Aqua.c1ub.net
*
  Fri 26/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: หลักการเลี้ยงปลาสวยงาม  (อ่าน 41001 ครั้ง)
O-Betta ออฟไลน์
Club Follower
« เมื่อ: 15/09/08, [11:48:09] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การเลือกปลาที่จะเลี้ยง
      เมื่อได้เตรียมการขั้นตอนต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว ก็ถึงตอนจัดหาปลาที่จะเลี้ยงมาลงตู้ปลา เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนค่อยๆ เลือกไปและต้องใจเย็นเพราะผลที่จะเกิดเป็นความเพลิดเพลินเจริญตาเจริญใจยิ่งนัก สำหรับนักเลี้ยงปลาตู้ เพราะถ้าขาดความรอบคอบไม่ระมัดระวังก็อาจจะได้ปลาที่อ่อนแอขี้โรค หรือบางที่ปลาอาจจะต้องเดินทางไกลกว่าจะถึงมือผู้เลี้ยง อาจทำให้เกิดความเครียดอ่อนเพลียและอาจกลายเป็นปลาขี้โรคได้เหมือนกันฉะนั้นการจัดหาปลามาเลี้ยงมีสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
      1. ขนาดของปลา เมื่อปลาโตเต็มที่ ปลาส่วนใหญ่ที่อยู่ในตู้ของผู้ขายเป็นปลาวัยรุ่นเมื่อนำมาเลี้ยงในตู้ปลาของเราเวลาปลาโตเต็มที่อาจมีขนาดยาวถึง 5 นิ้วฟุต หรือบางชนิดเมื่อโตเต็มที่อาจมีขนาดยาวเพียง 1-5 นิ้วฟุต ถ้านำปลามาเลี้ยงรวมกัน ปลาใหญ่ก็จะรักแกปลาเล็ก เพราะฉะนั้นเวลาซื้อปลาควรถามเจ้าของให้รู้แน่เสียก่อนว่าปลามีขนาดเท่าใดขณะโตเต็มที่และไม่ควรเลี้ยงปลาที่ขนาดต่างกันมาไว้ในตู้เดียวกัน ปลาที่อยู่ในตู้เดียวกันจะต้องเป็นปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันเมื่อโตเต็มที่
      2. ประเภทของปลา ควรระวังในการซื้อปลา เพราะหากผู้เลี้ยงไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเภทของปลา อาจซื้อปลาที่ออกหากินเวลากลางคืน ในเวลากลางวันมันจะหมกซ่อนตัวอยู่ตามต้นพืชและลังก้อนหินตลอดเวลา แทนที่จะได้ชมเล่นในเวลากลางวันกลับไม่ได้เห็นปลาเลย
ประเภทของปลาตู้

      ปลาที่เลี้ยงกันตามตู้เลี้ยงปลาทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี
           1. ปลาที่ชอบรวมกลุ่มกันอยู่ ได้แก่ ปลาหางนกยูง ปลาเทวดา ปลาหางดาบ ปลาม้าลาย เป็นต้น เมื่อซื้อปลาประเภทนี้ จึงไม่ควรซื้อ 1-2 ตัว แต่ควรซื้อมาเลี้ยงอย่างน้อย 5-6 ตัว
          2. ปลาที่ชอบอยู่ตามโขดหิน ได้แก่ ปลาจำพวกซิลลิค ส่วนมากจะเป็นปลาพื้นเมืองแอฟริกา ชอบอยู่ตามโขดหินในน้ำที่มีน้ำกระด้าง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเท่าใดนัก
          3. ปลาที่ต้องแยกพวกเลี้ยง ปลาพวกนี้ต้องการตู้เลี้ยงพิเศษ เพราะส่วนมากไม่ชอบรวมกลุ่ม ได้แก่ ปลาปอมปาดัวร์ลายน้ำเงิน ปลาออสการ์ ปลาหางพิณ และปลาลายตลก เป็นต้น บางชนิดก็เป็นปลาที่ชอบเก็บตัวในเวลากลางวัน ถ้าจะเลี้ยงปลาประเภทนี้ต้องแยกพวกเลี้ยงในตู้ปลาต่างหาก อย่าเลี้ยงรวมกับปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

วิธีสังเกตปลาที่สมบูรณ์ดี
     ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ถ้าสมบูรณ์ดีไม่มีโรค จะมีครีบหลังตั้งเสมอขณะว่ายน้ำ ถ้าปลาตัวใดว่างน้ำโดยมีครีบหลังตกแสดงว่าปลากำลังเป็นโรค และปลาที่สมบูรณ์ดีควรจะมีตัวอิ่มเต็ม ครีบหลังไม่แตก สีควรเข้ม ถ้าเป็นปลาที่มีลายสีหรือแต้มลายสี แต้มควรจะเด่น ไม่มีลายและแต้มที่พร่ามัว เวลาว่ายน้ำควรจะคล่องแคล่วปราดเปรียว นอกจากนี้ ควรจะสามารถลอยน้ำในน้ำลึกได้ทุกระดับโดยปราศจากอาการทะลึ่งขึ้นสู่พื้นน้ำ หรือจมดิ่งลงสู่กันอ่างในลักษณะที่ไม่ขยับตัว
      ปลาที่มีลักษณะบกพร่อง รวมทั้งปลาที่มีครีบหางขาด และมีจุดที่แสดงว่าเป็นแผล ไม่ใช้ปลาที่สมบูรณ์ดี

การเคลื่อนย้ายตัวปลาและปล่อยปลาลงตู้
      ตามปกติการเคลื่อนย้ายปลาจากที่ซื้อไปถึงบ้าน จะนิยมใส่ถุงพลาสติกและจะต้องทำโป่งบรรจุอากาศเหนือพื้นน้ำพอสมควร ถ้าซื้อปลาในฤดูหนาวกว่าที่ปลาจะถึงบ้านน้ำในถุงอาจจะเย็นลง ดังนั้นจึงควรนำกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มถุงไว้อีก เพื่อป้องกันมิให้อากาศเย็นภายนอกกระทบถุงพลาสติกและทำให้น้ำเย็นลงโดยเร็วได้ หรือถ้าจะให้ดีควรเอาถุงไว้ในกล่องกระดาษแข็งที่อากาศเข้าไม่ได้ ก็จะช่วยให้ปลาที่เราเคลื่อนย้ายไม่กระทบกระเทือนความเย็นได้
      เมื่อนำปลาที่ต้องการไปถึงบ้านแล้ว อย่ารีบปล่อยปลาลงตู้ทันที เพราะน้ำในถุงกับน้ำในตู้เลี้ยงปลาอาจมีอุณหภูมิต่างกัน ดังนั้น การปล่อยปลาลงตู้จะต้องแน่ใจว่าน้ำในถุงกับน้ำในตู้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกัน โดยการเอาถุงปลาลอยแช่น้ำไว้ในตู้ปลาสักครู่ เมื่ออุณหภูมิของน้ำได้ระดับเดียวกันแล้วจึงปล่อยปลาออกจากถุงพลาสติกได้
      ขณะปล่อยปลาลงตู้ปลา ให้ค่อย ๆ ทำด้วยอาการสงบที่สุด เพื่อมิให้ปลาตื่นและถ้าตู้ปลามีหลอดไฟฟ้าก็ควรจะปิดไฟเสียก่อน เหลือไว้เฉพาะแสงสว่างของธรรมชาติเท่านั้น เพื่อปลาจะได้คุ้นกับสภาวะแวดล้อมใหม่ได้ง่ายถ้าตู้ปลาสว่างมากเกินไปปลาอาจจะตกใจ และเมื่อปลาคุ้นกับสภาพแวดล้อมดีแล้วจึงค่อยเปิดไฟ
      การนำปลามาปล่อยในตู้ปลาขณะที่มีปลาอื่นอยู่แล้ว เราควรให้อาหารเพื่อล่อปลาที่อยู่ก่อนไม่ให้ไปสนใจกับปลาใหม่มากนัก ไม่เช่นนั้นปลาใหม่อาจจะตื่นและว่ายหนีไปหาที่ซุกซ่อนตัว ซึ่งเราจะต้องจัดที่กำบังหลบซ่อนไว้ให้ด้วย จนเมื่อปลาใหม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมในตู้ปลาดีพอก็จะเริ่มออกมาหาอาหารเองได้

รูปลักษณะอวัยวะปลา
      ในการเลือกหาปลาเพื่อเลี้ยงนั้นควรจะมีความรู้ในรูปลักษณะของปลาพอสมควรซึ่งจะเป็นการช่วยให้การเลือกปลาได้ดียิ่งขึ้นปลาแต่ละชนิดไม่ได้มีรูปลักษณะเพรียวยาวเหมือนกันทุกตัว บางชนิดก็มีลำตัวป้อม สั้น บางชนิดตัวแบน บางชนิดตัวกลม ทั้งนี้ สุดแต่นิสัยความเป็นอยู่และการเลี้ยงชีพของปลาแต่ละชนิด ปลาที่มีลำตัวเพรียวยาว แสดงว่าปลาชนิดนั้นว่ายน้ำเร็ว ปลาพวกนี้จะมีครีบใหญ่ มีปากและฟันซี่โต เป็นปลาที่ชอบหากินในที่โล่ง ส่วนปลาเทวดามีลำตัวแบนรู้สี่เหลี่ยมว่ายน้ำได้อย่างเชื่องช้า ชอบอาศัยอยู่ตามกอหญ้าใต้น้ำ ลักษณะของปลามักจะบอกถึงระดับของน้ำที่ปลาอยู่โดยทั่ว ๆ ไป เช่น
      ปลาที่มีปากแบน แสดงว่าปลาชนิดนั้นอาศัยอยู่ใต้พื้นน้ำเพียงเล็กน้อยเพราะต้องลอยตัวคอยกินแมลงตามผิวน้ำ ปลาจำพวกนี้ตามปกติมีครีบหลังตรงพื้นครีบไม่โก่งงอ
      ปลาที่มีปากยื่นตรง ตามทางนอนในแนวเดียวกันกับกึ่งกลางตัวจะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในระดับน้ำกลาง ๆ เพราะปลาพวกนี้จะงับกินแต่อาหาร ที่ตกถึงพื้นเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่ามันอาจจะขึ้นกินอาหาร หรือดำลงกินที่ก้นน้ำได้ก็ดี
      ปลาที่มีปากห้อย เป็นปลาที่ชอบอยู่กับก้นน้ำ เพาะกินอาหารตามพื้นผิวดินใต้น้ำเป็นหลัก ปลาจำพวกนี้ชอบกินตะไคร่น้ำตามพื้นดิน และที่อยู่ในตู้ปลา มันอาจไม่ลงถึงก้นตู้ แต่ชอบแอบตามข้างตู้เพื่อกินตะไคร่น้ำที่ติดตามข้างตู้กินเป็นอาหาร ปลาประเภทนี้มักมีหนวดด้วย เพราะหนวดจะไประโยชน์ในการเสาะหาอาหาร
เกล็ดปลา
      เกล็ดปลามีทั้งชนิดแข็งและอ่อนซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายแก่ตัวปลาแล้ว ยังทำหน้าทั่วเป็นเครื่องรับแรงดันของอากาศด้วย เพราะฉะนั้นถ้าปลามีรอยถลอก หรือเป็นแผลก็แสดงว่าแรงดันของอากาศภายในผิดปกติปลาจึงเป็นโรค
ครีบ
      ปลาใช้ครีบเพื่อการทรงตัว และเคลื่อนไหวในบางกรณีก็จะใช้เป็นเครื่องช่วยในการออกไข่ด้วย ซึ่งอาจเป็นตอนผสมพันธุ์ หรือตอนฟักไข่เป็นตัว
สีสันของปลา
      สีสันของปลานอกจากสร้างความสวยงามแล้ว ยังบอกลักษณะเฉพาะของชนิดโดยทั่วไป บอกเพศโดยเฉพาะ และเป็นสีที่อาจลวงตาศัตรูให้พร่าพราว ช่วยให้มันหนีได้โดยสะดวก หรืออาจทำให้ศัตรูเกิดสำคัญผิดในเป้าหมายที่จะโจมตีก็ได้ หรือสำคัญว่าเป็นสิ่งมีพิษก็ได้ นอกจากนี้ สีอาจบอกอารมณ์ของปลาในเวลาตกใจ หรือเวลาโกรธอีกด้วย
      สีบอกเพศ ความเข้มของสีปลามักจะมีมากขึ้นในปลาตัวผู้ในระยะผสมพันธุ์ ทั้งนี้เพื่อให้สะดุดตาตัวเมียและล่อตัวเมียให้เข้าหา หรือเป็นสัญญาณให้ตัวเมียยอมคลอเคลียด้วย
      เราอาจรู้เพศของปลาที่ออกลูกเป็นตัวได้ โดยดูที่ครีบทวาร ซึ่งครีบตัวผู้จะมีรูปย้วยกว่าครีบตัวเมีย ส่วนปลาที่ออกลูกเป็นไข่ ตัวผู้จะมีตัวเรียวกว่า

อาหารปลา
      เรารู้กันมาว่า ลูกน้ำ ไรน้ำ และแมลงบางชนิดเป็นอาหารของปลาทั่วไปแต่ปลาต่างชนิด ต่างก็ชอบอาหารผิดกันไป บางชนิดชอบกินลูกน้ำ บางชนิดชอบกินพืชพวกตะไคร่น้ำ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าปลาชนิดไหนชอบกิจอาหารจำพวกไหน ปัจจุบันนี้ปัญหาการให้อาหารปลาไม่มีแล้ว เพราะได้มีการทำอาหารปลาขายกันในท้องตลาดอย่างกว้างขวางในรูปลักษณะต่าง ๆ กันไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับปลาที่ชอบกินสัตว์หรือกินพืช ซึ่งอาหารสำเร็จรูปที่ทำกันขึ้นมาจำหน่ายนั้น จะเป็นรูปลักษณะที่เป็นเกล็ดบ้าง เป็นเม็ดบ้าง เป็นน้ำบ้าง เป็นผงบ้า ตลอดจนเป็นก้อนก็มี อาหารเหล่านี้ทำขึ้น เพื่อให้เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงปลาทุกขนาดตั้งแต่ตัวอ่อน ซึ่งจำเป็นต้องกิจอาหารขนาดใหญ่ ๆ ได้อย่างสบาย แม้ว่าอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย จะเป็นชนิดดีมีคุณค่า ควรแก่การเลี้ยงปลาก็ดี แต่การเลี้ยงปลาชนิดเดียว จำเจ ก็อาจทำให้ปลาเบื่ออาหารชนิดนั้น อันตรายที่สำคัญก็คือการให้อาหารเกินขนาด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะทำให้ปลาอ้วนเหมือนคนที่กินจุ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การให้อาหารจำเจก็ดี การให้อาหารเกินขนาดก็ดี จะทำให้อาหารเหลือตกค้างแล้วทำให้น้ำเน่าเสีย
      หลักสำคัญก็คือ การให้อาหารแต่พอกินโดยให้ทีละน้อย เพื่อให้ปลากินอาหารให้หมดทันทีอย่าให้เหลือ และควรให้อาหารปลาในตอนเช้า - กลางวัน - เย็น และกลางคืนตามลักษณะนิสัยของปลาแต่ละชนิด

อาหารปลาตู้
การให้อาหารปลาที่เลี้ยงในตู้กระจกเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้เลี้ยงปลาตู้ที่จะต้องให้ความสำคัญและสนใจ ซึ่งเราจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
       1. กลุ่มอาหารเป็น ได้แก่ สัตว์เล็กๆ ที่มีชีวิต และใช้เป็นอาหารได้ เช่น
          ไรแดง เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กมีสีแดงพบมากในน้ำครำหรือคูน้ำโดยใช้สวิงตาถี่ ช้อนตามผิวน้ำในตอนเช้า และมีจำหน่ายตามร้านขายปลาตู้เป็นอาหารที่เหมาะกับปลาสวยงามขนาดเล็ก
          ลูกน้ำ เป็นตัวอ่อนของยุง พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำขังต่างๆ จับได้โดยใช้สวิงตาถี่ช้อนตักตามผิวน้ำ ซึ่งลูกน้ำลอยตัวอยู่
          หนอนแดง เป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืด มีสีแดง พบได้ทั่วไปตามพื้นที่ที่มีน้ำขังเป็นเวลานาน การจับต้องตักดินใส่ตะแกรงตาถี่และร่อนในน้ำสะอาดจนเศษดิน ผง หรือขยะหลุดออก ก็จะเห็นหนอนแดงค้างอยู่ ร้านขายปลาตู้มักจะนำมาขายโดยใส่ไว้ภาชนะที่มีน้ำใส
          กุ้งฝอย เป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดเล็ก พบอยู่ตามบ่อ สระน้ำ หรือตามท้องนา มีจำหน่ายตามท้องตลาดสด เป็นอาหารที่เหมาะกับปลาตู้ขนาดใหญ่ที่เป็นปลาประเภทกินเนื้อสัตว์
          ไส้เดือนดิน เป็นอาหารที่เหมาะกับปลาตู้ชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นไส้เดือนขนาดใหญ่ ก่อนให้ปลาควรสับให้เป็นชิ้นที่มีขนาดพอเหมาะก่อนจึงใช้เป็นอาหารปลา
           ตัวอ่อนหรือดักแด้ ของแมลงอีกหลายชนิด ก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารปลาตู้ได้
      2. กลุ่มอาหารแห้ง เป็นอาหารสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีต่างๆ โดยใช้วัสดุต่างๆ จากผลิตผลทางการเกษตรหลายๆ ชนิดและทำให้เป็นอาหารที่มีคุณค่าตรงกับความต้องการของปลาที่มีรูปแบบต่างๆ กัน เช่น
           ชนิดเม็ดจม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางของเม็ดแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดปลา แต่ว่าจะจมน้ำเหมาะสำหรับปลาตู้ที่หากินตามพื้นผิวดิน อาหารชนิดเม็ดจนได้มีการพัฒนา จนมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถยึดติดหรือแตะไว้ข้างฝาตู้เป็นเวลานานและปลาจะมารุมกินหรือตอดกินอาหารประเภทนี้เป็นฝูงๆ
           ชนิดเม็ดลอย เป็นผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับเม็ดจมน้ำ แต่มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถลอยน้ำได้ และคงสภาพรูปเดิมอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นอาหารสำหรับปลารุ่น หรือปลาใหญ่
           ชนิดผง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผงเล็กๆ มีขนาดไล่เลี่ยกับขนาดของนมผง ละลายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่ทำจากสาหร่ายเกลียวทองหรือจากไข่เวลาใช้ก็โดยการนำเอาอาหารผงมาละลายน้ำและใส่ลงตู้ให้ลูกปลากิน เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับลูกปลาวัยอ่อนโดยเฉพาะ ชนิดแผ่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไข่ หรือตัวของสัตว์ในตระกูลกุ้ง มีลักษณะเป็นแผ่นเล็กๆ ใช้มือบี้หรือขยี้อาหารชนิดนี้ให้เป็นชิ้นเล็กก่อนนำไปให้เป็นอาหารปลาตู้
        3. กลุ่มผักสด หมายถึง พรรณไม้น้ำหรือผักบางชนิดที่จะใช้เป็นอาหารให้ปลาตู้ได้ ซึ่งโดยปกติแล้ว ปลาตู้ซึ่งเป็นปลากินเนื้อและพืชชอบกินพวกผักและปลาบางชนิดก็ต้องการอาหารที่มีผักสดผสมอยู่เป็นประจำ พวกพืชสดที่นิยมใช้ ได้แก่ ถั่วงอก ถั่วหัวโต ผักกาดหอม กะหล่ำปลี ผักกาดขาด ผักบุ้ง แหนเป็ด

การให้อาหารปลาตู้
      ปลาตู้ก็เหมือนสัตว์อื่นๆ ที่ต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์ การให้อาหารที่ดีและถูกวิธีจะบรรลุถึงความต้องการของผู้เลี้ยงซึ่งก็คือปลามีสุขภาพดี แข็งแรง สีสดใส ทำให้ผู้เลี้ยงมีความสุข ก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปลาที่เลี้ยงเป็นปลาชนิดอะไร ประเภทไหนเพราะเราสามารถแบ่งปลาออกเป็น 3 ประเภท คือ ปลากินเนื้อ ปลากินเนื้อและพืช และปลากินพืช ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้จะมีความต้องการอาหารแตกต่างกันไป ดังนี้
         1. ปลากินเนื้อ เป็นปลาที่ชอบกินอาหารเป็น ถ้าเราเลี้ยงโดยอาหารอื่นๆ มักจะหงอยซึม มีสุขภาพไม่ดี และอาจตายในที่สุด อาหารที่ให้แต่ละครั้งจึงควรให้อาหารเป็นและมีจำนวนมากพอที่จะกินอิ่มในครั้งเดียว ให้อาหารเพียงครั้งเดียวใน 1 วัน และงดอาหาร 1 วัน เมื่อเลี้ยงไปได้ 3-4 วัน
        2. ปลากินเนื้อและพืช เป็นปลาที่ยอมรับอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแห้งได้ดี ให้อาหารวันละ 1-2 ครั้ง แต่ควรเสริมด้วยอาหารผักสดบ้างเป็นครั้งคราว ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง จะทำให้ปลามีสุขภาพดี
        3. ปลากินพืช เป็นปลาที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปได้ดี และอาหารนั้นควรมีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากพืช การให้อาหารควรให้วันละ 1-2 ครั้ง โดยฝึกให้ปลากินอาหารซ้ำที่เดิมทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้ปลาเคยชินโดยเฉพาะปลาที่กินอาหารช้าจะสามารถเรียนรู้ตำแหน่งอาหารที่กินได้ การให้อาหารแห้งหรืออาหารผักสดนั้น ผู้เลี้ยงจะต้องพึงระลึกได้เสมอว่าอาหารที่ให้เหล่านี้หากปลากินไม่หมดจะเหลือตกค้างอยู่ในตู้ และเน่าเสีย เป็นเหตุให้คุณสมบัติของน้ำในตู้ไม่ดี ส่งผลต่อสุขภาพของปลาเป็นอย่างยิ่ง จึงควรระมัดระวังอย่าให้อาหารมากเกินไป

โรคปลาตู้และวิธีการป้องกันรักษา
       โรคปลาตู้เกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุหลายประกาน เช่น เกิดจากเชื้อโรค พวกปรสิต บัคเตรีและเชื้อรา สภาพแวดล้อมในตู้ปลาที่ไม่เหมาะสม เช่น มีออกซิเจนในน้ำน้อยไป อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือให้อาหารมากจนหรือทำให้น้ำเน่าเสียหรือไม่ก็ไม่ยอมเปลี่ยนถ่ายน้ำ เมื่อปลาขับถ่ายของเสียออกมามาก ทำให้น้ำมีแอมโมเนียสูง สาเหตุต่างๆ เหล่านี้หากไม่รุนแรงนักจะไม่ทำให้ปลาตายโดยตรงแต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาเครียดทำให้ปลาอ่อนแอไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และยังมีภูมิต่างทานโรคลดน้อยลงทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เท่าที่พบในปัจจุบัน คือ
        1. โรคจุดขาว เป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำกับปลาตู้ และระบาดได้รวดเร็วมาก การป้องกันรักษา ใช้ฟอร์มาลีนเข้มข้นผสมกับมาลาไคท์กรีน แช่ติดต่อกัน 3-5 วัน จึงเปลี่ยนน้ำในตู้ปลา
        2. โรคสนิม ถ้าส่องกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเหมือนมีฟองสบู่อยู่มากกมายมักเกาะอยู่ตามบริเวณเหงือกและผิดหนัง ถ้ามีมากจะเหมือนกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาล กระจายเป็นหย่อมๆ เป็นอันตรายมากกับลูกปลาขนาดเล็ก ปัจจุบันพบมากในปลาตาแดงและปลาทรงเครื่อง
        การป้องกันรักษา ควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1 % แช่ปลาไว้นาน 24 ชั่วโมง และทำช้ำทุก 2 วัน จนกว่าโรคจะหาย
       3. โรคเห็บระฆัง มักจะพบตามบริเวณลำตัว ครีบ และเหงือก โดยจะทำให้เกิดเป็นแผล มีเมือกมาก ผิวหนังเกิดเป็นหวงขาวๆ เกล็ดหลุด ครีบขาดกร่อน เหงือกถูกทำลาย มีอันตรายต่อปลามาก ถ้าเป็นปลาขนาดเล็ก อาจทำให้ปลาตายได้ในระยะเวลาสั้น การป้องกันรักษา ใช้ฟอร์มาลีนเข้มข้น แช่นานตลอดไปจนกว่าปลาจะหาย
      4. โรคที่เกิดจากปลิงตัวใส มีขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตร ส่วนหัวเป็นแฉก ส่วนท้ายจะเป็นอวัยวะยึดเกาะมีหนามเล็กรอบๆ เมื่อเกาะที่ตัวปลาบริเวณใด ผิวหนังของปลาบริเวณนั้นจะเกิดเป็นแผล ถ้าเกาะมากๆ เข้าก็อาจทำให้ปลาตายได้ โดยเฉพาะปลาขนาดเล็ก การป้องกันรักษา ใช้ฟอร์มาลีนเข้มข้น แช่ไปตลอดจนกว่าปลิงตัวใสจะตายหมด
       5. โรคที่เกิดจากหนอนสมอ หนอนสมอมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาด 1-4 มิลลิเมตร ส่วน หัวคล้ายสมอทำหน้าที่ยึดเกาะตัวปลา ทำให้บริเวณที่เกาะเกิดเป็นแผลที่อาการตกเลือด เนื่องจากหนอนสมอมีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงสามารถจับหนอนสมอออกได้ แต่ส่วนหัวจะขาดฝังอยู่ใต้ผิดหนังของปลา การป้องกันรักษา ใช้ Dipterex เข้มข้น แช่นาน 24 ชั่วโมง เว้น 5-6 วัน ให้แช่น้ำยาดังกล่าวซ้ำอีก 3-4 ครั้ง
      6. โรคที่เกิดจากเห็บปลา เห็บปลามีขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวแบนกลม ด้านหลังโค้งมนแบ่งเป็นปล้องเชื่อมติดต่อกัน ปากทำหน้าที่ดูดเกาะ มักพบกับปลามีเกล็ด ไม่เกาะอยู่กับที่แต่จะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หรือออกจากปลาตัวหนึ่งไปเกาะปลาอีกตัวหนึ่ง การป้องกันรักษา ใช้ Dipterex เข้มข้น แช่นาน 24 ชั่วโมง
      7. โรคที่เกิดจากบัคเตรี ปลาจะมีลักษณะตกเลือดบริเวณผิดหนังและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต หรือผิวหนังจะเป็นรอยด่างและเริ่มเป็นขุยยุ่ยเหงือกเน่า การป้องกันรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิกาตราไซคลิน หรือคลอแรมพินิคัล ผสมลงในน้ำตู้ปลา หรือใช้เกลือแกงผสมลงในน้ำก็ได้ โดยประมาณ
      8. โรคที่เกิดจากไวรัส ปลาจะเกิดเป็นตุ่มนูนของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทั้งบนลำตัวและครีบ พบมากกับปลาน้ำกร่อย โรคนี้ไม่ต้องรักษาก็สามารถหายเองได้ถ้าสภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาดีขึ้น เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ หรือมีแสงเข้าถึงเป็นเวลา เป็นต้น
      9. โรคเนื้องอกในปลา พบมากในปลาทอง และปลาไน ลักษณะอาการมักเห็นเป็นกลุ่มเซลล์เจริญขึ้นมาเป็นปุ่มปมขนาดใหญ่ ตามบริเวณลำตัวหรือเกิดภายในช่องท้อง ตุ่มนี้มักจะนิ่ม สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรม สารมลพิษจะไปกระตุ้นทำให้เชลล์เกิดการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ผลเคยมีการทดลองตัดตุ่มที่เกิดขึ้นตามบริเวณผิดหนังออก แต่ปรากฏว่าต่อมาก็จะเจริญขึ้นมาใหม่ และจำนวนปุ่มปมจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

การดูแลรักษาตู้ปลา
      การเลี้ยงปลาตู้ เพื่อให้คงความสวยงามอยู่ตลอดไปนั้น ควรจะต้องเอาใจใส่ดูแลรักษาอุปกรณ์พันธุ์ไม้น้ำและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มีอยู่ภายในตู้ปลาเพื่อมิให้เกิดความสกปรก หลักสำคัญในการดูแลรักษาที่ถูกต้อง มีดังนี้
      ควรหมั่นตรวจเช็คดูรอยรั่วซึม บริเวณรอยต่อกระจกไม่ว่าจะเป็นตู้ปลาแบบเก่า หรือแบบใหม่ เพราะมักพบว่ามีรอยรั่วซึมของน้ำอยู่เสมอ สาเหตุเกิดจากชันหรือกาวซิลิโคนเสื่อมคุณภาพ หรือบริเวณที่ติดตั้งตู้ปลาได้รับแสงแดดและความร้อนจัด หรือเกิดจากการกระทบกระแทกกับวัตถุอื่น ๆ จึงควรระมัดระวัง แต่ถ้าตู้ปลาเกิดการรั่วซึมต้องปล่อยน้ำทิ้งให้หมด เช็ดทำความสะอาดแล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท จากนั้นก็นำมาซ่อมแซมโดยการใช้ชัน หรือกาวซิลิโคนทารอยรั่วให้เรียบร้อย ปล่อยทิ้งไว้นานพอประมาณ จนมั่นใจว่าติดสนิทดีแล้วจึงใส่น้ำลงตู้ปลา สังเกตรอยรั่วซึมของน้ำอีกครั้ง ถ้าไม่มีรอยรั่วซึมแล้วจึงเริ่มจัดตู้ปลาพร้อมปล่อยปลาลงได้

การดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำ
      เมื่อใช้เครื่องกรองน้ำไปได้ระยะหนึ่ง ประสิทธิภาพการกรองสิ่งสกปรกต่าง ๆ ก็จะลดลง ไม่สามารถแยกสิ่งสกปรกภายในตู้ปลาได้ดีเท่าที่ควรอันเป็นเหตุให้สภาพของน้ำไม่สะอาดพอ จึงจำเป็นต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดของตู้ปลา ให้ดีอยู่เสมอ ดังนี้
        - ควรใช้สายยางดูดเอาสิ่งสกปรกต่าง ๆ ภายในตู้ปลาอยู่เสมอ
        - ควรเลี้ยงปลาจำพวก catfish หรือปลาเทศบาล ช่วยเก็บเศษอาหารอีกด้านหนึ่ง
        - ทำความสะอาดระบบกรองน้ำใต้ทราย เช่น แผ่นกรอง หลอดพ่นน้ำ และตรวจเช็คอุปกรณ์บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผ่นกรองน้ำอยู่เสมอ

การดูแลรักษาโลหะที่สัมผัสกับน้ำ
     โลหะที่ติดมากับตู้ปลาทุกส่วนที่สัมผัสกับน้ำภายในตู้ปลานั้น บางชนิดก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิต เช่น โลหะจำพวกทองเหลืองชุบโครเมียม ตะกั่ว ดีบุก และเหล็ก ถ้าจะให้ดีควรเลือกใช้โลหะประกอบตู้ปลาที่หุ้มพลาสติกจะปลอดภัยที่สุด หากพื้นที่ตู้ปลาเป็นแผ่นเหล็ก ผู้จัดตู้ปลาควรใช้กระจกปูทับก่อนแล้วใช้ชัน หรือกาวซิลิโคนอุดยาตามซอกมุมต่าง ๆ ให้แน่นมิให้น้ำรั่วซึมลงไปได้ จะช่วยให้ปลอดภัยแก่สิ่งมีชีวิตดียิ่งขึ้นและง่ายต่อการทำความสะอาด

การดูแลรักษาพันธุ์ไม้น้ำ
     ที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ
      1. แสง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะพันธุ์ไม้น้ำมาก เพราะแสงเป็นตัวช่วยให้เกิดปฏิกิริยาการสังเคราะห์ด้วยแสง เมื่อแสงสว่างผ่านน้ำลงไป แสงจะเกิดการหักเห พืชใต้น้ำจะได้รับแสงสว่างผิดจากความเป็นจริง พืชที่อยู่ในน้ำระดับต่าง ๆ ก็จะได้รับปริมาณแสงสว่างที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นการจัดตู้ปลา จึงควรคำนึงถึงทิศทางและความต้องการแสงของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดด้วย
      2. อุณหภูมิภายในตู้ปลา จะมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ไม่มากนักและค่อนข้างคงที่ ดังนั้นพันธุ์ไม้น้ำจึงไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก
      3. แก๊ส ปริมาณแก๊สที่สำคัญที่สุดกับพันธุ์ไม้น้ำ คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (co2) ซึ่งพืชทุกชนิดจำเป็นต้องใช้ในการสังเคราะห์แสง ในขณะเดียวกันพันธุ์ไม้น้ำก็คายออกซิเจน (O2) ออกมา ถ้าภายในตู้ปลามีทั้งพันธุ์ไม้น้ำ และสัตว์อยู่ด้วยกัน อัตราการคายออกซิเจนของพันธุ์ไม้น้ำ พอเหมาะกับอุตราการคายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของสัตว์ สภาพแวดล้อมภายในตู้ปลาก็จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่รวมกันได้อย่างสมดุล
      4. ความหนาแน่น หลังจากการตกแต่งพันธุ์ไม้น้ำเรียบร้อยแล้วเมื่อปลาได้รับอาหาร และแสงสว่างที่พอเหมาะ ก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความหนาแน่น ซึ่งสภาพอย่างนี้ อาจก่อให้เกิดการเสียความสมดุลระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันจำเป็นที่จะต้องตัดแต่ง หรือเคลือบย้ายพันธุ์ไม้น้ำที่เสียรูปทรง หรือหนาแน่นเกินไปออกจากตู้ปลา นำไปเพาะเลี้ยงบำรุงดูแลในที่แห่งใหม่ต่อไป

การเปลี่ยนน้ำ
     การเปลี่ยนน้ำมีความจำเป็น เพราะน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาและพันธุ์ไม้น้ำ แร่ธาตุบางชนิดจะถูกนำไปใช้ หรือแลกเปลี่ยนไปบ้าง โดยปลาหรือพันธุ์ไม้น้ำหรือของเสียที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรมีการตรวจเช็คเพื่อปรับสภาพน้ำตามสมควรทุก ๆ 1-2 เดือน อาจเปลี่ยนน้ำเมื่อปรากฏว่า ในตู้ปลามีตะไคร่น้ำหรือน้ำขุ่น
      ข้อควรระวัง
           การเปลี่ยนน้ำจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เกี่ยวกับค่าความด่างของน้ำในตู้ปลากับน้ำใหม่ที่เติมลงไป ว่ามีความเป็นกรดเป็นด่าง อุณหภูมิ และปริมาณสารบางตัวแตกต่างกันมากเกินไปหรือไม่ ถ้าเป็นน้ำประปาควรปรับความแตกต่างของสารคลอรีนให้ใกล้เคียงกันก่อนที่จะเติมลงในตู้ปลา และอีกประการหนึ่ง ที่เก็บน้ำถ้าปิดด้วยภาชนะนาน ๆ ในกลางแจ้ง ออกซิเจนในน้ำอาจมีน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อนำไปเลี้ยงปลาโดยไม่มีพันธุ์ไม้น้ำตกแต่งอยู่ด้วยปลาที่เลี้ยงไว้อาจตายได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08/12/08, [10:13:00] โดย ethan »
kom_ ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #1 เมื่อ: 03/03/13, [11:25:32] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: