ย้อนไปสักปี 2547 สมัยนั้นผมเพิ่งจะเรียนจบมหาลัยใหม่ๆ
จำได้ว่าตอนนั้นยังทำงานอิสระ รับงานฟรีแลนซ์ ไปเรื่อยๆ เงินมา-งานไป
จึงทำให้มีเวลาว่างในแต่ละวันมากพอสมควร และด้วยไม่อยากแบมือขอเงินพ่อ-แม่อีกแล้ว
ผมจึงเริ่มหางานอื่นทำไปด้วย...
ตอนนั้นผมค่อนข้างบ้าการเลี้ยงปลาสวยงามมาก ด้วยความที่ชอบมาก และอยากเลี้ยงปลาให้เป็นมากขึ้น
จึงได้ไปขอเป็นพนักงานในร้านปลาสวยงามแห่งหนึ่งย่านรังสิต <<<ตอนหลังขอเป็นหุ้นส่วนด้วย
ซึ่งนอกจากจะได้เงินมาหมุนเวียนใช้แล้ว ยังได้รู้จักและเลี้ยงปลาตามที่ใจชอบด้วย...
ช่วงนั้นผมตื่นเต้นกับปลาหมอฟราวเวอร์ฮอร์นตัวใหญ่ๆ โหนกปูดๆ เท่าลูกมะอึก
ลีลาท่าทางซุกซน จนถึงขนาดว่า แค่ลูกค้าเอามือแหย่ที่หน้าตู้
เจ้าปลาหน้ามู่ทู่นั้นก็เหินออกมานอกตู้เลย ให้คนขายและลูกค้าหน้าซีดกันเลยทีเดียว
หลังจากนั้นเริ่มสนใจปลาแปลกๆ จากอเมริกาใต้ มีพวกเรดเทลแคชฟิช
ไทเกอร์ชเวลโนส ปลาปอด ปลากระเบน ปลาไบเคอร์ ฯลฯ <<<แปลก Shift-หายแล้วในตอนนั้น
ในร้านมีหนังสือดีๆ อยู่มาก ทั้งหนังสือปลาทั้งไทยและเทศ ผมอ่านหมด อ่านไม่ออกดูรูปก็ยังดี
และหนังสือเล่มหนึ่งที่มีติดร้านในตอนนั้นคือ นิตยสาร Aqua
นิตยสารเล่มนี้ถือว่าเปิดโลกทัศน์ของผมมากมายเลยทีเดียว

ผมมักจะเปิดอ่านเป็นประจำในยามที่ไม่มีลูกค้า
มีหนังสือ Aqua เล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดเป็นฉบับที่ 23 ประจำเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม 2547
เล่มนั้นหน้าปกเป็นรูปปลาซัคเกอร์ Hypancistrus zebra <<<ตอนนั้นราคาแค่ 1200-2000 เท่านั้น
ในเล่มมีความรู้มากมายหากรู้จักอ่านและนำไปใช้ ผมชอบคอลัมน์หนึ่งซึ่ง อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ เป็นผู้เขียน
และพี่ นนณ์ ผาณิตวงศ์ เป็นผู้ถ่ายภาพ คอลัมน์นั้นมีชื่อว่า At the water’s edge (รู้สึกจะที่หน้า 16)

ในคอลัมน์นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับปลาชนิดหนึ่งซึ่งผมไม่รู้จัก
เมื่ออ่านแล้วรู้สึกถูกชะตา เหมือนชายหนุ่มกลัดมัน เจอหญิงสาวแสนสวยเดินผ่านในซอยเปลี่ยว รกร้าง
ต้องบอกไว้ก่อนว่า ในต้นนั้นหนังสือ Aqua เขียนถึงปลาตัวไหน ผมก็มักจะพยายามหามาขายเสียทุกที
ขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตัวไหนขายดี ก็จะเอามาขายอีก ตัวไหนขายไม่ออกก็เอากลับไปเลี้ยงที่บ้าน
ปลาตัวในคอลัมน์ชื่อว่า “ปลาบู่เกาะสุรินทร์ (Ophieleotris aporos (Bleeker, 1854)”
อ.ชัย วุฒิท่านเขียนเนื้อหาคร่าวๆ แบบตรงประเด็น อ่านง่าย เข้าใจง่าย โดยไม่ต้องไปเข้าสูตรหลับตาอ่านหนังสือให้ยุ่งยากก็สามารถเข้าใจได้
ผมเห็นแล้วชอบ บอกกับตัวเองว่า อังคารที่จะถึงนี้ ต้องลองไปสอบถามดู เผื่อใครจะมีมาขายบ้าง
(สมัยนั้นตลาดขายส่งยังเป็นวันอังคารอยู่...)

>>>วันอังคาร<<< เร็วเหมือนโกหก
วันนั้นเตรียมตัวมาดี สะพายกระเป๋าใบเก่ง ด้านในมียากันยุงแบบสเปรย์
(ตอนกลางคืนที่สวนยุงเยอะมากๆ เหมือนเป็นตลาดนัดยุง พอๆ กับตลาดนัดปลา)
ในช่วงเริ่มต้นเมื่อไปถึงก็เดินดูปลาก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นสั่งอุปกรณ์พวกยา อาหารทิ้งไว้ เดี๋ยวขากลับค่อยหิ้วทีเดียว
จากนั้นเริ่มเดินไปตามร้านปลา พูดคุย ต่อรองไปตามเรื่อง
ผมเองก็ไม่ลืมถามหาเจ้าปลาบู่เกาะสุรินทร์ตัวนี้เหมือนกัน แต่คำตอบที่ได้กลับไม่ถูกใจนัก

“ไม่รู้”
“ไม่รู้จัก พี่ลองไปถามร้าน....ดูซิ”
“ปลาอะไรวะ ไม่เคยเห็นว่ะ”
“น่ากินเนอะ...”
นี่แหละ คำตอบที่ได้ในวันนั้น สรุปถามสิบ ตอบสิบ ว่าไม่รู้จักเลย
เอาล่ะซิ นี่ต้องดั้งด้นไปเกาะสุรินทร์เพื่อไปช้อนปลามาเลี้ยงหรอเนี่ย...
แต่จะช้อนยังไงล่ะ นั่นมันเขตอุทยาน ช้อนไปมีหวังได้เข้าไปกินข้าวแดงในคุกแน่ๆ
ความอยากเริ่มน้อยลง แต่ความเซ็งเริ่มเข้ามาแทนที่จนได้...
ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เก็บปลาบู่เกาะสุรินทร์ไว้ในใจ โดยไม่คิดจะถามใครให้ปวดใจอีกเลย....

กะจ๊าวเยียว จิง จิง <<<แรงงานตัดอ้อยชาวพม่า เคยบอกกับผมว่า
“รู้ไม๊ ทำไม เล่า-โจ-ซุน รบราฆ่าฟันกันหลายสิบปี สุดท้ายตระกูล สุมา ถึงได้ครองแผ่นดิน”
ผมส่ายหน้าบอกไม่รู้แบบ งง งง
มันมองผมแบบ หัวจรดตีน แล้วมองจาก ตีนจรดหัว แล้วบอกว่า...
“เพราะ สุมา มีความอดทนมากกว่าใคร จึงได้ครองแผ่นดิน”
กว่าผมจะรู้ว่ามันพูดเรื่อง สามก๊ก มันก็ถูกจับส่งกลับประเทศไปแล้ว
เหมือน กะจ๊าวเยียว จิง จิง มันกำลังบอกกับผมว่า ขอให้ผมรู้จักอดทน
ความสำเร็จที่หวังไว้ ต้องมาถึงแน่ๆ และที่สำคัญ อย่าตายก่อนความสำเร็จจะมาถึงล่ะ
เดี๋ยวจะผิดหวังเอา… <<<แม๊ เจอปราชญ์ต่างด้าวเข้าให้แล้วไง

หลังจากที่ไม่สมหวังกับการตามหาปลาบู่ชนิดนี้ ผมก็ได้แต่ดูรูป อ่านบทความในหนังสือ ซ้ำไป ซ้ำมา อยู่หลายรอบ
หันไปบ้าปลาอื่นบ้างตามแต่สภาวการณ์จะเอื้ออำนวย แต่ปลาบู่เกาะสุรินทร์นั้น ก็ยังนอนนิ่งอยู่ในใจมานานปี...
เดือนพฤศจิกายน ปี 2553 บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ เริ่มลอยหึ่งๆ อยู่ตามสถานที่ต่างๆ
ขณะนั้นผมเดินเล่นอยู่ที่สวนจตุจักรตามเดิม เดินดูปลาไปเรื่อยแบบไม่คิดอะไรมาก
เพราะวันนั้นตั้งใจจะซื้อแค่อาหารปลาสัก ห่อสองห่อ...

ขาก็พาร่างผอมบางเหมือนเด็กขาดสารอาหารของผมมุ่งหน้ามาร้านขายปลาหมอน้องใหม่ ที่รู้จักกัน
ผมเดินดูปลา ทักทายกันไปตามเรื่อง แล้วก็ไม่พลาดที่จะโผล่ไปดูร้านปลาข้างๆ กันเหมือนเป็นประเพณี
สายตาพาลพาไปสะดุดอยู่ที่ปลาตัวยาวๆ ตัวหนึ่งที่กำลังว่ายขึ้น-ลง อยู่ในตู้หน้าร้าน
ตัวของมันสีเหลือง-ส้ม มีจุดประสีส้มบ้าง สีฟ้าอมน้ำเงินบ้าง ที่แก้มและคางมีสีส้มสดสวยงาม

โอ้วววววววววววววววว........!!!
“ปลาบู่เกาะสุรินทร์!!!” สมองสั่งการมาว่าใช้แน่ๆ แล้วยังไง แล้วยังไง <<<ทำอะไรไม่ถูกเลย ได้แต่ยืนอึ้งสักพัก
ผมเดินเข้าไปถามพี่ผู้หญิงเจ้าขอร้านว่าปลาตัวนี้ราคาเท่าไหร่...
คำตอบที่ได้ นับว่าน่าพอใจ แต่แอบคิดเล็กๆ ว่าน่าจะได้ราคาถูกกว่านี้อีก
ผมไม่รอช้าโทรหาเพื่อนเลิฟ เจ้าปาล์ม เพื่อนที่รู้จัก และมันก็บ้าปลามากกว่าผมเสียด้วย
“เออ ราคานั้นแหละ เมื่อก่อนมีตัวเล็กๆ เข้ามา ถูกกว่านั้นเยอะเลยนะ แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีใครเอาเข้ามาน่ะซิ”
ผมฟังแล้วก็รีบจด รีบจำ จากนั้นเดินดุ่มไปดูปลาอีกสักรอบ
ใจนึงก็คิดว่าอยากได้มานานแล้วซื้อเลยดีกว่า
อีกใจก็คิดว่าแล้วจะเอาไปเลี้ยงไว้ที่ไหน
มันดุหรือเปล่าก็ไม่รู้ และถ้าไม่ดุ มันจะโดนปลาเก่าในตู้ยำตาตั้งหรือเปล่า
แล้วมันกินอะไรเป็นอาหาร ชอบน้ำแบบไหน

คำถามมากมายไหลเข้ามาในหัว แต่สุดท้ายก็เดินย้อนกลับไปหน้าตู้กดเงิน
ยืนล้วงหาบัตรในกระเป๋า จนคนที่มาต่อคิวกดเงินข้างหลัง เริ่มก่นด่า สาปแช่ง
ผู้หญิงสองคนด้านซ้ายแอบซุบซิบนินทา หาว่าผมมายืนเกาสังคัง <<<โถ...แม่คุณ คิดไปได้
“Shift-หายแล้ว ไม่ได้เอาบัตรมา!!!”
นึกขึ้นได้เลยว่าวันนี้เอากระเป๋าอีกใบมา ผมจึงมาแต่ตัว ส่วนบัตรไม่ได้ตามมาสวนด้วย...
เซ็ง เซ็ง เซ็ง แต่ไม่เป็นไร ไว้คราวหน้าถ้าฟ้ามีตา หมามีใจ
ปลาคงยังไม่ถูกใครซื้อไป ผมคงได้มาครอบครอง

นับจากวันนั้น ผมก็พยายามหาเรื่องเข้าสวนอีกครั้งเพื่อไปสอยแม่ยอดฟ้า ปลาบู่สวรรค์มาให้จงได้
จนในที่สุดโอกาสก็มาถึง และยังได้ลดราคาถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว
^
^
^
เหลือตังกินหนมด้วย เหอๆ
และแน่นอน ตอนซื้อก็ต้องข้อมูลหน่อย ได้ความว่าเจ้าปลาบู่ตัวนี้เรียกกันว่า “ปลาบู่ปาปัว(นิวกินี)”
ในหนังสือที่มีอยู่ก็บอกไว้ว่า มีการกระจายพันธุ์กว้างมาก
ตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียจากอัฟริกาใต้ถึงอินโดนีเซีย รวมทั้งลำธารในหมู่เกาะต่างๆ
นอกจากนี้ยังพบทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกจากตอนเหนือของรัฐควีนแลนด์ ในออสเตเรีย
ปาปัวนิวกินี เมลานิเซีย เกาะปาเลา ซีลีเบสไปจนถึงเกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น
ในบ้านเรามีอยู่ที่เดียว พบในลำธารหมูเกาะสุรินทร์ ทะเลอันดามัน
และจากที่อ่านตามเว็บบอร์ดเข้าใจว่าตอนนี้สภาพคงไม่สู้ดีนัก
เนื่องจากมีไอ้เวรตะลัย คนไหน หน่วยงานไหนไม่ทราบ
เสือกเอาปลาหมอเทศ ปลานิล ปลาดุกยักษ์ ไปปล่อย
ใครอยู่แถวนั้นช่วยดูหน่อย นะครับ ไหว้ล่ะ...

เอาล่ะ ทีนี้เมื่อได้ปลาบู่ตัวนี้มาแล้ว ก็คว้าหนังสือ Aqua เล่มเดินนั่นแหละมาอ่านตอนปรับอุณหภูมิปลาก่อนเลย
อย่างที่บอก ข้อมูลตรงประเด็นมากๆ กล่าวคือ ปลาตัวนี้อาศัยในบึงน้ำกร่อยและน้ำจืด ในบริเวณเกาะห่างไกล
คาดว่าเรื่องปรับน้ำคงไม่ยุ่งยากมาก เนื้อจากร้านที่ซื้อมาก็เลี้ยงรวมกับพวก เสือตอ ปลาหมอออสเซลาริส (Cichla occelaris )
จึงทำให้ผมค่อนข้างเบาใจหน่อยว่าปลาคงไม่อึดอัดกับตู้ของผม
ปลาตัวนี้เป็นปลาล่าเหยื่อ (predator) อาศัยกินลูกปลา ลูกกุ้ง แมลงน้ำต่างๆ
เข้าใจว่าคงรับกุ้งฝอยได้ไม่ยาก เพราะเห็นที่ร้านเขาปล่อยกุ้งฝอยไว้เต็มตู้เลย...

ความยาวทั่วไปราวๆ 20 ซม. แต่สามารถโตได้ถึง 40 ซม.
ซึ่งถือว่ากำลังดี สำหรับคนที่มีตู้ขนาดกลางๆ แบบผม (36นิ้ว – 48นิ้ว)
เมื่อได้เวลาก็ค่อยๆ ปล่อยปลาลงตู้ เจ้านี่ก็ว่ายขึ้นว่ายลง
คงตกใจเมื่อเจอพวกปลาหมอหน้าถ่อยที่ผมเลี้ยงไว้นั่นแหละ
แต่ก็เฝ้าดูอยู่สักพัก ไม่เห็นมีใครลอบโจมตีใดๆ ทั้งสิ้น เห็นแต่มาว่ายขออาหารที่หน้าตู้
แต่เดี๋ยวก่อน วันนี้ปลาใหม่มา ให้กินเลยอาจท้องอืดได้ ดังนั้นอดก่อนไปเลยหนึ่งวัน (ซวยไป...)
พรุ่งนี้ค่อยกินกันนะจ๊ะ ที่รักทั้งหลาย...วันนั้นนอนเร็ว หลับอย่างมีความสุข
ฝันว่ามีคนขับรถแก๊สชนรัฐสภา ขณะที่ สส.เลวๆ กำลังอู้งานกันเต็มสภา สาธุ~ [on_055]

ถึงตอนนี้เลี้ยงมาราวๆ 2 เดือนกว่า แล้วนะครับ
ผมถือว่าเป็นปลาที่น่ารักมาก พอๆ กับคนเลี้ยงเลยทีเดียว แฮ่~
เริ่มแรกให้กินกุ้งฝอยเป็น – ตายไปตามเรื่อง ไรทะเลก็กิน
โยนอาหารเม็ดก็กิน <<<เว้ย !!! ถูกใจจริงเชียว
ชอบฮุบกินอาหารเม็ดที่ยังลอยอยู่ แถมกินเยอะเสียด้วย
(อาหารเม็ดที่ให้เป็นฮิคาริเม็ดจมซองดำสำหรับปลาทอง)
ดูจากลักษณะของปากที่อยู่ตรงกลาง แต่หงายขึ้นนิดๆ
เข้าใจว่าในธรรมชาติคงกินอาหารจากด้านบนพวกแมลงต่างๆ และไล่งับลูปกุ้งลูกปลาไปตามเรื่อง
ไม่ค่อยชอบกระแสน้ำแรงๆ เท่าไหร่นะ ไม่ค่อยหลบซ่อน ชอบว่ายโชว์ตัว
นิสัยใจคอ ผมถือว่าดีมากๆ ไม่ดุ ไม่ไล่ใครทั้งนั้น ว่ายทั่วตู้พอสมควร

แต่ก็ไม่ควรเลี้ยงกับปลาที่มีขนาดเล็ก อาจถูกดูดหัวเอาได้เหมือนกัน
และก็ไม่ควรนำไปเลี้ยงกับปลาดุๆ ด้วย เพราะสู้ใครไม่เป็น
ถือว่าเป็นปลาที่ยึดถือแนวอหิงสา มากกว่าแกนนำมือถือสาก ปากถือศิลมากมายหลายร้อยเท่านัก
ถ้าให้ปลาบู่ตัวนี้เป็นแกนนำ คงไม่มีคนตายมากมายขนาดนี้...
มาที่จุดเด่นบ้าง อยู่ที่สีสันสวยงามมาก ตัวส้มๆ อยู่ในวรรณะสีโทนร้อน
ตัดกับเครื่องครีบสีฟ้า-น้ำเงิน เงางาม ซึ่งอยู่ในวรรณะสีโทนเย็น
ทำให้ปลาตัวนี้สวยงามตามหลักวรรณะสีเลยทีเดียว
ปลาเพศผู้มีขนาดที่ใหญ่กว่า เครื่องครับยาวกว่า สีสันเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัด
มีการเจริญเติบโตในเขตน้ำกร่อย และน้ำจืดแต่จะอพยพไปวางไข่และมีการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในทะเล
^
^
^
ลอกมาจากในหนังสือ แต่คิดว่าน่าจะเพาะพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำจืดเหมือนกัน(มั้ง)

โดยรวมผมถือว่าเป็นปลาเลี้ยงง่าย กินง่าย เข้ากับหลักการที่ผมยึดถืออยู่พอดี
ข้อมูลในบ้านเราถือว่าน้อยมากๆ และในอินเตอร์เน็ทเองก็ไม่มากด้วยเช่นกัน
แต่ก็รู้สึกดีที่มีโอกาสได้เลี้ยงหลังจากรอคอยมานานปี แถมพอเลี้ยงแล้วรู้สึกคุ้มค่ากับการรอคอย
ผมเชื่อว่าความสุขของการเลี้ยงปลานั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้เลี้ยง ได้ครอบครองเพียงอย่างเดียว
แต่การเฝ้ารอก็ถือเป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่งของการเลี้ยงปลาเช่นกัน
หากการเลี้ยงปลาไม่มีการรอคอย ใครอยากเลี้ยงอะไรก็ได้เลี้ยง
นั่นคงทำให้ผู้เลี้ยงปลาส่วนใหญ่มีความสุขมากมาย แต่อะไรก็ตามที่ได้มาง่ายๆ
สุดท้ายความเบื่อก็จะตามมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน และเมื่อความเบื่อเกิดขึ้น
ก็ใช่ว่ามนุษย์ผู้มีกิเลศเป็นที่ตั้งทั้งหลายจะหยุดเสียเมื่อไหร่ สุดท้ายก็จะค้นหา ไขว่คว้าหาสิ่งที่หายากต่อไป
จนเมื่อไม่มีสิ่งใดให้ไขว่คว้า วันนั้นมนุษย์ก็คงสูญสิ้นทุกสิ่งพอดี ว่าอย่างนั้นไหมครับ...
ปล. –ขอบคุณ อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ ที่มอบความรู้
นิตยสาร Aqua หนังสือเล่มครูที่ให้ความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถึงแม้จะปิดตัวลงไปแล้วก็ตาม
รูปปลาทั้งหมด ถ่ายเมื่อ 19-12-2553 ปัจจุบันตัวยาวขึ้นนิดหน่อย แต่หนาเป็นกระบอกข้าวหลามเชียว ท่านผู้ชม...

สวัสดี