Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ไครรู้วิธีอนุบาลลูกกุ้ง บลูคาเมลูนบ้างครับ  (อ่าน 1482 ครั้ง)
t2t ออฟไลน์
Club Member
« เมื่อ: 18/07/15, [23:12:44] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

คือแม่กุ้งบลูคาเมลูน ออกลูกมาเป็นแพลงตอนเล็กๆเต็มตู้เลยครับ ตอนนี้ย้ายมาพักไว้อีกตู้นึงแล้วใส่อ๊อกหัวทราย ใส่ลูกนํ้าอบแห้งป่นผงให้เป็นอาหารอยู่ แต่ดูไม่ออกเลยว่ามันกินหรือเปล่า เพราะตัวเล็กมากๆ ไม่รู้จะเลี้ยงยังไงดีเหมือนกัน ไครพอมีความรู้ หรือมีข้อแนะนำยังไงบอกหน่อยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ
ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ออฟไลน์
Shrimp Admin
« ตอบ #1 เมื่อ: 23/07/15, [22:25:52] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

คือแม่กุ้งบลูคาเมลูน ออกลูกมาเป็นแพลงตอนเล็กๆเต็มตู้เลยครับ ตอนนี้ย้ายมาพักไว้อีกตู้นึงแล้วใส่อ๊อกหัวทราย ใส่ลูกนํ้าอบแห้งป่นผงให้เป็นอาหารอยู่ แต่ดูไม่ออกเลยว่ามันกินหรือเปล่า เพราะตัวเล็กมากๆ ไม่รู้จะเลี้ยงยังไงดีเหมือนกัน ไครพอมีความรู้ หรือมีข้อแนะนำยังไงบอกหน่อยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ในปัจจุบัน ได้มีการทดลองเพาะเลี้ยง น้องกุ้งที่มีการพัฒนาตัวของตัวอ่อนในน้ำเค็มลักษณะแบบนี้  โดยการเลียนแบบวงจรชีวิต และ การให้อาหารที่คล้ายกับในธรรมชาติที่ลูกกุ้งได้รับ ทำให้สำเร็จผล ในการเพาะพันธุ์ครับ  โดยแนวทางที่จะนำเสนอนี้  ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ที่มีผู้นำไปทดลองทำแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจในการเพาะพันธุ์นะครับ ใช้ได้กับกุ้งแคระน้ำจืด เช่น กุ้งยามาโตะ , กุ้งในตระกูลฟิลเตอร์ ชริมพ์ ต่างๆครับ

การเตรียมตู้เพาะ ผู้เลี้ยงควรจะเลือกใช้ตู้เพาะ ที่มีขนาดใหญ่ซักหน่อย คือขนาดตั้งแต่ประมาณ 54 ลิตรขึ้นไป  ( หรือ ประมาณ 14 แกลลอน ) การใช้ตู้ที่มีขนาดเล็ก จะทำให้เราเพาะพันธุ์ได้ยาก เพราะว่า ตัวเมียจะออกไข่ มาเป็นปริมาณมากกว่า 1,000 ตัวอ่อน ต่อหนึ่งแม่กุ้ง ที่มีขนาดสมบูรณ์  อีกทั้งตู้ที่เล็ก ทำให้ค่าต่างๆในตู้ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกกุ้งวัยอ่อน

    ในตู้เพาะนั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ระบบกรองใดๆ เข้าไป อาจจะมีเพียงหัวทราย หรือ กรองฟองน้ำเป่าลมเบาๆ ก็เพียงพอแล้ว โดยตู้เพาะนั้น จะต้องนำไปทำการ “ สร้างตะไคร่น้ำ  “  โดยการนำน้ำจากตู้เลี้ยงแม่กุ้ง จากตู้ปกติ  หรือ ตู้เตรียมความพร้อม ( ตู้ขุน ) มาใส่ในตู้ที่จะเพาะฟัก ประมาณ ซัก 50 เปอร์เซ็นต์  แล้วที่เหลือก็เติมด้วยน้ำสะอาดตามปกติ จากนั้น ให้เราใช้ โคมไฟ ทำการส่องสว่าง  ซํกวันละประมาณ 8 – 10 ชั่วโมง เพื่อให้ตู้เพาะอุดมไปด้วยตะไคร่น้ำ ที่จะเป็นอาหารสำหรับแม่กุ้ง และ ตัวอ่อนได้เป็นอย่างดี  ซึ่งขั้นตอนในการเตรียมตู้เพาะนี่ ก็น่าจะกินเวลาราว 3 – 4 สัปดาห์ หรือขึ้นอยู่กับ ปัจจัยแวดล้อม ภายในสถานที่เพาะของแต่ละท่านครับ

   ในตู้เพาะนั้น สามารถประดับด้วย ต้นไม้พลาสติก หรือ กระถางต้นไม้ เพื่อให้เป็นที่หลบซ่อนของแม่กุ้งที่มีไข่ได้  ซึ่งจะเป็นผลดี ทำให้แม่กุ้งปรับตัวได้เร็ว ไม่เครียดครับ หลังจากที่ประดับตบแต่ง วัสดุหลบซ่อน หรือ เพื่อความสวยงาม ตามที่ชอบแล้ว ก็ให้เรานำเอากุ้งตัวเมียที่ท้องแก่มาใส่เอาไว้ในตู้เพาะ  ซึ่งการสังเกตดูว่า ตัวเมียตัวใหนท้องแก่นั้น ก็อาจจะพิจารณาดูจากสีไข่ของตัวกุ้งครับ จากไข่สีเข้มๆ ถ้าเริ่มมีสีจางลง เช่นจากเคยเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือ สีเขียวแก่ๆ ( เขียวโอลีฟ ) กลายมาเป็น สีเขียวอ่อน หรือ สีเทาจางๆ ก็แสดงว่า ลูกกุ้งใกล้พัฒนาตัวเพื่อออกมาเป็นลูกกุ้งวัยอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆทีแล้วครับ และ ตัวแม่จะสลัดลูกกุ้งที่เป็นตัวอ่อนออกจากท้อง ในเวลาไม่นานครับ  ซึ่งในขั้นตอนนี้ อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ ขั้นตอนการพัฒนาตัวอ่อนของลูกกุ้งซักหน่อยหนึ่งครับ แต่นานๆไปแล้วก็คาดว่า น่าจะคาดเดาได้แม่นยำขึ้นแล้วล่ะนะครับ 

    หลังจากนั้นให้ เรานำตัวเมีย ที่ท้องแก่แล้ว มาใส่ในอ่างที่เป็นอ่างเพาะพันธุ์  และ รอคอยประมาณ 4 – 5 สัปดาห์  จนกระทั่งตัวเมียเริ่มสลัดตัวอ่อนออกจากท้อง ซึ่งในระหว่างนี้ ก็สามารถให้อาหารกุ้งตัวเมียแม่พันธุ์ได้ตามปกติครับ  แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำเสียนะครับ  ให้แต่พอดี ถ้าเหลือก็ดูดอาหารเก่าทิ้ง เติมน้ำใหม่ เข้าไปอีกนิดหน่อยได้ครับ โดยอาจจะให้อาหารเสริมเพิ่มเติมให้ในทุกๆ 2 – 3 วันครับ โดยอาจจะให้เป็นอาหารเม็ดจมน้ำ ที่ทำความสะอาด และ เก็บออกได้ง่าย ในกรณีที่กุ้งกินเหลือครับ 

    และในระหว่างที่รอตัวเมียที่ท้องแก่นั้นสลัดไข่  ก็ให้เรานั้น เตรียมการสำหรับการทำตู้น้ำจืดตามปกติเอาไว้ได้เลย เผื่อถ้าเราอนุบาลลูกกุ้งจนโตได้แล้ว จะได้มีตู้ หรือ ที่เลี้ยงสำหรับรองรับเขาได้เลยในทันทีครับ เพราะถ้าเราเซ็ตระบบไว้จนเรียบร้อยดีหมดแล้ว การนำลูกกุ้งมาลง ก็จะทำให้อัตราการรอด และ การเจริญเติบโต สูงขึ้นด้วยครับ

    และเมื่อถึงเวลาที่แม่กุ้งปล่อยตัวอ่อนออกมาจากท้องแล้ว  เราก็จะพบว่า มีลูกกุ้งวัยอ่อน ที่คล้ายกับแพลงค์ตอน ลอยอยู่เต็มแท็งค์ไปหมด  จำนวนมากเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณแม่กุ้งที่อยู่ในบ่อเพาะพันธุ์ครับ  ซึ่งพอมาถึงขั้นตอนนี้แล้วล่ะก็ ขอให้ผู้เพาะพันธุ์นั้น  แยกแม่กุ้งออกไปอยู่ในอ่างน้ำจืดได้แล้วล่ะครับ หลังจากนั้น ก็เริ่มวางพวกที่หลบซ่อนต่างๆ สำหรับให้ลูกกุ้งหลบซ่อน และ หากินต่อไปในอนาคต ซึ่งตัวอ่อนลูกกุ้งจะแข็งแรงเพียงพอ ถ้าท่านไม่กวนน้ำเล่นมากจนเกินไป ก็รับรองว่า ไม่มีปัญหาใดๆแน่นอนครับ  ซึ่งตัวอ่อนของกุ้งประเภทนี้นั้น ส่วนใหญ่ จะมีชีวิตอยู่ในน้ำจืดได้ซักระยะหนึ่ง นานเพียงใด ก็แล้วแต่สายพันธุ์ของกุ้งครับ หลังจากนั้น ก็เป็นขั้นในการเริ่มใส่เกลือ ( ต้องเป็นเกลือ ที่ใช้ทำน้ำทะเล หรือ Marine Salts นะครับ ปัจจุบันมีจำหน่ายกันมากมายหลายยี่ห้อ ราคาก็ไม่ได้สูงอะไรมากครับ ไม่แนะนำให้ใช้เกลือแกง นี่อาจจะมีสารเคมี ปลอมปน ไม่แนะนำครับ  )   

    โดยเราจะเริ่มใส่เกลือในน้ำที่ประมาณ 25 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร  ดังนั้นสูตรในการคำนวณปริมาณน้ำกับเกลือนี่ต้องค่อนข้างแม่นยำนะครับ  ปริมาณเกลือที่มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป จะมีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของลูกกุ้งได้ครับ  ในระหว่างการโรยเกลือให้เราโรยเกลือลงไปเบาๆ และใช้ช้อนพลาสติกคนให้เกลือละลายหมดโดยทันที ซึ่งอาจจะทำให้น้ำในตู้ มีสีขุ่นขาวไปบ้าง แต่ก็จะหายไปเอง ในเวลาไม่นานวันครับ

    หลังจากนั้น เราก็จะเริ่มให้อาหารสำหรับลูกกุ้ง  ซึ่ง จะใช้พวกอาหารเหลว สำหรับเอาไว้อนุบาลลูกอาร์ทีเมีย น้ำเค็ม เช่น อาหารเหลว ยี่ห้อ  Liquizell  ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามเว็บดังๆ เช่น E-bay นะครับ ในบ้านเรา กระผมไม่แน่ใจว่ามีร้านเอาเข้ามาจำหน่ายด้วยไหม  แต่ถ้าไม่ ก็ไม่ยากครับ ถ้าสั่งซื้อเองไม่เป็น เดี๋ยวนี้ ก็มีเว็บรับสั่งซื้อของจาก E-bay แถมรับประกันของให้ด้วย เยอะแยะมากมายหลายที่ ก็เลือกใช้บริการ ตามที่ทุกท่านสะดวกครับ ยิ่งถ้าท่านสั่งซื้อของจากเว็บอย่าง E-bay เองเป็นด้วยแล้ว ก็ยิ่งสบายใหญ่เลยครับ ซื้อมาตุนเตรียมทำลูกกุ้งก่อนหน้านี้ได้เลย ครับ

    ดังนั้นสรุปแล้ว วันแรก เราก็ส่องไฟ และ ให้อาหารลูกกุ้ง ด้วยอาหารเหลว ประมาณ 15 หยด ( อัตรา และ ปริมาณ มาก และ น้อย ขอให้ผู้เลี้ยงพิจารณา ให้เหมาะสมตามปริมาณการเพาะลูกกุ้งของท่านด้วยนะครับ )

    วันที่ 2

    ลูกกุ้งจะเริ่มว่ายหาอาหาร  ตามแสงไฟ โดยถ้าเราสังเกต ก็จะพบว่า เขาจะว่ายเอาหัวคว่ำลง อันนี้ก็เป็นไปตามปกตินะครับ ไม่ต้องกังวลอะไร และถ้าตัวอ่อน แสดงการว่ายระนาบไปกับพื้นด้านล่าง หรือ ว่ายขึ้นๆลงๆ แบบผิดปกติ อันนั้น อาจจะมีปัญหาอะไรซักอย่างครับ  ส่วนสภาพน้ำ วันแรกที่อาจจะมีสีขาวขุ่นไปบ้าง วันนี้ ก็น่าจะเริ่มใสขึ้นแล้วล่ะนะครับ  วันนี้ไม่ต้องป้อนอาหารเหลว ก็ได้ครับ พักวันหนึ่ง

    วันที่ 3

     ตอนนี้ น้ำในตู้ ก็น่าจะเริ่มใสแล้วนะครับ  และ เมื่อถึงเวลาเปิดไฟ  ก็ให้ผู้เลี้ยงให้อาหารเหลว อีกประมาณซัก 10 หยดครับ

    วันที่ 4

     ก็จัดเป็นวันพักผ่อนไปครับ  ไม่ต้องให้อาหาร ผู้เลี้ยงอาจจะนัดไปทานข้าวกับหวานใจ  เดินเล่น สวนสาธารณะ  หรือพากันไปกินน้ำตก ซกเล็ก ซุบหน่อไม้ ตับหวาน ตับย่าง  และอีกหลากเมนู  ก็เชิญได้ตามชอบใจเลยครับ แล้วถ้ากลับมาที่บ้านแล้ว ยังไม่เหนื่อยมาก ก็ลองมาดูทีตู้อนุบาลอีกที  ก็จะเห็นได้ว่า ลูกกุ้งวัยอ่อน เหมือนจะโตขึ้นมาอีกนิดแล้วล่ะครับ

     วันที่ 5

    วันนี้เราจะเริ่มเพิ่มเมนูใหม่ ให้กับลูกกุ้งวัยอ่อนได้แล้วล่ะครับ  โดยเพิ่มการให้ สไปรูลิน่า ผง  สำหรับสัตว์น้ำ หาซื้อได้ง่ายทั่วไปครับ ราคาไม่แพง มาเพิ่มอีกเมนูหนึ่ง แต่ไม่ใช่ โรยให้กันไปโจ้งๆนะครับ  ต้องนำ สไปรูลิน่าผง มาผสมกับน้ำสะอาดก่อน แล้วจึงนำมา หยดให้ ลูกกุ้งวัยอ่อนกินครับ  ( ราว 30 หยด หรือ ปรับตามความเหมาะสม )

    วันที่  6

    วันนี้เป็นวันพักผ่อน  หยุดให้อาหารอีกเช่นเคย ในตอนนี้ จะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่า ลูกกุ้งวัยอ่อน เริ่มจะแทะเล็มกินตะไคร่ ที่ขึ้นภายในตู้ได้บ้างแล้วครับ

     วันที่  7

    หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป  ในขณะนี้ ถ้าทุกอย่าง เป็นไปได้ด้วยดีแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ลูกกุ้งนั้น จะมีขนาดที่โตขึ้นมากแล้ว  ซึ่งถ้าพบว่า ลูกกุ้งยังไม่โตขึ้น ก็แสดงว่า อาจจะมีบางอย่างที่ต้องแก้ไขในการอนุบาลครับ  เช่นการให้อาหาร หรือ การควบคุมสภาวะแวดล้อม และ อุณหภูมิต่างๆ ซึ่งถ้าเรายังไม่ปรับปรุง ก็มีโอกาศ ที่ลูกกุ้งจะตาย หรือ รอดมาได้น้อยกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นครับ

    วันที่ 8 – 11

     ในช่วงนี้ก็ให้ผู้เลี้ยง ให้อาหาร วันสลับวัน ไปเรื่อยๆ  จะเริ่มสังเกตได้ว่า ลูกกุ้งวัยอ่อนเริ่มมีการพัฒนาระบบการย่อยอาหารที่ส่วนหาง  ให้เราเห็นชัดเจนขึ้น เป็นสัญลักษณ์ว่า การเลี้ยงดูของเรานั้น ทำได้เป็นอย่างดีแล้วครับ

    วันที่ 12

    ในช่วงนี้ น้ำอาจจะเริ่มเป็นสีเขียว จากการที่มีสาหร่ายเซลล์เดียว เกิดขึ้นในระบบมากขึ้น  ซึ่งก็ไม่ได้มีผลเสียอะไรครับ แล้ว เราก็จะสังเกตได้ว่า ลูกกุ้งวัยอ่อน เริ่มว่ายน้ำในแนวดิ่งได้บ้างแล้ว

    วันที่  13

     ให้ผู้เลี้ยงเพิ่มการให้น้ำสาหร่ายสไปรูลิน่า เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยครับ

    วันที่ 14

     ในช่วงนี้  ขอให้ผู้เลี้ยงสังเกตพัฒนาการ ของลูกกุ้งวัยอ่อนครับ บางทีอาจจะได้เห็นลูกกุ้งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของสีบ้าง ( ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ของกุ้ง เช่น ถ้าเป็นกุ้งยามาโตะ ก็อาจจะเริ่มมีสีน้ำตาล หรือ แดงแก่ๆ เป็นต้นครับ )

    วันที่ 15 

    ในวันนี้  น่าจะเป็นวันที่เราเริ่มเปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งแรก ได้แล้วครับ   โดยอาจจะเปลี่ยนแค่ราวๆ ซัก 1/3 ของปริมาณน้ำในตู้  โดยการเปลี่ยนน้ำนั้น  ควรจะเปลี่ยนในช่วงที่เรานั้นปิดไฟได้ซักระยะหนึ่ง เพราะลูกกุ้งวัยอ่อน จะลงไปนอนกองอยู่กับพื้นตู้อนุบาลเสียเป็นส่วนใหญ่แล้วครับ  การเปลี่ยนให้เราใช้สายยางขนาดเล็กๆ ค่อยๆดูน้ำออกไปช้าๆ อาจจะเสียเวลาหน่อย แต่ปลอดภัยจากการที่ลูกกุ้งวัยอ่อน จะถูกดูดออกไปครับ  แล้วสายยางที่ดูดน้ำ ก็อาจจะคลุมปลายด้วยผ้าขาวบางเสียหน่อย ก็จะช่วยกันไม่ให้ ลูกกุ้งวัยอ่อน ถูกดูดออกไปได้ดีขึ้นครับ

    หลังจากนั้น ก็ใส่น้ำใหม่ ที่ผสมเกลือทะเลที่ละลายน้ำเรียบร้อยแล้ว ในอัตราส่วนประมาณ 25 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตรเหมือนเดิมครับ เทน้ำใหม่ เบาๆ ลงไปในตู้  หลังจากนั้นก็หยด อาหารเหลวสำหรับอนุบาลลูกอาร์ทีเมีย ลงไปซักเล็กน้อยครับ

    วันที่  16 - 17

    สองวันนี้ เราให้เป็นวันพัก การให้อาหารครับ  เพื่อให้ระบบเซ็ตตัวได้เรียบร้อยดีก่อน เราก็ เปิดไฟดู ลูกกุ้งวัยอ่อน หากินกันเพลินๆไปตามปกติ และปิดเมื่อถึงเวลาอันสมควร เด้อครับเด้อ 


  วันที่  18 – 20

    ช่วงนี้ผู้เลี้ยง ก็สามารถให้อาหาร แบบวันเว้นวัน ได้ครับ  คอยระวังไม่ให้เศษอาหารเหลือเยอะ คอยดูแลคุณภาพน้ำเอาไว้ให้ดี เผื่อให้ไม่มีปัญหา ในการอนุบาลลูกกุ้งครับ
 
   หลังจาก วันที่ 20 – วันที่ 58  หรือประมาณ 2 เดือน หลังจากลูกกุ้งเริ่มออกจากท้องแม่  เราจะเห็นได้ว่า ลูกกุ้งจะเริ่มลอกคราบครั้งแรก และ มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัยแล้ว เราก็สามารถที่จะทยอยย้าย ลูกกุ้งเข้าสู่อ่างเลี้ยงขนาดเล็กๆ และ เริ่มลดความเค็มลง จนปรับเป็นน้ำจืดสนิทได้ในเวลาต่อมาครับ  โดยอาจจะทยอยเปลี่ยนน้ำวันละ 50 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆวัน จนกลายเป็นน้ำจืดสนิท และ เลี้ยงดูลูกกุ้งต่อไป พอเวลาผ่านไปได้ประมาณ 4 - 5 เดือน บวกลบเล็กน้อย ช่วงนี้ลูกกุ้งก็จะตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ได้เร็วมาก ถ้าได้รับการดูแลดีๆ หลังจากนี้  เราก็สามารถเอาไปเลี้ยงรวมในตู้เลี้ยงต่างๆที่เราต้องการได้แล้วครับ
t2t ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #2 เมื่อ: 28/07/15, [02:17:26] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณมากครับ
สรุปแล้วลูกกุ้งบลูคาเมลูนต้องอนุบาลในนํ้าเค็มเท่านั้นใช้ไม๊ครับ
มิน่า ลูกกุ้งตอนนี้การเจริญเติบโตไม่กระเตื้องเลย
ป๊ะป๋าดุ๊กดิ๊ก&น้องดริว&น้องดรีม ออฟไลน์
Shrimp Admin
« ตอบ #3 เมื่อ: 30/07/15, [09:57:05] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณมากครับ
สรุปแล้วลูกกุ้งบลูคาเมลูนต้องอนุบาลในนํ้าเค็มเท่านั้นใช้ไม๊ครับ
มิน่า ลูกกุ้งตอนนี้การเจริญเติบโตไม่กระเตื้องเลย

 ครับ
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: