Aqua.c1ub.net
*
  Sat 20/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: แนะนำสายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช : Procambarus Clarkii  (อ่าน 3909 ครั้ง)
ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ออฟไลน์
Shrimp Admin
« เมื่อ: 28/10/15, [09:38:22] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ



Credit Picture by Chris Lukhaup และ
http://www.fishranch.de/…/k…/procambaraus-clarkii-ghost.html
**********************************************************
    Procambarus clarkii เป็นหนึ่งในกุ้งเครย์ฟิช ที่ได้รับความคุ้นเคยมานานนม ในการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชในบ้านเราด้วยมีการเลี้ยงกันมาอย่างยาวนาน ตามธรรมชาติแต่ดั้งเดิมนั้น กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายอยู่เป็นวงกว้างตั้งแต่ทางตอนเหนือของเม็กซิโก ไปจนถึงทาง ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐ อเมริกา แต่ในปัจจุบัน เมื่อได้รับการนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงามมากมายแล้ว กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้ก็เรียกได้ว่า ได้เจริญพันธุ์ไปในหลากหลายท้องถิ่นทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นในเอเซีย , แอฟริกา , ยุโรป ก็มีการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้อยู่ทั่วไป รวมทั้งพบการแพร่กระจายลงไปในแหล่งน้ำท้องถิ่นในหลายๆประเทศ เช่น ทางยุโรป ตอนใต้ ซึ่งก็ทำให้กลายเป็นปัญหาเอเลี่ยน สปีชียส์ ที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของกุ้งเครย์ฟิช ท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แม้กระทั่ง ประเทศที่ขึ้นชื่อในการดูแล สายพันธุ์สัตว์ท้องถิ่น อย่างญี่ปุ่น ยังต้องยอมศิโรราบ ให้กับการแพร่กระจายของกุ้งชนิดนี้ จนปัจจุบัน ผู้คนทั่วไป อาจจะคุ้นเคยกับกุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้ จนนึกว่า เป็นกุ้งเครย์ฟิช แต่ดั้งเดิมของทางญ๊่ปุ่นด้วยซ้ำไปครับ ชื่อเรียกอื่นๆ ของกุ้งชนิดนี้ มีหลากหลายชื่อเรียก เช่น Mudbug , Louisiana crayfish , Red swamp crawfishเป็นต้น

    เช่นเดียวกับกุ้งเครย์ฟิช ชนิดอื่นๆ กุ้งชนิดนี้ สามารถเลี้ยงดูได้ไม่ยาก สามารถหากินอาหารต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย สำหรับผู้เลี้ยงที่ต้องการเลี้ยงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็ควรจะใช้พื้นที่กว้างซักหน่อย จะทำให้เลี้ยงได้สะดวกขึ้น และ ควรมีที่หลบซ่อนให้เพียงพอ สำหรับการเลี้ยงกุ้งหลายๆตัว เพื่อลดปัญหาการกระทบกระทั่ง หรือ กินกันเอง ในระหว่างที่ลอกคราบ โดยเฉพาะในกุ้งขนาดเล็ก ที่ลอกคราบบ่อยกว่า กุ้งขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยลอกคราบแล้วครับ สำหรับในเรื่องของอาหารการกิน ควรจะให้อย่างหลากหลายที่สุด ตั้งแต่ อาหารจำพวกโปรตีน , ผักสด , ธัญพืช , ผลไม้ ,สาหร่าย หรือ แม้กระทั่งใบไม้แห้งๆ เพื่อให้กุ้งได้รับสารอาหารต่างๆ อย่างครบถ้วน หลากหลาย ส่งผลดีต่อสุขภาพของกุ้ง ในระยะยาวครับ ซึ่งถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องแล้ว กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ จะสามารถเติบโตได้ถึง 5 นิ้วเลยทีเดียว โดยจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 - 80 กรัม กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่กินไม้น้ำได้เก่งมาก ดังนั้น ตู้ไม้น้ำต่างๆ นั้น โดยเฉพาะพวกไม้น้ำใบอ่อนๆนั้น ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงพวกเขาอย่างแน่นอนครับและถ้าที่เลี้ยงมีขนาดใหญ่ ก็สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาเล็กๆ ที่ว่ายกลางน้ำ และ ผิวน้ำได้ ในระดับหนึ่งครับ

   สำหรับการผสมพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้นั้น พ่อและแม่กุ้งที่มีความสมบูรณ์นั้น สามารถให้ไข่ได้ถึงกว่า 300 ฟองเลยทีเดียว และสำหรับลูกกุ้งที่เพิ่งเกิดใหม่นั้น จะมีเปอร์เซ็นต์กินกันเองสูง ถ้าไม่มีที่หลบซ่อน ที่มากเพียงพอ ซึ่งลูกกุ้งในช่วงนี้ จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าได้รับอาหารอย่างทั่วถึง ผู้เลี้ยงจึงควรจัดเตรียมอาหารเอาไว้ให้เขาอย่างทั่วถึงครับ
และด้วยความที่มีการเลี้ยงกันมาอย่างยาวนาน ในหลายๆประเทศ กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้ จึงมีรูปแบบสีต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากรูปแบบสี ( Color Morph )แบบดั้งเดิม ที่เป็นสีน้ำตาล - แดง หรือ แดง - ดำ ก็ได้รับการคัดเลือกสีสันใหม่ โดยในยุคแรกๆ จะได้สีสัน ที่เป็นสีส้ม ( Bright orange ) , สีขาว ( Snow )และ สีฟ้า ( Blue spot ) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มเกิด รูปแบบสีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ที่โดดเด่น ก็คือ รูปแบบสี Ghost และ Clear โดยลักษณะเด่นๆ ของรูปแบบสีที่เป็น Ghost ก็คือ การพบการเว้าแหว่งของเม็ดสี ที่เปลือกของกุ้ง โดยเฉพาะในอวัยวะ บางส่วน เช่น ก้าม หรือ หนวด ถ้าพบการเว้าแหว่ง ของเม็ดสี เช่น หนวดเป็นสีขาว ก้ามบางส่วน เป็นสีขาวเผือก สลับกับเม็ดสีพื้นฐานของตัวกุ้ง ซึ่งถ้าพบความเว้าแหว่ง ที่สวยงามแล้ว ราคาของกุ้งตัวนั้น ก็จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากกว่าปกติได้มากเลยทีเดียว แต่ถ้าลักษณะการเว้าแหว่งของสีนั้น ไม่ได้มีมากนัก สีส่วนใหญ่ยังเป็นสีพื้นฐานเดิมๆ ของกุ้งชนิดนี้อยู่มาก ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งครับ โดยถ้าเป็นสีแปลกๆใหม่ๆ ที่นิ่งแล้ว และ สามารถให้ลูก - หลาน ที่สืบทอดสีเหล่านั้นได้ในเปอร์เซ็นต์มากๆ หรือ " เลือดนิ่ง " แล้ว ราคาของกุ้ง ก็จะยิ่งขยับไปเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งในส่วนนี้ อาจจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ และ ผู้บริโภค ที่จะตกลงกัน และ ยอมรับความเสี่ยงในระดับหนึ่งด้วยครับ เพราะการผสมพันธุ์สัตว์ บางครั้งก็ไม่ได้ดังตั้งใจไปเสียทั้งหมด ตรงนี้ไม่มีอะไรตายตัวครับ ส่วน รูปแบบสี อีกรูปแบบหนึ่งคือ " เคลียร์ " ( Clear ) นั้น จะเป็นรูปแบบสี ที่เน้นการเว้าแหว่งของเม็ดสีที่ด้านข้างของส่วนหัว รวมถึงลำตัวเป็นหลัก ถ้าเว้าแหว่งได้สวย ก็จะมีราคาที่ดีในท้องตลาดครับ อนึ่ง เราสามารถพบลักษณะทั้งสองอย่างนี้ได้ ในกุ้งตัวเดียวเช่นกันครับจึงเรียกได้ว่า ถ้าเรามีกุ้งที่สวย ลวดลายแปลกจริงๆ ก็อาจจะเป็น กุ้งที่มีสีแบบนั้น อยู่ตัวเดียวในโลกก็่ว่าได้ครับ

   อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช มือใหม่ นั้น มักจะพบความสับสน ในการเลี้ยงในปัจจุบันมาก ด้วยว่าที่ผู้จำหน่ายบางส่วน มีการใช้ภาษาในการเรียกที่ออกจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไป เช่น การใช้คำว่า " ชนิด " ในการระบุความแตกต่างของสีสันแทน การใช้คำว่า " รูปแบบ / แพทเทิร์นสี " หรือจะทับศัพท์ว่า " Color morph " ทำให้เกิดความหมายที่คลาดเคลื่อนไป พอผู้เลี้ยงมือใหม่ ได้มาลองเลี้ยง ก็จะเริ่มเกิดความสับสน ตัวใหนเป็นตัวใหน อย่างไรเป็นพันธุ์แท้ ไม่แท้กันแน่ มันเป็นพันธุ์เดียวกันหรือเปล่า เห็นรูปร่างเหมือนกันทุกกระเบียด แต่สีต่างกัน แล้วจะเอาผสมกันได้ไหม และ สารพัดคำถาม ย้อนกลับไปยังผู้จำหน่าย และ หลากหลายทิศทางเนื่องจากการสื่อความหมายด้วยคำที่คลาดเคลื่อนไป
จริงๆ แล้ว ในทัศนะของผู้เขียน อยากให้ผู้จำหน่ายให้ความรู้กับผู้เลี้ยง โดยเฉพาะมือใหม่ทราบว่า การที่กุ้งเครย์ฟิช สายนี้ มีชื่อเรียกทางการค้า และราคาที่แตกต่างกันมากนั้น เนื่องมาจาก " รูปแบบ " ของสี ที่แตกต่างกัน อย่างที่กล่าวมา ยิ่งตัวใหน มีรูปแบบสีสันที่โดดเด่น ไปจาก สีสันพื้นๆ โดยทั่วไป และ ยังให้ลูกให้หลาน รุ่นต่อๆมามีสีสันที่ใกล้เคียงกัน หรือ ดีเทียบเท่า ก็ยิ่งเป็นกุ้งตัวที่ถือว่าเป็น " เกรดสูง " ซึ่ง สามารถทำให้กุ้งมีราคาที่น่าสนใจ คุ้มค่าต่อการเพาะเลี้ยงดูแล ของทั้งผู้เพาะพันธุ์ได้ และ ก็จะได้เป็นการพัฒนาสีสัน ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะผู้เขียน มีทัศนะคติว่า ผู้เพาะเลี้ยง น่าจะช่วยกันพัฒนา ให้สายพันธุ์ มีความนิ่ง และให้ลูกที่สวยงาม น่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า การใช้คำว่า" แท้ " หรือ " ไม่แท้ " มาตัดสินกับสีสันของกุ้ง เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การพัฒนาสีสันของกุ้งนั้น จะมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ

   โดยที่การระบุว่า แนวทาง สีใด สีหนึ่ง เป็นสีทีต้องถือเป็นหลัก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นการกำหนด จากร้านค้า ซึ่งจะว่าไปแล้วแต่ละเจ้า มาตรฐานก็คงไม่เหมือนกัน และถ้าหากกุ้งเพาะออกมาได้รูปแบบสีต่างจากสีที่ร้านค้ากำหนด หรือ กล่าวกันมา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการกำหนดรูปแบบสีที่มีมาเนิ่นนาน และโดยมาก ก็จะเป็นรูปแบบสีของกุ้งโกสต์ / เคลียร์ ที่เกิดขึ้นมาในยุคแรกๆ เท่านั้น ขณะที่กุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkii แพทเทิร์นสีใหม่ๆ กำเนิดหรือ ปรากฏขึ้นมาใหม่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนนั้น รู้สึกว่า การกำหนดรูปแบบของสีใด สีหนึ่ง ให้เป็นสีสันมาตรฐานที่ให้ถือเป็น " ของแท้ " เท่านั้น ออกจะเป็นการจำกัดกรอบความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาสีสันของกุ้งไปอย่างน่าเสียดาย จึงอยากให้ ผู้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช Procambarus clarkii ในสีสัน " โกสต์ และ เคลียร์ " นั้น มาร่วมกันพัฒนาสีสัน กันอย่างอิสระ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกๆฝ่ายมากกว่าครับ และ หลังจากที่เราได้มีการพัฒนาสีสันต่างๆ ไปจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ต่อไป ก็อาจจะมีชื่อเรียก ทางการค้า เพิ่มเติม ขึ้นมา ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ พอพูดถึงแล้ว นึกถึงสีสัน ที่เป็นรูปแบบสี ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แบบเป็นสากลอีกครั้ง เหมือนกับ วงการ การเลี้ยงกุ้งแคระ สวยงาม เช่น กุ้งแคระเรดบี ก็ได้ครับ ที่ได้มีการพัฒนาสีสัน ของกุ้ง ด้วยวิธีต่างๆ จาก กุ้งแคระ สีขาวๆ ใสๆ สลับ แดงๆ นิดหน่อย ( กว่าจะได้สีแดงจาก สีดำของกุ้งแคระ Caridina serata ในธรรมชาตินี่ ใช้เวลาพัฒนาหลายปี และ เงินลงทุนหลายล้านบาทนะครับ ) ก็พัฒนาสีสันกันมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน แตกไลน์ของรูปแบบสีออกมามากมาย และ ก็มีรูปแบบสี ที่มีชื่อเรียก ที่ค่อนข้างเป็นสากล และ ทำให้เมื่อพูดถึงชื่อแพทเทิร์นสีนั้นๆแล้ว สามารถนึกภาพออกได้ในวงการครับ เช่น แพทเทิร์นสี " คิงคอง " , " บลู โบสต์ " หรือ กระทั่งชื่อภาษาญี่ปุ่น ทับศัพท์ อย่างเช่น " โซล่า อาโออิ " เอ๊ย !! ไม่ใช่... ยกตัวอย่างเช่น " ฮิโนมารุ " , " โมสุระ " ซึ่งเมื่อเอ่ยชื่อต่างๆ เหล่านี้มา เป็นอันว่านึกภาพสีออกเหมือนกันหมด ทั้งวงการเลี้ยงกุ้งแคระครับ...( แต่ก็ต้องทำจนสีนิ่งจริงๆ แล้วมีปริมาณลูกออกมาเยอะ จนแพร่หลายไปเป็นสากลล่ะนะครับ ) ซึ่งถ้าหากว่าผู้พัฒนากุ้งแคระสวยงามไปยึดติด แต่รูปแบบสีเดิมๆ ให้เป็น สีสัน เที่ยงแท้ ดุจสัจธรรมของโลก จะไม่ทำสีอื่นแล้ว ไม่ลองทำสีใหม่ๆ การพัฒนากุ้งแคระที่มีสีสันสวยงาม คงไม่ได้มีความหลากหลายของสีสัน อย่างมาก เหมือนในปัจจุบันแน่นอนครับ ส่วนกุ้งเครย์ฟิช ในสายนี้ ที่เป็น " โกสต์ และ เคลียร์ " ถ้าตัวใหนพัฒนาแล้ว สีสันเป็นอย่างไร จะถูกใจตลาดไหม ทางผู้บริโภค จะเป็นผู้ตัดสินเองครับ ดังนั้น ไม่ว่าผู้พัฒนา หรือ เพาะเลี้ยง ท่านใด จะชอบสีสันแนวไหน อยากทำแบบไหน ก็ขอให้ท่านพัฒนาสีสันเหล่านั้นให้นิ่ง เป็นแนวทางของท่านเอง ก็คงจะประสบความสำเร็จในไม่ช้าครับ และ สุดท้าย ขอฝากความจริงใจในการค้าด้วย ว่าถ้าสีสัน แบบไหนยังไม่นิ่งยังไง ก็ควรที่จะแจ้งลูกค้าไปตามจริง ก็จะทำให้เกิดการยอมรับในด้านการค้าขายกันได้ ทั้งสองฝ่ายครับ. แล้วพบกันใหม่ ในบทความหน้านะครับ ขอบคุณมากครับ

เรื่อง : กษิดิศ วรรณุรักษ์

ติดตามแฟนเพจได้ที่

https://www.facebook.com/Thailand-Shrimp-Crayfish-Club-229670613731393/

ป.ล. จริงๆ ผู้เขียน ติดตามการเพาะพันธุ์กุ้งสวยงาม ในสายนี้ มาตลอดตั้งแต่ เริ่มมีการนำเข้ามาใหม่ๆ ใจจริง อยากลงรูปสีสัน กุ้งที่มี พี่น้องชาวไทยเรานี่แหล่ะ ที่ทำได้สวยๆ มีราคาตัวละหลายร้อย ถึงหลักเป็นพันๆ บาท ผู้คนแย่งกันประมูลซื้อกันหูดับตับไหม้เหมือนกัน แต่เพื่อเป็นการ แสดงความบริสุทธิใจว่า การเขียนนี่ไม่ได้ เขียนเพื่อโปรโมต ผู้ค้ารายใดเป็นพิเศษ จึงขอใช้รูปกุ้งที่มีปรากฏตามเว็บไซต์ทั่วๆไปของทางตะวันตกแทนครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29/10/15, [14:18:50] โดย ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊กกับลูกสาวมุจิ๊จอมแก่น »
Longhairguy ออฟไลน์
Shrimp Admin
« ตอบ #1 เมื่อ: 28/10/15, [09:44:05] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สวยดีนะ มีไปเดินโฉบๆดูอยู่
What_The_Fish ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #2 เมื่อ: 28/10/15, [15:08:07] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณที่มาให้ความรู้ครับ   idea1
ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ออฟไลน์
Shrimp Admin
« ตอบ #3 เมื่อ: 29/10/15, [11:33:38] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

สวยดีนะ มีไปเดินโฉบๆดูอยู่

 ไปซื้อมาขุนๆ เตรียมขยายทำพวกนี้หลายตัวแล้วล่ะเพื่อน ราคามันเริ่มเสถียรละ ไม่แพงไป ไม่ถูกไป สีแบบเดิมๆ

ตอนนี้เลี้ยงจนตัวใหญ่มากมี ยังขายได้ 100 - 200 บาท ทำราคาขยับไม่ได้เลย ส่วนสีแบบนี้ มันลุ้นๆดีอ่ะเน่อ บางตัว

สวยมากๆ ยิ่งตัวใหญ่นี่ ราคาหลักพัน สองพัน เลยนะนั่น ค่าเลี้ยงดูเท่ากัน ( ฮา )  ้hahaha
413 ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #4 เมื่อ: 02/11/15, [11:47:42] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: