Aqua.c1ub.net
*
  Thu 25/Apr/2024
หน้า: 1 2 3   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อัพ ..เรื่องควรรู้ของ Protein Skimmer หรือ Foam Fractionator .. การทำงาน+เลือกซื้อ+ข้อสงสัย ??  (อ่าน 96170 ครั้ง)
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #30 เมื่อ: 02/03/13, [03:02:29] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ตามที่เกริ่นเรื่องข้อสงสัยในเรื่อง "ตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดวางสกิมเมอร์ เพื่อให้สกิมเมอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ!"

ก่อนอื่นผมเห็นควรว่าจะต้องนำเสนอ การจำแนกประเภทของสกิมเมอร์อีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการจำแนกตามลักษณะการสร้างฟองอากาศในการดักจับของเสียตามที่กล่าวไป

สกิมเมอร์ยังสามารถจำแนกตาม "ลักษณะของการติดตั้ง" สกิมเมอร์ในการใช้งานในระบบ

โดยที่สืบค้นคร่าว ๆ พบว่าในปัจจุัับัน สามารถจำแนกลักษณะการติดตั้งได้ ดังนี้

1. สกิมเมอร์แบบแขวนในตู้ (Hang In Skimmer)
2. สกิมเมอร์แบบแขวนหลังตู้ (หรือนอกตู้) (Hang On Back Skimmer: HOB)
3. สกิมเมอร์แบบติดตั้งภายใน (Internal Skimmer)
4. สกิมเมอร์แบบติดตั้งภายนอก (External Skimmer)


--------------------------------------------------------------------------------------------------------

1. สกิมเมอร์แบบแขวนในตู้ (Hang In Skimmer)

เป็นสกิมเมอร์รูปแบบแรก ๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับในวงการตู้ทะเล ... เริ่มพัฒนามาจากการใช้ แบบทุ่นสร้างฟองอากาศผ่านตัวสกิมเมอร์ ฯ (ลองไปอ่านในเรื่อง สกิมเมอร์แบบใช้อากาศเป็นตัวนำ) จนมีการนำเทคนิคแบบอื่นมาใช้

โดยสกิมเมอร์แบบแขวนในตู้นั้น ตัวสกิมเมอร์ทั้งหมดจะถูกติดตั้งอยู่ภายในตู้ปลา (ไม่ว่าจะเป็นตู้หลัก ตู้กรอง ก็ตาม) และอาศัยตัวยึดเกาะไว้กับขอบตู้ปลา ... ดังตัวอย่างสกิมเมอร์ที่เรารู้จักกันดีครับ

BM Nac QQ เป็นต้น





ตามภาพนะครับ ตัวสกิมเมอร์แบบนี้ จะถูกแขวนไว้ภายในตู้ปลาครับ ปัญหาที่มักจะพบจากการใช้งานสกิมเมอร์ประเภทนี้ คือ
เกิด "ฟองอากาศ" ขนาดเล็กภายในตู้ปลา  [on_007] อันจะเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงที่ติดตั้งตัวสกิมเมอร์ไว้ในตู้หลัก .... การแก้ไข อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพื่อดูว่าฟองอากาศเกิดจากส่วนใด แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากแรงปะทะของน้ำที่ออกจากสกิมเมอร์ กับน้ำในตู้ .. สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยใช้ฟองน้ำหุ้มทางน้ำออก หรือปรับระดับการจุ่มน้ำของตัวสกิมเมอร์

แต่ข้อดี ก็คือติดตั้งง่าย กระทัดรัด ไม่ตั้งกลัวปัญหาพื้นเปียก  [on_026]

ในส่วนตำแหน่งการติดตั้งสกิมเมอร์ประเภทนี้ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ผมจะเรียบเรียงมานำเสนอต่อไป เพราะมีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในภาพรวมนะครับ  [on_066]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02/03/13, [03:24:12] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #31 เมื่อ: 02/03/13, [03:22:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

2. สกิมเมอร์แบบแขวนหลังตู้ (หรือนอกตู้) (Hang On Back Skimmer: HOB)

สกิมเมอร์แบบนี้คล้ายคลึงกับสกิมเมอร์แบบแขวนในตู้ แต่แตกต่างตรงที่ "ตัว หรือกระบอกสกิมเมอร์" จะถูกติดตั้งอยู่ภายนอกตู้ (ไม่ว่าจะเป็นตู้หลัก ตู้กรอง ก็ตาม) และอาศัยตัวยึดเกาะไว้กับขอบตู้ปลา

แต่สกิมเมอร์ประเภทนี้ บางผู้ผลิตออกแบบให้ตัวปั๊มน้ำถูกติดตั้งภายในตู้ ก่อนจะสูบน้ำผ่านท่อ และสร้างฟองอากาศเข้าตัวสกิมเมอร์ที่แขวนอยู่ภายนอก ดังตัวอย่างสกิมเมอร์ตามภาพ


Weipro ยอดนิยมของคนไทย  [on_026]







และบางผู้ผลิต ก็ออกแบบให้ปั๊มน้ำอยู่ภายนอกตู้ มีเพียงท่อทางน้ำเข้าที่ถูกติดตั้งให้หย่อนไปในตู้เท่านั้น (ตามภาพ)







           การออกแบบการจัดวางปั๊มทั้ง 2 กรณีย่อยที่กล่าวมานี้ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้เทคนิคการสร้างฟองอากาศของสกิมเมอร์ รวมถึงประสิทธิภาพของปั๊มแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อที่สามารถทำงานได้เมื่อต้องจุ่มน้ำ หรือบางรุ่นใช้เพียงท่อนำน้ำก็สามารถทำงานได้

จุดเด่นของสกิมเมอร์ประเภทนี้ คือ ติดตั้งได้ง่าย ไม่ใช่พื้นที่ติดตั้งมาก (แต่ผมว่าก็แอบเกะกะข้างตู้เหมือนกันนะ) สามารถพัฒนารูปทรง และนำเทคนิคการสร้างฟองอากาศ หรือการปะทะจับอนุภาคต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบสกิมเมอร์ ได้หลากหลายกว่าแบบแขวนในตู้ ... มีขนาดไล่เรียงตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่

ข้อเสียสำคัญ ที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านเคยประสบด้วยตนเอง คือ "น้ำท่วม" เพราะการที่ตัวสกิมเมอร์ถูกแขวนไว้นอกตู้ บางครั้งหากผู้เลี้ยงไม่ได้ตรวจสอบระดับน้ำในสกิมเมอร์ให้เหมาะสมแล้ว อาจเจอภาวะัปั๊มสกิมเมอร์ดูดน้ำล้นทะลักออกตัวสกิมเมอร์ได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02/03/13, [03:24:42] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #32 เมื่อ: 03/03/13, [02:13:04] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

3. สกิมเมอร์แบบติดตั้งภายใน (Internal Skimmer)

สกิมเมอร์แบบนี้ เป็นประเภทที่ต้องติดตั้งภายในตู้กรอง อาจเรียกได้อีกอย่างว่า เป็นสกิมเมอร์แบบติดตั้งบนพื้นภายในกรอง (Internal On Floor Skimmer) ซึ่งตัวสกิมเมอร์ทั้งหมดจะแช่อยู่ภายในน้ำในตู้กรอง ดังตัวอย่างตามภาพ





สกิมเมอร์ ประเภทนี้ต้องอาศัยพื้นที่ภายในตู้กรอง ในการจัดวาง

ข้อดีของสกิมเมอร์แบบติดตั้งภายในตู้กรอง คือ จะมีประสิทธิภาพสูงมากกว่าแบบแขวน แต่ก็แลกมาด้วยขนาดของสกิมเมอร์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องกังวลปัญหากับ "ปัญหาน้ำท่วม" ... สภาพดูเรียบร้อยไม่เกะกะข้างตู้ หรือนอกตู้

ข้อเสียที่ผมได้ลองค้นหาตามคำวิจารณ์ และข้อมูลจากผู้ใช้ตามเวปนอกต่าง ๆ ก็พอสรุปได้ว่า สกิมเมอร์แบบติดตั้งภายในมีจุดยิบย่อยที่ต้องพิจารณามาก อาทิ
     - พื้นที่ภายในตู้กรองในการจัดวาง ซึ่งหลายกรณีตัวสกิมเมอร์อาจใหญ่กว่าตู้กรอง ยัดลงไม่ได้
     - ติดปัญหาการติดตั้งสกิมเมอร์ เพราะติดกับความสูงของกรองกับขาตู้ (ถ้ามี) ทำให้ถ้าสกิมเมอร์มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถลอดช่องว่างระหว่างตู้กรองกับขาตู้ เพื่อติดตั้ง (ถ้าตู้กรองแยกต่างหากไม่ อยู่ใต้ตู้หลัก หรือออกแบบช่องว่างได้สูง ก็รอดไป)
     - การติดตั้งต้องคำนึงถึงระดับน้ำในตู้กรองเสมอ !! .... อาทิ ถ้าระดับน้ำในตู้กรองสูง 14 นิ้ว ก็อาจมีผลต่อการใช้สกิมเมอร์บางประเภทที่ต้องการระดับน้ำไม่สูงนักเช่น Nac7 ส่งผลทำให้ระดับน้ำในสกิมเมอร์สูงขึ้น การแก้จึงต้อง DIY ให้ตัวสกิมเมอร์อยู่สูงขึ้นในระดับที่ต้องการ
     - ระดับน้ำในตู้กรอง ควรมีระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ... เพราะตู้กรองของเราระดับน้ำอาจมากขึ้น หรือลดลงได้ ทั้งจากการระเหย หรือเติมน้ำใหม่ ถ้าระดับน้ำตู้กรองเกิดเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยเราไม่สังเกต ... ก็จะส่งผลต่อระดับน้ำในสกิมเมอร์เช่นกัน
     - การที่ตัวสกิมเมอร์จุ่มอยู่ในน้ำ จึงส่งผลทำให้เป็นการเพิ่มอุณหภูมิในระบบ
     - ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำไหลเข้าสกิมเมอร์ได้
     - นักเลี้ยงบางคนก็ว่า มันเสียพื้นที่ในกรองล่าง ... อยากเอาพื้นที่กรองล่างไปเลี้ยงสาหร่าย ทำที่พักปลาเสียมากกว่า

     ข้อเสีย หรือข้อความระวังเพียบ  [on_051] ... เป็นข้อคิดเห็นที่รวบรวมมาให้เพื่อน ๆ ได้ลองพิจารณากันดูนะครับ แต่ในทรรศนะส่วนตัวของผม ก็ยังชอบสกิมเมอร์แบบติดตั้งภายใน เพราะมันไม่เกะกะ  [on_026] และไม่กลัวน้ำท่วมนี่แหล่ะครับ
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #33 เมื่อ: 03/03/13, [02:32:41] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

4. สกิมเมอร์แบบติดตั้งภายนอก (External Skimmer)

เป็นสกิมเมอร์ที่ติดตั้งไว้ภายนอกตู้ แต่จุดสำคัญของสกิมเมอร์ประเภทนี้คือ "ต้องการปั๊มน้ำที่ต้องดูดน้ำจากระบบ เข้าไปทำงานในสกิมเมอร์" ... สกิมเมอร์แบบภายนอกส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ สามารถทำน้ำได้ปริมาณมาก ดังตัวอย่างตามภาพครับ





ข้อดีของสกิมเมอร์ประเภทนี้ คือ ... ไม่เกะกะภายในตู้กรอง ไม่ต้องกังวลว่าจะติดตั้งภายในระบบตู้ได้หรือไม่ เหมือนแบบติดตั้งภายใน .... และที่นักเลี้ยงหลายคนเห็นว่าเป็นจุดเด่นคือ สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสกิมเมอร์ได้

ข้อเสียหรือข้อจำกัดบางประการของสกิมเมอร์ประเภทนี้คือ
     - ต้องอาศํยปั๊มน้ำในการดึงน้ำจากระบบตู้ เข้าสู่สกิมเมอร์
     - การติดตั้งค่อนข้างยุ่งยาก ต้องมีการพิจารณาการนำน้ำจากระบบเข้า และทางน้ำออก หลายกรณีต้องมีการเดินท่อให้มีความเหมาะสม
     - มักมีราคาค่าตัวค่อนข้างสูง
     - อาจประสบกับปัญหา "น้ำท่วม" ได้หากมีปัญหาในการปรับระดับน้ำ และปัญหาตามข้อต่อต่าง ๆ
     - เกะกะพื้นที่บริเวณภายนอก

แต่อย่างไรก็ตาม .... ในบางกรณีผู้เลี้ยงหลายคน ก็นำสกิมเมอร์แบบติดตั้งภายนอก ไปติดตั้งภายในตู้กรอง เหมือนกับสกิมเมอร์แบบติดตั้งภายในเช่นกัน

 [on_066]
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04/03/13, [11:10:22] โดย copcong »
thepgung ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #34 เมื่อ: 03/03/13, [08:58:55] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เยี่ยมเลยครับ ต่อไปขอเป็นเรื่อง Remover ทั้งหลายด้วยนะครับ
keang555 ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #35 เมื่อ: 03/03/13, [19:42:57] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]  [เจ๋ง]  [เจ๋ง]
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #36 เมื่อ: 03/03/13, [19:50:15] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขออภัยที่โพสขาดตอนนะครับ

เผอิญผมกำลังจัดการกับกรองล่างอยู่ เนื่องจากซื้อสกิมเมอร์ C7 ของใหม่อีก 1 ตัว เพราะแอบได้ยินเสียงข่าวลือว่าของขาดตลาด

เลยจัดมาอยู่ในกรองล่างเป็น 3 สหาย BM C7 .... แต่ประสบปัญหาที่ C7 ตัวใหม่จูนระดับน้ำในตัวสกิมเมอร์ยากมาก  [on_051] ... ระดับน้ำมักจะพุ่งเลยถ้วยเสมอ ๆ แม้ว่าจะปรับระดับต่ำสุดแล้วก็ตาม  [on_007] ทั้ง ๆ ที่ C7 สองตัวแรกไม่ประสบปัญหาดังกล่าว

เลยนั่งไล่ไปไล่มา พบว่าสกิมเมอร์ C7 ตัวใหม่นั้น ได้ให้ปั๊มสกิมเมอร์รุ่น SP4000 มาให้  [on_008] ทั้งที่ควรเป็นปั๊ม SP2000

แต่ไอ้ตัว SP4000 เนี่ย มันเป็นปั๊มที่ประจำการอยู่ใน BM C9  [on_065] มิน่าหล่ะจูนระดับน้ำไม่ได้สักที ล้นกระบอกตลอด

คงเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ไม่รู้ว่าจะเป็นคราวดี หรือคราวเคราะห์ เดี๋ยวไล่ลองปรับดูก่ิอน ว่ามีประสิทธิภาพประมาณไหน

เดี๋ยวผมจะทยอยอัพต่อเนื่องให้วันละเรื่อง สองเรื่องนะครับ
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #37 เมื่อ: 03/03/13, [23:24:19] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"ตำแหน่งที่เหมาะสมในการจัดวางสกิมเมอร์ เพื่อรีดประสิทธิภาพสูงสุด"

ถ้าเพื่อนสมาชิกได้ติดตามอ่านเรื่องราวของสกิมเมอร์ ตั้งแต่เริ่มแรก ... พอมาถึง ณ จุดนี้ทุกท่านก็พอจะทราบแล้วว่า

สกิมเมอร์ คืออะไร? มีหลักการทำงานอย่างไร?
การจำแนกประเภทของสกิมเมอร์ ข้อดีข้อด้อยของแต่ละประเภท?

จากการประมวลข้อมูลตามที่ผ่านมาแล้ว ก็พอที่จะช่วยในการเลือกการจัดวางตำแหน่งของสกิมเมอร์ในระบบของเราได้ โดยอาศัยการเข้าใจหลักการทำงานของสกิมเมอร์ และการออกแบบระบบของตู้แต่ละตู้  ซึ่งผมขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอดังนี้

ถ้าเปรียบเปรย ----> สกิมเมอร์ เปรียบเหมือนกับเครื่องดูดฝุ่น ... และ น้ำในระบบเราทั้งหมดก็เปรียบเสมือนกับเป็นห้อง ๆ หนึ่ง

ถ้าห้ิองใหญ่ มีพื้นที่เยอะมาก ........ ก็ต้องใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีกำลังในการทำความสะอาดมาก ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ถ้าน้ำในระบบมีมาก สกิมเมอร์ก็ควรมีประสิทธิภาพที่จะทำน้ำได้เหมาะสมกับขนาดตู้ <-------------- เป็นประเด็นที่จะนำเสนอในเรื่องการ Over Skimming ต่อไปครับ

ถ้าห้องมีขนาดใหญ่ ....... แต่เราใช้เครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็กหล่ะ จะได้ไหม ? ตอบครับว่า "ได้" แต่มันก็ทำความสะอาดได้ช้า ... กว่าจะทำความสะอาดในแต่ละจุดในห้องให้สะอาดได้ จุดอื่นความสกปรกก็สะสมแล้ว .. และไอ้ที่เพิ่งทำความสะอาดไปหยก ๆ ก็เริ่มสกปรกใหม่อีก  ...... ก็เช่นเดียวกัน ถ้าน้ำในระบบมีเยอะ แต่สกิมเมอร์สามารถทำน้ำได้น้อย ... กว่าตัวมันเองจะทำความสะอาดน้ำได้ปริมาตรเท่าทั้งระบบ ป่านนั้นน้ำก็สกปรกหมักหมมไปนักต่อนักแล้ว

แต่ .... การเปรียบเปรย สกิมเมอร์ เป็นเครื่องดูดฝุ่นนั้น ก็เป็นเครื่องดูดฝุ่นที่อยู่นิ่งอยู่กับที่ .... กล่าวคือ เหมือนเราเอาเครื่องดูดฝุ่นไปวางไว้ที่มุมใด มุมหนึ่งของห้องนั่นแหล่ะครับ ดังนั้น .... หลักประการแรก ๆ ที่เราต้องคำนึงถึงในการจัดวางสกิมเมอร์คือ

1. การจัดกระแสน้ำในระบบให้พัดพาของเสียผ่านสกิมเมอร์ให้ได้มากที่สุด

กลายเป็นว่า เรื่องการจัดกระแสน้ำเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดของเสียอีก ซึ่งการจัดกระแสน้ำก็กลายเป็นศิลปะหนึ่ง ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทตู้ อันจะต้องว่ากันอีกยาวววว  [on_051]

ตามข้อ 1. นั้น ลองจินตนาการว่า ถ้าเราเอาสกิมเมอร์วางไว้ในจุดใดจุดหนึ่งในระบบ จะในหรือนอกตู้ก็ตาม ... แต่เราไม่สามารถจัดระบบให้น้ำที่ยังไม่ผ่านการบำบัดผ่านสกิมเมอร์ให้ได้มากที่สุดแล้ว .... ก็เหมือนกับดูดฝุ่นอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของห้อง แม้เครื่องดูดฝุ่นจะดีเพียงใด ก็ทำความสะอาดมุมห้องนั้นได้เอี่ยมอ่อง แค่มุมเดียว ....

2. ควรมีการกรองของเสียหยาบ ออกจากระบบก่อนผ่านเข้าสกิมเมอร์

กล่าวคือ ตามหน้าที่ของสกิมเมอร์ที่ทำหน้าที่กำจัดอนุภาคของเสีย จำพวกสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำต่าง ๆ ด้วยวิธีการยึดจับอนุภาคโดยฟองอากาศ ตามที่กล่าวไปแล้วนั้น ....

จะเห็นได้ว่า สกิมเมอร์ ... ไม่สามารถจัดการกับตะกอนหยาบได้ อาทิ ฝุ่นละออง เศษตะกอนหินเป็น ปะการัง (ไม่นับพวกเศษละอองขนาดเล็กมาก ๆ นะครับ) ถ้าในน้ำมีเศษเหล่านี้ปะปน ในบางกรณีก็จะถูกปั๊มสกิมเมอร์ดูดเข้าไปในระบบ แต่ตะกอนก็จะตกค้างอยู่ภายในตัวสกิมเมอร์ เพราะไม่สามารถถูกฟองดักจับได้ และไม่สามารถผ่านทางน้ำดีออกจากสกิมเมอร์ไปได้

ฝุ่นละออง เศษตะกอนเหล่านี้อาจเข้าไปขัดขวางการทำงานของสกิมเมอร์ ถ้าสกิมเมอร์เป็นระบบใช้ปั๊มแบบแกนพิเศษ ตะกอนที่ถูกปั๊มดูดเ้ข้าไปถ้ามีขนาดใหญ่อาจไปกระทบกับตัวใบพัดทำให้เกิดแกนใบพัดหักได้ และเศษตะกอนจะเข้าไปตกค้างในตัวสกิมเมอร์ตามที่กล่าวไป

ดังนั้น เราควรมีการ "กรองหยาบ" น้ำในระบบเสียก่อน อาจจะใช้ใยกรอง ถุงกรอง เพื่อดักเอาเศษตะกอนเหล่านี้ออกจากระบบก่อนผ่านเข้าไปยังสกิมเมอร์ และเป็นการทำความสะอาดของเสียจากระบบอีกวิธีหนึ่ง .... นำไปสู่การวางสกิมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นสกิมเมอร์แบบวางในตู้กรอง หรือใช้ปั๊มดึงน้ำไปยังสกิมเมอร์ภายนอก ก็ควรวางถัดจากการกรองหยาบ ....

แต่ถ้าติดตั้งสกิมเมอร์ในตู้หลัก ... จะประสบกับข้อจำกัดในการกรองหยาบก่อนเข้าสกิมเมอร์ ดังนั้นผู้เลี้ยงก็จำเ็ป็นต้องตรวจเชค และทำความสะอาดสกิมเมอร์บ่อยครั้ง เพื่อกำจัดตะกอนเหล่านี้ หรือในสกิมเมอร์บางรุ่นตัวปั๊มสกิมเมอร์ก็ถูกออกแบบให้มีตะแกรงพลาสติกเพื่อกันเศษตะกอนเหล่านี้ เป็นต้น

ตามภาพที่ผมลองค้นจาก Google นะครับ





จากรูปจะเห็นได้ว่า มีการจัดวางสกิมเมอร์ให้อยู่ถัดจาก น้ำที่ผ่านการกรองหยาบ (ถัดจากทางน้ำลง ในกรณีกรองล่าง)

ส่วนในรูปที่เห็นเป็นการทำ ช่องปลูกสาหร่ายเรฟูเจี้ยมนั้น เป็นแนวคิดการบำบัดประเภทหนึ่งที่ใช้การปลูกสาหร่าย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีข้อถกเถียงในความเหมาะสมของทำช่องเรฟูเจี้ยมอยู่ ซึ่งขอให้เพื่อนสมาิิชิกลองพิจารณาเฉพาะการวางสกิมเมอร์นะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03/03/13, [23:32:09] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #38 เมื่อ: 06/03/13, [23:22:44] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

3. ถ้าสกิมเมอร์สามารถปรับระดับการไหลของอากาศได้ ควรปรับให้อากาศเข้าสู่สกิมเมอร์ให้มากที่สุด

กล่าวคือ สืบเนื่องจากข้อมูลแรก ๆ ที่ผมได้สรุปไปว่า กฎหลักของสกิมเมอร์ข้อหนึ่งนั้น คือ

- สกิมเมอร์ต้องมีช่วงกระบอกที่สูง เพื่อเพิ่มเวลาการสัมผัส โดยปั๊มที่อัดอากาศเข้าสู่สกิมเมอร์ ต้องอัดอากาศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซึ่งผมขอเน้นในประเด็นเรื่องการอัดอากาศเข้าสกิมเมอร์ มากกว่าเรื่องความสูงของสกิมเมอร์ เพราะในปัจจุบันมีการออกแบบตัวสกิมเมอร์ให้มีความสูง และรูปทรงแตกต่างกันให้เหมาะสมกับลักษณะการสร้างฟองอากาศ และสัมพัทธ์กับปั๊ม ฯลฯ

ดังนั้น .... การที่จะให้สกิมเมอร์ สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จะต้องอัดอากาศเข้าสู่ตัวสกิมเมอร์ให้มากที่สุด เท่าที่ตัวสกิมเมอร์นั้นจะสามารถกระทำได้

แต่สกิมเมอร์หลายรุ่นในปัจจุบัน มีวาล์วที่สามารถปรับอัตราการไหลของอากาศเข้าสู่ตัวสกิมเมอร์ได้ ซึ่งตัววาล์วนี้ก็มีลักษณะปรากฏตามภาพครับ



เพื่อนสมาชิกบางท่าน อาจจะสงสัยว่า ... "ถ้าหลักของสกิมเมอร์คือ ต้องอากาศไหลเข้าสู่ตัวสกิมเมอร์ให้มากที่สุด แล้วทำไมต้องมีการปรับระดับการไหลของอากาศเข้าสู่สกิมเมอร์ด้วย ? มันควรจะตั้งไว้ให้อากาศเข้าเต็มที่ไม่ใช่หรือ ?"

ตอบครับ ...... ตามหลักการ คือ ต้องให้อากาศไหลเข้าสู่สกิมเมอร์มากที่สุดตามที่นำเสนอไปหล่ะครับ แต่วาล์วปรับอากาศนี้ จะมีผลต่อการปรับเพิ่ม/ลด ระดับอัตราการทำน้ำของสกิมเมอร์ หรืออัตราการโฟลว์น้ำผ่านสกิมเมอร์ครับ

เอาง่าย ๆ ครับว่า "ถ้าปรับปริมาณอากาศเข้าสกิมเมอร์น้อยลงเท่าใด สกิมเมอร์ก็จะยิ่งทำน้ำได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ... แต่ประสิทธิภาพในการดักของเสียออกจากน้ำก็จะลดน้อยลง"

ถ้าเพื่อน ๆ จะตัดสินใจซื้อสกิมเมอร์สักตัว โดยมีโฆษณาว่า ทำน้ำได้ 900-1500 ลิตร .... แล้วตู้ของเพื่อนสมาชิกมีปริมาตรน้ำประมาณ 1500 ลิตรพอดี (สมมติครับ  [on_009]) เพื่อนซื้อสกิมเมอร์ตัวนี้มาใช้โดยปรับวาล์วอากาศให้ดึงอากาศเข้าสกิมเมอร์น้อย เื่พื่อเพิ่มปริมาณทำน้ำให้มาก .... ก็จะไปเข้าหลักการทำงานของสกิมเมอร์ที่กล่าวไว้ครับว่า "สกิมเมอร์จะทำการได้ดี ก็ต่อเมื่ออัดอากาศเข้าสู่ตัวสกิมเมอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"

ดังนั้น ถ้าสกิมเมอร์ของเพื่อน ๆ สามารถปรับวาล์วอากาศได้ ควรปรับวาล์วให้ดูดอากาศเข้าสกิมเมอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ ..... และไปปรับช่องทางน้ำออกแทน เพื่อคุมระดับของปริมาณน้ำในกระบอกสกิมเมอร์ครับ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09/04/13, [13:31:32] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #39 เมื่อ: 06/03/13, [23:57:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

4. ถ้าเป็นการติดตั้งสกิมเมอร์ในตู้กรอง ควรวางสกิมเมอร์ หรือปั๊มดึงน้ำเข้าสกิมเมอร์ (กรณีติดตั้งภายนอก) ไว้ถัดจากช่องน้ำจากตู้หลักที่ผ่านการกรองหยาบแล้ว

กล่าวคือ การออกแบบตู้กรอง ก็มีการออกแบบแตกต่างกันไปตามเทคนิค ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล จะใช้วัสดุกรอง ทำเรฟูเจี้ยม หินเป็น หรืออย่างอื่นสุดแล้วแต่ความถนัดเฉพาะตน

แต่ การตำแหน่งการติดตั้ง หรือวางสกิมเมอร์ นอกเหนือจากที่น้ำที่จะบำบัดควรผ่านการกรองหยาบก่อนแล้วนั้น ตามที่นำเสนอไปแล้วนั้น ... ควรวางตัวสกิมเมอร์หรือปั๊มดึงน้ำเข้าสกิมเมอร์ ไว้ถัดจากช่องน้ำเข้าในระบบตู้กรอง  ..... แต่นักเลี้ยงบางท่านออกแบบตู้กรองให้ช่องน้ำเข้ากรองนั้นผ่านพวกวัสดุกรองต่าง ๆ ก่อน อาทิ หินปะการัง หินเป็น เรฟูฯ ก่อนจะมาเข้าบำบัดโดยสกิมเมอร์

ตัวอย่างตามภาพครับ



ตามภาพบนจะเห็นได้ว่า ผู้เลี้ยงติดตั้งสกิมเมอร์ไว้ในช่องเดียวกับช่องทางที่น้ำมาจากตู้หลัก โดยผ่านการกรองหยาบโดยถุงกรอง และจะถูกสกิมเมอร์บำบัดต่อไป

แม้วัสดุกรองจะเป็นการบำบัดคุณภาพน้ำตามวิธีทางธรรมชาติ และสามารถทำให้น้ำมีคุณภาพดีได้จริง แต่จะเป็นการดีกว่า ถ้าสามารถติดตั้ง หรือวางสกิมเมอร์ ฯ ไว้ที่ตำแหน่งแรก ถัดจากการกรองหยาบ เพื่อให้สกิมเมอร์ทำหน้าที่ดึงของเสียที่ละลายน้ำอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ ก่อนจะผ่านไปสู่ระบบกรองทางชีวภาพต่าง ๆ (ถ้ามี)

5. คำนึงถึงช่องทางน้ำเข้าและทางน้ำออกของสกิมเมอร์

กล่าวคือ ถ้าเพื่อนสมาชิกสังเกตตัวสกิมเมอร์ จะมีช่องทางนำน้ำเข้าไปบำบัดโดยสกิมเมอร์ ผ่านทางปั๊มต่าง ๆ และช่องทางที่น้ำบำบัดแล้วออกจากตัวสกิมเมอร์ ... หากบางกรณีนักเลี้ยงบางท่านจัดวางตำแหน่งทางน้ำออกและทางน้ำเข้าได้ไม่ดีแล้ว ทิศทางการไหลของน้ำดีที่ออกจากตัวสกิมเมอร์อาจถูกดูดกลับเข้าไปบำบัดโดยสกิมเมอร์อีกครั้ง .... แม้ว่าบำบัดบ่อย ๆ ก็จะทำให้สะอาดขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าน้ำดีจากสกิมเมอร์ไปแทนที่พื้นที่น้ำที่จำเป็นต้องบำบัดแทน (ผมใช้คำพูดงงไหมเนี่ย  [on_008])

ผมลองไล่ดูตามตัวอย่างการจัดวางสกิมเมอร์ และทางน้ำเข้าออกของสกิมเมอร์ของนักเลี้ยงหลายท่าน ก็พอสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นสกิมเมอร์ติดตั้งภายนอกที่ต้องอาศัยปั๊มในการดึงน้ำที่ต้องการบำบัดเข้าสู่ตัวสกิมเมอร์ นักเลี้ยงก็จะจัดปั๊มดึงน้ำเข้าในช่องกรองถัดจากกรองหยาบ (ตามข้อ 4. ข้างต้น) และต่อท่อน้ำออก หรือหันทางน้ำออกของตัวสกิมเมอร์ ให้ไปออกยังช่องถัดไปโดยไม่ไหลย้อนกลับไปในช่องที่มีปั๊มทางน้ำเข้าอยู่

แม้ว่า นักเลี้ยงบางท่าน อาจพิจารณาประเด็นนี้แล้วมองว่า เป็นประเด็นยิบย่อยเกินไป ไม่ส่งผลกระทบมากมายนักต่อระบบหรอก ... แต่ ถ้าเราปรับจุดเล็กจุดน้อยไ้ด้ ก็ไม่เสียหายหนิครับ  [on_066]

สำหรับพวกสกิมเมอร์ที่ติดตั้งภายในมักจะมีปัญหา เพราะทางน้ำเข้าออกอยู่ใกล้กันมาก ...สำหรับตัวผมเองใช้วิธีการดูกระแสการไหลของน้ำในตู้กรอง ว่าน้ำมีทิศทางการไหลไปในทางใด และจะติดตั้งทางนำเข้าของสกิมเมอร์ ให้อยู่บริเวณตอนต้นของกระแสน้ำ เพื่อให้ดูดน้ำที่ต้องการบำบัดเข้าระบบก่อน และน้ำดีที่ออกมาจากสกิมเมอร์ ก็จะไหลตามกระแสผ่านระบบต่าง ๆ ต่อไป ไม่กลับย้อนเข้ามาบำบัดซ้ำอีก อันจะเป็นการแทนที่ปริมาณน้ำที่ต้องการบำบัด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07/03/13, [00:01:34] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #40 เมื่อ: 07/03/13, [00:12:26] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขออภัยที่มาอัพเพิมเติมช้านะครับ ติดภารกิจเล็กน้อย ...  [on_007]

หากเพื่อนสมาชิกท่านใด มีประสบการณ์ มีข้อมูล ปัญหา ทางแก้ ข้อเสนอแนะ รีวิว เกี่ยวกับโปรตีนสกิมเมอร์

ช่วยแชร์กันก็ยินดีนะครับ จักได้เป็นคลังสะสมความรู้ต่อไป
[on_055]
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #41 เมื่อ: 08/03/13, [13:24:00] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

"การปรับตั้งค่าสกิมเมอร์ แบบเปียก (Wet) VS แบบแห้ง (Dry)"

เพื่อน ๆ สมาชิดอาจจะเกิดข้อสงสัย กับข้อคำถามที่ว่า ไอ้การปรับสกิมเมอร์แบบเปียก กับ แบบแห้ง เนี่ยมันแตกต่างกันอย่างไร แล้วอย่างไรดีกว่ากัน ??

พอมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่า "มันมีด้วยเหรอฟ่ะ ปรับแบบเปียก แบบแห้ง [on_008] ตั้งแต่ใช้มาก็เพิ่งได้ยิน"   [on_055]

ประเด็นเรื่องการปรับสกิมเมอร์ ไม่ว่าจะแบบเปียก หรือแบบแห้ง เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควรในหมู่นักเลี้ยง ตปท. ซึ่งหลายคนก็ชอบแบบเปียก ... หลายคนก็นิยมแบบแห้ง ... คราวนี้ขอผมขอนำเสนอถึงรายละเอียดของการปรับสกิมเมอร์ทั้งสองรูปแบบ และข้อดี/เด่น ที่เหมาะสมนะครับ

 [on_066]

ตามที่ได้ไล่เรียงนำเสนอความเกี่ยวกับสกิมเมอร์มาตั้งแต่แรก ... ที่พอสรุปการทำงานของสกิมเมอร์ที่ใช้หลักการ ให้ฟองอากาศดักจับอนุภาคของเสีย และผลักดันขึ้นสู่ถ้วยเก็บด้านบนนั้น (ตามอ่านข้างต้น ๆ นะครับ)

โดยปกติสกิมเมอร์แทบทุกรูปแบบในปัจจุบัน สามารถปรับระดับน้ำในสกิมเมอร์ได้ ซึ่งการปรับระดับน้ำนี่แหล่ะ คือ การปรับเปียก (Wet) และปรับแห้ง (Dry)

การปรับเปียก (Wet)

คือ การปรับระดับน้ำในสกิมเมอร์ให้อยู่ในระดับสูง หรือบางคนเรียกว่าตั้งสกิมเมอร์แบบสูง ซึ่งระดับน้ำจะอยู่ประมาณช่วงคอสกิมเมอร์ หรือบางคนอาจปรับระดับน้ำอยู่ที่ช่วงกลางของถ้วยรับของเสีย ......

การตั้งสกิมเมอร์สูงเช่นนี้ จะทำให้ตัวสกิมเมอร์ผลักของเสียออกมาได้ค่อนข้างง่าย (เพราะระดับน้ำอยู่สูง) แต่จะสังเกตได้ว่า ของเสียที่สกิมเมอร์ขับออกมาจะมีลักษณะค่อนข้างใส ไม่เป็นโฟมข้น ๆ ดังภาพครับ



ข้อดี: ของเสียออกได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน
ข้อเสีย: แม้ว่าของเสียจะออกมาได้เร็ว แต่มีปริมาณของน้ำปะปนอยู่มาก (จึงเป็นที่มาของคำว่าแบบเปียก) ทำให้ต้องล้างถ้วยดักของเสียบ่อยครั้ง น้ำในระบบลดลงบ่อย ต้องมีการเติมน้ำเพิ่มในระบบ .. ในหลาย ๆ ทรรศนะเห็นว่าเป็นการดึงแร่ธาตุบางส่วนออกจากน้ำ รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมถ้วยสกิมเมอร์ได้ เมื่อเกิดอาการไฟดับ ไฟกระชาก

การปรับแห้ง (Dry)

เป็นลักษณะตรงกันข้ามกับการปรับแบบเปียก คือ ปรับระดับน้ำในสกิมเมอร์ให้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงมีระยะห่างระหว่างระดับน้ำกับถ้วยดักของเสียมากกว่าการปรับแบบเปียก ดังนั้น ฟองอากาศที่ดักจับอนุภาคของเสียจะถูกดันขึ้นสูง และรีดเอาเฉพาะฟองอากาศที่มีแต่ของเสีย และขจัดน้ำออกไป .... ของเสียที่ได้จึงมีลักษณะเป็นโฟม ฟองละเอียด (จึงเป็นที่มาของคำว่าแบบแห้ง)

การตั้งสกิมเมอร์แบบแห้ง จะใช้เวลาค่อนข้างนานในการที่ของเสียจะถูกดันออกมายังถ้วยสกิมเมอร์ เพราะต้องอาศัยเวลาในการที่ฟองอากาศดักจับอนุภาคของเสียสะสมในปริมาณหนึ่งก่อน จะใช้เวลาในการดันขึ้นที่สูง ตามภาพครับ



ข้อดี: สกิมเมอร์ทำงานได้เต็มที่ เป็นการดึงเอาเฉพาะของเสียออกจากระบบ ไม่ต้องทำความสะอาดถ้วยสกิมเมอร์บ่อยครั้ง ไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณน้ำในระบบที่จะลดลง
ข้อเสีย: ใช้เวลานาน ถึงนานมากกว่าที่ของเสียจะสะสมและจะถูกดันขึ้นสู่ถ้วยสกิมเมอร์ และการที่ตั้งระดับน้ำไว้ต่ำ อาจทำให้คราบของเสียไปติดค้างในตัวกระบอกสกิมเมอร์ เป็นปัญหาในการล้างทำความสะอาด

จากการค้นตามเวปต่าง ๆ ก็ยังพบว่า สกิมเมอร์ในตลาดส่วนใหญ่มักจะปรับเปียก ได้ง่ายกว่าปรับแห้ง เพราะการปรับแห้งต้องอาศัยความสามารถของตัวสกิมเมอร์ และปั๊มในการดูดเอาอากาศเข้าระบบสกิมเมอร์เป็นจำนวนมาก และต้องสร้างฟองอากาศให้มีจำนวนมากและมีขนาดเล็กที่สุด  .... ซึ่งสกิมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะเจอข้อจำกัดเช่นว่านี้ ทำให้สกิมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะถูก (จำใจ) ปรับแบบเปียกแทน

ก็สอดคล้องกับหลักการนะครับที่ว่า "สกิมเมอร์ห่วยปั่นได้น้ำ สกิมเมอร์ดีปั่นได้โฟม" แต่เมื่อได้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้แล้ว ทำให้ทราบได้ว่า ถึงแม้สกิมเมอร์ที่ (จำใจ) ปรับเปียก จากการสร้างฟองได้จำนวนน้อย หรือความตั้งใจปรับโดยผู้ใช้ ก็ยังมีความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากระบบอยู่ดี แต่อาจต้องอาศัยการหมั่นดูแลทำความสะอาด และเติมน้ำบ่อย ๆ ครับ

 [on_055]

ปรับแบบไหนดีกว่ากัน ??

ประเด็นนี้ถกเถียงกันมากพอควรครับ ....  [on_018]

ในกลุ่มนิยมการปรับแบบแห้งมีทรรศนะว่า "การปรับแห้ง เป็นการเพิ่มเวลาการสัมผัส (contact time)" ระหว่างฟองอากาศกับอนุภาคของเสีย (สงสัยคำใด ลองย้อนอ่านดูครับ)  ........  [on_026]

โดยเห็นว่า การเพิ่มความสูงของระยะระหว่างระดับน้ำในสกิมเมอร์ กับถ้วยดักของเสีย จะทำให้มีระยะเวลาในการสัมผัสมากขึ้น ดังนั้นของเสียในน้ำย่อมจะถูกนำเอาออกไปได้ดียิ่งขึ้น !! ... ซึ่งถ้ากล่าวตามทฤษฎี หลักการทำงานของสกิมเมอร์ อันนี้ผมเห็นด้วยนะ

แต่ก็มีการศึกษาของ Ken S. Feldman, Kelly M. Maers, Lauren F. Vernese, Elizabeth A. Huber, Matthew R. Test ในบทความวิจัยเรื่อง "Feature Article: The Development of a Method for the Quantitative Evaluation of Protein Skimmer Performance"

กลับมีทรรศนะที่ว่าถึงแม้การปรับแห้งจะตอบโจทย์ทางทฤษฎีได้ดี ในเรื่องหลักการนำของเสียออกจากระบบโดยฟองอากาศ ... แต่การปรับเปียกเพื่อให้โฟมของเสียที่กำจัดออกมานั้นมีน้ำปนอยู่ออกมา น่าจะมีความเหมาะสมในการกำจัดสารอินทรีย์ออกจากระบบได้มากกว่า ซึ่งผมสรุปใจความสำคัญที่ว่าปรับเปียกก็น่าจะดีกว่า ก็คือ น้ำจำนวนหนึ่งที่ปะปนอยู่ในโฟมของเสียจากการปรับเปียก ก็เป็นน้ำที่มีสารอินทรีย์จำนวนมากละลายปะปนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการยากในทางทฤษฎีที่จะให้สกิมเมอร์ดึงของเสียออกจากระบบได้ตามทฤษฎี

ที่กล่าวมา อาจระบุได้ยากว่าการปรับแบบใดดีที่สุด  [on_007]

ผมขอเลือกเอาตามทางพระพุทธศาสนาแล้วกันครับ "เอาทางสายกลาง" คือ ปรับระดับน้ำในสกิมเมอร์ ให้มีลักษณะกึ่งเปียก กึ่งแห้ง (ต้องค่อย ๆ ปรับหาจุดที่เหมาะสมในแต่ละตู้เอาครับ) ซึ่งการปรับเช่นนี้ ทำให้สกิมเมอร์ไม่ใช้เวลานานเกินไปในการสะสมของเสียเพื่อดันตัวขึ้นมาเป็นโฟม และเป็นการกำจัดน้ำที่ยังมีสารอินทรีย์ละลายปะปนอยู่ในน้ำที่ฟองอากาศไม่สามารถดักจับอนุภาคได้ .... แต่ก็ต้องปรับจูนดี ๆ นะครับ

ผมจะใช้การปรับสูง ในช่วงการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นหลัก เพื่อรีดเอาน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์ออกมาให้มากที่สุด ก่อนเติมน้ำดีไป ... และมักจะปรับให้ระดับน้ำต่ำลงเป็นแบบแห้ง เมื่อต้องไปทำธุระนอกบ้าน กันจังหวะไฟดับไฟกระชาก ... และเมื่อกลับบ้านก็จะปรับระดับน้ำให้มีความสูงขึ้นอีกเล็กน้อย

แต่อย่างไรก็ตามก็สุดแล้วแต่ ดุลยพินิจและความชอบของเพื่อนสมาชิกนะครับ ว่าเพื่อนชอบปรับเปียก หรือปรับแห้ง [on_066]   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08/03/13, [14:04:43] โดย copcong »
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #42 เมื่อ: 08/03/13, [15:38:46] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ



"ปัจจัยที่ต้องคำนึง .... ก่อนการเลือกซื้อสกิมเมอร์ !!??"   [on_055]

คงเป็นการยากที่จะบอกสกิมเมอร์แบบไหน ยี่ห้อใด เป็นสกิมเมอร์ที่ดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า

""No one best skimmer!"

ผมได้ลองไปอ่านบทความของ Jason Kim ผู้ก่อตั้ง AquaC. Inc. ได้นำเสนอปัจจัยสำคัญ 6 ประการที่นักเลี้ยงจำเป็นต้องพิจารณาก่อนการเลือกสกิมเมอร์ได้แก่

1. ประสิทธิภาพ (Performance) : คำว่าประสิทธิภาพในที่นี้ คือ ความสามารถของสกิมเมอร์ในการกำจัดของเสียออกจากระบบ ...  ซึ่งประสิทธิภาพของสกิมเมอร์ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของสกิมเมอร์ (ลองดูข้อดี ข้อจำกัด ของสกิมเมอร์แต่ละประเภทดูครับ) โดยนาย Jason Kim มีทรรศนะว่าสกิมเมอร์แบบดาวน์ดราฟท์ เป็นสกิมเมอร์ที่แลดูมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็แรกมาด้วยข้อจำกัดด้านขนาดที่ค่อนข้างใหญ่โต
 
2. ต้นทุนแรกเริ่ม (Initial Cost) : ก็คือ ราคาค่าตัวของสกิมเมอร์ ... สกิมเมอร์เองก็เหมือนกับรถ มีหลายเกรด หลายรุ่น หลายยี่ห้อ .... ตลาดล่างหน่อยก็ราคาย่อมเยาว์ แต่ถ้ามีทุนเยอะไม่อั้นจะกด Bubble King เลยก็ไม่มีใครว่า ... โดยส่วนใหญ่แล้วคุณภาพก็มักจะแปรผันตามราคาค่าตัวของสกิมเมอร์เช่นกัน

3. ต้นทุนต่อเนื่อง (Ongoing Cost) : เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังจากใช้งานสกิมเมอร์ ที่เห็นได้ง่าย คือค่าไฟที่เพิ่มขึ้นตามกำลัง Watt ของปั๊มสกิมเมอร์ ... หลายกรณีสกิมเมอร์บางยี่ห้อมีราคาค่าตัวค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ปั๊มที่ใช้กับกินไฟมากกว่ากันถึง 2-3 เท่า ... อันนี้ แม้ราคาเริ่มต้นจะถูก ก็ต้องแลกมากับต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น

4. ความต้องการในการดูแลรักษา (Maintenance Requirements) : สกิมเมอร์ก็เปรียบเช่นของใช้งานทั่วไป ที่เมื่อใช้งานแล้วก็ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใ้ห้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ชำรุด เสียหาย ... ซึ่งสกิมเมอร์หลายประเภทก็ต้องการ การดูแลรักษาที่แตกต่างกัน และมีจุดเน้นในการตรวจสอบแตกต่างกัน อาทิ แบบเวนทูรี่ ก็ต้องหมั่นทำความสะอาดตัววาล์วเวนทูรี่เป็นประจำ ถ้าเป็นแบบใช้ปั๊มที่มีแกนใบพัดพิเศษ ที่มักจะพังบริเวณแกนฯ ก็ต้องดูแลป้องกันมิให้มีเศษตะกอนหลุดเข้าไปทำอันตรายต่อแกนใบพัด ... แบบใช้อากาศเป็นตัวนำ ก็ต้องหมั่นเปลี่ยนทุ่นทำอากาศอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

5. ขนาด (Size) : ตามหลักการทฤษฎีแล้ว สกิมเมอร์ควรจะต้องมีกระบอกสกิมเมอร์ที่สูง เพื่อเพิ่มระยะเวลาการสัมผัส ... และต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการปะทะ ดังนั้น ถ้าออกแบบสกิมเมอร์ตามหลักการแล้ว สกิมเมอร์มักจะมีขนาดใหญ่เทอะทะ ... ผู้ผลิตสกิมเมอร์ต่าง ๆ ก็มีการปรับปรุงออกแบบสกิมเมอร์ให้มีความกระทัดรัดมากขึ้น มีขนาดเล็กลง แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียอยู่ แต่อย่างไรก็ตามสกิมเมอร์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อก็จะมีขนาดแตกต่างกันไป และส่งผลสำคัญต่อการเลือกซื้อสกิมเมอร์

ถ้าเลือกสกิมเมอร์แบบวางภายใน (Internal Skimmer) ก็ต้องคำนึงถึง พื้นที่ (space) ของตู้กรองว่ามีขนาดเพียงพอที่จะสามารถวางสกิมเมอร์ได้ หรือไม่ .... มีหลายครั้งที่เพื่อนสมาชิกมักจะประสบกับปัญหา ที่ชอบสกิมเมอร์ ตัวหนึ่งรุ่นหนึ่ง แต่ไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อสกิมเมอร์ตัวนั้นได้ เพราะไม่สามารถยัดลงกรองล่างได้ จึงต้องไปเล่นตัวอื่นยี่ห้ออื่นที่แทน เป็นต้น

บางกรณีถ้าเลือกใช้สกิมเมอร์แบบวางภายนอก แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องขนาดช่องกรอง แต่ก็มีปัญหาเรื่องของขนาดเช่นกัน กล่าวคือ จะเกะกะหรือไม่ จะจัดวางไว้ตรงไหน เป็นต้นครับ

6. ความง่ายในการใช้งาน (Ease of Use) : บางผู้ผลิตและจำหน่ายสกิมเมอร์ในท้องตลาด เคลมว่าสกิมเมอร์ของตนมีความง่ายต่อการใช้งาน เพียงนำจุ่มน้ำแล้วเสียบปลั๊กไฟก็ใช้งานได้แล้ว มาเป็นจุดขาย .... จะเห็นได้ว่าความยากง่ายในการใช้งานมีส่วนสำคัญต่อการเลือกซื้อ กล่าวคือ สกิมเมอร์บางประเภท บางรุ่น ต้องมีการเดินท่อ ต่อสายยาง อันทำให้เกิดความยุ่งยากก่อนจะใช้งานได้ ... บางรุ่นก็ต้องหมั่นตรวจสอบและปรับระดับน้ำนสกิมเมอร์สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมบ้าน ... ถ้าผู้เล้ยงมีทักษะ และมีความเข้าใจในระบบของสกิมเมอร์นั้น ๆ ปัจจัยนี้ก็อาจลดทอนลงไป แต่สำหรับบางคนที่ไม่คุ้นเคยแล้ว เรื่องความยากง่ายในการใช้งานอาจกลายมาเป็นปัญหาสำคัญต่อการเลือกซื้อสกิมเมอร์ได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11/03/13, [02:08:07] โดย copcong »
note_Chonburi ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #43 เมื่อ: 10/03/13, [23:17:37] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

รบกวนขอความคิดเห็นด้วยครับ

เคยได้ยินหลักเลือกปั้มหลักให้ได้การเวียนน้ำให้ได้ 10 รอบต่อชั่วโมง เช่น น้ำ 500 ลิตรก็เลือกปั้ม 5000 ลิตรอะไรประมาณนี้ อยากทราบความคิดเห็นว่าการเลือกปั้มน้ำหลักเพื่อให้เข้ากับหลักการดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อการเลือกขนาดของสกิมเมอร์หรือไม่ครับ

ยกตัวอย่าง ตู้ที่มีปริมาณน้ำ 500 ลิตร ใช้ปั้ม 5000 ลิตร/ช.ม. แต่ใช้สกิมขนาด 1000 ลิตรเพื่อโอเวอร์สเป๊ก 1 เท่า
กับตู้ขนาดน้ำ 500 ลิตร ใช้ปั้ม 2500 ลิตร/ช.ม. ใช้สกิมขนาด 1000 ลิตรเช่นกัน

ในเคสนี้คิว่าการเลือกใช้ปั้มน้ำหลัก จะมีผลต่อประสิทธิภาพของกสกิมเมอร์หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับผม ^^

copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #44 เมื่อ: 11/03/13, [02:26:35] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

รบกวนขอความคิดเห็นด้วยครับ

เคยได้ยินหลักเลือกปั้มหลักให้ได้การเวียนน้ำให้ได้ 10 รอบต่อชั่วโมง เช่น น้ำ 500 ลิตรก็เลือกปั้ม 5000 ลิตรอะไรประมาณนี้ อยากทราบความคิดเห็นว่าการเลือกปั้มน้ำหลักเพื่อให้เข้ากับหลักการดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อการเลือกขนาดของสกิมเมอร์หรือไม่ครับ

ยกตัวอย่าง ตู้ที่มีปริมาณน้ำ 500 ลิตร ใช้ปั้ม 5000 ลิตร/ช.ม. แต่ใช้สกิมขนาด 1000 ลิตรเพื่อโอเวอร์สเป๊ก 1 เท่า
กับตู้ขนาดน้ำ 500 ลิตร ใช้ปั้ม 2500 ลิตร/ช.ม. ใช้สกิมขนาด 1000 ลิตรเช่นกัน

ในเคสนี้คิว่าการเลือกใช้ปั้มน้ำหลัก จะมีผลต่อประสิทธิภาพของกสกิมเมอร์หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับผม ^^



ขอบคุณสำหรับคุณโน๊ตด้วยครับ สำหรับคำถาม ... ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคำถามสำคัญ และอาจเป็นข้อถกเถียงกันในการเลี้ยงปลาทะเลเช่นกัน โดยตัวผมเองก็เชื่อ และรับฟังตามที่ผู้เลี้ยงท่านอื่น ๆ กล่าวสืบต่อกันมาว่า "ปั๊มหลักควรทำน้ำได้มากกว่าปริมาณน้ำในตู้ปริมาณ 7-10 เท่า"

เพราะเชื่อกันว่า -----------> ถ้าน้ำในระบบมี 500 ลิตร ... ถ้าใช้ปั๊มขนาด 5000 ลิตร/ชม. แล้ว หมายความว่า สามารถหมุนเวียนน้ำในระบบเพื่อบำบัดได้ถึง 10 รอบ/ชม.

แต่พอผมลองสืบค้นในประเด็นดังกล่าวตามเวป ตปท.ที่มีการถกเถียงกันบ้าง หรือมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์การเลี้ยงตู้ทะเลมานับสิบปี ก็พอสรุปคำตอบได้ พอสังเขปดังนี้ครับ ว่า

ขนาดของปั๊มหลัก ส่งผลต่อประสิทธิภาพของสกิมเมอร์ในการดึงของเสียออกจากระบบแน่นอนครับ !!!

แต่เรามักจะมองข้ามเรื่องขนาดของปั๊มหลัก ที่เกี่ยวพันกับสกิมเมอร์ไป

ตามที่คุณโน๊ตถาม ยังมีประเด็นเกี่ยวกับขนาดของสกิมเมอร์ที่เหมาะสม ..... ซึ่ง ผมเคยได้เกริ่นไปในหัวข้อข้างต้นเกี่ยวกับการ "Overskimming" หรือ ความเชื่อที่ว่าควรเลือกใช้สกิมเมอร์ที่สามารถทำน้ำได้มากกว่าปริมาณน้ำในตู้ 3-5 เท่า หรือยิ่งมากยิ่งดี .... อันเป็นประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวพันกับที่คุณโน๊ตถาม และคงเป็นประเด็นที่ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกหลายคน "ต้องเคยตั้งคำถาม" กับขนาดของสกิมเมอร์

โดยผมขออนุญาตตามเรื่องของ Overskimming และจะอธิบายไล่เรียงถึงประเด็นขนาดของปั๊มหลัก ที่เกี่ยวพันกับสกิมเมอร์ในคราวต่อไปด้วยครับ

ปล ... ผมขออนุญาตออกตัวไว้ ณ ที่นี้ครับว่า ผมเองมีประสบการณ์ตู้ทะเลมาแค่ปีเศษ คงมีประสบการณ์ได้ไม่มากมาย หรือเชี่ยวชาญมากกว่าเพื่อนสมาชิกแต่อย่างใด ... ข้อมูล เนื้อหาที่ผมนำมานำเสนอในที่นี้ เกือบทั้งหมดกว่า 90% ผมได้จากการสืบค้นตามเวป ตปท. ที่มีการถกเถียงกันในหลาย ๆ ประเด็น ... ซึ่งการถกเถียงก็อยู่บนพื้นฐานของหลักการทฤษฎีการทำงานของสกิมเมอร์ มากกว่า ความเชื่อส่วนบุคคล .... แต่อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่ทฤษฎีต่างจากการปฏิบัติ และข้อถกเถียงบางอย่างก็ไม่ได้ข้อสรุป 100% ดังนั้น สิ่งที่นำเสนออาจมีประเด็นที่ผิดพลาด หรือขัดกับความเชื่อ หรือการปฏิบัติที่เป็นอยู่ของเพื่อนสมาชิกในบางกรณี ซึ่งผมจักขอบคุณเป็นอย่างสูง ถ้าเพื่อนสมาชิกจะมาแลกเปลี่ยน มาแชร์ข้อมูล ประสบการณ์ หรือรีวิวการใช้งานสกิมเมอร์ของแต่ละคน อันจะเป็นหลักฐานยืนยันถึงข้อมูลที่ผมได้นำเสนอไป รวมทั้งถ้ามีข้อผิดพลาดในข้อมูล ก็จักได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไปครับ .......... ขอบคุณครับ  [on_055]
jamprince ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #45 เมื่อ: 11/03/13, [18:47:12] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

อายย่ะ....!!!    เจ๋งเลยครับ รอคำตอบอยู่เลยนึกว่าจะอดแล้วหลังจากที่ได้ถามไป    แจ๋วเจ๋งครับ..... [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง] [เจ๋ง]
Romeo_Pop ออฟไลน์
Level 5 Moderator
« ตอบ #46 เมื่อ: 13/03/13, [10:58:06] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [on_058] ยินดีด้วยสำหรับรางวัลตรา Anemone Award จากตาบัง!! เหมาะสมแล้วสำหรับบทความนี้ครับ
icare4usp ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #47 เมื่อ: 14/03/13, [08:53:34] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

รางวัลเท่ห์จริงๆเลย ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #48 เมื่อ: 22/03/13, [21:32:57] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ ช่วงนี้ติดสอบดุษฎี สิ้นเดือนนี้สอบเสร็จจะมาตอบให้จบถ้วนกระบวนความนะครับ  n032
paranoy ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #49 เมื่อ: 24/03/13, [11:44:17] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณความรู้ดีๆครับ
ขอให้ได้เกียรตินิยมครับ
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #50 เมื่อ: 24/03/13, [22:21:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

คคห.ข้างบนนี้มายังไงฟระ
Romeo_Pop ออฟไลน์
Level 5 Moderator
« ตอบ #51 เมื่อ: 24/03/13, [22:37:27] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

คคห.ข้างบนนี้มายังไงฟระ

ขอบคุณค้าบจัดการไปล่ะพวกโฆษณาก่อกวนนี่น่าเบื่อจริง
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #52 เมื่อ: 09/04/13, [12:07:27] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

หายไปนาน กลับมาอัพข้อมูลต่อครับ



กลับมาเรื่องของความเชื่อเรื่อง "การโอเวอร์สกิมฯ" หรือที่เชื่อกันว่า

"ควรเลือกใช้สกิมเมอร์ที่มีความสามารถในการทำน้ำสูงกว่าปริมาตรน้ำในตู้ของเราให้มาก ๆ ยิ่งมากยิ่งดี อย่างน้อย 3 เท่า หรือ 5 เท่า ขึ้นไป"

ประเด็นนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ผมสงสัย และเป็นบ่อเกิดของการไล่ตามหาอ่านความรู้เกี่ยวกับโปรตีนสกิมเมอร์จากเวปภายนอก

แต่อย่างไรก็ตาม "ไม่ใช่ว่าองค์ความรู้จากเวปต่างประเทศจะถูกต้อง เป็นเอนกอนันต์จนต้องไล่ตามเชื่อ หรือฟังความแต่ฝรั่งแต่ไม่เชื่อความคนไทยกันเอง"

ที่ผมต้องออกตัว เอี๊ยดดดด ดังกล่าวก่อนก็ด้วยสิ่งต่าง ๆ หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เอามาแชร์กันได้มาจากกการไล่อ่านตามเวปต่างประเทศเสียมากกว่า 90% และอาศัยการแปลและเรียบเรียงความมาให้เพื่อนสมาชิกได้รับทราบข้อมูลกัน แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้ก็ต้องอาศัยการอ้างอิงตามหลักการทำงานของสกิมเมอร์ อยู่บนพื้นฐานของ "ความจริง" ดังนั้น ผมจึงต้องนำเสนอข้อมูลหลักการทำงานของโปรตีนสกิมเมอร์ไว้ตั้งแต่คราวแรก

ความเชื่อเรื่องการใช้สกิมเมอร์ โอเวอร์ปริมาตรน้ำสูง ๆ นั้น นักเลี้ยงในต่างประเทศก็ถกเถียงกันเป็นจำนวนมากว่า

"จำเป็นไหมที่ต้องโอเวอร์สกิม"

"ถ้าจะโอเวอร์ ควรโอเวอร์เท่าใด"

"ถ้าโอเวอร์สกิมฯ มาก ๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น"

แน่นอนครับ การถกเถียงก็ต้องแบ่งตามความเชื่อ ประสบการณ์ในการเลี้ยงของนักเลี้ยงแต่ละฝักฝ่าย แต่ในทรรศนะของผมที่ไล่อ่านดู ก็พอสรุปได้ว่า

"การโอเวอร์สกิมเมอร์นั้น ไม่จำเป็น แต่ถ้าจะทำ ก็สามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรโอเวอร์จนเกินไปเอาแค่พอประมาณก็พอ"  [on_018]

คำอธิบาย คงต้องย้อนกลับไปอ่านเรื่องหลักการทำงานของสกิมเมอร์ในเบื้องต้นที่ว่า จุดประสงค์ของสกิมเมอร์มีไว้เพื่ออะไร ?? เอาง่าย ๆ คือ บำบัดน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้นด้วยการดักจับของเสียจำพวกอนุภาคโปรตีนที่ละลายน้ำ (DOCs) อยู่ออกจากน้ำโดยใช้ฟองอากาศเป็นตัวดัก

ดังนั้น ถ้ามองเชิงตรรกะ .............. เพราะ
"น้ำมีของเสียจำพวกอนุภาคโปรตีนละลายปะปนอยู่ จึงต้องใช้สกิมเมอร์ในการจัดการกำจัดของเสีย" ดังนั้น
"ยิ่งน้ำมีของเสียมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องใช้โปรตีนสกิมเมอร์ที่มีความสามารถสูงขึ้นในการกำจัดของเสียตามสัดส่วนกัน"
"ของเสียเกิดจาก ขี้ปลา อาหารตกค้าง สิ่งมีชีวิตตายเน่าสลายในระบบ ฯลฯ ยิ่งปัจจัยเหล่านี้มาก ของเสียยิ่งมาก"

ในทางตรงข้ามทางตรรกะเช่นกัน
"ถ้าปัจจัยพวก ขี้ปลา อาหารตกค้าง สิ่งมีชีวิตตายเน่าสลายในระบบ ฯลฯ มีน้อย น้ำก็มีของเสียน้อย"
"น้ำมีของเสียปะปนน้อย ก็ต้องการสกิมเมอร์ที่สัมพันธ์กับของเสีย" <------------ นี่หล่ะคิอ ประเด็นที่ถกเถียง

จะเห็นได้ว่า โดยหลักการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสกิมเมอร์แล้ว คุณภาพ หรือประสิทธิภาพของสกิมเมอร์ที่เหมาะสมสัมพันธ์กับขนาดของตู้ปลานั้น คือ ความสัมพันธ์กับ "ของเสียที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ในตู้ปลา" เป็นหลักครับ "ไม่ใช่ดูปริมาตรน้ำเป็นหลัก"

หรือที่เค้าเรียกกันว่าต้องพิจารณา "Bio Loading" หรือต้องพิจารณาจำนวนสิ่งมีชีวิตในตู้ปลาของเราครับ แต่ มันจะไปพิจารณาจำนวนสิ่งมีชีวิตในตู้อย่างไรฟ่ะ  [on_018] เอาอะไรเป็นเกณฑ์ ??  [on_009]

ตู้ขนาด 24 นิ้วไม่มีกรองล่าง อัดปลาตระกูลแทงค์ไป 5 ตัว นี่เยอะไหม ??? หรือ
ตู้ขนาด 48 นิ้ว   มีกรองล่าง แต่ชอบโล่ง ๆ เลี้ยงการ์ตูนสักคู่กับแอนสักตัวก็พอแล้ว นี่เยอะไหม ???

เกณฑ์การพิจารณามันเชิงอัตวิสัย ขึ้นกับความพอใจส่วนบุคคลเป็นหลักเสียมากกว่า ไม่มีเกณฑ์กลางที่ถือเอาได้ จึงถือเอาเกณฑ์ที่ตั้งบนฐานคติที่ว่า "ตู้ปลาแต่ละระบบ จะเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในจำนวนที่เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในระบบ" ดังนั้นจึงเอาเกณฑ์การทำน้ำมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดสกิมเมอร์แทน (การทำน้ำว่า สกิมเมอร์ตัวนี้เหมาะสมกับน้ำกี่ลิตร ๆ เป็นต้น)

โดยปกติตามธรรมชาติแล้ว นักเลี้ยงมักลงสิ่งมีชีวิตหนักมือมากเกินกว่าปริมาตรน้ำในระบบเสมอ (อาการมันมือ จากกิเลส) ทั้งโดนสายตายั่วยวนของปลาเวลาว่ายขออาหาร จึงโปรยอาหารทุกครั้งที่เดินผ่านตู้ปลา (ต้องมีคนเป็นมั่งหล่ะน่า) ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มนักเลี้ยงที่เชื่อว่า "การโอเวอร์สกิมเมอร์นั้น มีความเหมาะสม" ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยในประเด็นนี้นะครับ

นอกเหนือจากนั้นแล้ว "ราคาคุย" หรือคำโฆษณาที่บรรยายสรรพคุณของโปรตีนสกิมเมอร์แต่ละยี่ห้อ ที่มักโอ้อวดสรรพคุณเกินประสิทธิภาพที่แท้จริง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องเอามาพิจารณาด้วยเช่นกัน <------------ ลองสังเกตดูครับ เอาแค่กำลังของปั๊มยี่ห้อผลิตจีนตลาดล่าง กับผลิตจีนตลาดบน กับของยุโรป ในกำลังเท่ากัน (ตามคำโฆษณา) แต่กำลังจริง ๆ แตกต่างแน่นอนครับ

งั้นเราพอสรุปความได้คร่าว ๆ นะครับว่า .............. "การโอเวอร์สกิมเมอร์นั้นสามารถกระทำได้" เนื่องจาก

1. นักเลี้ยงมักจะยัดสิ่งมีชีวิต ปลา+ก้นตู้ เต็มระบบ
2. คำโฆษณาเกินจริงของสกิมเมอร์แต่ละยี่ห้อในท้องตลาด

แต่ .......... ด้วยตรรกะ เหตุและผลที่กล่าวมาตอนต้นนั้น

ถ้า .... เลี้ยงสิ่งมีชีวิตน้อย เมื่อเทียบกับปริมาตรน้ำในระบบ และควบคุมปัจจัยการเกิดของเสียได้ดี เช่น ให้อาหารเป็นเวลา และให้ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้น <---------- ของเสียที่เกิดในระบบก็จะมีน้อย กรณีนี้ "การโอเวอร์สกิมเมอร์ก็ไม่มีความจำเป็น หรือบางกรณีใช้สกิมเมอร์ขนาดย่อมกว่าปริมาตรน้ำก็เพียงพอ"

แต่ ............  ก็อย่างที่บอกไปว่านักเลี้ยงน้อยกลุ่มที่จะเป็นเช่นนั้น แต่มักจะเป็นกรณีแรกมากกว่าที่ลงสิ่งมีชีวิตเต็มสตรีม ด้วยกิเลสมันพาไป ไอ้นั่นก็สวย ไอ้นี่ก็งาม ของเสียที่เกิดขึ้นมักจะเต็มปริมาตรระบบอยู่แล้ว

"แต่ระดับการโอเวอร์สกิมเมอร์ที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด ????"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09/04/13, [12:59:41] โดย copcong »
kaikuru ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #53 เมื่อ: 09/04/13, [21:00:24] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

มีความรู้เพิ่มเยอะเลยครับ ้hahaha
oho ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #54 เมื่อ: 06/05/13, [13:35:12] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เจ๋งอ่ะ ขอบคุณครับ.. แต่ยังอ่านไม่จบเลย [on_008]
ผมมือใหม่ฝากตัวด้วยครับ..
Oob. ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #55 เมื่อ: 09/05/13, [20:34:05] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ


- พอจะมีข้อมูลมั้ยครับว่า ที่ผู้ผลิดบอกว่าสกิมตัวนี้สำหรับตู้ 1,000 ลิตร เค้าคำนวณยังไง
  หรือมันมีความสัมพันธ์กันยังไงระหว่าง ปริมาณน้ำที่ผ่านปั้มสกิม, ปริมาณอากาศที่เข้าตัวสกิม, หรือปริมาตรรวมทั้งหมดของสกิม
  ถึงคำนวณออกมาได้

- แล้วที่บอกว่าสำหรับตู้ 1,000 ลิตร หมายความว่ากรองน้ำได้ 1,000 ลิตร ต่อ ชั่วโมงหรือเปล่าครับ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ช่วยรวบรวมมาให้ครับ
longduza ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #56 เมื่อ: 06/06/13, [17:01:44] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอสอบถามหน่อยนะครับ

ของผมมีสกิมเมอร์แบบแขวนข้างตู้อยุ่ พอดีจะย้ายไปตู้ใหญ่ เป็นกรองล่าง ขาเฟอ กรองล่างมันเต็มๆในขาเฟอพอดีอ่ะครับ ไม่มีที่ให้แขวนได้ แบบนี้ผมนำสกิมเมอร์แขวนแช่ใว้ในกรองได้รึป่าวครับ มีผลเสียอะไรมั้ย
Kuroky77 ออฟไลน์
Club Member
« ตอบ #57 เมื่อ: 07/06/13, [12:17:47] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

กำลังหาเลย
copcong ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #58 เมื่อ: 08/06/13, [12:50:33] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอสอบถามหน่อยนะครับ

ของผมมีสกิมเมอร์แบบแขวนข้างตู้อยุ่ พอดีจะย้ายไปตู้ใหญ่ เป็นกรองล่าง ขาเฟอ กรองล่างมันเต็มๆในขาเฟอพอดีอ่ะครับ ไม่มีที่ให้แขวนได้ แบบนี้ผมนำสกิมเมอร์แขวนแช่ใว้ในกรองได้รึป่าวครับ มีผลเสียอะไรมั้ย

ไม่ทราบว่าใช้สกิมเมอร์ ของยี่ห้ออะไร รุ่นใดครับ เผื่อเป็นข้อมูลครับ แต่ตามนัยปกติแล้ว สามารถนำไปจุ่มในกรองล่างได้ครับ เหมือนกับสกิมเมอร์แบบ external หลายรุ่นก็สามารถนำไปจุ่มไว้ในกรองล่างได้ไม่เป็นปัญหาเช่นกันครับ

แต่ผมไม่แน่ใจ 100% นะครับ อาจมีบางรุ่นที่เป็นข้อยกเว้น แต่ตามตรรกะแล้วน่าจะมีจำนวนน้อยครับ
longduza ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #59 เมื่อ: 08/06/13, [15:59:29] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ไม่ทราบว่าใช้สกิมเมอร์ ของยี่ห้ออะไร รุ่นใดครับ เผื่อเป็นข้อมูลครับ แต่ตามนัยปกติแล้ว สามารถนำไปจุ่มในกรองล่างได้ครับ เหมือนกับสกิมเมอร์แบบ external หลายรุ่นก็สามารถนำไปจุ่มไว้ในกรองล่างได้ไม่เป็นปัญหาเช่นกันครับ

แต่ผมไม่แน่ใจ 100% นะครับ อาจมีบางรุ่นที่เป็นข้อยกเว้น แต่ตามตรรกะแล้วน่าจะมีจำนวนน้อยครับ

ตอนนี้ผมใช้เป็น Boyu DG-2520 อยู่ครับ
กำลังปั้ม 1600 L/Hr
ขนาด  21.2 x1 3.1 x 50 cm

เดิมใช้กับตู้24 นิ้ว ตอนนี้ผมกำลังขนาดทำตู้ใหม่ 36นิ้ว อยากจะยกตัวเดิมไปใช้ เพราะเพิ่งซื้อได้เดือนกว่าๆเองครับ
หรือมีข้อแนะนำอะไรเพิ่มเดิม ช่วยแนะนำด้วยนะครับ (ปริมาณตู้ใหม่ น้ำ 600L)
หน้า: 1 2 3   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: