Aqua.c1ub.net

Fish & Aquatic Pet => ห้องปลาก้นตู้ => ข้อความที่เริ่มโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:26:16]



หัวข้อ: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:26:16]
แปลจาก Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)

ผู้เขียน Dr.David D Sands
David D Sands  เป็นนักวิทยาศาสตร์และเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปลา มีผลงานเขียนหนังสือหลายเล่ม ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้จัดการสมาคม Catfish Association of Great Britain มีงานเขียนต่างๆมากมายเกี่ยวกับ catfish  และยังเป็นผู้ศึกษารวบรวม catfish ในบราซิลและกายอานาในทวิปอเมริกาใต้ และยังเป็นผู้บรรยายในหัวข้อนี้ให้กับกลุ่มนักเลี้ยงปลาแทบทุกกลุ่มใหญ่ๆในอังกฤษ

ผู้แปล GreenEyes
คือกระผมเอง มีความรู้ทางด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ไม่ค่อยมีความรู้ด้านปลาสักเท่าไร ถ้ามีส่วนไหนผิดพลาดไปก็รบกวนช่วยกันแก้ไขด้วยครับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:27:31]
บทนำ

Corydoras หรือปลาแพะ เป็นปลาขนาดเล็ก มีเครา ที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันในหมู่ผู้เลี้ยงปลาในฐานะที่มันมีหน้าตาที่ดูตลกและแข็งแรง ในอเมริกาใต้มีผู้ส่งออกและเพาะเลี้ยงเพื่อการค้ากันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งแฟนๆของพวกมันสามารถเพาะเลี้ยงมันในตู้ได้แล้วกว่าสามสิบชนิด

ปลาแพะชนิดแรกที่ถูกนำมาเลี้ยงกันในตู้คือ ปลาแพะลาย (Peppered Corydoras, Corydoras paleatus) เมื่อปี 1893 ซึ่งตอนนั้นมีคนสนใจปลาแพะอยู่ไม่มาก แต่ในปัจจุบัน (1986) แทบไม่มีใครตั้งตู้ปลาโดยที่ไม่มีปลาแพะอยู่ในนั้น และตอนนี้พวกมันถูกค้นพบแล้วถึง 130 ชนิด

ปลาแพะสองชนิดที่เพาะพันธุ์กันได้อย่างมากมายคือ ปลาแพะเขียว (Bronze catfish, Corydoras aeneus) และ ปลาแพะลาย ซึ่งทำให้มีพวกมันขายกันในร้านขายปลาทุกร้าน ถูกส่งออกไปทั่วโลกเป็นพันๆตัว และมันก็มักเป็นปลาแพะชนิดแรกๆที่ทำให้นักเลี้ยงปลาหันมาสนใจสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า ปลาแพะ

ปลาแพะมักตกเป็นตัวละครเด่นตัวหนึ่งในตู้ปลา พวกมันมักกลอกตาไปมาเพื่อทำความสะอาดตาของมัน มันสามารถขึ้นมาฮุบเอาอากาศจากผิวน้ำได้เมื่อออกซิเจนในน้ำมีน้อย ซึ่งเป็นวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดในธรรมชาติเมื่อน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มันอยู่แย่ลงในฤดูแล้ง และนั่นก็เป็นข้อบ่งชี้ข้อหนึ่งที่บอกว่าน้ำในตู้ปลาของคุณมีออกซิเจนน้อยและมีความเป็นกรดสูงเกินไปแล้ว (จะเน่าแล้วเปลี่ยนน้ำเหอะ)

ในธรรมชาติ พวกมันนับได้ว่าประสพความสำเร็จ จากการที่มันสามารถแพร่พันธุ์ไปได้แทบทุกที่ในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่เทือกเขาสูงอย่าง Peruvian Andes ในเปรู ไปจนถึงปากแม่น้ำ River Plate ในอาเจนตินา ในแง่ของการค้า ทุกๆปี จะมีปลาแพะกว่า 500,000 ตัวถูกส่งออกไปยังที่ต่างๆทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่อให้นักเลี้ยงปลาทุกท่านสามารถเลี้ยงดูปลาแพะได้อย่างดี โดยหวังว่าพวกมันที่ถูกจับมาจากลุ่มน้ำอเมซอน จะมีโอกาสได้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไปในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: Fibo ที่ 31/05/11, [21:28:26]
 [เจ๋ง]  เริ่มแปลแล้ว  ดีมากเลยครับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:29:14]
ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของปลาแพะ

แม้จะพูดกันว่าปลาแพะนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากแม่น้ำใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่พวกมันมักถูกจับได้ในลำธารเล็กๆ หรือลำน้ำสาขาเล็กๆที่แยกออกมาจากแม่น้ำใหญ่ พวกมันมักอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ที่บางครั้งก็มากถึงพันตัว ในฝูงหนึ่งๆจะประกอบไปด้วยปลาแพะวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยเจริญพันธุ์

การอยู่เป็นฝูงนี้ช่วยปกป้องพวกมันจากนักล่า นักล่ามักเล็งไม่ถูกเมื่อปลาฝูงใหญ่ที่หน้าตาเหมือนๆกันว่ายแตกวงกันออกไป ในแม่น้ำหนึ่งๆนั้นสามารถพบปลาแพะได้หลายชนิด โดยในลำน้ำสาขาหนึ่งๆบางที่พบปลาแพะได้ถึงสามชนิดที่แตกต่างกันอย่างมาก

กลุ่มปลาแพะนั้นแบ่งออกได้ตามลักษณะถิ่นที่อยู่บนท้องน้ำ บางกลุ่มชอบอยู่ตามที่น้ำไม่ไหลแรงบนพื้นทรายที่มีหน้าพื้นบางส่วนเป็นโคลน เป็นใบไม้ ในขณะที่อีกกลุ่มชอบอยู่ตามที่น้ำไหลซึ่งมีพื้นเป็นก้อนหินก้อนกรวด ซึ่งพวกมันก็มักมีรูปร่างและสีสันที่ต่างกันไปตามที่ที่มันอยู่ด้วย

อาหารของปลาแพะมักเป็นเศษอาหารตามท้องน้ำ เศษใบไม้เน่าเปื่อย ตะไคร่ ตัวอ่อนแมลงต่างๆ ลูกกุ้ง ลูกปู และหนอนน้ำต่างๆ มันมักใช้หนวดของมันขุดคุ้ยพื้นท้องน้ำเพื่อหาอาหารกิน ปลาแพะที่หน้าสั้นมักกินอาหารตามพื้นผิว ในขณะที่พวกหน้ายาวจะชอบขุดหาตามพื้นทรายและโคลน

ในฤดูฝน พื้นที่ในแหล่งอาศัยมักถูกน้ำท่วม ทำให้แหล่งน้ำกระจายกว้างออกไป ปลาแพะจะแยกกันไปผสมพันธุ์และวางไข่กันตามพื้นที่น้ำท่วมเหล่านั้น โดยเฉพาะตามบริเวณที่มีต้นหญ้าจมน้ำอยู่เยอะๆ ลูกปลาที่เกิดมาจะมีที่หลบซ่อนและปลอดภัยอยู่ในบริเวณน้ำตื้นจากผู้ล่าที่มักไม่ขึ้นมาแถวนั้น นอกจากนี้ น้ำฝนที่ตกลงมายังบริสุทธิ์ ออกซิเจนสูง และยังพัดพาหน้าดินซึ่งอุดมไปด้วยเศษซากตะกอนและแมลงต่างๆซึ่งก็จะกลายเป็นอาหารให้กับปลามากมายที่มักขยายพันธุ์กันช่วงนี้

ในทางธรณีวิทยา เขตกระจายพันธุ์ของปลาแพะครอบคลุมทวีปอเมริกาใต้ โคลัมเบีย กายอานา เวเนซูเอลา บราซิล เอกัวดอ เปรู ปารากวัย และอาเจนตินา ปลาส่วนมากถูกส่งออกมาจาก โคลัมเบีย บราซิล และเปรู แต่สำหรับปลาแพะเขียวพบว่าถูกส่งออกมาจากหลายประเทศในแถบนั้น

ปลาแพะเขียวเป็นปลาแพะที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด (เดี๋ยวนี้คงเป็นแพะเผือก) และยังติดอันดับปลาเขตร้อนที่เป็นที่นิยมที่สุดด้วย ปลาแพะเขียวอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำหลายแห่งในทวีป ในขณะที่ปลาแพะอย่าง Corydoras adolfoi จะพบที่คลองเล็กๆที่แยกย่อยออกมาจาก River Negro ในป่าอเมซอนเท่านั้น ซึ่งพวกมันถูกพบโดยบังเอิญที่กองทัพของประเทศกำลังตัดถนนผ่านป่าอเมซอน (แล้วตอนนี้บ้านมันยังเหลือไหมนี่)

ลักษณะของน้ำที่มันอาศัยอยู่ค่อนข้างแปรผันไปตามถิ่นที่อยู่และฤดูกาล บางแหล่งน้ำใสไหลเร็ว ในขณะที่บางแห่งน้ำเต็มไปด้วยตะกอนอินทรีย์และไหลช้า  พีเอชของน้ำอยู่ในช่วง 4.8 ถึง 7.5 และมีความกระด้าง (Hardness) น้อยมากถึงศูนย์ อุณหภูมิแปรผันไปตั้งแต่ 75-90 F  (23.8-32.2 C -ผู้แปล)  

อย่างไรก็ตามปลาแพะหลายชนิดปรับตัวจนเหมาะกับสภาพน้ำในถิ่นที่อยู่ของพวกมัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและคุณภาพน้ำตามฤดูกาล ทำให้พวกมันค่อนข้างปรับตัวเก่งและอยู่รอดได้ภายใต้สภาพน้ำที่หลากหลายอย่างในเขตร้อน (แต่ต้องอาศัยเวลาปรับตัวด้วยนะครับ ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างมากในวันสองวัน – ผู้แปล)


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:32:24]
ตู้ปลาแพะ

เมื่อปลาแพะถูกน้ำมาใส่ในตู้ปลาที่บ้านเรา หลังจากที่ซื้อมันมาจากร้านขายปลา พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพน้ำใหม่ได้ค่อนข้างมาก ซึ่งความอึดนี่ก็เป็นหนึ่งข้อที่ทำให้นักเลี้ยงปลาชอบมัน อย่างไรก็ตาม จะดีกว่าถ้าเราสามารถจัดสภาพที่อยู่ให้เหมาะสมกับมันซึ่งจะทำให้มันแข็งแรง เจริญเติบโตได้เต็มที่ และขยายพันธุ์ได้ในตู้ของเรา

ขนาดตู้

ตู้ปลาขนาดเล็กที่สุดที่ควรใช้ควรมีขนาด 18 นิ้ว x 12 นิ้ว x 12 นิ้ว โดยตู้ขนาดนี้ จำนวนปลาแพะที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 6 ตัว เพื่อที่จะให้มันเติบโตและเจริญพันธุ์ได้ โดยมีการดูแลตู้อย่างสม่ำเสมอเช่น การเปลี่ยนน้ำ และการทำความสะอาดพื้น

ตู้ที่ใหญ่ก็ยิ่งดีต่อการเลี้ยงเพราะทำให้มันรู้สึกว่ามีพื้นที่มากขึ้นสำหรับการเจริญเติบโต และยังมีพื้นที่มากขึ้นเหมือนถิ่นที่อยู่ของมันจริงๆ การจัดตู้ควรให้มีพื้นที่ให้พวกมันหลบแสงสว่างมากสักหน่อย สัดส่วนความกว้างความยาวของตู้นั้นไม่สำคัญนัก แต่สำคัญที่ความลึกเพราะพวกมันชอบน้ำตื้น

น้ำ

โดยทั่วไปแล้ว น้ำประปา (ที่ไม่มีคลอรีนแล้ว-ผู้แปล) สามารถใช้ในการเลี้ยงปลาแพะได้แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเลี้ยงให้ดีก็ควรจะให้ความสนใจเกี่ยวกันคุณภาพน้ำที่เหมาะสมมากขึ้น

พีเอช

พีเอชที่เหมาะสมกับปลาแพะอยู่ที่ 5-7 เต็มที่ก็ 4.5-7.5 สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าน้ำประปาของเรามีลักษณะสมบัติ (พีเอช ความกระด้าง-ผู้แปล) อะไรบ้าง เช่นถ้าน้ำประปามีพีเอชสูงไปก็ควรเติมน้ำยาปรับสภาพให้มีพีเอชเหมาะสม (น้ำประปาบ้านผมพีเอช 7.8-ผู้แปล)  ถ้าเป็นกรดเกินไปก็มักบ่งบอกถึงว่าตู้ปลาของเราจำเป็นต้องทำความสะอาดแล้ว เช่น การทำความสะอาดพื้นตู้ (แบคทีเรียย่อยสารอินทรีย์จำนวนมาก ทำให้เกิดกรดมากเกินไป-ผู้แปล) และเปลี่ยนน้ำ (อาจต้องเปลี่ยนถึง 50%)
ประเด็นที่เป็นประโยชน์ (ที่ควรรู้)

•   พืชน้ำทำให้น้ำเป็นกรดลดลง ในขณะสังเคราะห์แสง
•   ปลาทำให้น้ำเป็นกรดมากขึ้นโดยกระบวนการหายใจ
•   ท่อนไม้ ใบไม้ ทำให้น้ำเป็นสีน้ำตาลจากกรดแทนนิค ซึ่งอาจรบกวนการอ่านค่าพีเอชด้วยระบบที่มีการดูสีได้
•   หินปูน เปลือกหอย ทำให้น้ำเป็นด่าง
•   น้ำที่เป็นกรดจุออกซิเจนได้น้อยกว่าน้ำที่เป็นกลาง และยังเป็นอันตรายต่อปลาถ้าต้องอยู่ในน้ำที่เป็นกรดมากเกินไปนั้นนานๆ
•   แอมโมเนียเป็นพิษมากขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำที่เป็นด่าง
•   ตรวจวัดพีเอชของน้ำประปาที่น้ำมาใช้และน้ำในตู้ปลาอย่างสม่ำเสมอ

ความกระด้าง

การวัดความกระด้างนั้นคือการวัดเกลือทั้งหมดในน้ำ (ผมว่าไม่ใช่นะ ความกระด้างจะไม่รวมพวกประจุ +1 -ผู้แปล) โดยสำหรับปลาแพะ ความกระด้างของน้ำควรเป็นศูนย์ตามถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมัน ซึ่งนั่นนับว่ายากสักหน่อย เราสามารถใช้น้ำฝนได้ โดยการกักน้ำฝนไว้ในถังเก็บน้ำ (water butt) และไม่ควรใช้น้ำฝนเพียวๆเพราะพีเอชมันต่ำเกินไปแต่ควรผสมน้ำประปาด้วยเพื่อให้ได้พีเอชที่เหมาะสม

(ผมเห็นในหนังสืออีกเล่มหนึ่งแสดงภาพ water butt ว่า เป็นถังไม้ ใส่ดินรองพื้น และปลูกพืชน้ำครบกลุ่ม *กลุ่มที่รากอยู่ในดินใบอยู่บนบก-รากในน้ำใบบนบก-รากในดินใบในน้ำ ซึ่งในน้ำจะมีลูกน้ำ ไรแดง มาอาศัยอยู่ดามธรรมชาติด้วย -ผู้แปล)

(น้ำฝนล้วนนั้น ถ้าตกมานานแล้วจะบริสุทธิ์มาก ไม่มีความสามารถในการสะเทินกรดด่าง เพราะไม่มีสารใดมาเจือปน แต่จะมีก๊าซต่างๆในอากาศเข้ามาผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่สมดุลกับคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว จะมีพีเอชเป็นกรด –ผู้แปล)

แอมโมเนียและไนไตร

ทั้งแอมโมเนียและไนไตรล้วนเป็นพิษกับปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปลาต้องสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนสารสองตัวนี้ในเวลานานๆ ตู้ปลาที่ตั้งใหม่อายุไม่เกิน 6 สัปดาห์ หลังจากใส่ปลา (นับหลังใส่ปลาเพราะ ปลาและอาหารปลาจะปล่อยแอมโมเนียออกมา แบคทีเรียที่กินแอมโมเนียพวกนี้จึงจะเริ่มโต ก่อนหน้านี้ยังไม่มีแอมโมเนียให้กิน –ผู้แปล) มักมีความเสี่ยงที่เกิดปัญหานี้ได้เพราะแบคทีเรียกลุ่มที่เปลี่ยนแอมโมเนียมเป็นไนเตรทยังไม่มากพอ

เราสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ โดยการนำแบคทีเรียพวกนี้มาใส่ไว้พร้อมๆกับปลา เช่น แบ่งเอาวัสดุปูพื้นจากตู้ปลาเก่าที่เรามีอยู่มาใส่ เอาน้ำจากตู้ปลาอีกตู้ปลาเก่ามาใส่ หรือแบ่งเอาวัสดุกรองจากเครื่องกรองตัวเก่าที่มีอยู่มาใส่ในเครื่องใหม่

การเลี้ยงแบคทีเรียกลุ่มที่กินแอมโมเนียมนี้ไม่ยาก ถ้าปฏิบัติตามกฎพื้นฐานดังนี้

1.   ล้างวัสดุกรองด้วยน้ำในตู้ อย่าใช้น้ำประปา เพราะคลอรีนในน้ำประปาจะทำให้แบคทีเรียต่างๆตายไปอย่างมาก
2.   ระวังอย่าให้อาการมากเกินไปบ่อยนัก
3.   อย่าเปลี่ยนน้ำใหม่เกิน 50% โดยใช้น้ำประปาใหม่ๆ เว้นแต่จะจำเป็นต้องทำเท่านั้น (บางทีเห็นปลาไม่ตาย แต่แบคทีเรียร่วงนะเออ -ผู้แปล)


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:33:20]
การให้ความร้อน

ปลาแพะสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิต่ำกว่าช่วงที่เหมาะสมได้ แต่การที่มันต้องทนหนาวไปนานๆก็ทำให้สุขภาพมันแย่ลงและนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้เช่นกัน

อุณหภูมิในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของมันอยู่ที่ 65-90 F (18.3-32.2 C, ก่อนหน้านี้บอก 23.8-32.2 C –ผู้แปล) ปลาแพะดูจะเจริญอาหารกว่าที่อุณหภูมิสูง นอกจากนี้แบคทีเรียในตู้ปลาก็เช่นกัน ยารักษาโรคหลายอย่างก็ออกฤทธิ์ดีกว่าที่น้ำที่ไม่เย็นเกินไป ข้อเสียอย่างเดียวของน้ำที่อุณหภูมิสูงก็คือ มีออกซิเจนน้อยกว่าน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ

ทั้งนี้ทั้งนั้น อุณหภูมิที่เหมาะสมกับตู้ปลาแพะอยู่ที่ 79-82 F (26.1-27.8 C -ผู้แปล)

แสงสว่าง

ตามธรรมชาติปลาแพะนั้นหากินกลางคืนและมักหลบเลี่ยงแสงสว่าง (ปลาแพะที่เพาะเลี้ยงตามร้านผมมักเห็นว่ามันก็กินทั้งวัน แต่ผมมีตัวหนึ่งที่ปล่อยไว้ในบ่อ มันมีนิสัยหากินกลางคืนจริงๆ กลางวันจะหลบ ไม่เคยเห็นตัว –ผู้แปล) ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาเพราะพืชน้ำนั้นต้องการแสงสว่างในการเจริญเติบโต

การเลี้ยงปลาแพะในตู้ให้มันใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ควรใช้ไฟที่ไม่สว่างนัก หรือจัดตู้ให้มีร่มเงาพอสมควร หรือ ถ้าใช้สปอตไลท์ก็ควรหันให้มันส่องสว่างไปที่มุมๆเดียว และอย่าลืมใส่ท่อนไม้หรืออะไรให้มันมีที่หลบด้วย (ถ้ามันอยากหลบแล้วหาที่หลบไม่ได้ มันจะเครียด –ผู้แปล)


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:34:34]
ระบบกรองในตู้ปลา

ปลาแพะที่สุขภาพดีเจริญอาหาร กินเยอะ ก็จะขับถ่ายเยอะตามไปด้วย ตามธรรมชาติของเสียที่ขับถ่ายออกมาจะถูกเจือจางไปตามน้ำด้วยเหตุที่มีปริมาตรน้ำเยอะมากๆ กระแสน้ำและกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติ เป็นระบบบำบัดของเสียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว แต่สำหรับในตู้ ปริมาตรน้ำต่อปลา นั้นไม่ได้มากมายขนาดนั้น ระบบกรองน้ำและให้อากาศจึงมีความสำคัญ ดังนั้นก่อนที่จะทุ่มเงินไปกับการแต่งตู้ด้วยท่อนไม้หรือไม้น้ำราคาแพง สิ่งแรกที่ควรทุ่มงบลงไปคือระบบเหล่านี้ที่จะทำให้ปลาของเรามีชิวิตอยู่ได้

ระบบกรองน้ำที่เหมาะสม มักเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักเลี้ยงปลา ซึ่งจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ การจัดตู้แบบต่างๆด้วย สิ่งที่เราควรเก็บมาจากคำแนะนำพวกนั้นคือ ข้อเท็จจริง

ถ้าระบบกรองไม่ดีพอ และวัสดุปูพื้นหมักหมมไปด้วยของเสียที่มากเกินไป ปลาแพะที่อาศัยอยู่บนนั้นจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก อาการติดเชื้อที่บริเวณปาก และหนวดเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหานี้ ซึ่งผู้เลี้ยงมักนึกว่าเกิดจากการที่ทรายมันคมเกินไป หรือให้อาหารไม่พอ

ระบบกรองที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาแพะที่สุด คือการผสมผสานระบบกรองพื้น กับระบบกรองนอก (หรือกรองใน หรือกรองแขวนก็ได้ -ผู้แปล) ระบบกรองพื้นจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของออกซิเจนผ่านวัสดุปูพื้น ทำให้โอกาสเกิดการหมักหมมลดลงไปได้มาก (จากตำรา Ecology of Planted Aquarium การหมักหมมที่พอเหมาะนั้นก็จำเป็นต่อพืชน้ำนะครับ -ผู้แปล) ในขณะที่ระบบกรองนอก ก็ช่วยลดตะกอนแขวนลอยทั้งหลายไม่ให้ไปหมักหมมอยู่ที่พื้นด้วย ที่สำคัญเมื่อเรามีระบบกรองสองระบบ ก็เหมือนมีการกระจายความเสี่ยงที่กรองตัวไหนทำงานได้ไม่สมบูรณ์อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณปลาแพะที่เหมาะสมที่แนะนำไว้ในหนังสือก็เป็นปริมาณที่ค่อนข้างปลอดภัยที่สุดต่อความเสถียรของตู้ สำหรับตู้ที่มีปริมาณปลาน้อยอย่างเช่นตู้สำหรับผสมพันธุ์ สามารถใช้ตัวกรองแบบฟองน้ำก็เพียงพอ

ระบบกรองพื้นมีสองแบบคือ แบบที่ใช้อากาศช่วยดันน้ำ กับแบบที่ใช้ปั้มน้ำ ระบบที่ใช้น้ำมีข้อดีคือช่วยเติมอากาศไปในตัวแต่ข้อเสียคือเสียงดัง ในขณะที่แบบใช้ปั้มน้ำนั้นมักมีปัญหาเรื่องปริมาณออกซิเจนเมื่อเป็นตู้ที่มีความลึกแต่มีข้อดีที่ไม่มีเสียงดัง น้ำที่อุดมไปด้วยออกซิเจนจะถูกดึงผ่านชั้นวัสดุปูพื้นทำให้ไม่เกินภาวะไร้อากาศ ซึ่งนั่นทำให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นพวกที่กินแอมโมเนียมเพิ่มขึ้นอีกด้วย (พวกนี้หายใจด้วยออกซิเจน –ผู้แปล) ส่วนระบบกรองพื้นจะทำงานได้ดีได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ระบบกรองนอกสามารถดูตะกอนแขวนลอยที่จะกลายเป็นตะกอนบนพื้นออกไปได้มากแค่ไหนนั่นเอง (ล้างกรองนอก ง่ายกว่าล้างกรองพื้น –ผู้แปล)


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:35:15]
วัสดุรองพื้น

ปลาแพะนั้นชอบพื้นทราย แต่การใช้ทรายมักทำให้เกิดสภาพไร้อากาศใต้วัสดุปูพื้นได้ง่าย ถ้าต้องการใช้ทรายควรใช้ทรายแม่น้ำโดยปูใยกรองไว้บนตะแกรงของตัวกรองพื้นก่อนชั้นหนึ่ง แล้วค่อยทับด้วยทรายหนาไม่เกิน 2 นิ้ว หรือไม่งั้นวัสดุปูพื้นที่เหมาะสมกับระบบกรองพื้นก็เป็นกรวดแม่น้ำมนๆ ขนาด 3/16 นิ้ว ปูหนาสัก 4 นิ้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระบบกรองพื้นแล้วก็ควรทำความสะอาดพื้นตู้อย่างสม่ำเสมอ

การเปลี่ยนน้ำ

สำหรับตู้ที่พึ่งตั้งใหม่ๆ ไม่ควรเปลี่ยนน้ำหลังจากลงปลาไปแล้วราวๆ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบค่อยๆเซ็ตตัว การเปลี่ยนน้ำโดยปกติควรทำทุก 4 วัน โดยเปลี่ยนครั้งละ 15-25% การน้ำออกจากตู้ควรทำไปพร้อมๆกับการทำความสะอาดวัสดุรองพื้น สำหรับตู้พักปลา แยกปลาป่วย หรือตู้ผสมพันธุ์ปลา ที่มักมีปลาอยู่น้อยกว่าจำนวนที่แนะนำไว้ สามารถเปลี่ยนน้ำแค่เดือนละครั้งก็ได้

การปลูกพืชน้ำ

ตู้ที่ใช้ระบบกรองพื้นจะปลูกพืชได้ไม่ดีนัก (พืชน้ำก็ต้องการการหมักหมมบ้างไรบ้าง -ผู้แปล) ผู้เลี้ยงปลาแพะมากมายค่อนข้างประสพปัญหากับการทำให้ตู้เป็นสีเขียว เนื่องจากแสงที่ไม่เพียงพอ น้ำไม่เย็น สภาพน้ำไม่เหมาะสม โดนขุดอีกตะหาก (จากหนังสือ Ecology of Planted Aquarium พืชน้ำส่วนมากชอบแสงมาก น้ำเย็นสักหน่อย มีความกระด้าง รองพื้นด้วยดิน .... ตรงข้ามกับตู้ปลาแพะเกือบหมด -ผู้แปล)

การปลูกพืชในตู้ที่ใช้ระบบกรองพื้นทำได้โดย การปลูกในถ้วยต่างหากที่บรรจุวัสดุปลูกที่เหมาะสมไว้ อุณหภูมิที่เหมาะกับตู้ปลาแพะในช่วงกลางๆก็มีพืชน้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ได้  พืชที่เหมาะสมกับตู้ปลาแพะได้แก่ พวก คริป อเมซอน และจาวามอส จาวามอสเหมาะมากสำหรับให้ลูกปลาแพะหลบซ่อน


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:37:01]
จำนวนปลาแพะที่เหมาะกับตู้

จำนวนที่เหมาะสมนี้อิงจากตู้ที่มีระบบกรอง มีการเปลี่ยนน้ำและล้างวัสดุปูพื้นอย่างสม่ำเสมอ และหักพื้นที่ของก้อนหิน ท่อนไม้ พืชน้ำ เครื่องกรอง เรียบร้อยแล้ว

ถ้าคำนึงถึงการที่จะให้มันมีโอกาสผสมพันธุ์กัน ให้ลดจำนวนลงสักครึ่งหนึ่ง และถ้ามีปลาอื่นอาศัยอยู่ด้วย ก็ควรลดจำนวนลงเช่นกัน

สำหรับปลาแพะที่มีขนาดเล็กอย่างเช่น C. hastatus C. pygmaeus C. habrosus C. napoensis และ C. elegans จำนวนปลาสามารถเพิ่มได้อีกครึ่งหนึ่งของค่าที่แนะนำ

ตู้ขนาด 24 นิ้ว (50 ลิตร) 9 ตัว
ตู้ขนาด 30 นิ้ว (70 ลิตร) 12 ตัว
ตู้ขนาด 36 นิ้ว (90 ลิตร) 14 ตัว
ตู้ขนาด 48 นิ้ว (130 ลิตร) 20 ตัว

(จำนวนตัวดูน้อยมาก น่าจะเพื่อสุขภาพปลา  มีที่ว่ายได้พอควร ในพื้นที่จริงในธรรมชาติ จำนวนปลาต่อพื้นที่(ปริมาตร)น้ำน้อยกว่านี้มาก -ผู้แปล)

การเลือกซื้อปลาแพะ

ปลาแพะที่หาซื้อได้ง่ายที่สุดตามร้านค้าหนีไม่พ้น ปลาแพะเขียว/เผือก และ ปลาแพะลาย ปลาแพะเป็นปลาที่อาศัยอยู่เป็นฝูง ดังนั้นจึงแนะนำให้เลี้ยงปลาแพะไว้เป็นกลุ่ม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นชนิดเดียวกัน กลุ่มละ 3 ถึง 6 ตัว ถ้าปลาแพะถูกเลี้ยงไว้ตัวเดียว มันจะซ่อนตัวซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่รู้จะไปอยู่กับใคร

เมื่อเลือกชนิดของปลาแพะที่จะเลี้ยงแล้ว ควรเลือกซื้อสักสามตัว และควรพักปลาก่อน 2 ถึง 3 สัปดาห์เพื่อป้องกันโรคติดต่อ ในกรณีที่ไม่มีตู้พักปลา ให้ใส่ยาป้องกันโรคทั่วไปตามลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เลือกซื้อปลาป่ามา ให้กักโรคอย่างเข้มงวด


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:38:25]
การดูแลสุขภาพปลา

บทนี้รวบรวมมาจากสองเล่ม อีกเล่มคือ South American Catfishes ผู้เขียนคนเดียวกันครับ


โรคที่เกิดขึ้นส่วนมากจะเกิดกับปลาใหม่ที่มักมีสาเหตุจากการดูแลที่ไม่เหมาะสมระหว่างการขนส่งซื้อขาย เช่น มีปลาอยู่กันหนาแน่นเกินไป คุณภาพน้ำไม่เหมาะสม และ อาหารไม่ดี ส่วนโรคที่เกิดปลาเก่าในตู้ของเรามักมีสาเหตุมาจากการที่มีปลาอยู่กันหนาแน่นเกินไป น้ำมีคุณภาพแย่ลง พีเอชไม่เหมาะ อุณหภูมิไม่เหมาะ อาหารไม่ดี ปลาอายุมาก และการติดเชื้อโรคจากปลาใหม่

ปลาแพะนั้นจะคล้ายๆกับปลาหนังทั่วไปที่ค่อนข้างจะแข็งแรง ปรับตัวต่อสภาพแย่ๆได้ดี แต่ถ้าเกิดมันติดโรคขึ้นมา แสดงว่าหนักหนาพอสมควร และการรักษาก็มักจะทำได้ยาก

ขณะที่ปลาแพะอยู่ในภาชนะปิดระหว่างการขนส่ง หรือแม้แต่ถุงที่ใช้ใส่ปลามา ความเครียดก็สามารถทำให้มันปล่อยสารพิษชนิดหนึ่งออกมาได้ ซึ่งพิษนั่นทำให้มันถึงตายได้ด้วย และเมื่อมีปลาตัวหนึ่งตาย ปฏิกิริยาก็มักจะเกิดเป็นลูกโซ่ เนื่องจากทั้งพิษและมลพิษที่เกิดจากปลาที่ตาย และก็มักทำให้ปลาติดเชื้อไวรัสได้ด้วย

การสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้น

1. อาการ – ปลาแสดงอาการคัน ถูตัวกับหิน หายใจถี่
สาเหตุ – มีได้หลายสาเหตุ คือ 1.มีปรสิตเกาะอยู่ 2.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ) 3.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 4.โรคจุดขาว (Ichthyophthirius multifiliis) 5.โรค Freshwater velvet (Oodinium pillularis ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) 6. Gill Flukes (ปรสิตกลุ่มหนึ่งที่เกาะที่เหงือก)

2. อาการ – ปลาลอยตัวอยู่กลางน้ำในท่าที่เป็นแนวตั้งฉากกับพื้น เอาหัวขึ้นบน
สาเหตุ – 1.มีปรสิตเกาะอยู่ 2.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ) 3.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 4.โรคจุดขาว (Ichthyophthirius multifiliis) 5.โรค Freshwater velvet (Oodinium pillularis ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) 6.น้ำปนเปื้อนสารพิษ

3. อาการ – ครีบมีรอยด่าง มีจุด มีอะไรติดๆ
สาเหตุ – ปรสิต

4. อาการ – ครีบเป็นแผล หรือเปื่อย
สาเหตุ – ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการเลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป

5. อาการ - ปลาแพะพุ่งขึ้นไปฮุบอากาศบ่อยๆ
สาเหตุ – มีหลายสาเหตุ คือ 1.ออกซิเจนต่ำ 2.แอมโมเนียมหรือไนไตรมากเกินไป 3.คุณภาพน้ำไม่ดี (พีเอช การหมักหมม และอื่นๆ)

6. อาการ – ตัวพอง
สาเหตุ – มีสองสาเหตุคือ 1.กินมากไป ท้องอืด 2.ติดเชื้อ TB (Mycobacterium)

7. อาการ – ตาขุ่น
สาเหตุ – จากการติดเชื้อแบคทีเรีย

8. อาการ – โรค Red Blotches (ตัวเป็นแต้มสีแดง) เหงือกแดงเหมือนเลือด
สาเหตุ – Gill Flukes (ปรสิตกลุ่มหนึ่งที่เกาะที่เหงือก)

การรักษา

ปกติแล้วปลาแพะเป็นปลาที่แข็งแรง การติดเชื้อแบคทีเรียมักมีสาเหตุมาจากคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมกับมันทำให้มันอ่อนแอลง หรือความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยๆก็ทำให้ปลาอ่อนแอลง ควรเริ่มจากการแก้ไขโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียให้แก้ที่คุณภาพน้ำก่อน (ความสกปรก พีเอช ความกระด้าง อุณหภูมิ ฯลฯ) แล้วรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทั่วไป และจัดตู้หรือหาที่วางตู้ที่เหมาะสมเพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้น (ปลาแพะไวต่อเสียงและความสั่นสะเทือนมาก และเมื่อมันตกใจ มันต้องการที่ซ่อนตัว -ผู้แปล)

แอมโมเนียมและไนไตรเกินมีสาเหตุจากการที่แบคทีเรียในระบบทำงานไม่สมบูรณ์ แก้ปัญหาเหมือนการแก้ปัญหาแอมโมเนียมทั่วไป (ระบบกรองชีวภาพ ต้นไม้น้ำ หินพัมมิส -ผู้แปล)

ปรสิตทั่วไป โรค Red Blotches และ Gill Flukes รักษาด้วยยากำจัดปรสิตและไม่ต้องกังวลเรื่องการใส่ยาซ้ำ โดยให้ยาซ้ำได้หลัง 48 ชั่วโมง ขณะใส่ยาอย่าใส่กรองที่มี activated carbon (Red Blotches บางตำราบอกว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย -ผู้แปล)

โรคจุดขาว โรค Freshwater velvet (ปรสิตกลุ่มไดโนแฟลกไจ) โรค TB ต้องใช้ยาเฉพาะทาง

ถ้าพบว่ามีการปนเปื้อนสารพิษ ให้แก้ไขโดยการเปลี่ยนน้ำใหม่ 100%


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:39:02]
การผสมพันธุ์ปลาแพะ

ปลาแพะบางชนิดผสมพันธุ์วางไข่ในตู้รวมได้ไม่ยากบางครั้งผู้เลี้ยงปลาแพะก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบลูกปลาแพะว่ายปะปนอยู่กับฝูงปลาแพะที่มีอยู่ ไข่ของปลาแพะจะดูใสๆ ติดอยู่ตามวัสดุต่างรอบบริเวณ ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวและผุพังไปในเวลาไม่นาน

ปลาแพะที่จะเลือกมาผสมควรเลี้ยงรวมฝูงอยู่ในตู้ตามปกติ มีขนาดโตเต็มที่ และสามารถแยกเพศได้แล้ว ให้แยกปลาแพะตัวผู้และตัวเมียออกมาคู่หนึ่งไปไว้ในตู้ผสมพันธุ์

ตู้ที่ใช้ผสมพันธุ์ควรมีขนาด 40-60 ลิตร เป็นตู้ที่ยาวหน่อยและไม่ลึก วางไว้ในตำแหน่งที่ได้รับแสงแดดธรรมชาติบ้าง ให้ความสว่างเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องเปิดไฟให้มัน อุณหภูมิน้ำควรจะเท่าๆกับตู้เดิมของมัน ปูพื้นด้วยทรายละเอียด มีหินสักก้อนสองก้อน และต้นไม้น้ำนิดหน่อย ให้ใช้น้ำใหม่ 50%

คู่ของปลาแพะที่ใส่ลงไปจะใช้เวลาปรับตัวกับสถานที่วันสองวัน ซึ่งช่วงนี้ให้ระวังอย่าไปรบกวนมัน ตู้ผสมพันธุ์ควรตั้งในที่ที่ไม่ถูกรบกวน ไม่มีคนเดินผ่าน เพราะปลาแพะไวต่อความสั่นสะเทือนและเสียงมากๆ ช่วงนี้ควรให้อาหารที่มีคุณภาพสูงๆ เช่น อาหารแช่แข็ง และไรทะเล

ถ้าแยกคู่ไว้แล้วหลายวันยังไม่เกิดการผสมพันธุ์กัน ให้เปลี่ยนน้ำ 50% โดยใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสัก 18.3 C ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการจำลองสภาพฝนตกตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าผ่านไปแล้วยังไม่สำเร็จก็ให้น้ำคู่นี้กลับตู้รวมเหมือนเดิม

ถ้ามีการผสมพันธุ์เกิดขึ้นจะสังเกตได้ไม่ยาก เพราะใช้ระยะเวลานาน บางครั้งก็กินเวลาทั้งวัน จุดสังเกตอยู่ที่ตัวเมียจะดันตัวผู้ขึ้นไปอยู่ในรูปตัว T น้ำเชื้อจะถูกถ่ายมาที่ตัวเมีย และตัวเมียจะนำไปผสมกับไข่ และปล่อยไข่มาไว้ที่ครีบอกและเริ่มการวางไข่ จากนั้นก็เริ่มไปผสมพันธุ์กันอีกจนกว่าไข่จะถูกวางจนหมด

หลังจากนั้นให้แยกคู่นั่นกลับสู่ฝูง และเก็บไข่ไว้ในถุงเพาะพันธุ์ (breeding net) ซึ่งมีข้อดีตรงที่ถุงนี้จะอยู่ในตู้ที่ใช้ผสมพันธุ์นั่นเอง หลังจากนั้นหลายวัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว ระหว่างนี้ควรแยกไข่ที่ฝ่อแล้วออกไปด้วย ลูกปลาที่พึ่งฟักจะมีถุงไข่แดงติดมา ซึ่งเป็นอาหารของมัน ช่วงนี้ยังไม่ต้องให้อาหาร

หลังจากนั้นให้อาหารโดยใช้ liquid egglayer food วันละหลายมื้อ สักหนึ่งสัปดาห์ แล้วหลังจากนั้นสามารถใช้พวกอาหารสำเร็จแบบผงสำหรับลูกปลาโดยให้แช่น้ำให้นุ่มก่อน และเมื่อโตพอ การให้อาหารสดอย่างพวกไร หรือหนอนจิ๋ว (microworm) จะช่วยให้โตเร็วขึ้นได้ (แต่ไม่จำเป็น)


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:39:59]
อาหาร

ในธรรมชาติ ปลาแพะกินได้หลากหลายมาก เช่นพวก พืช ตะไคร่ แมลงน้ำ หนอน ฯลฯ ส่วนในตู้เลี้ยง เราสามารถเลี้ยงได้ง่ายโดยใช้อาหารเม็ดประเภทจม (หรือทำให้มันจม) สลับกับหนอนแช่แข็งและกุ้ง แบ่งเป็นสองมื้อเช้าเย็น ซึ่งก็จะทำให้ปลาแพะได้สารอาหารครบถ้วนกว่าในธรรมชาติเสียอีก

ปลาแพะมักออกหาอาหารกันอย่างจริงจังตอนที่เริ่มมืด หรือเมื่อเราปิดไฟ โดยจะคุ้ยเขี่ยไปตามพื้นตู้ตลอดแนว ปลาแพะไม่ได้ใช้ตาในการหาอาหารแต่จะใช้หนวดของมันดมกลิ่นหา

การให้อาหารสดอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปรสิตและติดเชื้อโรคได้ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้โดยใช้อาหารแช่แข็งแทนได้ครับ


อายุขัย

อายุขัยของปลาแพะนั้นไม่ค่อยเป็นที่แน่ชัดนัก ส่วนตัวผู้เขียนเองมีปลาแพะลายอยู่หนึ่งตัวที่เลี้ยงมาเกือบ 7 ปีแล้ว อายุของปลาแพะทั่วๆไปอยู่ระหว่าง 5 ถึง 8 ปี  ปกติแล้วมันจะมีอายุยืนมากกว่าในธรรมชาติเพราะในตู้เลี้ยงนั้นไม่มีผู้ล่าและอาหารก็อุดมสมบูรณ์กว่ามาก




หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:41:04]
ปลาร่วมตู้

โดยทั่วไป ปลาฝูงจากเขตร้อน ขนาดเล็กๆทั้งหลายสามารถอยู่ร่วมกับปลาแพะได้ ยกเว้น เสือสุมาตรา ปลาหมูคอก ปลาหมูหางแดง เซอร์เปเตตร้า ซึ่งมักพบว่ามีการแทะครีบปลาแพะอยู่บ้าง

ปลากระดี่ ปลาสอด ปลาหางนกยูง กลุ่มเตตร้าขนาดเล็กๆอย่างคาดินัลหรือนีออน ปลาหมอแคระ และปลาในกลุ่มCatfishes นั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี

ปลากัด และ ปลากาแดง นั้นอาจมีการป้องกันอาณาเขตบ้าง แต่ไม่พบว่ามีอันตรายกับปลาแพะ (ผู้แปล – ขอเถียง ปลาแพะผมโดนปลากัดงับครีบหลังแหว่ง)

ปลาเทวดา เป็นอีกชนิดที่น่าสนใจเพราะขนาดตัวที่ใหญ่ของปลาเทวดา ทำให้ปลาแพะเกรงและเข้าฝูงโดยอัตโนมัติ

ปลาซิว สามารถเลี้ยงเป็นฝูงกับปลาแพะได้โดยอาศัยอยู่ในน้ำลักษณะเดียวกันพอดี


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:41:33]
ช่องนี้ การจัดกลุ่มปลาแพะของนักวิจัย


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:42:07]
ช่องสุดท้าย TOP TIP for ผู้เลี้ยงปลาแพะ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 31/05/11, [21:44:32]
สำหรับผู้ที่ได้อ่านบทแปลนี้ อย่าลืมว่า เป็นเนื้อหาตั้งแต่เมื่อปี 1986 นู่น
ดังนั้น ปัจจุบัน องค์ความรู้เก่าๆอาจผิดพลาดและมีองค์ความรู้ใหม่ๆมาแทนที่แล้วก็ได้ครับ

หวังว่าจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้าครับผม  [on_012]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: AEKKiE ที่ 31/05/11, [22:05:16]
ขอบคุณมากครับ สุดยอดเลย  [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: Cory Lover ที่ 31/05/11, [23:27:33]
Thanks mak mak kub


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: chapy ที่ 31/05/11, [23:50:57]
ขอบคุณมากๆ [on_066]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: joepsm ที่ 01/06/11, [08:59:10]
+1  [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: plaraberd ที่ 01/06/11, [14:16:11]
เจ๋งโคตรๆ เลยครับ

เขียนหนังสือได้สบายๆ เลย

+ ให้เลยครับผม แต่... แม๋ น่ามีรูปประกอบสักหน่อยนะครับ คงสนุกขึ้นหลายเท่าตัว


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 01/06/11, [14:50:16]

+ ให้เลยครับผม แต่... แม๋ น่ามีรูปประกอบสักหน่อยนะครับ คงสนุกขึ้นหลายเท่าตัว


อยากจะไปถ่ายรูปปลาแพะและอะไรอื่นๆประกอบบทความเหมือนกันครับ แต่ไม่รู้จะไปถ่ายจากไหนได้


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: Sir Oas ที่ 01/06/11, [16:02:10]
ขอบคุณมากเลยครับ ความรู้เพียบรอตอนต่อไปครับ [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: bakapuchino ที่ 01/06/11, [16:03:09]
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ  [เจ๋ง]

เรื่องภาพอาจจะหาจากกุเกิ้ล (ใช้ภาพที่เข้ากับเนื้อหานั้นๆ) แล้วใส่เครดิตกับที่มาไว้ก็ไม่น่าเสียหายนะครับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: MannyMonomania ที่ 01/06/11, [18:48:08]
เยี่ยมไปเลยครับ [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: D-Zoic ที่ 01/06/11, [19:01:17]
เเจ่มเลยคับ [เจ๋ง]
+ ให้เลย ชอบคับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986)
เริ่มหัวข้อโดย: ĴŨbiLiŐ™ ที่ 04/06/11, [21:50:40]
ขอบคุณครับ ใจดีมากๆ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update โรคปลาแพะ>
เริ่มหัวข้อโดย: H.G.N Lobster ที่ 06/06/11, [15:19:23]
สุดยอดครับชอบมาก จริงๆ [on_066]

ป.ล.ไม่มีใครสนใจเอา ความรู้คาดินัลมาลงบางหรอ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update โรคปลาแพะ>
เริ่มหัวข้อโดย: aikhunwee ที่ 06/06/11, [19:36:38]
ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันกันนะครับ  [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update โรคปลาแพะ>
เริ่มหัวข้อโดย: KERK ที่ 07/06/11, [05:23:07]
ความรู้อันยอดเยี่ยม ขอบคุณมากครับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update การผสมพันธุ์>
เริ่มหัวข้อโดย: miximize ที่ 17/06/11, [16:37:41]
 [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
มาตามอ่านครับ
อยากรู้เรื่องเพศด้วยครับ เราจะแยกเพศยังไงครับ  emb01


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update การผสมพันธุ์>
เริ่มหัวข้อโดย: นายพี ที่ 21/06/11, [06:52:51]
เจ๋งมากครับ  แต่อยากทราบการผสมพันธุ์   เพราะไข่ผมฝ่อทุกที มันขึ้นราตลอดเลย  ส่วนใหญ่จะแยกออกมาใส่กะมังไว้แล้ว แต่ก็ยังขึ้นหา  ไม่รอดสักตัวเซ็ง   ตอนเอาออกจากตู้ก็ยาก ไข่หนึบมากๆๆ ใช้มือล้วนๆเลย ไม่รู้เหมือนกันมือเรามีพวกโปรตีนอยู่หรือเปล่า ไปเกาะติดไข่ ทำให้มีเชื่อราติดมาด้วย  asspain


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: Harman ที่ 30/06/11, [16:53:53]
เพิ่งมาเห็น น้ำใจงามมากๆเลยครับ เป็นประโยชน์มากเลยครับ  [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: Sir Oas ที่ 16/07/11, [07:36:57]
รอชมภาคต่อไปครับ


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: audza ที่ 16/07/11, [22:27:34]
มีประโยชน์มาก ขอบคุณสำหรับน้ำใจที่เอื้อเฟื้อนะครับ  [รักจัง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: moohamzaaa ที่ 18/10/11, [19:33:30]
ได้ความรู้ขึ้นอีกเยอะสำหรับมือใหม่แบบผม ขอบคุณมากๆครับ [เจ๋ง]


หัวข้อ: Re: Keeping Aquarium Fishs: ฉบับปลาแพะ (1986) <update อาหาร ปลาร่วมตู้>
เริ่มหัวข้อโดย: GreenEyes ที่ 29/10/11, [23:10:09]
หยุดยาว ว่าจะอัพสองช่องสุดท้าย ดันหาหนังสือไม่เจอ พอดีแพ๊คหนังสือใส่ถุง หนีน้ำ ไปไว้ชั้นสองหมดเลย  [on_008]