Aqua.c1ub.net
*
  Fri 19/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ปลาก้างพระร่วง(Ghost catfish)  (อ่าน 10714 ครั้ง)
BiK ออฟไลน์
Club Follower
« เมื่อ: 18/01/15, [21:06:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

   รวบรวมมาให้อ่านกันอีกทีครับ เนื่องจากไม่ค่อยมีข้อมุลเกี่ยวกับปลาชนิดนี้สักเท่าไรนัก

            ปลาก้างพระร่วง(Ghost Catfish)



ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร(Kingdom)   Animalia
ไฟลัม(phylum)      Chordata
ชั้น(Class)         Osteichthyes
อันดับ(Order)      Siluriformes
วงศ์(Family)      Siluridae
สกุล(Genus)      Kryptopterus
สปีชีส์(Species)      Krytopterus Vitreolus1


   หลังจากความสับสนในชื่อวิทยาศาสตร์และชนิดของปลา กว่า 80 ปี เกี่ยวกับ glass catfish(ปลาก้างพระร่วง) จากการศึกษาโดย Ng & Kottelat (2013) เกี่ยวกับพันธุ์ปลาในตู้เลี้ยง และ พบว่า ปลาก้างพระร่วง เป้นปลาสายพันธุ์ใหม่ โดยกำหนดชื่อในภาษลาตินว่า Krypto แปลว่า ถูกซ่อน(hidden), pterus แปลว่า ครีบหรือปีก (fin or wing), Vitreolus แปลว่า แก้ว(Glass)2 ส่วนในรายละเอียดอืนๆเกี่ยวกับตัวปลาหาอ่านได้ครับ(http://biotaxa.org/Zootaxa/article/view/zootaxa.3630.2.6)

   ปลาก้างพระร่วง (อังกฤษ: ghost catfish, glass catfish, phantom catfish, Thai glass catfish หรือ X-ray fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kryptopterus Vitreolus เป็นปลาน้ำจืดของไทยซึ่งมีอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านี้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดมาตลอดว่าเป็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "glass catfish"(Kryptopterus bicirrhis) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ที่ถูกส่งขายในตลาดต่างประเทศบ่อยครั้ง และถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกันกับ K. minor จนกระทั่งปี 2013 นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกประภทได้สำเร็จ ส่วน K. minor แท้จริงแล้ว เป็นสายพันธุ์ซึ่งมีอยู่บนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

   ปลาก้างพระร่วง มีขนาดเล็กไม่มีเกล็ด จัดอยู่ในวงศ์ปลาเนื้ออ่อน (Siluridae)  มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ตัวโปร่งใส จนสามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็น "ปลาที่ตัวใสที่สุดในโลก" อันเนื่องมาจากไม่มีเม็ดสี(pigment)ภายในร่างกาย ซึ่งหากมีแว่นขยายที่มีกำลังมากพอ นำไปส่องจะมองเห็นหัวใจเต้นได้ แต่ถ้ามีแสงส่องไปที่ตัวปลาโดยเรามองจากมุมที่ถูกต้องจะมองเห็นปลาก้างพระร่วงมีสีรุ้ง มีปลาในสกุลนี้อีกเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่ลำตัวโปร่งใส คือ K. minor และ K. piperatus แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ส่วน K. bicirrhis ลำตัวจะแค่โปร่งแสง ลักษณะอื่นๆของปลาก้างพระร่วงได้แก่ มีหนวดคู่ 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบน โดยหนวดคู่บนจะยาวและชี้ไปด้านหน้า ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีขนาดสั้น อยู่ที่ขากรรไกรล่าง  ครีบหลังมีขนาดเล็กและสั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ครีบอก(ทวาร)เป็นแนวยาวตลอดจรดครีบหาง หัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้น ตากลมสีดำ(สายตาไม่ดี) ท่อนหางโค้งงอเล็กน้อย หางมีลักษณะเว้าลึก เฉพาะส่วนของหัวและอวัยวะเท่านั้นที่ทึบแสงและมีสีเงิน มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่น อาทิ ภาคกลางเรียก ปลาก้างพระร่วง, ปลากระจก, ก้าง ภาคใต้เรียก ปลาบาง หรือ ปลาผี

   ปลาก้างพระร่วงเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่นักเลี้ยงปลาตู้นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 100 ของปลาที่มีผู้นิยมเลี้ยงมากที่สุด อันเนื่องมาจากเป็นปลาที่มีลักษณะแปลก ขนาดพอเหมาะ มีนิสัยรักสงบ(มาก) สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาอื่นๆได้เป็นอย่างดี(กับปลาที่ไม่ดุร้าย หรือ ปลาที่อยู่เป็นฝูง) ที่สำคัญเป็นปลาที่มีราคาไม่แพงนัก เป็นปลาเขตร้อนในภาคพื้น และยังเป็นปลาส่งออกด้วย

   ขนาด
   โดยเฉลี่ยประมาณ 6.5 - 8 เซนติเมตร (2.6 – 3.1 inch) ; โดยมากในตู้ปลาจะมีขนาดประมาณ 6.5 เซนติเมตร1

   อายุ
   ปลาก้างพระร่วงมีอายุ 6 – 8 ปี หากได้รับการดูแลอย่างดี1

   บริเวณภายในตู้ปลาและในธรรมชาติ
   ไม่เหมือนปลา catfish ชนิดอื่น ปลาก้างพระร่วง จะว่ายอยู่ในระดับกลาง ถึง บริเวณผิวน้ำ

   สถานที่ ถิ่นที่อยู่อาศัย
   ปัจจุบันในประเทศไทย พบปลาก้างพระร่วงในภาคกลาง, ภาคตะวันออก แต่มีจำนวนลดน้อยลงเป็นอันมาก แทบหาไม่พบในธรรมชาติ มีรายงานว่าเคยพบที่จังหวัดนครนายก จันทบุรี ตราด แต่ยังคงพบปลาก้างพระร่วงนี้ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติทางภาคใต้แถบจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และสงขลา พบมากในบริเวณอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง ระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคมของทุกปี

   อุปนิสัย
   มีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย อาศัยตามแหล่งน้ำไหลและเย็น(แม่น้ำ – ลำธาร) ที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน – แรง มีร่มไม้รกครึ้ม เวลากลางวันมักหลบอยู่ตามรากไม้ และแนวร่มไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ และออกหากินในเวลากลางคืน ชอบลอยตัวรวมกันเป็นฝูงใหญ่ เกาะกลุ่มในแหล่งน้ำไหล โดยจะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และหันหน้าสู้กระแสน้ำไปในทิศทางเดียวกันหมด เป็นปลาขี้ตื่นตกใจมาก เมื่อตกใจจะว่ายกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง จากนั้นก็จะกลับมาเกาะกลุ่มตามเดิม โดยปลาที่พบในแม่น้ำลำคลองตัวจะมีสีขุ่นกว่าที่พบในแหล่งน้ำบริเวณเชิงเขา เชื่อว่าสาเหตุเพราะปลาต้องปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงศัตรู

   อาหาร
   ได้แก่ แมลงน้ำขนาดเล็ก - ตัวอ่อนแมลงน้ำที่มีชีวิต ลูกน้ำ ไรแดง หนอนแดง สัตว์น้ำขนาดเล็ก, แพลงก์ตอนสัตว์ หรือ อาร์ทีเมีย(ไรทะเล)

   ตำนาน
   เล่ากันว่า พระร่วงได้เสวยปลาชนิดนี้จนเหลือแต่ก้าง จึงทิ้งลงน้ำและกล่าววาจาสัจว่าขอให้ปลาตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา จึงได้ชื่อว่า "ก้างพระร่วง" นับแต่นั้นมา

   ความเป็นมา
   จากคำบอกเล่าของคุณประสบ ไชยานุพันธกุล ผู้ทำการรับซื้อและรวบรวมปลาก้างพระร่วงส่งไปจำหน่ายตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศปัจจุบัน กล่าวว่าเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีผู้รับซื้อปลาชนิดนี้ขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คือคุณอรุณศิริ และได้ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนมีผู้รับซื้อหลายราย ต่อมาได้มีผู้แนะนำให้ชาวอำเภอเขาชัยสน หาปลาชนิดนี้ขายเพราะเห็นว่าเป็นปลาที่มีอยู่จำนวนมากในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นอำเภอที่มีลำคลองน้อยใหญ่ที่มีน้ำใสไหลเอื่อย ๆ จากเชิงเขา และแนวร่มไม้ชายน้ำที่เป็นร่มเงาเหมาะต่อการอยู่อาศัยของปลา แต่เนื่องจากในสมัยนั้นการติดต่อค้าขายตลอดจนการลำเลียงขนส่งลำบาก ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงเลิกทำการรับซื้อ ต่อมาประมาณปี 2515 นายจ้างซึ่งเป็นชาวเขาชัยสนก็ได้ทดลองรับซื้อ ด้วยเห็นว่าเป็นสินค้าแปลกและทำกำไรได้บ้าง โดยทำการรับซื้อและขายในบ้าน (โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมาส่งมารับที่บ้าน) ช่วงที่รับซื้อใหม่ ๆ ซื้อราคาตัวละประมาณ 25 สตางค์ ขายส่งราคาประมาณ 30 สตางค์ ต่อมาราคาขายดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มเป็นปลาที่หายากตลอดจนมีผู้รู้แหล่งทำการขายมากขึ้น ทำให้ราคารับซื้อในต้นฤดูที่มีปลาชุกชุมในแหล่งน้ำระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ของทุกปี ราคาปลาจะตกประมาณตัวละ 40 สตางค์ ถึง 50 สตางค์ และราคาจะขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลาย ๆ ปีปลาจะมีราคาแพงขึ้น เพราะเป็นระยะที่หาปลาได้ยาก ราคารับซื้อจะตกถึงตัวละ 2 - 2.50 บาท คือช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน ทำให้ผู้ที่หาปลาขายบางคนมีรายได้ถึงวันละ 500-1,000 บาท/คน

   วิธีการรวบรวมพันธุ์ปลา
   เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ในน้ำที่ลึกและสะอาด การรวบรวมพันธุ์ปลาจึงมักใช้สวิงทำเป็นวงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 70 ซม. ความยาวของด้ามถือประมาณ 1 ม. ส่วนลึกของสวิงจะโค้งหย่อนลงให้พอสำหรับเมื่อช้อนปลาขึ้นมาแล้วไม่กระโดดหนีไปได้ วิธีการหาปลาในเวลากลางคืนจะใช้เรือออกไปในลำน้ำ เอาสวิงวางไว้ใต้น้ำแล้วเอาปลาดุกสดที่ขูดเนื้อมาละลายน้ำให้เกิดกลิ่นคาวเป็นเหยื่อล่อให้ปลาก้างพระร่วงออกมากินเหยื่อ ปลาก็จะออกมาเองเป็นฝูง ๆ ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ประจำที่ ทำให้ผู้หาทราบแหล่งในการเก็บเกี่ยวและเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะตน การจับปลาในเวลากลางคืนจะจับได้มากกว่าในเวลากลางวัน ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 19.00-24.00 น. แล้วเก็บปลาไว้ในภาชนะโดยไม่ต้องให้อากาศจนรุ่งเช้าจึงนำปลาส่งขาย ส่วนวิธีหาปลาในเวลากลางวัน ซึ่งปลามักอาศัยหลบตามร่มเงาไม้และใต้รากไม้ ผู้หาจะใช้สวิงลงรุนในลำคลองที่น้ำไม่ลึกจนเกินไป แล้วตักใส่ถังน้ำนำส่งร้านรับซื้อได้เลย

   การอนุบาลปลาก่อนส่งขาย
   เมื่อผู้รับซื้อได้ปลามาแล้ว จะพักในบ่อที่เตรียมไว้ หรือจะใช้ผ้ายางกั้นเป็นคอกก็ได้ ให้ออกซิเจนถ้าต้องการเลี้ยงไว้หลายวันต้องให้ลูกน้ำเพื่อเป็นอาหาร แต่ตามปกติผู้รับซื้อจะติดต่อรับการสั่งซื้อมาก่อนแล้วจึงบอกให้ชาวประมงลูกทีมออกหาปลา ช่วงที่ยังไม่มีการสั่งซื้อจะงดรับซื้อปลาเพื่อลดภาระการให้อาหารปลาและการสูญเสียจากการตาย การลำเลียงขนส่งก็ทำเช่นเดียวกับปลาทั่วไปเนื่องจากมีขนาดเล็กและไม่มีครีบที่แหลมคม (spine) โดยจับนับจำนวนใส่ถุงพร้อมอัดออกซิเจน ส่งขายทางกรุงเทพ ฯ และมาเลเซีย จากความพยายามของคุณประสพ ไชยานุพันธกุล ผู้ค้าปลาก้างพระร่วงในปัจจุบัน ที่จะทำการผสมพันธุ์ปลาชนิดนี้ให้ได้มาเป็นเวลา 10 ปี เล่าว่า “ได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาลงในสระที่เตรียมไว้ก็ตาม หรือทำกระชังสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมกันเองโดยให้ออกซิเจนตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าได้พยายามติดตามดูแลขนาดและพฤติกรรมของปลานี้ในธรรมชาติว่าน่าจะวางไข่ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สังเกตจากการที่ได้ทำการรับซื้อปลาชนิดนี้มาตลอดเกือบยี่สิบปี พบว่าราวปลายเดือนธันวาคม ของทุกปีจะเริ่มมีลูกปลาขนาดเล็ก หรืออย่างช้าราวเดือนมกราคม ชาวประมงจะสามารถรวบรวมลูกปลาและเริ่มจับมาขายได้แล้ว ซึ่งในช่วงต้น ๆ เดือนจะพบว่ามีปลาขนาดเล็กปะปนมากับปลาขนาดกลางและใหญ่เป็นจำนวนมาก”

   การแบ่งแยกเพศ การสังเกต
   ไม่มีข้อมูลที่แน่นอน

   การผสมพันธุ์ การทำรังวางไข่ และดูแลตัวอ่อน
   ไม่มีข้อมูลที่แน่นอน  สันนิษฐานว่าวางไข่บริเวณพื้นท้องน้ำ หรือ บนใบไม้ของพืชน้ำ หรือ ข้อมุลทดลองของกรมประมง12

   ข้อที่น่าเป็นห่วง
   จากการที่ปลาก้างพระร่วงต้องอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดที่ใสเย็น รกครึ้มด้วยร่มไม้ชายน้ำ ดังนั้นการขุดลอกคลองเพื่อการพัฒนาใด ๆ ก็ตามที่จะทำให้น้ำขุ่นเป็นตะกอนและทำลายต้นไม้ที่ขึ้นตามชายน้ำ ตลอดจนรากไม้ที่เป็นแหล่งหลบพักอาศัยและซ่อนตัวของปลา ย่อมเป็นการทำลายระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัยตลอดจนแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ในธรรมชาติ จะเป็นสาเหตุทำให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำได้วิธีหนึ่ง จึงควรจะได้ระมัดระวังและให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นรายได้เพื่อปากท้องของราษฎร โดยสมควรจะได้มีการศึกษาผลได้และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากในปีหนึ่ง ๆ ราษฎรมีรายได้จากการหาปลาพระร่วง คนละเป็นหมื่นบาท สามารถทำเงินเข้าอำเภอเขาชัยสนได้ปีละเป็นล้านบาท เป็นการเพิ่มรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงได้ดีขึ้น นับว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัดพัทลุง ดังนั้นคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ราษฎรในท้องถิ่น ควรจะได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง การรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของแปล่งน้ำให้มีความสมดุล เพื่อการมีผลผลิตปลาก้างพระร่วงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนตลอดไป

   ข้อมูลเพิ่มเติม
   นอกจากพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น ยังมีก้างพระร่วงอีกชนิดหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Krytopterus macrocephalus โดยก้างพระร่วงชนิดนี้จะมีขนาดลำตัวใญ่กว่า หนวดยาวกว่า อาศัยอยู่เฉพาะป่าพรุโต๊ะแดง ที่จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น มีลำตัวที่ขุ่นทึบกว่า อุปนิสัยและพฤติกรรมเหมือนกัน มีชื่อเรียกว่า ก้างพระร่วงป่าพรุ หรือ เพียวขุ่น5

   คำแนะนำ สำหรับการเลี้ยงปลาก้างพระร่วงในตู้เลี้ยงปลา
   1.   ปลาก้างพระร่วงมีความไวต่อระดับความเป็น กรด/ด่าง มาก (pH of water) = 6.5 - 7.01
   2.   ความกระด้าง Water hardness (dGH  : Degrees of general hardness) = 10.0 - 20.0 °dGH1
   3.   อุณหภูมิที่เหมาะสม (Recommended temperature) = 25.0 °C ( 77 °F)1 (อาจจะ +/- 2 - 3 องศานะครับ จากข้อมูลในหลายเวบที่อ่านมา)
   4.   เนื่องจากเป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูง(อย่างแท้จริง) แนะนำให้มีปลาก้างพระร่วงภายในตู้ ไม่ต่ำกว่า 6 ตัว หากมีจำนวนน้อยกว่านี้ ปลาจะมีอาการเครียด พฤติกรรมเปลี่ยน ไม่กินอาหารตามปกติ และจะตายในที่สุด3 เมื่อปลาก้างพระร่วงป่วย เครียด หรือ ตาย ลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ; เมื่อปลาป่วยก็ยากที่จะรักษา เนื่องจากปลาก้างพระร่วงมีความไวต่อสารเคมีมาก
   5.   ตู้ปลาควรประกอบไปด้วยพืชน้ำ*, ก้อนหิน, ขอนไม้ พื้นที่เป็นกรวดหรือทราย มีบริเวณส่วนที่เปิดกว้าง เพื่อให้ปลาได้ว่ายน้ำ, มีกระแสน้ำไหลอ่อนให้เหมือนในลำธาร หรือ ในแม่น้ำ
   6.   ไม่ควรใช้แสงสว่างมากเกินไป เพราะในธรรมชาติปลาก้างพระร่วงจะหลบอยู่ในบริเวณร่มเงา หากมีพืชผิวน้ำ จะช่วยได้
   7.   ปลาที่เลี้ยงร่วมกับปลาก้างพระร่วง*9,10 จะต้องไม่มีนิสัยดุร้าย หรือ เคลื่อนไหวรวดเร็วจนเกินไป
   8.   การนำปลาลงในตู้ใหม่ ควรลดแสงไฟ เพื่อลดความเครียดของปลา
   9.   ตู้ที่ใส่ปลาก้างพระร่วงควรมีปริมาตร 30 แกลลอน(ตู้ 36”) ขึ้นไป4
   10. ไม่แนะนำให้เลี้ยงปลาก้างพระร่วงในตู้ที่อยู่บริเวณที่มีเสียงดัง อึกทึกครึกโครม หรือคนพลุกพล่าน

   ปลา tank mates ได้แก่
Corydoras(ปลาแพะ),
loaches(ปลาหมู),
iridescent sharks,
red finned cigar sharks,
bala sharks(ฉลามหางไหม้),
Red-tailed Shark(ฉลามหางแดง),
neon tetras(ปลานีออน) และปลาในตระกูลเตตร้า(tetras),
glowlight tetras,
rasboras(ปลาซิว),
Platies(ปลาสอด),
white clouds,
guppies(หางนกยูง),
(small) angels(ปลาเทวดา),
dwarf gourami(กระดี่แคระ),
dwarf cichlids(ปลาหมอแคระ),
Kribensis,
barbs(ปลาตะเพียน),
danios(ปลาม้าลาย),
Loricarids(พวก sucker),
pictus catfish,
Hatchetfish(ปลาขวานบิน).  
larger gourami(ปลากระดี่) และ
silver dollars.

   ต้นไม้
Wisteria,
Blue Stricta(หางนกยูง),
Green Pennywort,
Purple Temple
Anubias

   *ในบางเวบกล่าวแนะนำไว้ว่าให้ปลูกกับ เฟิร์นรากดำ(Java Lance Ferns) เพราะปลาก้างพระร่วงชอบมาก (อาจจะ)เพราะ มาจากบริเวณเดียวกัน(bettas) อาจให้สารบางอย่างในน้ำ หรือ เพราะทำให้มืดลง อย่างไรก้ตามเฟิร์นช่วยทำให้น้ำสะอาดขึ้น11

                 ______________________________________________________________________


   ข้อมูลอ้างอิง
1.   http://en.wikipedia.org/wiki/Kryptopterus_vitreolus
2.   http://www.tropicalfishkeeping.com/profiles/glass-catfish/
3.   http://www.liveaquaria.com/product/prod_display.cfm?c=830+836+2519&pcatid=2519
4.   http://www.fishlore.com/aquariummagazine/dec08/glasscatfish.htm
5.   http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=64299
6.   http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=107184.0;wap2          กระทู้โดย ชายพจน์
7.   อังสุนีย์ ชุณหปราณ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง Geocities.Org
8.   http://www.siamensis.org/exsiam/8154.html
9.   http://www.mikekemble.uk/fish/glasscat.html
10.   http://aquaticmag.com/freshwater/fish/glass-catfish-information/
11.   http://aqualandpetsplus.com/Catfish,%20Glass.htm
12.   http://27.254.44.47/research/files/full/F82549.pdf


   ผิดพลาดประการใดบอกกล่าวกันได้ครับ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาและไม้น้ำที่แนะนำให้ร่วมในตู้(ผมไม่รู้จัก) 036, ผมรวบรวม แปล และ พิมพ์บทความตามที่เห็นว่าเหมาะสม(เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ). หวังว่าคงมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจบ้าง และ จะได้ไม่มีใครว่าปลาก้างพระร่วงเป้นปลาปราบเซียนอีก [เอ๊ะ!!!]

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17/03/15, [16:12:33] โดย BiK »
413 ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #1 เมื่อ: 20/01/15, [23:40:17] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]
schu717 ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #2 เมื่อ: 22/01/15, [10:43:38] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
ravender ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #3 เมื่อ: 28/01/15, [23:28:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

อยากให้มีการเพาะพันธุ์ได้จริงๆจัง กลัวจะสูญพันธุ์
 [เจ๋ง]เป็นปลาที่เป็นเอกลักษณ์ ของ บ้านเราดีครับ
BiK ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #4 เมื่อ: 29/01/15, [19:58:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

   เท่าที่ค้นหาดู ไม่มีใครเพาะพันธุ์สำเร็จครับ แม้แต่กรมประมงซึ่งทดลองใช้พวกฮอร์โมน ก็ยังไม่สำเร็จ.  asspain ที่พบว่ามีลูกปลาส่วนใหญ่จะโดยบังเอิญครับ หรืออาจจะเพาะได้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เห็นลงโพสท์ในกระทู้เก่าๆว่ามีเยอะมาก ซึ่งผมไม่ได้เอามาลงไว้ด้วย เนื่องจากเห็นว่านี่ไม่ใช่บอร์ดซื้อขาย. (นอกจากที่ลงไว้ซึ่งผมยกมาครับ) แต่ ก็มีแนวทางอยู่ครับ ซึ่งไม่ได้รับการยืนยัน หรือ มีใครทดลองทำแล้วสำเร็จ. [on_031]
frogger89 ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #5 เมื่อ: 31/01/15, [09:45:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ผมว่ารูปที่บอกว่าเป็นตัวอ่อนนี่น่าจะผิดนะครับ ดูยังไงก็เห็นเป็นลูกอ๊อด

ไม่ใช่ตัวอ่อนปลาแน่ๆ
จอมใจไร้รัก ออฟไลน์
Club Leader
« ตอบ #6 เมื่อ: 31/01/15, [10:11:22] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

พึ่งรู้นะนี่ว่าปลาก้างพระร่วงเป็นปลาแคสฟิสชนิดหนึ่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/01/15, [20:14:22] โดย จอมใจไร้รัก »
BiK ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #7 เมื่อ: 31/01/15, [18:01:44] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ผมว่ารูปที่บอกว่าเป็นตัวอ่อนนี่น่าจะผิดนะครับ ดูยังไงก็เห็นเป็นลูกอ๊อด

ไม่ใช่ตัวอ่อนปลาแน่ๆ

 เอ่อ... ส่วนตัวผมเองก้ไม่เคยเห็นตัวอ่อนของปลาก้างครับ แต่ว่าที่เขาโพสท์ไว้ในเฟสบุีคผมเชื่อว่า(หวังว่า) jealousเขาคงไม่ได้ลงผิด ดูตามลิงค์ได้เลยครับ จากที่ผมอ้างอิงมา ที่ข้อ 8 อ่ะครับ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.382335371827194.86962.130289060365161&type=3
  
   เอาภาพลูกอ๊อดมาดูกันเล่นๆครับ  [mo_001] เหมือนจริงน่ะแหละ!


   แต่ข้างๆ ไม่ค่อยเหมือนเน้าะ!  [on_026] (เข้าข้างตัวเอง)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31/01/15, [19:38:50] โดย BiK »
frogger89 ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #8 เมื่อ: 01/02/15, [23:03:53] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ


เจ้าของรูปต้นทางคงจะเข้าใจผิดไปน่ะครับ ในรูปยังไงก็เป็นลูกอ๊อดของพวกอึ่งจิ๋วในสกุล Microhyla ต่างจากตัวอ่อนของปลาเลย

อย่างรูปข้างล่างนี่เห็นว่าเป็นขาชัดเจนเลยครับ :)

BiK ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #9 เมื่อ: 03/02/15, [14:19:45] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

  
    sho01 !!!    shock1 เจีียกสสสส...

    [on_007] กำไม่มีแบ...     [ซีดดด] ถ้าข้อมูลผิดพลาด กราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ, แล้วจะแก้ไขให้นะครับ...

   ใครมีข้อมูลอีก เอามาแชร์กันบ้างนะครับ, ขอบคุณ คุณ frogger89 มากครับสำหรับข้อมุล.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17/03/15, [16:03:59] โดย BiK »
BiK ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #10 เมื่อ: 07/02/15, [14:16:34] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

   มาอัพเดทข้อมูลที่ผิดพลาดครับ ในเรื่องรูปตัวอ่อนของปลาก้างพระร่วงครับ จากที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมา จากเวบ

https://bangkokherps.wordpress.com/category/frogs/page/2/  ซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่คุณ frogger89 นำมาครับ.

ผมเปรียบเทียบดูแล้วซึ่งคงจะเป็นภาพลูกอ๊อดของอึ่งจิ๋วครับ เลยลบภาพที่นำมาออกครับ, ขอโทษสำหรับข้อมุลที่ผิดครับ.  [น้ำตาร่วง]

   ขอบคุณ คุณ frogger89 อีกครั้งครับที่ช่วยนำข้อมูลมาให้ ขอบคุณครับ.
ภาคภูมิ ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #11 เมื่อ: 07/02/15, [21:29:37] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ข้อมูลดีมากครับ นำเสนอน่าอ่านดี อ่านจนจบเลย  [on_026]
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: