Aqua.c1ub.net
*
  Thu 25/Apr/2024
หน้า: 1   ลงล่าง
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: บทความคัดลอก จากหนังสือ Fish max เรื่องเกี่ยวกับ actived carbon  (อ่าน 6808 ครั้ง)
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« เมื่อ: 23/11/11, [11:37:29] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

เรื่อง ถ่านดำๆ ไม่ธรรมดา
โดย aquamedical

   สวัสดีครับ จากที่ไม่ได้พบกันในบางเล่ม ผมเองเลยว่างจากการเขียนบทความไปด้วย งานยุ่งเล็กน้อย (แต่ดีใจที่ยังมีให้ยุ่งอยู่) กลับมาเขียนอีกครั้งออกงงๆ เลยย้อนมาดู e-mail ว่าผลตอบรับจาก “แฟน” บทความบางท่านที่ตามอ่านกันอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่สมัยที่ผมเขียนบทความลงหนังสือแรกๆ (เล่มอื่นๆ) มีส่วนสำคัญจริงๆครับ กับการตอบรับที่จะทำให้ทราบว่าท่านต้องการอะไร มีจุดหนึ่งที่มีคนทักมาว่าเอ บางเรื่องเคยเขียนไปแล้ว แต่พอมาเขียนอีกครั้ง เนื้อหาแตกต่างไป ขนาดขัดแย้งกับเรื่องเดิมเลย ผมตอบไปว่า บางอย่าง ความรู้เดิมผิด บางอย่าง ความรู้และข้อเท็จจริงของเนื้อหาเปลี่ยนไปจากการศึกษาของวิชาการในปัจจุบัน เลยต้องเปลี่ยน ถึงกับอึ้ง ถามผมมาว่าไม่กลัวถูกด่าเหรอ จริงๆไม่ต้องกลัวมากครับ เพราะทุกวันนี้เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีคนเกลียดเราเลย แต่ความจริง คือความจริง ความรู้ที่ทันโลก เพิ่มพูน สำคัญกว่าแค่คำว่า “อัตตา”

   ออกแนวเครียดครับ ผ่านไปและผ่านไป เข้าเรื่องครับ มีเมล์หนึ่งที่น่าสนใจคือ อ่านบทความผมแล้วสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคลอรีนที่ทำน้ำประปา รวมถึงเจ้าเครื่องกรองคลอรีนที่ทำขายกันทั่วเมือง ครั้งนี้เลยหยิบเรื่อนี้มาเขียน ออกแนวต่อเนื่องกับเรื่องคราวที่แล้วพอดี วัสดุที่สำคัญและเป็นพระเอกของเครื่องกรองคลอรีนนั่นคือ ถ่านกัมมันต์ หรือที่คุ้นเคยกันในการซื้อขายตามร้านขายปลาทั่วไป คือ คาร์บอน ชื่อเต็มๆ จริงควรเรียกว่า แอคติเวทเท็ต คาร์บอน “Activated carbon” ถ่านดำๆ ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากกว่าแค่ปลาตู้

   เจ้าถ่านพวกนี้เป็นหนึ่งในวัสดุกรองน้ำ ที่ทำหน้าที่ในเชิงเคมี ใช้ในการดูดซับสารต่างๆที่มีประจุในน้ำ แต่ไม่ใช่ว่าประจุทุกอย่างจะดูดซับได้หมดนะครับ เพราะที่มันสามารถดูดซับได้นั้น หลักๆเป็นพวกไนโตรเจน สารประกอบอินทรีย์ และสารที่มีประจุลบ อย่าง คลอรีน โอโซน เป็นต้น การดูดซับสารใดได้ดีนั้น ขึ้นกับกระบวนการผลิตและคุณสมบัติเฉพาะตัวของวัสดุที่ใช้ผลิต ก่อนอื่นเรามารู้จักเจ้า แอคติเวทเท็ต คาร์บอน กันก่อน หลังจากนี้ขออนุญาตเรียกย่อๆว่า AC นะครับเพื่อความรวดเร็ว

   AC ที่มีอยู่ในท้องตลาดตอนนี้นั้นทำมาจากวัสดุหลากหลายประเภท ตั้งแต่อินทรียวัตถุ อย่าง พืชต่างๆ ไม้ไผ่ กะลา เปลือกผลไม้ ไปจนถึงกระดูกสัตว์ และที่เป็น อนินทรียวัตถุ เช่น ถ่านหิน แร่ต่างๆ และที่หนักสุดคือ ยางรถยนต์เก่า ซึ่งอย่างหลังนี่เท่าที่พบเห็นมักเป็น AC ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหารและยา แต่บังเอิญว่าเคยได้ทราบมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่ามีผู้ผลิตบางรายการดันหัวใส ไปเอามาขายใช้กรองน้ำตู้ปลาราคาถูกๆจนได้ อาจจะเคยได้ยินว่าราคาลิตรละ 20 กว่าบาท แห่ซื้อกันวูบวาว ปลาตายเป็นเบือ จนเขาก็เลิกขายไปในที่สุด

AC คือ สารประกอบต่างๆที่มีคาร์บอนและไฮโรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก นำมาผ่านกระบวนการ activation หรือการกำจัดสารอื่นๆที่ไม่ใช่คาร์บอนและ ไฮโดรเจนออกไป และทำให้เกิดรูพรุนสูงสุด ที่นิยมเลยจะมี 2 ประเภท คือ

1.   วิธีเคมี (Chemical activation) โดยจะใช้สารเคมีที่เป็น กรด ด่างแก่ หรือเกลือต่างๆ เช่น กรดฟอสฟอริก ซิงก์คลอไรด์ หรือแม้แต่น้ำเกลือบริสุทธิ์ เป็นต้น กระบวนการที่เกิดขึ้นจะมี 2 ขั้นตอนรวมกันเลย คือ การเตรียมคาร์บอน (Carbonization) และกระบวนการกระตุ้น (Activation) โดยจะผ่านสารเคมีเหล่านั้นลงไปบนวัตถุดิบที่อุณหภูมิประมาณ 450-900 องศาเซลเซียส และรอเวลา วัตถุดิบจะถูกกัดกร่อนองค์ประกอบต่างๆที่ไม่ใช่ คาร์บอนและไฮโดรเจน ละลายออกมาจนหมด และล้างด้วยน้ำอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการนี้จะใช้เวลาน้อยและอุณหภูมิไม่สูงมาก ทำให้ผลิตได้เร็ว ต้นทุนต่ำ และมักนิยมเป็นวิธีการหลักในการผลิต AC ด้วย การผลิตแบบนี้อาจจะมีสารเคมีบางส่วนหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะหากเป็น AC ที่เกรดต่ำแล้วนั้นจะค่อนข้างหลงเหลือมาทีเดียว

2.   วิธีกายภาพ (Physical reactivation) จะสังเกตเห็นว่าชื่อจะเป็น รีแอตติเวชั่นนะครับ นั่นเพราะกระบวนการนี้จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ การเตรียมคาร์บอน ที่จะใช้การเผาที่สภาพไร้ออกซิเจน อุณหภูมิ 600-900 องศาเซลเซียส ให้ได้ถ่านเปล่าๆก่อน แล้วจึงนำมาผ่านกระบวนการกระตุ้น ด้วยการอุ่นถ่านให้ร้อนที่ราวๆ 250 องศาเซลเซียส แล้วค่อยผ่านอากาศแบบที่มีการกัดกร่อนสูง (Oxidizing atmospheres) อากาศที่ว่านี้ อาจจะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ก็ได้ แต่ที่นิยมจะเป็นไอน้ำ อุณภูมิตรงนี้จะสูงมากคือ 600-1200 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว เนื่องจากกระบวนการที่ซับซ้อน และใช้เวลานานนี้เองทำให้ AC ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดจะไม่ใช้กระบวนการนี้ AC ที่จะใช้กระบวนการนี้โดยมากคือ  AC เก่านำมาใช้ใหม่ เพราะลดต้นทุนค่าวัตถุดิบไปได้ และอีกพวกคือ AC ใหม่นี้แหละ แต่ใช้เป็นยาหรือวัสดุทางการแพทย์ เพราะเนื่องจากมีความปลอดภัยต่อสารเคมีมากกว่า อย่างหลังนี้แพงเกินไปจึงไม่ใช้ในการกรองน้ำทั่วไป

จะเห็นว่า วิธีการแรกที่บอกนั้น คุณสมบัติของสารเคมีที่ใช้ และวัตถุดิบมีผลอย่างมากต่อคุณภาพของ AC ที่ผลิต วัตถุดิบที่ใช้กรองน้ำก็จะแตกต่างกันไป ชนิดที่ใช้กรองน้ำควรจะใช้สารเคมีชนิด Lab grade ในการผลิตขั้นตอนสุดท้าย (ในการผลิตการล้างด้วยสารเคมีอาจจะไม่ได้ล้างรอบเดียวเพื่อให้ได้คาร์บอน) และควรล้างน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม และวัตถุดิบหลักในการผลิตเองก็ควรเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ที่ราคาไม่แพง เช่น กะลามะพร้าว เป็นต้น

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็น AC ที่ผลิตจากอะไร คำตอบคือ ไม่ครับ เราจะไม่ทราบได้เลยว่าผลิตจากอะไร ตรงนี้ต้องขึ้นกับความน่าเชื่อถือของผู้จำหน่ายว่าเอา AC ประเภทไหนมาจำหน่ายให้เรา แต่ผู้ผลิตต้องทราบอยู่แล้วครับ เพราะการ QC และ มอก. จะทำการตรวจสอบและให้ผลมาในใบรับรองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งในการเลือกซื้อหรือพิจารณาคือ ค่าไอโอดีนนัมเบอร์ (Iodine number : IN) และค่าโมลาสนัมเบอร์ (Molasses number : MN) มากกว่า โดยค่า IN นั้นเป็นการบอกปริมาณรูขนาดเล็กของ AC ว่ามีมากแค่ไหน ถ้าตัวเลขมาก ก็แสดงว่าดูดซับสารโมเลกุลเล็กได้มาก รูเล็กเยอะมาก พื้นที่ผิวมาก ส่วนค่า MN นั้นแสดงการดูดซับกากน้ำตาลที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ดังนั้น ค่า MN จะบอกปริมาณรูขนาดใหญ่ของ AC ถ้ามีค่า MN มาก รูขนาดใหญ่มีมาก ดูดซับสารโมเลกุลใหญ่ได้มาก แต่พื้นที่ผิวน้อยกว่า ค่า 2 อย่างนี้จะเป็นตัวบอกเราว่าเหมาะสมกับงานเช่นไรกันแน่ โดยปกติตามที่หนังสือและหลายคนแนะนำตรงกันว่า ค่า IN ควรอยู่ที่ประมาณ ไม่น้อยกว่า 600-1000 และค่า MN ประมาณ ไม่น้อยกว่า 400-600 จะเหมาะสมต่อการใช้งานทั่วไปในการเลี้ยงปลา แต่หากเรารู้จุดประสงค์ที่แน่นอนในการใช้งานเช่นต้องการใช้กรองคลอรีนที่มีโมเลกุลเล็ก ก็ควรเลือกที่มีค่า IN สูงๆหน่อย หรือว่าจะนำมาใช้ในตู้ปลากรองกันถาวรไปเลย ก็เลือกที่มี MN สูงหน่อย เพราะจะช่วยดูซับสีและของเสียต่างๆได้ดีกว่า การพิจารณาดูตารางประกอบไปด้วยครับ

ตาราง 1 แยกประเภทของสารต่างๆ ที่มักพบและพิจารณาในการเลี้ยงปลา ตามขนาดโมเลกุล
โมเลกุลใหญ่โมเลกุลขนาดกลางโมเลกุลขนาดเล็ก
สีน้ำที่เกิดจากขอนไม้ (กรดแทนนิน),
มาลาไคร์กรีน (สารใช้รักษาจุดขาว),
คอปเปอร์ซัลเฟต คีเลท (สารใช้รักษาจุดขาว), น้ำตาล, แอมโมเนีย, ไนไตร์ท, ยาปฏิชีวนะต่างๆ, ตะกอนฝุ่นบางอย่างที่เกิดจากการทำปฏิกริยาของสารเคมีในน้ำ, ฟอร์มาลีน, ยาฆ่าเห็บหนอนสมอต่างๆ
เมทธีลินบลู (สารปรับน้ำใสแบบหนึ่ง),
คอปเปอร์ซัลเฟต กลุ่มตกตะกอนเร็ว (สารปรับน้ำใสแบบหนึ่ง), เหล็ก และโลหะหนักบางตัว, ก๊าซไข่เน่า, แร่ธาตุและปุ๋ยในตู้ไม้น้ำบางชนิด
คลอรีน, ไอโอดีน, แร่ธาตุและปุ๋ยในตู้ไม้น้ำหลายชนิด,
   
   นอกจากนี้ การคำนึงถึงอัตราการไหลของน้ำ ความหนาแน่นในการบรรจุAC และขนาดเม็ดของ AC ก็มีส่วนสำคัญถึงประสิทธิภาพของ AC น้ำไหลช้า AC ก็ดูดซับของเสียได้ดีขึ้น บรรจุ AC ไว้หนาแน่นก็ดูดซับได้มากขึ้น ขนาดเม็ดเล็กลงก็ดูดซับไวขึ้น (รวมถึงหมดอายุเร็วอีกด้วย) ขนาด AC ที่พบเห็นจะแบ่งแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.   Powdered activated carbon (PAC) หรือแบบผง นิยมใช้ในทางการแพทย์และงานที่ต้องการ การดูดซับอย่างรวดเร็วมาก เนื่องจากขนาดเล็ก จึงดูดซับได้ในปริมาณและเวลาจำกัด การใช้งานอาจจะต้องใช้ซ้ำอีกเรื่อยๆในระยะเวลาสั้น ยกตัวอย่าง การล้างท้องเนื่องจากโดนสารพิษมาในทางการแพทย์หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่างๆที่ใช่ช่วยลดอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ และในทางการเลี้ยงปลาก็มีการใช้ เช่น การใช้ในผลิตภัณฑ์บางอย่างเพื่อปรับสภาพน้ำ เช่น ผงลดไนไตร์ทแบบเร่งด่วน (ผมเคยเห็นของฝรั่ง แต่ในไทยไม่แน่ใจครับ)

2.   Granular activated carbon (GAC) หรือแบบเม็ด ไม่ผ่านการอัดแท่ง ที่เราพบเห็นทั่วไป เม็ดๆ ดำๆ เหลี่ยมๆหัก ใช้กรองน้ำ ทั้งตู้ปลา เครื่องกรองน้ำดื่ม ต่างๆนานา การใช้งานนั้นมีระยะเวลาจำกัดขึ้นกับขนนาดเม็ด เม็ดใหญ่ใช้งานได้นานกว่าหน่อย แต่โดยรวมและในสภาพการใช้งานปกติใช้ได้ 3-4 เดือน ข้อแนะนำในการใช้ GAC นั่นคือ ใส่ให้แน่นเท่าที่แรงน้ำยังไหลผ่านได้ และล้างฝุ่นที่เกาะบน GAC บ่อยหน่อยจะดีกว่ามาก


3.   นอกจากนี้ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่มีการใช้งานประยุกต์ และเรามักเห็นกันในกลุ่มวัสดุกรองไฮโซ คือ Extruded activated carbon (EAC) หรือแบบอัดแท่ง ซึ่งแบบนี้จะเป็นการนำเอา PAC มาอัดผ่านกระบอกให้ได้รูปทรงที่ต้องการแข็งมาก เป็นถ่านอัดก้อนดีๆนี้เอง มีทั้งแบบเล็กแบบใหญ่ สังเกตดู AC แบบที่เป็นทรงกระบอกเล็กๆ ยี่ห้อดังก็แบบนี้ หรือแบบแท่งใหญ่ยังกะถ่านไม้หุงข้าว ก็เป็นกลุ่มนี้เช่นกัน คุณสมบัตินั้นคล้ายกันกับแบบ GAC แต่ข้อแตกต่างที่เป็นจุดขายนั้นคือ ใช้งานได้นานกว่า (ขึ้นกับขนาด) และฝุ่นน้อยกว่าหรืออาจจะไม่มีฝุ่นเลยในบางยี่ห้อ เพราะเนื่องจากกาอัดขึ้นรูปใหม่นั่นเอง เมื่อนำมใช้ก็ไม่ต้องล้าง ใช้ได้ทันทีไม่มีฝุ่นสีดำลอยออกมาในน้ำให้รำคาญตา

ถึงตรงนี้มักมีคำถามที่ผุดขึ้นในใจใครหลายคน เป็นคำถามโลกแตกที่หาคำตอบกันมานาน นั่นคือ คาร์บอนที่ใช้งานมานานแล้ว จะคายของเสียออกมาได้หรือไม่ คำตอบคือ แล้วแต่ประเภท อายุ คุณภาพ และการใช้งานครับ ตอบไม่ตรงคำถาม ตอบแบบนักการเมือง ตอบอ้อมโลก แบบนี้ไม่เคลียร์ งั้นตอบแบบเคลียร์เลยครับ แต่ขอให้อ่านเหตุผลด้วยครับ ไม่งั้นเถียงกันตายเลย

คำถาม Activated carbon ที่ใช้งานมาแล้วระยะหนึ่งจะคายของเสียคืนกลับสู่น้ำใช่ไหม ?

คำตอบที่ 1 ใช่ มันคายของเสียออกมา เพราะ
เหตุผลที่ 1 ใช้ AC แบบที่มีค่า TAS (Total Surface Area :พื้นที่ผิวรวม) ต่ำ และมี MN สูง หรือเรียกได้ว่าใช้ผิดประเภทงาน AC แบบนี้น่าจะใช้ในงานบำบัดน้ำเสียโรงงานมากกว่า ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล เมื่อนำมาใช้ในตู้ปลาแล้วไม่นานก็จะเริ่มย่อยสลายพื้นผิวบางส่วน ที่ผุพังไปก็ปลดปล่อยของเสียที่ดูดซับไว้ออกมารวมถึงตะกอนจากตัวมันเองด้วย ตรงนี้ยืนยันครับ เพราะทดสอบมากับตัวแล้ว แต่ไม่ได้เก็บภาพอันใดไว้ เนื่องจากลองทดสอบเองตอนที่กำลังเลือกใช้ GAC ในอควาเรี่ยมว่าจะลดต้นทุนอย่างไร แค่แช่น้ำทิ้งไว้เฉยๆ เดือนนึง ค่าไนไตร์ท กับไนเตรท และฟอสเฟตเพิ่มขึ้นมาสูงอย่างไม่มีปี่และขลุ่ย

เหตุผลที่ 2 ใช้ AC ถูกประเภทแล้วล่ะ แต่ใช้มันคายออกมาในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ของเสียตัวเดิม ตรงนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นวิชาการนัก เป็นของสังเกตของหลายๆคนรวมถึงในวงวิชาการด้วย เพราะเนื่องจากเป็นการยากที่จะติดตามผลว่ามันดูดซับสิ่งใดและคายออกมาในรูปใด ที่พบเห็นบ่อยคือใน การเลี้ยงปลาที่ไวต่อคุณภาพน้ำบางชนิด เมื่อใช้ AC เก่าจะเริ่มมีอาการผิดปกติของร่างกายได้ เช่น ปลาปอมปาดัวร์ ปลามังกร ปลาจิ๋วๆต่างๆ การสันนิฐานนี้ มีการทดสอบอย่างไม่เป็นทางการโดยกลุ่ม aquarist ชาวไต้หวัน ว่าคลอรีนที่ดูดซับจากน้ำประปาไปนั้นจะสลายตัวและปลดปล่อยออกมาในรูปสารประกอบคลอไรด์ บางอย่างที่อาจจะเป็นพิษ แต่ก้ไม่มีเอกสารยืนยัน จึงเป็นเพียงข้อสังเกตในการประชุมผู้เลี้ยงปลาในคราวนั้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สอดคล้องกันคือ ของทุกอย่างนั้นมีอายุ เมื่อผุพังก็ย่อมสลายตัวออกมา แต่กว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้นั้น คงนานมากๆทีเดียว
เหตุผลที่ 3 ไม่เชิงคายของเสีย แต่ล้นมากกว่า นั่นคือ ในระบบ การกรองโดยแบคทีเรียอาจจะไม่เพียงพอ  ตลอดเวลา AC รับบทหนักในการพยายามดูดซับของเสียต่างๆไว้ และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถดูดซับอะไรไว้ได้แล้วก็จะเป็นเพียงเศษถ่านธรรมดาเท่านั้น ค่าของเสียในน้ำจึงพุ่งสูงขึ้นแบบน่าตกใจ ทำให้เข้าใจว่ามันคายออกมา มักพบในช่วงตั้งตู้เซ็ตระบบเลี้ยงใหม่ๆ ของหลายคน

และคำตอบที่ 2 คือ ไม่คายของเสียออกมาเพราะ AC มีการดูดซับของเสียด้วยแรงจากรูพรุนเหล่านั้น ไม่ได้ซับด้วยปฏิกิริยาทางเคมี หรือประจุใดๆ ไม่ต้องการทรัพยากรเพิ่มเติมในการดูดซับ เมื่อเป็นเช่นนี้ หากยังมีที่ว่างในรูพรุนก็ยังคงดูดต่อไปจนกว่าจะเต็ม เมื่อเต็มก็แค่เหมือนเติมน้ำในถังเต็มก็เข้าไปต่อไม่ได้แล้ว แต่กว่าจะเต็มนั้นนาน ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนก่อนที่จะเต็ม หรือไม่ก็เกิดแบคทีเรียช่วยย่อยสลายของเสียข้างในและก็ดูดซับเข้ามาได้เรื่อยๆ การทำ Activation ก็เห็นอยู่ว่าต้องการกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้สารเคมีรุนแรงหรือสภาพสุดขั้วอย่างอุณหภูมิสูงแรงดันสูง ไร้อากาศทำนองนี้ ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่เกิดในตู้ปลาแน่นอน การคายของเสียออกมาด้วยกระบวนการ reactivation ย่อมไม่มีทางเกิด ของเสียย่อมต้องถูเกิดในเนื้อคาร์บอน รอการย่อยสลายตามธรรมชาติต่อไป

ทั้งหมดหลายหลายเหตุผลนี้ มีส่วนที่ผู้อ่านพิจารณาดูว่าที่ตนเองประสบพบมานั้นเป็นอย่างไร เมื่อวันหนึ่งมีคนที่ “บ้า งาน” มากมาดูมาศึกษาเราคนได้คำตอบที่ฟันธงกว่านี้ แต่ตอนนี้ยังไม่เจอคนที่บ้าพอ ไม่ได้ว่านะครับ แต่แอบแซว เล็กๆ นอกจากระบบกรองน้ำแล้วคาร์บอนยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆของตู้ปลาอีก โดยล่าสุดมีสวิงที่ใช้เส้นใยผสมคาร์บอนช่วยให้ ตาข่ายแข็งแรงขึ้น และแห้งง่าย ไม่เหม็นอับออกมาใช้ใน ญี่ปุ่นเหมือนกัน ไม่รู้เขาจะทำไปทำไม ในความคิดผม เพราะปกติสวิงก็แห้งง่ายและถ้าเหม็นก็ซักได้ ถ้าเน่าก็ทิ้งซื้อใหม่ราคาไม่แพงอยู่แล้ว หรือสังคมเขาจะใส่ใจไปถึงสิ่งแวดล้อมสุดๆ ไม่ก็บ้าเห่อสุดๆถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ลาไปก่อน สวัสดีครับ

ขอให้มีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ
aquamedical

 จากหนังสือ fish max
ฉบับที่ 17 เดือน ธันวาคม ปี 2010
คอลัมน์ Talk with aquamedical
*ได้รับการอนุญาติจาก กอง บก.หนังสือเพื่อเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ตแล้ว*
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23/11/11, [11:40:08] โดย aquamedical »
ฝูงปลาทองพิฆาต ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #1 เมื่อ: 23/11/11, [12:01:30] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [เจ๋ง]  สาระดีมีประโยชน์
Camen ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #2 เมื่อ: 23/11/11, [13:59:46] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ
jihawaii ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #3 เมื่อ: 23/11/11, [14:32:37] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ส่วนตัวคิดว่าคงไม่ใช้แล้ว

เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับ activated carbon ใช้ 2 ครั้ง ปลาตายวันต่อมา 2 ครั้ง

อาจจะเป็นจังหวะที่ปลาป่วยพอดีหรือเปล่าไม่รู้  asspain
Romio_rcn ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #4 เมื่อ: 23/11/11, [14:48:05] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ความรู้ทั้งนั้น  [เจ๋ง]
noannnice ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #5 เมื่อ: 23/11/11, [14:52:23] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอบคุณครับ
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #6 เมื่อ: 23/11/11, [16:00:13] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ส่วนตัวคิดว่าคงไม่ใช้แล้ว

เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับ activated carbon ใช้ 2 ครั้ง ปลาตายวันต่อมา 2 ครั้ง

อาจจะเป็นจังหวะที่ปลาป่วยพอดีหรือเปล่าไม่รู้  asspain

การตายลักษณะยังไงครับ ที่พบบ่อย 2แบบคือ ตัวลอกร่อน ขับเมือกรุนแรง ซึม แล้วตาย อาการนี้คือคาร์บอนคุณภาพต่ำ ล้างกรดไม่ดีพอครับ ปกติ คนซื้อมาบรรจุขายน่าจะรู้นะครับ เพราะเขาจะระบุการใช้งานมาตั้งแต่โรงงานว่า ไม่ให้ใช้ในการกรองน้ำ หรือเพื่อการอุปโภคบริโภค

อีกแบบหนึ่ง คือ เหมือนปลาพยายามฮุบอากาศ ว่ายกระวนกระวาย แล้วก็ขับเมือกมาก และตาย อาจจะเป็นเพราะเราล้างฝุ่นคาร์บอนออกไม่ดีพอและมีการใช้คาร์บอนที่ล้างไม่ดีนี้ ปริมาณเยอะๆครับ


คาร์บอนนี่เป็นอะไรที่ระบบอควาเรี่ยมขาดไม่ได้ครับ ผมจะใช้บ่อยหน่อย
noannnice ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #7 เมื่อ: 23/11/11, [17:49:06] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอถามนิดนึงนะครับ
พอดีเคยใช้ activated carbon กับระบบกรองของตู้ปลา และบ่อปลานะครับ
ถ้าเอาไปใช้กับตู้ที่มีไม้น้ำ จะเป็นอันตรายกับต้นไม้ไหมครับ
ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ
Fibo ออฟไลน์
Club Champion
« ตอบ #8 เมื่อ: 23/11/11, [18:41:55] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

 [on_018]  ได้ความรู้ครับ
Camen ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #9 เมื่อ: 23/11/11, [20:11:39] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ก่อนใช้ต้องล้างก่อนเหรอคับ ใส่ตู้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน [on_007]
moddammt ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #10 เมื่อ: 23/11/11, [21:33:13] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ก่อนใช้ต้องล้างก่อนเหรอคับ ใส่ตู้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน [on_007]
แล้วคนขายเคาไม่บอกเลยเหรอครั้บ หรือว่าไม่ถามเคาเลย ล้างสิบน้ำมันยังไม่หายดำเลย แล้วนี่ใส่ไปทั้งทีไม่ได้ล้าง  [on_051] [on_051] [on_051]
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #11 เมื่อ: 23/11/11, [21:37:16] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ขอถามนิดนึงนะครับ
พอดีเคยใช้ activated carbon กับระบบกรองของตู้ปลา และบ่อปลานะครับ
ถ้าเอาไปใช้กับตู้ที่มีไม้น้ำ จะเป็นอันตรายกับต้นไม้ไหมครับ
ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ

ใช้กับตู้ไม้น้ำได้ครับ ไม่เป็นอันตรายกับไม้น้ำ แต่ยังไงก็ตาม ไม่ว่าค่า IN หรือ MN จะมากน้อยขนาดไหน ปุ๋ยบางส่วนจะถูกดูดไปแน่นอนครับ ส่วนใหญ่แล้วใช้ในช่วงแรกตั้งตู้น่ะครับ ใช้ช่วยดูดสีน้ำจากดิน หรือขอนตั้งใหม่ ใช้ดูดปุ๋ยส่วนเกินตอนต้นไม้ยังไม่แข็งแรงทำนองนั้น

ก่อนใช้ต้องล้างก่อนเหรอคับ ใส่ตู้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน [on_007]

ถ้าเกรดดีหน่อย ไม่ได้ล้างก่อนใส่ ก็ยังปลอดภัยครับ แต่ให้ดี ล้างทุกครั้งก่อนใส่ครับ (ห้ามคิดลึก หมายถึงคาร์บอนนะจ๊ะ)  emb01
Camen ออฟไลน์
Club Follower
« ตอบ #12 เมื่อ: 24/11/11, [06:01:43] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ม่ายยย [เอ๊ะ!!!] เขาลืมถาม เอาออกด่วน [on_008]
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #13 เมื่อ: 24/11/11, [07:50:51] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ม่ายยย [เอ๊ะ!!!] เขาลืมถาม เอาออกด่วน [on_008]

และถ่ายน้ำด้วยครับ  [on_065]
ฝูงปลาทองพิฆาต ออฟไลน์
Club Brother
« ตอบ #14 เมื่อ: 24/11/11, [07:59:34] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

ม่ายยย [เอ๊ะ!!!] เขาลืมถาม เอาออกด่วน [on_008]

 [on_007] ......
jihawaii ออฟไลน์
Club Veteran
« ตอบ #15 เมื่อ: 24/11/11, [10:11:36] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

การตายลักษณะยังไงครับ ที่พบบ่อย 2แบบคือ ตัวลอกร่อน ขับเมือกรุนแรง ซึม แล้วตาย อาการนี้คือคาร์บอนคุณภาพต่ำ ล้างกรดไม่ดีพอครับ ปกติ คนซื้อมาบรรจุขายน่าจะรู้นะครับ เพราะเขาจะระบุการใช้งานมาตั้งแต่โรงงานว่า ไม่ให้ใช้ในการกรองน้ำ หรือเพื่อการอุปโภคบริโภค

อีกแบบหนึ่ง คือ เหมือนปลาพยายามฮุบอากาศ ว่ายกระวนกระวาย แล้วก็ขับเมือกมาก และตาย อาจจะเป็นเพราะเราล้างฝุ่นคาร์บอนออกไม่ดีพอและมีการใช้คาร์บอนที่ล้างไม่ดีนี้ ปริมาณเยอะๆครับ


คาร์บอนนี่เป็นอะไรที่ระบบอควาเรี่ยมขาดไม่ได้ครับ ผมจะใช้บ่อยหน่อย

คาร์บอนซื้อมาจากร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาที่ เจเจ ครับ

ลักษณะเป็นแท่งเล็ก ความยาวประมาณ 5-6 mm

ก่อนจะใส่ถังกรองก็เอาไปล้างน้ำประมาณ 10 น้ำ จนไม่มีฝุ่นดำๆเหลือครับ แล้วเอาไปแช่น้ำทิ้งไว้อีกประมาณ อาทิตย์นึงครับ

พอใส่ไปแล้วปลามันก็จะซึมๆ ไม่ได้ตายทันทีครับ

จะตายหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันให้หลัง ลักษระปลาภายนอกปกติครับ
aquamedical_fraghouse ออฟไลน์
Sponsor
« ตอบ #16 เมื่อ: 24/11/11, [10:32:28] »
ตอบโดยอ้างถึงข้อความ

คาร์บอนซื้อมาจากร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาที่ เจเจ ครับ

ลักษณะเป็นแท่งเล็ก ความยาวประมาณ 5-6 mm

ก่อนจะใส่ถังกรองก็เอาไปล้างน้ำประมาณ 10 น้ำ จนไม่มีฝุ่นดำๆเหลือครับ แล้วเอาไปแช่น้ำทิ้งไว้อีกประมาณ อาทิตย์นึงครับ

พอใส่ไปแล้วปลามันก็จะซึมๆ ไม่ได้ตายทันทีครับ

จะตายหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันให้หลัง ลักษระปลาภายนอกปกติครับ

อันนี้ผมเองก็ตอบไม่ถูกแล้วครับ เพราะว่า จริงๆ คาร์บอน แท่งเล็กแบบที่บอกนั้น น่าจะเป็นของคุณภาพแล้วนะครับ มันเป็นคาร์บอนแบบผงที่ขึ้นรูปใหม่

จะรู้แน่ชัดคงต้องตรวจจากตัวปลาที่ตายและคุณภาพน้ำน่ะครับ
หน้า: 1   ขึ้นบน
พิมพ์
กระโดดไป: