หัวข้อ: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 01/02/12, [03:10:49] ข้อความด้านล่างทั้งหมดเกิดจากการกลั่นกรองจากประสบการณ์ของผู้เขียนและสิ่งที่รวบรวมเสริม(ตามอ้างอิง) สิ่งต่างๆที่เขียนไว้เป็นเพียงแนวทางในการแนะนำแนวทางในการเลี้ยงกุ้งเรดบีสำหรับมือใหม่และผู้ที่สนใจในการเลี้ยง แนะนำหาความรู้อื่นๆเสริมประกอบความเข้าใจถ้ามีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำท่านสามารถพิมพ์ติชมได้ตามความต้องการ ข้อความทั้งหมดนั้นไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดจะมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาตามความเหมาะสม ______________________________________________________________________________________________ กุ้งเรดบี กุ้งเรดบี (อังกฤษ: redbee shrimp)ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Caridina cantonensis sp. "Red" ( crystal red ) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เป็นกุ้งแคระในตระกูลกุ้งบี เป็นสัตว์น้ำจืด (ไม่มีในแหล่งน้ำธรรมชาติถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยมนุษย์) หายใจด้วยเหงือก ลำตัวยาว เปลือกแบ่งเป็นปล้องๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงปลายหางนั้นมี 8 ปล้อง กรีมีลักษณะแหลมชี้ไปข้างหน้า ก้ามและขาอยู่ที่ส่วนหัวและอก มี 10 ขา สามารถแบ่งขากุ้งเรดบีออกเป็น 2 ส่วน คือ ขาที่ใช้ในการเดินจะมีทั้งหมด 5 คู่ แต่ขาคู่แรกนั้นเป็นก้ามที่ใช้ในการหยิบจับอาหารและ ส่วนของครีบว่ายน้ำ จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ซึ่งจะค่อยโบกเอาน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจและเพื่อประโยชน์ในการพัดอ๊อกซิเจนไปใช้ในการฟักไข่ที่อยู่ใต้ท้อง รวมทั้งที่ใต้ครีบว่ายน้ำนั้นยังใช้เป็นที่อุ้มไข่ที่ถูกรับการปฏิสนธิแล้วเพื่อรอเวลาในการฟักเป็นลูกกุ้งตัวน้อยส่วนเหงือกของกุ้งเรดบีนั้นลักษณะคล้ายขนนกอยู่ใกล้บริเวณปากเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการระบบหายใจกล่าวคือเป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้าช่องเหงือก อุปนิสัยโดยปกติกุ้งเรดบีชอบหลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ตามพื้นน้ำหรือซอกหลืบในมุมมืด ๆ มักจะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนในธรรมชาตินั้น กุ้งเรดบี (กุ้งบี) กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น ซากพืช ซากสัตว์ ลูกปลาขนาดเล็กที่พึ่งเกิดอ่อนแอ ไส้เดือนน้ำ และกุ้งด้วยกันเอง รวมไปถึงสัตว์หน้าดินขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย
อ้างอิง,เครดิต (http://ja.wikipedia.org/wiki/%E3%83%AC%E3%83%83%E3%83%89%E3%83%93%E3%83%BC%E3%82%B7%E3%83%A5%E3%83%AA%E3%83%B3%E3%83%97) ประวัติ กุ้งเรดบีมีรากฐานเดิมมาจาก "กุ้งบี" (Bee Shrimp (Neocaridina sp), Normal Bee shrimp, Bee Shrimp, Caridina serrata) กุ้งบีในธรรมชาตินั้นสามารถพบเห็นได้ในแหล่งน้ำลำธารในป่าเขา ที่เย็นเงียบสงบสะอาด บริเวณแถบประเทศจีน ตอนล่าง จวบจนในประเทศเวียดนามตอนบนและในลำธารชายเขาในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ลักษณะทางกายภาพทั่วไปของกุ้งบีลำตัวมีลักษณะสั้นป้อม สีที่พบจะมีสีดำจางๆสีน้ำตาลเข้มอมดำหรือน้ำเงินแก่ มีสีขาวที่เกือบใส ขึ้นสลับไปมา ที่บริเวณปลายกรีช่วงลำตัวปลายข้อหาง กุ้งเรดบีเกิดจากการพัฒนาคัดสรรกุ้งบีจากในธรรมชาติ ด้วยหลักการ Inbreed เพื่อให้เกิดการผ่าเหล่า จนเกิดกุ้งที่มีลักษณะ เด่นแปลกประหลาดกว่ากุ้งบีดั้งเดิม ในธรรมชาติ กล่าวคือมีสีแดงจางสลับปล้องขาวเล็กๆที่ยังใส และยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มกุ้งแคระตระกูล “Caridima” ขนาดเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวจากส่วนหัวจรดปลาบหางเพียง 2.5-3.5 เซนติเมตรโดยประมาณมีวงจรชีวิติที่สั้นประมาณ 1-1.5ปี ขึ้นกับการเลี้ยงดู ซึ่งผู้ที่พัฒนากุ้งนี้เป็นผลสำเร็จคือ Mr.Hisayasu Suzuki ชาวญี่ปุ่นซึ่งอาจกล่าวได้ว่าท่านคือบิดาแห่งกุ้งเรดบี อ้างอิง,เครดิต (http://www.japan-net.ne.jp/next/red/red1e.html) ซึ่งท่านใช้เวลาในการพัฒนาถึง 6 ปี ด้วยสีของกุ้งบีนี้ มีสีโทนแดง จึงเป็นที่มาของชื่อ Crystal Red Shrimp (CRS) แต่ชื่อที่นิยมกล่าวขานกุ้งตัวนี้ในประเทศไทยคือ กุ้งเรดบี ( Redbee Shrimp,Crystal Red Bee Shrimp,Bishurinpu) แต่การพัฒนา กุ้งเรดบีนั้นยังไม่หยุดแค่นั้นยังคง มีการพัฒนาต่อเนื่องทั้งในเรื่องสีสันที่เข้มขึ้น แดงเป็นแดงสดขาวเป็นขาวทึบ มีการแยกเกรดกุ้งเรดบีออกเป็น (อ้างอิงในประเทศญี่ปุ่นจะแบ่งเกรดเป็น Normal Grade, S Grade, SS Grade, SSS Grade และยังมีการแบ่งตาม ลวดลาย ได้ดังนี้ โมสุระ (กรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง) โมสุระคราว (มีลักษณะลวดลายเหมือนโมสุระแต่สิ่งที่แตกต่างคือ จะมีจุดที่บริเวณกลางหัวด้านบน ซึ่งอาจจะมีทั้งจุดแดงหรือจุดขาว เหมือนกุ้งนั้นมีมงกุฏอยู่บนหัว) โมสุระฟลาวเวอร์ (มีลักษณะลวดลายเหมือนโมสุระแต่สิ่งที่แตกต่างคือบริเวณข้างแก้มกุ้งจะมีลวดลายเส้นที่บริเวณข้างแก้มกุ้ง คล้ายกลีบดอกไม้) ฮิโนมารุ (กรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมี จุดที่กลางหลังดูแล คล้ายกับธงชาติญี่ปุ่นเมื่อมองมุมเหนือผิวน้ำ) วี (กรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมีแถบ สีแดงพาดลงมาทั้งด้านซ้ายและขวาของลำตัวคล้าย อักษร V) ไทเกอร์ (กรีมีแถบขาวบริเวณหัวแดงลำตัวจรดปลายหางมีสีขาวหรืออาจมีจุดแดงบริเวณข้อหาง แต่จุดเด่นคือจะมี แถบสีแดงที่พาดลงทั้งด้านซ้ายขวาของลำตัวกุ้ง แลดูคล้ายเขี้ยวเสือ 2 เขี้ยว) แต่การพัฒนากุ้งเรดบีนั้นยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังคงทยอยมีกุ้งเรดบีที่แตกแยกย่อยลงมาตลอด อาทิ เช่น กุ้งสโนว์ มีสีขาวหรือขาวอมเหลืองตลอดตัว และถือเป็นกุญแจสำคัญ ในการพัฒนาในเรื่องลวดลายของกุ้งให้มีลูกเล่นที่มากขึ้นและสง่างาม (โมสุระฟลาวเวอร์, โมสุระคราว) แต่ยังมีอีกหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือแฝดฝาเดียวกันแต่ต่างสีคือ กุ้งแบล็คบี มีลักษณะลวดลายและเกรด เหมือนเรดบีทุกประการแต่แตกต่างที่มีสีดำเข้มแทนที่สีแดง และต่างจากกุ้งบีดังเดิมคือ ความเข้มของ สีดำและขาวและการตัดสีของเปลือกกุ้งที่เด่นชัดเจนกว่า
การเจริญเติบโต การลอกคราบ ปัจจัย วัฎจักรการลอกคราบของกุ้งเรดบีนั้น มีปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อาทิเช่น อายุกุ้ง กุ้งจะมีการลอกคราบบ่อยครั้งเมื่ออายุน้อย ช่วงที่จะลอกถี่มากที่สุดแทบจะทุกวันคือในช่วงเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่วัดกันว่าจะรอดมากน้อย ถัดมาในเดือนที่ 2–3 ก็จะเป็นช่วงของการพัฒนาในด้านโครงสร้างและสีสัน ช่วงนี้กุ้งเรดบีจะลอกคราบช้าลง ช่วงวันจะกระชับขึ้นแต่พัฒนาการการเติบโตก็ยังคงเดินต่อ ช่วงเดือนนี้เราก็จะพอเห็นแววกุ้งแล้วว่าจะมีแนวโน้มไปด้านสวยขึ้นเหมือนพ่อแม่หรือด้อยลงและเริ่มมองออกว่าเป็นเพศอะไร พอกุ้งเริ่มก้าวย่างเข้าเดือนที่ 4 ขึ้นไป ความถี่ในการลอกคราบก็จะเริ่มน้อยลงอยู่ที่วงรอบ ประมาณ 3–4 สัปดาห์ต่อครั้ง สารอาหารที่จำเป็น มีส่วนในการลอกคราบเนื่องจากกุ้งเรดบีนั้นจะต้องสร้างเปลือก ซึ่งเปลือกที่สร้างก็มีที่มาจากการสะสมจากแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำและในอาหารตลอดจนถึงวิตามินที่ละลายอยู่ในน้ำด้วยในการนำมาสะสม คุณภาพน้ำและอุณหภูมิและไคโตซาน น้ำที่มีแร่ธาตุครบสมบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อกระบวนการสะสม แร่ธาตุส่วนน้ำที่มีคุณภาพดีสะอาดก็ส่งผลต่อพฤติกรรมความร่าเริงในการดำรงชีวิตประจำวันของกุ้งในการกินอาหาร เพื่อสะสมพลังงานและสารอาหารเพื่อไปใช้ในการลอกคราบ อุณหภูมิเกี่ยวข้องอย่างไรกับกระบวนการลอกคราบที่ต้องเกี่ยว เพราะอุณหภูมิที่ต่ำทำให้กุ้งมีพฤติกรรมการกินอาหารที่น้อยลง อุณหภูมิสูงทำให้กุ้งกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากุ้งที่อยู่ในตู้ที่มีอุณภูมิสูงจะกินเก่งโตไวและลอกคราบได้ไวมากกว่า แต่กระนั้นสีสันจะสู้กุ้งที่อยู่ในตู้ที่มีอุณภูมิต่ำกว่าไม่ได้เลย ส่วนไคโตซานก็มีการนำมาใช้กับกระบวนการลอกคราบ เพราะไคโตซานเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเนื้อเยื่อและเปลือก ช่วยกระตุ้นให้กุ้งมีการลอกคราบได้ดีและไวขึ้น ทำให้กุ้งเกิดการผสมพันธุ์ได้ไวกว่าปกติกว่าที่ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในการเร่งก็มีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือทำให้ความแข็งแรงสมบูรณ์ของกุ้งจะด้อยลง แม่กุ้งอ่อนแอ เพราะการสะสมแร่ธาตุพลังงานอาหารนั้นไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในกระบวนการลอกคราบ การนำไคโตซานนั้นกับกุ้งเรดบีใช้ได้แต่ควร ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมถูกต้องตามปริมาณและในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะออกมาแข็งแรงถ้าอุณหภูมิสูงแม่กุ้งจะฟักไข่ระยะสั้นกว่า) แต่ถ้าการผสมครั้งนี้ไม่สำเร็จก็จะต้องรอการลอกคราบคราวถัดไปเพราะเปลือกกุ้งเพศเมียเริ่มแข็งไม่เอื้ออำนวยต่อการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าขั้นตอนนี้กุ้งจะเสียพลังงานค่อนข้างจะมา ระยะการลอกคราบ ระยะการลอกคราบของกุ้งเรดบีแบ่งออกได้ 3 ช่วงดังนี้ ระยะก่อนการลอกคราบ มีลักษณะคือ บริเวณคอกุ้งเปลือกชิ้นที่สองจะมีรอยการปริแยกออก จากบริเวณคอกุ้งและกุ้งมักจะเก็บตัวแยกสันโดษไม่ยุ่งกับใคร การเคลื่อนไหวจะช้า ไม่สนใจอาหารเท่าที่กุ้งทั่วไปควรจะเป็น ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่กุ้งเริ่มที่จะสะสมพลังงานสารอาหารเพื่อเร่งในการนำไปใช้ในกระบวนการสร้างเปลือกใหม่ทดแทนเปลือกเก่าที่จะถูกสลัดออก ไปช่วงนี้กุ้งจะใช้ออกซิเจนค่อนข้างมากในการนำไปใช้ในกระบวนการนี้ ช่วงลอกคราบ ในช่วงนี้กุ้งจะมีพฤติกรรมที่นิ่งเฉย ส่วนปริมาณกลูโคส ไขมัน โปรตีนที่อยู่ในกระแสเลือด ที่กุ้งสะสมไว้จะเพิ่มขึ้น ช่วงนี้กุ้งต้องการใช้ออกซิเจนเพื่อเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก เนื่องจากกุ้งจะต้องใช้พลังงานจำนวนมากไปใช้ในการสลัดคราบเก่าและสร้างคราบใหม่มาทดแทน เมื่อกุ้งลอกคราบเสร็จก็จะถึงช่วงเวลาทองในการผสมพันธุ์ สำหรับกุ้งเพศเมียซึ่งจะมีเวลาแค่ช่วงสั้น ๆ แต่มีความหมาย กุ้งทั้งตู้จะว่ายน้ำวนอย่างไร้ทิศทางเพื่อจุดหมายเดียวคือการปล่อยน้ำเชื้อไป ผสมไข่ที่บริเวณหัวของกุ้งเพศเมียที่พึ่งสลัดคราบถ้าการผสมคราวนั้นสำเร็จ กุ้งที่พึ่งลอกคราบนั้นก็จะมีการเคลื่อนย้ายไข่จากบริเวณหัวแม่กุ้งมายังท้องเพื่อรอการฟูมฟักเป็นกุ้งน้อยในอีกประมาณ25วันถัดมาโดยประมาณ +-2ถึง3วัน (ค่าประมาณของอุณภูมิน้ำที่25องศาเซลเซียสถ้าอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจะทำให้แม่กุ้งจะฟักไข่นาน แต่ลูกกุ้งที่ได้จะมีความแข็งแรงถ้าอุณหภูมิที่มากกว่าจะทำให้กุ้งฟักเป็นตัวเร็วขึ้น) เนื่องจากระยะนี้กุ้งใช้พลังงานค่อนข้างมาก เราจึงมักจะสูญเสียกุ้งกันมากในขั้นตอนการลอกคราบในช่วงขั้นนี้ โดยเฉพาะตัวเมียจะเกิดการสูญเสียมากที่สุดในขั้นตอนนี้ เนื่องด้วยสาเหตุความอ่อนเพลียกระบวนการสะสมสารอาหารที่สั้น ข้อนี้มักเจอะปัญหากับตู้ที่เลี้ยงกุ้งเรดบีในอุณหภูมิที่สูงกว่า 27 องศาเซลเซียสขึ้นไป การที่แร่ธาตุในน้ำที่ต่ำไปก็ก่อให้เกิดปัญหาแร่ธาตุไม่เพียงพอต่อการที่กุ้งจะนำไปสะสมในการสร้างเปลือก ทำให้กุ้งลอกคราบไม่สำเร็จและเปลือกไม่แข็งตัวหลังการลอกคราบ หรือการลอกคราบที่สลัดไม่หมดจนติดที่ตัวกุ้งจนสลัดไม่ออก ระยะหลังการลอกคราบเสร็จสมบูรณ์ เปลือกก็จะเริ่มค่อย ๆ แข็งดังเดิม กุ้งจะเริ่มมีการใช้ชีวิตตามปกติเดินคุ้ยหาสิ่งต่าง ๆ เข้าปากตลอดเวลา เจริญอาหารมากขึ้น เพื่อนำสารอาหารแร่ธาตุวิตามินเหล่านั้นไปชดเชยส่วนที่เสียไปในกระบวนการก่อนหน้านี้ และสะสมเพื่อการลอกคราบในคราวต่อไป โดยนำไปสำรองในตับกุ้งซึ่งกุ้ง จะสะสมไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันพร้อมก็จะเริ่มต้นกลับไปที่ระยะที่หนึ่งในการลอกคราบอีกหนเป็นเช่นนี้วนเวียนไปจนสิ้นอายุขัย
สิ่งควรทราบก่อนการเลี้ยงดูกุ้งเรดบี แม้กุ้งเรดบีนั้นจะมีบรรพบุรุษที่มาจากกุ้งบีที่อาศัยอยู่ใน ธรรมชาติที่ดูน่าจะดูอึดทนเลี้ยงง่ายก็ตามแต่กุ้งเรดบีนั้นกลับไม่สามารถดำรงชีวิตได้ในธรรมชาติเพราะความอ่อนแอ ที่เกิดจากการการพัฒนาแบบอินบรีดและความไม่คุ้นเคยในธรรมชาติเดิมที่บรรพบุรษมันได้เคยอยู่อาศัย ประกอบกับสีสันที่เด่น ทำให้ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ในธรรมชาติได้ง่าย ซึ่งกุ้งบีในธรรมชาตินั้นจะมีสีโทนดำน้ำตาลขาวจางๆซึ่งสามารถ อำพรางกายได้ตามผิวดินต้นไม้ก้อนหิน ซึ่งกุ้งเรดบีนี้ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ ฉะนั้นการเลี้ยงดูมันในตู้ที่มนุษย์จัดสรรให้กุ้งเรดบีจึงค่อนข้างจะจุกจิกและค่อนข้างจะเรื่องมาก เพราะเป็นกุ้งที่มีความอ่อนแอในตัวมันเองอยู่แล้ว ในเมื่อไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้เองในธรรมชาติ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องมาเลี้ยงแต่จะเลี้ยงอย่างไรเจ้ากุ้งที่แสนแพง เรื่องมากแสนจุกจิกนี้ให้รอดให้เจริญเผ่าพันธุ์ได้แบบสมบูรณ์ ภาระนี้จึงตกมาที่ผู้ที่จะเลี้ยงนั้นต้องทำความเข้าใจรวมถึงศึกษาเจ้ากุ้งนี้ว่าเค้านั้นมีจุดเปราะบางใดบ้างที่ควรทราบและเข้าใจเจ้ากุ้งตัวนี้ ค้นหาข้อมูล, รู้จัก, เข้าใจ, ชื่นชอบ ค้นหา — ผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเรดบีควรที่จะค้นหาข้อมูลจากสื่อต่างๆทั้งจากข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้อง, หนังสือที่เกี่ยวข้อง, นิตยสารที่เกี่ยวข้อง, บุคคลที่เลี้ยงกุ้งเรดบีที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง, ร้านค้าที่จำหน่ายกุ้งและอุปกรณ์กุ้งเรดบี,เป็นข้อมูลเบื้องต้นว่าการที่จะเลี้ยงกุ้งเรดบีนั้นเรามีความสามารถเพียงพอที่จะดูแลกุ้งเรดบีหรือไม่และผู้เลี้ยงนั้นมีข้อจำกัดใดบ้างที่อาจเหมาะไม่เอื้ออำนวยในการที่จะเลี้ยงกุ้งเรดบี รู้จัก — ผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเรดบีควรที่จะทำความรู้จักก่อนว่ากุ้งนี้มีประวัติเช่นไรมีความต้องการใดบ้าง เพราะกุ้งเรดบีนี้นั้นเกิดจากการสร้างของมนุษย์และไม่มีตามธรรมชาติ ฉะนั้นจึงควรที่จะทำการรู้จักถึงความต้องการขั้นพื้นฐานที่กุ้งเรดบีนั้นต้องการว่ามีอะไรบ้าง เพราะเนื่องจากกุ้งเรดบีนั้นไม่ใช่กุ้งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ แต่เป็นกุ้งที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดในการคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยความตั้งใจของมนุษย์อย่างพิถีพิถันในการต่อยอดพัฒนา จึงเป็นกุ้งที่ต้องการความดูแลและเอาใจใส่อย่างเป็นพิเศษ และกุ้งเรดนั้นยังอ่อนแอต่อสารเคมีทุกชนิด เป็นกุ้งที่ชอบน้ำมีอายุ(เก่า)แต่สะอาด ปราศจาก แอมโมเนียและไนไตรท์ไนเตรท อีกด้วยรวมถึงในน้ำที่เลี้ยงควรปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำสูง และชอบสภาพน้ำที่มีค่าไปทางกรดอ่อน กล่าวคือ ค่า pH เฉลี่ยที่ 5-7 (ค่าที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงคือควรมีค่า pH = 5.5-6.5 ) ตู้ที่ใช้เลี้ยงกุ้งเรดบีควรมีขนาดตั้งแต่ 24 นิ้วขึ้นไปเพราะโอกาสที่การแกว่งของค่าพารามิเตอร์ต่างๆในจะน้อยกว่าตู้ที่มีขนาดเล็กกว่านี้ วัสดุที่เหมาะในการเลี้ยงคือดินภูเขาไฟที่ทำมาเฉพาะสำหรับการปลูกต้นไม้น้ำหรือที่ทำมาเพื่อการเลี้ยงกุ้งเรดบีโดยเฉพาะซึ่งดินควรมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเลี้ยงด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือระบบเครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพดีทั้งด้านปริมาตรที่เหมาะสมแรงดันน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยง อุณหภูมิของน้ำนั้นควรมีอุณหภูมิอยู่ที่ 22-28 องศาเซลเซียส ฉะนั้นการเลี้ยงกุ้งเรดบีควรมีเครื่องทำความเย็นในน้ำ (Chiller) หรือการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในสถานที่เลี้ยงที่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมได้ เข้าใจ — ผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเรดบีควรที่จะเข้าใจก่อนว่า กุ้งเรดบีนั้นเลี้ยงให้ประสบความสำเร็จนั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่ง่ายและไม่ยาก แต่กุญแจสำคัญในความสำเร็จนั้นคือการดูแลที่ต้องเอาใจใส่และค่อนข้างละเอียดอ่อนในปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง และในการที่จะเลี้ยงกุ้งเรดบีในตู้ขนาดเล็กต้อง เข้มงวดในการควบคุมดูแลในเรื่อง คุณภาพน้ำที่สะอาดแร่ธาตุที่ครบถ้วน ปราศจากสารเคมีใดๆทั้งในตู้กุ้งและบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากกุ้งนั้นค่อนข้างไวต่อสารเคมีและการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆที่เฉียบพลัน และการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเผ่าพันธุ์นั้นต้องเหมาะสมด้วย ชื่นชอบ — ผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเรดบีควรมีใจที่ชื่นชอบและรักในกุ้งน้อยตัวนี้ก่อนเป็นหลักสำคัญในการเลี้ยงเพราะ การที่เราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ส่วนนึงจะมาจากส่วนนี้และส่งต่อไปยัง กุ้งเรดบีด้วยความเอาใจใส่และดูแลมันด้วยใจที่รักและชื่นชอบเป็นสำคัญยิ่ง
ค่าพารามิเตอร์ในน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้งเรดบีนี้นั้น ผู้เขียนอ้างอิงตามเกณฑ์มาตรฐานสากลทั่วไปแต่คงไม่ใช่เกณฑ์หลักที่จะต้องปรับให้ได้แบบค่าตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เพราะค่า PH , GH , อุณหภูมิ , TDS , KH ,ในตู้กุ้งเรดบีของแต่ละใบนั้นอาจจะสูงไปหรือต่ำไปบ้างไม่มีกฏตายตัวใดๆทั้งสิ้น แต่แนะนำให้อิงเกณฑ์ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมของกุ้งมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะถ้ากุ้งนั้นยังกินได้ร่าเริงมีลูกหลานเจริญเผ่าพันธ์ได้ตามปกติ ก็ขอให้ผู้เลี้ยงกุ้งเรดบีอย่าได้วิตกหรือกังวลจนเกินควร จนต้องกระทำการไปปรับค่านั้นค่านี่เพื่อให้ผู้เลี้ยงสบายใจ เพราะความหวังดีนั้นอาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่จะทำให้ปัญหานั้นๆหนักหนากว่าเดิมก็เป็นไปได้ อีกประการสัตว์ทุกชนิดในโลกนี้นั้นมีการพัฒนาต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้ตลอดเวลาและส่งต่อเป็นรุ่นๆผ่านการพัฒนาการในการปรับตัว แต่การปรับตัวต่อสารพิษยังคงเป็นไปได้ยากยิ่งฉะนั้นค่า NH3/NH4 , NO2 , NO3 โปรดอย่าละเลยควรตรวจทานอย่างสม่ำเสมอถึงแม้น้ำในตู้จะยังใสและไร้กลิ่นหรือกุ้งเรดบีนั้นยังไม่มีสิ่งระบุบอกอาการหรือไม่ก็ตาม *ค่า PH คือการบอกค่าของน้ำว่ามี ความเป็นกรดหรือด่างในปริมาณที่เท่าใด โดยมีหน่วยวัดอยู่ที่ 1-14 ค่าที่เป็นกลางคือ 7 ต่ำกว่า 7 น้ำมีค่าเป็นกรด สูงกว่า 7 น้ำมีค่าเป็นด่าง ค่าที่เหมาะกับการเลี้ยงกุ้งเรดบีคือมีค่าไปทางกรดอ่อนๆ 5.5-6.5 ซึ่งปกติถ้าการเลี้ยงใช้คู่กับดินที่ผลิตมาเพื่อการปลูกไม้น้ำและกุ้งเรดบีโดยเฉพาะมัก มีค่าไปทางกรดอ่อน ถ้าน้ำในตู้มี ความเป็นด่าง (7+) ควร ตรวจทานสิ่งแปลกปลอมในตู้ว่าสิ่งใด ที่มีผลกระทบต่อค่านั้นๆ อาทิ เช่นก้อนหินปูน หรือมีเดียที่ใส่ในกรอง มีส่วนผสมของหินปูนหรือไม่ ถ้าค่า PHที่สูงจากอายุตู้สามารถ ลดได้ด้วยการใส่ พีทมอส หรือผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะทางที่มีความน่าเชื่อถือในคุณสมบัติและความปลอดภัย การเติมน้ำประปาที่พักแล้วลงในตู้กุ้งก็ควรที่จะวัดค่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ค่าที่แนะนำว่าเหมาะที่สุดคือค่า PH=6-6.5 เพราะเหมาะที่สุดในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในตู้กุ้งเรดบีในสภาพน้ำทั่วไป การวัดค่า PH ที่ดีที่สุดควรวัดในอุณภูมิ 25 องซาเซลเซียส เวลาเปิดและปิดไฟยังส่งผลให้ค่า PH นั้นเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณ O2 และ CO2 ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำและตะไคร่ในตู้ รวมถึงการเพิ่มอ๊อกซิเจนและคาร์บอน ในตู้ยังส่งผลให้ค่า PH นั้นมีปรับขึ้นลงด้วย (CO2=PH< /// O2=PH>) ** GH คือ ค่ากระด้างถาวร (General Hardness, gH) หรือค่ากระด้างรวม (total hardness) ส่วนมากจะมีที่มาจาก แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมที่ละลายในน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ค่านี้เราสามารถ ปรับเพิ่มได้ง่ายด้วยการเติมน้ำยาปรับค่า GH ซึ่งมีมากมายหลายยี่ห้อ แต่ส่วนผสมแต่ละแบรนด์นั้นก็มีความคล้ายคลึงกันในส่วนผสม แต่คงต่างกันตรงที่ความเข้มข้น ส่วนการลดค่า GH นั้นสามารถกระทำได้ง่ายๆด้วยการถ่ายน้ำออกและเติมน้ำอาร์โอแทนที่ (การถ่ายและเติมน้ำควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ทำเยอะหรือบ่อยเกินความจำเป็น) อีกวิธีในการลดคือการใช้เรซินในการแกว่งในน้ำแต่ค่อนข้างจะยุ่งยากและอันตรายฉะนั้นการปรับค่า GH ขึ้นจึงแนะนำให้ปรับคราวละ 1 หน่วยรอทิ้งช่วงวันแล้ววัดใหม่ถ้ายังยังไม่ได้ค่าที่ต้องการค่อยทำการปรับซ้ำในวันหรือสัปดาห์ถัดไปเพราะการปรับค่าขึ้นค่อนข้างง่ายสะดวก แต่การปรับค่าลงนั้น แลดูจะลำบากและยุ่งยากกว่ากันมากอีกประการดินใหม่มักจะดูดค่า GH ลงได้จึงควรทำการตรวจซ้ำเมื่อผ่านการปรับค่า GH ในขั้นตอนสุดท้ายไปแล้ว 48 ชั่วโมง (การวัดค่ากระด้างผู้เลี้ยงมักอิงเกณฑ์นี้เป็นค่าหลัก) *** อุณหภูมิ ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการในการเลี้ยงในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อนคือ24-25เหมาะแก่การเจริญเติบโตของลูกกุ้งและกุ้งตัวเต็มวัยรวมถึงเหมาะสมกับปัจจัยในขยายเผ่าพันธุ์ อุณหภูมิที่ 23-22กุ้งจะมีลักษณะทางสีสันที่คมเข้มเด่นที่สุดรวมถึงเหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้งเกรดสูงแบบหวังผลทั้งกุ้งใหญ่และลูกกุ้งในเรื่องความแข็งแรงรวมถึงการอนุบาลไข่กุ้งเพื่อให้ลูกกุ้งที่ออกมานั้นมีความแข็งแรง แต่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 21-10 องศาเซลเซียส กุ้งเรดบีนั้นก็สามารถดำรงชีวิตได้ยิ่งต่ำเท่าใด ความกระตือรือร้นในการดำรงชีวิตยิ่งช้าลงไม่เจริญอาหาร และจะมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่ช้าลง แต่ถ้าเกิน28องศาขึ้นไปส่วนมากจะอ่อนแอและทยอยตายโดยไร้สาเหตุโดยเฉพาะกุ้งเล็กจะเห็นเด่นชัดมากที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่ควรตะหนักอีกข้อคือการแกว่งของอุณภูมิเฉลี่ยที่เปลี่ยนโดยฉับพลันหรืออุณหภูมิในรอบวันที่มีความแกว่งตัวค่อนข้างมากกว่า2องศาซึ่งอาจจะส่งผล ให้กุ้งนั้นอ่อนแอและตายได้โดยเฉพาะกุ้งขนาดเล็ก และอุณหภูมิที่ควรเลี้ยงนั้นไม่ควรเกิน30องศาโดยเด็ดขาดเพราะแค่28ก็เริ่มออกอาการทยอยตายให้เห็น จากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่าอุณภูมิในการเลี้ยงส่งผลกระทบหลายด้านเริ่มตั้งแต่อัตราการเจริญเติบโต,สีสัน,และอัตราระยะเวลาในการฟักไข่,รวมถึงอัตราการรอดของกุ้งนั้นประกอบไปในตัวด้วยเช่นกัน **** ค่าTDS ที่กล่าวไว้เป็นค่ากลาง+-50 แต่ค่านี้เป็นการวัดค่าของแข็งที่ละลายเจือปนอยู่ในน้ำซึ่งตาเปล่าของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีโมเลกุลขนาดเล็ก มีหน่วยวัดเป็น มก./ลิตร (PPM) ค่าTDSมากจะแสดงว่าน้ำมีสารละลายแปลกปลอมเป็นจำนวนมาก ค่า TDS นั้นเป็นการวัดค่ารวมๆไม่สามารถเฉพาะเจาะจงได้ว่ามีอะไรบ้าง ตู้ยิ่งมีอายุมากเท่าใด ค่านี้ก็จะทยอยขึ้นไปตามกาลเวลา และค่า TDS นี้ยังสามารถบ่งบอกถึงความกระด้างของน้ำได้เช่นกัน ว่าน้ำนั้นมีกระด้างมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกุ้งเรดบีนั้นไม่ชอบน้ำที่ อ่อนมากจนเกินไปเพราะจะมีผลโดยตรงต่อกระบวนการสร้างเปลือก เพราะกุ้งเรดบีนั้นจะดูดซึมแคลเซียมและแมกนีเซียม เพื่อไปใช้สร้างเปลือกแข็งที่ตัวกุ้ง แต่การที่ความกระด้างมากไปก็จะส่งผลต่อกระบวนการลอกคราบของกุ้งเรดบีขนาดเล็กเช่นกัน และค่านี้มีความสัมพันธ์กับค่า GH ควรวัดค่าทั้งสองตัวนี้ประกอบร่วมกัน และค่าน้ำที่อ่อนไปยังส่งผลกระทบต่อการเกิดและดำรงชีพของแบคทีเรียเพราะแบคทีเรียจะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ช้าในน้ำอ่อน ส่วนวิธีในการลดค่า TDS นี้ยังคงใช้วิธีเดียวกับการลดค่า GH ส่วนการเพิ่มนั้นก็ด้วยผลิตภัณฑ์จำพวกแคลเซี่ยมน้ำทั้งหลายที่ผลิตมาเฉพาะหรือจะใช้เกรย์สโตนและไวท์สโตนร่วมในการทยอยปรับก็ได้ *****ค่า KH คือ น้ำกระด้างชั่วคราว (Carbonate Hardness, kH) ปกติการตั้งตู้กุ้งเรดบีที่ใช้ร่วมกับดินปลูกต้นไม้และดินที่ทำมาเพื่อการเลี้ยงกุ้งเรดบีนั้นมักจะมีค่าอยู่ที่ 0-1 เพราะคุณสมบัติของดินที่ทำให้ มีค่าอยู่ในเกณฑ์นี้ แม้ค่านี้จะต่ำแต่ก็ถือว่าเป็นค่าปกติที่ในธรรมชาติ ที่กุ้งเรดบีนั้นเคยอาศัยในบรรพบุรุษมันก็อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีค่าKH 0 ส่วนเรื่องค่าที่ต่ำนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการสวิงของค่า PH ในน้ำในตู้กุ้งเพราะกระบวนการบัฟเฟอร์ที่อยู่ในดินนั้นเอง ******ค่า NH3 /NH4 แอมโมเนีย เป็นสิ่งแรกที่ส่งผลกระทบจากของเสียในตู้ที่หมักหมมสะสม พอสะสมมากแบคทีเรียบำบัดไม่ทันก็จะปล่อยแอมโมเนียออกมา ซึึ่งแอมโมเนียนั้นน่ากลัวอันตรายมีพิษกับกุ้งเรดบีได้ไวและเสียหายได้มากที่สุด แต่ในความน่ากลัวของเจ้าแอมโมเนีย นั้นกลับกันตรงที่เรา สามารถที่จะกำจัดมันได้โดยง่ายและรวดเร็ว ที่สุดด้วยการใช้แบคทีเรียจำพวกใช้ออกซิเจน(Aerobic Bacteria)ในการบำบัดและเมื่อแอมโมเนียจะนั้นถูกเปลี่ยนไปเป็นไนไตรท์ (No2) แม้จะมีพิษแต่ความเป็นพิษน้อยกว่าไม่รุนแรงเท่าแอมโมเนีย แต่ทั่วไปเรามักจะพบแอมโมเนีย ในระยะแรกของการตั้งตู้ส่วนมากแรกตั้งกับดินปลูกต้นไม้จะเจอะค่าตัวนี้ค่อนข้างสูงและเป็นที่มา ของคำว่ารันระบบเพื่อกำจัดให้ค่าตัวนี้มีค่าเท่ากับ ศูนย์ จึงจะสามารถลงกุ้งเรดบีในตู้ได้อย่างมั่นใจ ตามปกติหลังจากการรันระบบแล้ว ถ้าไม่มีปัจจัยของของเสียที่เกินความสามารถของระบบค่าตัวนี้มักจะไม่ขึ้นมาอีก ถ้าหากยังคงมีแนะนำให้ตรวจสอบค่าไนไตรท์ควบคู่กันด้วยเพราะค่าเหล่านี้มักมาคู่กัน *******ค่า NO2 ไนไตรท์ ที่สูงมักเกิดจากการให้ อาหารที่มากเกินความพอดีจนเหลือและทำให้เกิดการสะสมของของเสียในตู้ระบบ ซึ่งของเสียก็มักจะสะสมอยู่บริเวณผิวดิน แต่ส่วนมากมักจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ แบคทีเรีย แต่ในภาวะที่ออกซิเจนในตู้ไม่เพียงพอ เอื้อต่อกระบวนการในการย่อยสลาย ก็จะทำให้เกิดการสะสมของ แอมโมเนีย และ ไนไตรท์ จนเกิดการสะสมของไนไตรท์ในปริมาณมาก จนก่อให้เกิดอันตรายต่อกุ้งเรดบีในตู้ และไนไตรท์ ในน้ำมีคุณสมบัติในการจับกับเม็ดเลือดกุ้งเรดบีได้เร็วกว่า ออกซิเจนในน้ำ จึงทำให้กุ้งเรดบีดึงเอาออกซิเจนที่ละลายน้ำไปใช้ได้น้อยลงการหายใจลำบากระบบอ๊อกซิเจนในเลือดล้มเหลวและใช้พลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งกุ้งเรดบีนั้นจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ในกระบวนการเผาผลาญอาหารในการดำรงชีพ และในการเจริญเติบโต แต่ผลจากการที่ ไนไตรท์ ในน้ำที่สูง จึงทำให้น้ำในตู้นั้นไม่เหมาะสม ต่อการดำรงชีพกุ้งเรดบี และพิษของไนไตรท์ ยังส่งผลต่อกุ้งในกระบวนการสะสมพลังงานสร้างเปลือกจนทำให้กุ้งเรดบีมักจะลอกคราบไม่ออก,เปลือกอ่อนไม่แข็งตัวหลังลอกคราบ,อัตราการเจริญเติบโตช้าลง,กุ้งเรดบีมีอ่อนแอและมักจะตายในที่สุดเพราะฉะนั้นค่านี้จึงไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ในเลี้ยงกุ้งเรดบี ส่วนการบรรเทาและแก้ปัญหา มีดังนี้ วิธีแรก การถ่ายน้ำ เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ดีที่สุดรวดเร็ว แต่ต้องระวังต่อการเปลี่ยนแปลงค่า พารามิเตอร์ในน้ำอย่างเฉียบพลัน จนเกิดอันตรายที่ร้ายแรงกว่าเดิม ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในตู้ กรณีนี้แนะนำสำหรับ ค่าที่ขึ้นค่อนข้างสูง ผู้เลี้ยงกุ้งนั้นก็ไม่ควรเลี้ยงกุ้งเรดบีมากเกินความสามารถของระบบกรองของตู้กุ้งเรดบี ควรจำกัดควบคุมปริมาณการให้อาหารต่อมื้อต่อจำนวนให้อาหารไม่มีเหลือตกค้างเกิน3ชั่วโมง ถ้าเกินเวลาจากนี้ควรเก็บและดูดอาหารที่เหลือออก และควรเปิดออกซิเจนให้ตู้กุ้งในปริมาณที่เพียงพอต่อจำนวนกุ้งในตู้ และการให้อ็อกซิเจนยังช่วยในการหมุนเวียนของน้ำและช่วยให้ก๊าซพิษต่างๆถูกกำจัดออกจากระบบ การเติมแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพดีที่มีความสามารถในการเปลี่ยน NO2>NO3 และการปลูกต้นไม้ประเภทจอกและสาหร่ายก็ช่วยในกระบวนการขจัดได้ด้วยเช่นกัน ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆที่นำมาใช้ลดค่านี้ก็มีมากมายหลายยี่ห้อแต่อยากให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ในการกำจัด NO2 ซึ่งค่า NO2 นี้อาจจะกล่าวได้ว่าคุณภาพน้ำโดยรวมดีหรือแย่เพียงใด อาจถือได้ว่าเป็นน้ำยาวัดที่สำคัญมากกว่าคำว่าค่อนข้างสำคัญ ********ค่า NO3 ไนเตรท เป็นสิ่งที่เกิดในกระบวนการสุดท้าบของระบบวงจรของเสียที่เกิดในตู้ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าใดนักเพราะจะถูกพืชนำไปใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว( กระบวนการไนตริฟิเคชัน (Nitrification) เป็นกระบวนการออกซิไดซ์แอมโมเนียซึ่งมีความเป็นพิษสูงต่อสัตว์น้ำถูกจัดการโดยแบคทีเรียและแปรสภาพให้เป็นไนไตรท์และไนเตรท) ถ้าอยากเข้าใจกระบวนแบบง่ายๆกรุณากด (http://www.lks.ac.th/piyanut/pageamni.html) ตัวอย่างอุปกรณ์ในการวัดค่าพารามิเตอร์ในน้ำ
ข้อมูลน่ารู้ประกอบข้อมูลส่วนพารามิเตอร์ บัฟเฟอร์ (Buffer ,Chemical Buffering) คือขบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของแหล่งน้ำเพื่อการปรับ pH ของน้ำให้อยู่ในสภาวะที่เป็นกลางอยู่เสมอ ขบวนการนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระหว่าง CO2 ที่มีอยู่ ในน้ำทั้งสามรูป คือ 1. CO2 และ H2CO3 เรียกว่า Free CO2 2. H2CO3- (Bicarbonate) เรียกว่า Half Bound CO2 3. CO32- (Carbonate) เรียกว่า Bound CO2 ซึ่งจะต้องมีธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมมาเกี่ยวข้องด้วย Chemical Buffering ขบวนการดังกล่าวมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในน้ำมาก จะเห็นได้ว่าสัตว์น้ำ เช่น ปลา ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในพิสัยของ pH ที่ไม่เป็นกรดมากนักและไม่เป็นด่างมากนัก pH อยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5 ขบวน การปรับสภาพน้ำให้เป็นกลางจะเกิดขึ้นได้ดีในแหล่งน้ำที่มีน้ำชนิดกระด้าง (Hard Water) กล่าวคือ มีธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียมรวมกันอยู่มากกว่า 22 มล.ก./ลิตร สำหรับน้ำที่มีปริมาณธาตุทั้งสองต่ำกว่า 5 มก.ก./ลิตร จัดว่าเป็นน้ำอ่อนจะมีค่า pH ต่ำกว่าปกติ ในบางครั้งอาจมี ค่า pH อยู่มนพิสัย 4-6 และมี CO2 อยู่มาก ในบางครั้งอาจมี CO2 ละลายอยู่ถึง 200 มล.ก./ลิตร ค่าเป็นกรด-ด่าง (pH) ในแหล่งน้ำค่าเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมควรมีค่าระหว่าง 6.5-8 น้ำเป็นกรดจะทำให้น้ำเชื้ออ่อนแอ สัตว์น้ำไม่สามารถเจริญได้ตามปกติในสภาพที่ไม่เหมาะสม มีฤทธิ์เป็นกรดเมื่อมีค่าน้อยกว่า 7 ถ้ามากกว่า 7-14 มีฤทธิ์เป็นด่างเมื่อมีค่ามาก การวัด pH ของน้ำเป็นการวัดปริมาณความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออน (H+) pH = log 1/(H+)ในน้ำกลั่นบริสุทธิ์มี H+ = 0.000,000,1 mole/ลิตร มีค่า pH = log x 1/0.000,000,1 = 7 ค่า H+ เพิ่มขึ้นทำให้มีค่า pH ต่ำ ซึ่งจะตรงข้ามกับค่าไฮครอกไซด์อิออน (OH-) pH ของแหล่งน้ำทั่วไปมีค่า 5-9 ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศ และจะผันแปรตาม pH ของดิน อิทธิพลของจุลินทรีย์และแพลงค์ตอนพืชก็สามารถทำให้ pH เปลี่ยนแปลง pH มีความสำคัญต่อการใช้ธาตุอาหารของสัตว์น้ำ พืชน้ำ ใช้ได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ pH ในน้ำ ถ้า pH ต่ำกว่า 4.5 หรือสูงกว่า 11 ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตหรือเจริญเติบโตได้ ส่วนเสริมเรื่อง GH ที่ควรทราบ 1 GH เท่ากับ ความเข้มข้นทั้งหมดของ Ca2+ และ Mg2+โดยจะแสดงในหน่วยของ 18มิลลิกรัมต่อลิตรของแคลเซียมคาร์บอเนต (mg/l as CaCO3)วัดได้โดยน้ำยา test kits ต่างๆ การทำน้ำที่ GH KH ตามที่กำหนดต้องเตรียมจากน้ำ กรอง RO สารเคมีตามบ้านก็หาได้ง่ายไม่ยุ่งยากอะไร เทคนิคนี้จะเป็นสำหรับผู้ทำน้ำเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีกชอบ GH KH ที่ต่างกันไป เช่น redbee shrimp สูตร เพิ่มทั้ง GH และ KH ซื้อหินปูน carbonate (CaCO3) เกรดอาหาร. 1/2 ช้อนชา ต่อน้ำRO 100ลิตร จะเพิ่ม KH GH 1-2 dH. สูตร เพิ่ม KH แต่ไม่เพิ่ม GH เติม sodium bicarbonate (NaHCO3) เบคกิ้งโซดานั่นหล่ะ baking soda. 1/2 ช้อนชาต่อน้ำRO 100 ลิตร จะเพิ่ม KH ประมาณ 1 dH. ค่อยๆเติมครับ pH อาจเด้งไปถึง 8.2อ้างอิง,เครดิต (http://fins.actwin.com/mirror/begin-chem.html) *คำจำกัดความของความกระด้างของน้ำจะแทนค่าด้วยความเข้มข้นทั้งหมดของ Ca2+ และ Mg2+โดยจะแสดงในหน่วยของ มิลลิกรัมต่อลิตรของแคลเซียมคาร์บอเนต (mg/l as CaCO3) *ถ้ารวมความกระด้างทั้งหมดเมื่อคำนวณเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต มีปริมาณต่ำกว่า 300 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้ถือว่าน้ำนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการแบ่งระดับความกระด้างของน้ำดังต่อไปนี้ 0 ถึง 75 มิลลิกรัมต่อลิตรเรียก น้ำอ่อน 75 ถึง 150มิลลิกรัมต่อลิตรเรียก น้ำกระด้างปานกลาง 150 ถึง 300 มิลลิกรัมต่อลิตรเรียก น้ำกระด้าง 300 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไป เรียก น้ำกระด้างมาก เครดิต,อ้างอิง (http://www.reo06.net/home/content/view/1124/79/) ตัวอย่างGH1=18mg/L , GH2=36mg/L , GH3=54mg/L , GH4=72mg/L ( 0 ถึง 75 มิลลิกรัมต่อลิตรเรียก น้ำอ่อน ) *เวลาเราทดสอบแอมโมเนียในตู้สัตว์น้ำ มักจะอยู่ในเทอมของTotal Ammonia Nitrogen (TAN) ซึ่งมีทั้งรูปแบบ ammonium (NH4+ or ionized ammonia) and ammonia (NH3 or unionized ammonia) แอมโมนียที่แฝงอยู่ใน TAN ขึ้นอยู่กับระบบในตู้แน่นอนครับ ที่สำคัญคือ pH และอุณหภูมิ pH สูง ค่า TAN จะมีแอมโมเนียแฝงมากกว่า pH ต่ำ ยกตัวอย่าง ที่ 28° C pH 6.0 TAN 10 ppm ในนั้นมี ammonia เพียง .007 ppm. ที่ 28° C pH 7.0, TAN 5 ppm ในนั้นมี ammonia 0.03 ppm. ที่ 28° C pH 9.0 TAN 5 ppm ในนั้นมี ammonia 2.06 ppm อันตรายมากหากเกินไปตั้งแต่ 0.002 แล้ว (http://www.aquaworldaquarium.com/Articles/TonyGriffitts/images/ammonia/ammonia.gif) จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมเราต้องให้ pH ตู้กุ้งเรดบีนั้นให้ค่อนข้างไปทางกรด pH<7 (ในตู้ทะเลเลยเครียดกันเรื่องแอมโมเนียมากกว่าตู้กุ้งเรดบีเพราะเขาเลี้ยงที่ pH สูงกว่า 8.2) ที่ 28° C pH 6.0 TAN 10 ppm ในนั้นมี ammonia เพียง .007 ppm. เองจึงปลอดภัยมากๆอ้างอิงเครดิต (http://www.aquaworldaquarium.com/Article/TonyGriffitts/Ammonia.htm)แต่พิษแอมโมเนียที่มีต้องมีระยะเวลาที่สัตว์อยู่ในน้ำนั้นด้วยไม่ใช่ว่าโดนทีเดียวแล้วจะ เพราะบางตัวทนได้เป็นวัน หรือบางตัวทนได้แปปเดียว มีการศึกษาเรื่องนี้เยอะพอสมควร (http://dl.dropbox.com/u/6550544/Capture7.PNG) เช่นการทดลองนี้ทำกับปลาแซลมอนธรรมชาติที่ไวต่อแอมโมเนียมากๆ ที่ pH 6.5 กว่าจะตายครึ่งตู้ที่ TAN 0.73 แอมโมเนียจริง 0.002 ปลาทนได้ 4 วันจึงตายครึ่งตู้และถือว่าเป็นพิษ สำหรับ กุ้งเรดบี ก็เหตุผลเดียวกันที่พิเศษและเปราะบางมากๆ ให้ดีที่สุดควรอยู่ในระดับ 0 ไปเลยครับ อีกทั้งยังกดให้ pH ต่ำกว่า 7 เข้าไปอีกเพื่อไม่ให้ค่านี้สูงจนทำให้กุ้งเรดบีต้องเสียชีวิตอ้างอิง,เครดิต (http://www.thekrib.com/Chemistry/ammonia-toxicity.html) * (เครดิตพี่เก่ง Coffman ในข้อมูลบางส่วนเพื่อเรียบเรียงประโยคใหม่และคำปรึกษาในเรื่องค่าพารามิเตอร์ และ ข้อความทั้งหมดในส่วนของกระบวนการบัฟเฟอร์) น้ำ น้ำคือ น้ำเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งเป็นตัวทำละลายขั้นพื้นฐานและเขียนสูตรเคมีได้ว่า H2O: น้ำ 1 โมเลกุลประกอบด้วยไฮโดรเจน 2 อะตอม สร้างพันธะโควาเลนต์รอบออกซิเจน 1 อะตอม คุณสมบัติน้ำที่ดีต้องใสปราศจากสีกลิ่นมีความใสไร้รสน้ำบริสุทธิ์มีค่าการนำไฟฟ้าที่ต่ำ แต่ค่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกับปริมาณของสารประกอบไอออนิก เช่น โซเดียมคลอไรด์ ที่ละลายอยู่ในน้ำการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ง่ายที่สุดคือ การใช้ปากกาวัดค่า TDS อ้างอิง,เครดิต (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3) แต่น้ำที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งตู้กุ้งเรดบีเราแบ่งได้เป็นน้ำสองชนิด น้ำประปา — เป็นน้ำที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งตู้กุ้งเรดบีมากที่สุดเพราะความสะดวกง่ายต้นทุนต่ำ และในน้ำประปายังมีส่วนเจือปนของแร่ธาตุพื้นฐาน อาทิเช่น Zn Ca Cl ฯลฯที่กุ้งเรดบีนั้นสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่การนำน้ำประปาไปใช้ควรทำการพักน้ำอย่างน้อย1วันและตีอ๊อกซิเจนประกอบร่วมในการผลักดันการระเหยของคลอลีน เพื่อให้คลอลีนที่เจือปนในน้ำประปานั้นระเหยไปให้ได้มากที่สุด ก่อนนำไปใช้งานควรมีการตรวจทานค่าพื้นฐานของคุณภาพน้ำ เพราะคุณภาพการผลิตน้ำประปาของแต่ละท้องถิ่นคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน และคุณภาพการผลิตน้ำนั้นไม่เสถียรเพียงพอต่อความน่าเชื่อถือในการนำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบี ซึ่งปัญหานี้มักจะประสบกับการประปาส่วนภูมิภาค และการใช้น้ำประปาในการเติมน้ำแทนที่น้ำที่ระเหยไป ควรระมัดระวังถึงค่าพารามิเตอร์น้ำที่เปลี่ยนแปลงเิ่พิ่มขึ้นด้วย (PH,GH,TDS,KH) เพราะบางพื้นที่นั้นในน้ำประปามีค่ากระด้างในน้ำสูงมาก หรือPH7-8 ซึ่งไม่ค่อยเหมาะนักที่จะนำมาใช้ น้ำอาร์โอ — หรือ Reversr osmosis(RO) เป็นน้ำที่ผ่านระบบการกรองน้ำประสิทธิภาพสูงที่อาจเรียกมีความบริสุทธิ์สูงมากจนอาจจะไม่มีสารในน้ำใดที่ปะปนมาตกค้างอยู่เลยจนคุณภาพน้ำที่ผ่านเครื่องกรองชนิดนี้อาจเทียบเคียงได้กับน้ำกลั่น แต่คุณภาพของน้ำที่ผ่านการกรองระบบ RO นี้ก็ต้องขึ้นกับคุณภาพแผ่นกรองที่นำมาใช้ในการกรองว่ามีประสิทธิภาพได้ดีเพียงใดและขึ้นกับการบำรุงรักษาดูแลอีกด้วยเช่นกันส่วนค่า TDS ของน้ำที่ผ่านกระบวนการ RO นี้ควรมีค่าอยู่ที่ 0-10 โดยประมาณ ส่วนราคาเครื่องกรองนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเครื่องกรองมาตรฐานทั่วไป แต่การนำน้ำ RO ที่บริสุทธิ์มากมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบีนั้น ควรต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าน้ำ RO นั้นไม่มีแร่ธาตุใดๆเลยซึ่งจำเป็นที่จะต้องเสริมแร่ธาตุในน้ำให้เพียงพอต่อการที่กุ้งจะนำไปใช้ในการสร้างเปลือกของกุ้งเรดบี น้ำอาร์โอนี้เหมาะสำหรับใช้ในการตั้งตู้กุ้งเรดบีในพื้นที่ๆน้ำประปาไม่ได้มาตรฐานหรือบริเวณที่ใช้น้ำบาดาล และใช้ในการเติมทดแทนน้ำที่ระเหยไปในอากาศ(ห้องแอร์)ทำให้ค่าพารามิเตอร์ในน้ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนักและใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องมีการถ่ายน้ำออกปริมาณมาก ข้อควรตระหนักในการเลือกใช้น้ำ — ดินที่ผลิตมาเพื่อกุ้งเรดบีโดยเฉพาะส่วนมากมักจะแนะนำให้ใช้ควบคู่กับน้ำประปาส่วน น้ำ RO มีความบริสุทธิ์สูงมากพึงระวังเรื่องการขาดแร่ธาตุในน้ำ ควรพิจารณาในการเพิ่มเติมในส่วนของแร่ธาตุในน้ำตามปริมาณที่เหมาะสมตามโดสที่แนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆที่นำมาใช้กำหนดแนะนำไว้หรือสังเกตจากการวัดค่า และดินบางชนิดไม่เหมาะกับการนำน้ำ RO มาในการเริ่มต้น ระบบ กลวิธีในการปรับสภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งเรดบีให้มีความใกล้เคียงน้ำในธรรมชาติกุ้งในธรรมชาตินั้นจะอาศัยอยู่ในลำธารที่ใสเงียบสงบแต่ในน้ำในลำธารนั้นกลับอุดมไปด้วยส่วนประกอบทางธรรมชาติมากมาย ที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมในแหล่งลำธาร หรือการชะล้างของหน้าดินสู่แหล่งน้ำตามกลไกของธรรมชาติ แต่ในตู้กุ้งเรดบีนี้นั้นน้ำทั้งหมดล้วนผ่านกระบวนการกรองทั้งแบบหยาบและแบบละเอียดมีการเติมสารเคมีเพื่อใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำจากการประปา แล้วผู้เลี้ยงจะทำเช่นไรให้น้ำที่เราจะมาใช้ในตู้กุ้งเรดบีนั้นใกล้เคียงน้ำในแหล่งธรรมชาติละ ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องใช้กระบวนการน้ำหมักธรรมชาติกล่าวได้คงประมาณใบหูกวางหมักปลากัด แต่ปัจจุบันนั้นมีผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ที่ทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะทั้งแบบที่ทำมาเพื่อสัตว์น้ำ (Tetra Black Water) หรือทำมาเฉพาะสำหรับกุ้งเรดบีโดยเฉพาะ (Benibachi Black Control) ปัจจัยพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ส่วนมากจะคล้ายคลึงกัน ส่วนมากจะประกอบไปด้วย Fulvic กรดอินทรีย์ วิตามินและพวกสารสกัดจากธรรมชาติ ตัวน้ำยาประเภทนี้ส่วนมากจะมีสีชาจนถึงโทนดำเพื่อประโยชน์ในการปรับสีน้ำให้ใกล้เคียงธรรมชาติ ผลของการปรับสีน้ำกล่าวคือ เพื่อให้กุ้งเรดบีนั้นรู้สึกสบายตัว คลายกังวลรวมถึงช่วยลดและชะลอการเกิดตะไคร่น้ำ ส่วนผสมกรด Fulvic,วิตามินและสารสกัดจากธรรมชาตินั้นเป็นการเสริมอรรถประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เพื่อ การเสริมภูมิต้านทานในป้องกันโรคและการติดเชื้อช่วยเพิ่ม % รอดของลูกกุ้งรวมถึงมีส่วนช่วยในกระบวนการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย รวมถึงยังช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการเจริญการเติบโตของพรรณไม้น้ำที่ปลูกไว้และช่วยควบคุมค่า PH ในน้ำอีกด้วย (สรรพนามที่ใช้เรียกผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ black water,น้ำดำ) แม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากมายแต่ก็ยังมีผู้เลี้ยงบางกลุ่มก็ยังคงใช้ใบหูกวางแห้งมาใช้วางในตู้ ที่เลี้ยงกุ้งเรดบีเพื่อต้องการสาร จำพวก แทนนิน (tannins) มีสถานะเป็นกรดอ่อนรสฝาด ที่มีมากในใบหูกวาง ผลลัพท์ ที่ได้จากใบหูกวางคือ น้ำในตู้จะมีสภาพความเป็นกรดขึ้นเล็กน้อย และสารที่มีในใบหูกวางยังช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ สีของน้ำที่เข้มขึ้นยังช่วยกุ้งจะขับสีให้เด่นชัดขึ้น ช่วยลดปริมาณตะไคร่ในน้ำ และเมื่อสภาพสีน้ำเข้มขึ้นจึงช่วยกระตุ้นทางอ้อมให้กุ้งกล้าที่จะโชว์ตัวมากเจริญอาหารมากขึ้น การนำใบหูกวางมาใช้นั้นควรเลือกใบที่ตากแดดจนแห้ง แล้วนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆน้ำ จากนั้นนำไปแช่ในตู้กุ้งทั้งใบ หรือจะนำมาขังในภาชนะตีอ๊อก 8-12ชั่วโมงเพื่อให้ใบหูกวางคลายสารที่เราอยากได้ออกมาจึงค่อยตักไปใช้ หรือจะใช้อีกวิธีที่รวดเร็วคือการนำใบหูกวางที่แห้งล้างสะอาดไปต้มในน้ำสะอาดที่เดือดโดยใส่น้ำแค่ปริมๆใบต้มประมาณ5นาที จากนั้นนำใบหูกวางที่ต้มออกแล้วทิ้งไว้ให้เย็นและตกตะกอนจากนั้นจึงนำน้ำที่ได้จากการต้มด้านบนๆเหนือตะกอนไปใช้ แต่ถ้าเหลือจากการใช้สามารถนำไปกรอกใส่ขวดแช่ตู้เย็นไปใช้ในคราวถัดไป (การเก็บที่ดีที่สุดคือการแบ่งย่อยตามการใช้งานในแต่ละคราวแช่แข็งในช่องแช่แข็งของตู้เย็น) การเปลี่ยนน้ำและการเติมน้ำก่อนการกระทำสิ่งเหล่านี้ควรตั้งโจทย์ก่อน ว่าทำเพื่อการใดเพื่อเหตุอันใดเพราะการกระทำเหล่านี้มีผลทั้งเชิงบวกและลบต่อการเลี้ยง (กุ้งเรดบีนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าต่างๆที่เฉียบพลันรวมถึงไวต่อสารเคมีและนิสัยปกติกุ้งเรดบีนั้นชอบน้ำเก่าที่สะอาดมากกว่าน้ำใหม่ที่สะอาด)ปกติ การเปลี่ยนน้ำมักจะกระทำเมื่อมีค่าของเสียในน้ำที่สูงขึ้นอันเกิดจากปริมาณกุ้งที่มากเกินระบบจะจัดการได้ทันหรือการให้อาหารที่มากเกินควรหรือเกิดสภาวะสารเคมีปนเปื้อนในน้ำหรือการเปลี่ยนในระหว่างการรันระบบสำหรับตู้ที่ตั้งด้วยดินปลูกไม้น้ำ การเติมน้ำมักกระทำเมื่อระดับนั้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่ผู้เลี้ยงกำหนดซึ่งผู้เลี้ยงอาจจะขีดจุดระดับน้ำไว้เพื่อสังเกตก็เป็นอีกสิ่งที่ควรปฎิบัติ การเลี้ยงในห้องแอร์นั้นอัตราการระเหยของน้ำจะไวกว่าปกติซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อดีของการเลี้ยงด้วยแอร์คือกุ้งได้น้ำใหม่สม่ำเสมอทุกสัปดาห์โดยแทบจะไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำเดิมออกแต่การเติมน้ำมาทดแทนก็ควรพึง ระลึกถึงคุณภาพน้ำที่มาเติมด้วยโดยเฉพาะน้ำประปาที่อาจทำให้ค่าพารามิเตอร์ต่างๆจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เพราะส่วนที่ระเหยไปคือน้ำบริสุทธ์เท่านั้น ซึ่งต่างจากการเติมโดยใช้น้ำอาร์โอที่ค่าต่างๆแทบไม่ขึ้นเลยเพราะเป็นน้ำบริสุทธิ์ ส่วนข้อแตกต่างการเลี้ยงด้วยระบบการควบคุมอุณหภูมิผ่านชิลเลอร์นั้น จะต่างกับการควบคุมความเย็นด้วยแอร์ ตรงที่อัตราการระเหยของน้ำค่อนข้างน้อยถ้าอยากให้ได้น้ำใหม่ต้องใช้วิธีแทนที่น้ำคือการนำน้ำเก่าออกบางส่วนแล้วแทนที่ด้วยน้ำใหม่ การเปลี่ยนเติมน้ำโดยทั่วไปไม่ควรกระทำเกิน30% (กรณีฉุกเฉิน) แต่ถ้าต้องการถ่ายน้ำแบบปริมาณมาก50%+ เนื่องจากการปนเปื้อนสารเคมีหรือลดค่าGHที่สูงมาก ขอแนะนำให้ถ่ายออกปริมาณมากแต่แบ่งทยอยเติมเป็นครั้งคราวจนกว่าจะได้ระดับเดิมซึ่งจะดีกว่าปลอดภัยกว่าการถ่ายน้ำออกปริมาณมากและเติมน้ำปริมาณมาก และเพื่อป้องกัน สภาวะการช็อกน้ำ ที่เกิดจากการปรับตัวที่ไม่ทันของตัวกุ้งเรดบี (การเปลี่ยนน้ำจำนวนน้อยแต่บ่อยครั้งย่อมดีกว่าการเปลี่ยนจำนวนมากๆในหนเดียว) ดิน ดินในที่นี้คือดินที่ผ่านกรรมวิธีอัดเม็ดหรือที่นิยมเรียกกันว่าเรียกว่าดินภูเขาไฟแต่อาจจะไม่ได้มีที่มาจากแหล่งภูเขาไฟเสมอไปซึ่งทั่วไปมีสองขนาด เม็ดเล็กมีขนาด1-2MM และเม็ดมาตรฐานมีขนาด3-6MM ตามปกติมักใช้ดินเม็ดขนาดเล็กปิดผิวหน้าดินเพื่อความสวยงามและเพื่อไม่ให้เศษอาหารตกลงในดินชั้นล่างได้ง่าย การเลี้ยงกุ้งเรดบีนั้นจำเป็นต้องใช้ดินเพราะในดินมีแร่ธาตุที่ต้นไม้และกุ้งนั้นจำเป็นต้องนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและดินยังช่วยทำให้น้ำใส(เก็บตะกอนไว้ในชั้นดิน) ขึ้นช่วยลดค่า PH และยังเป็นตัวการสำคัญในกระบวนการบัฟเฟอร์ของระบบในตู้ขนาดเล็ก ความหนาของดินยังช่วยให้ค่า ph ไม่แกว่งมากนักดินที่ใส่ในตู้กุ้งเรดบีควรมีความหนาประมาณ 1/4-1/3 ของความสูงตู้ ดินที่เหมาะที่จะนำเลี้ยงกุ้งเรดบีควรเป็นดินสีดำเพราะจะทำให้กุ้งนั้นปรับสีของตัวเองให้มีสีสันที่เข้มและสดใสขึ้น แต่ดินที่นิยมนำมาใช้เลี้ยงกุ้งเรดบีแบ่งได้สองประเภทดังนี้ ดินที่ทำมาเฉพาะสำหรับเลี้ยงกุ้งเรดบีปัจจุบันมีผลิตออกมามากมายหลากหลายยี่ห้อ อาทิเช่นดินของ Benibachi Fulvic Soil , Breeder Soil ,Shirakura Red Bee Sand ดินชนิดนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงกุ้งเรดบีโดยเฉพาะและ เหมาะมาก สำหรับมือใหม่ ที่พึ่งหัดเลี้ยง เพราะมีความง่ายสะดวกรวดเร็วอยู่ในตัว และสามารถลงกุ้งได้ไวเพราะในตัวดินนี้มักจะปลอดปุ๋ยถึงมีก็มีในปริมาณต่ำมากบางยี้ห้อนั้นยังผสมแร่ธาตุพื้นฐานให้พร้อมเลี้ยงและยังมีปริมาณของธาตุอินทรีย์กรดฮิวมิคและฟูลวิคที่มากกว่าดินทั่วไป แต่ส่วนมากในการใช้ดินประเภทนี้ให้ประสบความสำเร็จในการใช้ดินประเภทนี้แนะนำให้ลงครบตามสูตรที่ผู้ผลิตได้จัดชุดมาสำหรับการจัดตั้งตู้เลี้ยงกุ้งเรดบี ดินปลูกต้นไม้น้ำที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบีคือ ดิน ADA"NEW AMAZONIA" เป็นดินปลูกพรรณไม้น้ำคุณภาพสูง รวบรวมคุณสมบัติที่ดีของทั้ง Amazonia และ Amazonia II เข้าไว้ด้วยกัน เป็นดินที่มีธาตุอาหารและสารอินทรีย์สูง แต่ก็มีปุ๋ยในดินอยู่มากเช่นกันเพราะดินชนิดนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อกุ้งเรดบีโดยเฉพาะ ในการนำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบีนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการรันระบบ เพื่อให้ค่าแอมโมเนีย,ไนไตรท์,ไนเตรด นั้นถูกกำจัดออกจากในน้ำให้หมดไปก่อนจึงจะสามารถนำมาเลี้ยงกุ้งเรดบีได้ โดยทั่วไปการรันระบบที่ดี กว่าค่าเหล่านี้จะเท่ากับ ศูนย์ ต้องใช้เวลาประมาณ 2สัปดาห์วิธีที่ช่วยย่นเวลาที่ดีคือการถ่ายน้ำแต่การถ่ายน้ำที่มากเกินไปก็จะทำให้ คุณภาพดินและแร่ธาตุในดินหายไปด้วยเช่นกัน ถ้าอยากรู้จักคุณสมบัติพื้นฐานของดินแต่ละยี่ห้อกรุณากด (http://shrimpsider.wordpress.com/category/tank/soil/breeders-soil/)
ควรหาข้อมูลประกอบร่วมอื่นในห้องโชว์ตู้เรดบีตามบอร์ดต่างๆมาประกอบร่วมเพราะสูตรต่างๆนั้นไม่มี สูตรตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและขึ้นกับการนำมาปรับใช้อย่างไรให้เหมาะกับตนเองและงบประมาณ ตู้ที่ใช้ในการเลี้ยงและขาตั้งตู้ ตู้ที่เลี้ยงกุ้งเรดบีควรมีขนาด24นิ้วขึ้นไปเพราะตู้ที่เล็กกว่านี้ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพารามิเตอร์ในน้ำต่างๆได้ง่าย ในการเติมถ่ายน้ำหรือการแกว่งของอุณหภูมิ ซึ่งตู้ที่ใหญ่ยังทำให้การบริหารจัดการด้านอื่นๆในการเลี้ยงนั้นสะดวกตามไปด้วยและผลิตภัณฑ์ส่วนมากจะผลิตมาเพื่อตู้ที่มีขนาดนี้ขึ้นไปและยังมีพื้นที่ที่เพียงพอต่อการขยายจำนวนของกุ้งในอนาคตและยังเป็นการเพิ่มพื้นในการจัดองค์ประกอบพื้นที่ภายตู้รวมถึงการจัดวางขอนไม้ต้นไม้ไม่ให้ดูแออัดจนเกินไป และยังหมายถึงพื้นที่ในการว่ายน้ำของกุ้งที่เพียงพออีกด้วย ปริมาตรน้ำที่เยอะยังหมายถึงศักยภาพในการควบคุมคุณภาพน้ำและของเสียในน้ำจะกระทำได้ง่ายและดียิ่งขึ้นกว่าตู้ที่มีขนาดเล็กอีกด้วย ส่วนความหนาของกระจกที่แนะนำคือ 6mm ซึ่งมีความหนาเพียงพอที่จะรักษาอุณหภูมิในตู้ได้ดี ตู้ที่ใหญ่ยังหมายถึงพื้นที่ในการว่ายน้ำที่กว้างขวาง และยังมีผลต่อการจัดการคุณภาพน้ำให้ง่ายและดีอยู่เสมอ แต่การออกแบบลักษณะตู้ยังมีอีกแบบหนึ่งที่ ผู้เลี้ยงแบบพัฒนาสายพันธุ์นิยมสั่งตัดตามแบบเพื่อการวางแผนในการแยกเกรดเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ในอนาคตคือ ตัดตู้แบบแบ่งช่องในการคัดเกรด ตู้ลักษณะนี้ถ้ามือใหม่จะตัดมาใช้งานแนะนำให้ศึกษาข้อมูลการวางผังน้ำให้ดีรวมถึงช่องทางการไหลเวียนของน้ำเพราะถ้าการออกแบบผิดพลาดการแก้ไขค่อนข้างจะกระทำได้ยากยิ่ง กระจกที่ใช้กั้นแนะนำยิงซิลิโคนเต็มเพราะถ้ากั้นแบบยกได้โอกาสที่ลูกกุ้งจะรอดไปมามีค่อนข้างสูง ขาตั้งตู้เรดบี ควรใช้ขาตั้งตู้ที่ผลิตมาเพื่อการเลี้ยงปลาโดยเฉพาะเพราะน้ำหนักของตู้กุ้งมีน้ำหนักค่อนข้างมาก อาทิเช่น ตู้ขนาด24นิ้วเมื่อใส่น้ำและอุปกรณ์ต่างๆแล้วมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 70 กิโลกรัม ถ้ามีการวางเครื่องชิลเลอร์และกรองนอกน้ำหนักอาจขึ้นไปถึง 100 กิโลกรัม++ ขาตู้สำหรับการเลี้ยงนั้นมีหลากชนิดทั้งแบบตู้ไม้เฟอร์นิเจอร์สวยงามขาที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนและแข็งขาทำจากเหล็กกล่องขาทำจากสแตนเลส ซึ่งขาแต่ละชนิดก็ล้วนแต่มีข้อดีและเสียแตกต่างกันไปขึ้นกับ จุดประสงค์การนำไปใช้และความสวยงาม ขาตู้แบบเฟอร์นิเจอร์ ข้อดีคือสวยงามแข็งแรงแต่ช่องเก็บของไม่เหมาะที่จะวางเครื่องชิลเลอร์ถ้านำมาใช้งานกับตู้กุ้งและใช้คู่กับเครื่องชิลเลอร์ ในช่วงหน้าฝนอาจเจอะปัญหาน้ำเป็นฝ้าที่กระจกและรวมตัวเป็นหยดน้ำที่กระจกตู้และไหลลงมาที่ตู้เฟอร์นิเจอร์ซึ่งอาจทำให้เนื้อไม้บวมพองขึ้นราและเสียรูปได้ ตู้ชนิดนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงในบ้านที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพราะจะทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องฝ้าน้ำมาทำลายเนื้อไม้ ขาตู้แบบไม้ มีข้อดีคือน้ำหนักเบาโปร่งจัดการอุปกรณ์ต่างๆได้ง่าย ซึ่งมีจำหน่ายทั้งแบบมาตรฐานและแบบสั่งตัดแบบสั่งตัดส่วนมาก มักทำมาากไม้เนื้อแข็งส่วนไม้แนะนำใช้ไม้เก่ามาทำเพราะขาไม้จะไม่เสียรูปหลังการนำมาใช้งาน ถ้าจะใช้ไม้เนื้ออ่อนแนะนำตรวจทานเรื่องมอดที่อาจสร้างปัญหาในอนาคต และคำนึงถึงการเข้างานของไม้ว่ามีมาตรฐานเพียงใดรวมถึงควรคำนวณขนาดท่อนไม้ที่ค่อนข้างใหญ่ที่จะรองรับน้ำหนักตู้ได้เป็นอย่างดี ขาแบบเหล็ก มีข้อดีคือมีราคาถูกหาซื้อง่ายน้ำหนักเบาโปร่งจัดการอุปกรณ์ต่างๆได้ง่าย ซึ่งมีจำหน่ายทั้งแบบมาตรฐานและแบบสั่งตัดแบบสั่งตัดมักทำจากเหล็กกล่อง การเลือกควรพิจารณาจากการเชื่อมความหนาของเหล็กที่เหมาะสมกับน้ำหนักตู้ สีที่พ่นมีการรองพื้นกันสนิมหรือไม่ ข้อเสียคือขึ้นสนิมได้ง่ายจากการหยดย้อยของฝ้าที่กระจกเมื่อใช้คู่ชิลเลอร์ ขาแบบสแตนเลส มีข้อดีคือมีราคาที่ไม่แพงมากนักหาซื้อง่ายน้ำหนักเบาโปร่งจัดการอุปกรณ์ต่างๆได้ง่าย มีทั้งแบบสำเร็จรูปจำหน่ายและแบบสั่งตัดตามแบบมักทำจากสแตนเลสเกรด 304 ที่เป็นสนิมได้ยากถ้ามีการดูแลที่ดี การเลือกควรพิจารณาจากการงานเชื่อมที่เรียบร้อยการเก็บงานข้อต่อในการเชื่อมและความหนาของสแตนเลสที่เหมาะสมกับน้ำหนักตู้
แสงสว่าง(ไฟ) แสงสว่างหรือไฟเป็นอีกสิ่งพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลี้ยงกุ้งเรดบี ไฟนั้นยังแบ่งออกได้อีกหลายประเภทแต่ที่จะกล่าว และยกตัวอย่างนั้นจะยกแค่ไฟที่นิยมนำมาใช้งานในการเลี้ยงรวมถึงข้อดีข้อเสียของไฟแต่ละชนิดการใช้งานหลักจริงๆ ของไฟแสงสว่างของเราคือเพื่อการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ ในระบบตู้กุ้งเรดบีรวมถึงแสงสว่างเพื่อการชมกุ้งเรดบีในอริยาบทต่างๆ ในตู้กุ้งเรดบีนั้น ชั่วโมงการเปิดไฟอาจเปิดได้ไม่นานเท่าตู้ไม้น้ำทั่วไปเพราะตู้กุ้งเรดบีนั้นเราขาดปัจจัยหลายด้านในการควบคุมปริมาณตะไคร่น้ำ เพราะเราไม่สามารถใช้สารเคมีเพื่อกำจัดหรือใส่สัตว์น้ำที่กินตะไคร่ในตู้กุ้งเรดบี แสงไฟกับช่วงเวลาเปิดขอแนะนำควรเปิดแค่ 6 ชั่วโมงต่อวันก็น่าจะเพียงพอต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้แล้วเพราะในตู้กุ้งเรดบีผู้เลี้ยงมักเลือกชนิดต้นไม้น้ำประเภทมอสและเฟิร์น ซึ่งมีความต้องการด้านแสงและด้านอื่นๆที่ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว การเปิดไฟควรกระทำปรับขึ้นตามลำดับช่วงอายุตู้เพื่อป้องกันปัญหาตะไคร่ที่อาจบูมได้ในช่วงการ ตั้งตู้ใหม่ๆสองสัปดาห์แรกแนะนำเปิดไฟ4ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นค่อยปรับเป็น5-6ชั่วโมงต่อวัน การเปิดไฟที่มากเกินความจำเป็นนอกจากจะสร้างปัญหาตะไคร่แล้วยังทำให้เครื่องทำความเย็นทำงานหนักเกินความจำเป็นอีกด้วย ส่วนพฤติกรรมการเปิดไฟทั่วไปแนะนำให้เปิดในช่วงเวลาที่ผู้เลี้ยงมักมีเวลาว่างช่วงนั้นเสมอในการชมกุ้งเรดบี กล่าวคือควรเปิดทุกวันเป็นช่วงเวลาเดิมเสมอ และอีกเครื่องมือที่ช่วยควบคุมการเปิดปิดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ ทามเมอร์ ที่ผู้เลี้ยงสามารถกำหนดเวลาเปิดปิดไฟได้โดยอัตโนมัติ เพราะชีวิตคนทำงานทั่วไปอาจไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้เวลาว่างที่คอยควบคุมเวลาเปิดปิดได้ด้วยตนเองในเวลาเดิมตลอด เครื่องมือนี้ยังช่วยลดความกังวลในยามที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด การเลือกทามเมอร์แนะนำเลือกแบรนด์ที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานค่อนข้างหนักทำงานตลอดปี แสงค่า K ของหลอดไฟที่เหมาะสมในการเลี้ยงกุ้งคือ 6500 K ซึ่งเป็นแสงสีขาวที่ไม่หลอกสายตาจนเกินควรในการชมกุ้งเรดบี ประเภทโคมและหลอดที่นิยมนำมาใช้โคมที่นำมาใช้จะมีสองลักษณะประเภทส่วนหลอดแบ่งออกเป็นสองชนิด โคมขาตั้งพาดกับขอบตู้ ข้อดีคือใช้งานง่ายสะดวกไม่ยุ่งยากราคาไม่แพงข้อเสียคือด้วยฐานที่อยู่บนผิวน้ำทำให้การจัดการต่างๆภายในตู้ค่อนข้างที่จะไม่สะดวก ช่วงความสูงของโคมกับผิวน้ำไม่สามารถปรับระดับได้ ทำให้น้ำในตู้อาจได้รับความร้อนจากแสงไฟที่มากเกินไปจนทำให้ระบบทำความเย็น(ชิลเลอร์)ทำงานหนัก โคมห้อยสายสลิง ข้อดีคือปรับระยะความสูงเหนือผิวน้ำของตัวโคมได้สะดวกในการจัดการต่างๆในตู้ได้ง่ายเพราะไม่มีขาโคมไฟที่เกะกะ ข้อเสียมีราคาแพงขึ้นมาอีกหน่อย และขาตู้มักไม่ได้ออกแบบมาเพื่อโคมชนิดนี้ต้องตัดฐานเฉพาะหรือซื้อเสามาติดตั้งโคม หลอดฟลูออเรสเซนต์(หลอด T5 ,หลอด T5HO , หลอด PL )หลอดประเภทนี้นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงเรดบี มีขายมากแบบหลากดีไซค์ มีทั้งโคมแขวนและโคมขาตั้งขอบตู้ แต่แยกย่อยตามลักษณะของหลอดไฟ หลอด T5 และ หลอด T5HO เหมือนกันที่ขนาดแต่ต่างที่ หลอด T5HO จะให้แสงสว่างที่มากกว่าและใช้กำลังไฟฟ้าสูงกว่า แต่ทั้งมีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 20,000 ชั่วโมง หลอดมีหลากสีให้ปรับใช้ ส่วนหลอด PL ก็เป็นหลอดฟูลออเรสเซ็นต์ ชนิดหนึ่งที่มีการพับฐานหลอดให้มีรูปทรงคล้ายตะเกียบ โคมที่ใช้หลอดนี้จะมีราคาถูกกว่าแบบแรก แต่ตัวหลอดหาซื้อตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปค่อนข้างยาก อายุการใช้งานส่วนมากจะระบุที่ 10,000 ชั่วโมง หลอด LED หลอดประเภทนี้ก็นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงเรดบีในระยะหลังๆเพราะเริ่มมีผู้ผลิตมากรายหลายแบบหลายดีไซค์ราคาต่อหน่วยนั้นถูกลงมาก ตัวฐานโคมมีขนาดที่แบนเล็กเมื่อใช้งานไม่ทำให้อุณหภูิมิรอบๆเกิดความร้อนมากนัก อายุหลอดยาวนานกว่า 50,000-100,000ชั่วโมง สามารถปรับความสว่างของแสงได้ตามความต้องการ ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ผลิตโคมหลายรายมักเอาข้อดีข้อนี้ไปเพิ่มหลอดกับโคมไฟที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ เพื่อในการใช้เป็นไฟมูนไลท์ เปิดในยามดับไฟโคมหลักเพื่อจำลองแสงจันทร์ตามค่ำคืนที่สลัวๆ ซึ่งมูนไลท์นี้ก็มีข้อดีในการช่วยในเรื่องการเจริญอาหารและการสืบพันธุ์ที่ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างโคมและทามเมอร์
ระบบควบคุมอุณหภูมิ การเลี้ยงกุ้งเรดบีในประเทศไทยซึ่งจัดว่าอยู่ในเขตโซนร้อนอุณหภูมิร้อนเกือบตลอดปี แต่กุ้งเรดบีนั้นกลับไม่สามารถที่จะอาศัยในน้ำที่มีอุณหภูมิที่สูงได้ และการเลี้ยงเรดบียังต้องการอุณหภูมิที่ไม่แกว่งมากนัก นั้นเป็นเพราะตามธรรมชาติกุ้งเรดบีนั้นอาศัยในลำธารที่มีความเย็นตลอดทั้งปี กุ้งเรดบีนั้นต้องการน้ำที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงเกินกว่านี้ก็จะเริ่มส่งผลกระทบในด้านลบต่อกุ้งเรดบีไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงอายุเฉลี่ยที่สั้นลง อัตรารอดของกุ้งและปริมาณลูกกุ้งที่จะลดถอยลง รวมถึงความสมบูรณ์ในการเจริญพันธุ์และคุณภาพของสีสันที่ลดลง ความเจริญอาหารและปัจจัยอื่นๆด้านลบอีกมากมายที่จะตามมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเรื่องการควบคุมอุณหภูมิก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดในการเลี้ยงกุ้งเรดบี การควบคุมอุณภูมิมีให้เลือกสองประเภทในการใช้งาน อุปกรณ์แรกที่หนีไม่พ้นสำหรับมือใหม่ทุกท่านที่ไม่มีห้องปรับอากาศตลอด24ชั่วโมงคือ Chiller (ชิลเลอร์) เครื่องทำความเย็นขนาดเล็กซึ่งต้องใช้ควบคู่กับกรองนอกเพื่อนำน้ำในตู้กุ้งมาผ่านการปรับอุณหภูมิในหม้อพักน้ำที่อยู่อยู่ในตัวเครื่องชิลเลอร์นี้ให้มีอุณหภูมิตรงตามที่กำหนดไว้โดยถูกกำหนดไว้ที่เทมคอนโทรลที่ฝังในหม้อพักน้ำในตัวเครื่องหรือจุ่มในตู้กุ้งเรดบี (ตั้ง24เครื่องจะหยุดการทำงานที่23.9-24.00แล้วแต่แบรนด์และเริ่มทำงานเมื่ออุณหภูมิขึ้นถึง25)ข้อดีของเครื่องชิลเลอร์คือขนาดกะทัดรัดติดตั้งง่ายราคาไม่สูงมากนักสะดวกและปริมาณน้ำในตู้ระเหยค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกับการลดอุณหภูมิด้วยวิธีอื่นๆ มาตรฐานคร่าวๆในการเลือกเครื่องควรเลือกเผื่อประมาณ1เท่าของมาตรฐานความสามารถในการทำงานของชิลเลอร์ เพราะค่ามาตรฐานแนะนำนั้นมักถูกกำหนดมาสำหรับประเทศเขตเย็นอบอุ่นไม่ใช้เขตร้อนแบบบ้านเรา ถ้าท่านเลือกสเปคที่ใกล้เคียงกับปริมาตรตามแนะนำของบริษัทผู้ผลิตชิลเลอร์ ท่านจะพบว่าเครื่องชิลเลอร์นั้นจะทำงานเกือบตลอดเวลา ควรเลือกใช้งานชิลเลอร์ที่มีขนาดความสามารถเหมาะสมปริมาตรน้ำในตู้แล้วอีกสิ่งที่ต้องเลือกสเปคให้เหมาะสมด้วยเช่นกันคือแรงดันน้ำของกรองที่ต้องเหมาะสมและสัมพันธ์ ซึ่งข้อนี้ได้มีกล่าวไว้ในส่วนของกรองนอกแล้วในส่วนของตาราง จุดวางเครื่องชิลเลอร์ ต้องกำหนดจุดวางเครื่องที่เหมาะสมให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี ความร้อนที่เกิดจากการทำงานเครื่องก็ควรจัดสรรให้มีทางออกของลมร้อนที่ดีด้วยเช่นกัน ตัวเครื่องไม่ควรวางในที่ต่างระดับโยกไปมาและในมุมอับหรือที่ๆมีอุณหภูมิสูง ที่ชื้นมีแสงแดดสาดส่องถึง และควรหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ระยะเวลาการทำงานชิลเลอร์ในการลดอุณหภูมินั้นจะเร็วหรือจะนานนั้นต้อง ขึ้นกับปัจจัยหลายด้านเช่น แรงดันน้ำที่เหมาะสมขนาดปริมาตรน้ำที่เหมาะสม จุดวางตู้ที่ไม่ร้อน รวมถึงการระบายอากาศและอุณหภูมิรอบตู้ประกอบ และเงื่อนไขการทำงานอื่นร่วม อาทิเช่น ครั้งแรกที่ตั้งตู้เครื่องอาจจะทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมงถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องกดอุณหภูมิหลายองศา อีกข้อที่ผู้ใช้ชิลเลอร์มักประสบปัญหา กันบ่อยคือการควบคุมอุณหภูมิที่ไม่ตรงกับค่าที่ตั้งไว้ถ้ายังอยู่ในประกันแนะนำ นำเครื่องชิลเลอร์นั้นกลับไปรับบริการหลังการขาย แต่ก่อนยกไปแนะนำข้อควรกระทำก่อนยกไปซ่อม คือตรวจทานพิจารณาแรงดันน้ำของกรองนอกเพราะถ้าแรงดันน้ำตกอาจทำให้เครื่องทำงานผิดพลาดได้ หรือถ้ากรณีเครื่องดับแนะนำสังเกตที่ข้างตัวเครื่องและใต้ปลั๊กไฟสามขา เพราะบางรุ่นของชิลเลอร์นั้นจะมีฟิวส์หลอดแก้วฝังไว้ ฟิวส์นั้นอาจจะขาดก็เป็นไปได้ ขั้นที่สองถ้าเครื่องนั้นหมดประกันแล้วพบการทำงานด้านควบคุมอุณหภูมินั้นยังบกพร่องควรพิจารณาเปลี่ยนเทมคอนโทรลในตัวเครื่องซึ่งค่อนข้างที่จะลำบากยุ่งยากราคาสูงหรืออีกวิธีที่นิยมคือ ซื้อเทมคอนโทรลแบบติดตั้งเองภายนอกมาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิ อีกเรื่องนึงที่ไม่ควรมองข้ามของผู้ที่ใช้เครื่องชิลเลอร์คือควรใช้ชิลเลอร์กับรางปลั๊กที่ได้มาตรฐานที่ดี และสเปคค่อนข้างสูงเพราะปลั๊กรางทั่วไปมักควบคุมกระแสไฟลัดวงจรด้วยฟิวส์อัตโนมัติที่มีขนาดเล็กและไม่ได้มาตรฐานและฟิวส์หลอดแก้วซึ่งโอกาสที่เครื่องชิลเลอร์ จะกระชากกระแสไฟจนฟิวส์ขาดหรือตัดได้นั้นมีโอกาสค่อนข้างสูงมาก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อนได้ หรืออาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ในกรณีที่รางปลั๊กไฟละลายจากคุณภาพการผลิต และอีกข้อที่มักเกิดขึ้นบ่อยคือเมนสายไฟที่เราเสียบปลั๊กนั้นรับภาระเกินความสามารถของ คัทเอ้าท์ หรือ เบรคเกอร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการตัดทำงานอัตโนมัติของ คัทเอ้าท์ หรือ เบรคเกอร์ ก็เป็นไปได้ ถ้าแอมป์ในการรับกระแสไฟต่ำไปควรปรับขึ้นให้เหมาะสม อุปกรณ์เสริมสำหรับผู้เลี้ยงกุ้งเรดบีกับชิลเลอร์ที่จำเป็นต้องกล่าวถึงคือขดท่อสแตนเลส เพื่อใช้ในกรณีที่ผู้เลี้ยงต้องการเพิ่มอีกหนึ่งตู้เลี้ยงโดยใช้ชิลเลอร์ตัวเดิม โดยขดลวดนี้จะใช้คุณสมบัติของการถ่ายทอด อุณหภูมิของโลหะมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยขดท่อนี้จะจุ่มอยู่ในตู้กุ้งเรดบีใบใหม่ที่ขยายเพิ่มจากใบหลักซึ่งมีทั้งแบบแขวนและแบบฝังใต้ดิน ท่อสแตนเลสที่เลือกใช้ควรเลือกเกรดที่ปลอดสนิม100% ซึ่งปัจจุบันมีแบบสำเร็จรูปผลิตมาจำหน่ายมากมายสามารถสั่งตัดได้ตามแบบตามขนาดที่ต้องการหรือซื้อตามขนาดมาตรฐานทั่วไปนิยมใช้กันแต่อุณหภูมิของตู้เสริมมักมีอุณหภูมิที่ต่างจากตู้หลักประมาณ1-2องศาขึ้นกับจำนวนขดปริมาตรน้ำและแรงดันน้ำในการแลกเปลี่ยนอุณหภูมิว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอเพียงใด เครื่องปรับอากาศ(แอร์)ก็เป็นอีกหนึ่งที่ผู้เลี้ยงที่มีหลายตู้หรือผู้ที่คิดจะติดตั้งชิลเลอร์เครื่องที่สอง เลือกพิจารณาเพราะเงื่อนไขที่ปลดล็อก ของจำนวนตู้ที่เพิ่มได้เป็นจำนวนมากสบายทั้งคนและกุ้ง และยังช่วยลดโอกาสของการปนเปื้อนสารเคมีที่มาทางอากาศที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ (ห้องปิด) ในกรณีที่ผู้เลี้ยงสร้างห้องเฉพาะสำหรับการเลี้ยงกุ้งเรดบี การเลือกซื้อแอร์ควรเผื่อสเปคนิดนึงเพราะเงื่อนไขของความชื้นและแสงไฟที่กระทบต่อการทำงานเครื่องค่อนข้างมาก แอร์เกือบทุกชนิดจะควบคุมการทำงานด้วยเทอร์โมสตัทเป็นตัววัดอุณหภูมิในห้องว่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าค่าที่ตั้งไว้เมื่อใดที่ อุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ก็จะสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงานความร้อนก็จะถูกดึงออกจากห้อง และอุณหภูมิในห้องก็จะต่ำลงซึ่งจังหวะนี้เป็นจังหวะที่แอร์จะกินไฟมากที่สุด การเลือกโคมไฟก็เป็นอีกสิ่งที่ควรคำนึงร่วมด้วยเพราะเป็นตัวหลักเลยที่ทำให้แอร์ทำงานหนักและบ่อยเกินความจำเป็น ตามปกติอุณหภูมิน้ำในห้องแอร์จะต่ำกว่าอุณหภูมิห้องที่ตั้งไว้ประมาณ 1 องศาเซลเซียส ขึ้นกับองประกอบอื่นร่วมด้วยเช่นจุดรับแรงลมจุดอับจุดวางโคมไฟช่วงเวลาเปิดไฟ การเลี้ยงด้วยแอร์มีข้อดีที่ปริมาณจำนวนตู้ที่ไม่จำกัดแล้วยังมีเรื่องของอุณหภูมิน้ำที่ค่อนข้างเสถียรมากกว่าการควบคุมอุณหภูมิแบบอื่นๆข้อเสียมีเพียงข้อเดียวคือน้ำในตู้กุ้งระเหยค่อนข้างไวมาก ส่วนค่าไฟที่หลายท่านมักกังวลถ้าเราใช้แอร์ประสิทธิภาพดีๆ (ค่า EER ยิ่งสูงยิ่งประหยัด) ค่าไฟที่ออกมาแทบไม่ต่างกับการใช้ชิลเลอร์สองตัวเลย และเราสามารถเปิดแอร์ได้ตลอด24ชั่วโมงหรืออาจจะพักเครื่องเป็นครั้งคราวก็ได้ไม่มีปัญหาแต่ประการใดเพราะอุณภูมิน้ำในห้องควบคุมอากาศอุณหภูมิค่อนข้างขึ้นช้า การเลือกระบบแอร์ธรรมดาหรืออินเวอร์เตอร์ แนะนำปรับตามงบประมาณเพราะระบบตัวหลังเมื่อหมดประกันค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูงและต้องใช้ช่างที่มีทักษะ พัดลมอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงเพราะพัดลมเป็นอีกสิ่งหนึ่งในการลดอุณหภูมิได้ประมาณ1-2องศาเซลเซียสแต่ไม่เหมาะในการนำมาใช้เลี้ยงกุ้งเรดบี เพราะมีประสิทธิภาพในลดอุณหภูมิได้ไม่มากและอุณหภูมิในช่วงค่ำและกลางวันต่างกันค่อนข้างมากในรอบวัน และการเปิดพัดลมในห้องปรับอากาศยังเป็นตัวช่วยเร่งให้น้ำระเหยมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก เครื่องควบคุมอุณหภูมิและอุปกรณ์เสริม
เครื่องกรองน้ำในระบบตู้กุ้งเรดบีที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยง เครื่องกรองน้ำในระบบตู้กุ้งเรดบีสามารแบ่งได้ออกเป็นสองประเภทที่นิยมใช้หรือนำมาใช้ร่วมกัน กรองนอก เครื่องกรองน้ำประเภทนี้ใช้มอเตอร์ในการดูดน้ำในตู้ มาบำบัดภายนอกตู้โดยมีหลายขนาดให้เลือกใช้งานขนาดที่ต่างย่อมหมายถึง พื้นที่ในการบรรจุวัสดุกรองประเภทต่างๆที่เพิ่มขึ้นตามขนาด แต่ก็ต้องพบกับแรงดันน้ำจากมอเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้นตามขนาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการเลือกกรองนอกมาใช้งานนี้ต้องเลือกให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในตู้และต้องคำนึงถึงแรงดันน้ำที่เหมาะสมกับขนาดของตู้กุ้ง บริเวณปากท่อที่ดูดน้ำจากในตู้ลงมาบำบัดจำเป็นต้องมีตะแกรงกันลูกกุ้งมาหุ้มไว้หรือหุ้มด้วยฟองน้ำที่ละเอียดหนานุ่มหุ้มไว้เพื่อกันลูกกุ้งนั้นจะโดนแรงดูดกรองดูดเข้าไปในตัวเครื่องกรองนอกส่วนการล้างทำความสะอาดฟองน้ำที่หุ้มนั้นแนะนำให้นำน้ำเก่าในตู้กุ้งมาล้างทำความสะอาดเพราะในฟองน้ำนี้มีแบคทีเรียที่มีประโยชน์อาศัยอยู่อย่างน้อยควรล้างเดือนละครั้งด้วยการขยุ่มน้ำพอประมาณเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานของกรองนอก ส่วนการทำความสะอาดย่อยเช่นการล้างเปลี่ยนแผ่นใยกรองแนะนำกระทำทุก3เดือน การทำความสะอาดใหญ่ควรทำเท่าที่จำเป็น6เดือนขึ้นไปเป็นการล้างตะกอนที่สะสมในถังกรองนอกกระบวนการล้างทุกขั้นตอนไม่ควรใช้น้ำประปาล้างควร สำรองน้ำในตู้กุ้งมาล้างไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะระบบแบคทีเรียล่ม(ตาย)ได้ ข้อดีของกรองนอก คือสะดวกในการควบคุมแรงดันน้ำ,และเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการกรองได้แบบไร้ขีดจำกัด(พ่วงกรอง),เป็นตัวผลักน้ำเข้าสู่เครื่องชิลเลอร์ในการควบคุมอุณหภูมิในน้ำ,ทำความสะอาดง่ายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดของเสียจากระบบได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว,ท่อน้ำออกจากกรองนอกถ้าต่อผ่านสเปย์บาร์(ท่อขลุ่ย) ยังช่วยในการกระจายกระแสน้ำได้อย่างทั่วถึงและช่วยลดฝ้าน้ำเพิ่มอากาศสู้น้ำในตู้กุ้งไปในตัวด้วย,มีชั้นวางมีเดียอย่างเป็นระเบียบในถังกรองทำให้เราสามารถ บริหารจัดการใส่วัสดุกรองได้อย่างเป็นระเบียบและเหมาะสม ข้อเสียของกรองนอก เกะกะพื้นที่ภายนอก,สายยางที่ยุ่งเหยิง,ราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง ข้อที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ กรองนอกนี้ทำงานไม่มีวันหยุดวันพักควรเลือกซื้อสินค้าที่คุณภาพแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ,และควรคำนึงถึงกำลังไฟฟ้าที่สูญเสียไปใช้งานเพราะ มีเงื่อนไขในการที่กรองต้องทำงานตลอดเวลาหน่วยวัตต์ที่ต่างกันเล็กน้อยแต่ค่าไฟต่อเดือนต่อปีนั้นไม่น้อยเลยเชียว,อย่าละเลยถึงบริการหลังการขายสอบถามให้เรียบร้อยก่อนชำระเงินเพราะบางแบรนด์ไม่มีรับประกันหรือรับประกันระยะสั้น3-6เดือนและระยะยาว1-2ปีหรือมีเครื่องสำรองให้ใช้ระหว่างการส่งซ่อม,เนื่องจากน้ำในตู้กุ้งมีความเป็นกรดอยู่ตลอดเวลาการเลือกกรองนอกที่มีแกนใบพัดเป็นแกนเซรามิกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการประกอบการตัดสินใจร่วมในการเลือกซื้อกรองนอก แผ่นกรองก้นตู้ เป็นอีกหนึ่งวิธีการกรองที่นิยมนำใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบี โดยใช้ช่องว่างในเนื้อดินและในพัมมิสที่ปูรองพื้นมาเป็นบ้านของแบคทีเรียในตู้เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดของเสียของระบบที่เกิดขึ้นจากอาหารและมูลที่กุ้งเรดบีขับถ่ายออกมาแต่ส่วนมากการกรองแบบนี้จะนิยมใช้กับดินที่ทำมาเพื่อกุ้งเรดบีโดยเฉพาะเพราะดินเฉพาะเหล่านั้นมักจะออกแบบมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งเรดบีและไม่มีปัญหาของปุ๋ยในดินที่ฟุ้งกระจาย แต่ผู้เลี้ยงส่วนมากจะใช้ควบคู่ร่วมกับกรองนอกด้วยเพื่อลดภาระที่หนักเกินไปของการกรองผ่านชั้นดิน และการวางที่ดีควรกำหนดจุดต่อท่ออากาศและน้ำออกให้เหมาะสมให้น้ำและอากาศที่ออกมานั้นมีลักษณะ หมุนเวียนได้ทั่วถึงรวมถึงการวางแผ่นกรองควรวางให้ครอบคลุมพื้นที่ให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุดและปากท่อนั้นควรยกขึ้นเหนือน้ำเพราะกุ้งมักแวะไปว่ายไปในท่อตามพฤติกรรมทางธรรมชาติ(ว่ายทวนน้ำ)และการยกท่อระดับผิวน้ำยังช่วยกำจัดคราบโปรตีนและฝ้าเหนือผิวน้ำได้อีกด้วย ข้อดีของการใช้แผ่นกรองก้นตู้ ช่วยให้น้ำและอ๊อกซิเจนนั้นมีแรงดูดผ่านไปยังชั้นใต้ดินเพื่อช่วยให้แบคทีเรียที่อาศัยในชั้นดินมีอ๊อกซิเจนไปใช้ในกระบวนการบำบัดของเสียที่เกิดใน ระบบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ,ช่วยค่าพยุงค่า PH ให้ต่ำลงกว่าเดิม(ดึงประสิทธิภาพของดินมาใช้ในการลด),ทำให้กระบวนการบัฟเฟอร์นั้นกระทำได้รวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพค่า PH ไม่แกว่งสวิงไปมาหลังการเติมน้ำ,ช่วยเรื่องการตกตะกอนของสารแขวนลอยในน้ำทำให้น้ำนั้นใสเร็ว,ขนาดกะทัดรัดไม่เกะกะรกสายตา,สามารถใช้ทดแทนกรองนอกได้ถ้าท่านเลี้ยงกุ้งเรดบีในห้องแอร์แต่การใช้ทดแทนกรองนอกควรมีท่อน้ำออก2ท่อเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่เพียงพอในการบำบัดของเสีย ข้อเสีย ทำให้คุณสมบัติดินเสื่อมเร็วกว่าปกติ,อาจเป็นแหล่งสะสมของๆเสียในกรณีที่ระบบจัดการได้ไม่หมด,ถ้าปั๊มลมเสียจนทำให้อากาศและน้ำไม่ผ่านเหมือนปกติอาจจะทำให้ระบบแบคทีเรียในชั้นดินนั้นล่มได้ในเวลาอันรวดเร็วและแก้ไขได้ค่อนข้างลำบาก ข้อที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อ เนื่องจากการที่ต้องรับน้ำหนักที่มากของดินและพัมมิสตลอดเวลา จึงควรเลือกที่คุณภาพของวัตถุดิบที่คงทนแข็งแรงข้อต่อประสานที่แผ่นกรองมีความแน่นสนิทเป็นเนื้อเดียวกันตัวท่อคุณภาพดีมีปากท่อที่ควบคุมทางน้ำออกได้ เนื้อพลาสติกมีคุณภาพดีไร้สารเคมีที่ละลายออกมา(พลาสติกประเภทรีไซเคิล)
กรองแขวน เป็นการกรองรูปแบบหนึ่งที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับกรองนอกกล่าวคือสามารถบรรจุวัสดุกรองได้ตามความต้องการของผู้ใช้ท่อดูดน้ำสามารถสวมฟองน้ำหรือตะแกรงกันลูกกุ้งได้ ข้อดี คงเป็นที่ขนาดนั้นมีความเหมาะสมสำหรับตู้ขนาดเล็กและมีพื้นที่วางที่จำกัด ข้อเสีย ขนาดค่อนข้างเล็กการใช้กรองข้างที่ีมีขนาดใหญ่มากก็จะเป็นภาระต่อการรับภาระน้ำหนักของตู้กระจก วัสดุกรอง(มีเดีย) วัสดุกรองในที่นี้จะหมายถึงวัสดุที่นำมาใช้ในระบบกรองต่างๆเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในกระบวนการบำบัดของเสียออจจากระบบด้วยการกินและย่อยสลายของเสียที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆโดยวัสดุนั้นจะต้องมีความรูพรุนและน้ำสามารถผ่านได้เป็นอย่างดีวัสดุกรองที่ดีควรมีค่า ph ที่เป็นกลางไม่ทำให้ค่า ph ขึ้น หน่วยวัดทางการค้าส่วนมากจะวัดด้วยหน่วยตวงปริมาตร ลิตร (มีเดียยิ่งมีขนาดเล็กย่อมหมายถึงพื้นที่ในกรองที่มากขึ้นจากขนาดของพื้นผิวต่อปริมาตรต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจาก ลิตร/น้ำหนัก ) เราสามารถจำแนกประเภทวัสดุกรองที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบี โดยการยกตัวอย่างคร่าวๆได้ดังนี้ วัสดุกรองแบบธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้สามารถยกตัวอย่างแบบคร่าวๆได้สองชนิด พัมมิส (pumice stone) เป็นวัสดุกรองตามธรรมชาติเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟมีความพรุนสูงน้ำหนักเบาราคาถูก คุณสมบัติต่างทางด้านผลกระทบและเเร่ธาตุ ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงได้เพราะต้องคำนึงจากแหล่งที่มาของพัมมิสมาประกอบด้วยก่อนการใช้ทุกครั้งจะต้องล้างหลายน้ำจนน้ำใส และยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของ ADA ชื่อสินค้าว่า Bio Rio วัสดุของมีเดียทำจากพัมมิสขนาดมาตรฐานพร้อมแบคทีเรียที่มีประโยชน์ สามารถใช้ได้ทันที มีคุณสมบัติเป็นกลาง (ห้ามนำไปล้างก่อนใช้เด็ดขาด) ถ่านไม้ไผ่ (Bamboo Charcoal) ทำมาจากไม้ไผ่ ( Bamboo ) ด้วยกรรมวิธีในการผลิตด้วยอุณหภูมิภายในเตาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 1000 ºC มีความพรุนในเนื้อถ่านที่จัดว่าสูงมากๆ เหมาะสำหรับการใช้ในขั้นตอนการจัดตั้งตู้กุ้งเรดบีเพราะมีคุณสมบัติช่วยดูดซึมกลิ่นสีสารพิษ และซับคลอรีน โดยที่ไม่คายออกสามารถดูดได้จนเต็มประสิทธิภาพ จากนั้นก็จะเปลี่ยนคุณสมบัติตัวเองเป็นบ้านของแบคทีเรีย และยังช่วยเพิ่มแร่ธาตุ แคลเซี่ยม โพตัสเซี่ยม แมกเนเซี่ยม ฯลฯ ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพกุ้ง ถ่านชนิดนี้มีทั้งแบบเกล็ดและก้อนแบบเกล็ดเหมาะที่จะนำมาใช้มากที่สุดแต่การนำแบบเกล็ดไปใช้ควรใส่ในถุงตาข่ายตาขนาดถี่มากๆและไม่จำเป็นต้องล้างก่อนนำมาใช้งาน ในการเลือกใช้ควรระมัดระวังในเรื่องคุณภาพเพราะผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีหลายเกรดควรเลือกซื้อโดยคำนึงถึง แบรนด์ที่น่าเชื่อถือเพราะแบบเกล็ดเราไม่สามารถเคาะเพื่อฟังเสียงที่คล้ายเสียงเคาะกระเบื้องในการทดสอบคุณภาพขั้นต้นได้เหมือนแบบก้อน(ไม่ควรใส่มากเกินควรเพราะมีคุณสมบัติที่ทำให้ค่า PH ขึ้นได้เล็กน้อยซึ่งเหมาะที่จะนำมาปรับใช้กับตู้ที่ค่า PH ต่ำกว่าปกติด้วยวิธีที่ปลอดภัย) และยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของ ADA ชื่อสินค้าว่า Bamboo Charcoal ซึ่งจัดว่าสะดวกพร้อมใช้ปลอดภัยคุณภาพที่น่าเชื่อถือ และยังทำให้ตู้ที่ตั้งใหม่มีค่า PH ที่เหมาะสมไม่ต่ำจนเกินไป วัสดุกรองแบบเน้นพื้นที่ความพรุนวัสดุกรองประเภทนี้มักทำมาจากเซรามิกผ่านกรรมวิธีพิเศษรวมถึงผลึกQuatzและผลึกแก้วซึ่งความพรุนนั้นจะมากน้อยก็ขึ้นกับวัสดุที่นำมาใช้ในการทำขึ้นรูป จะขอยกตัวอย่างคร่าวๆดังนี้ แบบเซรามิก ทำมาจะดินขาวมาเผาที่ความร้อนสูงจนเกิดช่องว่างจำนวนมากในเนื้อ วัสดุนี้มีข้อดีคือมีความแข็งแรงทนทาน แต่ความพรุนจัดว่าไม่มากนักแต่ก็ไม่น่าเกลียดมีมากมายหลายยี่ห้อ แต่ขอยกตัวอย่างยี่ห้อที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยง Mr.Aqua มีพื้นที่อาศัยสำหรับแบคทีเรีย 600 ตร.ม./ลิตร มีลักษณะกลมกลวงในมีเนื้อแข็งผิวหยาบรอบ และรูที่กลวงยังทำให้การไหลเวียนของกระแสน้ำทำได้อย่างทั้งถึง ไม่มีผลกับค่า PH ในน้ำ Power House Mono Ball มีลักษณะเม็ดกลมเล็กประมาณ 8 มม. มีพื้นที่อาศัยสำหรับแบคทีเรีย 860 ตร.ม./ลิตร เหมาะสำหรับกรองแขวนและกรองนอก แบบผลึกแก้ว ที่นิยมนำมาใช้มักจะมีลักษณะกลมมีรูกลวงด้านในทำมาจากผลึกแก้วขึ้นรูปข้อเสียแตกหักง่าย จัดว่ามีความพรุนในเนื้อในระดับปานกลาง ส่วนมากจะมีความพรุนเริ่มต้นที่ 1000 : ตรม./ล. ขึ้นไปโดยขึ้นกับคุณภาพในการผลิตของแบรนด์นั้นๆ ตัวอย่าง Azoo bio glass มีความพรุนที่ 2800 : ตรม./ล และ Eheim Substrat Pro (วัตถุดิบในการผลิต Sintered Pearl-Shape Glass) ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดที่นิยมนำมาใช้ มีลักษณะเม็ดกลมเล็กเนื้อหยาบ มีความพรุนสูง มีค่าพีเอชเป็นกลางไม่เปลี่ยนแปลงค่า pH และความกระด้างของน้ำ แบบผลึกควอทซ์ เป็นมีเดียที่จัดว่ามีความพรุนที่มากที่สุดมักมีลักษณะเป็นเม็ดกลม ผลิตจากผลึกควอทซ์ที่มีคุณสมบัติเหมือนแก้ว ผลิตด้วยกรรมวิธีพิเศษ ไม่มีผลต่อค่า PH ตัวอย่างที่นิยมนำมาใช้ Azoo Quatz Ball ทำจากแร่ควอทซ์ ความพรุนสูงถึงประมาณ 75000 : ตรม./ล วัสดุกรองแบบประโยชน์เฉพาะทางเป็นวัสดุกรองที่เน้นหน้าที่หลักเพื่อการใดการหนึ่งที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆต้องการอาทิเช่นเพิ่มสารที่ช่วยเพิ่มลดค่าphช่วยการพยุงค่าphไม่ให้แกว่งไปมาเป็นวัสดุกรองที่มีคุณสมบัติที่สามารถปลดปล่อยแร่ธาตุได้ แบบพยุงค่า ph ในน้ำที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบี ยกตัวอย่าง Power House วัสดุกรอง ที่ผู้นิยมเลี้ยงกุ้งเรดบีมักมีติดประจำกรอง แบ่งได้สองชนิด แบบ Soft ใช้เพื่อกดค่า pH ให้ต่ำ แบบ Hard ใช้เพื่อเพิ่มค่า pH ให้สูง (เวลาซื้อควรระวังเลือกให้ถูกประเภท) วัสดุกรองนี้จะคงคุณสมบัติตามหน้าที่ของมันได้ประมาณ 6-12 เดือนก็จะคงเหลือเพียงด้านรูพรุนภายในวัสดุของมีเดีย ที่จะยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย แบบปล่อยแร่ธาตุ มีความสามารถในการปลดปล่อยแร่ธาตุในน้ำได้ผ่านจากส่วนผสมที่อยู่ในตัวมีเดีย ตัวอย่างที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบีอาทิเช่น Leaf ทำจากดินเหนียวใต้ทะเลลึกอุดมด้วยแร่ธาตุต่างๆ สามารถปลดปล่อยแร่ธาตุได้นาน1-12เดือนขึ้นกับองค์ประกอบอื่นในการใช้งานร่วมด้วย มีคุณสมบัติเป็นกลาง
แบคทีเรียที่จะกล่าวต่อไปนี้มีหน้าที่ในการกำจัดของเสียที่เกิดในระบบของ ตู้กุ้งเรดบีจริงอยู่แบคทีเรียนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่วิวัฒนาการของมนุษย์ในปัจจุบัน นั้นสามารถศึกษาค้นคว้าวิจัยในการค้นหา รวบรวมแบคที่เรียและเอนไซม์จากธรรมชาติในสายพันธุ์ต่างๆ นำมาวิเคราะห์ถึงจุดแข็งอ่อนของแบคทีเรียชนิดนั้นๆว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมด้านใดบ้าง เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นในตู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์แบคทีเรียพร้อมใช้ในรูปแบบต่างๆมากมายหลายยี่ห้อส่วนกระบวนการในการทำงานของแบคทีเรียนั้นได้มีกล่าวไว้ในข้างต้นของกระบวนกำจัดของเสียแล้วจึงขอข้ามมาที่ ประเภทของสินค้าประเภทนี้และความเหมาะสมในการนำมาใช้งานแต่ในส่วนนี้คงไม่อธิบายเจาะจงถึงขึ้นชื่อและสายพันธุ์แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียสำเร็จรูปต่างๆนั้นจะมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละยี่ห้อมักจะมีการอธิบายข้อมูลสินค้าเป็นอย่างดีอยู่แล้วจึงขอข้ามข้อนี้ไป ในความเป็นจริงแล้วการเลือกใช้แบคทีเรียนั้นควรเลือกใช้แค่ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเท่านั้นเพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าแบคทีเรียยี่ห้อนี้นั้นมีความเป็นมิตรต่อยี่ห้อเดิมที่เราใช้อยู่หรือไม่เปรียบเสมือนสงครามแย่งชิงอาหารที่ต้องแย่งกันทำหน้าที่แย่งที่อาศัยและฆ่ากันเองจนอาจเกิดเป็นภาวะแบคทีเรียตายจำนวนมากจนระบบล่มได้ แต่การใส่แบคทีเรียก็ควรใส่ในปริมาณที่เหมาะสมเพราะการที่ใส่มากในบางสภาวะอาจทำให้เกิดเมือกตามผิววัสดุต่างๆในตู้และน้ำขาวขุ่น ที่เกิดจากสภาวะแบคทีเรียบูม (แบคทีเรียมีอัตราเกิดมากเกินความจำเป็น) ซึ่งสภาวะแบคทีเรียบูมนั้นถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องใช้เวลาไม่น้อยในการจัดการให้ใสเหมือนดังเดิม วิธีง่ายๆในการแก้ปัญหานี้คือเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำและถ่ายน้ำออกแล้วเติมน้ำใหม่อาจต้องทำหลายรอบจนกว่าจะกลับมาใสใกล้เคียงอย่างเดิม ส่วนการเกิดเมือกตามวัสดุตามผิวดินของแบคทีเรียอาจเป็นเรื่องปกติของการใช้แบคทีเรียบางชนิด ซึ่งตามปกติถ้าขึ้นไม่มากไม่มีอาการน้ำขุ่นขาวร่วมมักจะหายไปเองในเวลาประมาณ1สัปดาห์ซึ่งถ้าในตู้มีกุ้งปริมาณมากกุ้งนั้นอาจจะช่วยกันกินจนหมด ถ้าหากมีมากเกินก็สามารถกำจัดได้ด้วยการดูดออกด้วยสายอ๊อกซิเจน แบคทีเรียที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะอาศัยเกาะอยู่ชั้นดินในวัสดุรองพื้นในใยกรองต่างๆและมีเดียในกรอง กระบวนการเกิดตายของแบคทีเรีย
แบคทีเรียกับเรื่องที่ควรทราบคงจะไม่กล่าวถึงข้อนี้คงไม่ได้เพราะเป็นหนึ่งเหตุผลของตู้กุ้งเรดบีที่มีปัจจัยต่างๆที่ค่อนข้างต่างจากระบบตู้ปลาทั่วไป ทั้งในเรื่องอุณหภูมิค่าความเป็นกรดในน้ำ ค่าความกระด้างในน้ำซึ่งทุกอย่างนั้นไม่ค่อยเป็นผลดีต่อการเกิดและขยายพันธุ์ของแบคทีเรียในระบบปิดเท่าใดนัก ข้อมูลทั่วไปของแบคทีเรียในชื่อของแบคทีเรียทั่วไปมักมองแบคทีเรียในภาพลบทำให้เกิดโรคนำมาซึ่งสิ่งร้ายต่างๆ แต่ถ้ามองเค้าอีกแง่ก็จะพบมุมมองอีกด้านของแบคทีเรียบางชนิดที่มีผลดีต่อระบบนิเวศของสัตว์น้ำผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ตัวอย่างเช่น แบคทีเรียในชั้นดิน มีผลดีต่อพืชและสัตว์ในน้ำเพราะมีส่วนช่วยสร้างความสมดุลความอุดมสมบูรณ์ของดินในระบบโดยสายพันธุ์ต่างๆของเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสลายตัวของสารอินทรีย์การสลายสิ่งหมักหมมและการย่อยสารอินทรีย์ที่ตาย, โปรตีน, คาร์โบไฮเดรตไขมันและไขมันซึ่งการกระทำดังกล่าวของแบคทีเรียจัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในความหลากหลายที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของแบคทีเรียซึ่งจัดเป็นอีกหนึ่งส่านที่สำคัญของห่วงโซ่ของธรรมชาติ อัตราการเกิดเมื่อแบคทีเรียได้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเเละเอื้ออำนวยสำหรับการเจริญเติบโตก็จะเกิดอัตราการคูณของเชื้อแบคทีเรียแบบทวีคูณซึ่งแบคทีเรียบางชนิดอาจแบ่งเซลล์ออกทุกๆ 20 ถึง 30 นาที โดยเราสามารถตั้งสมมติฐานว่าถ้าปัจจัยต่างเอื้ออำนวยต่อการเกิดก็จะทำให้แบคทีเรียนั้นอาจพร้อมที่จะเกิดสมดุลในระบบได้ในเวลาที่ไม่นานมากนัก ( 1/2/8/16/32/64/128/256/512/1024/2048/4096/8192/16384/Infiniti ) ดังนั้นการใส่แบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็นจึงเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์มากกว่าผลดีที่จะได้รับเพราะในธรรมชาติของแบคทีเรียจะมีการแข่งขันเพื่อที่จะเป็นผู้นำในอาณาจักรในการขยายเผ่าพันธุ์อยู่ตลอดเวลา การที่ใส่แบคทีเรียที่มากเกินในการเริ่มต้นระบบแบคทีเรีย นั้นก็จะค่อยๆทยอยตายเนื่องจากการขาดปัจจัยด้านอาหารและส่วนแบคทีเรียในกลุ่มที่อ่อนแอก็จะทยอยล้มหายออกจากระบบเองตามสมดุลทางธรรมชาติจึงเป็นที่ีมาของการใช้ตามปริมาณที่แนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เงื่อนไขที่มีผลต่อการเติบโตของแบคทีเรีย
รูปแบบของแบคทีเรียแบคทีเรียที่นิยมนำมาใช้จะมีอยู่สองชนิดคือแบบมีชีวิตพร้อมใช้และแบบผงสปอร์ของแบคทีเรียสามารถฟักตัวได้ในสภาวะที่เหมาะสม แบบมีชีวิตพร้อมใช้มักมาในรูปแบบน้ำหรือแบบผงที่ปิดผนึกสุญญากาศ ข้อดีของแบคทีเรียแบบนี้คือมีความสะดวกง่ายรวดเร็วต่อการใช้งานสามารถแบ่งตัวได้ทันที่แต่คุณภาพจะด้อยลงตามการเก็บรักษาของผู้ขายและผู้ใช้ซึ่งการนำมาใช้ถ้ากระบวนการเก็บรักษาไม่ดีแบคทีเรีย นั้นอาจตายจนหมดสิ้น ก่อนนำมาใช้งานจริงซึ่งเราจะสังเกตได้จากการเปลี่ยนของสีกลิ่นการตกตะกอนแบคทีเรียที่เปลี่ยนไปจากเดิม แบคทีเรียแบบปิดผนึกสุญญากาศถ้าเสื่อมแล้วจะมีลักษณะมีราขึ้นกลิ่นคล้ายเบียร์จะหายไป รูปแบบน้ำถ้าเสื่อมสภาพส่วนมากจะมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป (แบคทีเรียบางชนิดก็มีเหม็นบางชนิดก็มีกลิ่นหอมต้องอาศัยประสบการณ์ผู้เคยใช้ประกอบ) ว่ามีการตกตะกอนแบบที่ผิดเพี้ยนจากมาตรฐานเดิมมีสีที่เปลี่ยนไป ทั่วไปวิธีในการเก็บรักษาที่ดีที่สุดคือการเก็บในที่เย็นปลอดแสง ตัวอย่างแบคทีเรียน้ำที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งตู้เรดบี Bio Culture 2000 , micro life bactor power house , BioDigest , Growth UP Enzyme Benibachi เป็นต้น ตัวอย่างแบคทีเรียแบบผงพร้อมอาหารแบคทีเรียที่ปิดผนึกสุญญากาศที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งตู้เรดบี Super bacteria Bee MAX Benibachi เป็นต้น แบบผงสปอร์มักมาในรูปแบบผงข้อดีคือการเก็บรักษานั้นไม่ยุ่งยากสะดวกต่อการนำไปใช้งานความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียจะมากกว่าข้อเสียไม่เหมาะสำหรับการแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วนเพราะต้องอาศัยปัจจัยร่วมในการฟักตัวแต่ในผงผงแบคทีเรียนั้นอาจจะไม่ใช่สปอร์ทั้งหมดแต่อาจผสมแป้งหรือสารอื่นใดเพื่อในการจับสปอร์แบคทีเรียให้สะดวกในการแปรรูป ตัวอย่างแบคทีเรียแบบผงสปอร์ที่นิยมนำมาใช้ในการตั้งตู้เรดบี BIOZYM Special type for Plant & Shrimp , ADA - Bacter 100 (แบคทีเรียรูปแบบผง) ADA - Bacter Ball (แบคทีเรียอัดขึ้นรูปกลมบอล) Bacter 100 และ Bacter Ball เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันต่างที่ผงกับก้อนแบบแรกเหมาะในการโรยทั่วไปแบบที่สองเหมาะในการใส่ในกรองนอก ระบบนิเวศในตู้กุ้งเรดบี หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ในตู้กุ้งเรดบี ที่มีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อาทิเช่น แสงไฟเกิดจากมนุษย์เปิดและปิด และไนโตรเจนเกิดขึ้นในหนึ่งของกระบวนการกำจัดของเสีย นั้นเอื้อต่อกระบวนการสังเคราะห์อาหารของพืชในกระบวนการดังกล่าวต้นไม้น้ำก็ ปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ออกมา เพื่อที่กุ้งและสัตว์น้ำอื่นนำไปใช้ดำรงชีวิต พอกุ้งกินอาหารและตะไคร่กุ้งเรดบีก็จะขับถ่ายของเสียเพื่อเป็นอาหารให้แก่ หอยแมลงน้ำขนาดเล็กและ แบคทีเรีย และของเสียอีกส่วนนึงก็กลายไปเป็นอาหารให้แก่ต้นไม้ ซึ่งเป็นวัฐจักรที่วนเวียนไปมาแต่การบริหารสมดุล ของระบบนิเวศในตู้กุ้งเรดบีให้สมบูรณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและระบบนิเวศก็ไม่ได้สร้างในวันเดียวต้องใช้เวลาในการสร้าง แต่สิ่งต่างๆที่มาเกี่ยวข้องในตู้ขนาดเล็กนี้อาจกล่าวได้ว่าการใส่อะไรลงไปในตู้ที่มากไปหรือน้อยไปคงไม่ดีเป็นแน่แท้ ฉะนั้น การดูแลระบบนิเวศที่ดีต้องใช้เวลาในการสร้างและหน้าที่การดูแลให้สมบูรณ์คงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ในการจัดสรรดูแล ปัจจัยต่างๆให้เกิดสมดุลที่เหมาะสม ตู้ที่ระบบนิเวศสมบูรณ์มนุษย์มีส่วนในการช่วยสร้างและทำลาย ตู้เปล่าหนึ่งใบ ผู้เลี้ยงสร้างมันขึ้นมาด้วยดินน้ำลม(อ๊อกซิเจน)ไฟ(แสง)สัตว์น้ำคือกุ้งเรดบีและอื่นๆที่เกาะตามติดมาอาศัยทั้งที่จากน้ำในถุงกุ้งและจากต้นไม้น้ำที่มาจากที่อื่นสปอร์ของแบคทีเรียต่างๆที่มาจากอากาศน้ำ รวมๆกันก็จะเป็นอีกหนึ่งของระบบนิเวศ ตู้กุ้งน้อยใบนี้ทุกอย่างผู้เลี้ยงนั้นเป็นผู้เลือกสรรที่จะเลือกใช้ แต่ควรเลือกใช้ด้วยความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ไม่ว่าจะขนาดสัดส่วนตู้กุ้ง หรือดินก็ควรเลือกที่เหมาะสม การเลือกกรองก็ต้องให้สมดุลกับขนาดความต้องการ การเลือกวัสดุรองพื้นควรเลือกประเภทใดขนาดใดคุณสมบัติใดให้เหมาะ การเลือกใช้น้ำที่เหมาะสมการเลือกการนำมาใช้งาน แร่ธาตุที่ตรงกับความต้องการของกุ้งในปริมาณที่พอเพียงไม่มากและไม่น้อยไป การเลือกใช้ไฟที่เหมาะสมไม่สว่างมากหรือน้อยไป การเลือกใช้ชนิดประเภทของแบคทีเรียที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การเลือกชนิดอาหารและการจัดสรรอาหารที่ให้ในปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอ ทุกอย่างนั้นล้วนสัมพันธ์และเกื้อหนุนซึึ่งกันและกันขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงในการจัดสรรและดูแลระบบนิเวศของตู้ใบนี้ องค์ประกอบในระบบนิเวศ องค์ประกอบในระบบนิเวศ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1. องค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Component) - อนินทรียสาร ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน น้ำ - อินทรียสาร ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ฯลฯ - สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ แสง ความเป็นกรด เป็นด่าง 2. ส่วนประกอบที่มีชีวิต (Biotic Component) ได้แก่ - ผู้ผลิต (producer) ผู้ผลิต คือ สิ่งมีชีวิต ที่สามารถนำพลังงานจากแสงหลอดไฟ มาสังเคราะห์อาหารขึ้นได้เองโดยการเปลี่ยนอนินทรียสารให้เป็นอินทรียสาร ด้วยแร่ธาตุและสสารทั้งหลาย ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ พืชไม้น้ำ แพลงค์ตอนพืช และแบคทีเรียบางชนิดในระบบ แต่ในระบบนี้เราคงต้องหมายถึงอาหารที่มนุษย์นั้นให้แก่กุ้งร่วมด้วย - ผู้บริโภค (consumer) ในที่นี้ของเราคือ กุ้งเรดบี และสัตว์น้ำอื่นที่อยู่ร่วมกัน - ผู้ย่อยสลาย (decompser) หมายถึงแบคทีเรียในระบบ ที่อาศัยซากของ สิ่งมีชีวิต เศษอาหาร โดยการย่อยสลาย ซากสิ่งมีชีวิต ให้เป็นสารอินทรีย์ได้ เพื่อให้ผู้ผลิต(ต้นไม้น้ำ)สามารถนำไปใช้ในการสังเคราะห์สารอาหารได้ เป็นส่วนสำคัญทำให้สารอาหารหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ต้นไม้น้ำ ต้นไม้น้ำเป็นอีกหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ในการเลี้ยงกุ้งเรดบีมีประโยชน์ในการสร้างสมดุลที่สำคัญต่อระบบนิเวศในตู้กุ้งให้มีความเหมาะสมในการเลี้ยงกุ้งเรดบี หน้าที่ต้นไม้ต่อระบบนิเวศ อาทิเช่น ในกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ให้อ๊อกซิเจนแก่กุ้งเรดบีเป็นที่พักอาศัยหลบภัยให้แก่ลูกกุ้งและกุ้งใหญ่กุ้งป่วยได้มีที่หลบพักอาศัย และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของลูกกุ้งเรดบีที่อาศัยตะไคร่เล็กๆน้อยๆที่เกาะตามต้นไม้น้ำรับประทาน และต้นไม้น้ำยังทำหน้าที่ในการแปรสภาพของเสียและก๊าซไนโตรเจน (ไนเตรทก็คือไนโตรเจน)ต่างในระบบไปกำจัดในรูปแบบอาหารของพืชน้ำ ส่วนการเลือกต้นไม้ควรเลือกต้นไม้น้ำที่เลี้ยงง่ายต้องการแสงน้อย ดูแลง่ายและไม่ต้องการปัจจัยอะไร ที่มากมายนักในกระบวนการเจริญเติบโตอาทิเช่นแสงจัดคาร์บอนมากต้องการปุ๋ยเยอะ และควรเป็นพืชที่ไม่โตเร็วจนเกินไป อาทิเช่นต้นไม้ตระกูล จำพวกมอส เฟริน อนูเบียส คลิป ไมยราป แต่มีพืชลอยน้ำอีกชนิดหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ จอกญี่ปุ่น มีคุณสมบัติพิเศษคือโตไวรากยาว เจ้ารากนี่ละคือตัวดูดปุ๋ยส่วนเกินและ NO3 (ไนเตรท) ออกจากระบบ และเป็นวิธีที่ดีง่ายสะดวกปลอดภัย แต่การมีจอกลอยไว้ก็ควรมีในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนบังแสง หรือกั้นคอกให้จอกก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ การเลือกซื้อต้นไม้น้ำตามร้านค้า ควรเลือกซื้อต้นไม้น้ำจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือได้ว่าปราศจากยาฆ่าหอย หรืออาจเลือกซื้อได้ตามห้องซื้อขายต้นไม้น้ำโดยสอบถามผู้ขาย ให้แน่ใจว่าปราศจากยาฆ่าหอย หรือท่านอาจซื้อต้นไม้น้ำได้จากร้านที่จำหน่ายกุ้งเรดบี เมื่อซื้อต้นไม้มาแล้วควรแช่พักล้างน้ำเปล่าหลายๆน้ำ จนแน่ใจแล้วว่าสิ่งแปลกปลอมอันไม่พึงประสงค์นั้นไม่มีปะปนแล้วเช่นแมลงน้ำ,หอย,พานาเลีย, ถ้าท่านมีกุ้งจำนวนมากการใช้กุ้งบางตัวเพื่อทดสอบยาฆ่าหอยที่ปะปนในต้นไม้น้ำที่ซื้อมา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่แนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียของกุ้งจำนวนมากได้จากยาฆ่าหอย วัสดุผูกต้นไม้น้ำ คงหลีกหนีไม่พ้น ขอนไม้,ตะแกรง,หิน แต่การเลือกใช้ก็เช่นกันที่ควรจะต้องมีความระมัดระวัง ด้วยเช่นกัน ขอนไม้ควรเป็นขอนที่ผ่านการแช่มาเป็นแรมเดือน จนปราศจากราและยางไม้ตกค้าง ขอนที่ดีควนเป็นขอนที่จมน้ำมีลักษณะโปร่งไม่หนาทึบมีซอกหลืบในมุมอับ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงการนำขอนไปต้มในน้ำเดือดก็เป็นอีก หนึ่งทางเลือกที่ดีที่ควรกระทำ ตะแกรงแนะนำตะแกรงสแตนเลสที่มาตรฐานสูงหน่อยปลอดสนิมมาใช้ในการพันมอสหรือผูกต้นไม้ ไม่แนะนำตะแกรงอลูมิเนียมเพราะในตู้กุ้งเรดบีมีค่าความเป็นกรดมากตะแกรงสแตนเลสมักผุกร่อนได้ง่าย หินที่นิยมนำมาใช้คงหนีไม่พ้น หินพัมมิส เพราะมีรูพรุนมากเป็นที่อาศัยของแบคทีเรียได้ด้วยและรูพรุนยังทำให้มอสและเฟิร์นเกาะได้ง่ายกว่าหินชนิดอื่นๆ
แร่ธาตุในน้ำเป็นอีกหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกเพราะต้องการแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำไปใช้ในการสะสมเพื่อลอกคราบเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตของกุ้งในวัยต่างๆ การใส่แร่ธาตุที่ดีควรใส่ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ตามรอบหรือตามคำแนะนำของผู้ผลิตผู้แทนจำหน่ายนั้นๆ แนะนำหรือแร่ธาตุบางตัวเราสามารถตรวจสอบถึงค่าที่ละลายในน้ำได้ด้วยตนเอง ส่วนแร่หลักๆที่ผู้เลี้ยงกุ้งเรดบีทั้งในและต่างประเทศนิยมนำมาวางในตู้กุ้งเรดบีคือ Montmorillonite ซึ่งหินชนิดนี้ในวงการผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟจะรู้จักเป็นอย่างดีซึ่งใช้ในการปรับสภาพน้ำให้ใกล้เคียงน้ำในแหล่งธรรมชาติ ช่วยปลดปล่อยแร่ธาตุและดูดซับสารพิษและโลหะหนักต่างๆที่ปนเปื้อนในน้ำ รูปแบบแร่ชนิดนี้จะมีทั้งแบบผง โคลนและแบบก้อนซึ่งมีหลากสีแต่ที่นิยมนำมาใช้จะมีผลึกแร่สีขาวและเทา เป็นแร่ธาตุทางธรรมชาติที่เกิดจากขี้เถ้าภูเขาไฟ (Volcano ash) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในแหล่งภูเขาไฟทั่วโลกทั่วโลก องค์ประกอบหลักของก้อนแร่มักเป็นแคลเซียม,โซเดียม,ซิลิคอน,แมกนีเซียม เป็นต้นซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักพื้นฐานของกระบวนการสร้างเปลือกของกุ้งเรดบี กุ้งเรดบีมีวิธีนำแร่ธาตุเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย 2 ทางช่องหลักๆดังนี้
อาการของกุ้งที่บ่งบอกว่าแร่ธาตุที่มีนั้นมากเกินไป อาการที่พบบ่อยมักจะเกิดกับกุ้งแรกเกิดมักลอกคราบไม่ผ่านเนื่องด้วยเปลือกที่สะสมมีลักษณะที่แข็งเกินกว่าที่จะสามารถสลัดออกไปได้ แร่ธาตุที่นิยมนำมาใช้กับการเลี้ยงกุ้งเรดบีจำแนกได้สองประเภท แบบของแข็งและแบบของเหลวสถานะที่ต่างย่อมบ่งบอกถึงวิธีใช้งานที่แตกต่างกันไปแต่คุณสมบัติพื้นฐานยังคงเสมือนกันแต่ในการนำไปใช้งานสถานะแบบของแข็งมักมาในรูปแบบผนึกแร่ที่เป็นก้อนหินและแบบผงที่วางในตู้กุ้งเพื่อหวังผลให้แร่นั้นค่อยๆละลายในน้ำอย่างช้าๆสม่ำเสมอ ส่วนแบบเหลวมักมาในลักษณะของน้ำแร่ธาตุที่รวมคุณสมบัติมาตรฐานต่างๆของแร่ธาตุที่กุ้งเรดบีนั้นต้องการมาอย่างสมบูรณ์และพร้อมใช้ละลายในน้ำได้ทันทีที่ต้องการ ตัวอย่างแร่ธาตุที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงกุ้งเรดบี
อาหารสำหรับกุ้งเรดบี เนื่องจากกุ้งเรดบีนั้นเป็นสัตว์ที่สามารถกินได้ทั้งซากพืชและซากสัตว์ กุ้งเรดบีจึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องอาหารการกินเท่าใดนักเป็นสัตว์น้ำที่กินง่ายอยู่ง่าย แต่บางคราวอาจค่อนข้างที่จะเอาแต่ใจในการเลือกกิน และมีพฤติกรรมการชอบรุมกินอาหาร ซึ่งหลายครั้งผู้เลี้ยงอาจเอะใจว่าทำไมกุ้งถึงเมินอาหารที่เราให้ทั้งๆที่คนอื่นหรือเจ้าของเก่านั้นก็ใช้อาหารชนิดเดียวกัน อาการนี้มักประสบกับตู้กุ้งที่พึ่งตั้งตู้กุ้งได้ไม่นาน เพราะในตู้ใหม่ยังคงมีสารอาหารตามหน้าผิวดินที่น่าสนใจกว่าอาหารสำเร็จรูปหรืออาจจะยังคสนใจในการหาอาหารกินตามขอนไม้และต้นไม้ใหม่ๆที่พึ่งลงตู้หรือกำลังสนใจเศษตะไคร่ที่ติดปะปนมากับต้นไม้น้ำที่พึ่งลงมาใหม่ หรือตู้ใบนี้อุดมด้วยตะไคร่เขียวที่เกาะตามผิวกระจกซึ่งเป็นอาหารอันโอชะสำหรับ กุ้งวัยแรกเกิด อาหารสำเร็จรูป สำหรับกุ้งเรดบีปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบทั้งสูตรผักและสูตรเนื้อ อาหารกุ้งสูตรผักมักให้ผลที่ดีในด้านสีสัน ส่วนอาหารกุ้งสูตรเนื้อมักให้ผลที่ดีในด้านพัฒนาการๆเจริญเติบโต รูปแบบอาหารแบ่งชนิดได้ดังนี้ ชนิดแผ่น,ชนิดอัดก้อน,ชนิดผงป่น,หรือชนิดเม็ดขนาดพอดีตัว ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ชนิดแผ่น มีข้อดีคือคงรูปได้นานกุ้งค่อยๆแทะเล็มจัดการกับอาหารที่เหลือได้ง่ายไม่ฟุ้งกระจายแต่ไม่ใช้รูปแบบการกินอาหารเสมือนธรรมชาติที่กุ้งต้องการนัก อาหารชนิดก้อนอัดเม็ดข้อดีตรงที่เมื่ออาหารจมน้ำจะค่อยๆแตกตัวเนื้ออาหารจะนิ่มกุ้งใหญ่และเล็กกินได้ง่าย แต่ถ้าให้มากเกินพอดีอาจเกิดการสะสมหมักหมมของเสียที่เกิดจากอาหารส่วนเกินได้ อาหารชนิดเม็ดพอดีคำ อาหารชนิดนี้มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆพอดีคำที่กุ้งจะหิ้วไปกินแบบตัวต่อตัว ข้อดี คือกุ้งกินได้เต็มที่ไม่ต้องแย่งกัน ข้อเสีย คงเป็นเรื่องการที่ ผู้เลี้ยงให้มากเกินพอดีจนอาจเกิดการสะสมหมักหมมของเสียที่เกิดจากอาหารส่วนเกินได้ เพราะอาหารชนิดนี้ค่อนข้างที่จะเปื่อยยุ่ยไว อาหารชนิดป่น อาหารชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อลูกกุ้งขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกกุ้งได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการนำไปใช้ในขั้นตอนการเจริญเติบโต ผักโขมอบแห้งสำหรับกุ้งเรดบี ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของอาหารสำเร็จรูปทางเลือกในปัจจุบันที่ผ่านการคัดสรรจากผักปลอดสารพิษมาเข้ากระบวนการผลิต อันทันสมัยในการอบแห้งถนอมอาหารโดยคุณค่าทางสารอาหารยังคงอยู่เหมือนเดิมเหมือนผักสด วิธีนำไปให้กุ้งก็แสนง่ายดายแค่ แช่ในน้ำอิ่มตัวหรือเอานิ้วมือบีบให้ผักอิ่มน้ำแค่นี้ผักก็จะจมไปให้กุ้งได้กินผักอย่างแสนง่ายดาย แต่ก็ต้องระมัดระวังผักที่เหลือจากการทานอาหารของกุ้งที่ต้องจัดการออกจากตู้เมื่อเหลือทิ้งไว้นานเกิน6ชั่วโมง อาหารสด ในที่นี้จะเอ่ยถึงอาหารประเภทพืชและสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการเลี้ยง อาทิเช่นผักป๋วยเล้ง,ผักโขม,ใบหม่อน,กวางตุ้ง ผักเหล่านี้เป็นผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ กรดโฟเลต แคโรทีน วิตามินซี โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี โปรตีน และไฟเบอร์ ล้วนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของกุ้งเรดบี ซึ่งผักเหล่านี้เป็นผักที่ผู้เลี้ยงสามารถปลูกเองได้ไม่ยาก ข้อดีของผักสด ก็ตรงที่คุณสมบัติสารอาหารที่มากกว่าใหม่กว่าอาหารสำเร็จรูปทั่วไป และกุ้งเจริญอาหารมากขึ้นกว่าปกติ และโอกาสที่จะหมักหมมสะสมจะน้อยกว่าอาหารสำเร็จรูปมากเนื่องจากการที่ไม่มีการแตกตัวของอาหาร การเลือกซื้อผักที่ผู้เลี้ยงไม่ได้ปลูกเอง แนะนำซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ว่าปลอดสารพิษ อาทิเช่นของ lemon farm ตามปั๊มน้ำมันบางจาก การนำผักมาใช้งานก็ไม่ยากเย็นอะไรนัก แค่นำผักที่ได้มานั้นล้างด้วยน้ำเปล่าหลายๆน้ำ ต้มผักประมาณ5-10นาที (แล้วแต่ชนิดของผักและความเเรงของไฟ) แนะนำต้มน้ำให้เดือดก่อนใส่ผักลงไปต้ม ต้มจนนิ่มแล้วนำผักแช่ในน้ำเย็นให้คลายความร้อน แล้วตัดแต่งตามปริมาณที่เหมาะสมแล้วนำไปใส่ในตู้กุ้ง ซึ่งท่านอาจปักให้จมได้ด้วยหมุดสแตนเลสที่มี จำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์การเลี้ยงกุ้งเรดบีทั่วไป การปักแนะนำอย่าปักลงไปในชั้นดินที่ลึกมากนัก แค่วางไม่ให้ใบไม่ลอยก็เป็นอันเพียงพอแล้ว คำถามที่มักเจอะบ่อยคือการเก็บรักษาผักที่เหลือจากการต้ม แนะนำให้หั่นซอยขนาดตามที่ต้องการนำไปใช้งานในแต่ละคราว แล้วม้วนพับใบด้วยมือที่ผ่านการล้างมือจนสะอาดแล้ว บรรจุผักลงในภาชนะขนาดเล็กหรือ บล็อกทำน้ำแข็งหรือตลับใส่ยาที่แบ่งช่อง แล้วตามด้วยน้ำเปล่าที่เหลือจากการต้มผักให้ท่วมใบ แล้วแช่แข็งในช่องทำน้ำแข็งเมื่อต้องการใช้ก็ นำมาละลายแล้วใช้ได้ทันที ส่วนอาหารสดชนิดเนื้อที่นิยม อีกชนิดคือหนอนแดง แต่ไม่ใช่หนอนแดงสดๆเพราะหนอนแดงชนิดนั้นอาจปนเปื้อนเชื้อโรคพญาธิที่อาจติดมากับตัวหนอนได้ ส่วนหนอนแดงที่แนะนำคือหนอนแดงแช่แข็งที่มีจำหน่ายตามร้านอาหารปลา ที่มาเป็นบล็อกๆ ซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อมาอย่างดีแล้ว อาทิเช่นของ แบรนด์ โอเชี่ยนฟรี ที่หนอนแดงมีขนาดใหญ่การเก็บรักษาตั้งแต่กระบวนการผลิตค่อนข้างมีมาตรฐาน อาหารชนิดนี้กุ้งค่อนข้างชอบมากเพราะมีกลิ่นค่อนข้างแรงในการดึงดูดกุ้งในการกินอาหารแต่อาหารชนิดนี้นั้นไม่แนะนำให้เป็นประจำทุกวันควรเว้นช่วงการให้หลายวันหรือสัปดาห์ละหนเพราะมีโปรตีนค่อนข้างสูงมาก และอาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำตามมาได้ง่าย ถ้าผู้เลี้ยงให้เหลือให้มากจนเกินพอดีที่กุ้งทานหมด จนเหลือไปสะสมตามซอกหลืบต่างๆในตู้กุ้ง วิธีการนำมาใช้งานก็ไม่ยากเย็นอันใดแค่ตัดออกมาจากแผงแล้วทิ้งให้ละลาย จากนั้นคีบหนอนแดงที่ละตัวลงในตู้(ให้แค่พอเหมาะพอควรพอหมดในแต่ละมื้อด้วยการสังเกตพฤติกรรมการกิน) ข้อแนะนำในการให้อาหารกุ้งเรดบี อาหารชนิดแผ่น ผู้เลี้ยงสามารถหักแบ่งหรือใช้กรรไกรตัดเล็บขนาดใหญ่เพื่อหั่นซอยขนาดให้พอดีต่อจำนวนกุ้งให้ทานหมดมื้อต่อมื้อได้ ไม่ว่าอาหารชนิดใดก็ไม่ควร ทิ้งไว้นานเกิน 6 ชั่วโมงเพราะอาจเกิดผลเสียต่อระบบในตู้ได้เพราะอาหารจะเริ่มเปื่อยยุ่ยแตกตัวกระจายไปสะสมตามซอกหลืบต่างๆจนยากต่อการดูแลเศษอาหาร การที่กุ้งทานเปลือกกุ้งหรือศพกุ้งถือเป็นเรื่องปกติตามสัญชาตญาณของกุ้งเรดบี
tank mate เพื่อนร่วมตู้ เป็นคำถามหลักที่คนเคยเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นมาก่อนที่จะเลี้ยงกุ้งเรดบี มักชอบถามถึงว่ามีสัตว์น้ำชนิดใดบ้างที่สามารถนำมาเลี้ยงร่วมกับกุ้งเรดบี ได้บ้างอาจเพราะความเคยชินหรือความที่กลัวกุ้งเรดบีนั้นจะเหงา ต้องต้องแนะนำตามตรงว่ากุ้งเรดบีไม่มีสัตว์น้ำอื่นอยู่ร่วมด้วยมันก็ดำรงชีพได้ไม่เหงาแน่นอนแต่ถ้าท่านอยากจะมีเพิ่ม อยากให้ตระหนักถึงความเกื้อหนุนซึ่งกันและกันและความเหมาะสม อย่างเช่นสัตว์น้ำนั้นๆต้องไม่ผสมข้ามสายพันธุ์กับกุ้งเรดบีได้(ยกตัวอย่างตามตาราง)และต้องเป็นกุ้งที่ไม่แพร่พันธุ์เร็วและก้าวร้าวแต่ทางที่ดีที่สุดไม่ควรเลี้ยงกุ้งอื่นปนเลยเพราะกุ้งเรดบีมีพฤติกรรมที่ไม่ก้าวร้าวโอกาสที่จะถูกแย่งอาหารจึงสูงมากและการขยายพันธุ์ที่ด้อยกว่ากุ้งชนิดอื่นจนอาจทำให้กุ้งเรดบีเป็นแค่ชนส่วนน้อยของตู้ ต้องเป็นสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับกุ้งเรดบีและกินอาหารพืชประเภทตะไคร่น้ำอาทิเช่นปลาตระกูลอ๊อตโตขนาดเล็ก(อ๊อตโต้ที่นิยมนำมาเลี้ยงกับตู้เรดบีชื่อพาราอ๊อตโตเป็นต้น)สัตว์น้ำประเภทหอยควรเลือกหอยที่ชอบกลับหน้าดินพรวนดินขยายพันธุ์ช้าอาทิเช่นหอยตระกูลเจดีย์ที่ค่อยกลับหน้าดินเมื่ออ็อกซิเจนในน้ำต่ำหรือคุณภาพน้ำไม่ดีมันสามารถแจ้งเหตุได้ด้วยการปีนไปออตามขอบผิวน้ำหรือลอยตัวบนผิวน้ำเป็นต้น
ลักษณะกุ้งที่ดีทางด้านสุขภาพกุ้งเรดบีที่ดีควรเป็นกุ้งที่เดินอย่างสง่า มือคู่น้อยคอยหยิบจับอาหารเข้าปากตลอดเวลา ไม่แอบตามมุมอับต่างๆลักษณะท่วงท่าการว่ายมีความว่องไวและแข็งแรงสีสันสดในลักษณะทั่วไปไม่มีแผลหรือพิการ ควรหลีกเลี่ยงกุ้งที่ใกล้ลอกคราบ(ข้อต่อบริเวณคอปริออกจากส่วนหัว),กุ้งตั้งท้อง,กุ้งที่ไม่มีสีที่อมแดงหมองๆเพราะกุ้งเหล่านี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าปกติ ขนาดกุ้งที่ซื้อไม่ควรใหญ่มากเพราะขนาดที่ใหญ่ย่อมหมายถึงอายุกุ้งที่มากด้วย ขนาดกุ้งที่เหมาะสมควรมีขนาด 1CM-1.5CM ขึ้นไปหรือมีอายุ3เดือนขึ้นไปซึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ง่าย ไม่อายุน้อยจนเกินควรและไม่อายุมากจนเกินไป ลักษณะกุ้งที่ดีทางคุณภาพเราสามารถจำแนกกุ้งตามคุณภาพออกได้3ประเภทกุ้งเกรดลองเลี้ยง(คัดออก) , กุ้งเกรดทั่วไป , กุ้งคุณภาพสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ นิยามของกุ้งเกรดลองเลี้ยง(คัดออก)คือกุ้งที่ผู้เลี้ยงทั่วไปนั้นคัดออกจากขั้นตอนการพัฒนาเนื่องด้วยสาเหตุต่างๆหรือปริมาณตู้ไม่พอสำหรับการเลี้ยง กุ้งในกลุ่มนี้จะมีลักษณะเด่นที่สีสันที่ค่อนข้างจางไม่สดใส เหมาะสำหรับผู้ที่อยากเอาไปทดลองในการเลี้ยง ในการเเรกเริ่มซึ่งกลัวความผิดพลาด เปรียบได้คือการซื้อความเชื่อมั่นเพื่อให้มั่นใจก่อนการที่จะพัมนาเป็นกุ้งที่ราคาสูงกว่านี้ ปกติกุ้งเกรดนี้จะไม่สามารถสืบหาประวัติบรรพบุรุษได้เลย มีราคาหลักสิบหลักร้อย ถ้าซื้อตามบ้านมักจะเลือกกุ้งไม่ได้เนื่องด้วยเงื่อนไขราคาและปริมาณ นิยามของกุ้งเกรดทั่วไปคือกุ้งที่ผู้เลี้ยงทั่วไปหรือร้านค้าทั่วไปนำมาจำหน่ายกุ้งนั้นคงมีเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ถึงความเด่นชัดของสีสันที่มากขึ้นสีสันไม่ถึงขั้นจืดจางจนน่าเกลียด เป็นกุ้งที่ขายในตลาดมากที่สุด ถ้าซื้อจากผู้เลี้ยงรายย่อยอาจพอที่จะสืบทราบประวัติบรรพบุบรุษได้บ้างว่า มีพันธุกรรมประการใดบ้างในรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าหรือตัวไหนพ่อแม่มีที่มาจากที่ใดราคาจะอยู่ที่หลักร้อยจนถึงหลักพันต้นๆขึ้นกับขนาดสีสันและเพศและชื่อเสียงผู้ขายและฟาร์มมาประกอบในการตั้งราคาขาย นิยามของกุ้งคุณภาพสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์เป็นกุ้งที่เกิดจากการคัดสรร ในการพัฒนาสายพันธ์แบบเฉพาะเจาะจงมีความเด่นชัดในคุณลักษณะต่างๆของกุ้งที่ดี ครบทุกประการทั้งสีสันที่เข้มหนาเด่นชัดขาวคือขาวแดงคือแดงและความเข้มของสีนั้นอาจเข้มจรดปลายขาและหนวดเลยทีเดียว มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เป็นอย่างดีจนบางฟาร์มถึงขั้นออกใบการันตีกุ้งและลูกกุ้งที่ได้ต้องมีคุณลักษณะใกล้เคียงพ่อแม่ไม่น้อยกว่า 80-90% กุ้งประเภทนี้มักถูกแยกคู่แยกช่องคัดเกรดเพื่อแยกจำหน่ายและมักจะทราบข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ขายว่ากุ้งนั้นมาจากที่ใดประวัติการพัฒนาเช่นใด ส่วนราคาก็ถูกยกระดับขึ้นมาตามลำดับความสำคัญของการดูแลเลี้ยงดู ส่วนกุ้งที่เกรดสูงมากจริงๆมักไม่มีการเปิดเผยและอาจซื้อไม่ได้ด้วยเงินแต่อาจแลกได้ด้วยมิตรภาพ ซึ่งตามร้านค้าใหญ่ๆที่ขายกุ้งมักมีกุ้งประเภทนี้จำหน่ายอยู่เสมอหรือถ้าไม่มีก็อาจขอข้อมูล เพื่อดูและสั่งได้ ซึ่งบางท่านที่ไม่รู้จักกุ้งเรดบีมาก่อนอาจคิดว่าเค้าตั้งราคาไว้โชว์ แต่กุ้งประเภทนี้นั้นนับเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงทุกท่านนั้นฝันใฝ่ว่าอยากมีกุ้งเกรดนี้ไว้ครอบครอง
การเคลื่อนย้ายกุ้งกลับบ้านควรวางแผนการช็อบปิ้งให้เรียบร้อยก่อนที่จะให้ผู้ขายตักใส่ถุงเพราะตามร้านค้าทั่วไปถ้าท่านชอบกุ้งตัวนี้เป็นการส่วนตัวเมื่อแรกเห็นทางร้านมักมีกล่องแยกแช่ระหว่างรอฉะนั้นถ้าท่านยังทำธุระไม่เสร็จไม่ควรรีบใส่ถุงควรฝากร้านค้าไว้ก่อน เมื่อพร้อมจึงบรรจุถุง เมื่อถือถุงกุ้งออกจากร้าน ควรกลับบ้านให้เร็วที่สุดเพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน หรือถ้ารถยนต์ท่านเปิดแอร์เย็นควรเปิดให้ฉ่ำ ถ้าท่านกลับด้วยรถสาธารณะแนะนำเมื่อซื้อน้ำขวดดื่มเย็นๆหรือน้ำเย็นใส่แก้วกระดาษปิดฝาวางประกบถุงก็จะช่วยประทังความเย็นให้คงอยู่ได้ไม่น้อย แต่ห้ามใช้น้ำแข็งประกบโดยตรงเด็ดขาดอันตราย เพราะกุ้งนั้นอาจถึงขั้นสลบหรือเสียชีวิตได้ การถือถุงกุ้งควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ควรแกว่งกระแทก และไม่ควรวางถุงแนวนอนเพราะน้ำจะกระฉอกแรงกว่าปกติในขณะขับรถ การลงกุ้งในตู้แบบปลอดภัยแนะนำล้างถุงที่บรรจุกุ้งเรดบีแล้วค่อยแกะยางออกแล้วหาที่หนีบเพื่อหนีบลอยถุงไว้กับตู้ เพื่อปรับอุณหภูมิจากนั้นทยอยตักน้ำในตู้ทดแทนไปเรื่อยๆคราวละเล็กน้อยอย่างน้อยควรแทนที่น้ำให้ได้50%การปรับอุณหภูมิที่ดีควรใช้เวลา30นาทีขึ้นไปแต่คงไม่ต้องถึงขั้นในการใช้เวลาหลายชั่วโมงในการปรับค่าน้ำ พอจบขั้นตอนก็ใช้กระชอนตักกุ้งลงตู้อย่างเบามือ ไม่แนะนำให้เทน้ำกุ้งลงตู้เพราะอาจเป็นต้นเหตุของสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ จำพวกหอยหรือแมลงน้ำและพานาเรีย ที่จะมาแพร่พันธุ์ในตู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะกุ้งชุดแรกของผู้เลี้ยงมือใหม่ นั้นเปรียบเสมือนครูคนแรกจึงไม่อยากให้พลาดอยากให้ทุกท่านมือใหม่ทำให้ดีที่สุด จากนั้นในคราวต่อไปในการลงกุ้งสามารถปรับได้ตามขั้นประสบการณ์ ข้อแนะนำเสริมกันพลาดสำหรับมือใหม่ไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันหรือบ่งบอกได้เลยว่า การลงกุ้งคราวนั้นๆนับได้ว่ากี่วันนั้นจึงจะถึงจะรอดแน่ไม่ตายแน่ เพราะต้องอิงถึง ค่าน้ำภายในตู้ผนวกกับความแข็งแรงของกุ้งมาประกอบร่วมด้วย ว่ากุ้งนั้นสามารถปรับตัวกับค่าน้ำในตู้ใบใหม่ได้ดีหรือไม่ จึงควรสังเกตจากพฤติกรรมกุ้งเรดบีถ้ากุ้งใหม่ที่ย้ายมาบ้านใหม่แล้วกุ้งนั้นคงมีพฤติกรรมปกติ เช่นคุ้ยหาอาหารกินตามหน้าดินตลอดเวลา (แม้อาจจะเมินอาหารที่เราให้ก็ตามเพราะตู้ใหม่ๆสถานที่ใหม่ๆกุ้งจะไม่สนใจอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ในช่วงแรกแต่กุ้งนั้นจะเก็บสิ่งต่างๆตามหน้าดินกินทดแทน) และสังเกตว่ากุ้งเรดบีนั้นยังคงเดินว่ายด้วยท่าทีปกติผมถือว่าผ่านไม่น่าจะมีปัญหาใดๆตามมา แต่กลับกันถ้ากุ้งเรดบีนั้นมีอาการเบื่อโลก ชอบหลบมุมเก็บตัวไม่เดินหาอาหารยืนเกาะนิ่งๆอยู่กับที่มีอาการซึมสีกุ้งผิดแปลกจากตอนซื้อถือได้ว่ากุ้งนั้นมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับค่าของน้ำในตู้เรา แนะนำก่อนตัดสินใจซื้อกุ้งควรตรวจวัดค่าของเสียก่อนแต่ถ้าพลาดไปแล้วแนะนำให้ดูอาการกุ้งส่วนที่เหลืออีกสักพักนึงเพราะอาจจะอ่อนแอเฉพาะตัวก็เป็นไปได้ ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะลงกุ้งใหม่ชุดต่อไปและอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงมือใหม่ควรต้องระมัดระวังมือที่อาจจะปนเปื้อนสารเคมี หรือเจลน้ำหอมโลชั่นสบู่,และอุปกรณ์ต่างๆหรือสเปย์ทั้งของสตรีบุรุษทั้งหอมทั้งฆ่าแมลงควรระวัดระวังอย่ากระทำหรือวางใกล้ตู้เป็นอันขาด การเพาะพันธุ์ กุ้งเรดบีนั้นจะเริ่มย่างเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุตั้งแต่3-4เดือนขึ้นไปโดยประมาณ ซึ่งขึ้นกับการการเลี้ยงดูประกอบด้วยหรือสามารถสังเกตได้จากขนาดกุ้งที่มี 1.5CM ขึ้นไป หน้าที่ของการฟูมฟักไข่จะเป็นหน้าที่ของตัวเมียในการอนุบาลไข่ ซึ่งกระบวนการการ สืบพันธ์ของกุ้งเรดบีเพศเมียจะแจงได้แบบคร่าวๆได้ดังนี้ ขั้นแรกกุ้งเรดบีเพศเมียที่เข้าสู่ วัยเจริญพันธุ์จะเริ่มสะสมพลังงานและแร่ธาตุเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่วันที่จะลอกคราบในคราวต่อไปและเพื่อบำรุงไข่ที่ยังไม่ปฎิสนธิ ขั้นที่สองเมื่อกุ้งเรดบีเพศเมียใกล้ลอกคราบจะสังเกตได้คร่าวๆคือบริเวณเปลือกชิ้นที่สองซึ่งเชื่อมกับส่วนหัวจะเริ่มปริแยกออก ถ้าผู้เลี้ยงลองสังเกตดีๆจะพบว่าส่วนหัวของกุ้งเรดบีที่มีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะมีก้อนสีดำอยู่ในหัวและส่วนหัวนั้นจะกลมสมบูรณ์ ซึ่งช่วงที่เราเห็นเปลือกคอกุ้งนั้นปริ สามารถพยากรณ์ได้คร่าวๆว่าอีกไม่เกิน3-4วันกุ้งนั้นจะพร้อมที่จะลอกคราบเพื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาทองในการผสมพันธุ์ ซึ่งในขั้นตอนนี้เองผู้เลี้ยงบางท่านที่อยากจะเจาะจงพ่อพันธุ์ที่จะผสมมักแยกกุ้งใกล้ลอกคราบและพ่อพันธุ์เป้าหมายไปแยกเพาะในกล่อง" บรีดบ็อก" ที่แขวนข้างตู้ใช้อ๊อกซิเจนในการผลักดันน้ำในตู้เข้าสู่กล่อง ข้อดีของกล่องนี้คือ ไว้อนุบาลกุ้งป่วยอ่อนแอ และในการแยกผสมพันธุ์ตามเป้าหมายที่ผู้เลี้ยงต้องการ โอกาสที่จะผสมสำเร็จมีค่อนข้างมากเพราะพื้นที่ๆจำกัด แต่พ่อพันธุ์แนะนำใช้อย่างน้อยสองตัว/ตัวเมียหนึ่งตัว ควรจัดบรรยากาศในกล่องให้ใกล้เคียงกับตู้หลักกล่าวคือใส่ดินและต้นไม้ไปนิดหน่อย ขั้นที่สามเมื่อถึงวันที่กุ้งเพศเมียจะลอกคราบ กุ้งนั้นจะเก็บตัวไม่ค่อยเดินว่ายเพื่อหาอาหาร หรือสุงสิงกับกุ้งตัวอื่นเมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญกุ้งจะเริ่มงอตัวแล้วดีดตัวออกจากเปลือกเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการสลัดเปลือกเดิมออก ขั้นตอนที่สี่เมื่อกุ้งตัวเมียสลัดคราบเดิมเสร็จตัวเมียก็ปล่อยกลิ่นชนิดหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้ตัวผู้เข้ามาผสมพันธุ์ ซึ่งช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นเวลาทองของการผสมพันธุ์ กุ้งทั้งตู้จะว่ายอย่างไร้ทิศทางแต่จุดหมายเดียวกันคือเจ้ากุ้งตัวเมียที่พึ่งลอกคราบตัวนี้นี่เอง แต่การที่กุ้งจำนวนมากที่หมายปองกุ้งตัวเดียวจึงทำให้กุ้งตัวเมียนั้นต้องว่ายหนีอย่างสุดชีวิต ซึ่งจะมีตัวผู้เพียงหนึ่งเดียวที่จะสามารถว่ายประกบเพื่อฉีดน้ำเชื้อที่ข้นเหนียวเข้าไปผสมกับไข่ที่อยู่ภายใต้หัวกุ้งตัวเมีย ปรากฏการกุ้งว่ายวนเช่นนี้จะเกิดแค่ช่วงสั้นๆไม่กี่นาทีไม่ว่ากุ้งนั้นจะผสมพันธุ์สำเร็จหรือไม่ก็ตาม เมื่อกุ้งสงบก็จะถือว่าสิ้นช่วงการผสมพันธุ์ของตัวเมียตัวนั้นไปแล้วของรอบในการลอกคราบคราวนี้ ขั้นตอนที่ห้าถ้ากุ้งตัวเมียนั้นได้รับการฉีดน้ำเชื้อและการผสมคราวนั้นประสบความสำเร็จ กุ้งตัวเมียก็เข้าสู่สภาวะเก็บตัวเพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลักไข่ที่เก็บอยู่หัวและบีบไล่ลงมาที่ บริเวณใต้คอจนกระทั่งไข่นั้นไปอยู่ที่บริเวณใต้ท้องหรือใต้ครีบว่ายน้ำ เพื่อทำการอนุบาลไข่ด้วยการตีน้ำด้วยครีบเพื่อพัดพาอ๊อกซิเจนในน้ำไปอนุบาลไข่ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 25 วันนับจากที่ไข่ลงสู่ท้อง อาจบวกลบ1-3วันจากอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในการเลี้ยง เมื่อลูกกุ้งนั้นฟักเป็นตัวก็จะสลัดตัวออกจากตัวแม่มันโดยอัตโนมัติเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยตัวมันเอง ส่วนไข่ที่ฝ่อมีวิธีสังเกตง่ายๆคือมีสีส้มไม่มีจุดดำจะถูกกำจัดออกพร้อมกับการลอกคราบในคราวต่อไปของแม่กุ้งซึ่งจะติดไปกับคราบ ขั้นตอนที่หกขั้นตอนนี้จะกล่าวถึงกุ้งน้อยแรกเกิด กุ้งน้อยแรกเกิดจะมีขนาด 1 MM X 1.5 MM มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกุ้งเต็มวัยทุกประการ ทั้งสรีระร่างกายการดำรงชีวิตและสีสัน ระยะแรกลูกกุ้งมักจะเก็บตัวซ่อนตามซอกมุมต้นไม้ การดูแลสำหรับกุ้งแรกเกิดแทบไม่ต้องทำอะไรเพื่อลูกกุ้งเลย กุ้งน้อยนั้นสามารถหากินได้เองด้วยการหาเศษอาหารที่ตกค้างตามผิวดินตามใบไม้ก้อนหินและตะไคร่กินหรือถ้าผู้เลี้ยงต้องการ จะให้อาหารเฉพาะที่บดละเอียดควรให้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยและเหมาะสมเพราะอาจจะก่อให้เกิดการหมักหมมตกค้างได้ง่าย เมื่อกุ้งมีขนาด 2-3 MM ขึ้นไปก็จะเริ่มออกมาหากินเหมือนกุ้งใหญ่ทั่วไป ช่วงที่ลูกกุ้งจะถือว่ารอดปลอดภัยแล้วคือลูกกุ้งที่มีขนาด 5 MM ขึ้นไปช่วงที่ขนาดเล็กกว่านี้จะอ่อนแอต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เปอร์เซนต์อัตราการรอดยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายส่วนทั้งปัจจัยแวดล้อมตัวกุ้งเองรวมถึงระยะเวลาในการฟักตู้ที่แม่กุ้งฟักมีอุณหภูมิที่เย็นจะทำให้การฟักเป็นตัวนั้นนานขึ้นจึงทำให้ลูกกุ้งที่เกิดมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าตู้ที่เลี้ยงที่มีอุณหภูมิที่สูงและยังต้องผนวกรวมถึงพฤติกรรมผู้เลี้ยงและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงอีกสิ่งนึงที่ไม่ควรมองข้ามคือความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในตู้นั้นๆ (ตู้ที่ตั้งใหม่อายุน้อยกว่าสามเดือนลูกกุ้งอัตรารอดจะไม่ค่อยสูงเท่าใดนัก) สิ่งน่ารู้ของเรื่องแม่และลูกกุ้ง
คำถามที่พบบ่อยเรื่องลูกกุ้งนั้นโตช้าเพราะเหตุใดบ้าง สิ่งสำคัญอันดับแรกถ้าเราตัดเรื่องอาหารออกจะเป็นเรื่องของสายพันธุ์กุ้งว่ามีลักษณะสายเลือดชิดจนเกินไปหรือไม่(in breed ซ้ำๆไม่มีการสับสายอื่น)ถ้าถ้าเลือดชิดมากจะมีผลเรื่องขนาดกุ้งที่จะแคระแกรนลง และควรมองในเรื่องอุณหภูมิในการเลี้ยงด้วยว่าต่ำเกินไปหรือไม่เพราะถ้ายิ่งเย็น พัฒนาการในการเติบโตก็จะยิ่งช้าลงถ้าเรามองในมุมมองด้านสารอาหาร จะพบว่าถ้าลูกกุ้งได้รับประทานอาหารที่ครบและหลากหลายเพียงพอก็จะส่งผลในด้านพัฒนาการการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น และเอนไซม์บางชนิดทั้งน้ำและผงยังมีส่วนในการช่วยเร่งระบบเผาผลาญอาหารภายในร่างกายลูกกุ้งให้มีความอยากอาหารและกระตุ้นให้มีพัฒนาการด้านการเติบโตที่ดีมากขึ้นอีกด้วย เมื่อแม่กุ้งตายท้องกลมและวิธีในการช่วยชีวิตลูกกุ้ง (http://images.temppic.com/07-09-2012/images_vertis/1347024249_0.99020900.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?07-09-2012:1347024249_0.99020900.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347039869_0.67489100.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347039869_0.67489100.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347039870_0.31440800.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347039870_0.31440800.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347039870_0.94075800.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347039870_0.94075800.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347039871_0.57303900.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347039871_0.57303900.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347039872_0.17371400.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347039872_0.17371400.jpg)
(http://images.temppic.com/19-09-2012/images_vertis/1348046091_0.03005700.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?19-09-2012:1348046091_0.03005700.jpg) (http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347040008_0.49898400.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347040008_0.49898400.jpg)
(http://images.temppic.com/08-09-2012/images_vertis/1347040009_0.37589600.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?08-09-2012:1347040009_0.37589600.jpg)
อัตรารอดมากน้อยขึ้นกับกระแสน้ำที่นำพาอ๊อกซิเจนไหลผ่านไข่ได้เหมาะสมไม่แรงและเบาจนเกินไป รวมถึงเวลาที่เขี่ยไข่ออกจากท้องแม่กุ้งหลังจากเสียชีวิตที่ไม่นานมากนัก รวมถึงความเอาใจใส่ในการจัดการไข่เสียอย่าสม่ำเสมอ *ดัดแปลงใช้ภาชนะแบบอื่นก็ได้นะครับเช่นกระชอบตาละเอียดแบบอื่นหรือตะแกรงกรองชาสแตนเลสก็ให้ผลดีอยู่ **การวางจุดน้ำไหลจะเป็นที่หน้าสเปย์บาร์หรือที่หน้าท่อน้ำออกก็ได้นะครับขอแค่ไม่เบาและไม่แรงจนเกินไปมีน้ำไหลผ่านดี ข้อแตกต่างในการดูเพศของกุ้งเรดบี ข้อแตกต่างในการดูเพศของกุ้งเรดบีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ที่จะเริ่มเลี้ยงกุ้งเรดบีควรทราบเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการคัดเลือกกุ้ง การดูกุ้งสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเรดบีเพื่อแยกเพศ ถ้ามองคร่าวๆอาจคิดว่ายากเหลือเกินเพราะดูเช่นไรก็ละม้ายคล้ายกันไปหมด แต่ถ้าศึกษาและพิจารณาทางด้านกายภาพของกุ้งอย่างตั้งใจแล้ว จะทำให้เรารู้ว่าการแยกเพศนั้นไม่ยากอย่างที่ใจคิดเลยวิธีดูคร่าวๆสามารถศึกษาจากตารางข้างล่างนี้ แต่การดูเพศกุ้งเรดบีสำหรับกุ้งที่อายุน้อยขนาดเล็กกว่า1.2CMหรืออายุต่ำกว่า4เดือนอาจจะค่อนข้างยากนิดนึงเพราะอาจจะต้องใช้เกณฑ์ประสบการณ์พิจารณาร่วมถ้าไม่แน่ใจแนะนำปรึกษาผู้จำหน่ายกุ้งเรดบีมาร่วมประกอบ
การพัฒนาสายพันธุ์ที่จะกล่าวในที่นี้คือการพัฒนาต่อยอดอย่างไรให้กุ้งที่เลี้ยงไว้นั้นมีพัฒนาการในด้านต่างๆให้มีลักษณะดีกว่าเดิม ด้วยการคัดเลือกทำสำเนาพันธุกรรมตามแบบที่มนุษย์ต้องการ
เกรดกุ้งเรดบีและลวดลายกุ้งเรดบี เกรดกุ้งเรดบีและลวดลายกุ้งเรดบี เกรดกุ้งเรดบีนั้นถ้าเลี้ยงในเชิงพัฒนาสายพันธุ์ การศึกษาเกรดกุ้งมีส่วนค่อนข้างจะสำคัญเป็นกุญแจหลักในการพัฒนากุ้งเรดบี ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องความเด่นสง่าสวยงามสมชื่อ ราชาแห่งกุ้งแคระ กุ้งเรดบีที่มีลักษณะดีคือมีสีแดงที่เข้มหนาสีขาวที่่ขาวสว่างทึบหนาขากุ้งมีสีสันที่เข้มเด่นชัด แต่คุณสมบัติข้อนี้จะอิงมาเป็นเกณฑ์เดี่ยวในการคัดเลือกเกรดกุ้งเรดบีที่ดีคงไม่ใช่สิ่งที่ถูกนัก ควรย้อนประวัติถึงเพื่อนร่วมพี่น้องครอกเดียวกันว่ามีลักษณะเด่นเช่นใดพ่อแม่กุ้งและความน่าเชื่อถือของบรีดเดอร์หรือของร้านค้าประกอบซึ่งรายละเอียดดังกล่าวนั้นได้กล่าวไว้ในส่วนอื่นตามข้างต้นไปบ้างแล้วส่วนลวดลายของกุ้งเรดบีนั้นจำเป็นต้องอธิบายผ่านทางภาพด้านล่างประกอบเพื่อความง่ายสะดวกต่อความเข้าใจในการเรียนรู้ ตัวอย่างภาพกุ้งเรดบีที่ชนะการประกวดจากงานInternational Shrimp Contes Image credit Ebi club by aquamartsGrand Champion Red bee คุณ กิตตติพงส์ ติยะรัตณาชัย (mookendo)
Grand Champion Black bee คุณ เมธาวี ภัทรนาวิก ( RB king )
redbee grades guide Image credit http://www.garnelenblog.de/garnelen/bee-grade-guide-grades-bei-bienengarnelen/169/ (http://images.temppic.com/12-08-2012/images_vertis/1344763294_0.89372300.png) (http://www.temppic.com/img.php?12-08-2012:1344763294_0.89372300.png) taiwan-bee-grade-guide Image credit http://www.garnelenblog.de/garnelen/taiwan-bee-grade-guide/596/ (http://images.temppic.com/12-08-2012/images_vertis/1344764462_0.53361100.jpg) (http://www.temppic.com/img.php?12-08-2012:1344764462_0.53361100.jpg) แก่,เจ็บ,ตาย อีกหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กุ้งเรดบีมีวงจรชีวิตที่ค่อนข้างสั้น ฉะนั้นวงรอบของการออกลูกจึงสั้นตามไปด้วย กุ้งเรดบีตัวหนึ่งมีอายุเฉลี่ยทั่วไปในการเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ1ปีแต่ในบางตัวอาจยืนยาวถึง1ปีครึ่งก็เป็นไปได้โดยขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและสายเลือด สามารถนับช่วงวัยกุ้งได้คร่าวๆดังนี้
กุ้งป่วย เราอาจพบอาการกุ้งที่นอนตะแคงได้บ้าง กรณีนี้มักเกิดกับอาการป่วยเฉพาะตัวและไม่ได้เกิดจากโรคระบาด ถ้าเราไม่แยกออก กุ้งตัวอื่นๆ ก็จะเริ่มล้อมกรอบและทำร้ายกุ้งที่ป่วยตามสัญชาตญาณ ซึ่งเราสามารถที่จะพอช่วยเหลือกุ้งตัวนี้ให้ผ่านพ้นช่วงอันตรายนี้ได้ด้วยการแยกกุ้งออกโดยการใส่กระชังลอยแยกไว้ หรือ แยกใส่กล่องบรีดบ๊อกไว้ในจุดที่มีน้ำหรืออ๊อกซิเจนไหลผ่านแต่ไม่กระทบตัวกุ้งป่วยโดยตรง ควรใส่ต้นไม้เล็กน้อย งดให้อาหารจนกว่ากุ้งป่วยจะเริ่มทรงตัวยืนได้เอง และจะนำกลับตู้เมื่อกุ้งมีอาการปกติ ซึ่งถ้ากุ้งมีอาการตอบสนองได้ดีกุ้งนั้นจะทยอยดีขึ้นตามลำดับ โรคระบาด ข้อสงสัยต้องมีสาเหตุร่วมเพราะตู้กุ้งในระบบปิดนี้ โอกาสที่จะเจอะปัญหานี้แทบจะเป็นศูนย์ ต้องตรวจทานว่าก่อนหน้านี้ได้นำกุ้งจากที่อืนหรือมีใส่ต้นไม้น้ำจากแหล่งอื่นหรือไม่ อาการกุ้งจะทยอยตายแบบถี่ๆทิ้งระยะไม่ตายพร้อมกันแบบสารเคมี โดยส่วนมากมักหาสาเหตุไม่ได้ทั้งๆที่ ค่าของเสียไม่ขึ้น วิธีแก้ไขเบื้องต้นเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ,ถ่ายน้ำออกทุกวันๆละ20%เป็นเวลา5วัน ถ้ากุ้งนั้นยังไม่หยุดตายแบบจำนวนมาก แนะนำเซ็ตตั้งตู้ใหม่ น้ำปนเปื้อนสารเคมี วิธีสังเกตเบื้องต้นกุ้งจะว่ายแบบไร้ทิศทางแบบพร้อมเพรียงกัน จากนั้นกุ้งจะทยอยลงไปเดินนอนนิ่งแบบกระวนกระวาย, กระสับกระส่าย, ดิ้นรนจะให้พ้นจากทรมาน วิธีแก้พิษเบื้องต้นถ่ายน้ำออก 50% จากนั้นทยอยเติมน้ำคืนชั่วโมงถึงสองชั่วโมงประมาณ 10-15% แต่ถ้าอาการไม่หนักมากแนะนำเปลี่ยน 20% เป็นเวลา5วัน (น้ำปลอดคลอรีนและปรับอุณภูมิให้ใกล้เคียงหรือเติมทีละน้อยถ้าน้ำถังแนะนำตีอ็อกซิเจนในน้ำก่อนใส่) แต่ถ้ามีแอทติเวทคาร์บอนหรือถ่านไม้ไผ่แบบเกล็ดก็สามารถนำใส่ถุงตาข่ายแล้วลงไปใส่ในกรองหรือในตู้บริเวณที่น้ำไหลผ่านเพื่อช่วยดูดซับพิษสารเคมีเบื้องต้นซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยได้ค่อนข้างมากให้ผลดีเร็วที่สุด ถ้าท่านมีความจำเป็นที่ต้องกระทำบางอย่างที่เกียวกับสารเคมีอาทิ เช่น ฉีดยาฆ่าแมลง,ทาสีบ้าน,ฉีดพ่นสเปย์ ควรหาฟิล์มแร็ปผนึกอาหารมาปิดฝาตู้ หรือหาผ้าขนหนูหนาๆมาคลุมตู้ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสน้ำในตู้ก่อนที่จะล้างมือแขนด้วยน้ำเปล่าจนสะอาด ก่อนกระทำการเสี่ยงใดๆ ควรปิดปั๊มอากาศให้เรียบร้อยจนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยจึงเปิดเครื่องใหม่ ต้นไม้น้ำควรซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้อย่างน้อยถ้าในตู้ที่จำหน่ายไม้น้ำมีกุ้งแคระหรือหอยก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ดี ว่าปลอดภัยจากยาฆ่าหอยแน่นอน กุ้งตายตามวัยหรือกุ้งตายแบบทั่วไปปกติ ตามปกติการเจอศพกุ้งเป็นครั้งคราว ไม่ใช่เรื่องที่น่าตระหนกตกใจ เพราะเป็นไปตามวัฐจักรของกุ้งแคระที่อ่อนแอและอายุสั้น จะสังเกตอย่างไรถ้าตายตามวัย สังเกตได้จากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของกุ้งตัวนั้นและลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนไป ถ้าตายตามวงรอบมันถือว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นตามวัย ส่วนการตายแบบทั่วไปมักเกิดจากความอ่อนแอเฉพาะตัวของกุ้งตัวนั้นที่เกิดขึ้นหลังการรันระบบใหม่การที่พึ่งซื้อใหม่ ซึ่งอาจเกิดจากการปรับตัวความอ่อนล้าจากการเดินทางหรืออาจเกิดในช่วงก่อนและหลังลอกคราบซึ่งเป็นช่วงที่กุ้งต้องใช้พลังงานที่ค่อนข้างมาก หรือ เกิดจากพันธุกรรมที่อ่อนแอที่เกิดจากสายเลือดที่ชิดจนเกินไป จึงทำให้อายุค่อนข้างสั้น ส่วนอาการการลอกคราบไม่ผ่านนั้นอาการมักตายแบบเปลือกนิ่มสาเหตุหลักมาจากปัญหาการสะสมแคลเซี่ยมในการมาสร้างเปลือกที่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาของตัวกุ้งนั้นๆเองหรือเกิดจากการขาดแร่ธาตุในน้ำที่ต่ำจนกุ้งไม่สามารถสะสมได้ทันก่อนการลอกคราบและรวมถึงการใช้สารเร่งในการลอกคราบเพื่อผสมพันธุ์ที่มากและบ่อยเกินไป ตัวอย่างกุ้งสูงวัยอายุ14เดือนสีเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเชื่องช้าลง
ศัตรูทางธรรมชาติ ศัตรูทางธรรมชาติของกุ้งเรดบี มักมีที่มากับน้ำกุ้งที่มาจากตู้อื่นน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือจากการวางไข่ของแมงหรือแมลงบางชนิด รวมถึงมากับต้นไม้น้ำซึ่งอาจมาได้ทั้ง ไข่,ตัวอ่อน ลหรือตัวเต็มวัยบางชนิดอาจขยายจำนวนได้เมื่อคุณสมบัติในน้ำเหมาะสมก็จะแพร่จำนวนอย่างรวดเร็วอาทิเช่นพานาเรีย,ลูกแมงปอ,ไฮดร้าและอีกบางชนิดที่แม้จะไม่ใช้ศัตรูโดยตรงแต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญทางสายตาและมีพฤติกรรมแย่งอาหารกุ้งเช่นแมลงน้ำขนาดเล็ก,พยาธิ,ไส้เดือนฝอย,หอยที่ไม่พึงปรารถนาและยังมีสัตว์อีกชนิดที่อาจฉกกุ้งกินได้จากทางผิวน้ำนั้นคือจิ้งจกส่วนวิธีจัดการป้องกันท่านสามารถอ่านได้จากข้อความด้านล่างนี้ พานาเรีย มักติดมากับน้ำในถุงบรรจุกุ้ง,ต้นไม้น้ำ มีพฤติกรรมในการกินกุ้งที่อ่อนแอและลูกกุ้งขนาดเล็กและแย่งอาหารกุ้งวิธีจัดการได้ด้วยอุปกรณ์ DIY ที่ใช้หลอดประดิษฐ์ระบบสูญญากาศในการดูดออกและกระบอกในการดักต่างๆทั้งที่ประดิษฐ์เอง และแบบสำเร็จรูปหรือการใช้ยา No-planaria โดยต้องใช้ตามโดสที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด แต่สาเหตุหลักๆที่ทำให้มันขยายและแพร่พันธุ์ได้ดีคือพฤติกรรมการให้อาหารของผู้เลี้ยงที่ให้มากเกินความพอดีและมากเกินไปโดยเฉพาะอาหารชนิดป่น และการจัดวางของอุปกรณ์ต่างๆในมุมที่อับเกินไปจนเกิดการหมักหมมของๆเสียจนเป็นแหล่งอาหารและเอื้อต่อการขยายจำนวน ข้อควรระวังพานาเลียสามารถขยายจำนวนได้ด้วยตัดแบ่งตัวฉะนั้นการทำลายด้วยการตัดบี้ไม่ใช้ทางออกที่ดีแต่กลับเป็นการเพิ่มจำนวนของพานาเลียโดยที่บางท่านอาจไม่ทราบมาก่อน ลูกแมงปอ คือตัวอ่อนของแมงปอมีพฤติกรรมในการกินกุ้ง เป็นอาหารจะพัฒนาความสามารถในการกินตามขนาดตัว มักติดมากับน้ำในถุงบรรจุกุ้งและต้นไม้น้ำรวมถึงการบินเข้ามาไข่เองของแมงปอโดยเฉพาะบ้านของผู้เลี้ยงที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำและเป็นบ้านเปิดโล่งสามารถกำจัดได้ด้วยอุปกรณ์ DIY ที่ใช้หลอดประดิษฐ์ระบบสูญญากาศในการดูดออกและกระชอนในการดักจับออก ไฮดร้า มักติดมากับน้ำในถุงที่บรรจุกุ้งและต้นไม้น้ำ มีอันตรายอยู่ที่เข็มพิษที่ฝังที่หนวดของไฮดร้ามักเกาะกลุ่มกันที่บริเวณที่มีแรงน้ำไหลผ่านดี ตามต้นไม้และผนังกระจกตู้สามารถกำจัดได้ด้วยอุปกรณ์ DIY ที่ใช้หลอดประดิษฐ์ระบบสูญญากาศในการดูดออก แมลงน้ำขนาดเล็ก มักมีที่มากับน้ำกุ้งที่มาจากตู้อื่นน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐานติดมากับต้นไม้น้ำ แมลงน้ำบางชนิดมีพฤติกรรมในการรุมแย่งอาหารกุ้ง และบางชนิดแพร่พันธุ์ขยายได้เร็วมากจนเป็นที่รำคาญสายตา สามารถกำจัดได้ด้วยอุปกรณ์ DIY ที่ใช้หลอดประดิษฐ์ระบบสูญญากาศในการดูดออกและกระชอนในการดักจับออก พยาธิและไส้เดือนฝอย มักมีที่มากับน้ำในถุงที่บรรจุกุ้งที่มาจากตู้อื่นหรือจากน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือติดมากับต้นไม้น้ำ ในตู้ที่มีอายุไม่มากหรือตั้งใหม่มักประสบพบเจอกันประจำ แต่ในตู้กุ้งเรดบีมักจะไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะอุณหภุมิไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ของพญาธิและไส้เดือนฝอย ส่วนสาเหตุหลักที่ตู้ใหม่ๆมักเจอะกันเพราะมีอาหารสมบูรณ์เลยขยายจำนวนได้รวดเร็วแต่โดยมากเมื่อผ่านไประยะนึงมักหายไปได้เอง แต่ถ้ามีจำนวนมากอาจแก้ไขได้ด้วยการถ่ายน้ำ10%เป็นเวลา3-5วันก็พอจะทุเลาลงได้ สามารถกำจัดได้ด้วยอุปกรณ์ DIY ที่ใช้หลอดประดิษฐ์ระบบสูญญากาศในการดูดออกและกระชอนในการดักจับออก หอยที่ไม่พึงปรารถนา อาทิเช่นหอยบัวที่ขยายพันธุ์ได้ไวมากและ หอยฝาเดียวขนาดเล็กที่วางไข่ในชั้นดิน มักมีที่มากับน้ำกุ้งที่มาจากตู้อื่นและติดมากับต้นไม้น้ำ ซึ่งสามารถจัดการได้ด้วยการบี้หอยตัวเต็มวัยคีบออกและปาดออก ให้มากที่สุดตั้งแต่แรกเห็นแต่หอยฝาเดียวเมื่อบางสภาวะที่ไม่เหมาะสมอาจหายไปเองได้แต่เมื่อสภาวะที่เอื้อก็อาจกลับมาขยายจำนวนได้อีกครั้ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาในการกำจัดแนะนำแค่วิธีจับบี้ปาดออกเพราะสารเคมีใดที่ทำอันตรายต่อหอยก็มักจะทำอันตรายต่อกุ้งเรดบีได้เช่นกัน D.I.Y.ที่ดูดเศษอาหารเรดบีแบบAUTO คลิ๊ก วิธีประดิษฐ์ (http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=51151.0) D.I.Y.กับดักพานาเรีย คลิ๊ก วิธีประดิษฐ์ (http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=191368.0) วิธีลดค่าPHด้วยพีทมอส
(https://upic.me/i/n4/300320121263.jpg) (https://upic.me/show/40597838)
(https://upic.me/i/2e/300320121266.jpg) (https://upic.me/show/40597843) ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องพีทมอสกด (http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=199152.0) "เนื้อหานี้สามารถเผยแพร่ได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์"(แต่รบกวนให้เครดิตตามความเหมาะสม) หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: pulp ที่ 01/02/12, [08:49:49] โอ้ววว ....... ป๋าวี จัดเต็ม
ว่างๆมานั่งคุยกันที่ร้านอีกนะคับ [เจ๋ง] หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: savagepong ที่ 01/02/12, [09:22:38] โว้ววววว ขอบคุณคร้าบบบ
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Fibo ที่ 01/02/12, [09:24:03] เยี่ยมยอดครับ [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: BIG ONEPOINT ที่ 01/02/12, [10:51:30] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
สุดยอดเลยพี่ หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: chaninw9 ที่ 01/02/12, [11:15:40] ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ครับ
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 01/02/12, [11:24:37] โอ้ววว ....... ป๋าวี จัดเต็ม พิมพ์ไป1ชั่วยามตื่นสายเลยไว้ว่างๆไปนั่งโม้ใหม่ ้hahahaแต่ว่าไปเฮียป็อปลืมบวกให้นะว่างๆมานั่งคุยกันที่ร้านอีกนะคับ [เจ๋ง] โว้ววววว ขอบคุณคร้าบบบ เยี่ยมยอดครับ [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] สุดยอดเลยพี่ ขอบคุณสำหรับความรู้ดี ๆ ครับ ขอบคุณทุกคำติชม. ขอบคุณนะ deepkissและขอบคุณท่านที่+ให้ด้วยเดี๋ยวทยอยบวกคืนให้นะ [เก๊กหล่อ] หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Dsign ที่ 01/02/12, [11:27:38] +1 [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]เยี่ยมเลยครับ คุณ วี
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Egg E Egg Egg 18 ที่ 01/02/12, [14:01:00] มาเป็นตำราเลยนะครับคุณวี ต้องจดไว้ซะแล้ว
ขอบคุณมากนะครับสำหรับขอมูลดี ๆ ผมบวกให้นะครับ หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Super_Ball ที่ 01/02/12, [14:03:13] ขอบคุณมากครับพี่วี bookmark เก็บไว้เรียบร้อยครับ [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: fendering ที่ 01/02/12, [14:52:27] +1 [เจ๋ง]
อยากให้เอาไปลงกุ้งแคระด้วยเพราะกุ้งเหมือนกัน หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: dernero ที่ 01/02/12, [23:04:18] จัดอีกแล้วพี่วี เดี๋ยวกลับมาอ่าน ดูคนอวดนมก่อนคืนนี้ ้hahaha ้hahaha +ไป [เจ๋ง] [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: AKEKAKAE ที่ 02/02/12, [00:05:31] เยี่ยมเลยครับ [เจ๋ง] [เจ๋ง]ถ้ามีรูปกุ้งสวยๆ ประกอบ น่าจะทำให้บทความน่าอ่านขึ้นนะครับ
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: vvvv ที่ 02/02/12, [01:46:10] ดี มากเลยครับ [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: ★YUNz ที่ 02/02/12, [03:28:52] เข้ามาอ่านค่ะ มีประโยชน์มากๆ +1 emb01
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: bean ที่ 02/02/12, [14:42:47] ดีครับคุณวี บทความให้ความรู้ดีครับ ขอบคุณมาก
เรื่องการผสมพันธ์ ถ้าตัวเมียลอกคราบ ตัวผู้มันว่ายพล่านทั่วตู้แล้ว แต่มันเหมือนว่ายผ่านตัวเมียที่พึ่งลอกคราบมีแวะแตะๆๆอยู่แป้บเดียว แต่ไมไ่ด้ขึ้นไปทับแบบนี้ถือว่าผสมพันธ์ แล้วป่าวครับ หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 03/02/12, [18:22:17] +1 [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]เยี่ยมเลยครับ คุณ วี มาเป็นตำราเลยนะครับคุณวี ต้องจดไว้ซะแล้ว ขอบคุณมากนะครับสำหรับขอมูลดี ๆ ผมบวกให้นะครับ ขอบคุณมากครับพี่วี bookmark เก็บไว้เรียบร้อยครับ [เจ๋ง] จัดอีกแล้วพี่วี เดี๋ยวกลับมาอ่าน ดูคนอวดนมก่อนคืนนี้ ้hahaha ้hahaha +ไป [เจ๋ง] [เจ๋ง] ดี มากเลยครับ [เจ๋ง] เข้ามาอ่านค่ะ มีประโยชน์มากๆ +1 emb01 ขอบคุณครับทุกคำติชมและทุกบวกที่กดให้มานะครับเยี่ยมเลยครับ [เจ๋ง] [เจ๋ง]ถ้ามีรูปกุ้งสวยๆ ประกอบ น่าจะทำให้บทความน่าอ่านขึ้นนะครับ ยินดีรับไว้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงครับไว้มีเวลาจะทำให้สมบูรณ์และปรับปรุงใหม่ครับ แต่ผมว่าอีกไม่กี่วันก็ไปอยู่หน้าท้ายๆแล้วละ ้hahahaแย่ยังไงก็จะปรับปรุงให้ครับ ดีครับคุณวี บทความให้ความรู้ดีครับ ขอบคุณมาก จึ้กเดียวก็ท้องแล้วคุณบีนตอนนี้น่าจะทราบแล้วละว่าไข่ลงพุงยัง ้hahahaแต่ผมว่าคงผสมติดแน่นอนใช่ป่าวเรื่องการผสมพันธ์ ถ้าตัวเมียลอกคราบ ตัวผู้มันว่ายพล่านทั่วตู้แล้ว แต่มันเหมือนว่ายผ่านตัวเมียที่พึ่งลอกคราบมีแวะแตะๆๆอยู่แป้บเดียว แต่ไมไ่ด้ขึ้นไปทับแบบนี้ถือว่าผสมพันธ์ แล้วป่าวครับ หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: bean ที่ 03/02/12, [19:02:38] ถูกต้องเลยคับคุณวีวีกลับมาท้อง2 ตัวเลย แพนด้าฮืโนอีกตัว
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Thanasak ที่ 04/02/12, [02:43:45] "แร่ธาตุในน้ำที่ต่ำไปก็ก่อให้เกิดปัญหาแร่ธาตุไม่เพียงพอต่อการที่กุ้งจะนำไปสะสมในการสร้าง เปลือกทำให้กุ้งลอกคราบไม่ออกเปลือกไม่เข็งตัวหลังลอกคราบ"
จากข้อความข้างต้น ผมแก้ไขด้วยการเติม ผง.....แร่...+ ฯลฯ ของคุณวี ถ่าต่อหน่อย...ว่า ใส่กี่วัน ครั้ง ขอถามไว้ก่อนนะเผื่่อวันหน้าจะเริ่ืมใหม่หลังจากที่กุ้งผมจมน้ำตายหมดเลย [on_024] หรือถ้ารอดคงว่าไปถึงอ่าวไทยแล้วมั๊ง ้hahaha หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: NewBieM ที่ 20/02/12, [12:48:11] [เจ๋ง]ขอบคุญมากครับความรู้ใหม่เลยยย [on_066]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: DekDoy@ShrimpSHOP ที่ 20/02/12, [15:33:41] ขอบคุณ บทความดีๆ ครับ จะนำไปใช้ในการเลี้ยงเรดบี ต่อไป
ขอบคุณมากครับ หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Kawin ที่ 23/02/12, [13:13:26] สุดยอดเลยคุณพี่
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: GreenHouse_CrayFish ที่ 27/02/12, [19:52:55] ท่านอาจารย์ [เย้ะ]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: Aurora ที่ 28/02/12, [22:27:06] ถึงจะไม่ได้เลี้ยงเรดบี แต่ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: ton34570 ที่ 17/05/12, [22:56:41] สุดยอดครับ [on_066]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: noannnice ที่ 17/05/12, [23:17:07] ขอบคุณสำหรับบทความครับ [เจ๋ง]
เมื่อวานหงายท้องไปตัวนึง พานาเรียรุมอยู่ ไม่รู้ตายเพราะลอกคราบหรือพานาเรียรุมตอนลอกคราบ เป็นไปได้มั้ยครับ n032 หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: -= PeeTaro =- ที่ 14/06/12, [22:20:28] ขอบคุณมากครับ ว่าแต่กดบวกให้ยังไงครับเนี่ย T^T
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: ★ Little Shrimp ★ ที่ 16/06/12, [08:53:53] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 16/06/12, [12:29:10] ขอบคุณมากครับ ว่าแต่กดบวกให้ยังไงครับเนี่ย T^T กดlikeกระทู้แรกของweweอ่ะครับ lau02หัวข้อ: Re: วัฐจักรการเติบโตของกุ้งเรดบีและการขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการลอกคราบ เริ่มหัวข้อโดย: -= PeeTaro =- ที่ 16/06/12, [21:19:44] กดlikeกระทู้แรกของweweอ่ะครับ lau02 ผมกดไม่ได้ครับคุณวี ตอนแรกคิดเหมือนกันว่าต้องกดตรงคำว่า Like มุมล่างขวาของกระทู้แรก แต่ของผมมันกดไม่ได้หรือผมเป็นสมาชิกใหม่ไม่สามารถกด Like ได้เกี่ยวหรือเปล่าครับ T^T หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาอ่านได้แต่อย่าตอบ เริ่มหัวข้อโดย: nakahahey ที่ 23/08/12, [00:35:24] นี่คือสิ่งดีดีที่มอบให้กันโดยไม่หวังผลตอบแทน เยี่ยมมากคุณ วี
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาอ่านได้แต่อย่าตอบ เริ่มหัวข้อโดย: theboyz ที่ 23/08/12, [08:28:02] บทความดีดี เกรด sssss มาแล้วครับ
ขอบคุณ พี่วี ครับ ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา [เจ๋ง] หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาอ่านได้แต่อย่าตอบ เริ่มหัวข้อโดย: -= PeeTaro =- ที่ 23/08/12, [11:43:12] ในที่สุดก็กด Like ได้ ขอบคุณมากๆ ชอบๆ ^__^
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาอ่านได้แต่อย่าตอบ เริ่มหัวข้อโดย: bean ที่ 23/08/12, [13:57:53] สุดยอด คารวะพี่วี 3 ที
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาอ่านได้แต่อย่าตอบ เริ่มหัวข้อโดย: CanTaR ที่ 23/08/12, [14:15:49] คาระวะ 4 ทีเลย [เจ๋ง]
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: chuck boss ที่ 24/08/12, [01:44:41] สุดยอดเลยครับพี่ ขอบคุณมากๆครับ
ละเอียด ทุกเม็ด พี่เก็บไม่เหลือจริงๆ เดี๊ยวจะ print ไปอ่านตอนรถติด [เจ๋ง] หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: Last,,One ที่ 24/08/12, [01:56:04] มาลงชื่อคอยติดตามคับ [on_055]
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: ChocolateLove ที่ 24/08/12, [18:21:39] Like +++
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: acme ที่ 25/08/12, [17:43:59] สุดยอด +1ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากพี่วี
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: mookendo ที่ 27/08/12, [22:38:32] เนื้อหายอดเยี่ยมเลยครับ [เจ๋ง] เห็นแล้วอยากเลี้ยงกุ้งเลย
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 27/08/12, [23:22:35] ส่วนนึงก็ได้คุณหมูมาช่วยด้วยแหละครับ
หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: kung1512 ที่ 29/08/12, [13:46:02] ถึงคุณ วีวี ที่สุดยอดครับ
ความสูงของตู้เช่น 45 ชม. ใส่น้ำได้เยอะ และตู้ที่มีความสูงแค่ 30 ซม. ใส่น้ำได้น้อย เพราะว่าดินที่ปูเกือบครึ่งตู้แล้ว เหมือนปลาคาร์พ ที่บ่อมีความลึกไม่น้อยกว่า 1.50 ซม. ปลาคาร์พโครงสร้างจะสวย หลังไม่แอ่น ตัวจะใหญ่สมบูรณ์ สังเกตุได้จากบ่อกุ้งที่นิชิกิ และ CRS ที่เขาเพาะเลี้ยงกับตู้สุง ๆ ครับ ใส่น้ำแบบจะล้นเลย ความลึกของบ่อทำให้โครงสร้างกุ้งมีความสวย เช่นกุ้งที่โพสท่าเวลากุ้งยืนจะสวยคือหางไม่ชี้ลงดิน กับกุ้งโพสท่าและไม่โพสท่าหางจะชี้ลงดิน รบกวนคุณวี วี ชี้แนะหน่อยครับ หัวข้อ: Re: อยู่ระหว่างการปรับปรุงเรียบเรียงและเพิ่มเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: clkaew ที่ 03/09/12, [16:33:24] ผมว่าโพสนี้ สามารถนำไปตอบคำถามได้เกือบๆ ทุกคำถามในห้องนี้เลยนะครับ [ไอ้แว่น]
สุดยอดเลยครับ [กู้ดครับ!] หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: RooKaWa ที่ 13/10/12, [16:56:44] สุดยอดข้อมูล Encyclopedia [เจ๋ง]
คารวะ สามจอก! หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: vinbitxp ที่ 13/10/12, [21:18:30] เนื้อหายอดเยี่ยมครับ เสี่ย วี ข้าน้อยมือใหม่ขอคารวะ
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: Omukung_RDbee ที่ 18/10/12, [23:12:16] คู่มืออ่านบนรถเมล์ก่อนไปทำงาน อ อิ [on_026]
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: acme ที่ 26/11/13, [09:30:48] คุณ วี ขออนุญาติ เอาไป ลงเวป บวร ด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 26/11/13, [18:24:35] คุณ วี ขออนุญาติ เอาไป ลงเวป บวร ด้วยนะครับ ยินดีครับแต่อยากให้ทำเป็น link ไปก่อนนะ เพราะมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีเลย มันยังมีส่วนที่ต้องเสริมและปรับแต่งอยู่เรื่อย วีกลัวว่าถ้าก็อปข้อความแล้ว วีจะไปปรับแก้ไขเสริมเติมแก้ไขประโยคเนื้อหาไม่ได้ นี่ว่าจะหาเวลาเพิ่มเนื้อหาและทวนคำประโยคใหม่ ให้เสร็จก่อนสิ้นปี อีกชุดใหญ่ๆ [on_026]ขอบคุณครับ หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: chaninw9 ที่ 26/11/13, [21:04:35] ยินดีครับแต่อยากให้ทำเป็น link ไปก่อนนะ เพราะมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีเลย มันยังมีส่วนที่ต้องเสริมและปรับแต่งอยู่เรื่อย วีกลัวว่าถ้าก็อปข้อความแล้ว วีจะไปปรับแก้ไขเสริมเติมแก้ไขประโยคเนื้อหาไม่ได้ นี่ว่าจะหาเวลาเพิ่มเนื้อหาและทวนคำประโยคใหม่ ให้เสร็จก่อนสิ้นปี อีกชุดใหญ่ๆ [on_026] เดี๋ยวมาตามอ่านครับคุณวีหัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: Salee(o'___'o) ที่ 27/11/13, [12:17:59] ยินดีครับแต่อยากให้ทำเป็น link ไปก่อนนะ เพราะมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีเลย มันยังมีส่วนที่ต้องเสริมและปรับแต่งอยู่เรื่อย วีกลัวว่าถ้าก็อปข้อความแล้ว วีจะไปปรับแก้ไขเสริมเติมแก้ไขประโยคเนื้อหาไม่ได้ นี่ว่าจะหาเวลาเพิ่มเนื้อหาและทวนคำประโยคใหม่ ให้เสร็จก่อนสิ้นปี อีกชุดใหญ่ๆ [on_026] รออ่านชุดใหญ่ๆของพี่อยู่นะครับ พี่วี อิอิ ้hahaha หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: acme ที่ 06/12/13, [08:59:23] ขอบคุณครับ
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: wanok007 ที่ 22/01/14, [02:56:56] ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ อ่านไปต้องจดตามไปด้วย เพราะเยอะมากจริงๆ พยายามจะอ่านในมือถือหลายที ใช้เน็ตอะไรก็โหลดไม่ขึ้น สงสัยเนื้อหายาวไป ต้องลงทุนเปิดคอมอ่านเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้ทฤษฎีผมแน่นขึ้นเยอะเลย (แต่ปฏิบัติยังมิกล้า) ต้องขอบคุณคุณวีเป็นอย่างสูงเลยครับ [on_055]
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: PicsaaNJ ที่ 23/02/14, [02:26:44] อ่านหมดแล้วครับ ได้ความรู้มาก ๆ
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 25/02/14, [13:22:35] ขอบคุณเช่นกันที่แวะมาอ่านมากดLIKEข้อมูลหลายส่วนผมว่ามันไม่ปัจจุบันแล้วและมีหลายส่วนที่ต้องเสริมไว้ว่างจะมาเพิ่มข้อมูลและปรับปรุงใหม่🙇🙇🙇
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: NokKe ที่ 30/03/14, [18:34:58] ผมงานเข้า แล้วว cryingrun คือ ว่า ผมเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงกุ้งเรดบี ตู้18 นิ้ว แต่ด้วยความเป็นมือใหม่เลย ไม่คิดว่า ''กรองใต้กรวด'' มันสำคัญ
แล้วผมก็ตั้งตุ้ไปแล้ว ของครบทุกอย่าง กรองนอกตัวใหญ่ ซิลเลอร์ ครบ แต่ suicide กรองใต้กรวดไม่ได้ใส ผมควรจะทำยังไงดี อย่ากให้พี่ๆ ช่วยแนะ นำหน่อย ครับ ต้องรื้อตู้ทำใหม่ไหม ครับ [แง๊งงง] หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: wewe ที่ 03/02/15, [17:58:45] มีคนมาถามว่าภาพหายและตอบบ่อยแล้ว เอาเป็นว่าชี้แจงตรงนี้เลยละกัน ไว้มีเวลาจะถ่ายภาพประกอบใหม่ เพราะภาพมันหายหมดเพราะเซิฟที่ฝากภาพไว้ปิดตัวลงและไม่เคยสำรองไว้ รวมถึงข้อมูลหลายส่วนไม่ทันสมัยแล้ว และไว้จะแก้ให้เป็นปัจจุบันให้นะครับ ถ้าอ่านอย่าไปเชื่อหมดนะครับเพราะยังไม่ได้แก้ไขให้เป็นในปัจจุบัน และเดี๋ยวจะเพิ่มข้อมูลที่ไม่เสริมอัเดตและครอบคลุมให้ครบถ้วนนะครับ
หัวข้อ: Re: สารานุกรม "กุ้งเรดบี" (สำหรับมือใหม่และผู้สนใจเลี้ยงกุ้งเรดบี) เริ่มหัวข้อโดย: Nostic ที่ 16/03/15, [16:37:01] มีคนมาถามว่าภาพหายและตอบบ่อยแล้ว เอาเป็นว่าชี้แจงตรงนี้เลยละกัน ไว้มีเวลาจะถ่ายภาพประกอบใหม่ เพราะภาพมันหายหมดเพราะเซิฟที่ฝากภาพไว้ปิดตัวลงและไม่เคยสำรองไว้ รวมถึงข้อมูลหลายส่วนไม่ทันสมัยแล้ว และไว้จะแก้ให้เป็นปัจจุบันให้นะครับ ถ้าอ่านอย่าไปเชื่อหมดนะครับเพราะยังไม่ได้แก้ไขให้เป็นในปัจจุบัน และเดี๋ยวจะเพิ่มข้อมูลที่ไม่เสริมอัเดตและครอบคลุมให้ครบถ้วนนะครับ ขอบคุณมากครับ แล้วจะรอติดตามนะครับ |