Aqua.c1ub.net
*
  Thu 25/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องของเขา บนแนวปะการัง เพื่อความสวยงามในตู้ทะเลใบน้อยของเรา  (อ่าน 1263 ครั้ง)
un_petit_garcon ออฟไลน์
Club Brother
« เมื่อ: 10/12/14, [01:41:33] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

   พอดีผมไปเจอบทความในเว็บเว็บหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอันห่างไกล ซึ่งเว็บนี้เขาก็ไปเอาบทความมาจากของกรมทรัพฯ อีกทีหนึ่ง ผมเลยอ่านๆ ดู แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบกับสิ่งที่ผมได้พบเจอมาจากการดำน้ำ และมาขยายความอีกเล็กน้อย ตัดทอนบางส่วนออก Rewrite ให้ได้อ่านกันในแบบฉบับของคนเลี้ยงปะการังแบบเราๆ

    บทความนี้จะพูดถึงลักษณะของแนวปะการัง และลักษณะของปะการังแต่ละชนิดที่เติบโตอยู่ในบริเวณต่างๆ ของแนวปะการัง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงปะการังต่างๆ โดยเฉพาะคนที่นิยมปีนเขา หรือเล่นของแข็ง ตามแต่จะเรียก 5555 เพราะจะช่วยให้คนเลี้ยงก้นตู้อย่างเราได้เข้าใจธรรมชาติของปะการังแต่ละชนิดว่ามันอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน เพื่อที่เราจะได้จำลองสภาพแวดล้อมในตู้ของเราให้ใกล้เคียงธรรมชาติของมันได้ และน่าจะช่วยให้ปะการังของเราสวยงามขึ้นได้

   เอาละ เรามาเข้าสู่เนื้อหากันเลยดีกว่า

    จริงๆ แล้ว แนวปะการังมีอยู่หลายแบบ แต่ผมจะใช้ลักษณะของแนวปะการังบนเกาะมาใช้อธิบายภาพให้เห็น







    จากภาพ แนวปะการังบนเกาะนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่

    1. Reef Flat เป็นบริเวณเขตพื้นราบของแนวปะการัง อยู่ใกล้กับบริเวณชายหาดของเกาะ ลักษณะสำคัญของ Reef Flat คือ ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลงอย่างชัดเจน ในบางที่ ปะการังอาจโผล่พ้นน้ำได้เป็นวงกว้าง กระแสน้ำบริเวณนี้เป็นแบบ Swing คือ โยกซ้าย โยกขวา (ตามลูกศรในภาพ) น้ำท่วมเมื่อน้ำขึ้น และบางครั้งก็โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง จากสภาพแวดล้อมนี้ ทำให้ปะการังในบริเวณนี้ต้องปรับตัวได้ดีกับอากาศ ในขณะเดียวกันก็ต้องทนทานต่อคลื่นที่ซัดไปมาด้วย เช่น พวกเขาแมว หรือพวกปะการังที่เป็นกิ่งสั้นๆ ป้อมๆ เป็นต้น และเนื่องจากบริเวณความลึกระดับนี้ แสงแดดยังสามารถส่องถึงได้ครบทุกย่านแสง ดังนั้น ปะการังที่เติบโตบริเวณนี้จึงจำเป็นต้องได้รับแสงอย่างครบถ้วนทุกสี



    2. Reef Edge เป็นบริเวณรอยต่อของเขตพื้นราบและเขตลาดชันของแนวปะการัง ลักษณะสำคัญของบริเวณนี้คือจะได้รับผลกระทบจากคลื่นที่รุนแรงจากคลื่นทะเลเปิดที่ปะทะเข้ามา กับกระแสน้ำที่เกิดจากน้ำขึ้นน้ำลงที่ไหลเข้าและไหลออกจากบริเวณ Reef Flat ตลอดเวลา (ตามลูกศรในภาพ) จากสภาพแวดล้อมนี้ ทำให้ปะการังในบริเวณนี้เป็นจำพวกที่ทนทานต่อความรุนแรงของน้ำได้มาก เช่นพวกปะการังโขดต่างๆ ซึ่งแทบไม่มีกิ่งก้านให้แตกหักเลย แต่ในขณะเดียวกัน กระแสน้ำที่เชี่ยวและรุนแรงพัดพาสารอาหารต่างๆ มาตลอดเวลา ปะการังในบริเวณนี้ นอกจากสังเคราะห์แสงได้แล้ว ยังต้องการสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณอื่นอีกด้วย



    3. Reef Slope เป็นบริเวณลาดชันของแนวปะการัง นับตั้งแต่ Reef Edge จนกระทั่งถึงพื้นทะเล ลักษณะสำคัญของบริเวณนี้คือ เป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นลมน้อยมาก กระแสน้ำที่ไหลผ่านจะเป็นกระแสน้ำใต้ทะเลที่เกิดจากการถ่ายเทน้ำขึ้นน้ำลงของทะเลเปิด ซึ่งจะไหลไปในทิศทางเดียวกันต่อเนื่องตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง (ตามลูกศรในภาพ) แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความลึก แสงจึงมีความเข้มข้นน้อยลง และส่องผ่านลงไปได้เฉพาะแสงสีฟ้าและสีน้ำเงินเท่านั้น จากสภาพแวดล้อมนี้ ทำให้ปะการังบริเวณนี้ไม่ต้องทนการแตกหักจากกระแสน้ำ จึงมักเป็นปะการังที่มีรูปร่างบอบบาง เช่น พวกปะการังเขากวาง หรือปะการังที่มีกิ่งใหญ่และยาว นอกจากนี้ ยิ่งปะการังอยู่ลึกเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องปรับตัวเพื่อให้รับแสงได้มากเท่านั้น ทำให้มีลักษณะแบนราบ เช่น ปะการังจาน หรือพวกมอนติ เป็นต้น





    ช่วงนี้ก็เข้าหน้า Hi Season ของการท่องเที่ยวแล้ว ผมเชื่อว่าชาวห้องทะเลเราหลายๆ คน คงชอบเที่ยวทะเลและมีแพลนเที่ยวทะเลดำน้ำสำหรับฤดูท่องเที่ยวนี้ และถ้าหากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวทะเลดำน้ำดูปะการัง ก็ลองสังเกตแนวปะการังที่ดำน้ำกันดูนะครับว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร คล้ายแบบที่ผมเล่ามาไหม และแต่ละส่วนของแนวปะการังมีปะการังอะไรขึ้นบ้าง และความรู้เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ นอกจากจะทำให้เราเลี้ยงเขาได้ดีขึ้น ยังทำให้เราดำน้ำได้สนุกมากขึ้นอีกด้วยนะครับ ^^”


อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.saveoursea.net/forums/showthread.php?t=1060
และบางส่วน จากในหัวผมเอง


ป.ล. คนเขียนไม่ได้เลี้ยงเขานะ เคยเลี้ยง แต่ร่อน และไม่คิดเลี้ยงอีกแล้ว 5555
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: