Aqua.c1ub.net

Fish & Aquatic Pet => สัตว์น้ำอื่นๆ => ข้อความที่เริ่มโดย: ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ที่ 25/05/10, [00:24:24]



หัวข้อ: หอยกาบ"เสียม"พันธุ์ใหม่ของโลก สัญลักษณ์ความสมบูรณ์ของแม่น้ำแควน้อย
เริ่มหัวข้อโดย: ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ที่ 25/05/10, [00:24:24]
 รูปประกอบ คลิ๊กได้ที่นี่จ้า http://myaqualove.blogspot.com/2010/05/blog-post_25.html

ข่าวที่น่าตื่นเต้นในแวดวงนักชีววิทยาอีกข่าวหนึ่งของไทย เป็นการค้นพบหอยน้ำจืดพันธุ์ใหม่ของโลกในแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก ของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก ซึ่งได้ตั้งชื่อให้ว่า "โซเลนไนอะ แควน้อยแอนซีส" (Solenaia khwaenoiensis Panha Deein,2004 ) ตามรูปร่างและแหล่งที่สำรวจพบค้นพบ

"กฤษฎา ดีอินทร์" ดอกเตอร์นักวิชาการประมงจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก และเป็นหัวหน้าคณะสำรวจผลกระทบทางระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติด้านสัตว์น้ำโครงการก่อสร้างเขื่อนแควน้อย อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ผู้ค้นพบหอยพันธุ์ใหม่ของโลก เล่าว่า ได้รับงบประมาณจากกรมประมงให้เข้าไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2547-2550

ในปีแรกได้สำรวจสัตว์น้ำตลอดความยาวของลำน้ำแควน้อยประมาณ 150 กิโลเมตร ได้พบปลาจำนวน 88 ชนิด และหอยอีก 19 ชนิด ในส่วนของหอยที่สำรวจพบนั้น เป็นหอยกาบน้ำจืด 14 ชนิด หอยสองฝา 1 ชนิด และหอยฝาเดียวอีก 4 ชนิด

 
ระหว่างการสำรวจได้พบหอยสองฝาชนิดหนึ่ง มีลักษณะแบนยาวคล้ายหอยหลอด แปลกจากหอยกาบน้ำจืดทั่วไป คือมีเปลือกหอยยาวมากกว่าความสูง รูปทรงคล้ายเสียม ค้นพบ 3 จุดในลำน้ำแควน้อย บริเวณบ้านท่างาม ตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร พบในเดือนเมษายน 2547 จึงได้ศึกษาร่วมกับ สมศักดิ์ ปัญญา จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ตรวจสอบสายพันธุ์ของหอยที่สำรวจพบไปยังสถาบันวิชาการด้านพันธุ์หอยในต่างประเทศ จนมั่นใจว่าเป็นหอยพันธุ์ใหม่ที่สำรวจพบ ยังไม่เคยมีนักชีววิทยาคนใดในโลกค้นพบมาก่อน

ส่วนชื่อหอยนั้น อธิบดีกรมประมงแนะนำให้ตั้งชื่อตามรูปร่างลักษณะและแหล่งที่สำรวจพบว่า โซเลนไนอะ แควน้อยเอนซีส (Solenaia khwarnoiensis Panha and Deein,2004 )

สำหรับหอยพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบนี้เป็นหอยกาบน้ำจืดที่ชาวบ้านละแวกนี้รู้จักกันดีอยู่แล้ว มีชื่อว่า "หอยเสียม" ในช่วงหน้าแล้งที่น้ำในลำน้ำแควน้อยลดระดับลงชาวบ้านแถบนี้จะใช้เสียมลงไปขุดหอยที่ฝังตัวอยู่ในดินขึ้นมาบริโภค เพราะเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ รสชาติอร่อยกว่าหอยกาบน้ำจืดทั่วไป เนื้อนุ่มและไม่เหนียว

"หอยเสียมกระจายอยู่ในวงแคบ จะฝังตัวอยู่ตามดินดานตลอดลำน้ำแควน้อยพบอยู่ 3 จุด โดยหอยจะขุดตัวฝังอยู่ในดินใต้ลำน้ำลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จากการสำรวจพบว่าใน 1 ตารางเมตร มีรูหอยอยู่ประมาณ 10 รู และแต่ละรูมีหอยอยู่ประมาณ 4 ตัว ถือว่าการแพร่กระจายพันธุ์สูงมาก แม้จะมีการก่อสร้างเขื่อนแควน้อย ก็ไม่มีผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของหอยเสียม เพราะแหล่งอยู่อาศัยอยู่ด้านใต้เขื่อนลงมาประมาณ 25 กิโลเมตร และยืนยันได้ว่าหอยเสียมที่พบครั้งนี้มีเพียงแห่งเดียวในโลก คือ ที่ลำน้ำแควน้อย และเป็นหอยที่มีรสชาติอร่อย"

จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าหอยกาบมีหลายสกุล แต่ละสกุลมีหลายชนิด หอยกาบพันธุ์ใหม่ของโลกที่ค้นพบอยู่ในสกุลโซเลนไนอะ หอยสกุลนี้ปัจจุบันพบว่ามี 2 ชนิด ชนิดแรกชื่อ โซเลนไนอะ อีมาร์จีเนตัส พบที่แม่น้ำน้อย จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ ปี 2403 โดย ลี ชาวอเมริกัน ชนิดที่สองเพิ่งค้นพบในครั้งนี้ ชื่อ แควน้อยเอนซีส

ผลสำเร็จของการสำรวจพบในครั้งนี้ได้รับเผยแพร่ในวารสาร The Natural History Journal of Chulalongkorn University ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เพื่อประกาศยืนยันว่าไม่เคยมีในโลกมาก่อน จึงถือเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งของวงการนักวิชาการไทย ต่อวงการวิทยาศาสตร์โลก

หลังจากค้นพบหอยหลากหลายชนิดในแม่น้ำแห่งนี้ ทางคณะสำรวจวางแผนที่จะทำคู่มือจำแนกหอยทั้งหมดที่ค้นพบในลำน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก คล้ายกับคู่มือดูนก เพื่อรองรับการศึกษาและรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคตต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  emb01


หัวข้อ: Re: หอยกาบ"เสียม"พันธุ์ใหม่ของโลก สัญลักษณ์ความสมบูรณ์ของแม่น้ำแควน้อย
เริ่มหัวข้อโดย: oatto500 ที่ 26/06/10, [11:28:04]
 [เจ๋ง]