บทนำ
หอยหวานเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญ รสชาติและคุณภาพความอร่อยเป็นที่นิยมแก่ผู้บริโภค ซึ่งเดิมจะได้จากการรวบรวมจากธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันหอยหวานจากธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง ทำให้ราคาของหอยหวานในท้องตลาดสูงขึ้นและไม่เพียงพอแกผู้บริโภค กรมประมงก็ได้พยายามหาแนวทางในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงพานิชและทิศทางการตลาดให้มีความมั่นคง มีการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงหอยหวานจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยได้มีการนำหอยหวานจากธรรมชาติมาเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ มีการพัฒนาเทคนิคด้านต่าง ๆ ในการกระตุ้นให้หอยผสมพันธุ์วางไข่ การรวบรวมไข่หอยเพื่อนำไปอนุบาล ตลอดจนเทคนิคด้านการอนุบาลลูกหอย การให้อาหาร ให้หอยหวานมีอัตรารอดตายที่สูงขึ้น เพื่อที่จะเป็นแนวทางขยายผลการเลี้ยงหอยหวานเชิงพานิชแก่เกษตรกรผู้สนใจต่อไป
ลักษณะของพ่อ-แม่พันธุ์
พ่อ-แม่พันธุ์ที่ดี ควรมีความยาวเปลือกประมาณ 4.5-6.0 เซนติเมตร การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เลี้ยงในถังไฟเบอร์ ขนาด 1.5 ตัน ใส่พ่อ-แม่พันธุ์ประมาณ 200-300 ตัว แล้วทำการใส่ทรายหนาประมาณ 3-5 ซม. น้ำที่ใช้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ควรลึกประมาณ 20 ซม. เพื่อความสะดวกเวลาที่ลงไปเก็บไข่หอยหวาน แม่หอยหนึ่งตัวจะออกไข่ครั้งละ 20-70 ฟอง แต่ละฟักจะมีจำนวนไข่เฉลี่ยประมาณ 500 ฟอง การเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ใช้การไหลผ่านของน้ำตลอดเวลาประมาณ 10 ลิตรต่อนาที จะได้ผลการเลี้ยงที่ดีกว่าระบบน้ำนิ่ง การกระตุ้นให้หอยผสมพันธุ์วางไข่ทำได้โดยลดน้ำในบ่อพ่อ-แม่พันธุ์ให้แห้งสักระยะ แล้วทำการเติมน้ำทะเลใหม่ลงไป วิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นการวางไข่ของแม่พันธุ์ได้ดี
การเก็บรวบรวมไข่หอยหวาน
ทำการเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บไข่หอยหวานให้เรียบร้อย แล้วทำการเตรียมน้ำที่สะอาดที่ผ่านการกรองไว้ในถังขนาด 1.5 ตัน เพื่อที่จะนำไข่หอยหวานมาฟัก โดย ทำการลดน้ำบ่อพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีไข่ให้เหลือปริมาณที่น้อย แล้วทำการรวบรวมไข่หอยหวานโดยการลงไปเก็บด้วยมือ เพื่อให้ไข่หอยหวานกระทบกระเทือนให้น้อยที่สุด ไข่หอยหวานที่เก็บไว้ควรทำการตัดปลายไข่ที่ยึดติดกับทรายออก นำเฉพาะฝักไข่ไปใส่ในตะแกรงแล้วลอยไว้ในถังเพาะพันธุ์พร้อมกับให้ออกซิเจนเบา ๆ ถ้าแรงเกินไปจะทำให้ฝักไข่หอยฟุ้งกระจายได้
การอนุบาลลูกหอยหวาน เมื่อลูกหอยหวานฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกหอยหวานจะว่ายออกจากฝักไข่โดยผ่านชั้นตะแกรง ส่วนฝักของไข่ก็จะติดอยู่ภายในตะแกรง เมื่อไข่ฟักออกหมดก็จะนำตะแกรงออกมาพร้อมกับให้อาหารจำพวก tetraselmis ความหนาแน่น 10,000 cell / ml มีความหนาแน่นของลูกหอย 10,000 ตัว/ลิตร การให้อาหารให้วันละ 2 มื้อ คือ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย แต่ต้องตรวจดูปริมาณของ Tetraselmis อยู่เรื่อยๆ ถ้า Tetraselmis น้อยลงก็จะใส่เพิ่มเข้าไปอีกและจะต้องมีการถ่ายน้ำทำความสะอาดลูกหอยวันเว้นวันเป็นระยะเวลาประมาณ 8-10 วัน ลูกหอยจะเริ่มจมและเกาะก้นถัง เริ่มให้อาหารพวกปลาบด ต่อมาเริ่มทำการล้างแยกขนาดของลูกหอย โดยนำลูกหอยมาใส่ไว้ในอวนเขียวแล้วทำการร่อนนำลูกหอยตัวใหญ่ที่ติดกับอวนเขียวไปเลี้ยงไว้อีกถังพร้อมกับใส่ทรายลงไปเพื่อให้ลูกหอยฝังตัว
วิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในถังอนุบาลลูกหอยหวาน
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมีอยู่ 2 วิธี คือ เปลี่ยนน้ำ 100% และเปลี่ยน 50% การเปลี่ยนถ่ายน้ำ 100% นั้น จะต้องนำสวิงตาถี่มาลองไว้แล้วทำการดูดน้ำด้วยสายยาง นำสายยางปลายด้านน้ำออกมาใส่ในสวิงเพื่อเวลาดูดน้ำ ลูกหอยหวานที่ติดมาจะได้อยู่ในสวิงเมื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำจนหมดบ่อแล้ว นำสวิงที่มีลูกหอยมาใส่ไว้ในผ้ากรอง ขนาด 180 ไมครอน แล้วนำน้ำที่ผ่านการกรองมาล้างลูกหอย ทำการล้างถังเลี้ยงลูกหอยให้สะอาดแล้วเติมน้ำที่ผ่านการกรองพอประมาณ แล้วนำลูกหอยที่ล้างใส่ลงในถังเพื่อการอนุบาลต่อไป
วิธีการถ่ายน้ำ 50% ทำเหมือนกับวิธีแรก โดยถ่ายน้ำประมาณ 50% ของน้ำที่มีอยู่ในถังเลี้ยงลูกหอยเท่านี้ก็เสร็จวิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำ ใช้สำหรับกรณีที่น้ำในบ่ออนุบาลไม่สกปรกมากนักหรือลดปริมาณการใช้น้ำ
อาหาร
ลูกหอยจะกินสาหร่ายเซลล์เดียว เช่น Isochrysis, chactoceros, Skeletonema และ Ietraselmis เป็นส่วนมากที่นิยมให้ลูกหอยจะเป็น Tetraselmis
เครดิตที่มา : อรัญญา อัศวอารีย์ และพลสินธุ์ วิวัฒน์
************************************************************
อ่านเรื่องราวของปลาสวยงาม หรือ สัตว์เลี้ยงต่างๆ รวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่จ้า
http://myaqualove.blogspot.com
|