Aqua.c1ub.net

Shrimp Club => กุ้งเรดบี => ข้อความที่เริ่มโดย: Longhairguy ที่ 27/12/07, [00:07:57]



หัวข้อ: Red Bee Analysis IV (by Angel007)
เริ่มหัวข้อโดย: Longhairguy ที่ 27/12/07, [00:07:57]
(http://www4.pantown.com/data/16051/content6/f1.gif)

Analysis IIII – SETTING & TRANSPORTATION

การขนย้าย RED BEE

1. ขนย้ายกุ้งยังไงให้ปลอดภัยที่สุด

เวลาเพื่อนๆไปซื้อของที่จตุจักร แน่นอนว่าต้องหอบหิ้วของกันพะรุงพะรังแน่ๆเลยใช่มั้ยครับ ยิ่งถ้าไปวันเสาร์อาทิตย์ด้วยแล้ว คนยิ่งมากไปอีกหลายเท่า หิ้วน้องกุ้งฝ่าฝูงชนนับร้อยในวันเสาร์ อาทิตย์ที่จตุจักรดูจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความสามารถในการหลบหลีกสูงทีเดียว ทำไมไม่ลองไปวันธรรมดาดูครับ ที่จตุจักรพล่าซ่าร้านค้าจะเปิดทุกๆวันครับ (ร้านบางร้านอาจปิดวันจันทร์) สำหรับวันพฤหัสอาจหาที่จอดรถยากสักนิดและมีคนมากเพราะเป็นวันที่มีตลาดนัดต้นไม้ด้วย วันจันทร์ อังดาร หรือพุธ ก็น่าจะเข้าท่าทีเดียวที่เราจะมีเวลาเดินดูปลาสวยๆ และไม่ต้องเหงื่อไหล ฝ่าฝูงชน (ผมนอกเรื่องไปไกลแล้วครับ) เวลาซื้อกุ้งควรจะซื้อเป็นรายการสุดท้ายครับ เพื่อไม่ให้อุณหถูมิภายนอกเปลี่ยนแปลงมากเกินไป (อาจหาถุงเล็กๆใส่น้ำแข็ง เล็กน้อย แนบไปกับถุงกุ้งด้วย หากต้องเดินทางนาน หรือรถติด) จำนวนกุ้ง 1 ถุง ไม่ควรเกิน 10 ตัว เพื่อลดกรณีของเสียจากกุ้งอาจที่อาจทำให้พวกมันตายได้และควรใส่มอสหรือไม้น้ำลงไปเล็กน้อย เพื่อลดการกระทบกระทั่งและให้กุ้งได้เกาะพักครับ ถ้าเราจะไปซื้อของอย่างอื่น อาจฝากที่ร้านเอาถุงกุ้งลอยน้ำในตู้ของมันไปก่อนก็ได้ครับ (แต่อย่านานมากนะครับ) พอถึงบ้านแล้วให้มุ่งตรงเอาถุงกุ้งไปลอยน้ำในตู้ไว้ก่อนเลยครับ ทิ้งไว้ประมาณ 30นาที - 1ชม (อย่าทิ้งไว้เกินกว่านี้นะครับ เพราะผมเคยเจอกรณีแบบนี้มาแล้ว กุ้งตายเกือบหมดถุงเลยครับ) จากนั้นอย่าเพิ่งเทกุ้งลงไปนะครับ อ่านวิธีการปล่อยกุ้งกันก่อนครับ

2. ปล่อยกุ้งเรดบียังไงให้ถูกวิธี

ค่าความต่างของน้ำในถุงกุ้งกับน้ำในตู้ที่เราเตรียมไว้มีความแตกต่างกัน ปกติการปล่อยปลาหรือกุ้งที่ถูกวิธี เราจะตักน้ำในตู้ของเราใส่ถุงและแช่ทิ้งไว้อีก 15 นาที (หลังจากแช่ไว้ก่อนแล้ว 30 นาที) เพื่อให้ปลาปรับสภาพกับค่าของน้ำที่แตกต่าง แต่สำหรับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้ง เช่นกุ้งเรดบี, กุ้งทะเลบางชนิด เช่นกุ้งพยาบาล, หรือปลาทะเลบางชนิด เช่น Pink firefish, Purple firefish ซึ่งมีความเปราะบางและไวต่อสภาพน้ำที่มีความแตกต่าง การย้ายสถานที่และการปล่อยพวกมันลงตู้จึงต้องมีเคล็ดลับ (ที่ไม่ลับ) สำหรับการปรับสภาพน้ำที่แสนยากของพวกมัน เรามาทำกาลักน้ำขนาดจิ๋วกันครับ อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมคือ สายออกซิเจน วาล์วควบคุมแรงดันออกซิเจนแบบก๊อก จุ๊บยางเพื่อยึดสายออกซิเจนและภาชนะสำหรับวางถุงกุ้ง (เช่น กะละมังทรงลึกซักนิดครับ) ต่ออุปกรณ์ทั้งหมดตามรูปเลยครับ และค่อยๆปล่อยน้ำให้จากตู้ให้หยดลงมาในถุงกุ้ง 1 หยดต่อ 2 วินาที ค่อยๆปล่อยให้น้ำหยดลงมาโดยใช้ก๊อกปรับระดับเป็นตัวช่วยครับ ทิ้งไว้อีกประมาณ 1 ชั่วโมงหรือจนน้ำเกือบเต็ม แล้วจึงปล่อยกุ้งลงไปได้เลยครับ สำหรับเพื่อนๆที่จะย้ายกุ้งเรดบีจากตู้เก่าไปอยู่ตู้ใหม่ สามารถใช้วิธีนี้ได้เลยครับ ลองนำไปใช้ดูนะครับ

3. เปลี่ยนน้ำเมื่อไหร่ดี

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนเปลี่ยนน้ำตู้เรดบีแล้วนับว่าเป็นสิ่งที่เพื่อนๆต้องทำให้เป็นนิสัยเลย หากตู้ของเพื่อนๆอยู่ในช่วงเซ็ทตู้ใหม่ ในช่วงเดือน หรือสองเดือนแรกคงต้องขยันเปลี่ยนน้ำซักนิดนึงครับ 4 – 5 วันต่อครั้ง
น้ำที่ใช้เปลี่ยนสามารถใช้นำประปาเปลี่ยนได้ครับ แต่ต้องทิ้งไว้ 1 คืนให้คลอรีนระเหยออกก่อน เรื่องอุณหภูมิหากเปลี่ยนจำนวนไม่มาก 15 – 20 % ไม่มีผลใดๆทั้งสิ้นกับกุ้งเรดบีครับ อุณภูมิจะเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 2 c’ แต่ถ้าเปลี่ยนในปริมาณมาก เช่น 50% หรือในกรณีล้างเครื่องกรอง ควรนำน้ำที่พักให้คลอรีนละเหยมาวางไว้ในห้องแอร์ เพียงเท่านี้ปัญหาเรื่องอุณหภูมิก็หมดไปแล้วครับ เพื่อนๆบางคนที่มีแท็งก์กักน้ำไว้ สามารถใช้เติมได้ทันทีครับ (ซึ่งผมใช้วิธีนี้อยู่) แต่ควรเปลี่ยนในช่วงเช้า หรือช่วงค่ำที่อุณภูมิน้ำในแท็งก์เย็นลงแล้ว

4. เคล็ดลับในการเซทตู้ใหม่

ต้องใช้เวลานานพอสมควรในการเซ็ทตู้ให้มีระบบของแบคทีเรียและวัฎจักรต่างๆสมบูรณ์ การเสริมด้วยแบคทีเรียสำหรับเซ็ทตู้ เช่น B4, Green Bacter เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับตู้ที่มีกุ้งเรดบีอยู่แล้ว แต่สำหรับตู้ที่เพิ่งเซ็ทใหม่ยังไม่ได้ลงกุ้ง ผมแนะนำให้ใช้เคล็ดลับของการเซ็ทตู้ทะเลครับ โดยการใส่ซากปลาที่ตายแล้วหรือเนื้อกุ้งเล็กน้อย ใส่ลงไปในตู้ให้เกิดการเน่าเปื่อย เพื่อเป็นการเร่งระบบของแบคทีเรียให้เร็วยิ่งขึ้น ควรเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละครั้ง เซ็ททิ้งไว้เป็นเวลา 2 - 3 อาทิตย์เท่านี้ก็ทำให้อุ่นใจขึ้นว่า ระบบแบคทีเรียในตู้ของคุณพร้อมแล้วสำหรับสมาชิกเรดบีตัวใหม่ ในระยะการเซ็ทตู้ดังกล่าว ควรปลูกไม้น้ำลงไปด้วย เช่นไม้ข้อโตเร็ว ( stem plant) เพราะไม้น้ำพวกนี้จะช่วยดูดซับสารอาหารส่วนเกินในช่วงแรก ทั้งยังช่วยเติมเต็มวัฎจักรของไนไตร ไนเตรทอีกด้วย ไม้น้ำ (Stem plant) ที่ปลูกง่ายได้แก่ โรท่าร่าเขียว, ขาไก่ด่าง, สาหร่ายเด่นซ่า, โคบัมบาเขียว, เพิร์ดวีดธรรมดา etc (ไม้น้ำที่นิยมเลี้ยงกับเรดบีมีบทความใน Analysis IV ครับ update เร็วๆนี้)

5. ล้างกรองและฟองน้ำเมื่อไหร่ดี

ชั้นกรอง, ไส้กรอง, ฟองน้ำใยแก้วในชั้นกรองและฟองน้ำกั้นท่อน้ำออก เมื่อผ่านการกรองเป็นเวลานานจะมีเศษฝุ่นและของเสียติดอยู่จำนวนมาก ทำให้ประสิทธิภาพในการกรองลดลง เราจึงควรถอดล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนใยแก้วใหม่ ช่วงเวลาในการถอดล้างเครื่องกรองนั้น ควรทำทุกๆ 3 – 6 เดือนตามจำนวนกุ้งที่มีอยู่มากหรือน้อยและขนาดของเครื่องกรองกับขนาดของตู้ เวลาล้างเครื่องกรอง “ห้ามใช้นำประปาล้างเด็ดขาด” เพราะจะทำให้แบคทีเรียตายและเราต้องเริ่มเซ็ทระบบใหม่ทั้งหมด ควรใช้น้ำเก่าในตู้ล้างโดยทำกาลักน้ำต่อสายยางไปบริเวณห้องน้ำหรือหลังบ้านที่มีพื้นที่ระบายน้ำ ฉีดน้ำทำความสะอาดคราบและเศษผงจากกระบะกรองออก (ไม่ต้องเทออกมาล้างครับ) จากนั้นเปลี่ยนใยแก้วใหม่และเติมน้ำในเครื่องกรอง ปิดฝาให้เรียบร้อยและทำการเดินเครื่องเหมือนเดิมครับ ส่วนฟองน้ำกั้นท่อน้ำเข้าควรล้างอาทิตย์ละครั้ง เวลาล้างเราจะเห็นความสกปรกออกมาอย่างชัดเจน บีบล้างจนน้ำใสเหมือนเดิม หรือถ้านำใยแก้วมาพันไว้ควรเปลี่ยนใหม่ครับ

6. REDBEE  with Co2 – O2

พืชทุกชนิดต้องการ Co2 ในการสังเคราะห์แสง ในตู้ไม้น้ำจึงต้องมีระบบ Co2 เพื่อเสริมให้ไม้น้ำมีความสวยงามขึ้นด้วย แต่ถ้าเราเลี้ยงเรดบีในตู้ไม้น้ำด้วยหละครับ? จริงอยู่ที่เรดบีชอบค่า Ph ที่ 6.5 และการเติม Co2 สามารถลด Ph ได้เหมือนกดรีโมทสั่ง แต่เรดบีต้องการน้ำที่มีออกซิเจนสูงไม่ใช่หรอ? อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆหลายท่านคงดีใจที่จะได้ใส่ Co2 ให้ไม้น้ำของเราได้สวยกันแล้ว แต่ในความเป็นจริง กุ้งกับ Co2 ไม่ถูกถูกกันครับ ผมเคยทดลองเติม Co2 ลงในตู้เรดบีขนาด 24” 1 ฟอง ต่อ 2 วินาที ลด phได้ถึง6.5 ทดลองเป็นเวลา 2 เดือน ใช้หัวจ่ายแบบเซรามิก ผลที่ได้ทำให้เฟิร์นโบบิวทิสและเฟิร์นใบแคบ แตกใบใหม่และสวยงามต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้ใส่ นอกจากนี้ยังไม่มีผลต่อพ่อแม่พันธุ์เรดบี แต่ในช่วงเวลา 2 เดือนนี้ผมไม่เห็นลูกของพวกมันเลยแม้แต่ตัวเดียว เพื่อความแน่ใจจึงทดลองปล่อยลูกกุ้งเรดบีอายุ 1 อาทิตย์ลงไปเพียงสองวันเท่านั้นลูกกุ้งตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผมจึงสรุปว่า Co2 ถึงแม้จะเติมลงไปในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่มีผลต่อพ่อแม่พันธุ์กุ้งแต่สำหรับลูกกุ้ง Co2 คือฆาตกรตัวจริงครับ
แล้วที่ว่าเรดบีต้องการน้ำที่มีออกซิเจนสูงหละครับ? เราจะเปิดแอร์ปั๊มใส่หัวทรายลงไปเลยได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ได้ครับ จากการทดลองวัดค่าความต่างของน้ำในตู้เรดบี ก่อนและหลังเติมออกซิเจน พบว่าก่อนเติมค่า ph อยู่ที่ 6.9 และเมื่อเปิดแอร์ปั๊มทิ้งไว้ 1 คืน วัดค่า ph ผลที่ได้คือ ph ที่ 7.9 ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งสำหรับ ph ในระดับนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรดีสำหรับกุ้งแสนรักของเรา อ่านถึงตอนนี้ก็ไม่ต้องกังวลอะไรอีกแล้วครับ เพราะน้ำที่ไหลผ่านเครื่องกรอง ผ่านใบพัดจะช่วยสร้างออกซิเจนให้เพียงพอเอง ไม่จำเป็นต้องเพิ่มออกซิเจนลงไปอีก แต่ถ้าหากต้องการเพิ่มออกซิเจนจริงๆ (ในกรณีที่กุ้งมีจำนวนมาก) ผมแนะนำให้เปิดออกซิเจนร่วมกับเรซิ่นครับ หรือว่าปรับท่อน้ำไหลออกให้สูงขึ้นอีกนิด ให้น้ำตกกระทบกับผิวน้ำจะเกิดออกซิเจนเอง ทั้งสองวิธีนี้ควรใช้คู่กับเรซิ่น เรซิ่นมีลักษณะคล้ายทราย เป็นเม็ดใสๆ บรรจุอยู่ในถุงผ้าหรือถุงตาข่าย ถุงตาข่ายที่มากับเรซิ่น อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกักเก็บเรซิ่น จะพบเรซิ่นหลุดออกมาจากถุงตาข่าย เราจึงควรเพิ่มถุงจากผ้าขาวบางอีกชั้น จะนำไปแช่ในตู้เลยหรือเพื่อความสวยงามอาจน้ำไปใส่ไว้ในเครื่องกรองชั้นบนสุดก็ได้ครับ เรซิ่นมีจำหน่ายที่ AZOO shop 1 ถุง ใช้ได้กับตู้ 24”ครับ

7. ท่อน้ำออก สิ่งอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

เพื่อนๆคงสงสัยกับหัวข้อนี้หากไม่ได้เจอกับปัญหาด้วยตัวเอง ท่อน้ำออกแบบที่เป็นแท่งแล้วมีรูหลายๆรูเหมือนขลุ่ย (ไม่รู้จะอธิบายลักษณะยังไง ขอใช้คำว่าขลุ่ยนะครับ) นี่แหละครับ อันตรายมากๆ ในกรณีที่ไฟดับหรือเราปิดเครื่องกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำ กุ้งอันแสนซนของเราอาจมุดเข้าไปเล่นได้ (เห็นรูเล็กๆ แต่มันมุดเข้าไปได้จริงๆครับ) พอเราเดินเครื่องกรอง แรงน้ำจะพัดกุ้งออกมา หรือไม่ก็ติดอยู่ในนั้น ไม่อยากจะคิดครับว่าสภาพกุ้งจะเป็นยังไง แต่มันตายสถานเดียวแน่นอน เพราะฉนั้นหากท่านที่ใช้เครื่องกรองแบบนี้ เลื่อนท่อน้ำเข้าให้อยู่ใกล้ผิวน้ำมากที่สุดครับ เพื่อกันไม่ให้เจ้ากุ้งแสนซนมุดเข้าไปเล่นได้อีก

8. แขกที่ไม่ได้รับเชิญ พานาเรียและหอยตัวรำคาญ

ถ้าแขกที่ไม่ได้รับเชิญสองชนิดนี้มาเยี่ยมเยือนตู้ของเพื่อนๆ นับว่าเป็นปัญหาที่แก้ให้หายสนิทได้ยากจริงๆครับ เพราะฉนั้นควรมีการป้องกันที่ดี เริ่มที่เรื่องของหอยตัวรำคาญกันก่อนเลย หอยเจดีย์ที่อยู่ในพื้นปลูกและหอยสีดำน้ำตาล พวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก อีกทั้งหากมีจำนวนมากยังทำให้รำคาญสายตาและที่สำคัญพวกมันจะแย่งกินอาหารของกุ้งสุดที่รักของเราครับ โดยเฉพาะในสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบในตู้กุ้งเรดบีแล้ว จำนวนของพวกมันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วเราจะป้องกันได้อย่างไร สาเหตุหลักของหอยพวกนี้มาจากไข่ของพวกมันที่ติดตามไม้น้ำ ไข่จะมีลักษณะเป็นถุงวุ้นใสๆ จะติดตามรากหรือใบของไม้น้ำ ดังนั้นก่อนจะนำไม้น้ำมาปลูกในตู้เรดบี จึงควรล้างและตรวจดูให้ดีก่อน บางครั้งมีหอยเล็ดลอดเข้ามาในตู้ของเราได้ วิธีกำจัดคือหยิบออกเพียวอย่างเดียว หรืออาจจะใช้สายยางดูดออกตอนที่พวกมันมารุมแย่งกินอาหารกุ้งก็ได้ครับ วิธีที่ห้ามใช้อย่างเด็ดขาดคือ การใช้ยาฆ่าหอย (Snail rid) กุ้งเรดบี ไม่ถูกกับสารเคมีทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่งสเปรย์ปรับอากาศหรือสเปร์ดับกลิ่นรองเท้าก็ไม่ควรใช้ใกล้ๆตู้เรดบี ข้อห้ามอีกอย่างนึงคือการใส่ปั๊กเป้ากินหอย (Yellow Puffer) นอกจากมันจะกินหอยได้เป็นอย่างดีในตู้ไม้น้ำแล้ว เนื้อกุ้ง กุ้งแคระหรือกุ้งเรดบียังเป็นอาหารโปรดของมันอีกรายการนึง
ส่วนพานาเรียจะมีลักษณะคล้ายปลิงใส ตัวเล็กๆ นอกจากจะทำให้รำคาญสายตาแล้ว ยังแย่งกินอาหารกุ้งและบางครั้งเมื่ออาหารไม่เพียงพอพบว่ากันจะเกาะกินตามตัวกุ้งอีกด้วย (ฟังแล้วสยองแต่ผมเห็นมากับตาครับ) ตามตำรากล่าวว่า พวกมันจะมาเยือนเมื่อคุณภาพน้ำในตู้ของเพื่อนๆเริ่มเสีย บางครั้งคุณภาพน้ำดีเยี่ยม (เช่นในตู้เรดบี) แต่มีเศษอาหารหมักหมมและค้างอยู่ตามซอกที่เข้าถึงยากรวมถึงบางครั้งการไม่ดูดเศษอาหารทิ้ง ปล่อยไว้ข้ามคืนหรือจนอาหารสลายตัว เศษอาหารจะตกลงไปในช่องว่างระหว่างเม็ดดินทำให้เกิดพานาเรียขึ้นได้ วิธีแก้ไขคือ มีถ้วยอาหารให้กุ้งและดูดเศษอาหารทิ้งภายใน 4 – 6 ชม คับ ดูดลงไปในชั้นดินด้วย (ใช้สายยางทีมีขนาดใหญ่กว่าสายออกซิเจนเล็กน้อยจะสะดวกกว่าและไม่ดูดเม็ดดินหรือลูกกุ้งลงไปด้วย)
วิธีกำจัดพานาเรีย สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ เปลี่ยนน้ำทุกๆวัน วันละ 10 – 20 % ควบคู่กับการดูดเศษอาหารทิ้งและดูดตัวพานาเรียที่ติดตามกระจกทิ้ง พานาเรียจะหมดไปภายใน 1 อาทิตย์ หากยังมีพานาเรียอยู่เป็นจำนวนมาก ควรล้างฟองน้ำกั้นท่อน้ำเข้า และล้างเครื่องกรอง เพราะประสิทธิภาพในการกรองอาจลดลงจากสิ่งปฎิกูลที่สะสมไว้ (การล้างกรองควรทำตามข้อ 5ครับ) หรืออีกวิธีหากมีพานาเรียจำนวนมากจริงๆ ให้ปล่อยปลาเตตร้าที่จับง่ายลงไป 1-2 ตัว ผมแนะนำ ปลาคาดินัล หรือ ปลาซิวขนาดเล็ก (Microrasbora) เช่น ซิวหนู เพราะปลาพวกนี้มีขนาดเล็กและจับออกง่าย เมื่อพวกมันกินพานาเรียหมด เวลาตักออกจะได้ไม่รบกวนตู้ที่เราจัดไว้และไม่กวนให้น้ำขุ่นครับ

9.ชั้นดำ (จะเซ็ทตู้ใหม่ต้องอ่านตรงนี้)

ตู้กุ้งเรดบีส่วนใหญ่จะต้องใช้ดินปูพื้นตู้อยู่แล้ว สำหรับเพื่อนๆที่โรยดินเพียงเล็กน้อยก็หมดปัญหาเรื่องชั้นดำไปครับ แต่เพื่อนๆที่ต้องการปลูกไม้น้ำในตู้กุ้งเรดบีด้วย จำเป็นต้องปูชั้นดินหนาอย่างน้อย 2 - 3 นิ้ว ดังนั้นปัญหาชั้นดินจึงเกิดขึ้นได้ ชั้นดินเกิดจากเศษอาหาร เศษฝุ่นและสิ่งปฎิกูลต่างๆ ตกตะกอนและอัดกันอยู่ใต้ชั้นดินเป็นเวลานาน จึงทำให้ออกซิเจนและระบบน้ำไม่ไหลเวียนบริเวณที่มีเศษตะกอนบีบอัดตัวกัน เวลาผ่านไปจึงทำให้เกิดการเน่าเปื่อยและในที่สุดระบบจะล่มทั้งหมด เหตุเพราะการเน่าเปื่อยและหมักหมมกันในชั้นดำนั้นทำให้เกิดก๊าซไข่เน่า วิธีแก้ไขคือ ในระบบพื้นปลูกของ ADA จะมี Powersand ใช้รองพื้นล่างสุด Powersand ช่วยให้ระบบน้ำและออกซิเจนไหลเวียนได้ดี ช่วยยืดอายุการใช้งานของดิน และยังช่วยป้องกันปัญหาชั้นดำได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะลงดิน ควรลง Powersand ก่อนจะดีที่สุดครับ ตอนนี้ตู้ 20 นิ้วที่ผมเลี้ยงเรดบีเกรด A และ B ไว้เจอปัญหานี้ครับ ช่วงแรกจะเกิดพานาเรีย ทำยังไงก็ไม่หาย จนระบบล่มทั้งหมด จึงได้ทราบถึงปัญหาว่าเกิดจากชั้นดำนี่เอง เพราะตู้นี้ผมไม่ได้รองด้วย Powersand ครับ

ANGEL007

(http://www4.pantown.com/data/16051/content6/f3.gif)