของใบจากนั้นเติมน้ำที่ใสสะอาดลงไปอีกจนกระทั่งระดับน้ำสูงจากกรวด 50 – 60 เซนติเมตร
4.ทิ้งไว้ประมาณ 7 – 15 วัน เมื่อใบมีการเจริญเติบโต เปลี่ยนแปลงรูปร่างและมีสีสันสวยงาม ตลอดจนมีรากงอกดีแล้วจึงนำไปจำหน่ายหรือปลูกประดับในตู้ปลา
3.การถ่ายเทน้ำและการใส่ปุ๋ยในบ่อพรรณไม้น้ำ
1.ถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อยในประมาณ 30% เพื่อให้น้ำใสสะอาดและพรรณไม้น้ำได้รับแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ไม่มีในปุ๋ยแต่มีในน้ำ นอกจากนี้การปลูกพรรณไม้น้ำใหม่ทุกครั้งควรล้างกรวดให้สะอาดก่อนใส่น้ำใหม่ลงไป
2.ใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ได้แก่ ปุ๋ย NPK ชนิดละลายน้ำสูตร 25-5-5 หรือ 30-20-10 ในปริมาณ 5 – 15 PPM. (5 – 15 กรัม/น้ำ 1,000 ลิตร) การใส่ปุ๋ยจะใส่หลังจากเติมน้ำใหม่แล้ว 2 – 3 วัน เช่นถ่ายน้ำทุก ๆ วันจันทร์ และใส่ปุ๋ยทุก ๆ วันพุธ
3.เติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้พืชได้นำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยการเติมลงไปในกล่องกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใส่ไว้ในบ่อ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของพรรณไม้น้ำ
1.วัสดุปลูก (ดินหรือกรวดขนาด 2 – 3 มิลลิกรัม/ลิตร)
2.แสงสว่าง (40 – 60%)
3.แก็สคาร์บอนไดออกไซด์ ในน้ำ ( 5 – 15 มิลลิกรัม/ลิตร)
4.ธาตุอาหารหรือปุ๋ย (ได้แก่ปุ๋ย NPK สูตร 25-5-5,30-20-10 หรือ 27-17-10 อัตราความเข้มข้น 5 – 15 PPM. ขึ้นกับชนิดของพรรณไม้น้ำความถี่ของการใส่ปุ๋ย 1 – 2 สัปดาห์ต่อครั้ง)
5.ความขุ่นใสของน้ำ (น้ำต้องใสสะอาด)
6.อุณหภูมิของน้ำ (25 – 29 องศาเซลเซียส)
7.ความกระด้างของน้ำ (75 – 150 มิลลิกรัม/ลิตร)
8.ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH 6.5 – 7.4)
9.ความชื้น (เจริญดีในความชื่นสูง)
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพรรณไม้น้ำ
ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพรรณไม้น้ำมีบทบาทเป็นอันมาก ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายพรรณไม้น้ำระหว่างประเทศ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกพรรณไม้น้ำในระดับโลก เช่นประเทศเดนมาร์ก ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการผลิตพรรณไม้น้ำมากถึงร้อยละ 90 โดยประโยชน์ของเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงพรรณไม้น้ำมีดังนี้
1.เพื่อการผลิตพรรณไม้น้ำให้ได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยอาศัยอาหารสูตรที่สามารถเพิ่มจำนวนต้นเป็นทวีคูณ ตัวอย่างเช่น เริ่มต้นจากต้นพันธุ์ 1 ต้น และทำการย้ายเนื้อเยื่อเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน จะสามารถผลิตพรรณไม้น้ำในขวดได้ถึง 1 ล้านต้น ซึ่งไม่มีวิธีอื่นใดที่จะผลิตให้ได้ปริมาณมากและรวดเร็วเช่นนี้
2.เพื่อการผลิตต้นพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อโรค โดยการผลิตซึ่งใช้เทคนิคการปลอดเชื้อ ตลอดจนการคัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคน้อยที่สุด ผลผลิตพรรณไม้น้ำที่ได้จะสะอาดปราศจากโรคตรงตามที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
3.เพื่อการปรับปรุงพันธุ์โดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ แล้วคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้ ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้สารเคมีการฉายรังสี การตัดต่อพันธุ์ และการย้ายยีนส์
4.เพื่อการเก็บรักษาพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารที่มีส่วนผลมของสารชะลอการเจริญเติบโต เพื่อเป็นการประหยัด แรงงาน เวลาและอาหาร จนกระทั้งเมื่อต้องการที่จะขยายพันธุ์จึงทำการย้ายลงไปเลี้ยงในอาหารสูตรปกติ
Fibo ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #1 เมื่อ: 30/01/12, [12:19:01] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ใช้ได้เลย    [เจ๋ง]  บทความจากที่ไหนครับ
Bankmantoy ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #2 เมื่อ: 30/01/12, [12:24:54] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ใช้ได้เลย    [เจ๋ง]  บทความจากที่ไหนครับ
เป็น E-Book ครับ ไม่ทราบเหมือกันว่าของท่านใด
Hard Ggm ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #3 เมื่อ: 30/01/12, [17:18:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

โอ้ ได้ความรู้มาเก็บไว้อีกแล้ว [เจ๋ง] ขอบคุณค้าบ
jin03 ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #4 เมื่อ: 30/01/12, [17:30:59] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

อยู่ในบทความไม้น้ำก็มีนะ   [on_003]

http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=33455.0

Suluck ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #5 เมื่อ: 30/01/12, [18:06:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ  [เจ๋ง] [เจ๋ง]
mtae ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #6 เมื่อ: 30/01/12, [22:02:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

แจ่มมากครับ +1
Bankmantoy ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #7 เมื่อ: 31/01/12, [01:31:38] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

อยู่ในบทความไม้น้ำก็มีนะ   [on_003]

http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=33455.0


ซ้ำสะงัน 036ตอนดูทามไมไม่เจอหว่าต้องขอโทษด้วยครับ suicide
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: